การซื้อขายไฟฟ้าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ลักษณะทั่วไปของประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
ประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Sub region : GMS) 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ,กัมพูชา ,สหภาพพม่า ,เวียดนาม ,ยูนนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน และไทย มีความแตกต่างกันในหลายด้าน ความอุดมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมการเพาะปลูก ป่าไม้และแหล่งประมง ที่อุดมสมบูรณ์ ศักยภาพของแร่ธาตุ ที่มีมากมาย และแหล่งพลังงานมากมาย ในรูปของพลังน้ำ ถ่านหิน และปริมาณน้ำมันสำรอง อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร ขนาดประชากรประมาณ 250 ล้านคน
การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในช่วงปี 2538-2539 ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 6-10 แต่หลังเกิดวิกฤติในปี 2540 เศรษฐกิจของแต่ละประเทศใน GMS เริ่มชะลอตัวลง จากข้อมูลในตารางที่ 2.1 แสดงถึงผลกระทบซึ่งแต่ละประเทศได้รับแตกต่างกัน จะเห็นว่าประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รุนแรงที่สุด โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่แท้จริงในปี 2540 และ 2541 ติดลบร้อยละ 1.5 และ 10.8 ตามลำดับประเทศในกลุ่ม GMS อยู่ช่วงการเปลี่ยนจากการวางแผนที่ส่วนกลาง สู่เศรษฐกิจที่ขยายฐานทางการตลาด เป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ขณะที่ลักษณะเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศในอนุภูมิภาค แตกต่างกันมากในแง่ขนาด และโครงสร้าง แต่ทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจในอาเซียน ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว อยู่ระหว่าง 260-1,960 เหรียญสหรัฐ การมีไฟฟ้าใช้ (13-97%) และการใช้ไฟฟ้า (34-1,300 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี/คน) ยังมีความแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญ
การใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน
ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่สำคัญใน GMS อยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ยูนนาน และเวียตนาม โดยในปี 2543 มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 86,214 27,696 และ 22,241 ล้านหน่วย ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 61 20 และ 16 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดตามลำดับ (แสดงในตารางที่ 3.1) สัดส่วนนี้คาดว่าจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต เนื่องจากประเทศ ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อย ได้แก่ สหภาพพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา จะมีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงขึ้นในอนาคต ภาคอุตสาหกรรม ยังคงเป็นภาคหลัก ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าสูง และเป็นตัวผลักดัน ให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาคครัวเรือนของทุกประเทศใน GMS มีอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากความต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ที่เริ่มต้นจากฐานที่ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว
อัตราค่าไฟฟ้า
ในปี 2543อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในประเทศไทย สหภาพพม่า และเวียดนาม ประมาณ 4.9-5.2 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง สำหรับ สปป. ลาว อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในอัตรา 2.3 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก โดยเฉพาะในภาคครัวเรือนอัตราค่าไฟฟ้า เท่ากับ 1.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของกัมพูชา เท่ากับ 16 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ มีขนาดเล็ก และใช้เชื้อเพลิงดีเซล ในการผลิตไฟฟ้า สำหรับยูนนาน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.7 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
บทสรุป
ปัจจุบันประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กำลังดำเนินโครงการเชื่อมโยง ระบบส่งไฟฟ้า และการซื้อขายไฟฟ้าใน GMS ซี่งโครงการนี้ หากจัดทำแล้วเสร็จ จะทำให้ระบบกำลังผลิตไฟฟ้า ของอนุภูมิภาค มีความมั่นคง และช่วยสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจากผลการศึกษาของธนาคารโลกในปี 2541 พบว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ได้ถึง 460 พันล้านบาท ในช่วง 20 ปี (2544-2563) และลดมลภาวะจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ได้คิดเป็นมูลค่าถึง 18,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเป็นฐานที่ก่อให้เกิดรายได้ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางด้านการค้า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคอีกด้วย