มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 10/2550 (ครั้งที่ 119)
วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์
3.การกำหนดอัตราเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4.การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ
5.การกำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เนื่องจากประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม
เรื่องที่ 1 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เพื่อส่งเสริม และให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว สำหรับจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยจำนวนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ได้มีมติเห็นชอบการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ได้มีมติเห็นชอบการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 โดยปัจจุบัน มี 2 โครงการภายใต้ MOU ดังกล่าวที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน และห้วยเฮาะ และอีก 2 โครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 และโครงการน้ำงึม 2 โดยมีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2552 และมีนาคม 2554 ตามลำดับ
2. กฟผ. ได้ดำเนินการเจรจากับผู้ลงทุนโครงการหงสาลิกไนต์ภายใต้นโยบายและหลักการที่ ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ จนกระทั่งได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญ และได้มีการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ของโครงการหงสาลิกไนต์ในรูปแบบเดียวกับโครงการน้ำเทิน 1 น้ำงึม 3 น้ำเงี๊ยบ และน้ำอูที่ได้มีการลงนามแล้ว
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 ได้ให้ความเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญและร่าง MOU ของโครงการหงสาลิกไนต์แล้ว
3. โครงการหงสาลิกไนต์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโรงแรกที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการ ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับไทย ในขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ที่ผ่านมาเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด ดังนั้น เงื่อนไขด้านเทคนิคและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการนี้จึงมีความแตกต่าง จากโครงการที่ผ่านมา สรุปรายละเอียดโครงการได้ ดังนี้
3.1 กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ :
(1) โรงไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 40%) ราชบุรี (ถือหุ้น 40%) และ รัฐบาล สปป. ลาว (ถือหุ้น 20%)
(2) เหมือง ประกอบด้วย บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (ถือหุ้น 37.5%) ราชบุรี (ถือหุ้น 37.5%) และ รัฐบาล สปป. ลาว (ถือหุ้น 25%)
3.2 กำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 1,878 (3 X 626) เมกะวัตต์ กำลังผลิตสุทธิ 1,653 (3 X 551) เมกะวัตต์ ขายให้ สปป. ลาว ไม่เกิน 175 เมกะวัตต์ และขายให้ไทย ณ ชายแดน 1,473 เมกะวัตต์
3.3 ระบบส่ง จะมีการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อไปรับซื้อไฟฟ้าจาก สฟ. แม่เมาะ ไปถึงชายแดน จ. น่าน เป็นระยะทางประมาณ 245 กิโลเมตร
3.4 กำหนดแล้วเสร็จสายส่งในฝั่งไทย คือ วันที่ 1 กันยายน 2555
3.5 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date :COD) : Unit 1 : 1 มีนาคม 2556; Unit 2 : 1 สิงหาคม 2556 และ Unit 3 : 1 ธันวาคม 2556
4. สาระสำคัญของร่าง Tariff MOU โครงการหงสาลิกไนต์
ร่าง Tariff MOU โครงการหงสาลิกไนต์ มีรูปแบบเดียวกับ Tariff MOU โครงการน้ำเทิน 1 น้ำงึม 3 น้ำเงี๊ยบ และน้ำอูที่ได้ผ่านการพิจารณาโดยสำนักงานอัยการสูงสุดและมีการลงนามแล้ว โดย MOU โครงการนี้จะมีความแตกต่างเฉพาะอัตราค่าไฟฟ้าและข้อมูลเทคนิคของโรงไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้
4.1 ข้อตกลงนี้ทำขึ้นระหว่าง กฟผ. และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด
4.2 โครงการหงสาลิกไนต์เป็นโครงการซึ่ง กฟผ. ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและ สปป.ลาว
4.3 บริษัทฯ และผู้ร่วมลงทุนรายอื่น (รวมเรียกว่า Sponsors) จะจัดตั้งบริษัทใน สปป.ลาว เพื่อพัฒนาโครงการ
4.4 Sponsors จะเจรจากับรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานซึ่งผ่านความเห็นชอบของ National Assembly ของ สปป. ลาว (or Standing Committee of National Assembly) เพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการและผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. อย่างถูกต้องตามกฎหมายของ สปป. ลาว และสอดคล้องกับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
4.5 การขอความเห็นชอบ MOU และการบังคับใช้
-กฟผ. จะขอความเห็นชอบ MOU จาก กพช. ภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม
-บริษัทฯ จะขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของรัฐบาล สปป. ลาว ภายใน 3 เดือนนับจากวันลงนาม
-MOU จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้รับแจ้งการได้รับความเห็นชอบตามที่ระบุข้างต้น
4.6 โครงการมีกำลังผลิตสุทธิที่โรงไฟฟ้า 1,653 เมกะวัตต์ โดยขายให้ สปป. ลาว ไม่เกิน 175 เมกะวัตต์ และขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การที่จะขายไฟฟ้าให้ สปป. ลาว จะต้องมีระบบป้องกันที่จะไม่กระทบอีกฝ่ายหนึ่ง
4.7 อัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน เฉลี่ยตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี (Levelized) สรุปได้ดังนี้
-Availability Payment (AP) = 1.225 บาท/หน่วย
-Energy Payment (EP) = 0.825 บาท/หน่วย
-รวม AP + EP = 2.050 บาท/หน่วย
-Pre COD Energy Tariff = 0.6125+EP บาท/หน่วย
-Test Energy Tariff (ก่อนและหลัง COD) = 0.800 บาท/หน่วย
4.8 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 25 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ของเครื่องที่จำหน่ายไฟฟ้าเป็นเครื่องสุดท้าย โดยอาจมีอายุสัญญาได้ยาวกว่านี้ หาก สปป. ลาว อนุมัติและทั้งสองฝ่ายตกลง
4.9 ทั้งสองฝ่ายจะใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการน้ำเทิน 1 เป็นพื้นฐานในการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้นการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าและด้านเทคนิคจะมีการปรับใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังความร้อนตามที่เป็นเอกสารส่วนหนึ่งของประกาศรับซื้อไฟฟ้ารอบ ใหม่ของไทยในปี 2550
4.10 MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน
1) เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
2) MOU มีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงต่ออายุ MOU ออกไป
3) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้
4.11 แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจาก MOU หรือจากการยกเลิก MOU
4.12 กำหนดวันแล้วเสร็จของงานต่างๆจะเป็นดังนี้
-Scheduled Financial Close Date (SFCD) : 31 ธันวาคม 2551
-Scheduled Energizing Date (SED) (กำหนดวันที่ระบบส่งของทั้งสองฝ่ายพร้อมรับและส่งพลังงานไฟฟ้า) เท่ากับ 44 เดือนนับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และ วัน SFCD
-Scheduled Commercial Operation Date (SCOD) คือวันที่ช้ากว่าระหว่าง
-Unit 1: 50 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และ วัน SFCD
-Unit 2: 55 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และ วัน SFCD
-Unit 3 : 59 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และวัน SFCD
-หากฝ่ายใดทำให้วัน COD ล่าช้ากว่าวัน SCOD จะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราที่เท่ากัน
4.13 จำนวนหลักทรัพย์ค้ำประกัน
-วันลงนามสัญญาฯ : 21 Million USD
-วัน Financial Close Date : 53 Million USD
-วัน COD : 47 Million USD
-วันครบรอบ COD 13 ปี : 16 Million USD
4.14 Tariff MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับและตีความตามกฎหมายไทย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ และมอบหมายให้ กฟผ. ใช้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนต่อไป
2.เห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสา ลิกไนต์ในขั้นการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้ อย่างเหมาะสมได้ เนื่องจากโครงการหงสาลิกไนต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโรงแรกที่ตั้งอยู่ใน ต่างประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. เดิมพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 มีการกำกับดูแลเฉพาะน้ำมันเท่านั้น สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติได้กำกับดูแลตามประกาศของคณะ ปฏิวัติ ฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2514 และตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต่อมาได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 โดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เพื่อให้น้ำมันมีความหมายรวมถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ
2. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ได้กำหนดการกำกับดูแลเฉพาะน้ำมัน ดังนั้นเมื่อมีการเพิ่มเติมให้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ มาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว เพื่อให้สามารถกำกับดูแลครอบคลุมทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติด้วย
3. กรมธุรกิจพลังงาน ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อให้ครอบคลุมทั้งน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลวและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมน้ำมัน เชื้อเพลิง และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงพลังงานแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 และ 12 ธันวาคม 2550 ตามลำดับ
4. กฎกระทรวง มีสาระสำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้ 1) กำหนดลักษณะของภาชนะบรรจุและลักษณะของสถานประกอบกิจการน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ 2) กำหนดประเภทและลักษณะกิจการควบคุมของสถานประกอบกิจการ แบ่งเป็น 3 ประเภท โดยกิจการควบคุมประเภทที่ 1 เป็นกิจการที่สามารถประกอบกิจการได้ทันที มี 2 กิจการ กิจการควบคุมประเภทที่ 2 เป็นกิจการที่เมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน มี 7 กิจการ และกิจการควบคุมประเภทที่ 3 เป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อน จึงจะประกอบกิจการได้ มี 23 กิจการ 3) กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการแจ้งและการอนุญาตให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ 4) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม สำหรับกิจการน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติ พร้อมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับกิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติที่ประกอบกิจการก่อนกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับให้สามารถประกอบ กิจการ ต่อไปได้
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามข้อ 4
2.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงที่ได้รับความเห็นชอบ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างต่อไป
เรื่องที่ 3 การกำหนดอัตราเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. กพช. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 50 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายหลังการใช้หนี้หมด โดยให้โอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้แก่กองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานปกติในระดับ 0.18 บาท/ลิตร ค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบขนส่ง 0.50 บาท/ลิตร และเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง 0.50 บาท/ลิตร และเมื่อกองทุนน้ำมันฯ ได้สะสมเงินไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินและเพื่อแก้ไขและป้องกัน ภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพียงพอแล้ว ก็ให้ เพิ่มการโอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปยังกองทุนอนุรักษ์ฯสำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่งอีก 0.20 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการออกประกาศ กพช. กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯและนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้สอดคล้องกับมติ กพช. โดยให้กระทำในวันเดียวกันต่อไป
2. ต่อมา กพช. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 50 ได้มีมติดังนี้ (1) ให้เพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลจาก 0.07 บาท/ลิตร เป็น 0.25 บาท/ลิตร สำหรับแผนงานปกติ และประกาศลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลลดลง 0.18 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค 50 (2) ให้เพิ่มอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ อีก 0.50 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซล เป็น 0.75 บาท/ลิตร สำหรับโครงการลงทุนโครงการพัฒนาระบบการขนส่ง เมื่อหนี้สินสุทธิของกองทุนน้ำมันฯลดลงเป็นศูนย์แล้ว และให้เพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯอีก 0.20 บาท/ลิตร เป็น 0.95 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 51 โดยให้มีการประกาศลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเท่ากันและในวันเดียวกัน
3. กบง. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 50 ได้มีมติเห็นชอบปรับอัตรากองทุนน้ำมันฯ ตามมติ กพช. ดังนี้ (1) ให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล ดีเซลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 ลง 0.1800, 0.1870, 0.1800 และ 0.1835 บาท/ลิตร ตามลำดับ (2)ให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซลลง 0.50 บาท/ลิตร เมื่อหนี้สินสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ เป็นศูนย์ โดยมอบอำนาจให้ประธาน กบง. เป็นผู้พิจารณากำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการ (3) ให้ปรับลดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล ดีเซลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 ลงอีก 0.20 บาท/ลิตร เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 51 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับลดอัตรากองทุนน้ำมันฯ ตามข้อ (1) - (3) จะกระทำในวันเดียวกับการปรับขึ้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ
4. เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงเดือนต.ค. - พ.ย. 50 ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้น เพื่อ มิให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม ประธาน จึงได้นำอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เตรียมไว้สำหรับลดราคาขายปลีกน้ำมันตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 50 มาดำเนินการก่อน โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันเบนซิน 91, แก๊สโซฮอล, ดีเซลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 จำนวน 3 ครั้ง ลดลงรวม 0.40, 0.60, 0.80 และ 1.10 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 ธ.ค. 50 มีเงินสดสุทธิ 14,572 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 15,465 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 893 ล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิอยู่ที่ระดับ 2,294 ล้านบาท/เดือน โดยคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะเป็นบวกประมาณวันที่ 23 ธ.ค. 50
6. ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 50 การกำหนดให้มีการเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯของน้ำมันเบนซินและ ดีเซล มีเจตนารมณ์ให้รวมถึงน้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ด้วย โดยที่แก๊สโซฮอลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 จัดอยู่ในกลุ่มของน้ำมันเบนซินและดีเซลตามลำดับ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ จึงเห็นควรนำเสนอ กพช. เพื่อขอทบทวนมติดังกล่าว โดยให้ระบุชนิดและประเภทของน้ำมันที่จะปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่ง เสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ชัดเจน และกำหนดให้การปรับเพิ่มอัตรากองทุนอนุรักษ์ฯ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. 50 เป็นต้นไปนั้น เนื่องจากตามขั้นตอนของการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ กำหนดให้ต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งการดำเนินการลงประกาศอาจล่าช้ากว่ากำหนดระยะเวลาบังคับดังกล่าวได้ ฉะนั้นเพื่อมิให้มีปัญหาในทางปฏิบัติจึงเห็นควรกำหนดเวลาบังคับใช้ให้สอด คล้องกับการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
7. จากการประเมินสถานะกองทุนน้ำมันฯ คาดว่า กองทุนน้ำมันฯ จะมีฐานะเป็นบวกและสามารถโอนอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่งได้ประมาณวันที่ 23 ธ.ค 50 ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนในการออกประกาศ กพช. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ดำเนินการปรับเพิ่มอัตราเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ สำหรับแผนงานปกติและสำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่ง ครั้งที่ 1 ไปพร้อมกัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
1.ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของ น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล ดีเซลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 เป็น 0.75, 0.25, 0.75 และ 0.25 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดยให้มีผลบังคับใช้ ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2.ให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของ น้ำมันเบนซิน, แก๊สโซฮอล, ดีเซลและดีเซลหมุนเร็วบี 5 เพิ่มขึ้นอีก 0.20 บาท/ลิตร เป็น 0.95, 0.45, 0.95 และ 0.45 บาท/ลิตร ตามลำดับ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป
3.เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และนำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธาน กพช. ลงนามในประกาศฯ ต่อไป
เรื่องที่ 4 การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ
สรุปสาระสำคัญ
1. การกำหนดระดับค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและ มีประสิทธิภาพ ซึ่งการกำหนดให้เป็นมาตรการบังคับ จะใช้กลไกการกำหนดมาตรฐานของพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือในการกำหนดมาตรฐาน และการส่งเสริมเผยแพร่ระบบมาตรฐาน ซึ่งในด้านมาตรฐานมีรายละเอียดกำหนดให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมพิจารณากำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และให้ สมอ. พิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป
2. กระทรวงพลังงานได้ออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานให้เหมาะสม โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2551 ซึ่งนอกจากระดับประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ จะถูกกำหนดไว้ในมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีอำนาจในการออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดมาตรฐานด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์พลังงานในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ดังกล่าว
3. พพ. ได้จัดทำร่างมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของอุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า (เครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า น้ำผ่านร้อนทันที) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น และได้นำร่างมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ ดังกล่าว เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ ให้ พพ. นำเสนอ สมอ. พิจารณาประกาศกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป
4. ร่างมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ มีสาระสำคัญดังนี้ 1) ขอบข่าย 2) นิยามความหมายของคำที่ใช้ในมาตรฐานฯ 3) คุณลักษณะที่ต้องการ เกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำ 4) เครื่องหมาย และฉลากที่จำเป็นต้องติดและแสดงที่ผลิตภัณฑ์ 5) การชักตัวอย่าง และเกณฑ์การตัดสิน โดยให้เป็นไปตามแผนการชักตัวอย่างที่กำหนด หรือแผนการชักตัวอย่างอื่นที่เทียบเท่ากับทางวิชาการกับแผนที่กำหนดไว้ และ 6) การทดสอบหาค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และคุณลักษณะที่ต้องการ
5. กำหนดประสิทธิภาพการทำความร้อนขั้นต่ำและคุณลักษณะที่ต้องการ สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า 5 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
5.1 ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า น้ำผ่านร้อนทันที เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน กำหนดให้ 1) ประสิทธิภาพการทำความร้อนขั้นต่ำของเครื่องทำน้ำร้อนไฟฟ้า น้ำผ่านร้อนทันที ที่มีขนาดกำลังไฟฟ้า น้อยกว่า 4000 วัตต์, ตั้งแต่ 4000 ถึง 5500 วัตต์ และมากกว่า 5500 วัตต์ ต้องมีค่าประสิทธิภาพการทำความร้อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 81 2) ประสิทธิภาพการทำความร้อนต้องไม่น้อยกว่าค่าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ทั้งนี้ การทดสอบให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องทำ น้ำร้อนไฟฟ้า น้ำผ่านร้อนทันที เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน
5.2 ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน กำหนดให้ 1) ประสิทธิภาพการทำความร้อนขั้นต่ำของหม้อหุงข้าวไฟฟ้า ที่มีพิกัดกำลังไฟฟ้าน้อยกว่า 400 วัตต์ ต้องมีค่าประสิทธิภาพการทำความร้อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 72 และหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่มีพิกัดกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 400 ถึง 600 วัตต์, มากกว่า 600 ถึง 800 วัตต์, และมากกว่า 800 วัตต์ ต้องมีค่าประสิทธิภาพการทำความร้อนไม่น้อยกว่าร้อยละ 76 2) ประสิทธิภาพการทำความร้อนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 ของค่าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ทั้งนี้ การทดสอบให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหม้อหุงข้าว ไฟฟ้า เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน
5.3 ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน กำหนดให้ 1) ประสิทธิภาพการทำความร้อนขั้นต่ำของกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า ขนาดความจุน้อยกว่า 2.4 , ตั้งแต่ 2.4 ถึง 3.0 ลูกบาศก์เดซิเมตร, และมากกว่า 3.0 ลูกบาศก์เดซิเมตร ต้องมีค่าประสิทธิภาพการทำความร้อนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 2) ประสิทธิภาพการทำความร้อนต้องไม่น้อยกว่าค่าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) และ 3) พิกัดกำลังไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ110 ของพิกัดกำลังไฟฟ้าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ทั้งนี้ การทดสอบให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน
5.4 ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน กำหนดให้ 1) อัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของเครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง และแบบแยกส่วน ที่มีขีดความสามารถทำความเย็นไม่เกิน 8000 วัตต์ และขีดความสามารถทำความเย็น 8001 วัตต์ ถึง 12000 วัตต์ มีอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2.82 2) ประสิทธิภาพพลังงาน ให้มีอัตราส่วนประสิทธิภาพพลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 93 ของค่าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ขีดความสามารถทำความเย็นรวมสุทธิของเครื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของขีดความสามารถทำความเย็นรวมสุทธิของเครื่องที่ระบุ และพิกัดกำลังไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 110 ของพิกัดกำลังไฟฟ้าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ทั้งนี้ การทดสอบให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องปรับ อากาศ เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน
5.5 ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้เย็น เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน กำหนดให้ 1) ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปี สำหรับตู้เย็น 1 ประตู แบบขจัดฝ้าน้ำแข็งด้วยมือ ที่มี AV < 100 ลิตร มีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปีไม่เกิน 0.74 AV + 278 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และ AV ≥ 100 ลิตร มีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปีไม่เกิน 0.43 AV + 158 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สำหรับตู้เย็น 2 ประตู แบบขจัดฝ้าน้ำแข็งอัตโนมัติ ที่มี AV < 450 ลิตร มีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปีไม่เกิน 0.43 AV + 423 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และ AV ≥ 450 ลิตร มีค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปีไม่เกิน 0.74 AV + 423 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง 2) ค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อปีต้องไม่เกินร้อยละ 110 ของค่าที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) และ 3) ปริมาตรภายในที่วัดได้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 97 ของค่าปริมาตรภายในที่กำหนดที่ระบุไว้ที่ฉลากของผู้ผลิต (name plate) ทั้งนี้ การทดสอบให้ปฏิบัติตามที่กำหนดในร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้เย็น เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงาน
6. เนื่องจากการดำเนินการเพื่อกำหนดระดับประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของอุปกรณ์ ไฟฟ้า โดยออกเป็นมาตรฐานตามกฎหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องใช้ระยะ เวลา ดังนั้นเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทำการผลิต หรือนำอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานมาจำหน่ายก่อน ควรใช้มาตรการอื่นภายใต้พระราชบัญญัติเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินการไปพลางก่อน เช่น การให้การส่งเสริมช่วยเหลือ การกำหนดให้อุปกรณ์ต้องแสดงประสิทธิภาพพลังงาน เป็นต้น ซึ่งในการดำเนินการนี้จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ ของอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ตามรายละเอียดข้อ 5
2.มอบหมายให้ พพ. นำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเฉพาะด้านประสิทธิภาพพลังงานของอุปกรณ์ 5 ผลิตภัณฑ์ ตามที่ได้รับความเห็นชอบในข้อ 1 เสนอ ต่อ สมอ. เพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้ สมอ. เร่งดำเนินการกำหนดเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีผลบังคับใช้ต่อไปโดย เร็ว
3.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงพลังงาน โดย พพ. ไปดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของ อุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ตามที่ได้รับความเห็นชอบในข้อ 1 เพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการ อนุรักษ์พลังงาน ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 เป็นต้นมา ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้มีการแยกการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติงานออกจากกันอย่างชัดเจน โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติภายใต้ กรอบนโยบายของรัฐ ได้แก่ การกำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการและการให้บริการอย่างทั่วถึง ให้ความคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ พลังงาน การกำหนดมาตรฐานคุณภาพการบริการและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดโดยมิชอบ เป็นต้น
2. ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ กพช. กำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการออกประกาศแนวนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่า บริการในการประกอบกิจการพลังงานตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติฯ โดยรวบรวมจากแนวนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซ ธรรมชาติที่ กพช. ได้มีมติให้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้กระทรวงพลังงานจัดทำประกาศแนวนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่า บริการในการประกอบกิจการพลังงานตามมาตรา 64 โดยรวบรวมจากแนวนโยบายการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซ ธรรมชาติที่ กพช. ได้มีมติให้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการจัดทำขอบเขตการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลกิจการพลังงานตามพระราช บัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
- กพช. ครั้งที่ 119 - วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2550 (1569 Downloads)