มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 3/2542 (ครั้งที่ 18)
วันอังคารที่ 21 กันยายน 2542 เวลา 16.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. รายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
2. การประเมินผลโครงการอาคารของรัฐ
5. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543
6. โครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน
7. ปรับแผนโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ป่า
9. อาคารของรัฐที่เป็นอาคารควบคุม : ภายใต้สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ
รองนายกรัฐมนตรี (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) ประธานกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ เกี่ยวกับรายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2542 ซึ่งมีเงินคงเหลือในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,812,139,167.84 บาท และรายงานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ของ สพช. บก. และ พพ. ตามแผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน สิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2542 ซึ่งได้เบิกเงินเพื่อดำเนินงานตามแผนงานไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 3,424,225,578.57 บาท
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ รายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และรายงานการเบิกจ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2542
เรื่องที่ 2 การประเมินผลโครงการอาคารของรัฐ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้จ้างบริษัท Ramboll Hannenmann Holland A/S ดำเนินการประเมินผลโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 1 ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ โดย สพช. ได้นำผลจากการศึกษาดังกล่าวจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานตามโครงการฯ และ สพช. ได้นำข้อเสนอแนะจากการศึกษาและการสัมมนา เสนอต่อคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 2/2542 (ครั้งที่ 2) เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2542 โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตเพื่อให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ปรับแผนโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 ดังนี้
1. โครงการอาคารของรัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารของรัฐ ซึ่งจากการประเมินผลพบว่าหากเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออก ถูกนำกลับมาใช้งานอีกเพียงร้อยละ 37 (ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเครื่องปรับอากาศใหม่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสู่งกว่าเครื่องเก่าร้อยละ 37) การลงทุนในการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศทั้งหมด จะไม่ได้ผลในการอนุรักษ์พลังงานเลย ฉนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการที่ได้ผลจริงในการห้ามไม่ให้นำเครื่องปรับอากาศที่ถูกถอดทิ้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
2. การทำลายเครื่องปรับอากาศที่ถูกถอดทิ้ง จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันราชมงคลเป็นผู้รับดำเนินการ โดยมีการเปรียบเทียบจำนวนเครื่องปรับอากาศที่ถูกถอดออกและที่ถูกส่งมาทำลาย เพื่อติดตามการดำเนินงานของโครงการว่าเครื่องปรับอากาศทั้งหมดที่ถูกถอดออกได้รับการทำลายหรือไม่
3. หาก พพ. ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าของอาคารนำเครื่องปรับอากาศเก่ากลับมาใช้ใหม่ อนุกรรมการฯ เห็นควรให้ชะลอโครงการระยะที่ 2 ออกไปก่อน
4. การวัดความสำเร็จของโครงการจะต้องวัดที่ปริมาณพลังงานที่ลดลงได้ ไม่ใช่จำนวนอาคารที่เข้าร่วมโครงการ หรือจำนวนอุปกรณ์ที่เปลี่ยนให้ หรือจำนวนเงินลงทุน
5. จะต้องผลักดันให้เจ้าของอาคารมีส่วนร่วมมากขึ้น โดย
- 5.1 สนับสนุนให้เจ้าของอาคารที่พร้อมที่จะทำการปรับปรุงการใช้พลังงานของตัวเองได้ดำเนินการเอง โดยการสนับสนุนด้านการเงินจากกองทุนฯ
5.2 ทำการฝึกอบรม ปลูกจิตสำนึก และวิธีการใช้พลังงานในอาคาร เนื่องจากผู้ใช้อาคารจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
1. จะต้องมีการเพิ่มจำนวน IA ให้มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเข้ามาแข่งขันด้านราคาและคุณภาพการให้บริการต่อ พพ. และในสัญญาที่ พพ. ทำกับ IA จะต้องระบุว่า "ห้ามมิให้จ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ" และ พพ. จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่า IA "จ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ " หรือไม่
2. สพช. จะต้องเร่งรัดให้สำนักงบประมาณสนับสนุนให้หน่วยงานมีงบประมาณสำหรับบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ และสนับสนุนให้เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพสูง
3. เร่งดำเนินการประกาศมาตรฐานบังคับสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสนับสนุนมาตรการติดฉลากและประชาสัมพันธ์ให้เกิดตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เพื่อในอนาคตเจ้าของอาคารที่ได้รับการปรับปรุงอุปกรณ์แล้ว แต่อุปกรณ์ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ ก็จะสามารถเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงได้
4. ให้นำผลการศึกษาโครงการนำร่องบริษัทจัดการด้านพลังงาน (ESCO) ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อประเมินถึงความเป็นไปได้ในการนำ ESCO มาดำเนินการในโครงการอาคารของรัฐต่อไป
สพช. ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0905/1477 ลงวันที่ 16 กันยายน 2542 ถึงอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) เพื่อแจ้งให้ทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน นำข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 ต่อไป
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับแผนงานและโครงการ ในปีงบประมาณ 2537-2542 ซึ่งมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 19,286 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นเก้าพันสองร้อยแปดสิบหกล้านบาทถ้วน) โดยแผนอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปีงบประมาณ 2537-2542 ประกอบด้วย 3 แผนงานรอง และ 10 โครงการหลัก และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการกองทุนฯ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลแผนงานแต่ละแผนงาน พร้อมทั้งกำหนดให้มี 2 หน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.)
การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนฯ และคณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของโครงการต่างๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 6,237 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ได้ใช้จ่ายจากกองทุนฯ ดังกล่าวนั้น ในส่วนงานที่ดำเนินการแล้วและสามารถประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างชัดเจน คือ โครงการอาคารของรัฐ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 573 อาคาร และโครงการต่างๆ ภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ ที่ได้ใช้จ่ายเงินสำหรับสองส่วนข้างต้นไปแล้ว รวม 3,729 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และสามารถทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองได้ คิดเป็นเงินประมาณ 525 ล้านบาท/ปี และคิดเป็นมูลค่าชะลอการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าได้ 2,115 ล้านบาท
เนื่องจากแผนอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2542 นี้ สพช. จึงได้ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ระยะที่ 2 ปี 2543-2547 และได้เสนอคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ของคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เลขานุการฯ จึงใคร่นำแผนอนุรักษ์พลังงานฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาตามรายละเอียดปรากฏในระเบียบวาระการประชุม โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
แผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ระยะที่ 2 ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นไปตามแผนฯ เดิม แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงในประเด็นใหญ่ มี 5 หัวข้อ ดังนี้
1) การปรับเปลี่ยนโครงการอาคารและโรงงานทั่วไป จากแผนงานภาคบังคับ ให้ไปบรรจุอยู่ภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ
2) ปรับเปลี่ยนโครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ พร้อมทั้งงบประมาณในการดำเนินการจากแผนงานสนับสนุนไปไว้ภายใต้แผนงานภาคบังคับ
3) การเพิ่ม "โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน" เป็นอีกโครงการหนึ่งภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ โดยใช้เงินจากกองทุนฯ สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
4) ดำเนินโครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง จนถึงเดือนมีนาคม 2543 เท่านั้น และให้การสนับสนุนเฉพาะอาคารของรัฐที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเท่านั้น แล้วให้มีการประเมินผลโครงการเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ในการพิจารณาให้ดำเนินการในช่วงต่อไป
5) ไม่จำกัดขอบเขตงานโครงการพลังงานหมุนเวียนและกิจกรรมการผลิตในชนบทไว้ที่ กิจการขนาดเล็กที่ใช้พลังไฟฟ้าต่ำกว่า 300 kW และมีสถานที่ตั้งนอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล
แผนอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ประกอบด้วย 3 แผนงานรอง และ 12 โครงการหลัก ดังนี้
แผนอนุรักษ์พลังงาน
(ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547)
แผนงานภาคบังคับ | แผนงานภาคความร่วมมือ | แผนงานสนับสนุน |
โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน โครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง โครงการอาคารของรัฐ โครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ |
โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน โครงการศึกษา วิจัย พัฒนา โครงการโรงงานและอาคารทั่วไปที่กำลังใช้งาน |
โครงการพัฒนาบุคลากร โครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ โครงการบริหารงานตามกฎหมาย |
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน | สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ |
สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ |
ประมาณการความต้องการงบประมาณเพื่อจัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับแผนอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543-2547 จำแนกตามแผนงานรองและโครงการหลัก ได้ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท |
||||||
ปีงบประมาณ | 2543 | 2544 | 2545 | 2546 | 2547 | รวม |
แผนงานภาคบังคับ | 3,727.84 | 3,764.84 | 4,199.34 | 2,883.34 | 2,445.94 | 17,021.30 |
1. โครงการอาคารของรัฐ | 584.84 | 592.54 | 595.74 | 569.44 | 557.24 | 2,899.80 |
2. โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน | 2,907.50 | 3,081.80 | 3,513.10 | 2,223.40 | 1,798.20 | 13,524.00 |
3. โครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างออกแบบหรือก่อสร้าง | 145.00 | - | - | - | - | 145.00 |
4. โครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ | 90.50 | 90.50 | 90.50 | 90.50 | 90.50 | 452.50 |
แผนงานภาคความร่วมมือ | 691.00 | 1,075.00 | 1,201.00 | 1,481.00 | 1,974.00 | 6,422.00 |
5. โครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน | 310.00 | 368.00 | 309.00 | 279.00 | 259.00 | 1,525.00 |
6. โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน | - | 110.00 | 294.00 | 552.00 | 1,104.00 | 2,060.00 |
7. โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน | 216.00 | 123.00 | 149.00 | 146.00 | 107.00 | 741.00 |
8. โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา | 165.00 | 217.00 | 192.00 | 247.00 | 247.00 | 1,068.00 |
9. โครงการโรงงานและอาคารทั่วไปที่กำลังใช้งาน | - | 257.00 | 257.00 | 257.00 | 257.00 | 1,028.00 |
แผนงานสนับสนุน | 1,062.92 | 1,163.19 | 1,155.82 | 1,136.67 | 1,148.71 | 5,667.31 |
10. โครงการพัฒนาบุคลากร | 316.00 | 343.00 | 343.00 | 343.00 | 343.00 | 1,688.00 |
- พพ. | 57.00 | 133.00 | 120.00 | 72.00 | 58.00 | 440.00 |
- หน่วยงานอื่นๆ | 259.00 | 210.00 | 223.00 | 271.00 | 285.00 | 1,248.00 |
11. โครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ | 150.00 | 150.00 | 150.00 | 150.00 | 150.00 | 750.00 |
12. การบริหารงานตามกฎหมาย | 596.92 | 670.19 | 662.82 | 643.67 | 655.71 | 3,229.31 |
- สพช. | 112.05 | 100.00 | 105.95 | 113.50 | 120.65 | 552.15 |
- พพ. | 484.12 | 569.27 | 555.89 | 529.19 | 534.08 | 2,672.55 |
- บก. | 0.75 | 0.92 | 0.98 | 0.98 | 0.98 | 4.61 |
รวม | 5,481.76 | 6,003.03 | 6,556.16 | 5,501.01 | 5,568.65 | 29,110.61 |
มติที่ประชุม
1. รับทราบผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและการประเมินผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานในช่วงปีงบประมาณ 2537-2542 และการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อใช้ในการกำหนดแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทางการดำเนินงาน ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ในส่วนที่ 2- ส่วนที่ 5 ของเอกสารแนบ 4.1.1
2. เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ในส่วนที่ 6-ส่วนที่ 7 ของเอกสารแนบ 4.1.1 และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอต่อ กพช. พิจารณา
3. เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอต่อ กพช. พิจารณามอบหมายให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ สำหรับแผนงานและโครงการในปีงบประมาณ 2543-2547 ตามวงเงินในข้อ 2.4 (รายละเอียดตามที่ปรากฏในส่วนที่ 8 ของเอกสารแนบ 4.1.1) ซึ่งมีวงเงินรวม 29,110.61 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจที่จะปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ การจัดลำดับความสำคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนฯ ด้วย
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สพช. พพ. และ บก. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543-2547 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พรบ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ เพื่อปฏิบัติภาระกิจดังกล่าวข้างต้น สพช. พพ. และ บก. จึงได้จัดทำข้อเสนอ งบประมาณ เพื่อเป็นค่าบริหารงานสำหรับปีงบประมาณ 2543 ต่อคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 8/2542 (ครั้งที่ 60) เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2542 ที่ประชุมได้พิจารณางบประมาณเพื่อเป็นค่าบริหารงานสำหรับปีงบประมาณ 2543 ของ สพช. พพ. และ บก. แล้วมีมติเห็นชอบให้ สพช. และ พพ. พิจารณาปรับงบประมาณรายจ่ายปี 2543 ในส่วนของค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าครุภัณฑ์ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุบางรายการ ซึ่ง สพช. และ พพ. ได้ดำเนินการปรับงบประมาณตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว คงเป็นงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนรวมทั้งสิ้น จำนวน 596,912,024 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หน่วย : บาท
สพช. | พพ. | บก. | รวม | |
1. ค่าจ้างชั่วคราว | 2,933,520 | 21,044,400 | 467,040 | 24,444,960 |
2. ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ | 8,089,480 | 24,846,892 | 160,000 | 33,096,372 |
3. ค่าสาธารณูปโภค | 4,920,000 | 5,238,792 | - | 10,158,792 |
4. ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง | 105,000 | 20,136,900 | 120,000 | 20,361,900 |
5. รายจ่ายอื่น (ค่าจ้างที่ปรึกษา) | 96,000,000 | 412,850,000 | - | 508,850,000 |
รวม | 112,048,000 | 484,116,984 | 747,040 | 596,912,024 |
ฝ่ายเลขานุการฯ จึงใคร่ขอนำงบประมาณรายจ่ายของทั้ง 3 หน่วยงาน เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณา
มติที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานสนับสนุนโครงการบริหารงานตามกฎหมาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของ สพช. พพ. และ บก. ในปีงบประมาณ 2543 ดังนี้
1. งบประมาณค่าใช้จ่ายของ สพช.
อนุมัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2543 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามกฎหมายของ สพช. ในวงเงิน 112,048,000 บาท (หนึ่งร้อยสิบสองล้านสี่หมื่นแปดพันบาทถ้วน) โดยให้ถัวจ่ายรายการต่างๆ ภายในหมวดเดียวกันได้ สำหรับรายการที่ต้องการถัวจ่ายระหว่างหมวดและไม่เกินรายการละ 10 ล้านบาท ให้เสนอคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนพิจารณาอนุมัติ ส่วนรายการที่ต้องการถัวจ่ายระหว่างหมวดและเกินรายการละ 10 ล้านบาท ให้เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
2. งบประมาณค่าใช้จ่ายของ พพ.
อนุมัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2543 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามกฎหมายของ พพ. ในวงเงิน 484,116,984 บาท (สี่ร้อยแปดสิบสี่ล้านหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นหกพันเก้าร้อยแปดสิบสี่บาทถ้วน) โดยให้ถัวจ่ายรายการต่างๆ ภายในหมวดเดียวกันได้ สำหรับรายการที่ต้องการถัวจ่ายระหว่างหมวดและไม่เกินรายการละ 10 ล้านบาท ให้เสนอคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนพิจารณาอนุมัติ ส่วนรายการที่ต้องการถัวจ่ายระหว่างหมวดและเกินรายการละ 10 ล้านบาท ให้เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
3. งบประมาณค่าใช้จ่ายของ บก.
อนุมัติรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2543 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามกฎหมายของ บก.ในวงเงิน 747,040 บาท (เจ็ดแสนสี่หมื่นเจ็ดพันสี่สิบบาทถ้วน) โดยให้ถัวจ่ายรายการต่างๆ ภายในหมวดเดียวกันได้ สำหรับรายการที่ต้องการถัวจ่ายระหว่างหมวดให้เสนอคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนเพื่อพิจารณาอนุมัติ
4. อนุมัติให้ สพช. พพ. และ บก. เบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2543 เพื่อการบริหารงานตามกฎหมายได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542
เรื่องที่ 5 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2541 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2541 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2542 ในวงเงิน 186,000,000 บาท และในการประชุมครั้งที่ 2/2540 (ครั้งที่ 12) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2540 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2541 ในวงเงิน 88,900,000 บาท
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ได้อนุมัติให้ สพช. ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2542 ไปแล้ว จำนวน 35 กิจกรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 131,620,114.63 บาท และกำลังดำเนินการจัดจ้างในช่วงที่ 3 อีก 15 กิจกรรม และได้อนุมัติให้ พพ. ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2541 เป็นจำนวน 21 กิจกรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 77,447,207 บาท
คณะอนุกรรมการประเมินผลแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 2/2542 (ครั้งที่ 2) เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2542 ได้พิจารณาผลการประเมินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทั้งในส่วนที่ สพช. และ พพ. รับผิดชอบ โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินการในปีต่อไป โดยให้ตั้งดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ให้เปรียบเทียบประสิทธิผลของการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงทัศนคติและพฤติกรรมของแต่ละกลุ่มเพื่อประโยชน์ในการวางกลยุทธ์ ในการสื่อสารให้ได้ผลที่สุด และให้ประชาสัมพันธ์ไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มในการประหยัดพลังงานได้มากด้วย
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ในการประชุมครั้งที่ 7/2542 (ครั้งที่ 59) เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2542 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543-2547 และเห็นชอบงบประมาณฯ ปี 2543 โดยให้เพิ่มจำนวนเงินสำหรับกิจกรรมการผลิตและการซื้อสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถเข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ และสามารถสร้างการรับรู้ต่อการสื่อสารของโครงการฯ ได้ดี และเห็นชอบแผนปฏิบัติโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบปีงบประมาณ 2543-2547 และเห็นชอบงบประมาณฯ ปี 2543 โดยให้ พพ. เน้นการประชาสัมพันธ์โดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้สื่อที่เหมาะสมในแต่ละกิจกรรม
ฝ่ายเลขานุการฯ จึงใคร่ขอเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาแผนงานประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. และ พพ. รับผิดชอบ สำหรับปีงบประมาณ 2543 ดังนี้
โครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543
สพช. จะนำเรื่อง "บ้านประหยัดพลังงาน" มาเป็นประเด็นหลักในการประชาสัมพันธ์ในปี 2543 เนื่องจากวิธีประหยัดพลังงานที่ประชาชนสามารถทำเองได้ภายในบ้านมักจะเป็นข้อมูลที่มีผู้สนใจอยู่เสมอ อีกทั้งสามารถกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติอย่างจริงจัง และด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจึงทำให้เนื้อหาของการประชาสัมพันธ์มุ่งเน้นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้เองที่บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก เช่น การวางเครื่องเรือนให้ไม่บังลมและแสงธรรมชาติ การปลูกพืชบังแดด เป็นต้น ซึ่งวิธีการที่จะเสนอต่อประชาชนทั่วไปจะเป็นวิธีที่ได้ผลแน่นอนในการประหยัดการใช้พลังงานและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่นำมาใช้จะได้จากผลการวิจัย ทดลอง และสัมมนา จากโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ และโครงการพัฒนาบุคลากร โดยนำมาเผยแพร่ต่อในวงกว้างผ่านกิจกรรมที่เหมาะสม และ สพช. ได้กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการในปี 2543 จำนวน 18 กิจกรรม โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการ 150 ล้านบาท
โครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543
โดยการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและผลการประเมิน ดังนั้นในปีงบประมาณ 2543 พพ. จึงมุ่งที่จะเข้าให้ถึงกลุ่มอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมรวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ด้วยการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการประชาสัมพันธ์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะ ในลักษณะของการสื่อสารตรงสู่กลุ่มเป้าหมาย จะทำให้เกิดการสูญเปล่าน้อยที่สุด และใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเป็นช่องทางสนับสนุน สำหรับประเด็นหลักที่ พพ. ยังต้องประชาสัมพันธ์ออกไปได้แก่การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พรบ.ฯ บทบาทหน้าที่ของ พพ. และประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนฯ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายยังไม่มีการรับรู้ที่ดีเพียงพอ นอกจากนั้นยังควรตอบสนองความต้องการด้านข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลด้านเทคนิค วิธีการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อจูงใจให้เกิดการปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน โดยผ่านวิธีการและกิจกรรมที่เหมาะสม โดย พพ. ได้กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการในปี 2543 จำนวน 15 กิจกรรม โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการ 90.5 ล้านบาท
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบในแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543 และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย ในวงเงิน 150,000,000 บาท ตามที่ สพช. เสนอมา โดยให้นำข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ไปปรับใช้กับการดำเนินงาน
2. เห็นชอบในแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543 และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย ในวงเงิน 90,500,000 บาท ตามที่ พพ. เสนอมา โดยให้นำข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ไปปรับใช้กับการดำเนินงาน
3. เห็นชอบให้ สพช. และ พพ. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ โดยให้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แล้วให้ สพช. เสนอผลการพิจารณาคัดเลือกให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน และให้ พพ. เสนอผลการพิจารณาคัดเลือกให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท
เรื่องที่ 6 โครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีหนังสือที่ นร 6805/133/42 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2542 เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการการสนับสนุนผู้ปฏิบัติการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน ในวงเงิน 77,724,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการสร้างนักวิจัยในภาคอุตสาหกรรม โดยให้มหาวิทยาลัยในโครงการได้พัฒนางานวิจัยทางด้านพลังงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และให้ทุนนักศึกษาได้เข้าไปทำวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาหรือคิดค้นกระบวนการใหม่ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยจะเน้นโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) โดยข้อเสนอโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 โครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ในสาขาพลังงาน (Research Associate Support : Energy Program) โดยมีฝ่ายสนับสนุนการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (ฝ่าย 5) สกว. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในวงเงิน 27,804,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี
ส่วนที่ 2 โครงการทักษวิศวกรรมเคมี โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในวงเงิน 49,920,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ครั้งที่ 5/2542 (ครั้งที่ 57) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2542 และครั้งที่ 6/2542 (ครั้งที่ 58) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมพิจารณาโครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน คือ ศ.ดร. วิวัฒน์ ตันฑะพานิชกุล รศ.ดร. กุลธร ศิลปบรรเลง และผู้อำนวยการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาโครงการฯ แล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2542 และได้เสนอผลการพิจารณาให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ในการประชุมครั้งที่ 7/2542 (ครั้งที่ 59) เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2542 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ แผนงานสนับสนุน โครงการพัฒนาบุคลากร หมวดการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ให้ สกว. และ มจธ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน โดยให้ สกว. และ มจธ.จะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลงตามข้อสังเกตของอนุกรรมการฯ ซึ่ง สกว. และ มจธ. ได้ดำเนินการปรับปรุงข้อเสนอโครงการฯ ตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว โดยได้ปรับลดงบประมาณลงรวม 4,126,500 บาท เลขานุการฯ จึงใคร่นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
มติที่ประชุม
1. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานสนับสนุน โครงการพัฒนาบุคลากร หมวดการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ให้ สกว. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน ในวงเงิน 23,677,500 บาท (ยี่สิบสามล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน)
2. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานสนับสนุน โครงการพัฒนาบุคลากร หมวดการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ให้ มจธ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทักษวิศวกรรมเคมี ในวงเงิน 49,920,000 บาท (สี่สิบเก้าล้านเก้าแสนสองหมื่นบาทถ้วน)
3. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานสนับสนุน โครงการพัฒนาบุคลากร หมวดการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย ให้ สพช. ทำการประเมินผลโครงการฯ ของ มจธ. และรายงานผลเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานปีที่ 2 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้การสนับสนุนอีก 3 ปี ต่อไป ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2540 (ครั้งที่ 12) เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2540 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนฯ โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี (มจธ.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาด สำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในวงเงิน 21,977,281 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันสองร้อยแปดสิบเอ็ดบาทถ้วน)
มจธ. ได้มีหนังสือที่ ทม. 5308/110 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายการในข้อเสนอโครงการฯ จากเดิม เพื่อความเหมาะสมของระบบจากการที่ มจธ. ได้ดำเนินการศึกษา ออกแบบ และเลือกระบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2541 (ครั้งที่ 21) เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน 2541 มีมติเห็นชอบให้ มจธ. เปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินการฯ ได้ ตามที่ มจธ. เสนอ
มจธ. ได้มีหนังสือที่ ทม.5301/2047 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2542 เพื่อชี้แจงให้ สพช. ทราบถึงปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานของโครงการฯ ไม่เป็นไปตามแผนการดำเนินโครงการฯ เช่น ค่าวัสดุ การก่อสร้างโรงเรือนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การขนส่งวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การสร้างระบบประจุแบตเตอรี่และค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบฯ เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการดำเนินงาน และวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว ดังนั้นเพื่อให้โครงการฯ ดำเนินการได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย มจธ. จึงได้ขอปรับแผนการดำเนินโครงการฯ และค่าใช้จ่ายของโครงการฯ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการดำเนินโครงการฯ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ในการประชุมครั้งที่ 7/2542 (ครั้งที่ 2) เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2542 เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
1. อนุมัติให้ มจธ. ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ป่า โดยให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการฯ จาก 18 เดือนเป็น 28 เดือน และเลื่อนการส่งรายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 2 และการขอเบิกเงินงวดที่ 3 วงเงิน 1,247,370 บาท ไปเป็นเดือนสิงหาคม 2542 และให้รายงานความก้าวหน้าฉบับสมบูรณ์และขอเบิกเงินงวดสุดท้าย วงเงิน 2,966,272 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2543
2. อนุมัติให้ มจธ. ถัวจ่ายค่าใช้จ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ภายในหมวดเดียวกัน ได้ตามที่ มจธ. เสนอมา
3. เห็นชอบให้การสนับสนุนเงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนา ให้ มจธ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ป่า ในวงเงิน 2,966,272 บาท (สองล้านเก้าแสนหกหมื่นหกพันสองร้อยเจ็ดสิบสองบาทถ้วน) และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาในโอกาสต่อไป
มติที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนา ให้ มจธ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานด้วยพลังงานสะอาดสำหรับอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ป่า ในวงเงิน 2,966,272 บาท (สองล้านเก้าแสนหกหมื่นหกพันสองร้อยเจ็ดสิบสองบาทถ้วน)
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการขอเงินจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนจากกองทุนฯ แก่โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมของเอกชนและโรงงานควบคุมของส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ ในการดำเนินงานอนุรักษ์พลังงานตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานฯ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. เงินช่วยเหลือให้เปล่าในการจัดทำการศึกษาการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงาน เบื้องต้น ไม่เกิน 100,000 บาท/ราย
2. เงินอุดหนุนจำนวนร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน แต่ไม่เกิน500,000 บาท/ราย
3. เงินอุดหนุนภาระดอกเบี้ยจากการลงทุนในแต่ละมาตรการ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่มีผลตอบแทนการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 เพื่อให้มีผลตอบแทนทางการเงินสูงขึ้นจนเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุด สำหรับลูกค้ารายย่อยของธนาคารกรุงไทย เฉลี่ยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา + 2 % แต่ทั้งนี้เงินอุดหนุนจะไม่เกินร้อยละ 60 ของเงินลงทุน และไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อมาตรการ
สำหรับอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ กองทุนฯ จะให้การสนับสนุนในรูปของเงินช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมดในการจัดทำการศึกษา การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา พพ. จะจ่ายเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น และการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน เพียงครั้งเดียวทั้งหมดหลังจากที่ได้เห็นชอบรายงานฯ ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าว ปรากฏว่าบริษัทที่ปรึกษาฯ หลายรายที่ได้รับการว่าจ้างจากโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม แจ้งให้ พพ ทราบว่า บริษัทฯ ต้องออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการไปก่อน และถ้าบริษัทฯ รับงานจำนวนมากรายด้วยแล้วก็จะรวมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ประกอบกับการขาดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้บริษัทฯ ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอ ทั้งนี้เพราะเจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ล่าช้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการฯ ซึ่งจ่ายเงินค่าว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ทั้งหมด
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พพ. ได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ พิจารณา ในการประชุมครั้งที่ 5/2542 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2542 และในการประชุมครั้งที่ 6/2542 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันพุธที่ 8 กันยายน 2542 ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
1. ให้ พพ. สามารถปรับจำนวนงวดและสัดส่วนการจ่ายเงินสนับสนุนได้ตามที่ พพ. เห็นสมควร โดยในขั้นแรกให้ พพ. แบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด ตามสัดส่วนความก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายของงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
1.1 การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น
งวดแรก จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อส่งรายงานการ ตรวจสอบฯ เบื้องต้นให้ พพ. แล้ว
งวดที่สอง จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อรายงานการ ตรวจสอบฯ เบื้องต้น ได้รับความเห็นชอบจาก พพ. แล้ว
1.2 การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
งวดแรก จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อส่งรายงานการ ตรวจสอบฯ โดยละเอียดให้ พพ.แล้ว
งวดที่สอง จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และรายงานการตรวจสอบฯ โดยละเอียดได้รับความเห็นชอบจาก พพ. แล้ว
2. ให้ พพ. นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการก่อน ดังนั้นเลขานุการฯ จึงใคร่เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณา
มติที่ประชุม
1. อนุมัติให้ พพ. สามารถปรับจำนวนงวดและสัดส่วนการจ่ายเงินสนับสนุนค่าตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น และการจัดทำเป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้แก่โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม โดยในขั้นแรกให้ พพ. แบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด ตามสัดส่วนความก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายของงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
(1) การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น
งวดแรก จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมส่งรายงานการตรวจสอบฯ เบื้องต้นให้ พพ. แล้ว
งวดที่สอง จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมรายงานการตรวจสอบฯ เบื้องต้น ให้ พพ. และ พพ. ได้เห็นชอบในคุณภาพของผลงานแล้ว
(2) การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
งวดแรก จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมส่งรายงานการตรวจสอบฯ โดยละเอียดให้ พพ. แล้ว
งวดที่สอง จ่ายร้อยละ 50 ของเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เมื่อเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และรายงานการตรวจสอบฯ โดยละเอียด ของโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมนั้นได้รับความเห็นชอบจาก พพ. แล้ว
2. เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2543 ให้ ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานงานกับ พพ. และกรมบัญชีกลาง พิจารณาความเหมาะสมในขั้นตอนวิธีการจ่ายเงินสนับสนุนฯ ตามข้อ 1 และเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อกำหนดวิธีการจ่ายเงินสนับสนุนฯ ในช่วงต่อไป
เรื่องที่ 9 อาคารของรัฐที่เป็นอาคารควบคุม : ภายใต้สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะอนุกรรมการประเมินผลแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 2/2542 (ครั้งที่ 2) เมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม 2542 ที่ประชุมได้พิจารณาผลการประเมินผลโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 1 แล้ว ได้มีข้อสังเกตเพื่อปรับปรุงการทำงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 ว่าควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการปรับปรุงการใช้พลังงานของตนสามารถขอรับการสนับสนุนมายังกองทุนฯ ผ่านคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินการดังกล่าว ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่ได้เสนอให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาแล้ว
ทบวงมหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือที่ ทม 0201(4)/13920 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ถึงประธานอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ เพื่อขอให้พิจารณาโครงการปรับปรุงอาคารภายใต้การดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน ให้มีผลโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือที่ ศธ 0219/8704 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2542 ถึงประธานอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ เพื่อขอให้พิจารณาโครงการปรับปรุงอาคารภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการโดยเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ในการประชุมครั้งที่ 6/2542 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันพุธที่ 8 กันยายน ที่ประชุมได้พิจารณาได้พิจารณาโครงการฯ ของทบวงมหาวิทยาลัย และของกระทรวงศึกษาธิการ แล้ว ที่ประชุมมีมติดังนี้
1. เห็นชอบให้การสนับสนุนเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้ ทบวงฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนำร่องสำหรับอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการฯ ในสังกัดของทบวงฯ โดยให้ ทบวงฯ เป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการโดยตรง (Implementing Agency "IA") เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 891,000,000 บาท (แปดร้อยเก้าสิบเอ็ดล้านบาทถ้วน) และให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาต่อไป
2. เห็นชอบให้การสนับสนุนเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้ กระทรวงฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเร่งด่วนสำหรับอาคารควบคุมส่วนราชการภายใต้กระทรวงฯ โดยให้กระทรวงฯ ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการโดยตรง (Implementing Agency "IA") ในการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 401,850,000 บาท (สี่ร้อยหนึ่งล้านแปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)และให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาต่อไป
มติที่ประชุม
1. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้ ทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการนำร่องสำหรับอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการฯ ในสังกัดของทบวงฯ โดยให้ ทบวงฯ เป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการโดยตรง (Implementing Agency "IA") เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 891,000,000 บาท (แปดร้อยเก้าสิบเอ็ดล้านบาทถ้วน)
2. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเร่งด่วนสำหรับอาคารควบคุมส่วนราชการภายใต้กระทรวงฯ โดยให้กระทรวงฯ ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการโดยตรง (Implementing Agency "IA") ในการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 401,850,000 บาท (สี่ร้อยหนึ่งล้านแปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
3. ให้ ทบวงมหาวิทยาลัย และ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอผลการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างดำเนินการตามโครงการให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท