มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 1/2553 (ครั้งที่ 50)
วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด-นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. ฐานะการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้ว
3. ประมาณการรายรับ-รายจ่ายของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2553-2556
4. รายงานผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3
5. รายงานสรุปผลการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน
6. ผลการพิจารณาการขอปรับรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติไว้แล้ว
7. งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
8. การปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537
9. การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) กรรมการและเลขานุการ
ประธานกรรมการกองทุน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ 2 เรื่อง ดังนี้
1. ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ตามหนังสือลงวันที่ 14 ธันวาคม 2552 เนื่องจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการข้อตกลงและประเมินผลของกระทรวงพลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2553
2. การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ในวันนี้ มีเวลาค่อนข้างจำกัด เนื่องจากเวลา 15.00 น. จะต้องเดินทางไปทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะเริ่มประชุมเวลา 15.30 น.ที่กระทรวงการคลัง
เรื่องที่ 1 ฐานะการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552
เลขานุการฯ ได้รายงานฐานะการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท | |
ยอดยกมา ณ 1 ตุลาคม 2552 | 15,526.93 |
บวก รายรับ | 1,612.51 |
รวม | 17,139.44 |
หัก รายจ่าย | 1,520.69 |
คงเหลือ ณ 31 ธันวาคม 2552 | 15,618.75 |
มติที่ประชุม
รับทราบฐานะการเงินกองทุนฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 2 รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้ว
1. พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดทำงบการเงินส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือบุคคลภายนอกซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ สตง. เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุนฯ และให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของกองทุนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี
ให้ สตง. หรือผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่งจัดทำรายงานผลการสอบและรับรองบัญชีและการเงินของกองทุนฯ เสนอต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
รายงานผลการสอบบัญชีและการเงินตามวรรคสอง ให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบและจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. สตง. ได้ตรวจสอบรับรองบัญชีและงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 ที่ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้วต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ดังนี้
2.1 งบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ
หน่วย: ล้านบาท
เงินสด | 7,229.38 |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น | 5,332.19 |
รายได้ค้างรับ | 78.14 |
หนี้สิน | (98.50) |
รวมสินทรัพย์สุทธิ | 12,541.21 |
สินทรัพย์สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ.2550 จำนวนเงิน 4,758.08 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนตามโครงการพัฒนาระบบการขนส่งตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2551
2.2 งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน
หน่วย: ล้านบาท
รายได้จากการดำเนินงาน | ||
รายได้จากผู้ผลิตและผู้นำเข้า | 7,810.49 | |
ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร | 93.57 | |
รายได้อื่น (เงินเหลือจ่าย) | 258.93 | |
รวม | 8,162.99 | |
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน | ||
ค่าใช้จ่ายตามแผนงานและโครงการของ สนพ. และ พพ. | 3,404.12 | |
ค่าใช้จ่ายอื่น | 0.79 | |
รวม | 3,404.91 | |
รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย | 4,758.08 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย จำนวนเงิน 4,758.08 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จำนวนเงิน 4,616.67 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตามโครงการพัฒนาระบบการขนส่ง
2.3 งบกระแสเงินสด
หน่วย: ล้านบาท
รายได้จากการดำเนินงาน | ||
รายได้จากผู้ผลิตและผู้นำเข้า | 7,810.49 | |
ดอกเบี้ย | 100.94 | |
รายได้อื่น (เงินเหลือจ่าย) | 345.21 | |
รวม | 8,256.64 | |
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน | ||
ค่าใช้จ่ายตามแผนงานและโครงการของ สนพ. และ พพ. | 3,435.49 | |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น | 2,095.79 | |
หนี้สินหมุนเวียนอื่นและเงินฝากลดลง | 0.36 | |
รวม | 5,531.64 | |
กระแสเงินสดได้มาจากการดำเนินงาน | 2,725.00 | |
เงินสด ณ 1 ตุลาคม 2550 | 754.78 | |
เงินลงทุนระยะสั้น (เงินฝากประจำ 3 เดือน) | 3,749.60 | |
เงินรายได้มาจากการดำเนินงาน | 2,725.00 | |
เงินสด ณ 30 กันยายน 2551 | 7,229.38 |
กระแสเงินสดได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 จำนวนเงิน 2,725 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากกองทุนฯ มีรายรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการจ่ายเงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามโครงการต่างๆ สูงขึ้นด้วย สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 กระแสเงินสดรับต่ำกว่ากระแสเงินสดจ่าย จำนวนเงิน 575.37 ล้านบาท
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 ที่ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้ว ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 3 ประมาณการรายรับ-รายจ่ายของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2553-2556
1. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 และ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550ได้พิจารณาแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ สำหรับโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่ง และมีมติอนุมัติกรอบแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3 (ในช่วงปี 2551-2554) โดยให้เพิ่มเติมงานโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่ง ไว้ภายใต้แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และได้ประกาศอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับ "โครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่ง" ตามประกาศ กพช. ฉบับ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2551
2. กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ได้มีมติให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในส่วนที่เก็บเพื่อส่งเสริมโครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งของทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ในอัตรา 0.50 บาท/ลิตร และให้โอนเงินที่ได้จัดเก็บไว้แล้ว มาสบทบกับเงินสำหรับส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และลดอัตราจัดเก็บเงินกองทุนฯ ของน้ำมันดีเซลสำหรับส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน จากที่เก็บอยู่ 0.25 บาท/ลิตร เหลือ 0.05 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 หลังจากนั้นให้กลับมาจัดเก็บในอัตราเดิม คือ 0.25 บาท/ลิตร
3. สรุปรายได้ที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับ "โครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่ง" ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2551 - 1 ตุลาคม 2552 รวมทั้งสิ้น 8,151.37 ล้านบาท โดยปัจจุบันได้โอนเงินดังกล่าวเข้าสมทบกับเงินกองทุนฯ ทั้งนี้ฐานะเงิน "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 15,526.93 ล้านบาท
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดทำประมาณการรายรับ-รายจ่ายของกองทุนฯ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2552 สรุปได้ดังนี้
หากนำรายได้/รายจ่ายสุทธิรวมในช่วงปี 2553-2556 (4 ปี) มาใช้เป็นฐานในการจัดสรรงบประมาณ จะพบว่า กองทุนฯ มีรายได้สุทธิช่วงปี 2553-2556 รวม 18,880 ล้านบาท หรือจะสามารถจัดสรรได้ในวงเงินประมาณ 4,700 ล้านบาท/ปี
มติที่ประชุม
รับทราบประมาณการรายรับ-รายจ่ายของกองทุนฯ ในปี 2553-2556
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3
1. กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมาย ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2554 โดยมีเป้าหมายและการดำเนินการจะลดปริมาณการใช้พลังงานลง 7,820 ktoe หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศในปี 2554 และกำหนดเป้าหมายการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนพลังงานเชิงพาณิชย์ 8,858 ktoe หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของความต้องการใช้พลังงาน ในปี 2554 และ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ได้เห็นชอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยกำหนดเป้าหมายการนำพลังงานทดแทนรวม 10,961 kote หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2554
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและจัดทำสรุปผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานระยะที่ 3 ได้ดังนี้
2.1 เป้าหมายและผลการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
แผนและเป้าหมาย |
ผลดำเนินการสะสม ปี 2551 (ktoe) |
ผลดำเนินการสะสม ปี 2552 (ktoe) |
เป้าหมายปี 2554 (ktoe) |
ร้อยละการดำเนินการ ปี 2552 เทียบกับเป้าหมาย |
1. การใช้พลังงาน ภาคอุตสาหกรรม | 1,579 | 2,399 | 3,190 | 75 |
(1) การดำเนินการตาม พ.ร.บ. | 452.7 | 452.7 | 212 | 214 |
(2) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี | 32.9 | 142.5 | 570 | 25 |
(3) การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ | 432.7 | 1,017.7 | 600 | 170 |
(4) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ESCO | 197.4 | 222.5 | 300 | 74 |
(5) การอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม | 114.0 | 131.7 | 551 | 24 |
(6) การสาธิตเทคโนโลยีระดับสูง | - | 1.7 | 200 | 1 |
(7) DSM Bidding | 24.0 | 92.8 | 149 | 62 |
(8) นโยบาย Co Gen | 325.1 | 337.2 | 608 | 55 |
2. การใช้พลังงาน ด้านการจัดการ | 143.4 | 255.8 | 1,217 | 21 |
(1) มาตรฐานเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้า | ||||
กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ (MEPs) | - | - | 179 | 0 |
กำหนดมาตรฐานขั้นสูง (Labeling) | 41.9 | 72.6 | 158 | 46 |
(2) มาตรฐานเครื่องจักรอุปกรณ์ความร้อน | ||||
กำหนดมาตรฐานขั้นสูง เตา LPG | 1.5 | 3.0 | 14 | 21 |
(3) มาตรฐานสำหรับยานยนต์ | - | - | 140 | 0 |
(4) มาตรฐานสำหรับอาคาร | - | 1.3 | 1 | 130 |
(5) ส่งเสริมการใช้งานอุปกรณ์ | ||||
ส่งเสริมการใช้เตาถ่านประสิทธิภาพสูง | - | 2.7 | 68 | 4 |
ส่งเสริม CFL | 24 | 83.8 | 46 | 182 |
ส่งเสริม T5 | - | 2.3 | 407 | 0.6 |
(6) รณรงค์สร้างจิตสำนึก/ราชการ | 76 | 90 | 204 | 44 |
3. การใช้พลังงาน ภาคขนส่ง | 138.6 | 152.6 | 3,413 | 4.5 |
(1) ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน | 138 | 152 | 1,554 | 9.78 |
(2) ปรับปรุงระบบจัดการจราจร | - | - | 106 | 0 |
(3) ส่งเสริมธุรกิจ LOGISTIC DEPOT และ ICD | - | - | 1,450 | 0 |
(4) สร้างเครือข่ายระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ | 0.6 | 0.6 | 180 | 0.33 |
(5) นโยบาย ECO CAR | - | - | 123 | 0 |
เป้าหมายผลประหยัด ktoe (สะสม) | 1,861 | 2,807 | 7,820 | 36 |
2.2 เป้าหมายและผลการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
ประเภท |
ผลดำเนินการสะสม ปี 2551 |
ผลดำเนินการสะสม ปี 2552 |
เป้าหมายปี 2554 | ร้อยละการดำเนินการ ปี 2552 เทียบกับเป้าหมาย |
|
1. การผลิตไฟฟ้า | ktoe | 600 | 935 | 1,587 | 59 |
(1) พลังงานชีวมวล | MW | 1,655 | 1,672 | 2,800 | 60 |
(2) ขยะ | MW | 4.25 | 8.1 | 78 | 10 |
(3) ก๊าซชีวภาพ | MW | 68.8 | 79.6 | 60 | 133 |
(4) พลังงานแสงอาทิตย์ | MW | 34 | 40.8 | 55 | 74 |
(5) พลังงานลม | MW | 3.1 | 5.1 | 115 | 4 |
(6) พลังงานน้ำ | MW | 66 | 66 | 165 | 40 |
2. การใช้ความร้อน | ktoe | 2,550 | 3,162 | 4,150 | 76 |
(1) พลังงานชีวมวล | ktoe/ปี | 2,406 | 2,955 | 3,660 | 81 |
(2) ก๊าซชีวภาพ | ktoe/ปี | 144 | 201 | 470 | 43 |
(3) พลังงานแสงอาทิตย์ | ktoe/ปี | 0.3 | 0.99 | 5 | 20 |
(4) พลังงานขยะ | ktoe/ปี | - | 10.6 | 15 | 71 |
3. การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ | ktoe | 627 | 872 | 1,755 | 50 |
(1) เอทานอล | ล้านลิตร/วัน | 0.8 | 1.2 | 3.0 | 40 |
(2) ไบโอดีเซล | ล้านลิตร/วัน | 1.3 | 1.7 | 3.0 | 57 |
4. การส่งเสริมการใช้ NGV | ktoe | 660 | 1,140 | 3,469 | 33 |
MMSCFD | 77.5 | 133.8 | 393 | 33 | |
เป้าหมายผลประหยัด ktoe (สะสม) | 4,437 | 6,109 | 10,961 | 56 |
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ระยะที่ 3
เรื่องที่ 5 รายงานสรุปผลการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน
1. คณะกรรมการกองทุนฯ มีคำสั่งที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน เพี่อทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานของโครงการ และเสนอข้อพิจารณาประกอบรายงานการประเมินผลของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ เป็นรายโครงการ และนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ต่อไป
2. สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ได้ว่าจ้างบริษัท เอเบิล คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานในเบื้องต้น ก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการประเมินดังกล่าว โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2551 - 24 มีนาคม 2552
3. ผลการประเมินโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2551
3.1 คณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาผลการประเมินโครงการไปแล้วทั้งสิ้น 19 ครั้ง โดยมีโครงการที่ได้รับการประเมิน และคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ให้ความเห็นชอบผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว รวมจำนวน 192 โครงการ แยกตามแผนงานและกลุ่มงานได้ ดังนี้
กลุ่มงาน | แผนเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้พลังงาน |
แผน พลังงานทดแทน |
แผนบริหาร เชิงกลยุทธ์ |
รวม |
ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคนิค | 8 | 7 | - | 15 |
ส่งเสริมและสาธิต | 28 | 37 | - | 65 |
พัฒนาบุคลากร | 42 | 12 | - | 54 |
ประชาสัมพันธ์ | 55 | 2 | - | 57 |
ศึกษานโยบายและวิชาการ | - | - | 1 | 1 |
รวม | 133 | 58 | 1 | 192 |
หากพิจารณาแบ่งตามสถานภาพการดำเนินโครงการ สามารถแบ่งโครงการออกได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเจ้าของโครงการไม่ได้ว่าจ้างประเมิน จำนวน 95 โครงการ และโครงการที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างประเมินแล้ว จำนวน 16 โครงการ ส่วนที่เหลืออีก 81 โครงการ เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ
3.2 การประเมินได้ใช้โมเดล 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับสถานภาพโครงการ ดังนี้ กรณีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ใช้ CIPPA Model กรณีที่โครงการยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ใช้ Logical Framework และกรณีที่โครงการได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและมีผลประเมินแล้ว ใช้ Meta Evaluation ซึ่งเป็นรูปแบบการประเมินที่ใช้ตรวจสอบประเมินเหมือนกับโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว แต่จะประเมินเพิ่มเติมถึงเทคนิควิธีที่บริษัทผู้ประเมินใช้ ในการประเมินความถูกต้องและสัมฤทธิผล ในแต่ละหัวข้อของแต่ละโครงการได้กำหนดเป็นระดับคะแนน ซึ่งเทียบได้กับระดับที่ต้องปรับปรุง พอใช้ ดีมาก และดีเยี่ยม
3.3 ผลการประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปได้ดังนี้
สถานะโครงการ/ ผลการประเมิน |
ดีเยี่ยม | ดีมาก | ดี | พอใช้ | ต้องปรับปรุง | รวม |
แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน | ||||||
- โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ | 0 | 10 | 49 | 8 | 0 | 67 |
- โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีผลการประเมินแล้ว | 0 | 1 | 2 | 13 | 0 | 16 |
- โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ | 2 | 4 | 30 | 14 | 0 | 50 |
จำนวนโครงการ | 2 | 15 | 81 | 35 | 0 | 133 |
คิดเป็นร้อยละ | 1.5 | 11.3 | 60.9 | 26.3 | 0 | 100.0 |
แผนพลังงานทดแทน | ||||||
- โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ | 0 | 2 | 6 | 17 | 2 | 27 |
- โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ | 0 | 0 | 12 | 6 | 13 | 31 |
จำนวนโครงการ | 0 | 0 | 18 | 23 | 15 | 58 |
คิดเป็นร้อยละ | 0 | 3.5 | 31.0 | 39.7 | 25.9 | 100.0 |
แผนบริหารเชิงกลยุทธ์ | ||||||
- โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ | 0 | 0 | 0 | 1 | 0 | 1 |
คิดเป็นร้อยละ | 0 | 0 | 0 | 100.0 | 0 | 100.0 |
จำนวนโครงการทั้งหมด | 2 | 17 | 99 | 59 | 15 | 192 |
คิดเป็นร้อยละ | 1.0 | 8.9 | 51.6 | 30.7 | 7.8 | 100.0 |
3.4 จากการใช้เทคนิค Balanced Scorecard ในการประเมินผลการดำเนินงานของแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยใช้ข้อมูลในตารางข้างต้นเป็นฐาน แล้วปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบการประเมินของ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development ) ที่เน้นด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ความเกี่ยวข้องสอดคล้องกับนโยบาย วัตถุประสงค์ และผลกระทบ/ความยั่งยืน สามารถอนุมานได้ว่า ผลการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานอยู่ในระดับพอใช้ โดยจุดอ่อนที่สำคัญของโครงการส่วนใหญ่อยู่ที่การนำผลของโครงการไปใช้ (Application) ซึ่งมี 2 องค์ประกอบ คือ ผลกระทบและความยั่งยืน
3.5 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง
จากการใช้วิธี SWOT Analysis ผนวกกับ Delphi Technique ซึ่งอาศัยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ชำนาญการต่างๆ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง สามารถสรุปผลได้ ดังนี้
ก. การคัดเลือกและอนุมัติโครงการ ควรมีการพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติโครงการอย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้โครงการที่ดี สามารถบริหารจัดการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด มีผลกระทบต่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีนัยสำคัญ และคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและเวลา
ข. การบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้การบริหารควบคุม และจัดการโครงการมีประสิทธิภาพ เจ้าของโครงการจะต้องมีเวลาเพียงพอสำหรับการพิจารณาตรวจอ่านรายงาน ติดตามงาน และปรับปรุงแก้ไขโครงการ ในกรณีที่โครงการมีปัญหา ดังนั้นจึงเสนอให้ปรับลดจำนวนโครงการที่แต่ละกรม/หน่วยงาน/คน รับผิดชอบ โดยให้สอดคล้องกับขีดความสามารถที่มีอยู่
ค. การดำเนินงาน งานบางประเภทควรจะดำเนินการเอง ไม่ควรจ้างที่ปรึกษาดำเนินการ เช่น งานที่สมควรเป็นความลับ (งานเกี่ยวกับข้อมูลองค์กร ข้อมูลที่สำคัญๆ ของประเทศ) งานที่ทำเป็นประจำทุกปี ที่สามารถใช้หรือจ้างเจ้าหน้าที่ประจำทำ (งานบริหารเครือข่ายข้อมูล และประชาสัมพันธ์ งานบริหารโครงการภายใต้แผนต่างๆ เป็นต้น) ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ เจ้าหน้าที่ก็จะมีความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาการในตัวเอง อันจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในระยะยาว
ง. การทบทวนกลยุทธ์การดำเนินงาน งานบางประเภทแม้จะมีผลการประเมินออกมาดี เช่น งานฝึกอบรม งานอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น สมควรมีการทบทวนกลยุทธ์ใหม่ เนื่องจากได้ดำเนินการมานานแล้ว เสียค่าใช้จ่ายสูง ควรเน้นการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
จ. การดำเนินโครงการด้านประชาสัมพันธ์ ควรลดความซ้ำซ้อนจากการที่ต่างคนต่างดำเนินการ ลดการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ตัวบุคคล และเน้นการประชาสัมพันธ์แบบเฉพาะเจาะจงไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นแทนการประชาสัมพันธ์แบบปูพรม
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานสรุปผลการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ โดยประธานกรรมการให้ฝ่ายเลขานุการฯ ชี้แจงความแตกต่างของระดับคะแนนที่กำหนดในระดับต้องปรับปรุง พอใช้ ดีมาก และดีเยี่ยม ต่อประธานฯ ทราบต่อไป
เรื่องที่ 6 ผลการพิจารณาการขอปรับรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติไว้แล้ว
1. ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537 ข้อ 15 และข้อ 24 กำหนดไว้ "การเปลี่ยนแปลงรายการ ระยะเวลาดำเนินการ ไปจากรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนได้อนุมัติไว้แล้ว จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนก่อน จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ "และตามมติคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ได้กำหนดภารกิจในเรื่องดังกล่าว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็น แล้วฝ่ายเลขานุการฯ จึงสรุปเวียนเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
2. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ได้พิจารณาการขอปรับรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติไว้แล้ว 31 โครงการ และเห็นชอบให้ทั้ง 31 โครงการ ปรับรายละเอียดโครงการได้ โดยจำแนกประเด็นที่ขอเปลี่ยนแปลงออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
2.1 ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ กรณีผู้เบิกเงินกองทุนฯ ก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในสามเดือนนับจากเวลาสิ้นสุดเงื่อนไขแห่งสัญญา จำนวน 9 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการพัฒนาเทคโนโลยี สารสนเทศเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (งานปรับปรุงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์)
(2) โครงการสาธิตการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขนาดใหญ่ จ. ปัตตานี
(3) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้านอย่างยั่งยืน (งานว่าจ้างปรับปรุงเครื่องกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ประกอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน โครงการดอยลาง)
(4) โครงการศึกษาการผลิตแก๊สชีวภาพจากกากมันสำปะหลัง
(5) โครงการให้คำปรึกษา ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (ระยะที่ 3)
(6) โครงการศึกษาอิทธิพลของตัวแปรที่มีผลต่อการนำแสงธรรมชาติทางด้านข้างมาใช้ในอาคาร
(7) โครงการใช้แสงธรรมชาติผ่านแผงควบคุมช่องเปิดด้านบน
(8) โครงการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะรูปทรงและวัสดุหลังคาเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(9) โครงการศึกษาและวิจัยรูปแบบเปลือกอาคารที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์พลังงาน
2.2 ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จำนวน 15 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าจ่ายขนานเข้าระบบจำหน่าย
(2) โครงการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานสำหรับโรงเรียนในเขตภาคเหนือตอนบน
(3) โครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และขยายเครือข่ายการสื่อสารด้านพลังงานในกลุ่มเยาวชนและครู ประจำปี 2551
(4) โครงการจัดสัมมนา 6 ปี นโยบายพลังงานกับการพัฒนาประเทศ
(5) โครงการสร้างความเข้าใจนโยบาย E85
(6) โครงการรณรงค์สร้างความเข้าใจในนโยบายการประหยัดพลังงาน
(7) โครงการลดใช้พลังงานในภาครัฐในหน่วยงานภาครัฐขนาดเล็ก ของ สวภ. 12
(8) โครงการลดใช้พลังงานในภาครัฐในหน่วยงานภาครัฐขนาดเล็ก ของ สวภ. 6
(9) โครงการให้คำปรึกษา ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของเครือข่ายสารสนเทศด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (ระยะที่ 3)
(10) โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาในประเทศ จำนวน 2 ทุน
(11) โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาต่างประเทศ จำนวน 3 ทุน
(12) โครงการสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 10 ทุน
(13) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นพลังงานชีวมวล
(14) โครงการศึกษาแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน (ระดับชุมชน)
(15) โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคีภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
2.3 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการศูนย์บริการข้อมูลพลังงานภูมิภาคที่ 9
(2) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการใช้หัวเผาไหม้ประสิทธิภาพสูงในเตาเผาเซรามิก
2.4 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและขยายระยะเวลาดำเนินการ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการส่งเสริมการใช้หลอดผอมใหม่เบอร์ 5
(2) โครงการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 70 พรรษา
(3) โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาต่างประเทศ จำนวน 3 ทุน
(4) โครงการสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 1 ทุน
(5) โครงการจัดงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อ "พลังงาน กู้วิกฤตไทย"
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีหนังสือเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาการขอความเห็นชอบปรับรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติไว้แล้ว และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติอนุมัติให้ทั้ง 31 โครงการ ขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ขยายระยะเวลาดำเนินการ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการได้ ตามที่ขอมา
มติที่ประชุม
รับทราบผลการพิจารณาการขอปรับรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติไว้แล้ว ทั้ง 31 โครงการ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
เรื่องที่ 7 งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
1. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ได้รับทราบแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมาย ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2554 ตามที่ กพช. เสนอ โดยมีเป้าหมายและการดำเนินการจะลดปริมาณการใช้พลังงานลง 7,820 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8 ของความต้องการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศในปี 2554 และกำหนดเป้าหมายการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนพลังงานเชิงพาณิชย์ 8,858 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2554 และ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 ได้เห็นชอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี โดยกำหนดเป้าหมายการนำพลังงานทดแทนรวม 10,961 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 ของความต้องการใช้พลังงานในปี 2554
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 ได้อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2552 ให้ พพ. และ สนพ. ในวงเงินรวม 2,396,252,804 บาท ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวได้ดำเนินโครงการต่างๆ ตามที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2552 โดยได้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และผูกพันงบประมาณ เป็นเงิน 2,155,500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 85.6 และได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2552 เสนอไว้ในเอกสารประกอบวาระ 4.1 ส่วนที่ 1
3. เพื่อให้การจัดสรรเงินกองทุนฯ เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอกรอบในการพิจารณารายละเอียดรายจ่ายโครงการฯ ต่อคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 และคณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ โดยกำหนดแนวทาง/หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ ดังนี้
1) การจัดลำดับความสำคัญตามนโยบายและแผน โดยทำการพิจารณาถึงความสอดคล้องของโครงการกับภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
- ภารกิจตามข้อกำหนดและกฎหมาย พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
- ภารกิจตามยุทธศาสตร์ระดับชาติ นโยบายรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน
- ภารกิจตามเจตนารมณ์ของกองทุนฯ ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และตามแผนและเป้าหมายอนุรักษ์พลังงาน ในช่วงปี 2551-2554
- ภารกิจตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551-2565)
2) ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการหรือไม่ โดยเน้นให้การสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดผลประหยัดหรือผลการใช้พลังงานทดแทนที่ชัดเจน และสอดคล้องกับเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน
3) ศักยภาพในการขยายผล โดยเน้นโครงการวิจัยและ/หรือดำเนินการแล้วสามารถที่นำไปปฏิบัติได้จริงหรือขยายผลได้จริง (Deployment Potential) โดยแบ่งตามศักยภาพการขยายผลเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีศักยภาพในการขยายผล "มาก" และกลุ่มที่มีศักยภาพในการขยายผล "น้อย"
4. คณะทำงานฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดการของบประมาณรายจ่ายโครงการของกองทุนฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการฯ แล้ว โดยสรุปผลได้ ดังนี้
1) เห็นสมควรสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายตามโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ เป็นจำนวนไม่เกิน3,203,565,752 บาท รวม 73 โครงการ โดยแบ่งรายจ่ายออกเป็น 2 หน่วยงานผู้เบิกเงิน กองทุนฯ ดังนี้
(1) พพ. จำนวน 1,823,952,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 56.93 รวม 40 โครงการ
(2) สนพ. จำนวน 1,379,613,752 บาท คิดเป็นร้อยละ 43.07 รวม 33 โครงการ
2) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ที่เกี่ยวกับโครงการประชาสัมพันธ์ เสนอพิจารณาอนุมัติไว้เป็นกรอบวงเงิน จำนวน 500,000,000 บาท เพื่อให้งานประชาสัมพันธ์มีความเป็นเอกภาพ มีทิศทางการปฏิบัติไปในแนวเดียวกัน โดยการบริหารจัดการเพื่อใช้เงินจากกองทุนฯ ให้ผ่านความเห็นชอบของ "คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารของกระทรวงพลังงาน" ที่ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยให้สามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในแผน/งานเดียวกันได้
3) ให้ สนพ. และ พพ. จัดส่งรายละเอียดโครงการที่ปรับปรุงและแก้ไขแล้ว ให้คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อประกอบการประเมินผลโครงการต่อไป
5. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ได้รับทราบผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับจัดสรรทุนในปีงบประมาณ 2552 และได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ แล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 เป็นจำนวน 3,203,565,752 บาท ตามที่คณะทำงานเห็นสมควร และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ดังนี้
จำแนกตามแผนอนุรักษ์พลังงาน | รวม | ร้อยละ | จำแนกตามหน่วยผู้เบิก (บาท) | |
พพ. | สนพ. | |||
1. แผนพลังงานทดแทน | 1,039,305,450 | 32.44 | 292,712,000 | 746,593,450 |
1.1 งานศึกษาวิจัยพัฒนา | 233,548,000 | 7.29 | 33,548,000 | 200,000,000 |
1.2 งานส่งเสริมและสาธิต | 364,965,050 | 11.39 | 237,151,000 | 127,814,050 |
1.3 งานพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์ | 421,867,400 | 13.17 | 3,088,000 | 418,779,400 |
1.4 งานบริหารแผนงาน | 18,925,000 | 0.59 | 18,925,000 | 0 |
2. แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน | 2,034,859,090 | 63.52 | 1,531,240,000 | 503,619,090 |
2.1 งานศึกษาวิจัยพัฒนา | 175,000,000 | 5.46 | 95,000,000 | 80,000,000 |
2.2 งานส่งเสริมและสาธิต | 1,412,245,750 | 44.08 | 1,378,500,000 | 33,745,750 |
2.3 งานพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์ | 425,113,340 | 13.27 | 35,240,000 | 389,873,340 |
2.4 งานบริหารแผนงาน | 22,500,000 | 0.70 | 22,500,000 | 0 |
3. แผนบริหารเชิงกลยุทธ์ | 129,401,212 | 4.04 | 0 | 129,401,212 |
3.1 งานศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย | 38,722,200 | 1.21 | 0 | 38,722,200 |
3.2 งานบริหารแผนงาน | 90,679,012 | 2.83 | 0 | 90,679,012 |
รวมงบประมาณ กทอ. ปี 2553 | 3,203,565,752 | 100 | 1,823,952,000 | 1,379,613,752 |
6. ฝ่ายเลขานุการฯ มีข้อเสนอในการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ดังนี้
1) เนื่องจาก พพ. และ สนพ. มีงานบริหารเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานที่ต้องดำเนินงานต่อเนื่อง จึงมีรายจ่ายประจำที่จำเป็นเพื่อการบริหารงานที่เกิดขึ้น เช่น ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว เงินเพิ่มค่าครองชีพ เงินสมทบประกันสังคมฝ่ายนายจ้าง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และค่าจ้างเหมาต่างๆ เป็นต้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาเห็นชอบให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ งานบริหารจัดการ ของ สนพ. และงานบริหารแผนพลังงานทดแทนและแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของ พพ. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยให้แต่ละหน่วยงานสามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในหมวดต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
2) การพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการภายใต้งานศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคนิค ทั้งแผนพลังงานทดแทนและแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ให้ สนพ. ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองรายละเอียดของโครงการที่มีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุน ตามรายละเอียดการของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 แล้วนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติภายในวงเงิน ดังต่อไปนี้
1. ผอ.สนพ. | ไม่เกิน 10,000,000 บาท |
2. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ | เกิน 10,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000,000 บาท |
3. คณะกรรมการกองทุนฯ | เกิน 50,000,000 บาท |
3) ให้ "คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบ/อนุมัติ แผน/งาน/โครงการและการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในกรณีที่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนฯ หรือผู้รับทุนเสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ และขยายระยะเวลาโครงการที่แตกต่างไปจากเดิมที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เห็นชอบ/อนุมัติไว้ ได้เท่าที่ไม่เกินจากวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรให้
4) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ที่เกี่ยวกับโครงการประชาสัมพันธ์ ในแผนพลังงานทดแทน 250 ล้านบาท และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 250 ล้านบาท ให้ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจาก "คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารของกระทรวงพลังงาน" ที่ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยให้สามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในแผน/งานเดียวกันได้ ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ เห็นชอบแล้ว ให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินโครงการต่อไป
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบผลการดำเนินงานโครงการของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2552 ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ เป็นจำนวน 3,203,565,752 บาท (สามพันสองร้อยสามล้านห้าแสนหกหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยห้าสิบสองบาทถ้วน) โดยแบ่งรายจ่ายออกเป็น 2 หน่วยงานผู้เบิกเงินกองทุนฯ ดังนี้
หน่วย : บาท
หน่วยงาน | แผน พลังงานทดแทน |
แผน เพิ่มประสิทธิภาพฯ |
แผนงานบริหาร ทางกลยุทธ์ |
รวม |
1) พพ. | 292,712,000 | 1,531,240,000 | 1,823,952,000 | |
2) สนพ. | 746,593,450 | 503,619,090 | 129,401,212 | 1,379,613,752 |
รวม | 1,039,305,450 | 2,034,859,090 | 129,401,212 | 3,203,565,752 |
ทั้งนี้ ให้แต่ละหน่วยงานสามารถถัวจ่ายรายการต่างๆ ภายในแผน/งาน เดียวกันได้
3. อนุมัติให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ของกองทุนฯ งานบริหารจัดการ ของ สนพ. และงานบริหารแผนพลังงานทดแทนและแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ของ พพ. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยให้แต่ละหน่วยงานสามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในหมวดต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
4. เห็นชอบให้ สนพ. พิจารณากลั่นกรองรายละเอียดของโครงการภายใต้งานศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคนิค ทั้งแผนพลังงานทดแทนและแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ที่มีผู้ยื่นขอรับการสนับสนุน แล้วนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติภายในวงเงิน ดังต่อไปนี้
(1) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | ไม่เกิน 10,000,000 บาท |
(2) คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน | เกิน 10,000,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000,000 บาท |
(3) คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน | เกิน 50,000,000 บาท |
5. เห็นชอบให้ "คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบ/อนุมัติ แผน/งาน/โครงการและการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ในกรณีที่ผู้ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนฯ หรือผู้รับทุนเสนอขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ และขยายระยะเวลาโครงการที่แตกต่างไปจากเดิมที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เห็นชอบ/อนุมัติไว้ ได้เท่าที่ไม่เกินจากวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรให้ โดยการพิจารณาและให้ความเห็นชอบ/อนุมัติ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ และขยายระยะเวลาโครงการที่แตกต่างไปจากเดิมที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เห็นชอบ/อนุมัติไว้ นั้น ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีผลกระทบต่อวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม
(2) ผลลัพธ์ของโครงการไม่ลดลง
(3) ไม่มีผลกระทบต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
ทั้งนี้ หากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการใดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้คณะอนุกรรมการกองทุนฯ พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็น แล้วให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
6. เห็นชอบให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่เกี่ยวกับโครงการประชาสัมพันธ์ ในแผนพลังงานทดแทน 250 ล้านบาท และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 250 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจาก "คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารของกระทรวงพลังงาน" ที่ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยให้สามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในแผน/งานเดียวกันได้ ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ เห็นชอบแล้ว ให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินโครงการต่อไป และให้กระทรวงพลังงานดำเนินการประเมินผลการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนฯ ต่อไปด้วย
เรื่องที่ 8 การปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537
1. พ.ร.บ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ได้กำหนดให้จัดตั้ง "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ในกระทรวงพลังงาน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน..." แล้วให้กระทรวงพลังงานเก็บรักษาเงิน และทรัพย์สินของกองทุนฯ และดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามพระราชบัญญัตินี้ และ "ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในกระทรวงการคลัง ไปเป็นของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามพระราชบัญญัตินี้" ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เห็นชอบและให้ สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองทุนฯ ทำหน้าที่เป็นผู้รับโอนการดำเนินงานจากกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551
2. สนพ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. ... เพื่อปรับปรุงระเบียบฯ ให้มีความถูกต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550
3. คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมเพื่อปรับปรุงร่างระเบียบ โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขระเบียบ ดังนี้
3.1 เปลี่ยนชื่อหน่วยงานผู้ดำเนินการตามร่างระเบียบ ดังนี้
"สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ" เป็น "สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน"
"กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน" เป็น "กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน"
"กรมบัญชีกลาง" เป็น "สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน"
3.2 เพิ่มเติมคำนิยามในร่างระเบียบฯ
"คณะอนุกรรมการกองทุน" หมายความว่า คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแต่งตั้งตามมาตรา 34 แห่งพ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550
3.3 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหรือผู้ที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานมอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนตามประมาณการรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายตามโครงการที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ตามที่ผู้เบิกเงินกองทุนแจ้งมา
3.4 ปรับปรุงการใช้เงินทดรองจ่ายในส่วนของค่าบริหารงานกองทุนให้มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น
ร่างระเบียบข้อ 15 ให้หน่วยงานที่ได้รับอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปี มีเงินทดรองจ่ายในวงเงินตามที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ เพื่อใช้ทดรองจ่ายตามประมาณการรายจ่ายประจำปีได้ตามความจำเป็น
กรณีที่คณะกรรมการกองทุนยังมิได้มีมติอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปี ให้นำเงินทดรองจ่ายไปจ่ายเป็นค่าบริหารงานกองทุนที่จำเป็นและเร่งด่วนตามกรอบประมาณการรายจ่ายประจำปีที่ผ่านมาได้ไปพลางก่อนภายในวงเงินทดรองจ่ายที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ
3.5 กำหนดให้เพิ่มอำนาจคณะอนุกรรมการกองทุนไว้ในร่างระเบียบฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และสอดคล้องตามมาตรา 34 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ดังนี้
1) ด้านการรับเงินกองทุน
ร่างระเบียบข้อ 7 ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดบัญชีเงินฝาก "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ประเภทเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามที่คณะอนุกรรมการกองทุนเห็นสมควรและให้รายงานคณะกรรมการกองทุนรับทราบต่อไป
ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์อื่นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
2) ด้านการเบิกจ่ายเงินกองทุน
ร่างระเบียบข้อ 18 กรณีผู้เบิกเงินกองทุนก่อหนี้ผูกพันตามประมาณการรายจ่ายประจำปี หรือรายจ่ายตามโครงการภายในปีงบประมาณแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในปีงบประมาณนั้นๆ ให้ขยายเวลาการเบิกจ่ายรายการนั้นต่อไปได้ภายใน 3 เดือน นับจากเวลาสิ้นสุดเงื่อนไขแห่งสัญญา ซึ่งนับรวมระยะเวลาตรวจรับงานไว้แล้ว หากไม่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ทันภายใน 3 เดือน ที่ได้ขยายเวลาการเบิกจ่ายแล้วให้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการกองทุนที่จะพิจารณาอนุมัติ
ร่างระเบียบข้อ 19 การเปลี่ยนแปลงรายการ ระยะเวลาดำเนินการ ไปจากรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนได้อนุมัติไว้แล้ว โดยไม่เกินวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนจัดสรรให้ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะอนุกรรมการกองทุนก่อน จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
กรณีที่เปลี่ยนแปลงรายการ ระยะเวลาดำเนินการ ไปจากรายละเอียดโครงการที่ต้องเพิ่มวงเงินให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุน
3) ด้านการเบิกจ่ายเงินกองทุนสำหรับผู้ได้รับจัดสรรเงินกองทุน
ร่างระเบียบข้อ 26 การเปลี่ยนแปลงรายการ ระยะเวลาดำเนินการ ไปจากรายละเอียดโครงการที่คณะกรรมการกองทุนได้อนุมัติไว้แล้ว โดยไม่เกินวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนจัดสรรให้ จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะอนุกรรมการกองทุนก่อน จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
กรณีที่เปลี่ยนแปลงรายการ ระยะเวลาดำเนินการ ไปจากรายละเอียดโครงการที่จะต้องเพิ่มวงเงิน ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุน โดยให้ผู้ได้รับจัดสรรเงินกองทุนยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการผ่านผู้เบิกเงินกองทุน
3.6 เพิ่มเติมรายละเอียดการดำเนินการด้านการบัญชี
ร่างระเบียบข้อ 30 ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดทำบัญชีกองทุนให้เป็นไปตามหลักการและนโยบายบัญชีสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ตามที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนด
ร่างระเบียบข้อ 31 ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนำข้อมูลเกี่ยวกับการบัญชีของกองทุนเข้าระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์ (GFMIS) ตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด
ร่างระเบียบข้อ 33 ให้คณะกรรมการกองทุนโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน จัดทำงบการเงินเพื่อส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งคณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน และให้ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของกองทุนภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง จัดทำรายงานผลการสอบและรับรองบัญชีและการเงินของกองทุน เสนอต่อคณะกรรมการกองทุน ภายใน 150 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ
รายงานผลการสอบบัญชีและการเงินตามวรรคสอง ให้รัฐมนตรีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ร่างระเบียบข้อ 34 ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุน และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะอนุกรรมการฯ โดยร่างคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ ....../2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ
5. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. ... ตามที่คณะทำงานฯ ได้ปรับปรุงแก้ไข และเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ ....../2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาต่อไป
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. ... ยกเว้นร่างระเบียบฯ ข้อ 7 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการแก้ไขตามที่ประธานกรรมการได้ให้ความเห็นไว้ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอต่อกระทรวงการคลัง พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ ...../2553 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าว เสนอต่อประธานกรรมการกองทุนฯ เพื่อลงนามต่อไป
เรื่องที่ 9 การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
1. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2541 ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ตามหลักเกณฑ์และวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานโครงการและเสนอข้อพิจารณาประกอบรายงานการประเมินผลโครงการ และนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมี ศ.ดร. จุลละพงษ์ จุลละโพธิ เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน เป็นอนุกรรมการ และมีผู้แทน สนพ. เป็นเลขานุการฯ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ เป็นรายโครงการ และเสนอข้อพิจารณาประกอบรายงานการประเมินผลของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ และนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ต่อไป
3. ปัจจุบันโครงการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานมีเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ต้องรับภาระหน้าที่ในการประเมินผลโครงการมากขึ้น ประกอบกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานในขณะนี้มีความหลากหลาย จำเป็นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อร่วมพิจารณาประเมินผลโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยครอบคลุมในสาขาวิชาต่างๆ มากยิ่งขึ้น ประกอบกับอนุกรรมการ คือ ศ.ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นอนุกรรมการประเมินผลฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นไป ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ จึงเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ใหม่ ดังนี้
(1) นายจุลละพงษ์ จุลละโพธิ | ประธานอนุกรรมการ |
(2) นายวิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล | อนุกรรมการ |
(3) นายศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ | อนุกรรมการ |
(4) นายธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ | อนุกรรมการ |
(5) นายทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน | อนุกรรมการ |
(6) นายสมชาติ โสภณรณฤทธิ์ | อนุกรรมการ |
(7) นายกล้าณรงค์ ศรีรอต | อนุกรรมการ |
(8) นายธราพงษ์ วิทิตศานต์ | อนุกรรมการ |
(9) ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน | อนุกรรมการและเลขานุการ |
ประธานกรรมการกองทุนฯ เห็นว่าองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ จึงให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ โดยให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขามากขึ้น และครอบคลุมสาขาต่างๆได้แก่ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการบัญชี และให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
เนื่องจาก ได้ล่วงเลยเวลาที่ประธานกรรมการจะต้องไปทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการใช้งบประมาณแผ่นดิน ณ กระทรวงการคลัง จึงขอปิดการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ และให้นำระเบียบวาระการประชุมที่เหลือ ไปพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป