มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 23)
วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2544 เวลา 14.30 น.
ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1. รายงานผลการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
3. แผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2544 (ฉบับใหม่)
4. ขอขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินเกิน 3 เดือน หลังสิ้นสุดเงื่อนไขของสัญญา
5. เรื่องอื่นๆ
รองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) ประธานกรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการใช้พลังงานอย่างประหยัด
เรื่องที่ 1 รายงานผลการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เลขานุการฯ ได้รายงานผลการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีการจัดสรรเงินกองทุนฯ จากแผนงานภาคความร่วมมือ ให้หน่วยงานต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัยพัฒนา การส่งเสริมการขยายตลาด การสาธิตการใช้ในสภาพการใช้งานจริงให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจหรือคุ้นเคยและมั่นใจว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและมีความคุ้มทุนเช่นเดียวกับ เทคโนโลยีอื่น
ในช่วงปี 2538-2544 กองทุนฯ ได้ใช้จ่ายเงินไป 481.08 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนสาธิตการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบต่างๆ รวม 15 โครงการ ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 721 kW และในรูปความร้อนทดแทน LPG 62,184 ลิตรต่อปี เช่น ระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งบนหลังคาบ้านและหลังคาส่วนราชการ การผลิตและขายเครื่องทำน้ำร้อน การใช้ระบบสูบน้ำในหมู่บ้าน อบต. การผลิตและขายเครื่องสกัดสารกำจัดศัตรูพืช การสาธิตระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานในอุทยานแห่งชาติและเขต รักษาพันธุ์สัตว์ป่า และการตั้งสวนพลังงานขึ้นที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อเป็นศูนย์สาธิตการใช้งาน ของเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการขยายการตลาด ด้วยการร่วมมือกับบริษัท และโรงงานผู้ผลิตต่างๆ เพื่อแสดงสินค้าในสภาพการใช้งานจริงและจำหน่ายอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้า อันเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะส่งเสริมให้เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วย
นอกจากนี้กองทุนฯ ยังได้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยพัฒนาอีก 4 โครงการ เช่น การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ การฟื้นฟูระบบสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ที่ชำรุด การขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เกาะต่างๆ การสนับสนุนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสาธิตติดตั้งระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 500 kW ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดจนสนับสนุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ทำการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น เพื่อเป็นแนวทางการผลิตเต็มรูปแบบในเชิงพาณิชย์ กระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรม การผลิต การขาย และการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์ โดยมุ่งให้มีราคาต้นทุนการผลิตต่ำลงประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นภายใต้การใช้งานในประเทศไทย
มติที่ประชุม
ให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดตั้งคณะทำงานด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อปรับปรุงแผนการสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลายตามข้อสังเกตของที่ประชุม แล้วนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
เลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สพช. ได้ว่าจ้างบริษัทมาร์เก็ต ซับพอร์ท จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อติดตาม วิเคราะห์ และประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2543 โดยบริษัทได้เสนอผลการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อประเมินผลประสิทธิภาพของการใช้สื่อภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 ปีงบประมาณ 2543 จากความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน จำแนกเป็นกลุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 600 คน ในเขตต่างจังหวัดอีก 400 คน ได้ผลการสำรวจความคิดเห็นที่สำคัญดังนี้
1) คุณคิดว่าการรณรงค์แบบนี้ช่วยกระตุ้นให้มีการประหยัดพลังงานของชาติได้หรือไม่
พบว่าร้อยละ 97.1 เชื่อว่าสามารถรณรงค์ได้ผลดี
2) คุณคิดว่าการประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการรณรงค์เรื่องรวมพลังหาร 2 หรือไม่
ร้อยละ 94.7 คิดว่าการประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการรณรงค์ "รวมพลังหาร 2"
3) ในภาพรวมของคุณคิดว่ากิจกรรมของ สพช. ที่ดำเนินการทั้งหมดสามารถช่วยประหยัดพลังงานของชาติได้จริงหรือไม่
พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 88.3 มีความเห็นว่ากิจกรรมรณรงค์ที่ สพช. ดำเนินการอยู่สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้จริง
4) คุณมีความคิดที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่ หลังจากฟังโฆษณาเชิญชวน ให้ประหยัดพลังงาน
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 96.3 แสดงความตั้งใจว่าจะนำแนวคิดที่ได้รับจากสื่อการรณรงค์ไปใช้ในชีวิตประจำ และกลุ่มที่ยืนยันว่าจะนำไปใช้มากที่สุดคือกลุ่มแม่บ้านร้อยละ 98.9
5) คุณคิดว่าแนวคิดที่นำเสนอเป็นประโยชน์ต่อคุณมากน้อยเพียงใด
พบว่าร้อยละ 74.6 ระบุว่า การรณรงค์โครงการ "รวมพลังหาร 2" มีประโยชน์มาก และร้อยละ 22.5 ระบุว่ามีประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเห็นความสำคัญมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถึงร้อยละ 83
6) โดยรวมคุณชอบการประชาสัมพันธ์เพื่อการประหยัดพลังงานในระดับไหน
พบว่าร้อยละ 83.3 ชอบการประชาสัมพันธ์เพื่อการประหยัดพลังงานมากและมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มอายุระหว่าง 18-35 ปี ชอบมากร้อยละ 70.2
7) คุณเคยเห็น/ได้ยินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ หรือกิจกรรมเพื่อประหยัดพลังงานบ้างหรือไม่
ร้อยละ 97.1 ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่าได้ยินการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
8) คุณได้แนวคิดเรื่องการประหยัดพลังงานมาจากไหน
ร้อยละ 90.2 ระบุว่าได้แนวคิดจากสื่อประเภทต่างๆ ของ "รวมพลังหาร 2" มากที่สุด
9) คุณมีเหตุผลอะไรในการประหยัดพลังงาน
ร้อยละ 85.7 ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ช่วยตัวเองและครอบครัว
นอกจากนั้น ผลการวิจัยที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "ผลการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐ" เสนอต่อกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจำนวน 2,000 คนสรุปผลการสำรวจความเห็น ให้โครงการ "รวมพลังหาร 2" เป็นโครงการประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2543 โดยโครงการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการสำรวจพร้อมกับโครงการรวมพลังหาร 2 คือ บีโอโอแฟร์ การส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 6 รอบ และเอเชี่ยนเกมส์
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม 2544 ได้พิจารณาแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2544 และมีข้อสังเกตว่า การรณรงค์จอดรถไว้บ้าน หรือ Car free day ยากต่อการปฏิบัติและไม่สามารถวัดผลได้อย่างแม่นยำ จึงเห็นควรให้ สพช. ทบทวนการปรับแผนปฏิบัติการอีกครั้ง โดยทำการประชาสัมพันธ์ตามแนวคิดดังนี้
1) กิจกรรมรณรงค์จะต้องเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
2) เป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่วัดผลได้ และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุน
3) วิธีการประหยัดพลังงานที่นำมาประชาสัมพันธ์ ควรเป็นวิธีการที่น่าสนใจ ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน มีค่าใช้จ่ายน้อย และให้เลี่ยงวิธีการที่ปฏิบัติได้ยากหรือเผยแพร่วิธีการที่ประชาชนปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว
4) ให้ระดมความคิดของผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวนวิธีและกิจกรรมที่จะทำการประชาสัมพันธ์
5) ให้เริ่มการประชาสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด
คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน ในการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2544 ได้พิจารณาแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2544 (แผนใหม่) ที่ปรับตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว มีความเห็นว่า หาก สพช. จะปรับแผนประชาสัมพันธ์ตามแนวคิดและข้อสังเกตของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่จะกระทบต่อการดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างทำกิจกรรมโครงการประชาสัมพันธ์ (แผนเดิม) ที่ สพช. ได้ดำเนินการคัดเลือกตามระเบียบพัสดุฯ ไปแล้ว จำนวน 13 กิจกรรม และอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งจากผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันว่า การคัดเลือกที่ผ่านมา "เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้เข้เสนอราคาด้วยกัน" ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ยกเลิกกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามแผนเดิมทั้งหมด แล้วให้ สพช. นำงบประมาณในส่วนที่เป็นกิจกรรม Car Free Day ไปจัดทำแผนใหม่ และ สพช. จึงได้ดำเนินการปรับแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกองทุนฯแล้ว โดยแบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลักดังนี้
กิจกรรมที่ 1 ชุด "โปรโมทการแข่งขันประหยัดไฟฟ้า" นั้น คณะกรรมการกองทุนฯ มีความเห็นว่าน่าจะให้แรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันประหยัดไฟฟ้า เป็น "ส่วนลดค่าไฟฟ้า" โดยตั้งกติกาว่าครอบครัวใดลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ ร้อยละ 10 ของปริมาณการใช้ไฟเดือนที่ผ่านมา หรือในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จะได้รับ "ส่วนลดค่าไฟฟ้า" ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ และหากทุกครัวเรือนประหยัดไฟฟ้าได้ร้อยละ 10 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 2,000 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท จะต้องใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะต้องขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อจ่ายให้ กฟน. และ กฟภ. เพื่อใช้เป็น "ส่วนลดค่าไฟฟ้า"
กิจกรรมที่ 2 ชุด "โปรโมทการแข่งขันขับรถยนต์อย่างถูกวิธี เพื่อประหยัดน้ำมัน" เป็นการรณรงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้รถขับรถอย่างถูกวิธีและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ โดย สพช. จะจัดทำ คู่มือขับรถอย่างถูกวิธี ออกแจกให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องทำการบันทึกประสิทธิภาพการใช้น้ำมันไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้ง ก่อนที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำในคู่มือ จากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือและทำการวัดประสิทธิภาพการใช้น้ำมันอีก 2-3 ครั้ง เพื่อคำนวณผลการใช้น้ำมันของรถว่ามีอัตราการใช้น้ำมัน ต่างไปจากเดิมหรือไม่เพียงใด แล้วส่งให้ สพช. ซึ่ง สพช. จะได้ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันต่อไป พร้อมทั้งส่งสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อเป็นแรงจูงใจ
กิจกรรมที่ 3 ชุด "โปรโมทการเติมออกเทน 91" เป็นกิจกรรมสานต่อเพื่อสร้างความมั่นใจผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน หรือการเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ โดยการใช้สื่อจูงใจ อาทิ อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือรางวัลซึ่งมีแนวคิดที่จะสร้างความภาคภูมิใจ
มติที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1) เห็นชอบ ให้ สพช. ยกเลิกผลการดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างทำกิจกรรมรณรงค์ Car Free Day ที่ สพช.ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 13 กิจกรรม ดังนี้
1. ผลิตภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ ผลิตสิ่งพิมพ์ ผลิตสปอต-วิทยุ ออกแบบสื่อ Bus side ออกแบบเสื้อยืดรณรงค์ ออกแบบและจัดพิมพ์คู่มือ สติกเกอร์ และ Banner
2. ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ ระยะที่ 1
3. ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ ระยะที่ 2
4. ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโรงภาพยนต์
5. ซื้อเนื้อที่ในสื่อสิ่งพิมพ์
6. ซื้อเวลาออกอากาศในสื่อวิทยุ
7. ซื้อพื้นที่ในสื่อ Bus side
8. บริหารกิจกรรม
9. ผลิตสื่อและซื้อเนื้อที่ในสื่อสิ่งพิมพ์ และผลิตสปอตวิทยุ และซื้อเวลาออกอากาศในสื่อวิทยุ
10. ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ผลิตสปอตวิทยุ ออกแบบและจัดพิมพ์ คู่มือ สติกเกอร์ และ Banner
11. ซื้อเวลาออกอากาศภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์
12. ซื้อเนื้อที่ในสื่อสิ่งพิมพ์
13. ซื้อเวลาออกอากาศในสื่อวิทยุ
2) เห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2544 ที่ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนแล้ว โดยใช้งบประมาณที่ คณะกรรมการ กองทุนฯ ได้อนุมัติ ให้ สพช. แล้ว
3) เห็นชอบให้นำงบประมาณโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2545 ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติเป็นกรอบไว้แล้ว จำนวน 150 ล้านบาท มาสมทบกับงบประมาณคงเหลือของโครงการประชาสัมพันธ์ปี 2544 เพื่อดำเนินการโครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบได้อย่างต่อเนื่อจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2545
4) อนุมัติให้ สพช. ดำเนินการตามแผนฯ โดยให้คัดเลือกผู้ที่จะรับทำโครงการประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และให้ สพช. นำผลการพิจารณาคัดเลือกเสนอ ให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุนพิจารณาอนุมัติต่อไป
5) เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมงบประมาณที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติกรอบไว้แล้วสำหรับแผนงานสนับสนุน อีกจำนวน 800 ล้านบาท เพื่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าหรือแรงจูงใจอื่น ที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการ โดยใช้ สพช. ทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 4 ขอขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินเกิน 3 เดือน หลังสิ้นสุดเงื่อนไขของสัญญา
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า พพ. ได้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2542 โดยว่าจ้าง บริษัท ลักษณ์ อินเตอร์เทค จำกัด ทำการก่อสร้างโรงเก็บเอกสารขนาด 6x10 เมตร จำนวน 1 หลัง ในวงเงิน 410,000 บาท เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 และสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 26 เมษายน 2543 แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินให้แล้วเสร็จได้ทัน ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน นับจาก วันสิ้นสุดเงื่อนไขของสัญญา ดังนั้น พพ. จึงขออนุมัติ ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินสำหรับรายการข้างต้นไปจนถึง ภายใน 30 วันนับจากวันที่ พพ. ได้รับหนังสือแจ้งให้ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินแล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
1) อนุมัติขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินให้ พพ. เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้ บริษัท ลักษณ์ อินเตอร์เทค จำกัด ไปจนถึงภายใน 30 วัน นับจากวันที่ พพ. ได้รับแจ้งให้ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินแล้ว
2) อนุมัติให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคบังคับ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานภาคความร่วมมือ และคณะอนุกรรมการกำกับดูแลแผนงานสนับสนุน มีอำนาจอนุมัติขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกองทุน ฯ ให้โครงการที่ได้รับสนับสนุนภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการฯ แต่ ละชุดที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้เบิกเงินกองทุนก่อหนี้ผูกพันภายในปีงบประมาณ แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณนั้นได้
ประธานฯ ได้ขอความคิดเห็นในที่ประชุมเกี่ยวกับโครงการรณรงค์ ที่จะให้มีการปิดถนนบางส่วนและในบางเวลา ในเขตกรุงเทพมหานครเช่น การปิดถนนสีลมหรือถนนสายอื่น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัว และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบที่จะให้มีการรณรงค์เรื่องการปิดถนนบางส่วนและบางเวลา ในเขตกรุงเทพมหานคร เช่น อาจมีการปิดถนนสุขุมวิทในบางช่วงเวลา โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้และผลกระทบจากการปิดถนนดังกล่าวด้วย