มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2545 (ครั้งที่ 90)
วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2545 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.2 สถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2.การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์
4.การผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม
5.การทบทวนการคืนหลักค้ำประกันของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
7.สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้ากัมพูชา
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่อง สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
เรื่องที่ 1-1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนกันยายน 2545 ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 ประมาณ 1.5 - 2.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และความวิตกกังวลว่าจะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก รวมทั้ง ความไม่ชัดเจนว่ากลุ่มโอเปคจะเพิ่มปริมาณการผลิตหรือไม่ โดยซาอุดิอาระเบียมีความเห็นว่า ควรเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้นอีก 800,000 - 900,000 บาร์เรล/วัน แต่คูเวต เวเนซุเอล่า และอิหร่าน ไม่ต้องการให้เพิ่มปริมาณการผลิต ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบและ เบรนท์ ณ วันที่ 11 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 27.0 และ 28.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนกันยายน ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบทุกผลิตภัณฑ์ โดยน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย น้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการสำรองไว้ใช้ในฤดูหนาว น้ำมันเตาได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน ราคาน้ำมัน ออกเทน 95, 92 ก๊าด ดีเซล และน้ำมันเตา ณ วันที่ 11 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 30.4, 29.1, 33.8, 30.8 และ 27.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ช่วงเดือนกรกฎาคม - ต้นเดือนกันยายน โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 ได้ปรับตัวลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 2 รวม 33 สตางค์/ลิตร ดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้น 21 สตางค์/ลิตร ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 10 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 15.69, 14.69 และ 13.69 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการตลาดได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.21 บาท/ลิตร และค่าการกลั่นได้ปรับตัวสูงขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 0.57 บาท/ลิตร (2.2 เหรียสหรัฐต่อบาร์เรล)
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2 - 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งภาวะอุปทานที่ถูกจำกัดจากโควต้าการผลิตของโอเปคที่อยู่ในระดับต่ำ โดยภาวะสงครามที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักเป็นปัจจัยเสริมที่ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 27 - 28 และ 29 - 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ ระดับ 29 - 31 และ 31 - 33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาขายปลีกของไทยน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็วจะ เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 16 - 17, 15 - 16 และ 14 - 15 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาอิรักว่า หากเกิดสงครามขึ้นในอ่าวเปอร์เซีย ผลกระทบจะเกิดได้ใน 2 กรณี คือ สงครามจำกัดเขตเฉพาะกับอิรัก จะทำให้ น้ำมันดิบในตลาดโลกหายไปประมาณ 2.2 - 2.3 ล้านบาร์เรล และถ้าสงครามขยายตัวครอบคลุมพื้นที่ ตะวันออกกลาง จะทำให้น้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลกประมาณ 19 ล้านบาร์เรล/วัน ความเป็นไปได้มากที่สุดคือกรณีแรก ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าจะเป็นผลกระทบด้านราคาเป็นส่วนใหญ่ โดยราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้น 35 - 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยปรับตัวสูงขึ้น 3 - 4 บาท/ลิตร โดยเบนซินออกเทน 95 และดีเซลหมุนเวียนเร็วอยู่ที่ระดับ 19 และ 17 บาท/ลิตร ตามลำดับ
6. ภาครัฐได้มีมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อ รองรับสถานการณ์ หากเกิดสงครามขึ้นในอ่าวเปอร์เซียไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) การจัดหาน้ำมันดิบ รัฐบาลจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ในประเทศให้มากขึ้น ควบคุมการนำเข้าและส่งออกน้ำมันดิบอย่างรัดกุม เจรจากับมิตรประเทศเพื่อขอซื้อน้ำมันในลักษณะการค้าต่างตอบแทน และนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายมาใช้
2) มาตรการด้านราคา จะให้ราคาน้ำมันในประเทศเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยรัฐจะกำกับดูแลการกำหนดราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้ บริโภค และนำระบบการควบคุมราคามาใช้ หากมีการขาดแคลนอย่างรุนแรง
3) การเปลี่ยนแปลงไปใช้เชื้อเพลิงอื่นที่ผลิตในประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่ผลิตได้ในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนและลดการนำเข้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทดแทน เช่น เอทานอล และไบโอดีเซล เป็นต้น
4) มาตรการประหยัดพลังงานและการจัดการด้านการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการประหยัดน้ำมันและการบริหารปริมาณน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการใช้
5) มาตรการป้องกันการกักตุน การควบคุมการจำหน่าย และการปันส่วนน้ำมัน สำหรับกรณีสถานการณ์รุนแรง เป็นการจัดสรรน้ำมันการใช้น้ำมันให้เกิดประโยชน์สูงสุด
มติของที่ประชุม
- ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 1-2 สถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกเดือนกันยายน 2545 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 258 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาก๊าซ LPG ในประเทศอยู่ที่ 10.25 บาท/กิโลกรัม โดยอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ 2.98 บาท/กิโลกรัม ส่วนกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมัน ชนิดอื่น 878 ล้านบาท/เดือน จึงมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ สุทธิ 372 ล้านบาท/เดือน แนวโน้มของราคาก๊าซ LPG ช่วงไตรมาสที่ 4 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 260-300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้อัตราเงินชดเชยอยู่ในระดับ 3.07 -5.62 บาท/กก. หรือ 520-947 ล้านบาท/เดือน
2. กรมบัญชีกลาง ได้รายงานยอดเงินคงเหลือกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2545 อยู่ในระดับ 5,170 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2545 รวม 10,872 ล้านบาท ฐานะกองทุน น้ำมันฯ สุทธิติดลบ 5,702 ล้านบาท และกรมสรรพสามิต ได้รายงานการชำระหนี้กองทุนน้ำมันฯ ของเดือนสิงหาคม 2545 เป็นจำนวนเงิน 730 ล้านบาท ยอดหนี้ตามข้อตกลง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2545 เท่ากับ 9,855 ล้านบาท
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานถึงมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว จากราคาก๊าซฯ ที่จะสูงขึ้นภายหลังการยกเลิกควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ดังนี้
1) กลุ่มอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในแนวระบบท่อจำหน่ายก๊าซฯ วงแหวนรอบ กทม. (Bangkok Gas Ring) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2550 ให้ เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาต่ำกว่าก๊าซ LPG รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพเตาเผาหรือเตาอบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดการประหยัด ลดปริมาณการใช้ โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
2) กลุ่มรถแท็กซี่ ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถแท็กซี่ (NGV) โดยติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ก๊าซ NGV จำนวน 1,000 คัน ภายใน 5 ปี ซึ่ง สพช. ร่วมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) จะจัดหาโครงการเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสถานีบริการจำหน่ายก๊าซ NGV โดย สพช. จะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนค่าใช้จ่ายบาง ส่วนแก่ ปตท. และภาคเอกชนอื่นในการจัดตั้งสถานีจำหน่ายก๊าซฯ ให้ทั่วถึงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
มติของที่ประชุม
1.รับทราบสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2.รับทราบมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มรถแท็กซี่ ดังต่อไปนี้
2.1 มาตรการส่งเสริมให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่แนวระบบท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Bangkok Gas Ring) ให้เปลี่ยนไปใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาต่ำกว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2.2 มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเตาเผาหรือเตาอบของโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ ปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เกิดการประหยัด ลดปริมาณการใช้ โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
2.3 มาตรกาส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถแท็กซี่ (NGV) โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการและวิธีการส่งเสริมให้ เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถแท็กซี่ รวมถึง มาตรการและแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งสถานีบริการจำหน่าย NGV ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และภาคเอกชนอื่นๆ เช่น ร่วมกับสถาบันการเงินจัดทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและชำระคืนเงินต้นระยะ ยาว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่ผู้ประกอบการแท็กซี่ เป็นต้น ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะต้องสอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องที่ 2 การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นชอบในหลักการให้มีการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตของเอทานอลหน้าโรง งานและภาษีสรรพสามิตในส่วนของเอทานอลที่เติมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตลอดไป และลดหย่อนอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ต่อไป
2. คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ขอให้ สพช. ดำเนินการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามมติคณะรัฐมนตรี
3. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ น้ำมันแก๊สโซฮอล์เท่ากับ 0.27 บาท/ลิตร โดยให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง อัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซ ฮอล์
4. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เสนอให้กำหนดอัตราเงินส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยใช้หลักการเดียวกับภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือให้ยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วน ของเอทานอล 10% โดยอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊ส โซฮอล์ จะเท่ากับ 0.036 บาท/ลิตร
มติของที่ประชุม
เห็นชอบข้อเสนอการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้เท่ากับ 0.036 บาท/ลิตร โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2539 (ครั้งที่ 55) ให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการของหน่วย งานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) ให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป โดยให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและ มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนัก งานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)
3. ในงบประมาณปี 2545 คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 830.9 ล้านบาท เป็นงบผูกพันจากปี 2544 จำนวน 552.2 ล้านบาท และงบอนุมัติใหม่ 278.7 ล้านบาท หน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณได้รายงานผลการใช้เงินในปี 2545 ให้ทราบ ซึ่งทุกหน่วยงานมีภาระหนี้ผูกพันในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ 2545 เป็นจำนวนเงินรวม 579,639,450.94 บาท ซึ่งประกอบด้วย
3.1 กรมศุลกากร จำนวนเงิน 38,580,002.16 บาท (สามสิบแปดล้านห้าแสนแปดหมื่นสองบาทสิบหกสตางค์) สำหรับแผนป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้านำมันเชื้อเพลิงทางทะเล
- หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ เป็นเงิน 27,338,502.16 บาท
- หมวดครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นเงิน 11,241,500 บาท
3.2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนเงิน 29,843,550 บาท (ยี่สิบเก้าล้านแปดแสนสี่หมื่น สามพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน)
- หมวดครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
1) โครงการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเงิน 21,963,000 บาท
2) โครงการป้องกันและปราบปรามการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลโดยฉ้อฉลภาษี ของรัฐ เป็นเงิน 7,880,550 บาท
3.3 กรมสรรพสามิต จำนวนเงิน 489,442,349.78 บาท (สี่ร้อยแปดสิบเก้าล้านสี่แสนสี่หมื่น สองพันสามร้อยสี่สิบเก้าบาทเจ็ดสิบแปดสตางค์)
- หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ จำนวนเงิน 20,428,323 บาท
1) โครงการเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ส่งออก และเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลที่นำไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (Tanker) เป็นเงิน 19,260,000 บาท
2) โครงการการติดตั้งระบบควบคุมรายรับ - จ่าย ณ คลังน้ำมันชายฝั่งพร้อม เชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล เป็นเงิน 369,000 บาท
3) โครงการปรับปรุงพัฒนาระบบมาตรวัดพร้อมอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นเงิน 799,323 บาท
- หมวดครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จำนวนเงิน 469,014,026.78 บาท
1) โครงการการเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ส่งออก และการเติมสาร Marker ในน้ำมันดีเซลที่นำไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร (TANKER) เป็นเงิน 39,395,773.12 บาท
2) โครงการการติดตั้งระบบควบคุมรายรับ - จ่าย ณ คลังน้ำมันชายฝั่งพร้อม เชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล เป็นเงิน 427,077,003.66 บาท
3) โครงการจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดซื้อเครื่องหาความหนืดของน้ำมัน เป็นเงิน 2,541,250 บาท
3.4 กรมทะเบียนการค้า (หรือกรมธุรกิจพลังงานในการปรับโครงสร้างปี 2546) จำนวนเงิน 1,860,000 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนหกหมื่นบาทถ้วน)
- หมวดครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้ ในการประเมินผลในการปฏิบัติงาน เพื่อจัดซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเงิน 1,860,000 บาท
3.5 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จำนวนเงิน 19,913,549 บาท (สิบเก้าล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นสามพันห้าร้อยสี่สิบเก้าบาทถ้วน)
- หมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ โครงการประชาสัมพันธ์ เป็นเงิน 14,975,499 บาท
- หมวดค่าใช้จ่ายอื่นโครงการจัดจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบการป้องกันและปราบปราม การปลอมปนของสารละลายไฮโดรคาร์บอน (Solvent) เป็นเงิน 4,938,050 บาท
โดยค่าใช้จ่ายของกรมศุลกากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นค่าซ่อมแซมเรือ ตรวจการณ์ กรมสรรพสามิตเป็นค่าใช้จ่ายโครงการติดตั้งมิเตอร์ โครงการเติมสาร Marker เป็นหลัก กรมทะเบียนการค้าเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และ สพช. เป็นค่าใช้จ่ายในการทำประชาสัมพันธ์และ จัดจ้างที่ปรึกษา
4. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุมครั้งที่ 2/2545 (ครั้งที่ 39) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ได้พิจารณา เรื่อง การขอทบทวนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนน้ำมันในการป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม มีความเห็นดังนี้
4.1 การดำเนินการในโครงการที่ก่อหนี้ผูกพันเป็นโครงการใหญ่จำเป็นที่จะต้องเตรี ยมการอย่างรัดกุม จึงทำให้ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า นอกจากนี้ การดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ยังต้องใช้เวลานาน จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2545 โดยปกติในการดำเนินการทุกปีจะมีหนี้ผูกพัน และจะนำไปตั้งของบประมาณของปีถัดไปเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการใช้จ่ายเงิน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินสามารถเบิกจ่ายเหลื่อมปีงบประมาณได้ หากมีหนี้ผูกพันค้างระหว่างปีงบประมาณ
4.2 แม้จะเป็นการดำเนินการตามปกติ แต่เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 การนำงบผูกพันไปตั้งเป็นงบประมาณปี 2546 ตามระเบียบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แม้จะไม่ได้เป็นการอนุมัติงบใหม่เพิ่มเติม แต่อาจจะเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
5. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน จึงเสนอให้มีการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ครอบคลุมการใช้จ่ายในส่วนของ หนี้ผูกพัน โดยนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อขอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการให้ยุติการนำเงินจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไปนั้น มิให้หมายความรวมถึง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของหนี้ผูกพันที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2545 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเบิกจ่ายเหลื่อมปีงบประมาณ 2546 ได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นการจัดสรรงบประมาณใหม่แต่อย่างใด
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 ในประเด็นการให้ยุติการนำเงิน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปี งบประมาณ 2546 เป็นต้นไปนั้น ให้ยกเว้นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของหนี้ ผูกพันที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2545 ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเบิกจ่ายหนี้ผูกพันเหลื่อมปี งบประมาณ 2546 ได้
เรื่องที่ 4 การผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 เรื่อง การผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ สำหรับ ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม โดย (1) เห็นชอบให้ปรับปรุงลักษณะการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ โดยให้คำนวณจากความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุดในเดือนปัจจุบัน) คำนวณเฉพาะค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเดือนที่ระบบมีความต้องการ ใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Month) คือ ระหว่างเดือนมีนาคม - มิถุนายน และ (2) เห็นชอบให้ผ่อนผันหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำเป็นการชั่วคราว จากร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์ในข้อ (1) เหลือเพียงร้อยละ 0 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ หากต่อไปในอนาคตกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำกว่าระดับมาตรฐาน ให้พิจารณาเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 เรื่อง การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยในส่วนของการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ กำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดในแต่ละเดือนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุดในเดือนปัจจุบัน) ทั้งนี้ ให้มีการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 จนถึงเดือนกันยายน 2545
3. การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องลงทุนในด้านกำลังการผลิต ระบบสายส่ง และสายจำหน่าย เพื่อพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา แม้ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในเดือนใดเดือนหนึ่ง กล่าวคือ หากผู้ใช้ไฟฟ้าขอใช้ไฟฟ้าในระดับ 1,000 กิโลวัตต์ การไฟฟ้าก็จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบสายจำหน่าย เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าในระดับ 1,000 กิโลวัตต์ แม้ว่าต่อมาความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงเหลือเพียง 500 กิโลวัตต์ การไฟฟ้ายังคงพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าในระดับเดิม โดยไม่สามารถลดขนาดของโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบสายจำหน่ายลงได้ ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ จะเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่างที่มีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาที สูงสุดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป โดยคิดอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (สิ้นสุดในเดือนปัจจุบัน)
4. เนื่องจากการผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2545 ทำให้มีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดปัตตานี ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ขอให้พิจารณาขยายระยะเวลาผ่อนผันการคิดค่า ไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่ง คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และมีมติเห็นควรให้มีการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการคิดค่า ไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนกันยายน 2546 โดยมอบหมายให้ สพช. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ร่วมกันดำเนินการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เสริมสร้างความเข้าใจต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ถึงแนวนโยบายในการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ ตลอดจนแนวทางที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถร้องขอต่อการไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาการคิด ค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เช่น การตัดฝาก"มิเตอร์ ในเดือนที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้า เพื่อมิให้เกิดปัญหาการร้องเรียนขอขยายระยะเวลาการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันในเดือนกันยายน 2546
5. การขยายระยะเวลาการผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ จากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 0 ต่อไปอีก 1 ปี จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีลักษณะการใช้ไฟฟ้าเป็นฤดูกาล หรือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ เช่น ศูนย์นิทรรศการและการประชุม โรงแรมที่จัดการประชุมใหญ่เป็นครั้งคราว อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ได้ประโยชน์ ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะมีรายได้ลดลงประมาณ 21 ล้านบาท/เดือน หรือ 254 ล้านบาท/ปี กล่าวคือ รายได้ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะลดลงประมาณ 36 ล้านบาท/ปี และรายได้ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะลดลงประมาณ 218 ล้านบาท/ปี
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการผ่อนผันการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำออกไปอีก 1 ปี จนถึงเดือนกันยายน 2546
2.เห็นชอบให้ สพช. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ร่วมกันดำเนินการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เสริมสร้างความเข้าใจต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ถึงแนวนโยบายในการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ ตลอดจนแนวทางที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถร้องขอต่อการไฟฟ้าเพื่อแก้ไขปัญหาการคิด ค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ เช่น การตัดฝากมิเตอร์ ในเดือนที่ไม่มีการใช้ไฟฟ้า เพื่อมิให้เกิดปัญหาการร้องเรียนขอขยายระยะเวลาการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำเมื่อ สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันในเดือนกันยายน 2546
เรื่องที่ 5 การทบทวนการคืนหลักค้ำประกันของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกประกาศ รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือ เศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration อันเป็นการใช้พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์ มากขึ้น รวมทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและระบบ จำหน่ายไฟฟ้า
2. การดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้รับข้อเสนอขายไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 108 ราย แต่มีบางรายที่ถูกปฏิเสธและขอถอนข้อเสนอ ในปัจจุบันมี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อ ไฟฟ้ารวม 65 ราย โดย กฟผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วจำนวน 60 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจา 5 ราย ถ้าหากทุกโครงการแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ จะมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้นสูงถึง 2,240 เมกะวัตต์
3. ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP SPP ประเภท Firm จะต้องยื่นหลักค้ำประกันให้กับ กฟผ. ดังนี้
3.1 หลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอ โดยยื่นพร้อมคำร้องการขายไฟฟ้าในวงเงินเท่ากับ 500 บาทต่อกิโลวัตต์ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขาย โดย กฟผ. จะคืนหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอให้แก่ SPP ที่ ไม่ได้รับการคัดเลือกภายใน 30 วัน หลังแจ้งผลการคัดเลือก สำหรับ SPP ที่ได้รับการคัดเลือก กฟผ. จะคืน หลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอในวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
3.2 หลักค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ โดยยื่นในวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในวงเงิน-เท่ากับร้อยละ 5 ของมูลค่าปัจจุบันของค่าพลังไฟฟ้าที่จะได้รับทั้งหมดตามสัญญา โดยใช้อัตราส่วนลด (Discount Rate) เท่ากับอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ เมื่อ -SPP ได้เริ่มปฏิบัติตามสัญญาฯ ถูกต้องครบถ้วนโดยสมบูรณ์แล้ว
3.3 หลักค้ำประกันการยกเลิกสัญญาฯ โดยยื่นก่อนวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาฯ ในวงเงินเท่ากับร้อยละ 10 ของค่าพลังไฟฟ้าที่ SPP จะได้รับในระยะเวลา 5 ปีแรกของสัญญาฯ โดยจะคืนหลัก ค้ำประกันดังกล่าวเมื่ออายุสัญญาสิ้นสุด หรือเมื่อการไฟฟ้าได้เรียกเงินค่าพลังไฟฟ้าครบถ้วนในกรณีที่สัญญาถูกยกเลิก ก่อนครบอายุสัญญาฯ
4. ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2540 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาของผู้ผลิตรายเล็ก โดยให้ กฟผ. แจ้งให้ SPP ยืนยันความประสงค์จะดำเนินโครงการ หาก SPP รายใดไม่ประสงค์จะดำเนินโครงการต่อไป ให้ กฟผ. คืนหลักค้ำประกันให้แก่ SPP ดังกล่าว โดยการเลื่อนหรือยกเลิกโครงการในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยรวม เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศลดลงอย่างมาก และมีปริมาณพลังไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) อยู่ในระดับสูง แต่เพื่อให้การยกเลิกของ SPP มีความ เป็นไปได้จึงมีการพิจารณาคืนหลักค้ำประกันให้กับ SPP ด้วย ทั้งนี้ กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติดังกล่าว โดย คืนหลักค้ำประกันให้กับ SPP ที่แจ้งยกเลิกโครงการรวม 7 ราย
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 เห็นชอบตามมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2543 เรื่องการคืนหลักค้ำประกันของ SPP โดยมอบหมายให้ สพช. และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการ SPP โดยครอบคลุมถึงการเลื่อนกำหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการยกเลิกโครงการของ SPP ด้วย และให้ กฟผ. คืนหลักค้ำประกันให้กับ SPP ที่ยกเลิกโครงการ โดยมีโครงการ SPP ที่ยกเลิกโครงการ และ กฟผ. ได้คืนหลักค้ำประกันแล้วจำนวน 3 ราย
5. กฟผ. ได้มีหนังสือถึง สพช. แจ้งว่าการคืนหลักค้ำประกันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด รวมทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน กฟผ. ยังคงเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงาน หมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง และปรากฏว่ายังคงมีผู้มีความสามารถในการลงทุนและสนใจเสนอขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในลักษณะสัญญาประเภท Firm ซึ่งต้องมีหลักค้ำประกันต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การให้การช่วยเหลือเรื่องการคืนหลักค้ำประกันดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมกับ สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มทรงตัวได้แล้ว และผู้เสนอโครงการสามารถวิเคราะห์ความเหมาะสมโครงการบนพื้นฐานของสภาวะ เศรษฐกิจปัจจุบันได้อยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามระเบียบ SPP ปัจจุบัน กฟผ. จึงขอให้พิจารณาทบทวนยกเลิกการคืนหลักค้ำประกันให้กับผู้ที่ยกเลิกโครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยให้มีผลบังคับใช้ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เพื่อเปิดโอกาสให้ SPP สามารถพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่อไป หรือยกเลิกโครงการก่อนถึงกำหนดที่มีผลบังคับใช้ใหม่นี้
6. สพช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเริ่มทรงตัว ประกอบกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543 ส่งผลกระทบต่อ กฟผ. เนื่องจากโครงการที่ยื่นข้อเสนอหรือลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ถูกกำหนดไว้ ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งเป็นแผนที่ใช้ในการวางแผนการจัดหาไฟฟ้า และการคำนวณปริมาณกำลังการผลิตสำรองของประเทศ จึงเห็นควรยกเลิกการคืนหลักค้ำประกันให้กับ SPP ที่ยกเลิกโครงการ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกการคืนหลักค้ำประกันให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ยกเลิกโครงการ โดยให้มีผลบังคับใช้ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เพื่อเปิดโอกาสให้ SPP สามารถพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่อไป หรือยกเลิกโครงการ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบคำแถลงนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการจัด ตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Policy Statement on Regional Power Trade) ตามมติ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง GMS ครั้งที่ 9 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2543 โดยกำหนดให้จัดทำร่างความตกลงว่าด้วยการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่าย สายส่งระหว่างรัฐบาล 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Inter-Governmental Agreement: IGA) เพื่อเป็นแนวทางในการจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้า และการพัฒนาระบบเครือข่ายสายส่งเชื่อมโยงระหว่าง 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
2. คณะทำงานด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งและการซื้อขายไฟฟ้า 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (EGP) ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) ได้ร่วมจัดทำและพิจารณาสาระสำคัญในรายละเอียดจนได้ร่าง IGA ขั้นสุดท้าย ซึ่งได้รับความเห็นชอบในการประชุม คณะทำงานด้านพลังงานของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 6 และการประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 8 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2544 และการประชุมดังกล่าวมีมติให้ นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 11 โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะมีการลงนามร่างความ ตกลงฯ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS (GMS Summit) ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2545
3. ร่างความตกลงฯ ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายการซื้อขายไฟฟ้าที่รัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้ให้การรับรองร่วมกัน โดยจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางให้ทำหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์-กำกับดูแลและ ประสานงานซื้อขายไฟฟ้าของกลุ่มประเทศ GMS ได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต การใช้วัตถุดิบและการจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพออย่างเต็มศักยภาพ และพิจารณาแบ่งสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
3.1 จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการซื้อขายไฟฟ้า (Regional Power Trade Coordination Committee : RTPCC) มีภารกิจสำคัญคือการจัดทำข้อตกลงปฏิบัติการทางเทคนิคและทางธุรกิจเพื่อ ดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคให้แก่ประเทศภาคีต่างๆ (Regional Power Trade Operating Agreement: PTOA) และกำหนดขั้นตอนที่จำเป็นของการดำเนินงานซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการทางการเงิน
3.2 ความตกลงจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อผ่านกระบวนการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ ภาคี และนับตั้งแต่วันที่ได้แลกเปลี่ยนเอกสารการให้สัตยาบันจากประเทศภาคีอย่าง น้อย ประเทศ สำหรับช่วงระยะเวลาของความตกลงนี้จะมีผลใช้บังคับอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมี การปรับปรุงใหม่หรือยกเลิกโดยประเทศภาคีเดิม ทั้งหมด และสามารถจะถอนตัวได้ภายหลัง 2 ปี นับจากวันเริ่มบังคับใช้ โดยต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนล่วงหน้า 1 ปี
3.3 ความสัมพันธ์กับข้อตกลงอื่นๆ ที่รัฐบาลประเทศ GMS กระทำขึ้นจะไม่ถูกปิดกั้น หาก ประเทศหนึ่งประเทศใดจะทำข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นภาคี GMS ในขณะที่ข้อตกลงหรือสัญญาใหม่ๆ จะต้องสอดคล้องกับ PTOA
3.4 การแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้ทำโดยสันติวิธี สามารถดำเนินการผ่านการประชุมหารือในกรณี ที่มีความเห็นแตกต่างในด้านการตีความ หรือการดำเนินงานตามความตกลงฯ นี้ หากไม่สามารถหาข้อยุติได้ให้ส่งให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้ตัดสิน
4. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พิจารณาแล้วเห็นควรให้การสนับสนุนร่างความตกลงฯ เนื่องจากร่างความตกลงฯ ฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นหลังจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกใน GMS ได้ให้ความเห็นชอบใน Policy Statement ร่วมกันแล้ว และภายหลังจากที่มีการลงนามในร่างความตกลงฯ ร่วมกันแล้ว ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานซื้อขายไฟฟ้า (Regional Power Trade Coordination Committee: RPTCC) และการจัดทำข้อตกลงด้านเทคนิคในการซื้อขายไฟฟ้า (Regional Power Trade Operating Agreement: PTOA) เพื่อให้การจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายสายส่ง ระหว่างประเทศสมาชิกเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ร่างความตกลงฯ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของ GMS ในการประชุม The Subregional Electric Power Forum ครั้งที่ 8 ที่จัดขึ้น ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียตนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2544 โดยร่างความตกลงฯ ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาตรวจแก้ไขจากหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่พิจารณา กฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศของแต่ละประเทศแล้ว ทั้งนี้ การสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้ บังเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมจะส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ การจัดหาพลังงานไฟฟ้าและการขยายความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้าและการสร้างเครือข่ายสายส่งระหว่างรัฐบาล 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
2.มอบหมายให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะและรับผิดชอบในการ เดินทางไปประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 11 โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ที่ประเทศกัมพูชา นำร่างความตกลงฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วนี้ไปนำเสนอในที่ประชุมดังกล่าว ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย แต่ทั้งนี้หากจำเป็นต้องมีการแก้ไขร่างความตกลงฯ ดังกล่าวในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ เห็นควรให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายสามารถพิจารณาแก้ไขได้ โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอีก ครั้ง
3.มอบหมายให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านนโยบายพลังงาน เป็นผู้ลงนามความตกลงฯ ที่ได้รับความเห็นชอบในการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 11 ตามข้อ 2 เป็นผู้ไปร่วมลงนามความตกลงฯ ในฐานะ ผู้แทนรัฐบาลไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำ GMS (GMS Summit) ครั้งที่ 1 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
เรื่องที่ 7 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้ากัมพูชา
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้มีการลงนามในบันทึกความตกลงโครงการความร่วมมือด้าน พลังงาน ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 ที่จะสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการ เข้าร่วมและการรับซื้อไฟฟ้าในตลาดซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งจะร่วมมือกันวางแผนและก่อสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไทย - กัมพูชา เพื่อนำไปสู่การขายไฟฟ้ากับประเทศที่สามในอนาคต ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานความร่วมมือให้เป็นไปตาม สาระสำคัญของข้อตกลงดังกล่าว โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่าง ไทยกับกัมพูชา (Thai Power Cooperation Committee : TPCC) ซึ่งมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธาน ฝ่ายกัมพูชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการความร่วมมือด้านพลังงานของกัมพูชา (Cambodia Power Cooperation Committee : CPCC) ซึ่งมีนายอิฐ ปรัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่และพลังงาน เป็นประธาน
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2544 ได้มีมติเห็นชอบ ในหลักการให้ราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ). และ กฟผ. จำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ในแต่ละจุดเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟภ. จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า รวมกับค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่ายของ กฟภ. ทั้งนี้ ให้ กฟภ. และ กฟผ. มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเจรจาและกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะที่ อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศได้ภายใต้หลักการดังกล่าว
3. TPCC ได้นำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ เสนอต่อฝ่ายกัมพูชาและได้รับความเห็นชอบตามที่ฝ่ายไทยเสนอ โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกันจนได้ข้อยุติ กฟผ. จึงได้จัดทำสัญญาฯ ฉบับลงนามขึ้น โดยสัญญาฯ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟผ. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 และผ่านการพิจารณาตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2545
4. เนื่องจากจังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเร่งด่วน ฝ่ายกัมพูชาจึงเร่งให้มีการลงนามสัญญาฯ โดยเร็ว กฟผ. จึงได้ลงนามสัญญาฯ กับฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 โดยมีเงื่อนไขว่า สัญญาฯ ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังจากได้รับความเห็นชอบจาก กพช. แล้ว โดย ในช่วงนี้จะยังไม่มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันจนกว่าจะถึงกำหนดแล้วเสร็จของ ระบบส่งเชื่อมโยงไทย - กัมพูชา คือ ประมาณปี พ.ศ. 2547
5. สาระสำคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้ากัมพูชา สรุปได้ดังนี้
5.1 อายุสัญญา 12 ปีนับจากวันที่ กฟผ. เริ่มขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้ากัมพูชา โดยมีจุดส่งมอบ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
5.2 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเป็นแบบคิดตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate) โดย ค่าพลังไฟฟ้า เท่ากับ 74.14 บาท/กิโลวัตต์/เดือน ค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วง Peak เท่ากับ 2.7595 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง และช่วง Off Peak เท่ากับ 1.3185 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับค่าบริการ เท่ากับ 228.17 บาท/เดือน และจะทำการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าทุกๆ 4 ปีนับจากวันที่ กฟผ. เริ่มขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้ากัมพูชา
5.3 การระงับข้อพิพาท หากมีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งผู้แทนเพื่อพิจารณาร่วมกัน หากไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้ภายใน 60 วันให้ใช้กระบวนการพิจารณาของอนุญาโต ตุลาการ การพิจารณาคดีดำเนินการในประเทศสิงคโปร์ ใช้ภาษาอังกฤษและกฎหมายอังกฤษบังคับ ทั้งนี้ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการให้ถือเป็นที่สุด
5.4 การแก้ไขสัญญาฯ หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติตามสัญญาฯ เกิดขึ้นในประเทศคู่สัญญา ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบสามารถร้องขอให้มีการเจรจาแก้ไขเกี่ยวกับรายละเอียดและ เงื่อนไขในสัญญาฯ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมกันพิจารณาให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับการ ร้องขอ หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนด ให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาท
6. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นว่า เนื่องจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ากัมพูชา จะเป็นประโยชน์ร่วมของทั้ง 2 ประเทศ โดยกัมพูชาสามารถจัดหาไฟฟ้าให้กับ 3 จังหวัด ได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่กัมพูชาจะผลิตเอง ขณะที่ไทยสามารถขายไฟฟ้าในปริมาณ 20 - 30 เมกะวัตต์ ได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองส่วนเกินในระยะ 5 ปีข้างหน้าได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ สัญญาดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟผ. และการพิจารณาตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว จึงเห็นควรให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้และ กฟผ. สามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่ 3 จังหวัดของกัมพูชาในปี 2547 ต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้ากัมพูชา
- กพช. ครั้งที่ 90 - วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2545 (1124 Downloads)