มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87)
วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 เวลา 15.30 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.การยกเลิกการควบคุมราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว
3.ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
4.รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2544
5.รายงานผลการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท.
6.การปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม
7.การประเมินผลโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง
8.การส่งเสริมและสนับสนุนการนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
9.สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับการไฟฟ้ามาเลเซีย
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ ในเดือนตุลาคม ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 20 หลังการก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาจากความกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกจะทำให้ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง นอกจากนั้น กลุ่มโอเปคยังไม่สามารถพยุงราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับ Price band (22 - 28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) ได้ โดยราคาน้ำมันดิบลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับเดือนพฤศจิกายน ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามความต้องการใช้ที่ลดลง และมีสัญญาณปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มนอกโอเปค ซึ่งในเดือนกันยายนได้เพิ่มการผลิตขึ้นอีก 850,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้น ในการประชุมเพื่อลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคได้ประกาศลดกำลังการผลิตลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 21.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2545 ขณะเดียวกันแนวโน้มประเทศนอกกลุ่มโอเปคจะไม่ให้ความร่วมมือตามที่กลุ่มโอเปค ต้องการที่ให้ประเทศผู้ ส่งออกน้ำมันรายใหญ่นอกกลุ่มโอเปคลดปริมาณการผลิตลงด้วย 500,000 บาร์เรล ต่อวัน โดยที่ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 อยู่ที่ระดับ 16.80 และ 18.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ส่วนราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ เดือนตุลาคมราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลได้ปรับตัวลดลงประมาณ 8 และ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ และเดือนพฤศจิกายน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณสำรองทางการค้าได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ได้ปรับตัวลดลงประมาณ 1.6 และ 2.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ออกเทน 92 ก๊าด ดีเซล และน้ำมันเตา ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 อยู่ที่ระดับ 19.6, 18.5, 21.2, 20.3 และ 15.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย เดือนตุลาคม ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปได้ปรับตัวลดลง โดย น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง 7 ครั้ง รวม 1.9 บาทต่อลิตร ดีเซลหมุนเร็วปรับตัวลดลง 4 ครั้ง รวม 0.85 บาท ต่อลิตร และเดือนพฤศจิกายน ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินได้ปรับตัวลดลง 3 ครั้ง รวม 0.8 บาทต่อลิตร ดีเซลหมุนเร็วปรับตัวลดลง 4 ครั้ง รวม 1.0 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีก น้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2544 อยู่ที่ระดับ 12.99, 11.99 และ 11.79 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. ในเดือนตุลาคมค่าการตลาดและค่ากลั่นอยู่ที่ระดับ 1.5 และ 1.1407 บาทต่อลิตร ตามลำดับ (4.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) และเดือนพฤศจิกายน ค่าการตลาดและการกลั่นได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.33 และ 0.9663 บาทต่อลิตร ตามลำดับ (3.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) โดยค่าการกลั่นที่คุ้มทุนของโรงกลั่นจะอยู่ที่ระดับ 3 - 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
5. แนวโน้มของราคาน้ำมัน นักวิเคราะห์ได้ปรับลดการประมาณการความต้องการใช้น้ำมันของโลกในช่วงที่ เหลือของปีลดลงจากเดิมกว่าครึ่ง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะอยู่ที่ระดับ 15 - 18 และ 16 - 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ น้ำมันเบนซินจะอยู่ ที่ระดับ 20 - 22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลหมุนเร็วจะอยู่ที่ระดับ 22 - 24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทย น้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะอยู่ที่ระดับ 12.50 - 13.50 บาทต่อลิตร เบนซินออกเทน 91 และดีเซลหมุนเร็วจะอยู่ที่ระดับ 11.50 - 12.50 บาทต่อลิตร
6. ในเดือนพฤศจิกายนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง มาอยู่ในระดับ 233.8 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศอยู่ในระดับ 9.70 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.33 บาท/กิโลกรัม หรือ 361 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับในช่วงสิ้นปี 2544 ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในตลาดโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงประมาณ 10 เหรียญสหรัฐต่อตัน อัตราเงินชดเชยจะอยู่ในระดับ 1.80 - 2.20 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 270 - 350 ล้านบาทต่อเดือน
7. สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรมบัญชีกลางได้รายงานฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังหักภาระผูกพัน ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 มีเงินคงเหลืออยู่ในระดับ 4,065 ล้านบาท และประมาณฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะติดลบประมาณ 11,086 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายเพื่อชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในระดับ 361 ล้านบาทต่อเดือน และมีเงินไหลเข้าสุทธิ 521 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น คาดว่ากองทุนจะสามารถใช้หนี้ได้หมดภายในเวลา 3 ปี
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การยกเลิกการควบคุมราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2544 ได้มีมติเห็นชอบ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อ เพลิงโดยให้นำระบบราคา "กึ่งลอยตัว" มาใช้ และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณาทางเลือกการใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" หรือการปรับราคาโดยอัตโนมัติ
2. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2544 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกควบคุมราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม โดยใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" ทันที และให้ชะลอการปรับขึ้นราคาขายส่ง ไว้ระยะหนึ่ง และเมื่อราคาตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จึงค่อยปรับขึ้นราคาขายส่ง โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) นำเสนอประธานกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน อนุมัติต่อไป
3. คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2544 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกควบคุมราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป พร้อมทั้ง ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การแจ้งและการปิดป้ายแสดงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2544
4. สพช. ได้ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ฉบับที่ 49 พ.ศ. 2544 เรื่องปรับราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 9.7532 บาท/กก. ซึ่งมีผลทำให้ราคา ขายปลีกก๊าซหุงต้มรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น 0.99 บาท/กก. เป็น 13.60 บาท/กก. หรือถังขนาดบรรจุ 15 กก.เพิ่มขึ้น 15 บาท/ถัง เป็น 204 บาท/ถัง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป จึงทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดีขึ้น และราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ได้ใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" อย่างสมบูรณ์แล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยได้เห็นชอบข้อเสนอโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก และรายละเอียดใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นไป นอกจากนั้น ได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติรับไปดำเนินการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ภายใต้หลักการดังกล่าว
2. ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 100) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และมีมติเห็นชอบค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนตุลาคม 2544 - มกราคม 2545 เท่ากับ 22.77 สตางค์/หน่วย หรือลดลง 4.36 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลงจาก 2.48 บาท/หน่วย เป็น 2.43 บาท/หน่วย หรือลดลงประมาณร้อยละ 2 คิดเป็นเงินที่ประชาชนประหยัดได้กว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถสรุปปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่า Ft และผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ดังนี้
2.1 ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่า Ft
1) การปรับลดแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในปี 2544 - 2546 ลงประมาณ 55,000 ล้านบาท ส่งผลให้ความต้องการรายได้ในการสมทบการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งลดลง 14,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาเฉลี่ยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ปีละ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลง 7 สตางค์/หน่วย เป็นเวลา 2 ปี
2) อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาการปรับค่า Ft ตามสูตรปกติ ค่า Ft จะเพิ่มขึ้น 2.64 สตางค์/หน่วย เนื่องจากในการคำนวณค่า Ft รอบเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2544 เรียกเก็บที่ 22.44 สตางค์/หน่วย ได้มีการเรียกเก็บค่า Ft เกินไป 1.9 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลที่ได้รับในช่วงนั้นเป็น ข้อมูลประมาณการ และมีการนำภาระที่ไม่ควรผ่านให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การทดสอบเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าราชบุรีถูกนำมารวมเข้าด้วย ซึ่งต่อมาได้นำค่าดังกล่าวมาลดให้ประชาชนในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2544 ทำให้ค่า Ft ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2544 ลดลงต่ำกว่าที่ควรประมาณ 1.9 สตางค์/หน่วย นอกจากนั้น ในการเก็บค่า Ft รอบเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2544 เป็นช่วงหน้าร้อน การไฟฟ้ามีรายได้จากค่าไฟฟ้าฐานในอัตราค่อนข้างสูงจากค่าไฟฟ้าในอัตราก้าว หน้า ดังนั้น ในช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน 2544 ประกอบกับอากาศได้เย็นลงทำให้รายได้จากค่าไฟฟ้าส่วนนี้ลดลงจากช่วงก่อน ประมาณ 1 สตางค์/หน่วย
สำหรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการปรับค่า Ft รอบนี้ค่อนข้างคงที่ เนื่องจากมีการปรับ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงโดยการใช้เชื้อเพลิงราคาถูกมากขึ้น แม้ราคาก๊าซธรรมชาติจะแพงขึ้น โดยราคาก๊าซธรรมชาติได้สูงขึ้น 6 บาท/ล้านบีทียู จาก 142 บาท/ล้านบีทียู เป็น 148 บาท/ล้านบีทียู และเมื่อนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติจากการเจรจากับแหล่งบงกช จำนวน 535 ล้านบาทมาช่วยบรรเทาราคาที่สูงขึ้น ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.53 สตางค์/หน่วย
ในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงโดยการใช้เชื้อเพลิงราคาถูกมาก ขึ้น คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยรวมไม่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ การเพิ่มปริมาณการใช้ลิกไนต์ จากร้อยละ 16.4 เป็น ร้อยละ 16.9 เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าจากร้อยละ 2.1 เป็น ร้อยละ 3.4 เพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติและการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้น้ำมันเตา จากร้อยละ 70.2 เป็น ร้อยละ 71.6 ในขณะเดียวกันได้ลดการใช้น้ำมันเตาลงจากร้อยละ 4.5 เป็น ร้อยละ 2.2 จึงทำให้ค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการคำนวณค่า Ft ครั้งนี้ค่อนข้างคงที่
ดังนั้น ในการเรียกเก็บค่า Ft รอบนี้ เมื่อนำค่าไฟฟ้าที่ลดลงได้ 7 สตางค์/หน่วย มาหักกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามสูตรปกติ 2.64 สตางค์ต่อหน่วย ค่า Ft จึงลดลงสุทธิเท่ากับ 4.36 สตางค์/หน่วย โดยค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนตุลาคม 2544 - มกราคม 2545 เท่ากับ 22.77 สตางค์/หน่วย ซึ่งสามารถจำแนกค่าไฟฟ้าตามประเภทกิจการไฟฟ้า ดังนี้คือ กิจการผลิต กิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย มีค่าเท่ากับ 25.88, 0.15 และ -3.26 สตางค์/หน่วย ตามลำดับ
2.2. ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปัจจุบันจะอยู่ในอัตรา 2.48 บาท/หน่วย ซึ่งประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 2.2 บาท/หน่วย และค่า Ft ที่เปลี่ยนแปลงตามราคาของเชื้อเพลิง โดยค่า Ft ได้ลดลงจาก 27.13 สตางค์/หน่วย ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2544 เป็น 22.77 สตางค์/หน่วย ในช่วงเดือนตุลาคม 2544 - มกราคม 2545 หรือลดลง 4.36 สตางค์/หน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากประชาชนลดลงจาก 2.48 บาท/หน่วย เป็น 2.43 บาท/หน่วย หรือลดลงประมาณร้อยละ 2
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2544
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนำ "ดอกผล" อันเกิดจากกองทุนฯ จำนวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจากบริษัท เอสโซ่ สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียม ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับบริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด มาใช้ประโยชน์ ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านพลังงานและปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหาร กองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหาร กองทุนฯ ซึ่งตามระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญา โรงกลั่นปิโตรเลียม ทำหน้าที่แทน กพช. ในการพิจารณาจัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนแก่ส่วนราชการที่ เกี่ยวกับการพลังงานและปิโตรเลียม พร้อมทั้งให้ สพช. จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวันนับแต่วัน สิ้นปีงบประมาณ
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2544 ซึ่งเป็นไปตามมติ ของ กพช. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2543 ที่เห็นชอบ แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2544 - 2546 ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้น 66 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2544 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินตามหมวดรายจ่ายต่างๆ ตามความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ โดยได้โอนค่าใช้จ่ายจากหมวดการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ จำนวน 3 ล้านบาท ไปเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดการค้นคว้า วิจัยและการศึกษา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามแผนการใช้จ่ายเงินอยู่เดิมจำนวน 4 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ส่วนแผน การใช้เงินในหมวดอื่นๆ ยังคงเดิม กล่าวคือ หมวดทุนการศึกษาและฝึกอบรม 5.4 ล้านบาท หมวดการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา 5 ล้านบาท หมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน 4 ล้านบาท และหมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 0.6 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท
3. จากการปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายตามหมวดค่าใช้จ่ายต่างๆ สรุปได้ดังนี้ คือ
1) หมวดการค้นคว้า วิจัย และการศึกษา ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อทำการศึกษาและประชา-สัมพันธ์ จำนวน 1 โครงการ ให้แก่ สพช. คือ โครงการศึกษาและประชาสัมพันธ์อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการ ใช้ (Time of Use Rate : TOU) ในวงเงิน 7,000,000 บาท
2) หมวดเงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม ได้อนุมัติทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศ จำนวน 3 ทุน ให้กับกรมบัญชีกลาง กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) และ สพช. ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทต่างประเทศ 1 ทุน ให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษต่างประเทศให้กับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านพลังงาน จำนวน 10 ทุน รวมวงเงิน 5,400,000 บาท
3) หมวดการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา ได้อนุมัติงบประมาณให้กับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและ ปิโตรเลียมจำนวน 11 โครงการ ในวงเงิน 4,554,283 บาท
4) หมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน ได้อนุมัติงบประมาณจำนวนเงิน 4 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พพ. และ สพช.
5) หมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ได้อนุมัติเงินจำนวน 600,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ให้ สพช. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณรายจ่ายจากสำนักงบประมาณ
4. ในส่วนการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินกองทุน ปีงบประมาณ 2545 - 2546 คณะกรรมการ กองทุนฯ ได้พิจารณาข้อมูลจากงบแสดงผลการรับ-จ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ งบแสดงฐานะการเงิน ของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ และงบประมาณผูกพันต่อเนื่องในช่วงปี 2544 ประกอบกับประมาณการรายรับของกองทุนฯ ที่ได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของเงินกองทุนในช่วงสองปี ข้างหน้า และเห็นควรทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินในช่วงปีงบประมาณ 2545 - 2546 ภายในวงเงินเดิม จำนวน 44 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1.รับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2544
2.รับทราบการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมประจำปีงบประมาณ 2544-2546
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท.
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่องแนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ภายใต้พระราชบัญญัติทุน รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็น แกนกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการจัดทำประเด็น นโยบายให้สามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชน เพื่อทำหน้าที่ประเมินราคาสินทรัพย์ ราคาหุ้น และวิธีการขายหุ้น ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สพช. กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานอัยการสูงสุด และ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นและจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้
2. คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ได้พิจารณาแนวทาง แผนการระดมทุน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้น บมจ. ปตท. โดยได้มีการประชุมรวมทั้งหมด 5 ครั้ง และได้มีมติร่วมกับกรรมการผู้รับมอบอำนาจแทนคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เกี่ยวกับแนวทางของ แผนการระดมทุน รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นของ บมจ. ปตท. โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 กำหนดการขายหุ้น
- ทำการสำรวจตลาดเบื้องต้น (Pre-marketing) 15-26 ต.ค. 44
- นำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Roadshow) ใน/ต่างประเทศ 29 ต.ค.-20 พ.ย.44
- กำหนดการจองซื้อของนักลงทุนบุคคลธรรมดาในประเทศ 15-20 พ.ย. 44
- พิจารณากำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) 21 พ.ย. 44
- หุ้น บมจ. ปตท. ทำการซื้อขายใน ตลท. 6 ธ.ค. 44
2.2 การกำหนดช่วงราคาการเสนอขายเบื้องต้น (Preliminary Price Range) คือ 31-35 บาท ต่อหุ้น โดยช่วงราคาดังกล่าวได้ใช้ในการทำ Roadshow และใช้ในกระบวนการ Bookbuilding รวมทั้งให้พิจารณาเป็นราคาเสนอขายเบื้องต้นสำหรับนักลงทุนในประเทศประเภทผู้ จองซื้อรายย่อยและบุคคลทั่วไป
2.3 จำนวนหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชนและนักลงทุนทั่วไป ในเบื้องต้น 800 ล้านหุ้น (ไม่รวมหุ้นที่เสนอขายให้แก่พนักงานภายใต้โครงการการให้สิทธิแก่พนักงาน บมจ. ปตท. ในการซื้อหุ้น) ประกอบด้วยหุ้นสามัญออกใหม่ของ บมจ. ปตท. 750 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมของกระทรวงการคลัง 50 ล้านหุ้น โดย หากความต้องการซื้อหุ้นจากนักลงทุนมีมากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายในเบื้องต้น จะสามารถพิจารณาขายหุ้นเพิ่มเติมด้วยวิธีการจัดสรรหุ้นเกินจำนวนและให้สิทธิ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ซื้อหุ้นจาก กค. ในจำนวนที่จัดสรรเกินจำนวน (Overallotment or Greenshoe Option) อีกจำนวน 120 ล้านหุ้น
2.4 สัดส่วนในการเสนอขายเบื้องต้น ประชาชนและนักลงทุนในประเทศเป็นร้อยละ 60 (480 ล้านหุ้น) และนักลงทุนต่างประเทศ ร้อยละ 40 (320 ล้านหุ้น) โดยสามารถเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการเสนอขายหุ้น (Claw Back) ดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ 15 (120 ล้านหุ้น)
2.5 การจัดสรรหุ้นสำหรับนักลงทุนในประเทศประเภทผู้จองซื้อรายย่อยผ่านตัวแทนจำหน่าย (Selling Agent) ให้ผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายมีสิทธิในการรับจองหุ้นเกิน กว่าจำนวนที่จะเสนอขายประมาณ 120 ล้านหุ้น เพื่อกันไว้เป็นส่วนสำรอง (Waiting List)
2.6 การจัดสรรหุ้นให้กับพนักงาน กำหนดราคาอ้างอิงที่ราคา 33 บาท โดยมูลค่ารวมของผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับ (ผลต่างระหว่างราคาอ้างอิงกับราคาพาร์) เท่ากับ 8 เท่าของเงินเดือนรวม ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 ของผู้มีสิทธิ คิดเป็นจำนวนหุ้นที่จัดสรรให้พนักงานผู้มีสิทธิทั้งหมด 47,245,725 หุ้น
2.7 นโยบายการจ่ายเงินปันผล กำหนดนโยบายในการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2 บาทต่อหุ้น สำหรับผลประกอบการของ บมจ. ปตท. ปี 2544 และให้เสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปี ซึ่งจะจัดให้มีการประชุมภายในเดือนเมษายน 2545
2.8 การกำหนดไม่ให้นำหุ้นออกมาขายในตลาดก่อนระยะเวลา (Lock up period) ดังนี้
1) บมจ. ปตท. และ กค. จะไม่ ขาย จำหน่าย จ่าย โอน หุ้นทุนของ บมจ. ปตท. ที่มีสถานะเช่นเดียวกับหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้ ในช่วง 365 วันนับจากวันปิดการเสนอขาย (Closing Date) เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
2) นับจากวันปิดการเสนอขาย (Closing Date) 180 วัน กค. สามารถขาย จำหน่าย จ่าย โอน หลักทรัพย์อื่นใดที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นทุนของ บมจ. ปตท. ที่มีสถานะเช่นเดียวกับหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้ รวมถึงการเสนอขายหุ้น บมจ. ปตท. แบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ได้โดยมีข้อกำหนดว่าการแปลงสภาพหรือการจะนำหุ้น บมจ. ปตท. เข้าทำการซื้อขายในตลาดฯ แล้วแต่กรณีนั้น จะทำได้หลังจาก 365 วันนับจากวันปิดการเสนอขาย (Closing Date)
3. การจัดทำ Roadshow ทั้งในและต่างประเทศของ บมจ. ปตท. ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างกว้างขวาง โดยการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนประเภทต่างๆ มีมากกว่าจำนวนที่จัดสรร ดังนี้
3.1 ประชาชนทั่วไปในประเทศ สามารถจองซื้อหุ้น บมจ. ปตท. จำนวนรวมทั้งสิ้น 220 ล้านหุ้น ผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งทั่วประเทศ การจองซื้อหุ้นในจำนวนดังกล่าวได้หมดภายในระยะเวลาเพียง 1.07 นาที และทางธนาคารได้เปิดให้ผู้สนใจจองซื้อหุ้นต่อ โดยขึ้นเป็นบัญชีสำรอง (Waiting List) อีกประมาณ 120 ล้านหุ้น
3.2 นักลงทุนสถาบันในประเทศ สามารถจองซื้อหุ้น บมจ. ปตท. โดยวิธีการประกวดราคาแบบสะสม (Book Building) ซึ่งความต้องการเกินกว่าจำนวนที่จัดสรรเบื้องต้นกว่า 3 เท่า
3.3 นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ จองซื้อหุ้น บมจ. ปตท. โดยวิธีการประกวดราคาแบบสะสม (Book Building) มีความต้องการเกินกว่าจำนวนที่จัดสรรเบื้องต้นกว่า 6 เท่า
4. จากข้อมูลปริมาณความต้องการซื้อหุ้น บมจ. ปตท. ดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนฯ และกรรมการผู้รับมอบอำนาจแทนคณะกรรมการ บมจ. ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 6/2544 วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 จึงได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นต่อการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) ที่เหมาะสม และได้มีมติดังนี้
4.1 ราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) อยู่ที่ราคา 35 บาทต่อหุ้น
4.2 จำนวนหุ้นที่เสนอขาย รวมจำนวน 920 ล้านหุ้น โดยไม่รวมหุ้นที่เสนอขายให้แก่พนักงานภายใต้โครงการการให้สิทธิแก่พนักงาน บมจ.ปตท. ในการซื้อหุ้น (ESOP Program) ประกอบด้วยหุ้นสามัญออกใหม่ของ บมจ. ปตท. 750 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมของ กค. 50 ล้านหุ้น และหุ้นจัดสรรเกินจำนวน (Overallotment or Greenshoe Option) ของ กค. 120 ล้านหุ้น
4.3 การจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนกลุ่มต่างๆ เนื่องจากความต้องการซื้อหุ้นจากนักลงทุนมี มากกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายในเบื้องต้น จึงได้มีการพิจารณาขายหุ้นเพิ่มเติมด้วยวิธีการจัดสรรหุ้นเกินจำนวน (Overallotment or Greenshoe Option) อีกจำนวน 120 ล้านหุ้น รวมเป็นจำนวนหุ้นที่จัดสรรทั้งหมด 920 ล้านหุ้น โดยจำนวนจัดสรรสุทธิ มีดังนี้
- บุคคลธรรมดาในประเทศ จำนวน 330.124 ล้านหุ้น
- Broker และผู้มีอุปการะคุณ จำนวน 169 ล้านหุ้น
- สถาบันในประเทศ จำนวน 91.876 ล้านหุ้น
- สถาบันต่างประเทศ จำนวน 329 ล้านหุ้น
โดยมีสัดส่วนจำนวนการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนในประเทศร้อยละ 64.24 และนักลงทุนต่างประเทศร้อยละ 35.76
4.4 จำนวนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น จากการขายหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ. ปตท. จำนวน 750 ล้านหุ้น หุ้นเดิมของกระทรวงการคลัง รวมทั้งส่วนที่เป็น Greenshoe จำนวน 170 ล้านหุ้น ทำให้ บมจ. ปตท. และกระทรวงการคลังมีรายได้จากการขายหุ้นครั้งนี้ จำนวน 32,200 ล้านบาท
5. ทั้งนี้ การขายหุ้น ปตท. ในครั้งนี้ มีผลให้มีเงินเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนประมาณ 11,500 ล้านบาท หรือประมาณ 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (329 ล้านหุ้น * 35 บาทต่อหุ้น) โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ กค. จะลดลงเหลือร้อยละ 65.4 (หากขายหุ้นในส่วนของ Greenshoe ได้ทั้งหมด)
คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า จากการนำเสนอข้อมูลแก่นัก ลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ทราบถึงประเด็นความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างประเทศ หลักๆ ดังนี้
1.การที่รัฐอาจจะใช้ บมจ. ปตท. เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงราคาน้ำมัน หรือการกำหนดให้ บมจ. ปตท. เป็นแกนนำในการลงทุนในโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในการที่จะเข้ามาลงทุนใน ประเทศไทย รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
2.ความวิตกกังวลในกลไกการกำกับดูแลและการบริหารงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดหลักการและรูปแบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance and Management) ไว้อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ในอนาคตได้
3.ต้องการความมั่นใจว่าในอนาคตจะมีการขยายตัวของความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ขึ้น ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว จะมีผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนั้นนักลงทุนยังต้องการความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐในการกำหนดหลัก เกณฑ์การกำหนดราคาและค่าผ่านท่อก๊าซฯ รวมทั้งการกำกับดูแลที่จะต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. รวมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท จัดทำประมวลข้อคิดเห็นประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการดำเนินแผนการระดมทุนในครั้งนี้ เสนอต่อประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายด้านรัฐ วิสาหกิจ (กนร.) เพื่อเป็นโครงการต้นแบบสำหรับการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ต่อไป
เรื่องที่ 6 การปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง โดยให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าของเรื่องและประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน สำหรับงบประมาณที่ใช้ในระยะแรกได้จากงบประมาณปกติของแต่ละหน่วยงานได้รับ
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2539 ได้มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้มีการตั้งศูนย์กลางการประสานงานขึ้น โดยให้กองทัพเรือเป็นศูนย์กลางการประสานงานการปราบปรามทางทะเล และให้ สพช. เป็นศูนย์รวมประสานงานหน่วยงานทั้งทางบกและทางทะเลในด้านข้อมูลและอำนวยการ ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน ทำให้การปฏิบัติงานในระยะต่อมามีเอกภาพมากขึ้น และคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงาน ต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้สนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2544 และเนื่องจากสถานการณ์การลักลอบ ในปัจจุบันผู้กระทำผิดได้พยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทำความผิดเพื่อหลีก เลี่ยงภาษีในรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้นจึงได้มีการปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับสถานการณ์ คณะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 จึงมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม (คปปป.) ขึ้น โดยมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ รวมทั้งให้มีศูนย์ประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม (ศปปป.) เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการฯ
3. จากภาระหนี้ที่กองทุนฯ ต้องชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 จึงได้มีมติเห็นชอบแผนการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้การดำเนินงานบริหารกองทุน น้ำมันเชื้อเพลิงให้มีเงินชำระหนี้ได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท/ไตรมาส โดยได้มีการจัดทำข้อตกลงสัญญากับเจ้าหนี้ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงได้จะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ จึงทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถนำเงินไปสนับสนุนการดำเนินงานด้าน การป้องกันและปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมได้อีกต่อไป และเนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผลประโยชน์ ของประเทศเรื่องภาษีรายได้ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินนโยบายและมาตรการ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงควรเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งการให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถดำเนินต่อไป ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามหลักการและภาระหน้าที่ที่ควรจะเป็น
4. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ได้มีมติรับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่มีบัญชามอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) มีอำนาจในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ กำกับ ดูแล และควบคุมการปฏิบัติราชการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามน้ำมันเถื่อน โดยไม่รวมถึงการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน จึงได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2544 (ครั้งที่ 36) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการการปฏิบัติงานของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม คณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม คณะอนุกรรมการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม และให้มีการเปลี่ยนชื่อคณะอนุกรรมการประเมินผลการป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับอำนาจและหน้าที่ของคณะ อนุกรรมการฯ และให้เสนอผู้มีอำนาจลงนามต่อไป รวมทั้งเห็นชอบให้กองทุน น้ำมันเชื้อเพลิงยุติการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน แทน และในส่วนของการกำหนดมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับปิโตรเลียม ได้มอบให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการสนับ สนุนด้านการเงินที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเก็บ รายได้ภาษีของรัฐ ทั้งนี้ ให้ สพช. นำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ เพื่อให้เป็นมติคณะรัฐมนตรีและมีผลในทางปฏิบัติต่อไป
5. สพช.ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงานของกองบัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลางในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ซึ่งได้นำเสนอรองนายกรัฐมนตรี(นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) เพื่อลงนามแล้ว พร้อมกันนี้ สพช. ได้จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการรวม 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม (คปปป.) และคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม และคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและเร่งรัดการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุม ครั้งนี้ด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบโครงสร้างองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยว กับปิโตรเลียม โดยรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงาน ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการรวม 3 ชุด ได้แก่ (1) คณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม (2) คณะอนุกรรมการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม (3) คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบและเร่งรัดการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม
2.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 เป็นต้นไป ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบดูแลงานด้านการกำหนดนโยบายและมาตรการ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรับไปดำเนินการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียมให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันการ กระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ให้กระทรวงการคลังประสานงานกับสำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป
เรื่องที่ 7 การประเมินผลโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาว ประมงในเขตต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 ได้มีมติให้ทบทวนเรื่องการ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดภายในปี 2544 ในโครงการดังกล่าว เพื่อพิจารณาทบทวน ผลประโยชน์ที่ได้รับ ปัญหาอุปสรรค และผลเสียที่เกิดขึ้น หากเห็นว่ามีประโยชน์คุ้มค่าจึงจะพิจารณาขยายเวลาให้ดำเนินการได้ต่อไป และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 ได้เห็นชอบให้มีคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่กำกับ ดูแลให้การปฏิบัติตามโครงการเกิดความรัดกุมและมีประสิทธิภาพ โดยให้มีผู้แทนกรมสรรพสามิตเป็นประธานคณะทำงาน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน รวมทั้งให้มีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบเปิด เพื่อให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบได้
2. การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมัน ดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 โดยคณะกรรมการกำกับดูแลฯได้มีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการรายงานผลของโครงการ กำหนดดัชนีชี้วัดในการประเมินผลโครงการ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และสรุปรายงานการดำเนินโครงการฯเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในส่วนของการตรวจสอบอย่างระบบเปิดที่ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบ สพช. ได้ประสานกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานประสานความร่วมมือภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาน้ำมัน เถื่อน และได้มีการประชุมเพื่อสรุปข้อดี ข้อเสียและข้อเสนอแนะของโครงการฯเพื่อรายงาน กพช.
3. คณะกรรมการกำกับดูแลฯ ได้รวบรวมผลการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน 2544 ถึง วันที่ 10 พฤศจิกายน 2544 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมทะเบียนการค้า กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยบริษัทผู้ค้า น้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 5 ราย บริษัทผู้ค้าน้ำมันในเขตต่อเนื่อง จำนวน 8 ราย เรือบรรทุกน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน (Tanker) จำนวน 18 ลำ สมาคมประมงท้องถิ่นที่เสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 28 สมาคม และเรือประมงที่จดทะเบียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,172 ลำ ปริมาณจำหน่ายน้ำมันดีเซลจำนวนทั้งสิ้น 53.1 ล้านลิตร โดยครอบคลุมจังหวัดในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคใต้ ตอนล่างในจังหวัดปัตตานี ส่วนพื้นที่ด้านอันดามัน มีสมาคมประมงท้องถิ่นเสนอเข้าร่วมโครงการแต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ สำหรับราคาน้ำมันที่จำหน่าย จะเปลี่ยนแปลงตามราคาหน้าโรงกลั่นซึ่งจะสูงกว่าราคาจำหน่ายน้ำมันโดยเรือ ต่างชาตินอกเขตต่อเนื่อง ประมาณลิตรละ 20 - 30 สตางค์ โดยที่คุณภาพน้ำมันจะดีกว่าน้ำมันที่จำหน่ายโดยเรือต่างชาตินอกเขตต่อเนื่อง นอกจากนั้นผลการตรวจสอบการกระทำความผิดของกรมทะเบียนการค้าไม่พบน้ำมันสี เขียวหรือน้ำมันที่เติมสารมาร์คเกอร์ รวมทั้งการตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้ค้าน้ำมัน เรือขนส่งน้ำมัน และเรือประมง โดยกรมศุลกากร ไม่พบการกระทำความผิดเช่นเดียวกัน
4. สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานพบว่า โครงการไม่สามารถตอบสนองชาวประมงได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากเรือประมงชายฝั่งขนาดเล็กยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ทั้งนี้เกิดจากบริเวณภาคใต้ตอนล่างและอ่าวไทยรูป ก.ไก่ เป็นบริเวณที่เส้นฐานห่างฝั่งทะเล ทำให้เรือสถานีบริการตั้งอยู่ไกลมาก เรือ ขนาดเล็กและขนาดกลาง (15 เมตร ถึง 18 เมตร) ที่มีจำนวนหลายพันลำไม่สามารถวิ่งออกไปเติมน้ำมันในเขตต่อเนื่องได้ และอีกประการหนึ่ง ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันยังขาดความมั่นใจว่าโครงการจะดำเนินการอย่าง ต่อเนื่องและจะได้ต่ออายุโครงการหรือไม่จึงทำให้การค้าไม่ขยายตัวเท่าที่ควร นอกจากนั้น ชาวประมงส่วนหนึ่งได้ติดต่อซื้อขายน้ำมันกับเรือต่างชาตินอกเขตต่อเนื่องมา เป็นระยะเวลานานจึงมีความผูกพันต่อกัน
5. ส่วนการประเมินผลโครงการดำเนินการโดย 2 องค์กรหลัก คือ คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์กรภาคราชการ และคณะทำงานประสานความร่วมมือภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาน้ำมันเถื่อนซึ่งมีผู้ แทนจากบริษัทผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และ ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นองค์ประกอบคณะทำงาน ได้ร่วมทำการประเมินผลการ ดำเนินงานโครงการดังกล่าว พบว่ามีทั้งข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้
5.1 ข้อดีของโครงการ คือสามารถลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศโดยคิดจากปริมาณมูลค่าการซื้อน้ำมัน ในโครงการฯจำนวน 53,077,663 ลิตร เป็นเงินประมาณ 424 ล้านบาท และโครงการนี้ได้ช่วย ส่งเสริมธุรกิจการผลิตน้ำมันในประเทศไทย โดยโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศสามารถนำกำลังการผลิตส่วนเกินของโรงกลั่นที่มี อยู่ก่อนโครงการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ขึ้น และช่วยให้ชาวประมงสามารถซื้อน้ำมันในราคาที่ ถูกกว่าราคาปกติประมาณลิตรละ 2 บาท เนื่องจากเกิดการแข่งขันซื้อขายระหว่างน้ำมันในโครงการฯ และ น้ำมันนอกเขตต่อเนื่อง อีกทั้งน้ำมันในโครงการฯมีคุณภาพดีช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เครื่องยนต์ของเรือประมงได้มาก ขณะเดียวกันสถานีบริการน้ำมันในโครงการจะต้องติดตั้งมิเตอร์ที่ได้รับการ รับรองจากกระทรวงพาณิชย์จึงช่วยให้ชาวประมงได้รับน้ำมันเต็มตามจำนวนที่ซื้อ สำหรับผลประโยชน์ในด้านภาษีพบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม 2544 รัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลได้ เป็นเงิน 17,444 ล้านบาท คิดเป็นจัดเก็บภาษีที่ได้เพิ่มขึ้น 555 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ส่วนด้านการป้องกันและปราบปรามน้ำมันลักลอบฯ ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการ ป้องกันและปราบปรามการลักลอบน้ำมันฯ ร่วมกัน และมีการจดทะเบียนเรือประมงถูกต้องตามกฎหมาย มากขึ้น
5.2 ข้อเสียของโครงการ เป็นความไม่เท่าเทียมกันในการรับผลประโยชน์จากโครงการฯ ของ ชาวประมงที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เรือประมงชายฝั่งขนาดเล็กและขนาดกลางในพื้นที่ ภาคใต้ตอนล่างและพื้นที่ อ่าวไทยรูป ก.ไก่ จะไม่สามารถไปรับบริการได้
5.3 คณะกรรมการฯและคณะทำงานฯ ทั้ง 2 คณะมีความเห็นว่าโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของ ราชอาณาจักรก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรต่ออายุโครงการให้มีความต่อเนื่องถาวร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการเข้าร่วมโครงการและรองรับความต้อง การของชาวประมงทั้งหมดได้ หากในระยะต่อไปโครงการก่อให้เกิดปัญหาอาจพิจารณายกเลิกได้ ทั้งนี้ให้มีการประเมินผลโครงการทุกปี ในส่วนของคณะกรรมการฯ จะรับไปประสานกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เรือประมงเข้ามา จดทะเบียนให้ถูกต้องมากขึ้นและผลักดันให้โครงการขยายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ชาวประมงได้ใช้น้ำมันในโครงการอย่างทั่วถึง
6. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่าโครงการจำหน่ายน้ำมันสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศและผู้ประกอบการค้าน้ำมันใน ประเทศ รวมทั้งชาวประมงอย่างมาก แม้จะมีข้อเสียในการปฏิบัติ แต่สามารถจะดำเนินการแก้ไขในระยะต่อไปได้ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้โครงการนี้มีการดำเนินการต่อไป จึงเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้มีการต่ออายุโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงใน เขตต่อเนื่องอย่างถาวร โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการประเมินผลโครงการอย่างน้อยปีละครั้ง หากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นว่าผลการประเมินไม่เหมาะสมที่จะ ดำเนินโครงการต่อ ควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติให้ยุติโครงการต่อไป
2.มอบหมายให้กรมสรรพากรเร่งดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจำหน่ายน้ำมันในโครงการฯ ในลักษณะต่อเนื่องอย่างถาวร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป
3.มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมง ในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร ประสานงานติดตามเร่งรัดให้สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยผลักดันให้โครงการฯ มีการขยายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันของชาว ประมงได้อย่างทั่วถึง ภายในปี 2545
เรื่องที่ 8 การส่งเสริมและสนับสนุนการนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงอุตสาหกรรรมรับไปแต่งตั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามมติดังกล่าวแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ
2. คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นเชื้อ เพลิงเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอดังกล่าวแยกเป็นประเด็น แต่ยังขาดกรอบนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 ให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดกรอบนโยบายที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสนอความคืบหน้าของการดำเนินการและ สิ่งที่จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไป เสนอ กพช. พิจารณาก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3. มาตรการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สรุปได้ดังนี้
3.1 การจัดทำแผนการผลิตอ้อยและมันสำปะหลัง ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง โดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงรวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวงว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุรากลั่นชนิดสุราสามทับ ที่นำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง พ.ศ. 2544 และกฎกระทรวงฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2544) ออกตามความในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 (ให้สุรากลั่นชนิดสุราสามทับ ที่นำไปใช้ในการแพทย์ เภสัชกรรม และวิทยาศาสตร์ ต้องเสียภาษีสุรา) และประกาศกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 64 (ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่มีเอทานอลผสมอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10) และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นมา มีผลให้เอทานอลที่นำมาผสมเพื่อใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับการยกเว้นภาษี สรรพสามิตและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 มีอัตราภาษีสรรพสามิต 3.3165 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นมา ทั้งนี้ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้เสนอให้ยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงตลอดไป แต่ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นว่าควรให้เป็นดุลยพินิจของกระทรวงการคลัง
3.3 มาตรการกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง โดย สพช. เสนอให้ยกเว้นกองทุนในส่วนของเอทานอลร้อยละ 10 และลดอัตรากองทุนน้ำมันฯ เหลือ 0.30 บาท/ลิตร ในส่วนของน้ำมันเบนซิน ร้อยละ 90 สำหรับการกำหนดให้จำหน่ายแก๊สโซฮอล์ในราคาของน้ำมันเบนซิน 91 จะทำให้ค่าการตลาดต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 91 เล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินอยู่ในระดับต่ำกว่าราคา เอทานอล ที่ 11 บาท/ลิตร ส่วนผลกระทบเบื้องต้น หากเอทานอลแทนที่ MTBE ร้อยละ 10-30% จะกระทบ กองทุนน้ำมันฯ 6-19 ล้านบาท/เดือน และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.1-0.3 ล้านบาท/เดือน
3.4 การกำหนดคุณภาพน้ำมันแก๊สโซฮอล์ คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้เสนอว่าเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้โดย เร็ว เห็นควรกำหนดคุณภาพน้ำมันแก๊สโซฮอล์โดยผ่อนผันคุณภาพน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถยอมรับได้ คือ กำหนดอุณหภูมิการกลั่นที่ปริมาณการระเหย ร้อยละ 50 เป็น 65-110 องศาเซลเซียส และค่าความดันไอเป็นไม่สูงกว่า 65 กิโลปาสคาล โดยในระหว่างนี้จะต้องทำการติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เครื่องยนต์ และการผลิตอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ จึงได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานติดตามผลการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์
3.5 นโยบายการตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้เสนอให้ การขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงต้องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติก่อนในทุกกรณี ในขณะที่ รองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันทน์) ได้ สั่งการให้ สพช. รับเรื่องดังกล่าวพร้อมกับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดกรอบนโยบายให้มีทิศทางเดียวกันและมีความเหมาะสมในการดำเนินการตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2544 แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ ไปก่อน โดยได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานเพื่อผลิต เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้มีผู้สนใจยื่นความประสงค์ที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิต เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว จำนวน 18 ราย และได้มีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ที่ยื่นเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว จำนวน 3 ราย คือ บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง บริษัท ที. เอส. บี. เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลแก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
3.6 การยกเลิกการใช้ MTBE ซึ่งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้เสนอให้กำหนดเป็นนโยบาย ที่ชัดเจน รวมทั้งผลักดันให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินทั้ง ออกเทน 95 และ 91 ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่าควรมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมให้ชัดเจนเพียงพอในการที่จะกำหนด นโยบายของรัฐ และหากมีความชัดเจนที่รัฐจะต้องกำหนดนโยบายในการยกเลิกการใช้ MTBE ก็ไม่ควรที่จะบังคับให้โรงกลั่นน้ำมันใช้ เอทานอลเป็นสารเพิ่มออกซิเจนแทน MTBE เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะเปิดกว้างให้เป็นทางเลือกของโรงกลั่นเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องซื้อ น้ำมันในราคาแพง สำหรับการเติมสารเอทานอลในน้ำมันควรที่จะต้องดูความเหมาะสมให้สอดคล้องกับ ลักษณะการบริโภคน้ำมันของประเทศด้วย หากทำให้ปริมาณน้ำมันที่กลั่นได้มีสัดส่วนไม่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ผู้ผลิตต้องส่งออก ในขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบจะมีปริมาณสูงขึ้น เพื่อให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ การสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าวัตถุดิบ อาจจะมากกว่าการประหยัดจากการนำเข้าสารเพิ่มออกเทนได้
3.7 การกำหนดกองทุนเพื่อรักษาระดับราคาเอทานอล เป็นเหมือนการรับประกันราคาพืชเกษตรเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงงานมี รายได้ที่แน่นอน ไม่ใช่การรักษาระดับราคาน้ำมัน ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรให้มีการสนับสนุนในระยะแรก เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินการได้ โดยราคาเอทานอลต้องเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และเกิดภาระแก่ผู้บริโภค ตลอดจนทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับปรุง ประสิทธิภาพในการผลิต สำหรับในระยะยาวกองทุนเอทานอลควรจะลดบทบาทการช่วยเหลือและยุติการช่วยเหลือ ในที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นภาระของภาครัฐและเพื่อให้อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันเสรี ทั้งนี้ต้องให้พืชชนิดต่างๆ มีการแข่งขันกันเองได้ด้วย
3.8 การขอรับเงินสนับสนุนโครงการประชาสัมพันธ์น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นชอบให้มีการสนับสนุน แต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยควรใช้มาตรการประชาสัมพันธ์ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจาก กพช. ไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน จึงเห็นควรไปยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน
3.9 องค์กรในการดูแลการนำพืชมาผสมในน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ฝ่ายเลขานุการฯ มี ความเห็นว่าปัจจุบันการนำน้ำมันจากพืชมาใช้เพื่อผสมเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมี การศึกษาในหลายหน่วยงาน รวมทั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติที่รับผิดชอบในเรื่องแก๊สโซฮอล์ หากมีการปรับเปลี่ยนองค์กรในการดูแลใหม่ อาจทำให้การศึกษาวิจัยชะงักงันในระหว่างรอการจัดตั้งองค์กรใหม่ และการเสียเวลาที่จะรวบรวมการดำเนินงานมาไว้ยังองค์กรใหม่ จึงควรที่จะดำเนินการตามเดิม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาวิจัยและการกำหนดแผนปฏิบัติงานต่างๆ อยู่ในกรอบนโยบายของรัฐ การเสนอนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการนำพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงควรนำเสนอผ่าน กพช. ซึ่งมีรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการอยู่เพื่อพิจารณาในชั้น ต้นก่อนการเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมถอนข้อเสนอของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติไป หมดทั้งเรื่อง เพื่อให้คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ รับไปศึกษาพิจารณาเพิ่มเติมให้ละเอียดชัดเจนในภาพรวมของผลดี ผลเสียต่อประเทศ ต้นทุนการผลิตและมาตรการต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน รวมทั้งรายละเอียดอื่น ให้เพียงพอที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะสามารถพิจารณากำหนดนโยบาย ได้อย่างเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบที่เสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ และนำกลับมาเสนอใหม่โดยเร็ว
เรื่องที่ 9 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับการไฟฟ้ามาเลเซีย
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaka Nasional Berhad: TNB) ได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนและซื้อขายไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มเชื่อมโยงด้วยระบบส่ง 132 เควี วงจรเดี่ยว ระหว่างสถานีแรงสูงสะเดาฝั่งไทยและสถานีไฟฟ้าแรงสูงบูกิตเกติฝั่งมาเลเซีย โดยมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายในระยะแรกระหว่างปี 2524-2532 จำนวน 30-50 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 71.5 เมกะวัตต์ ในปี 2544
2. เนื่องจากระบบส่งเชื่อมโยง 132 เควี เป็นวงจรขนาดเล็กทำให้เกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของระบบ ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของระบบและเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยน พลังงานไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ กฟผ. และ TNB ได้ลงทุนก่อสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรงไทย-มาเลเซีย (High Voltage Direct Current System Interconnection: HVDC System Interconnection) ขนาด 300 เควี เชื่อมโยงระหว่างสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะในฝั่งไทยกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงกูรุน ในฝั่งมาเลเซีย โดยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป
3. กฟผ. และ TNB ได้ร่วมกันจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (HVDC System Interconnection Agreement: SIA 2001) จนแล้วเสร็จและได้ร่วมลงนามในชื่อย่อ (Initial) แล้วเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2544 โดยได้ยึดถือเงื่อนไขและความรับผิดชอบของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบส่ง เชื่อมโยงไฟฟ้าแรงสูงกระแสสลับไทย-มาเลเซีย (High Voltage Alternating Current System Interconnection Agreement : SIA 2000) ที่ ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นหลักในการยกร่าง โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมในบางประเด็นให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
4. สัญญา HVDC System Interconnection Agreement : SIA 2001 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1) สัญญามีอายุ 25 ปี นับจากวันลงนามและให้มีการทบทวนหลังจากวันลงนาม 1 ปี และทุกๆ 5 ปี
2) จุดส่งมอบที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย หมุดเขตแดนที่ C/TS 21/16 เป็นจุดแบ่งเขตแดน และ ให้อ่านปริมาณซื้อขายไฟฟ้าจากมิเตอร์ผู้ขาย โดยอัตราค่าไฟฟ้ารวมความสูญเสียในระบบส่งด้วย
3) กฟผ. และ TNB จะต้องสลับการจ่ายไฟฟ้าฝ่ายละ 1 สัปดาห์ เพื่อเชื่อมโยงระบบตลอดเวลาในปริมาณจำนวน 30 เมกะวัตต์ ยกเว้นมีการสั่งซื้อหรือขายไฟฟ้า โดยมีปริมาณสูงสุดไม่เกิน 300 เมกะวัตต์
4) กำหนดให้แต่ละฝ่ายต้องแจ้งปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขายในแต่ละช่วงเวลาทราบ ล่วงหน้า 1 วัน ก่อนเวลา 10.00 น. (เวลาไทย) /11.00น. (เวลามาเลเซีย) และต้องแจ้งยืนยันปริมาณการสั่งซื้อก่อนเวลา 14.00 น. (เวลาไทย) / 15.00 น. (เวลามาเลเซีย)
5) อัตราค่าไฟฟ้าที่แต่ละรายจะเสนอขาย (Price Quotation) ในแต่ละเดือนมีได้ไม่เกิน 3 ราคา คือ Price A,B และ C โดยขึ้นกับปริมาณความพร้อมจ่ายของแต่ละช่วงเวลา Price A จะเป็นราคาต่ำสุด และต้องแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 7 วันทำการ ก่อนเริ่มซื้อขายในเดือนถัดไป
6) ระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงขนาด 300 เควี มีความยาวรวม 110 กม. (ฝั่งไทยยาว 25 กม. ฝั่ง มาเลเซียยาว 85 กม.) เชื่อมโยงระหว่างสถานีคลองแงะฝั่งไทยและสถานีไฟฟ้าคูรุนในมาเลเซีย
7) ทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้ง Joint Operation Committee เพื่อประสานงานให้การจ่ายพลังงานไฟฟ้าเป็นไปตามสัญญา
8) ในกรณีที่ระบบ HVDC ขัดข้องไม่สามารถส่งจ่ายไฟฟ้าได้ ทั้งสองฝ่ายสามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ AC ได้
9) หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องนำเสนอข้อโต้แย้งดังกล่าวให้ผู้แทนที่แต่ละฝ่าย แต่งตั้งขึ้นพิจารณาหาข้อยุติภายใน 2 เดือน ในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ให้นำเสนอผู้ว่าการ กฟผ. และประธาน TNB เพื่อหาข้อยุติ หากภายใน 2 เดือน และถ้ายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ให้นำข้อโต้แย้งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการ อนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสิน
10) หากมีการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในไทยหรือมาเลเซีย ให้คู่สัญญาตกลงเจรจาแก้ไขสัญญาเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (HVDC System Interconnection Agreement: SIA 2001) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) โดยให้ กฟผ. นำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เสนอให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาก่อน ในกรณีที่สัญญาดังกล่าวมีสาระที่ แตกต่างจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่สำนักอัยการสูงสุดเคยตรวจร่างแล้ว
2.มอบหมายให้ กฟผ. นำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามข้อ 1 ไปลงนามกับการไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาก็เห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินการ ดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องนำร่างสัญญาฯที่เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขมาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติใหม่อีกครั้ง
- กพช. ครั้งที่ 87 - วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2544 (1041 Downloads)