มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 1/2543 (ครั้งที่ 19)
วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2543 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
2. การปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2543-2547)
3. โครงการอาคารของรัฐที่เป็นอาคารควบคุม : ภายใต้สังกัดกองทัพบก กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม
4. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้แก่อาคารควบคุม ใต้สังกัดสภากาชาดไทย
5. โครงการสาธิตการเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ
6. รายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
7. รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานของโครงการภายใต้แผนงานอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2
8. การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมันราคาสูง
รองนายกรัฐมนตรี (นายศุภชัย พานิชภักดิ์) ประธานกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) กรรมการและเลขานุการ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 3/2542 (ครั้งที่ 18) เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2542 ได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ และอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2543 ในวงเงิน 150,000,000 บาท โดยได้กำหนดให้เรื่อง "บ้านประหยัดพลังงาน" เป็นประเด็นหลักในการรณรงค์
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ได้อนุมัติให้ สพช. ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543 ไปแล้ว จำนวน 5 กิจกรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,844,676.69 บาท และกำลังดำเนินการจัดจ้างในช่วงที่ 3 และ 4 รวม 14 กิจกรรม ในวงเงิน 70.8 ล้านบาท ทั้งนี้ สพช. ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศ และได้เร่งนำ "โครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ออกเทนของเบนซินที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์" มาเป็นประเด็นรณรงค์ในช่วงต้นปี โดยได้เริ่มให้ข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และสำหรับกิจกรรมหลักที่จะสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างกระแสและความเชื่อมั่นจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันในวันที่ 1 เมษายน 2543
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2543 (ครั้งที่ 73) เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบในมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนของมาตรการด้านอื่นๆ นั้น กพช. ได้เห็นควรให้ สพช. ทบทวนมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยให้เร่งดำเนินการในโครงการที่ได้ผลเป็นรูปธรรมในเวลาอันรวดเร็ว และให้เสนอมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากเห็นสมควร
เลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
1. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันอย่างประหยัด ปีงบประมาณ 2540
เป็นโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้ใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงแรกเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ระบบการกำหนดราคาแบบลอยตัว และเน้นย้ำให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัดเนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้านำเข้า การประหยัดน้ำมันจึงสามารถช่วยประเทศลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้
2. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2541
สพช. ได้จัดทำภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ชุด "ชีวิตคู่ของคุณประหยัด" เพื่อแนะนำวิธีประหยัดน้ำมันในชีวิตประจำวันให้กับประชาชนทั่วไป โดยเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ พร้อมกับการนำสารคดีสั้นทางวิทยุ ชุด "รอบรู้เรื่องน้ำมัน" มาเผยแพร่ซ้ำ และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ทางสิ่งพิมพ์ เพื่อแนะนำวิธีประหยัดน้ำมันเพิ่มเติม และต่อมาได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้น้ำมันเปลี่ยนแปลงการใช้เบนซินคุณภาพสูงเกินความจำเป็น "ใช้เบนซินให้ถูกชนิด ช่วยเศรษฐกิจของประเทศ" ร่วมกับกรมทะเบียนการค้า โดยใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์รวมทั้งสิ้น 30 ล้านบาท
จากการสำรวจเพื่อประเมินผลพบว่าการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องค่าออกเทนในครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลงประมาณร้อยละ 6 ต่อเดือน เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันที่ยังคงขายน้ำมันที่มีค่าออกเทน 97 และ 92 ในขณะที่เนื้อหาของการรณรงค์ได้กล่าวถึงน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 91 จึงทำให้ประชาชนสับสนในเรื่องค่าออกเทน ประกอบกับยังคงมีความเข้าใจว่าน้ำมันไร้สารตะกั่วคือน้ำมันเบนซินซูเปอร์เท่านั้น จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนเป็นไปอย่างไม่เด่นชัด
3. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2542
ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ใช้น้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนเหมาะสมกับเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากการสำรวจพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น แต่เนื่องจากการรณรงค์อยู่ในวงจำกัด ประกอบกับยังไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้เพียงพอว่าในการเปลี่ยนมาใช้เบนซินออกเทน 91 จะไม่ทำให้เครื่องยนต์ชำรุด เสียหาย ดังนั้นผลที่ได้จากการรณรงค์ในครั้งนี้จึงยังไม่ได้ตามวัตถุประสงค์
4. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2543
ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันในช่วงปลายปี 2542 สพช. ได้นำประเด็นเรื่องเกี่ยวกับการประหยัดน้ำมันมาสอดแทรกไว้ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะประเด็นการเลือกเติมน้ำมันตามค่าออกเทนที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีและสามารถลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ทันที จึงให้ความสำคัญในการสื่อสารให้ประชาชนเติมน้ำมันตามค่าออกเทนที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ซึ่งหากหันกลับมาเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทน 91 สำหรับรถที่เติมได้ จะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 80 สตางค์ต่อลิตร รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นโดยผ่านผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งการรณรงค์นี้ได้ดำเนินการผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทุกสื่อ ได้แก่ บทความประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ การเปิดประเด็นทางรายการวิทยุ รายการสนทนาทางโทรทัศน์ และการแจกเอกสารเผยแพร่บนทางด่วน เป็นต้น
เพื่อให้สอดคล้องกับมติของ กพช. ในมาตรการเพื่อส่งเสริมการประหยัดน้ำมันสำหรับประชาชนทั่วไปเลขานุการฯ จึงใคร่ขอเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาแผนงานประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ สำหรับปีงบประมาณ 2543 เพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดของโครงการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ดังนี้
การประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำมันของ สพช. ในช่วงที่ผ่านมามักจะเร่งดำเนินการในช่วงที่น้ำมันมีราคาแพง และเป็นช่วงที่ผู้บริโภคและสื่อมวลชนเกิดความตระหนัก ดังนั้น สพช. จึงเห็นควรให้พิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อรณรงค์ให้มีการใช้น้ำมันเบนซินตามค่าออกเทนที่เหมาะสม รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน และวิธีการประหยัดน้ำมัน โดยอาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนยังคงเปิดรับข่าวสารข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวกับการประหยัดน้ำมันอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวรในการบริโภคน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ แต่งบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่เพียงพอ ซึ่งหากนำมาจัดสรรให้กับการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการประหยัดน้ำมันภายใต้วงเงินที่ได้รับอนุมัติเดิม ก็อาจทำให้แผนประชาสัมพันธ์ ปี 2543 ได้ผลไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงใคร่ของบประมาณเพิ่มเติมอีก 30 ล้านบาท โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำการประชาสัมพันธ์ ดังนี้
กิจกรรมการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ | 25 ล้านบาท |
กิจกรรมรณรงค์ | 5 ล้านบาท |
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น | 30 ล้านบาท |
มติที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนงานสนับสนุน โครงการประชาสัมพันธ์ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินตามค่าออกเทนที่หมาะสมและการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ ปีงบประมาณ 2543 ในวงเงิน 30,000,000 บาท (สามสิบล้านบาทถ้วน) โดยให้ สพช. ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แล้วให้นำผลการพิจารณาคัดเลือกเสนอให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินเกิน 10 ล้านบาท
เรื่องที่ 2 การปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2543-2547)
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2542 (ครั้งที่ 70) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542 ได้ให้ความเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน และแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เสนอ ซึ่งในส่วนของโครงการอาคารของรัฐนั้น กำหนดให้ พพ. ต้องนำข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน มาพิจารณาดำเนินการปรับแผนของโครงการฯ ระยะที่ 2 ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) ต้องมีมาตรการที่ได้ผลจริงในการห้ามไม่ให้นำเครื่องปรับอากาศที่ถูกถอดทิ้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่
2) จะต้องมีการเพิ่มจำนวนตัวแทนดำเนินการ (Implementing Agency "IA") ให้มากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเข้ามาแข่งขันด้านราคาและคุณภาพการให้บริการต่อ พพ. และในสัญญาที่ พพ. ทำกับ IA จะต้องระบุว่า "ห้ามมิให้จ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ" และ พพ. จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบว่า IA "จ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ" หรือไม่ โดยการเพิ่ม IA ให้ศึกษาแนวทางวิธีการเพิ่มที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อม จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เลขานุการฯ ได้นำข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ แจ้งให้ พพ. เพื่อรับทราบและดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ แล้ว และ พพ. ได้เสนอแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2543-2547) ดังนี้
1. มาตรการป้องกันการนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกกลับมาใช้อีก
1) ติดสติ๊กเกอร์ที่เครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออก โดยมีข้อความ "เครื่องปรับอากาศนี้ เสื่อมสภาพ สมควรทำลาย ตามระเบียบพัสดุ"
2) ทำบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานโครงการอาคารของรัฐระหว่าง พพ. กับผู้รับผิดชอบอาคารนั้นๆ โดยผู้รับผิดชอบอาคารของรัฐ จะต้องลงนามรับรองก่อนที่บริษัทผู้รับเหมาจะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงฯ ว่าจะนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถอดออกแล้วไปทำลายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และยินดีให้ความร่วมมือในการประสานงานต่างๆ เพื่อให้โครงการอาคารของรัฐสำเร็จไปด้วยดี
3) พพ. จะว่าจ้างมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา ศึกษาวิธีการดำเนินการทำลายหรือจัดการเครื่องปรับอากาศเก่าโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2543
4) ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการห้ามมิให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการอาคารของรัฐ ที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานโดยการใช้มาตรการการปรับปรุงเครื่องปรับอากาศนำเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกแล้วกลับมาใช้อีก โดยให้ พพ. ดำเนินการนำเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกไปทำลายให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และต้องแจ้งผลการทำลายให้คณะกรรมการกองทุนฯ และผู้เข้าร่วมโครงการทราบ ด้วย
5) ระหว่างรอผลการศึกษาวิธีการทำลายหรือจัดการเครื่องปรับอากาศเก่าโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พพ. จะเพิ่มข้อความในบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เจ้าของอาคารยินยอมให้แยกคอมเพรสเซอร์ออกจากชุด Condensing Unit และเก็บไว้เพื่อรอการทำลาย หรือดำเนินการตามผลการศึกษาต่อไป
2. การว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (Implementing Agency "IA") ในช่วงปีงบประมาณ 2539-2541 พพ. ได้ว่าจ้าง IA เพื่อบริหารโครงการฯจำนวน 2 ราย คือ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ปีงบประมาณ 2542 พพ. ได้ว่าจ้าง IA เพื่อบริหารโครงการฯ เพิ่มอีก 1 ราย คือ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีงบประมาณ 2543 จะดำเนินการว่าจ้างศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็น IA เพื่อบริหารโครงการฯ เพิ่มอีก 1 ราย และในโอกาสต่อไปถ้าหน่วยงานใดมีความพร้อมที่จะเป็น IA ตามเงื่อนไขที่ พพ. กำหนดแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พพ. ก็จะว่าจ้างหน่วยงานเหล่านั้นเป็น IA เพื่อบริหารโครงการอาคารของรัฐเพิ่มขึ้น
3. การห้าม IA ว่าจ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ
1) ในขั้นแรก พพ. ได้แจ้งเรื่องไปยัง IA แต่ละแห่งให้รับทราบ โดยจะต้องไม่ว่าจ้างผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ และ พพ. จะว่าจ้างที่ปรึกษาทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ IA ว่ามีการจ้างผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
2) สำหรับการว่าจ้างผู้รับเหมาทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นนั้น พพ. จะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ IA แต่ละแห่งพิจารณาดำเนินการ ซึ่งอาจทำโดยการประมูลเพื่อแข่งขันราคาหรือวิธีอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในระหว่างผู้รับเหมากันมากยิ่งขึ้นและขณะเดียวกันจะให้ที่ปรึกษาซึ่ง พพ. ว่าจ้างที่ปรึกษาตรวจสอบการดำเนินงานของ IA ในการว่าจ้างผู้รับเหมาด้วย
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า แนวทางปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 ในแต่ละมาตรการที่ พพ. เสนอมาดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2542 ได้ให้ข้อสังเกตไว้ ซึ่งมาตรการที่ พพ. เสนอนั้นยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เห็นผลการประหยัดพลังงานตามเป้าหมายของกองทุนฯ เพราะยังขาดกลไกการควบคุมให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเข้มงวดจริงจัง ตลอดจนไม่มีเงื่อนไขหรือบทปรับใดๆ ที่สะท้อนถึงการลงโทษหากละเลยการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้กระทำไว้ รวมถึงไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนว่า พพ. จะเริ่มต้นและเสร็จสิ้นการดำเนินการในแต่ละเรื่องนั้นเมื่อไร ซึ่งแม้ว่าแผนอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 2 ได้ดำเนินการล่วงเลยมามากกว่า 6 เดือนแล้ว พพ. ก็มิได้เร่งดำเนินการตามที่ได้แจ้งมายังกองทุนฯ ซึ่งหาก พพ. ไม่ปรับปรุงแก้ไขวิธีการติดตามควบคุม ก็จะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เกิดผลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินการโครงการอาคารของรัฐบรรลุผลตามเป้าหมาย เลขานุการฯ มีความเห็นเพิ่มเติมดังนี้
1) การศึกษาวิธีการดำเนินการทำลายหรือจัดการเครื่องปรับอากาศเก่าโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พพ. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2543
2) กำหนดวิธีการตรวจสอบและบทลงโทษ IA ที่ดำเนินการ "จ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ" เช่น การยกเลิกสัญญาจ้าง IA
3) ควรให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเป็น IA เพื่อ พพ. จะได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นและราคาถูกลง
4) ในการจัดซื้อจัดจ้างของ IA จะต้องประกาศให้บุคคลทั่วไปที่สนใจทราบอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูลงาน ให้ได้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและราคาถูกลง
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ปรับปรุงการดำเนินงานโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 ดังนี้
1.1 มาตรการป้องกันการนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกกลับมาใช้อีก
(1) ติดสติ๊กเกอร์ที่เครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออก โดยมีข้อความ "เครื่องปรับอากาศนี้ เสื่อมสภาพ สมควรทำลาย ตามระเบียบพัสดุ"
(2) ทำบันทึกข้อตกลงการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานโครงการอาคารของรัฐระหว่าง พพ. กับผู้รับผิดชอบอาคารของรัฐ โดยผู้รับผิดชอบจะต้องลงนามรับรองก่อนที่บริษัทผู้รับเหมาจะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารว่าจะนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถอดออกแล้วไปทำลายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และยินดีให้ความร่วมมือในการประสานงานต่างๆ เพื่อให้โครงการอาคารของรัฐสำเร็จไปด้วยดี และให้เพิ่มข้อความในบันทึกข้อตกลง เพื่อให้เจ้าของอาคารยินยอมให้แยกคอมเพรสเซอร์ออกจากชุด Condensing Unit และเก็บไว้เพื่อรอการทำลายโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
(3) ให้ พพ. เร่งจัดทำรายละเอียดของข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อโครงการฯ หากมีการนำเครื่องปรับอากาศที่ถูกถอดออกแล้วกลับมาใช้ใหม่ และเร่งจ้างมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาวิธีการทำลายหรือจัดการเครื่องปรับอากาศเก่าโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้ทราบผลภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 แล้วรายงานผลต่อคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงกาารอาคารของรัฐที่ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานโดยการใช้มาตรการปรับปรุงเครื่องปรับอากาศ ห้ามนำเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกแล้วกลับมาใช้อีก โดยให้แยกตัวคอมเพรสเซอร์ออกจากชุดระบายความร้อน และเก็บไว้เพื่อรอการทำลายหรือจัดการตามแนวทางที่ได้รับจากผลการศึกษาของ พพ. ต่อไป
1.2 ให้ พพ. สามารถจ้างหน่วยงานอื่นที่พร้อมจะเป็นตัวแทนดำเนินการ (Implemeting Agency "IA") เพื่อบริหารโครงการอาคารของรัฐ ตามเงื่อนไขที่ พพ. กำหนด
1.3 การห้าม IA ว่าจ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ
(1) ให้ พพ. แจ้งเรื่องไปยัง IA แต่ละแห่งให้รับทราบว่า IA จะต้องไม่ว่าจ้างผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการ
(2) ให้ พพ. แจ้งให้ IA แต่ละแห่งพิจารณาดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาโดยการประมูลเพื่อแข่งขันราคาหรือวิธีอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในระหว่างผู้รับเหมากันมากยิ่งขึ้น
(3) ให้ พพ. เร่งว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ IA
2. อนุมัติให้ พพ. ดำเนินโครงการอาคารของรัฐ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2543-2547)
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) ได้รับหนังสือจากส่วนราชการต่างๆ จำนวน 3 แห่ง คือ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาแผนงานอนุรักษ์พลังงานในโครงการปรับปรุงอาคารควบคุมภายใต้การดูแลของส่วนราชการแต่ละแห่งนั้น โดยเร่งด่วนหรือเป็นกรณีพิเศษ และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ในการประชุมครั้งที่ 7/2542 (ครั้งที่ 7) ครั้งที่ 8/2542 (ครั้งที่ 8) และครั้งที่ 1/2543 (ครั้งที่ 9) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนเงินกองทุนฯ ให้ส่วนราชการทั้ง 3 แห่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการปรับปรุงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุมภายใต้การดูแลของแต่ละส่วนราชการ และให้แต่ละส่วนราชการเป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (Implementing Agency "IA") โดยตรง เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล และให้แต่ละส่วนราชการเสนอผลการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างดำเนินการตามโครงการให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับเพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีเกิน 10 ล้านบาท โดยเห็นชอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการฯ ของแต่ละส่วนราชการ ดังนี้
1) เห็นชอบให้การสนับสนุนให้กองทัพบก ในวงเงิน 596,850,000 บาท
2) เห็นชอบให้การสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย ในวงเงิน 366,000,000 บาท
3) เห็นชอบให้การสนับสนุนกระทรวงคมนาคม ในวงเงิน 482,400,000 บาท
คณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2543 (ครั้งที่ 10) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2543 เห็นว่าในขณะนี้มีอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวง ทบวง และหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่ได้เห็นความสำคัญและต้องการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานของอาคารในสังกัดเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของคณะกรรมการกองทุนฯ และเพื่อให้การปฏิบัติงานของโครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงได้มีมติให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ มีอำนาจอนุมัติเงินกองทุนฯ สนับสนุนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีโครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นกรณีพิเศษ (fast track) เพื่อใช้ในการว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (Implementing Agency "IA") บริหารงานในการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และบริหารงานในการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน และว่าจ้างนิติบุคคลในการควบคุมการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน และโดยไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา เมื่ออนุมัติแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการกองทุนฯ ทราบเป็นคราวๆ ไป สำหรับเงินสนับสนุนการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานนั้น ให้นำเสนอคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ
มติที่ประชุม
1. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้กองทัพบกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการปรับปรุงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุมภายใต้การดูแลของกองทัพบก โดยให้กองทัพบกเป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ(IA) โดยตรง เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 596,850,000 บาท (ห้าร้อยเก้าสิบหกล้านแปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
2. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการปรับปรุงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุมภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (IA) โดยตรง เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 366,000,000 บาท (สามร้อยหกสิบหกล้านบาทถ้วน)
3. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการปรับปรุงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารควบคุมภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม โดยให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้ว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (IA) โดยตรง เพื่อดำเนินงานในส่วนของการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน การปรับปรุงตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามประเมินผล ในวงเงิน 482,400,000 บาท (สี่ร้อยแปดสิบสองล้านสี่แสนบาทถ้วน)
4. ให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ มีอำนาจอนุมัติเงินกองทุนฯ สนับสนุนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีโครงการอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเป็นกรณีพิเศษ (fast track) เพื่อใช้ในการว่าจ้างตัวแทนดำเนินการ (IA) บริหารงานในการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และบริหารงานในการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน และว่าจ้างนิติบุคคลในการควบคุมการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน และโดยไม่ต้องนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา และเมื่ออนุมัติแล้วให้รายงานให้คณะกรรมการกองทุนฯ ทราบเป็นคราวๆ ไป สำหรับเงินสนับสนุนการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานนั้นให้นำเสนอคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ไป
5. ให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนนั้น เสนอผลการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างดำเนินการตามโครงการให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับพิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีที่วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติก่อนทำสัญญาในกรณีเกิน 10 ล้านบาท
6. ให้ พพ. แจ้งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนนั้น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการนำเอาเครื่องปรับอากาศเก่าที่ถูกถอดออกกลับมาใช้อีก ตลอดจนการห้าม IA ว่าจ้างผู้มีประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินการด้วย และ พพ. จะต้องมีบทบาทและหน้าที่ในการเข้าไปติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีการนำแนวทางดังกล่าวไปบังคับใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเข้มงวดจริงจัง
เรื่องที่ 4 การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานให้แก่อาคารควบคุม ใต้สังกัดสภากาชาดไทย
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ในการประชุมครั้งที่ 2/2541 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ ให้ พพ. เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น ให้แก่อาคารควบคุมที่อยู่ภายใต้สังกัดของสภากาชาดไทย 3 ราย คือ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่เมื่อ พพ. ได้ตรวจสอบรายละเอียดในภายหลังปรากฏว่า "สภากาชาดไทยเป็นองค์กรการกุศล" จัดตั้งโดยกฎหมายมีฐานะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบของสมาคม ไม่มีสถานภาพเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้นไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย เท่านั้น แต่เนื่องจากสภากาชาดไทยมีแนวทางการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีผลการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นหลัก พพ. จึงเห็นควรพิจารณาให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแก่อาคารควบคุมภายใต้สังกัดสภากาชาดไทยเป็นกรณีพิเศษ โดยช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมดเช่นเดียวกับหน่วยงานที่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และ พพ. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับพิจารณาแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 7/2542 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2542 ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีมติดังนี้
1. อนุมัติให้อาคารควบคุมภายใต้สังกัดสภากาชาดไทย ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมด สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดสำหรับให้การสนับสนุนแก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
2. อนุมัติให้คณะอนุกรรมกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมด สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีลักษณะการดำเนินการหรือวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับสภากาชาดไทย เป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดสำหรับให้การสนับสนุนแก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
มติที่ประชุม
1. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้อาคารควบคุมภายใต้สังกัดสภากาชาดไทย เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมด ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดสำหรับให้การสนับสนุนแก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
2. เห็นชอบมติของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ในการประชุมครั้งที่ 2/2541 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ที่ได้อนุมัติเงินจากกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ให้ พพ. ไปแล้ว เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้นให้แก่อาคารควบคุมที่อยู่ภายใต้สังกัดของสภากาชาดไทย เป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่า จำนวน 3 ราย คือ อาคารสภากาชาดไทย ในวงเงิน 190,000 บาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) อาคารโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ในวงเงิน 290,000 บาท (สองแสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) และอาคารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในวงเงิน 2,520,615 บาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นหกร้อยสิบห้าบาทถ้วน)
3. อนุมัติให้คณะอนุกรรมกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับมีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือให้เปล่าทั้งหมดสำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีลักษณะการดำเนินการหรือวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับสภากาชาดไทย เป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดสำหรับให้การสนับสนุนแก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
เรื่องที่ 5 โครงการสาธิตการเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้เสนอโครงการสาธิตการเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ในการประชุมครั้งที่ 1/2543 (ครั้งที่ 36) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 ได้พิจารณาโครงการฯนี้แล้ว มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนโครงการฯ และให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณา โดยมีสาระสำคัญของโครงการ ดังนี้
มช. จะดำเนินโครงการสาธิตการเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ โดยการซื้อเตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะชนิดน้อยศพต่อวันที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกา มาติดตั้งที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนาออกแบบ ทั้งแบบจำนวนศพต่อวันมากและแบบจำนวนศพต่อวันน้อย ให้ได้เตาเผาศพประสิทธิภาพสูงที่ประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ และเหมาะสมกับประเทศไทย และหลังจากได้แบบมาตรฐานของเตาเผาศพต้นแบบเรียบร้อยแล้ว มช. จะประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น แผ่นพับ วิทยุ และจัดสัมมนาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปทราบต่อไป โดยในช่วงที่ดำเนินการศึกษานั้น มช. จะต้องศึกษารูปแบบและชนิดของเตาฯ เป็นดังนี้
ภายในระยะเวลา 6 เดือน มช. จะมีผลการศึกษาและแบบเตาเผาศพที่ประหยัดพลังงานและลดมลภาวะแบบจำนวนศพน้อยเบื้องต้น ซึ่งแบบเตาฯ จะต้องเป็นแบบที่ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุด ใช้และบำรุงรักษาได้ง่าย มีระบบการควบคุมที่ไม่ยุ่งยาก และราคาไม่แพง
แบบเตาเผาศพแบบสมบูรณ์ ทั้งกรณีจำนวนศพน้อยและจำนวนศพมาก ก็ให้อยู่ในเกณฑ์เดียวกับเตาฯ เบื้องต้น และ มช. จะต้องรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานและการปล่อยมลภาวะจากเตาเผาศพที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ ตลอดจนศึกษาถึงพื้นฐานของการถ่ายเทความร้อน การเผาไหม้ การควบคุมการเผาไหม้ การเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม ความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน รวมถึงการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ และจัดทำชุดทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาระบบการเผาไหม้ หาปัจจัยและคุณลักษณะที่เหมาะสมของเตาเผาศพ และใช้ข้อมูลดังกล่าวในการออกแบบเตาเผาศพประหยัดพลังงาน
มติที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสาธิตเตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ ในวงเงิน 10,975,500 บาท (สิบล้านเก้าแสนเจ็ดหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน)
เรื่องที่ 6 รายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ เกี่ยวกับงบการเงินที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2540 งบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2542 ที่กรมบัญชีกลางส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ และรายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งมีเงินคงเหลือในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 14,181,600,614.62 บาท และรายงานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ของ สพช. บก. และ พพ. ตามแผนงานภาคบังคับ แผนงานภาคความร่วมมือ และแผนงานสนับสนุน สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งได้เบิกเงินเพื่อดำเนินงานตามแผนงานไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 3,003,313,030.10 บาท
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับ งบการเงินที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2540 งบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2542 และรายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543
เรื่องที่ 7 รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานของโครงการภายใต้แผนงานอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความก้าวหน้าของแผนงานอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 2 ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน และคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดสรรเงินจากกองทุนฯ ให้การสนับสนุน โครงการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2542 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. แผนงานภาคบังคับ
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แผนงานภาคบังคับ รวมเป็นเงินที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 170.95 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.1 โครงการอาคารของรัฐ คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 28.52 ล้านบาท โดยแยกเป็น
1) ค่าบริหารการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน จำนวน 200 แห่ง เป็นเงินรวม 9.19 ล้านบาท
2) ค่าบริหารการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน จำนวน 160 แห่ง เป็นเงินรวม 7.36 ล้านบาท
3) ค่าการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน จำนวน 125 แห่ง เป็นเงินรวม 11.97 ล้านบาท
1.2 โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 137.22 ล้านบาท โดยแยกเป็น
1) อาคารควบคุม คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 28.52 ล้านบาท โดยแยกเป็น ค่าการตรวจสอบฯ เบื้องต้นจำนวน 92 แห่ง เป็นเงิน 22.61 ล้านบาท และค่าการจัดทำเป้าหมายและแผนฯ จำนวน 70 แห่ง เป็นเงิน 99.11 ล้านบาท
2) โรงงานควบคุม คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 15.5 ล้านบาท ซึ่งเป็น ค่าการตรวจสอบฯ เบื้องต้น จำนวน 155 แห่ง เป็นเงิน 15.5 ล้านบาท
1.3 โครงการโรงงานและอาคารที่อยู่ระหว่างการออกแบบหรือก่อสร้าง คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 2.87 ล้านบาท โดยแยกเป็น ค่าการปรับปรุงแบบก่อสร้างฯ จำนวน 3 แห่ง เป็นเงิน 0.23 ล้านบาท และค่าการลงทุนตามแบบที่ปรับปรุง จำนวน 3 แห่ง เป็นเงิน 2.64 ล้านบาท
1.4 โครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ พพ. รับผิดชอบ คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการฯ แล้ว เป็นเงิน 2.34 ล้านบาท
2. แผนงานภาคความร่วมมือ
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ ได้มีการประชุมแล้ว 2 ครั้ง และได้อนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ในวงเงินรวม 19.54 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินรวม 6.76 ล้านบาท
2) โครงการศึกษา วิจัยและพัฒนา จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินรวม 12.78 ล้านบาท
3. แผนงานสนับสนุน
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ได้มีการประชุมแล้ว 4 ครั้ง และได้อนุมัติเงินจากกองทุนฯ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 153.98 ล้านบาท ประกอบด้วย
3.1 โครงการพัฒนาบุคลากร คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการ เป็นเงิน 132.14 ล้านบาท โดยแยกเป็น
1) การพัฒนาหลักสูตร สื่อการสอน แบบเรียน คู่มือ และเครื่องมือที่ใช้ประกอบการฝึกอบรมและทำงาน และห้องปฏิบัติการ เป็นเงิน 99.47 ล้านบาท
2) การฝึกอบรมบุคลากรระยะสั้นในประเทศ (สำหรับหน่วยงานต่างๆ) เป็นเงิน 7.79 ล้านบาท
3) การส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมและดูงานระยะสั้นต่างประเทศ เป็นเงิน 1.67 ล้านบาท
4) การให้ทุนอุดหนุนวิจัย เป็นเงิน 23.21 ล้านบาท
3.2 โครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ คณะอนุกรรมการฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามโครงการ เป็นเงิน 21.84 ล้านบาท โดยแยกเป็น
1) ค่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการฯ เป็นเงิน 6.15 ล้านบาท
2) ค่าจ้างการผลิต ชุด นิทรรศการกองทุนฯ เป็นเงิน 0.64 ล้านบาท
3) ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 ปีที่ 3 เป็นเงิน 7.59 ล้านบาท
4) ผลิตภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อ โทรทัศน์ สื่อวิทยุ และผลิตอาร์ตเวิร์ก เป็นเงิน 3.46 ล้านบาท
5) กิจกรรมพิเศษภายใต้แผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ออกเทนของเบนซินที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ เป็นเงิน 3.64 ล้านบาท
4. คณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
4.1 การคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
คณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2543 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2543 ได้พิจารณาข้อเสนอด้านวิชาการของบริษัทที่ได้ยื่นข้อเสนอที่จะมาบริหารงานประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมี 2 บริษัทที่มีระดับคะแนนที่ใกล้เคียงกัน คือ บริษัท มาร์เก็ต ซับพอร์ท จำกัด และ บริษัท ยูนิเวอร์แซลแอนด์อินโนเวทีฟ คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบว่าข้อเสนอทางด้านเทคนิคของ บริษัท ยูนิเวอร์แซลแอนด์อินโนเวทีฟ คอนซัลติ้ง มีคะแนนสูงกว่าบริษัท มาร์เก็ต ซับพอร์ท จำกัด และให้ สพช. ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาฯ ตามขั้นตอนต่อไปของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ และสพช. ได้ดำเนินการเปิดซองราคาของบริษัท ยูนิเวอร์แซลแอนด์อินโนเวทีฟ คอนซัลติ้ง จำกัด แล้ว ปรากฏว่าราคาที่บริษัทเสนอมานั้นสูงกว่างบประมาณที่ สพช. ตั้งไว้มาก และเมื่อเจรจาต่อรองได้ราคาที่เหมาะสม บริษัทฯ ก็ได้เปลี่ยนแปลงบุคลากรและจำนวนวันทำงานลดลงจากข้อเสนอเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก หลังจากการเจรจาต่อรอง 3 ครั้ง ไม่สามารถต่อรองได้ สพช. จึงได้ยกเลิกการเจรจากับบริษัท ยูนิเวอร์เซลแอนด์อินโนเวทีฟ คอนซัลติ้ง จำกัด แล้วดำเนินการเปิดซองราคาของบริษัทบริษัท มาร์เก็ต ซับพอร์ท จำกัด ซึ่งมีคะแนนสูงลำดับถัดไป และได้ระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามในสัญญา
4.2 การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ
ตามคำสั่งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ 1/2542 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน สั่ง ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 ได้แต่งตั้ง รศ.ดร.ศลักษณ์ ทรรพนันทน์ เป็นอนุกรรมการนั้น ต่อมา รศ.ดร.ศลักษณ์ ได้ขอลาออกจากการเป็นอนุกรรมการฯ เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งประธานกรรมการกองทุนฯ ได้มีบัญชาอนุมัติแล้ว คณะอนุกรรมการประเมินผลฯ จึงเสนอ ศ.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เป็นอนุกรรมการ แทน ซึ่งประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ 1/2543 เรื่อง ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน สั่ง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 แล้ว
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำมันราคาสูง
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2543 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้มีการประชุมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้น 2 ครั้ง คือ ในการประชุมครั้งที่ 2/2543 (ครั้งที่ 72) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2543 และในการประชุมครั้งที่ 3/2543 (ครั้งที่ 73) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2543 โดยเลขานุการฯ ได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงานฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2542 - กุมภาพันธ์ 2543 ให้ กพช. เพื่อทราบ โดยสรุปได้ดังนี้
1. แผนงานภาคบังคับ
ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) โดยการดำเนินการในส่วนอาคารของรัฐนั้น พพ. ได้ใช้จ่ายเงินไปในส่วนของค่าบริหารการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานฯ 200 แห่ง และค่าตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานฯ 125 แห่ง และค่าบริหารการปรับปรุงอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงานฯ 160 แห่ง โดยได้ใช้เงินจากกองทุนฯ ไปทั้งสิ้น 29 ล้านบาท ซึ่งหากมีการดำเนินการตามแผนฯ คาดว่าจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสิ้นเปลืองได้ประมาณ 70 ล้านบาท/ปี และสามารถชะลอการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่า 468 ล้านบาท ส่วนในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พพ. ได้ใช้เงินจากกองทุนฯ ไปทั้งสิ้น 137 ล้านบาท ในค่าการตรวจสอบการใช้พลังงาน 155 โรงงาน และ 92 อาคาร และการจัดทำแผนฯ 70 อาคาร
2. แผนงานภาคความร่วมมือ
ในความรับผิดชอบของ สพช. ได้มีการดำเนินงานดังนี้
2.1 การดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคารทั่วไป (ที่ไม่ได้เป็นโรงงานและอาคารควบคุม) ที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือได้อนุมัติเงินเพื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้ว รวม 30 ล้านบาท โดยให้การสนับสนุนแก่ 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พพ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2542 เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ช่วยลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรม
2.2 การส่งเสริมให้มีการใช้เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง สพช. ได้จัดประชุมหน่วยงานที่มีประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงทดแทนเตาอั้งโล่ คือ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยต่างๆ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ธนาคารโลก สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อร่วมกันพิจารณาถึงปัญหาอุปสรรคของการส่งเสริมการใช้เตาฯ และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือได้เห็นชอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นแกนนำในการนำเตาฯ จำนวน 2,400 ลูก ไปสาธิตใช้งานเพื่อเป็นตัวกระตุ้นตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตเตาฯ และนำผลการศึกษามาวิเคราะห์แนวทางเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลอย่างจริงจังต่อไป
2.3 การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำและการติดฉลากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สพช. ได้ดำเนินการศึกษาการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานขั้นต่ำในอุปกรณ์ 6 ประเภทเสร็จแล้ว ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ มอเตอร์ หลอดคอมแพคฟลูออร์เรสเซนต์ หลอดฟลูออร์เรสเซนต์ และบัลลาสต์ ผลการศึกษาพบว่าการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานจะสามารถลดความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 700 เมกะวัตต์ หรือ 3,500 ล้านหน่วย ซึ่ง สพช. จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาเสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายต่อไป
2.4 การส่งเสริมการใช้เตาเผาศพแบบประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเผาไหม้เตาเผาศพของประเทศไทย โดยผลการศึกษาจะได้ต้นแบบเตาฯ ที่ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุด ใช้และบำรุงรักษาได้ง่าย มีระบบการควบคุมที่ไม่ยุ่งยาก และราคาไม่แพง เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเพื่อใช้งานจริงในประเทศต่อไป
2.5 การอนุรักษ์พลังงานในสาขาขนส่ง มีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วดังนี้
(1) ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ จัดการฝึกอบรมอาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลจากทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ให้ทันแก่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และเน้นให้ตระหนักถึงความสำคัญในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ถูกต้องตามคุณลักษณะของรถยนต์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและลดมลภาวะ
(2) สพช. ได้จัดประชุมกับหลายหน่วยงานที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในสาขาขนส่ง ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีการร่วมกันดำเนินการ คือศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยจะเร่งขยายผลโครงการฯ ให้สามารถให้บริการปรับแต่งเครื่องยนต์ได้มากขึ้น กรมควบคุมมลพิษอบรมในเรื่องการปรับแต่งเครื่องยนต์และจะมอบใบประกาศให้กับอู่ที่ผ่านการอบรมแล้ว สมาคมสร้างสรรค์ไทยจะทำการรณรงค์ให้แก่บริษัทและห้างร้านขนาดใหญ่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ทราบถึงวิธีการขับรถและการดูแลเครื่องยนต์
(3) ปตท. จะดำเนินการขยายปริมาณงานปรับแต่งเครื่องยนต์ตามสถานที่บริการ ซึ่งเดิม ปตท. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 ประมาณ 2,000 คัน จะเพิ่มเป็น 4,500 คัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของปริมาณการใช้เดิม
(4) สพช. ได้ประสานงานกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้มีการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมการใช้รถอย่างถูกวิธีเพื่อประหยัดพลังงาน ให้แก่พนักงานขับรถทั่วราชอาณาจักร และจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกไปจัดอบรมให้แก่นักศึกษาในสถาบันศึกษาต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
(5) การส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด สพช. ได้ประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการจัดให้มีการใช้รถโดยสารไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid buses) โดย ขสมก. จะนำรถเก่าเครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 20 คัน มาดัดแปลงเอาเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ออก แล้วปรับปรุงให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากระบบแบตเตอรี่แทน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ร้อยละ 49
(6) ปตท. และ สพช. ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อดำเนินการดัดแปลงเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการประสานงานกับ ขสมก. เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ต่อไป
2.6 การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ได้มีการดำเนินการดังนี้
(1) โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน สพช. ได้คัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์ที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมการเชิญชวนและคัดเลือกข้อเสนอของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงที่จะขอสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ เพื่อชดเชยส่วนต่างจากราคารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเปิดรับข้อเสนอโครงการฯ ได้ประมาณเดือนกันยายน 2543 และจะทราบผลการคัดเลือกภายในเดือนมกราคม 2544
(2) สนับสนุนการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือได้เห็นชอบให้ กฟผ. จัดทำแผนโดยละเอียดเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ในการติดตั้งระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมขนาด 2.25 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าเสริมระบบไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าลงได้ 900,000 ลิตร/ปี
(3) คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือได้เห็นชอบให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ร่วมกับ กปร. และมูลนิธิชัยพัฒนา ในการออกแบบและติดตั้งเพื่อสาธิตกังหันลมสูบน้ำเพื่อสาธิตการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในกิจกรรมด้านเกษตรกรรม ตามรูปแบบการสาธิตการเกษตรแบบผสมผสานแนว "ทฤษฎีใหม่" อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่โครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน สถานีทดลองข้าวจังหวัดราชบุรี ที่สถานีพืชสวนจังหวัดเพชรบุรี โดยกังหันลมสูบน้ำแต่ละระบบสามารถสูบน้ำได้เฉลี่ยวันละ 15-20 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
3. แผนงานสนับสนุน
3.1 โครงการพัฒนาบุคลากร
การพัฒนาหลักสูตรและผลิตสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับพลังงานและผลกระทบของการใช้พลังงานที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ "โครงการรุ่งอรุณ" ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ สพช. โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการมองปรากฏการณ์ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะขององค์รวม และให้มีทัศนะและพฤติกรรมที่เข้าไปใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสอดแทรกลงไปในทุกวิชาที่มีการเรียนการสอนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยม โครงการนี้จะสิ้นสุดในปี 2543 นี้ ซึ่งจะสามารถสร้างโรงเรียนต้นแบบได้ 600 แห่ง เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการเรียนการสอนด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 40,000 แห่ง ต่อไป
3.2 โครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนของ สพช.
(1) การประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สพช. ยังคงประชาสัมพันธ์และรณรงค์อย่างต่อเนื่องภายใต้ "โครงการรวมพลังหาร 2" โดยเฉพาะประเด็นที่มีความสำคัญ เพื่อย้ำแนวคิดและให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานของประชาชนในที่สุด ส่วนในปี 2543 ประเด็นหลักที่รณรงค์ได้แก่ "บ้านประหยัดพลังงาน" เพื่อให้มีการนำแนวคิดและวิธีการไปประยุกต์ใช้กับบ้านอยู่อาศัยและการจะสร้างบ้านใหม่ให้คำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงานแต่ในภาวะที่อยู่สบาย
(2) โครงการประชาสัมพันธ์วิธีการประหยัดน้ำมัน สพช. ได้มุ่งเน้นให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำมัน และการเลือกใช้น้ำมันเบนซินตามค่าออกเทนที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันได้มีการปรับเปลี่ยนป้ายแสดงค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินที่ตู้จ่ายโดยแสดงค่าออกเทนขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด คือ ออกเทน 91 และ ออกเทน 95 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 และโรงกลั่นน้ำมันได้ปรับลดค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจาก 97 RON มาเป็น 95 RON โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา ซึ่งรถยนต์ทั่วไปจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ 80 สตางค์/ลิตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและเพื่อให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจในการเลือกใช้น้ำมันตามค่าออกเทนที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ สพช. ได้วางแผนประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถที่เครื่องยนต์เหมาะสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 แต่ยังคงใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 95 โดยการประชาสัมพันธ์จะดำเนินการผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ใช้รถเกิดความเชื่อมั่นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ จะเริ่มออกสู่สายตาประชาชนในวันที่ 1 เมษายน ศกนี้ ซึ่งผลจากการประชาสัมพันธ์จะก่อให้เกิดกระแสความนิยมในการเติมน้ำมันเบนซินที่มีค่าออกเทนเหมาะสมกับเครื่องยนต์และประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
(3) โครงการทางเดียวกันไปด้วยกัน (Car pool) สพช. ได้เร่งรณรงค์โครงการฯ ไปทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน รวม 37 องค์กร มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,575 คน หลังจากนี้จะจัดให้มีการสัมมนากลุ่มย่อยกับนักวิชาการ ผู้นำความคิด และผู้เกี่ยวข้องด้านการจราจร เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน รวมถึงอภิปรายความเป็นไปได้ในการขยายผลหรือแนวทางการทำวิจัยเพิ่มเติม
จากการประชุม กพช. ครั้งที่ 3/2543 (ครั้งที่ 73) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2543 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อต้นทุนการผลิตเป็นรายสาขา และ กพช. ได้พิจารณาอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นตามที่แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอ โดยมีมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ กพช. ได้เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานจัดทำแผนและเสนอขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ดังนี้
1. การอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
(1) โครงการสร้างผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการพลังงานแก่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 150 ล้านบาท ลักษณะโครงการฯ โดยย่อคือการขยายผลเทคนิค Value Engineering ที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำโครงการฯ นำร่องไปแล้ว โดยครั้งนี้จะจัดทำปีละ 1,000 โรงงาน
(2) โครงการลดต้นทุนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและสนับสนุนการผลิตเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระยะเวลาโครงการ 5 ปี ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ 360 ล้านบาท เป็นการนำเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานมาปรับเปลี่ยนใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานไม่ถึง 1 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการนำโครงการฯ ที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนกรมส่งเสริมฯ ทำโครงการนำร่องไปแล้วมาขยายผล โดยครั้งนี้จะจัดทำปีละ 2,750 โรงงาน
(3) โครงการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ขอสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ 50 ล้านบาท เป็นค่าประชาสัมพันธ์เผยแพร่การประหยัดพลังงานในโรงงานทั้งในรูปเอกสารและผ่านสื่อต่างๆ ให้กับโรงงานฯ จำนวน 50,000 โรงงาน และขอสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ 50 ล้านบาท เพื่อจัดสัมมนาผู้ประกอบการ ปีละ 5,000 โรงงานหรือ 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
2. การตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุน ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำนวน 500 ราย รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท
3. โครงการประหยัดพลังงานโดยการใช้ประโยชน์จากความร้อนที่เหลือจากการผลิต โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในรูปเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้โรงงานติดตั้งอุปกรณ์นำความร้อนที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน ทั้งในโรงงานหรือแจกจ่ายให้โรงงานข้างเคียง เช่น ในโรงงานหลอมเหล็ก โรงงานปูนซิเมนต์ ฯลฯ และขอสนับสนุนเงินลงทุนจากกองทุนฯ ในการติดตั้งเตาเผากากอุตสาหกรรมให้โรงงานเตาเผากากอุตสาหกรรม
4. โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ (CFC-Chiller) เพื่อการประหยัดพลังงานและลดปริมาณโอโซน เป็นโครงการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเปลี่ยน CFC-Chiller ที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี จำนวน 440 เครื่อง โดยกรมโรงงานฯ จะจัดเก็บเงินร้อยละ 90 ของส่วนต่างของค่ากระแสไฟที่ลดลงเนื่องจากเครื่องปรับอากาศใหม่ใช้กระแสไฟน้อยกว่าเดิม เพื่อนำส่งกลับสู่กองทุนหมุนเวียนของโครงการฯ
5. มาตรการปรับเปลี่ยนการใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมัน
(1) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นจากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 27 ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้กองทุนฯ ช่วยเหลือเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรม และขอให้ยกเว้น/อุดหนุนค่าลดหย่อนอากรนำเข้าของอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อเป็นการจูงใจผู้ประกอบการ
(2) โครงการนำร่องการดัดแปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อทดสอบการใช้ก๊าซ NGV ให้กับรถยนต์ของ ขสมก. จำนวน 291 คัน โดยจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นเงินช่วยเหลือ 270 ล้านบาท และจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำให้กับ ปตท. เพื่อเป็นค่าดัดแปลงเปลี่ยนเครื่องยนต์รถเก็บขยะของ กทม. จำนวน 400 คัน เป็นเงิน 160 ล้านบาท
(3) โครงการจัดตั้งสถานีขายก๊าซ NGV ตามแนวท่อก๊าซของ ปตท. จำนวน 6 สถานี โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ 180 ล้านบาท
6. มาตรการประหยัดพลังงานในการรณรงค์ให้มีการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง (Tune-Up) ที่ ปตท. จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ อีก 15 ล้านบาท เพื่อขยายผลจากที่กองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุน ปตท. ไว้แล้ว โดยจะเพิ่มจำนวนสถานีบริการให้ได้ 60 แห่ง ภายใน 3 ปี
นอกจากนั้น กพช. ได้มีมติให้ สพช. พิจารณาเร่งรัดการนำเงินกองทุนฯ มาจัดสรรใช้จ่ายในแต่ละมาตรการตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่เห็นผลด้านอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจังและชัดเจน โดยเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้นและจบลงโดยเห็นผลเร็วที่สุด นอกจากนั้นขอให้พิจารณามาตรการอื่นที่ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนฯ แต่สามารถดำเนินการและเห็นผลเร็วที่สุดได้ และพิจารณามาตรการที่มีอยู่ในแผนฯ แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังหรือเมื่อปฏิบัติแล้วก็อาจไม่เกิดผลตามที่คาดหวังก็ควรตัดออกจากแผนฯ ด้วย ซึ่ง สพช. ได้รับมติจากที่ประชุมเพื่อเร่งปรับกลยุทธ์การปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงานให้เห็นผลอย่างจริงจังโดยเร็ว และจะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการจัดทำข้อเสนอขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ต่อไป
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ