- บริการข้อมูลข่าวสาร
1.แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) คืออะไร
ตอบ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่15 สิงหาคม 2557 มีมติให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนบูรณาการในภาพรวมระยะยาวโดยให้มีระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกอบด้วย
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan : PDP) หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
2. แผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan : EEP) หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP) หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) หน่วยงานรับผิดชอบ : กรมธุรกิจพลังงาน
สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ http://www.eppo.go.th/index.php/th/plan-policy/tieb
2. ราคาน้ำมันวันนี้
3. โครงสร้างราคาน้ำมัน ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ตอบ โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ดังนี้
1. ราคาหน้าโรงกลั่นหรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด
2. ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม
3. ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท
4. เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 วัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ
5. เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในมาตรา 25 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงาน
แห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดอัตราการส่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามความในมาตรา 4
6. ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตราร้อยละ 7
7. ค่าการตลาด คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย
8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด
รายละเอียดสามารถเข้าดูได้ในเว็บไซต์ KM สนพ.
สามารถเข้าดูโครงสร้างราคาน้ำมันภายในประเทศรายวันได้ที่เว็บไซต์ สนพ.
http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1
4.ทำไมใช้ราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ เป็นฐานการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทย
ตอบ สาเหตุที่ต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์ : ราคาสิงคโปร์ไม่ใช่เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้
1. สะท้อนต้นทุนการนำเข้าของไทยในระดับต่ำสุด ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งใกล้ไทยมากที่สุด ดังนั้น ต้นทุนในการนำเข้า จึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย
2. ปริมาณการซื้อขายในระดับสูง สิงคโปร์ จะเป็นตลาดที่ทำการซื้อขายน้ำมันเช่นเดียวกับนิวยอร์ค โดยน้ำมันที่ทำการซื้อขาย อาจไม่ได้เก็บไว้ในสิงคโปร์ แต่จะมีการตกลงซื้อขายในสิงคโปร์ เนื่องจากจะมีบริษัทที่ทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน มาเปิดดำเนินการในสิงคโปร์ ปริมาณการซื้อขายน้ำมันในสิงคโปร์ จะอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับตลาดใหญ่ ในพื้นที่อื่น (ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง) ซึ่งทำให้ยากต่อการปั่นราคา โดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย และราคาจะสะท้อน จากความสามารถในการจัดหา และความต้องการน้ำมันของภูมิภาคนี้
3. ราคาสะท้อนความสามารถในการจัดหา และความต้องการของเอเซีย แม้สิงคโปร์จะมีกำลังการกลั่นรวมอยู่ที่ 1.5 ล้านบาเรลต่อวัน ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่การกลั่นของสิงคโปร์ เป็นการกลั่นเพื่อส่งออก ในขณะที่ประเทศที่มีกำลังกลั่น มากกว่าสิงคโปร์ดังกล่าว เป็นการกลั่นเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก เมื่อเหลือแล้วจึงส่งออก จากการกลั่นเพื่อส่งออกเป็นหลัก ทำให้ราคาจำหน่ายของตลาดสิงคโปร์ จะสะท้อนราคาส่งออกที่แท้จริง ซึ่งจะสะท้อนความสามารถในการจัดหา และสภาพความต้องการนำน้ำมันสำเร็จรูป ของภูมิภาคเอเซีย
4. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ เป็นฐานกำหนดราคาส่งออกของประเทศต่างๆ แม้ว่าการส่งออกของสิงคโปร์จะเริ่มลดลง เพราะมีกำลังกลั่นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ แต่ราคาที่ส่งออกของประเทศต่างๆ ยังคงใช้ราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ เป็นฐานในการกำหนดราคาส่งออก และการซื้อขายเพื่อส่งออกจากประเทศต่างๆ ยังทำการซื้อขายที่สิงคโปร์เป็นหลัก
5. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับตลาดอื่นๆ ทั่วโลก สพช. ได้ศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดต่างๆ ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา และตลาดจรสิงคโปร์พบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทุกตลาดต่างปรับตัวเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และในระดับที่ใกล้เคียงกัน อาจมีบางช่วงที่ราคา ของบางตลาดเปลี่ยนแปลงในทิศทาง หรือระดับที่แตกต่างกับตลาดอื่นๆ ซึ่งเป็นเพราะภาวะที่ความต้องการ และปริมาณน้ำมันในตลาด ไม่มีความสมดุลในช่วงเวลานั้นๆ แต่ต่อมาราคาที่แตกต่างจากตลาดอื่นมาก จะทำให้เกิดการไหลเข้า / หรือออกของน้ำมันจากตลาดอื่น จนทำให้ระดับของราคาตลาดนั้น ปรับตัวสู่ภาวะสมดุลกับตลาดอื่น ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในทุกตลาด เป็นสินค้าภายใต้ระบบการค้าเสรี และเป็นสากล
6. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ จากการสังเกตความเคลื่อนไหว ของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ และการปรับตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงที่มีความแตกต่างจากตลาดอื่นมาก ตลาดสิงคโปร์จะใช้เวลาในการปรับตัวสู่สมดุลในเวลาประมาณ 1-3 วัน ซึ่งจะเห็นว่าการแข็งตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ในเดือนมีนาคมในตลาดจรสิงคโปร์ ได้ปรับตัวสู่ระดับปกติในช่วงหลังของเดือน