
Super User
รายงานผลปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ไตรมาสที่ 1)
ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา จ้างเหมารถบัสและรถตู้โดยสารรับจ้างในโครงการสัมมนาและฝึกอบรมการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจปิโตรเลียม จำนวน 1 งาน โดยวิธีเฉพาะเจาะจง
กพช. ครั้งที่ 49 วันพุธที่ 11 มกราคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49)
วันพุธที่ 11 มกราคม 2538
1. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
2. ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
3. ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
4. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
5. ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
6. ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
7. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
8. ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
9. ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับในช่วงปีงบประมาณ 2537 ที่ผ่านมา ดังนี้
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 6 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ 2536 ในอัตราเกือบร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาไฟฟ้าดับนานขึ้นในเขต กฟน. ปัญหาหลักของไฟฟ้าดับในระบบ กฟน. ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ชํารุด จากคน/สัตว์/รถยนต์ และจากภัยธรรมชาติ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีพายุฝนค่อนข้าง มาก ฉะนั้น สาเหตุจากภัยธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่สําคัญที่ทําให้ปัญหาไฟฟ้าดับไม่ได้ลดลงมากเท่าที่ควร บางเขต ปัญหาไฟฟ้าดับจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ มีนบุรี บางพลี และนนทบุรี แต่เขตชั้นใน เช่น เขต วัดเลียบ ยานนาวา คลองเตย และสมุทรปราการ ปัญหาไฟฟ้าดับอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปัญหาไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับดีขึ้น ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา จํานวนไฟฟ้าดับถาวร อยู่ในระดับ 9 ครั้งต่อผู้ใช้หนึ่งราย ซึ่งลดลงจาก 11 ครั้ง ต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ในปีงบประมาณ 2536 และระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยสาเหตุสําคัญที่ทําให้ไฟฟ้าดับในเขต กฟภ. ดีขึ้น เนื่องมาจากปัญหาไฟฟ้าดับจากส่วนของ กฟผ. ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนสาเหตุที่มาจากระบบจําหน่ายของ กฟภ. ของปีที่แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2536 อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างมาก เช่น ภาคใต้ ปัญหาต้นยางโดนสายไฟเป็นหลัก บางเขตมีปัญหาไฟฟ้าดับเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว เช่น ภาคเหนือ (เชียงใหม่, พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (อุบลราชธานี) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพายุฝน โดยในปีที่แล้วได้เกิดพายุฝนค่อนข้างมาก
3. เขตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สาเหตุไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ในปีที่ผ่านมาดีขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ยังมีไฟดับอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ 2 เหตุการณ์ คือ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2537 เกิดอุบัติเหตุจากคนงานทําการฉีดล้างลูกถ้วยด้วยวิธี HOT LINE ที่สถานีไฟฟ้าบางปะกงแล้วเกิดระเบิด ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2537 เกิดจากระบบการทํางานของคอมพิวเตอร์ที่สถานีไฟฟ้าหนองจอกขัดข้อง ทําให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณค่อนข้างกว้างเช่นกัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ผลการดําเนินงานของการขนส่งน้ำมันทางท่อ
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เห็นชอบให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมัน ศรีราชา-สระบุรี ความยาว 252 กิโลเมตร โดย ปตท. เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (Thai Petroleum Pipeline Co., Ltd.) หรือ THAPPLINE และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 ให้ดําเนินโครงการท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันบางจากไปยังดอนเมืองและบางปะอิน ความยาว 69 กิโลเมตร โดยบริษัท การบินไทย จํากัด เป็นแกนกลางในการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Co.,Ltd.) หรือ FPT เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดใน กทม. นั้น บัดนี้การดําเนินการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และได้เริ่มจ่ายน้ำมันแล้ว โดยปริมาณน้ำมันที่ขนส่งทางท่อในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันที่อาจเปลี่ยนมาขนส่งทางท่อได้ ปรากฏว่าในขณะนี้ใช้การขนส่งทางท่อแล้วร้อยละ 88 โดยขนทาง ท่อ THAPPLINE ร้อยละ 56 และ FPT ร้อยละ 32 แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความสามารถสูงสุดในการขนส่งของท่อปริมาณการขนส่งในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 23 และ 35 ของท่อ THAPPLINE และ FPT ตามลําดับ เนื่องจาก การก่อสร้างท่อต้องวางแผนให้มีความสามารถในการขนส่งเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคตได้ในระยะยาว
2. ในปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคบางประการที่ทําให้ผู้ค้าน้ำมัน และผู้ขนส่งบางรายยังเลือกที่จะขนส่งโดยทางรถบรรทุกจากคลังกรุงเทพฯ ได้แก่
2.1 ปัญหาและอุปสรรคด้านธุรกิจ มีดังนี้ (1) เส้นทางเข้าออกจากคลังบางปะอินของ FPT ยังไม่สะดวกเนื่องจากเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมระหว่างคลังบางปะอินกับถนนพหลโยธิน ยังไม่แล้วเสร็จในช่วงถนนเชิงสะพานลอยข้ามทางรถไฟ ทําให้รถบรรทุกน้ำมันที่จะเข้าไปคลังบางปะอินต้องใช้เส้นทางที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นทางอ้อมคดเคี้ยว และมีขนาดเล็ก (2) เส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของ THAPPLINE ก็ยังไม่สะดวกเช่นกัน คือเป็นทางขนาดเล็ก แม้กรมทางหลวงมีแผนการที่จะขยายถนนดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ได้มีการดําเนินการแต่อย่างใด (3) อัตราค่าขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่ง THAPPLINE และ FPT บวกเข้าไปในราคาน้ำมัน ในระยะแรกอยู่ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถบรรทุกจากกรุงเทพฯ แต่ในปัจจุบันบริษัทท่อ ทั้ง 2 ราย ได้ลดอัตราค่าขนส่งทางท่อแล้วเพื่อจูงใจให้มาใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น (4) แม้ว่าคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) จะได้มีมติจํากัดเวลาวิ่งของรถบรรทุกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขนส่งทางท่อได้มากแล้วก็ตาม แต่การที่ยังไม่ห้ามโดยสิ้นเชิงทําให้ยังมีรถบรรทุกน้ำมันเข้ามารับน้ำมันในกรุงเทพฯ ในเวลากลางคืน และยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางท่อ หากมีการห้ามวิ่งตลอดเวลาก็จะช่วยได้มากขึ้น
2.2 ปัญหาและอุปสรรคด้านความปลอดภัย โดยบริษัท FPT ได้แจ้งให้ สพช. ทราบถึงปัญหาความเสี่ยงภัยที่จะเกิดความเสียหายต่อท่อน้ำมัน ดังนี้คือ (1) การก่อสร้างโครงการรถไฟยกระดับของ Hopewell ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับแนวท่อน้ำมัน ได้มีการขุดดินจนเกิดความเสียหายต่อผิวภายนอกของท่อน้ำมัน (2) มีผู้พยายามขโมยน้ำมันโดยขุดอุโมงค์ใต้ดินจากบ้านเช่าซึ่งอยู่ใกล้แนวท่อไปยังท่อ และขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมได้โดยบังเอิญยังเหลือระยะทางอีกเพียง 1 เมตร จะถึงท่อน้ำมัน (3) มีประชาชนจํานวนมากบุกรุกพื้นที่ของหน่วยงานราชการดังกล่าว เข้ามาก่อสร้างบ้านเรือนจนบางครั้งคล่อมแนวท่อ ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองความปลอดภัยของท่อโดยเฉพาะ คงมีเพียงร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง ของกรมโยธาธิการซึ่งมีบทบัญญัติคุ้มครองท่อ โดยมีบทลงโทษทั้งปรับและจําคุก แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น FPT จึงร้องขอให้รัฐเร่งดําเนินการออกพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยด่วน ซึ่ง สพช. ได้แจ้งให้กรมโยธาธิการทราบถึงปัญหาของบริษัทเพื่อให้มีการประสานงานกับรัฐสภาต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบผลการดําเนินงานของโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 โครงการ และอุปสรรคในการดําเนินงานในเรื่องความปลอดภัยของระบบท่อน้ำมัน และเส้นทางเข้าออกคลังน้ำมัน โดยเห็นควรให้มีการเร่งรัดการนําร่างพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. … เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และให้กรมทางหลวงเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางวงแหวนรอบนอกที่จะเชื่อมคลังบางปะอินของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) กับถนนพหลโยธิน และการขยายเส้นทางเข้าออกจากคลังลําลูกกาของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้การขนส่งทางท่อมากขึ้น
เรื่องที่ 3 ผลการดําเนินงานในการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้มีการแก้ไขปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่มีธาตุกํามะถันเจือปนอยู่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากที่สุดรองจากแม่เมาะ คือในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยสรุปมติได้ ดังนี้
1.1 ให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2.0% และชนิดที่ 5 ที่มี กํามะถันไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการทันที แต่ทั้งนี้ผู้ค้าน้ำมันทุกรายต้องปฏิบัติตามนี้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โดยให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์กําหนดคุณภาพของน้ำมันเตาให้สอดคล้องกัน การลดปริมาณกํามะถันดังกล่าวถือว่าเป็นการลดในระยะแรก ซึ่งในอนาคตจะพิจารณาขยายพื้นที่บังคับออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และ ปทุมธานี เป็นต้น
1.2 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมรับไป พิจารณากําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซ SO2 จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพื่อ ให้สอดคล้องกับการลดปริมาณกํามะถันในน้ำมันเตา โดยอาจกําหนดให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป หรือพิจารณาใช้อํานาจตาม พรบ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กําหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในเขต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการต้องใช้น้ำมันเตาตามคุณภาพที่กระทรวงพาณิชย์กําหนดเท่านั้น
1.3 ให้ ปตท. และ กฟผ. เร่งดําเนินการให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือใช้น้ำมันเตากํามะถันไม่เกิน 2% และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตา ซึ่งมีปริมาณกํามะถันไม่เกิน 2% และ 0.5% ในสัดส่วนที่ทําให้มีค่า เฉลี่ยของปริมาณกํามะถันไม่เกิน 1.7% โดยเร็วที่สุด และให้ ปตท. พิจารณาความเป็นไปได้ในการนําน้ำมันดิบ กํามะถันต่ำ เช่น Duri หรือน้ำมันประเภท LSWR มาใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้
1.4 มาตรการเพิ่มเติมกรณีปัญหารุนแรง ให้ กฟผ. ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณที่อาจเกิด ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณเขตอุตสาหกรรม ของจังหวัดสมุทรปราการ หากผลการตรวจวัดยืนยันความรุนแรงของปัญหาตามผลการศึกษาของ สพช. หรือรุนแรงกว่าได้กําหนดให้ดําเนินการ ดังนี้ ให้โรงไฟฟ้าพระนครใต้ใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1.7% และให้เพิ่มการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนโรงงานขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้เพิ่มความสูงของปล่อง
2. ได้มีการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ดังนี้
2.1 กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนด คุณภาพน้ำมันเตา เพื่อให้มีการจําหน่ายน้ำมันเตาชนิดที่ 1-4 ที่มีกํามะถันไม่เกิน 2% และชนิดที่ 5 ที่มีกํามะถัน ไม่เกิน 0.5% ในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา
2.2 กฟผ. ได้เร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำทันทีตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้ใช้น้ำมันเตากํามะถัน ไม่เกิน 2% ในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือตั้งแต่เดือนเมษายน 2537 และใช้น้ำมันเตากํามะถันเฉลี่ยไม่เกิน 1.7% ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นมา
3. จากการดําเนินการดังกล่าว มีผลทําให้ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเขตดังกล่าวลดลงอย่างมาก โดยลดลงจากระดับ 25,836 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 11,264 ตัน/เดือน ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 (กรกฎาคม พฤศจิกายน 2537) คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 56 โดยโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและพระนครใต้ ปริมาณลดลงจากระดับเฉลี่ยเดือนละ 18,244 ตัน/เดือนในปี 2536 เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 6,375 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 65 และโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศลดลง จากระดับเฉลี่ย 7,592 ตัน/เดือน ในปี 2536 เหลือเพียง 4,889 ตัน/เดือน ในปี 2537 คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 36
4. สําหรับการดําเนินการในระยะต่อไปนั้น ควรมีการดําเนินการ ดังนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ควรเร่งดําเนินการกําหนดมาตรฐานการระบายก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งควรเร่งใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำในโรงไฟฟ้าบางปะกงของ กฟผ. เนื่องจากในช่วงปี 2537 โรงไฟฟ้าบางปะกงได้มีการใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก เป็นผลให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2537 ได้ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเป็นปริมาณสูงถึง 8,764 ตัน/เดือน คิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งให้ปตท.นําส่งน้ำมันเตากํามะถันต่ำไม่เกิน 2% เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ควรเร่งทําการศึกษาขยายพื้นที่บังคับใช้น้ำมันเตากํามะถันต่ำออกไปจังหวัดอื่น ๆ ที่มีปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดย สพช. จะทําการศึกษาถึงสภาพการใช้น้ำมันเตาและปัญหาของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจํานวนมาก เช่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และปทุมธานี เป็นต้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาด
สรุปสาระสำคัญ
รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปลายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2537 และผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปี 2537 ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาในเดือนตุลาคมเพิ่มสูงขึ้นช่วงต้นเดือนและปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 15-17 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในช่วงปลายเดือน และราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 16-18 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลการประชุมกลุ่มโอเปคที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมติที่จะรักษาเพดานการผลิตให้อยู่ในระดับเดิมไปจนตลอดปี 2538 สําหรับราคาในเดือนธันวาคม ได้ปรับลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 0.5-1.0 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวอยู่ในระดับ 20-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล มาตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ส่วนเดือนธันวาคมราคาได้ปรับลดลงเล็กน้อย น้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน ในระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และน้ำมันเบนซินราคาลดลงจาก 20-22 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนตุลาคม เป็น 18-21 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนธันวาคม เนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้กําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินใหม่ทําให้น้ำมันเบนซินเก่าถูกระบายออกสู่ตลาด
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ คือราคาน้ำมันเบนซินพิเศษ เบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว และเบนซินธรรมดาได้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของ เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็น 7.0-7.7 บาท/ลิตร แล้วราคาได้ลดลงมากในเดือนธันวาคม ประมาณ 60-70 สต./ลิตร มาอยู่ในระดับ 6.3-7.0 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงสองเดือน ของปลายปี 2537 หลังจากที่ราคาได้ทรงตัวมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 สต./ลิตร เป็น 6.5 บาท/ลิตร สําหรับน้ำมันเตาราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ตามราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์มาอยู่ในระดับ 3.4 บาท/ลิตร
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และโดยเฉลี่ยราคาขายปลีกในปี 2537 ยังต่ำกว่าราคาขายปลีกในปีที่แล้ว โดยกลุ่มเบนซินราคายังคงต่ำกว่า 52 สต./ลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ราคาต่ำกว่า 47 สต./ลิตร แต่น้ำมันเตาราคาสูงกว่า 20 สต./ลิตร
1.5 ค่าการตลาด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ค่าการตลาดอยู่ในระดับ 90 สต./ลิตร โดยมีการเปลี่ยน แปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงต่ำกว่า 5 สต./ลิตร กลุ่มน้ำมันเบนซินในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่นเพิ่มสูงขึ้นแต่ราคาขายปลีกส่วนใหญ่มาเพิ่มในช่วงปลายเดือนตุลาคม และเดือนพฤศจิกายนทําให้ค่าการตลาดเดือนตุลาคมลดต่ำลง 20-30 สต./ลิตร จาก 1.41-1.45 บาท/ลิตร เหลือ 1.15-1.23 บาท/ลิตร และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เป็น 1.31-1.43 บาท/ลิตร แต่ในเดือนธันวาคม ซึ่งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นลดลงอย่างรวดเร็ว แม้จะมีการลดราคาขายปลีกถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังทําให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับ1.40-1.48 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน 5-10 สต./ลิตร และจากผลการเปลี่ยนแปลงค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลและ เบนซินดังกล่าวทําให้ค่าการตลาดเฉลี่ยเดือนธันวาคมอยู่ในระดับ 1.12 บาท/ลิตร สูงกว่าปกติประมาณ 10 สต./ลิตร
2. ผลการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการในต่างจังหวัด โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีกรมการค้าภายใน สํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ร่วมกันติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาขายปลีกในประเทศและค่าการตลาดอย่างใกล้ชิด โดยมี ปตท. และบางจากเป็นกลไกในการรักษาระดับราคาจําหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งผลการดําเนินการในปี 2537 พบว่ามีจํานวนสถานีบริการโดยเฉลี่ย 150 สถานีต่อเดือน จากจํานวน 4,729 สถานีทั่วประเทศหรือประมาณร้อยละ 2 ที่จําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม สถานีบริการดังกล่าวกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ มิได้กระจุกตัวอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และกระจายตามผู้ค้าน้ำมันต่าง ๆ ด้วย ทําให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อน้ำมันจากสถานีบริการอื่นที่ราคาเหมาะสมได้ จํานวนสถานีบริการที่จําหน่ายราคาเกินเหมาะสมในช่วงครึ่งปีหลังลดน้อยลงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ค้าน้ำมันในการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัวมากกว่าการดําเนินการในช่วงแรก ๆ ตอนต้นปี
3. การสํารวจสภาวะตลาด โดยสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสํารวจสภาวะของตลาดน้ำมันในส่วนภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการกํากับดูแลราคาน้ำมันตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในการสํารวจที่ผ่านมาโดยทั่วไปตลาดน้ำมันมีการแข่งขันกันมากขึ้น ในท้องที่ชนบทเริ่มมีสถานีบริการขนาดเล็กซึ่งไม่มีเครื่องหมายการค้าแพร่หลายมากขึ้น เรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีบริการแบบถังลอย เนื่องจากจะมีถังเก็บน้ำมันขนาดความจุประมาณหนึ่งหมื่นลิตรตั้งอยู่บนพื้นดิน (ถังลอย) ในบริเวณด้านข้างหรือด้านหลังของสถานีบริการและติดตั้งตู้จ่ายน้ำมันเพียงหนึ่งตู้ เพื่อจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพียงชนิดเดียวในราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ประมาณ 60-70 สต./ลิตร ในการสํารวจสภาวะตลาดครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2537 ในท้องที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ปรากฏว่ามีการจัดตั้งสถานีบริการแบบถังลอยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะในบริเวณเส้นทางจากสระบุรีไปขอนแก่น นอกจากการแข่งขันในด้านราคาแล้ว ยังมีการแข่งขันในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่แปลกใหม่ สวยงาม การบริการที่ดีขึ้นและการจัดตั้งร้านสรรพสินค้าขนาดเล็กในสถานีบริการ เป็นต้น ในส่วนของสถานีบริการถังลอย ซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาต่ำถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และช่วยเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น แต่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่สถานีบริการอื่น ๆ ถ้าการแข่งขันระหว่างสถานีบริการถังลอยและสถานีทั่วไปมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน สพช. จึงได้แจ้งให้กรมทะเบียนการค้า ส่งเจ้าหน้าที่ทําการตรวจสอบการขออนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และความเที่ยงตรงของมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการจําหน่ายของสถานีบริการถังลอยให้ถูกต้องตามกฎหมายและแจ้งให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการถังลอยด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วม มือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว โดยมีผู้ว่าการ กฟผ. เป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และ กลุ่มผู้ลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เทิน-หินบุน (ประกอบด้วยรัฐบาล สปป. ลาว กลุ่ม NORDIC แห่งประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และบริษัท MDX ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโครงการที่มีขนาดกําลังการผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์
3. ความก้าวหน้าของโครงการไฟฟ้าอื่น ๆ ใน สปป. ลาว มีดังนี้
3.1 โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี 2538-2541 ผู้ลงทุนประกอบด้วยรัฐบาล สปป.ลาว บริษัท Transfield/ออสเตรเลีย การไฟฟ้าฝรั่งเศส และกลุ่ม บริษัท อิตาเลียน-ไทย/จัสมิน/ภัทรธนกิจ ซึ่งมีการเจรจาราคาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกรรมการฝ่ายไทย และกลุ่มผู้ลงทุนหลายครั้ง โดยจุดยืนของทั้งสองฝ่ายเบนเข้าหากัน และมีการเจรจาครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537
3.2 โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2541 โดยมีบริษัทแดวู แห่งประเทศไทย/เกาหลีใต้ และบริษัทล็อกซเล่ย์ จํากัด (มหาชน)/ประเทศไทย เป็นผู้ลงทุน ขณะนี้กลุ่มผู้ลงทุนฯ ได้เสนอราคาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 4.96 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และกรรมการฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการพิจารณา Tariff Proposal และ Financial Analysis
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องแนวนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) โดยมติดังกล่าวกําหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ร่วมกันร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และจัดประชุมร่วมกับภาคเอกชน ผู้สนใจลงทุน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้แนวข้อคิดเห็นที่จะนํามาปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศดังกล่าว และนําเสนอประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป
2. กฟผ. และ สพช. ได้ร่วมกันดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย โดยร่างประกาศดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแล้ว
3. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Request for Proposals for Power Purchases from Independent Power Producers) โดยผู้สนใจลงทุนสามารถซื้อประกาศดังกล่าวและลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอในการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ได้ที่สํานักงานใหญ่ของ กฟผ. ในราคาชุดละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2537 ถึง 30 มิถุนายน 2538 (ณ วันที่ 4 มกราคม 2538 มีผู้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 68 ราย) ประกาศดังกล่าวประกอบด้วย ประกาศรับซื้อไฟฟ้า (Request for Proposals, RFP) เอกสารต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Model Power Purchase Agreement: Model PPA) และเอกสารกําหนดมาตรฐานและเงื่อนไขทางเทคนิคเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและการปฏิบัติการ (Grid Code)
4. ต่อมา กฟผ. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานขอให้ดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อ เสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่ง สพช. จะได้เสนอให้ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบาย พลังงานแต่งตั้งต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 7 โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2537 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ต่อรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการฯ และต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2537 การปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย (ปตท.) ได้เสนอเรื่อง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถึง สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อทราบผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ รวมทั้ง ข้อเสนอรูปแบบการลงทุนของโครงการดังกล่าว
2. การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ สามารถแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคเพื่อกําหนดโครงการที่มีศักยภาพ และการศึกษาในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงินของโครงการที่มีศักยภาพตามขั้นตอนที่ 1 จํานวน 3 โครงการ ซึ่งสามารถสรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้คือ
2.1 โครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม เพื่อเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบจาก ตะวันออกกลางไปตะวันออกไกล ซึ่งส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกาที่คาดว่าจะประสบปัญหาความคับคั่งของการขนส่ง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า โครงการจะมีความเหมาะสมในกรณีระบบท่อขนาดที่ขนส่งน้ำมันได้ ประมาณวันละ 3 ล้านบาเรล ซึ่งเป็นปริมาณที่ประเทศตะวันออกไกล โดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ตลอด จนโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศทุกแห่งจะต้องใช้บริการ ดังนั้นการเชิญชวนประเทศผู้ใช้ดังกล่าวเข้าร่วมลงทุนจึง เป็นประเด็นสําคัญที่จะต้องดําเนินการต่อไป
2.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันที่อําเภอขนอม เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อรองรับกับความ ต้องการใช้ในประเทศและส่งออก รวมทั้ง ผลิตแนฟทา (Naphtha) เป็นวัตถุดิบสําหรับโครงการปิโตรเคมี ซึ่งจาก ผลการศึกษาพบว่า ผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาแนวทางการลดต้นทุน โครงการ และปรับปรุงผลการผลิตเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศใน ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่จะต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน
2.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม เพื่อผลิต Ethylene และ Propylene เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่คาดว่าจะต้องมีการนําเข้า Polyethylene และ Polypropylene ประมาณ 397,000 และ 107,000 ตัน ในปี 2545 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ผลการตอบแทนการลงทุนค่อนข้างดี โดยมีตลาดทั้งในประเทศ และประเทศข้างเคียงรองรับผลิตภัณฑ์จากโครงการได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาวะราคาของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนสูง จึงควรมีการตรวจสอบข้อสมมุติฐานด้านราคาอย่างละเอียดต่อไป
3. ปตท. มีความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นฯ ดังนี้
3.1 โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โครงการนี้จะมีความเหมาะสมเมื่อมีหลายประเทศมาร่วมใช้ ระบบท่อ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี ดังนั้น การลงทุนจึงควรเป็นการร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศที่มาร่วมใช้ระบบท่อ ซึ่งจากการประชุมระหว่าง ปตท. กับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินของรัฐ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น สรุปได้ว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและบริษัทน้ำมันของญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งต้องหยิบยกขึ้นมาเจรจาในระดับทวิภาคี จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) โดยจัดให้มีการเจรจาทาบทามประเทศผู้ซื้อขายน้ำมันดิบมาร่วมลงทุน และใช้บริการระบบท่อส่งน้ำมันควบคู่กันไป
3.2 โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่ดี โดยมีทั้งความต้องการใช้ภายในประเทศ และจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล โดยเฉพาะจีนเป็นตลาดรองรับ อีกทั้งยังมีสถานที่ตั้งสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ได้ จึงเห็นควรให้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันกับโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ ปตท. เห็นว่าการจัดตั้งองค์กรเพื่อดําเนินโครงการโรงกลั่นน้ำมันมีทางเลือกอยู่หลายรูปแบบ ดังนี้ รูปแบบ 1 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 51 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้า ร้อยละ 49 รูปแบบ 2 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 33 ผู้ค้าน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ และบริษัทการค้าร้อยละ 67 รูปแบบ 3 : หน่วยงานของรัฐและสถาบัน ร้อยละ 30 ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ร้อยละ 25 ผู้ค้าน้ำมันต่างประเทศ ร้อยละ 25 และบริษัทการค้าร้อยละ 20 และรูปแบบ 4 : หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนและหาผู้ร่วมทุนภายหลัง
3.3 โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับความต้องการภายในประเทศยังมีแนวโน้มสูงกว่าการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีความผันผวนมาก จึงควรมีการศึกษาในรายละเอียดของแนวโน้มราคาของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ตลอดจนแนวทางการลงทุนต่อไป
4. สพช. มีความเห็นว่า การลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ในภาคใต้จะใช้เงินลงทุนจํานวนที่สูงถึง 48,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระอย่างมากต่อฐานะทางการเงินของ ปตท. โดยเฉพาะในกรณีที่ ปตท. จะเป็นผู้ ดําเนินการก่อนแล้วจึงให้มีผู้ร่วมทุนเอกชนในภายหลัง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท. และช่วยระดมเงินทุนสําหรับโครงการ ควรให้มีการเร่งดําเนินการปรับโครงสร้าง ปตท. ให้เป็นเชิงธุรกิจ (Corporatization) และดําเนินการแปรรูป โดยการนําหุ้นของกิจการที่มีความเหมาะสมจําหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนจากประชาชนและ/หรือลดการถือหุ้นในกิจการที่ไม่มีความจําเป็นต่อกลยุทธในการดําเนินธุรกิจในระยะยาวของ ปตท. ตามผลการศึกษาของ ปตท. เรื่อง “Refocusing PIT: Assessment of PTT's Business Strategies and Privatization Program” โดย McKinsey ทั้งนี้ สมควรให้ ปตท. กระทรวงอุตสาหกรรม สศช. และ สพช. เร่งดําเนินการร่วมกันพิจารณา และหาข้อยุติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างและการแปรรูป ปตท. เพื่อนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2534
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้มีการศึกษาในรายละเอียด (Feasibility Study) 3 โครงการ ดังนี้คือ
(1) โครงการระบบท่อส่งน้ำมันดิบ กระบี่-ขนอม
(2) โครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
(3) โครงการปิโตรเคมีที่ขนอม
โดยให้ ปตท. นําผลการศึกษาโครงการทั้ง 3 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาโดยด่วนต่อไป
2. เห็นชอบรูปแบบการจัดตั้งองค์กรรูปแบบที่ 4 ตามที่ ปตท. เสนอ โดยให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการไปก่อนแล้วหาผู้ร่วมทุนภายหลัง เพื่อดําเนินการโครงการโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาผลการศึกษาในรายละเอียดตามข้อ 1 แล้ว เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการลงทุน ให้ ปตท. จัดทําข้อเสนอแนวทางการลงทุนเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 8 ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ได้มีการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติมอบหมายให้รัฐ มนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) รับไปพิจารณาทบทวนแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2. การดําเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดย สพช. ได้ดําเนินการ ศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและได้จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องและผู้ค้าน้ำมันในวันที่ 27 กันยายน 2537 เพื่อพิจารณาข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิงที่ สพช. จัดทําขึ้น โดยได้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกําหนดไว้และสมควรใช้ต่อไป รวมทั้ง ได้นําข้อเสนอแนะของคณะทํางานพิจารณาปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากร และคณะ กรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร มาปรับปรุงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำ มันเชื้อเพลิงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายพรเทพ เตชะไพบูลย์) ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรี กําหนดไว้แล้วต่อไป ดังนี้
1.1 ให้มีการตรวจสอบเรือขนส่งของ ปตท. และ กฟผ. เช่นเดียวกับผู้ค้าน้ำมันอื่น
1.2 ให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบการดัดแปลงเรือประมงอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด
1.3 ให้มีคณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน โดยให้กรมศุลกากรเป็น เจ้าของเรื่องและประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.4 ให้การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีใบกํากับการขนส่งของกรมทะเบียนการค้า กระทรวง พาณิชย์ กํากับไปกับยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งทุกครั้ง
2. เห็นชอบให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ให้กรมสรรพสามิตกําหนดให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลัง และมาตรวัดน้ำมันคงเหลือ แบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้มีการปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณได้
2.2 ให้มีการตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันในทะเล และเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบก ดังนี้ (1) ให้กองทัพเรือ กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดกําลังเจ้าหน้าที่ตรวจลาดตระเวนการขนส่งน้ำมันในทะเล และ (2) ให้กรมศุลกากรและกรมตํารวจ จัดหาสายสืบเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า
2.3 ให้เพิ่มการตรวจสอบการจับกุมบนบกอย่างเข้มงวด โดยให้กรมตํารวจจัดตั้งด่านตรวจสอบ รถบรรทุกน้ำมันต้องมีเอกสารใบกํากับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงติดไปกับรถบรรทุกน้ำมันทุกครั้งโดยก่อนทําการ ตรวจสอบให้มีการชี้แจงทําความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์การตรวจสอบแก่เจ้าหน้าที่ตํารวจผู้ปฏิบัติงานก่อน
2.4 ให้กรมสรรพากรส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของคลังน้ำมันชาย ฝั่งทุกแห่ง ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัติให้นําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้ารวมถึงสถานีบริการ โดยเฉพาะสถานี บริการขนาดเล็กหรือสถานีบริการประเภทถังลอยด้วย
2.5 การแจ้งการนําเข้า
(1) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมัน (Tanker) ที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยให้ สพช. เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่ามีการนําเข้าและเสียภาษีโดยถูกต้องทุกลําหรือไม่
(2) ให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) กําหนดเงื่อนไขการนําเข้า ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์
(3) ภายหลังจากที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ให้กรมศุลกากรดําเนินการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวด เป็นเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ได้เริ่มดําเนินการตามมาตรการข้อ (1) และ (2) เพื่อดูว่าการกําหนดมาตรการดังกล่าวประสบผลสําเร็จเพียงใด
2.6 ให้กรมศุลกากรดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยให้กรมศุลกากรดําเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ให้ครบถ้วน และจัดทําเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
(1) ให้ศึกษารายละเอียดในสัญญาเช่าเรือและพยานแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อค้นข้อมูลที่แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการนําเรือไปใช้ผิดประเภทหรือผิดสัญญาหรือเป็นการเช่ากันจริงหรือไม่
(2) กรณีที่มีการดัดแปลงเรือ ต้องจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญ เช่น กรมเจ้าท่า ให้แสดงความเห็นว่ามีการดัดแปลงเรือเพื่อบรรทุกน้ำมันจนไม่สามารถนําเรือไปใช้จับปลาได้แล้ว และการดัดแปลงเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการให้เช่า ถ้าผู้ต้องหาต่อสู้ว่าน้ำมันมีไว้ใช้กับเครื่องยนต์เรือ ควรพิจารณาขนาดของถังเก็บน้ำมันเปรียบเทียบกับเรือขนาดเดียวกันว่ามีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่
(3) การรับเรือ ให้กรมศุลกากรขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน เช่น กรมเจ้าท่า กรมตํารวจ เพื่อให้มีการริบเรือของผู้กระทําผิดหรือทําให้ใช้เรือไม่ได้ เช่นการเพิกถอนทะเบียนเรือ เป็นต้น
(4) กรณีที่ผู้ถูกจับกุมอ้างว่าซื้อน้ำมันจากในประเทศ ให้กรมศุลกากรพิสูจน์หลักฐานการซื้อขายโดยตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีผู้ชายจริงหรือไม่และให้กรมทะเบียนการค้านําตัวอย่างน้ำมันไปตรวจสอบสารเติมแต่ง (Additive) เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันลักลอบนําเข้าหรือไม่ และน้ำมันนั้นมีคุณภาพถูกต้องตามที่ กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนดหรือไม่ หากปรากฏว่าน้ำมันมีคุณภาพต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกําหนด ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมทะเบียนการค้าเพื่อดําเนินคดีผู้ถูกจับกุมและผู้ขายด้วย นอกจากนี้ให้กรมศุลกากรประสานงานกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายน้ำมันด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีผู้ร่วมมือรับเป็นผู้ขาย โดยหากกรมศุลกากรดําเนินการตามแนวทางข้างต้นไปแล้ว ปรากฏว่าการตรวจสารเติมแต่งยังไม่ชัดเจนพอที่จะใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นน้ำมันที่ลักลอบนําเข้าหรือเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าไม่ สามารถที่จะยืนยันได้ ให้กรมศุลกากรเสนอรัฐบาลใช้มาตรการอื่น ๆ ที่เตรียมไว้ออกมาดําเนินการ เช่น การเติมสาร Marker ในน้ำมันที่ผลิตได้ในประเทศหรือนําเข้ามาในประเทศ
(5) การติดตามผลคดี ในชั้นสอบสวนให้กรมศุลกากรติดตามสอบถามเจ้าหน้าที่ตํารวจอยู่เสมอและในชั้นการพิจารณาของพนักงานอัยการให้กรมศุลกากรจัดส่งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีที่รวบรวมไว้แต่ต้นให้แก่พนักงานอัยการเพื่อใช้เปรียบเทียบกับสํานวนการสอบสวนของตํารวจ
(6) เพื่อให้การปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรมศุลกากรมีผลครอบคลุมไปถึงการดําเนินคดีของหน่วยงานอื่น ๆ ด้วย เช่น ตํารวจน้ำ จึงควรเสนอให้หน่วยงานอื่นที่มีการดําเนินคดีผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งให้กรมศุลกากรทราบเพื่อประสานงานให้การดําเนินคดีเป็นไปในแนวทางข้างต้น ทุกราย
(7) ให้ปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ซึ่งกําหนดให้กรมศุลกากรดําเนินคดีกับผู้ต้องหาลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถึงที่สุดทุกราย และมิให้ทําความตกลงระงับคดี โดยให้มีข้อยกเว้นไม่ต้องดําเนินคดีได้ ในกรณีที่กรมศุลกากรเห็นว่า ผู้กระทําผิดรายใดมีหลักฐานอ่อน และอาจมีปัญหาในการดําเนินคดีให้ถึงที่สุด โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้ ให้กรมศุลกากรเสนอต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดี ซึ่งมีผู้แทนกรมตํารวจ และผู้แทนกระทรวงการคลังร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยในการระงับคดีจะต้องทําการริบเรือด้วย เว้นแต่จะมีเหตุว่าขัดข้องต่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการเปรียบเทียบฯ ที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการเปรียบเทียบความผิด แต่หากไม่รับเรือให้เจ้าของเรือทําหนังสือยืนยันต่อกรมศุลกากรเป็นเอกสารประกอบการระงับคดีว่าจะไม่นําเรือดังกล่าวไปใช้ในการกระทําความผิดหรือให้ผู้อื่นเช่าไปใช้ในการกระทําผิด หากกระทําผิดซ้ำยินยอมให้ริบเรือ
2.7 เพื่อให้การพิจารณาในชั้นของพนักงานอัยการเป็นไปอย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ให้สํานักงานอัยการ สูงสุดถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีสําคัญ รัฐบาลมีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นกรณีพิเศษ หาก พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา บางข้อหา หรือสั่งไม่รับของกลาง ก่อนมีความเห็นและคําสั่ง ให้บันทึกความเห็นเสนออัยการสูงสุดก่อนมีคําสั่ง
2.8 ให้มีการขยายเขตน่านน้ำจากปัจจุบัน 12 ไมล์ทะเล เป็น 24 ไมล์ทะเล โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ศุลกากรมีอํานาจปฏิบัติการใน “เขตต่อเนื่อง” ระหว่าง 12-24 ไมล์ทะเล ได้
2.9 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม รับไปหารือกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ เพื่อให้ทราบถึง ข้อมูลหรือเบาะแสที่แท้จริงในการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะเป็นประโยชน์และช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมตํารวจ) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรม สรรพากร) กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้าและกรมการค้าต่างประเทศ) สํานักงานอัยการสูงสุด กองทัพเรือ สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) สพช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้นโดยด่วนอย่างเคร่งครัด และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
เรื่องที่ 9 ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในคราวประชุม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มการแข่งขันในตลาดน้ำมัน โดยให้ดําเนินการกําหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งสถานีบริการใต้อาคาร และแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการขนาดเล็กในท้องที่ที่ห่างไกล คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานจึงได้มีคําสั่งที่ 2/2536 แต่งตั้งคณะ อนุกรรมการพิจารณาการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น เพื่อดําเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ดําเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะรัฐมนตรีในคราว ประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อ กําหนดให้สอดคล้องกันต่อไป
2. กรมโยธาธิการ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยได้เชิญผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบแนวทางการปรับปรุงประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานของแผนผัง รูปแบบ ลักษณะและความปลอดภัยของสถานที่เก็บน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ ซึ่งบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่ร่วมประชุมได้ร้องขอให้เพิ่มเติมกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดทําข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เสนอต่อประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) พิจารณา ซึ่งประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
3. ผลจากการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นจะช่วยลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่ลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะห่างของเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ซึ่งจะทําให้เงินลงทุนในการจัดตั้งสถานีบริการต่ำลงและจะมีผู้สนใจลงทุนจัดตั้งสถานีบริการริมถนนใหญ่มากขึ้น และสําหรับสถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็กนั้นรายได้จากการดําเนินการจะเพิ่มขึ้นจากการให้บริการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติและบริการล้างอัดฉีดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีผู้สนใจลงทุน จัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กมากขึ้น
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมตามที่ประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเสนอ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปดําเนินการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกัน ดังนี้
1.1 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนใหญ่
(1) ในกรณีที่สถานีบริการจะมีการล้างรถโดยเครื่องล้างอัตโนมัติ ให้ลดระยะห่างของที่ล้างรถกับแนวเขตสถานีบริการลงจากไม่น้อยกว่า 5.00 เมตร เหลือเพียงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร ได้ไม่เกิน 2 ด้าน แต่ยังให้คงความสูงของกําแพงกันไฟไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร เช่นเดิม
(2) ผ่อนผันให้ติดตั้งถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงใต้ดินบริเวณใต้หลังคาคลุมแท่นปั๊มได้
(3) การใช้ท่อพลาสติคชนิดกันน้ำมันแทนท่อเหล็กนั้น ให้กระทําได้ทั้งระบบท่อดูด (Suction System) และระบบท่อแรงดัน (Pressurize System) แต่ท่อดังกล่าวต้องเป็นท่อ 2 ชั้นเท่านั้น
1.2 สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก
(1) ในกรณีที่สถานีบริการที่ตั้งริมถนนเล็ก จะมีบริการล้างรถโดยเครื่องล้างรถอัตโนมัติ ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ 1) กําหนดการจัดวางเครื่องล้างรถอัตโนมัติ เป็น 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ทางเข้าออกตั้งฉากกับถนนด้านหน้าแนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าตั้งฉากกับถนนด้านสถานีบริการ ส่วนด้านช่องทางออกห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร 1 ด้าน และไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร 1 ด้าน รูปแบบที่ 2 ทางเข้าออกขนานกับถนนด้านหน้า แนวอาคารล้างรถด้านช่องทางเข้าและทางออกขนานกับถนนด้านหน้าสถานีบริการ และห่างจากแนวเขตด้านข้างของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร และด้านข้างของอาคารล้างรถห่างจากแนวเขตด้านหลังของสถานีบริการไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร และรูปแบบที่ 3 ทางเข้าออกทํามุมกับถนนด้านหน้า ทางเข้าและทางออกของอาคารล้างรถทํามุมเฉียงกับถนนด้านหน้าสถานีบริการโดยมุมของอาคารห่างจากแนวเขตสถานีบริการไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร 2 ด้าน และ ไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร 2 ด้าน 2) กําหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 90 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับจอดรถที่รอเข้าเครื่องล้างได้อย่างน้อย 3 คัน และรถที่ล้างเสร็จแล้ว และรอรับกลับอีกอย่างน้อย 3 คัน 3) กําหนดให้ความดังของเครื่องล้างรถไม่เกิน 60 เดซิเบล ในบรรยากาศโดยรอบสถานีบริการโดยวัดตามวิธีการของกรมควบคุมมลพิษ หรือให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้วัดให้ และ 4) กําหนดให้สถานีบริการที่มีบริการล้างรถโดยเครื่องอัตโนมัติจะต้องตั้งอยู่ริมถนนซึ่งมีท่อระบายน้ำริมถนนด้านหน้าสถานีบริการ และจํากัดเวลาการให้บริการล้างรถ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการรับไปศึกษาพิจารณากําหนดเวลาการให้บริการที่เหมาะสมต่อไป
(2) การมีบริการอัดฉีด และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ให้มีข้อกําหนด ดังนี้ ให้มีหลุมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง คานยกรถ และถังเก็บน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ความจุไม่น้อยกว่า 4,000 ลิตร และให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60 ตารางเมตร เพื่อใช้สําหรับรถที่มาจอดรอถ่ายน้ำมันเครื่องได้อย่างน้อย 2 คัน และรถที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแล้วรอรับกลับอีกอย่างน้อย 2 คัน
(3) ให้ก่อสร้างอาคารบริการ 2 ชั้นได้ แต่ห้ามใช้เป็นที่พักอาศัยหรือใช้เป็นสถานที่ประกอบอาหาร
2. มอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันพิจารณาจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันรวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สรุปสาระสำคัญ
1. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดูแลกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถนําดอกผลอันเกิดจากเงินกองทุน จํานวน 350 ล้านบาท ที่ได้รับจาก บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จํากัด ตามสัญญาโรงกลั่นน้ำมันมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านพลังงาน และปิโตรเลียม โดยมีระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เป็นกรอบในการบริหารงานกองทุนฯ ทั้งนี้ โดยกําหนดให้มี คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ทําหน้าที่พิจารณาจัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สพช. กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจาก สัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 ข้อ 10 และ ข้อ 13 กําหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดําเนินการดังนี้ 1) จัดทําแผนการใช้จ่ายเงินเป็นรายปีงบประมาณในช่วงสามปีข้างหน้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาคําขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และขอให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายดังกล่าวอย่างน้อยทุกปี และ 2) จัดทํางบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุนฯ วันสิ้นปีงบประมาณ ส่งคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
3. สพช. ได้จัดทํารายงานผลการดําเนินงาน ของคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในรอบปีงบประมาณ 2537 และแผนการจัดสรรเงินในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนด ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้ว โดยมีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
3.1 ผลการดําเนินงานของคณะกรรมการกองทุนฯ ในรอบปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินการให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่อง โครงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การลงทุน โดยเอกชนในการผลิตไฟฟ้าในรูปของ IPP การให้ทุนการศึกษาข้าราชการจํานวน 11 ทุน การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ บริโภคเข้าใจถึงการเลือกซื้อน้ำมันหล่อลื่น การจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์สํานักงาน และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายใน การเดินทางดูงาน ประชุม สัมมนา และการจัดประชุมสัมมนา ทั้งนี้การดําเนินงานของกองทุนฯ ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยพัฒนาองค์กรที่ปฏิบัติงาน ด้านพลังงานและปิโตรเลียมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และ ประสบการณ์เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานมากขึ้น รวมทั้ง มีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย
3.2 รายงานสถานะการเงินของกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2537 โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้กําหนดวงเงินงบประมาณสําหรับปีงบประมาณ 2537 ไว้เป็นจํานวน 35 ล้านบาท โดยให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานและปิโตรลียมและหมวดการค้นคว้า วิจัย ศึกษา รวมทั้งให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยลดความสําคัญในหมวดทุนการศึกษาลง ส่วนหมวดอื่น ๆ ให้ความสําคัญในระดับเดิม โดยในปีงบประมาณ 2537 ได้มีการนําเงินกองทุนฯ จํานวน 350 ล้านบาท และดอกผลคงเหลือจากปีก่อน นําฝากประจํากับธนาคารพาณิชย์ประเภท 12 เดือน, 6 เดือน และ 3 เดือน เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ซึ่งในรอบ 1 ปี ของระยะเวลาการฝากจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2537 กองทุนฯ สามารถหาผลประโยชน์ได้ประมาณ 29.055 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติความช่วยเหลือให้แก่กิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปีงบประมาณ 2537 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 31.125 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายจริงเป็นจํานวน 8.115 ล้านบาท และขอผูกพันเพื่อใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2538 จํานวน 22.575 ล้านบาท ซึ่งฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2537 กองทุนฯ มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 384.127 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้กองทุนฯ อยู่เป็นจํานวน 1.32 ล้านบาท และมีเงินรายรับสูงกว่ารายจ่ายเป็นจํานวน 33.572 ล้านบาท
3.3 แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 ตามข้อกําหนดในระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนฯ กําหนดให้มีการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ อย่างน้อยทุกปี หรือตามความจําเป็น ดังนั้น ในวาระที่คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ดําเนินงานครบรอบ 1 ปี จึงเห็นสมควรให้มีการปรับแผนการใช้จ่ายเงินสําหรับปีงบประมาณ 2538-2540 ดังนี้
1) แนวทางการใช้จ่ายเงิน ปีงบประมาณ 2538-2540 ได้ใช้แนวทางเดิม ดังนี้
(1) ยังคงให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกแก่ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียมโดยตรงเช่นเดียวกับปีก่อน
(2) ให้ความสําคัญเป็นลําดับแรกสําหรับการใช้จ่ายเงินเพื่อการค้นคว้า วิจัย ศึกษา เกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียม
(3) ให้ความสําคัญกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
(4) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเล็กน้อย และกองทุนฯ มีรายจ่ายหมวดทุนการศึกษามียอดสะสมเพิ่มขึ้น จึงจัดสรรเงินกองทุนฯ ในปีงบประมาณ 2538-2540 ประมาณปีละ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
2) แผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2538-2540 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 114 ล้านบาท
3) มาตรการในการบริหารเงินกองทุนฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2538-2540 จึงเห็นควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนสําหรับแผนงานและโครงการในปีงบประมาณ 2538-2540 ตามแผนการใช้จ่ายเงินข้างต้น วงเงินรวม 114 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอํานาจที่จะปรับปรุงการจัดสรรเงินตามแผนงานต่าง ๆ ได้ตามความจําเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวมดังกล่าว ทั้งนี้ โดยสอดคล้องกับการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ การจัดลําดับความสําคัญ ตลอดจนรายได้ของกองทุนฯ ด้วย
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ในปีงบประมาณ 2537
2. เห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินดอกผลของกองทุนฯ ประจําปีงบประมาณ 2538-2540 และมาตรการการบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมเสนอ
กพช. ครั้งที่ 51 วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51)
วันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
6. การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการและรายงานผลการดําเนินการต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน โดยมี รายละเอียด ดังนี้
2.1 กรมสรรพสามิต ได้จัดตั้งห้อง Operation Room ทําการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและการขนส่งน้ำมันโดยทางเรือทั่วราชอาณาจักรในทันทีที่เริ่มมีการขนถ่ายน้ำมันออก จากโรงกลั่น หรือเมื่อมีการนําเข้าและติดตามการขนย้ายไปปลายทาง เพื่อป้องกันการเดินทางออกนอกเส้นทาง ไปรับน้ำมันหนีภาษี โดยได้ประสานงานกับ สพช. กรมศุลกากร และหน่วยงานอื่น ๆ และยังคงให้เจ้าพนักงาน สรรพสามิตทําการผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมันของคลังน้ำมันที่เป็นโรงอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติภาษี สรรพสามิต พ.ศ. 2527 และให้เจ้าหน้าที่ตรวจวัดปริมาณน้ำมันทุกครั้งที่นําเข้าในคลังน้ำมัน ซึ่งเป็นผลให้ การจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537- เมษายน 2538 สูงกว่าเดือนเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 12.49, 15.37, 23.91, 26.69, 28.33 และ 19.28 ตามลําดับ และเป็นผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 6 เดือน (พฤศจิกายน 2537 - เมษายน 2538) สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.09 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมสรรพสามิตใช้เงินฝากค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่น จํานวน 210 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อและติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมการรับจ่ายน้ำมันในคลังน้ำมันต่าง ๆ แล้ว ซึ่งขณะนี้ กรมฯ ได้ออกประกวดราคาจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าว กําหนดยื่นซองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และคาดว่าจะสามารถดําเนินการได้เสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2539
2.2 กรมศุลกากร ในเดือนมีนาคม 2538 คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบ นําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่กรมศุลกากรเป็นประธาน ได้ดําเนินการตรวจสอบการสําแดงการนําเข้าในใบขนสินค้า เปรียบเทียบกับการนําเข้าจริง และตรวจสอบคลังน้ำมันของบริษัทต่าง ๆ รวม 13 แห่งแล้วไม่พบว่ามีการกระทําผิดแต่อย่างใด และสามารถจับกุมผู้ลักลอบนําเข้าน้ำมันได้ 1 ราย บริเวณแหลมคอกวาง อําเภอสิชล นครศรีธรรมราช เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 60,000 ลิตร สรุปผลการจับกุมและการดําเนินคดีของกรมศุลกากร ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2537 ปรากฏว่า สามารถจับกุมผู้กระทําความผิดได้ 21 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 669,107 ลิตร และ น้ำมันเบนซินปริมาณ 2,440 ลิตร ซึ่งมีข้อสังเกตว่าผลคดีส่วนใหญ่ จะยึดของกลางคือน้ำมันที่จับกุมได้เป็นของ แผ่นดิน แต่เรือที่ใช้ในการกระทําความผิดไม่ได้มีการรับเรือตามมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ทางกรมศุลกากรได้ดําเนินการปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีแล้ว โดยออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02 (ก) ว่าด้วย หลักเกณฑ์ในการดําเนินคดีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว
2.3 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการยกร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่องเพื่อป้องกันและปราบปราม การกระทําความผิด พ.ศ. …. เสร็จสิ้นแล้ว โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้นําเสนอคณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ก่อนจะนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สําหรับในส่วนของ คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเพิ่มอํานาจปฏิบัติการของพนักงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมชี้แจงประเด็นทางข้อกฎหมายอยู่ด้วย
2.4 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทะเบียนการค้าได้ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย ขณะนี้บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดแห่งประเทศไทย จํากัด ได้รายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว และได้ส่งให้แก่ สพช. ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการนําเข้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วซึ่งกําหนดให้ผู้ค้าตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าทันทีที่เรือเดินทางออกจากสิงคโปร์ โดยการร่างประกาศ กระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในร่างดังกล่าวและอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดําเนินการต่อไปได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการนําเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณาลงนาม
2.5 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุม เรือประมงดัดแปลง เรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมัน นอกทะเลอาณาเขตของไทย ด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
2.6 คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่อง ซึ่งมีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์) เป็นประธานได้จัดทําข้อเสนอการกําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่ประเทศไทยจะได้ประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย โดยกําหนดให้ “เขตต่อเนื่อง” อยู่ในบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขตจนถึงระยะ 24 ไมล์ทะเล ทั้งนี้ ในการประกาศเขตต่อเนื่องดังกล่าวต้องมีการประกาศเป็นพระบรมราชโองการและเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบ ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตต่อเนื่องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เพื่อกําหนดมาตรการให้เรือที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เช่น ห้ามเรือที่อยู่ในเขตต่อเนื่องหยุดจอดลอยลํา หรือจอดเรือโดยไม่มีเหตุอันควร หรือโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขนถ่ายสิ่งของใด ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันควรหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตฯลฯ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทําร่างพระบรมราชโองการและร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เสร็จเรียบร้อยแล้ว
2.7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากการกําหนดเขตต่อเนื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบ ต่อประมงรายเล็ก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จึงได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วยเหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเล จากชายฝั่ง กรมประมงได้ดําเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว โดยได้นําข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันของชาวประมงขนาดเล็ก โดยให้สามารถซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 1.20 บาท โดยให้สมาคมประมงจัดตั้งสหกรณ์เพื่อการค้าน้ำมันสําหรับชาวประมง และรับซื้อน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันในราคาต้นทุนซึ่งลดค่าการตลาดลงลิตรละ 0.70 บาท โดยจะขายน้ำมันให้ชาวประมงในราคาต่ำกว่าทุนลิตรละ 0.50 บาท ซึ่งราคาขายน้ำมันของสหกรณ์ที่ขาดทุนนั้นจะได้รับการชดเชยจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปีละ 350 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไข คือ น้ำมันที่จะใช้ต้องเติมสีและสาร (additive) จดทะเบียนเรือประมงที่เป็นสมาชิกทุกลํา เรือประมงทุกลําต้องมีสมุดปูมซึ่งระบุระยะเวลาทําการประมง เส้นทางในการทําการประมง ปริมาณน้ำมันที่เติม และปริมาณปลาที่จับได้ ปริมาณน้ำมันที่จะใช้ 700 ล้านลิตรต่อปี เจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ดําเนินการควบคุมดูแลการรับและขายน้ำมันของสหกรณ์เป็นประจํา
2.8 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้ง คณะกรรมการอํานวยการป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์กรในการกํากับและประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการอํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมัน เชื้อเพลิง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กํากับและเร่งรัดการดําเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 2) คณะอนุกรรมการประสานการปฏิบัติป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายบริหารเป็นประธานอนุกรรมการ เพื่อทําหน้าที่กําหนดแนวทาง ประสานการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 3) คณะทํางานป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดเป็นประธานคณะทํางาน เพื่อทําหน้าที่ดําเนินการวางมาตรการใช้กําลังป้องกันปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและจริงจังให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยในเดือนมีนาคม 2538 กองบังคับการตํารวจน้ำ กรมตํารวจ สามารถจับกุมผู้กระทําผิดลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลได้ จํานวน 3 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณรวม 513,000 ลิตร นอกจากนี้ ทางจังหวัดสระบุรี ได้ทําการตรวจค้นคลังน้ำมันของบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จํากัด พบว่ามีการจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 3,516,315 ลิตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงได้ส่งเรื่องดําเนินคดี และ จังหวัดสตูล สามารถจับกุมน้ำมันลักลอบ จํานวน 24 ถัง รวม 700 ลิตร ได้จากเรือโดยสารที่เดินทางจากมาเลเซียมายังจังหวัดสตูล และในเดือนพฤษภาคม 2538 ศูนย์อํานวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย กรมตํารวจ ได้จับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 1 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปริมาณ 30,000 ลิตร
2.9 กรมตํารวจ ได้มีคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผิดกฎหมาย ลงวันที่ 17 มีนาคม 2538 เพื่อดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เนื่องจากภารกิจ ดังกล่าวต้องมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น กรมตํารวจจึงได้เสนอต่อ สพช. ให้ช่วยสนับสนุนเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 52,988,364 บาท ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือถึงสํานักงบประมาณเพื่อพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยแล้ว
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลความคืบหน้าในการดําเนินการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบในหลักการ (1) ร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่อง ในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง (2) ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ (3) ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้การปฏิบัติงานปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป
3. เห็นชอบในหลักการให้จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมตํารวจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันและ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย ในช่วงปีงบประมาณ 2538 และ 2539 ในวงเงิน 52,988,364 บาท ตามที่กรมตํารวจเสนอ โดยให้กรมตํารวจทําความตกลงในรายละเอียดกับสํานักงบประมาณ โดยตรงต่อไป
4. ให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กําหนดแบ่งแยกอํานาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่มีอาณาเขตทางทะเลให้แน่นอนชัดเจน
เรื่องที่ 2 การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่รัฐบาลได้กําหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535- 2539) ให้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษที่มีสารตะกั่วเจือปนภายในช่วงปลายของแผนฯ ซึ่งอยู่ในราว เดือนกันยายน 2539 นั้น ในระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้มีการดําเนินการ ดังนี้
1.1 ในเดือนพฤษภาคม 2534 รัฐบาลได้กําหนดให้เริ่มมีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยสมัครใจ ทั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ขนาดตั้งแต่ 1600 ซีซีขึ้นไปต้องติดตั้ง Catalytic Converter ตั้งแต่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป และสําหรับรถยนต์ใหม่ขนาดต่ำกว่า 1600 ซีซี ให้ ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่ 1 กันยายน 2536 เป็นต้นไป
1.2 สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้เร่งติดตามให้มีการกระจาย การจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงต่าง ๆ ให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2537 มีจํานวนสถานีบริการที่มีการจําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่ว จํานวน ทั้งสิ้น 3,357 แห่ง ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 70 ของสถานีบริการทั้งหมดทั่วประเทศ
1.3 คณะรัฐมนตรีในการประชุม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ได้มีมติอนุมัติตามมติของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2537 (ครั้งที่ 45) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2537 ให้เปลี่ยนแปลงกําหนดเวลาบังคับให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วให้เร็วขึ้นกว่าที่ได้กําหนดไว้เดิมที่ให้เป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วในวันที่ 1 มกราคม 2538 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน เพื่อให้น้ำมันเบนซินธรรมดาเป็นน้ำมัน ไร้สารตะกั่วทั้งหมด ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2537 ที่ผ่านมา โดยน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วดังกล่าวที่ผู้ค้าน้ำมันจําหน่ายจะมีค่าออกเทน 92 RON ซึ่งรถยนต์ใหม่สามารถใช้เติมแทนน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้ และช่วยแก้ไขปัญหาการกระจายของสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วได้อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่วมีการจําหน่ายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ
2. สถานการณ์ของน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วล่าสุด มีดังนี้
2.1 ปริมาณการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่วในเดือนมีนาคม 2538 มี ปริมาณ 352.13 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณการจําหน่าย 276.42 ล้านลิตร ประมาณ 75.71 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 27 โดยเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 333.00 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 270.43 ล้านลิตร ประมาณ 62.57 ล้านลิตร คิดเป็นร้อยละ 23 และเบนซินธรรมดาไร้สารตะกั่ว มีปริมาณการจําหน่ายประมาณ 189.47 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณจําหน่าย 183.63 ล้านลิตร ประมาณ 5.84 ล้านลิตร คิดเป็น ร้อยละ 3
2.2 สัดส่วนการจําหน่าย น้ำมันเบนซินพิเศษและธรรมดาไร้สารตะกั่ว รวมกันในเดือนมีนาคม 2538 มีประมาณร้อยละ 67 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีสัดส่วน ประมาณร้อยละ 61 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 โดยน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วมีสัดส่วนการจําหน่าย ประมาณร้อยละ 49 ของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมด
2.3 ปริมาณสารตะกั่ว ผลจากการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อย ออกมาจากยานพาหนะลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2538 มีปริมาณสารตะกั่วที่ปล่อยออกมา 26 เมตริกตัน ลดลงจากช่วงปี 2534 ซึ่งเริ่มนําน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมาใช้ซึ่งมีปริมาณตะกั่ว 120 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 78
2.4 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วจะเพิ่มขึ้น แต่การใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วกลับไม่ลดลงและยังคงมีสัดส่วนการใช้สูงถึงร้อยละ 51 ของการใช้น้ำมันเบนซินพิเศษทั้งหมดในปัจจุบัน ทั้งนี้ มีสาเหตุเนื่องมาจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว โดยเกรงว่าเมื่อใช้แล้วจะทําให้เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น บ่าวาล์วเสียหาย หรือ เครื่องสะดุด ฯลฯ
3. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สพช. จึงได้ดําเนินการจัดทําโครงการประชาสัมพันธ์การใช้น้ำมันเบนซิน ไร้สารตะกั่วขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขทัศนคติของประชาชนกลุ่มที่ใช้รถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วแข็งและสามารถใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วได้ให้กลับมาใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแทน โดยมีกิจกรรมพอสรุปได้ ดังนี้
3.1 การสัมมนา สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่อง “การยกเลิกน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกสาขาและหาแนวทางการดําเนินการไปสู่การยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว ซึ่งจากผลการสัมมนาสรุปได้ว่า ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยให้ยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว และควรเลื่อนระยะเวลาบังคับใช้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่กําหนดไว้จากสิ้นปี 2539 เป็นเดือนมกราคม 2539 แทน ทั้งนี้ ในระยะแรกอาจกําหนดให้มีน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วเป็น 2 ชนิด คือน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วในปัจจุบันซึ่งมีสีเขียวที่สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั่วไปและน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วผสมสารเคลือบ บ่าวาล์วซึ่งจะมีสีเขียวเช่นกัน ซึ่งทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จะได้นําออกจําหน่ายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 เพื่อใช้กับรถยนต์ซึ่งมีบ่าวาล์วอ่อน รวมทั้ง รถบ่าวาล์วแข็งที่ยังไม่กล้าใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วด้วย แต่ไม่ควรใช้กับรถยนต์ใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เพราะสารเคลือบบ่าวาล์วจะไปเคลือบ Catalytic Converter อาจทําให้หมดสภาพเร็วขึ้นได้เล็กน้อย จึงจําเป็นที่จะต้องกําหนดมาตรการบังคับให้หัวจ่ายน้ำมันชนิดนี้ต้องมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว เท่ากับหัวจ่ายของ น้ำมันเบนซินชนิดมีสารตะกั่วเพื่อป้องกันรถใหม่ที่ติดตั้ง Catalytic Converter เข้าไปเติม
3.2 การประชาสัมพันธ์ สพช. ได้ดําเนินการประชาสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้รถยนต์ที่สามารถใช้ น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแต่ยังคงใช้น้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วอยู่ โดยจัดส่งนักศึกษาออกไปประจําตามสถานี บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพและปริมณฑล อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อําเภอหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และอําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อชี้แจงทําความเข้าใจ
3.3 การออกสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ สพช. ได้จัดให้มีการออกสื่อโฆษณาทางวิทยุและ โทรทัศน์ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วเพิ่มขึ้น ในช่วง 1 พฤษภาคม 20 มิถุนายน 2538 และขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทั้งทางหนังสือพิมพ์ นิตยสารและวิทยุ ให้ช่วยเผยแพร่บทความชี้แจงให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สพช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป
2. ให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วในปัจจุบันคือไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
เรื่องที่ 3 ราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ด้วยสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งสําเนาหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0405/311 ลงวันที่ 18 มกราคม 2538 เรื่อง ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) พิจารณา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เหมาะสม เนื่องจากราคาได้ขยับสูงขึ้นเป็นลําดับ และผู้ค้าน้ำมันมีพฤติกรรมในการกําหนดค่าการตลาดเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากค่าการตลาดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงหรือมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จะทําให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสูงตามไปด้วย อันจะทําให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเงินเฟ้อ กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอว่า ควรได้มีการพิจารณากําหนดมาตรการกํากับดูแลค่าการตลาดให้เป็นไปโดยเหมาะสมต่อไป
2. สพช. ได้นําเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 และคณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. และมอบหมายให้ สพช. รับไปหารือกับกรมการค้าภายในก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ต่อไป
3. สพช. ได้ประชุมหารือกับกรมการค้าภายใน ตามมติของคณะกรรมการฯ ข้างต้นแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยได้ชี้แจงในรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
3.1 ภายหลังราคาน้ำมันลอยตัวในปี 2534 เป็นต้นมา ราคาขายปลีกเฉลี่ยในแต่ละปีลดลงโดยตลอด ซึ่งการพิจารณารายได้ของผู้ค้าน้ำมันจะพิจารณาเพียงการเปลี่ยนแปลงของค่าการตลาด (Marketing Margin) ไม่ได้ เพราะจะไม่ทําให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากรายได้จากการจําหน่ายน้ำมัน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ค่าการกลั่น (Refining Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้ผลิตหรือผู้กลั่น และค่าการตลาด (Marketing Margin) ซึ่งเป็นรายได้ของผู้จําหน่ายทุกทอดรวมกัน รวมทั้งสถานีบริการด้วย ดังนั้น หากค่าการตลาดเปลี่ยนแปลงไปในทางสูงขึ้น มิได้หมายความว่าราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องสูงตามไปด้วยเสมอไป ทั้งนี้ค่าการตลาดก่อนและหลังราคาลอยตัว ไม่สามารถนํามาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพราะภายหลังการลอยตัวตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงหลายประการ ดังนี้ (1) ต้นทุนของผู้ผลิตหรือนําเข้า เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับปรุงข้อกําหนดคุณภาพของน้ำมัน เชื้อเพลิงให้สูงขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากยานพาหนะ รวมทั้งฝ่ายผู้ค้าน้ำมันเองก็ได้เพิ่มค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินให้สูงขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากขึ้น (2) ต้นทุนของผู้จําหน่าย เนื่องจากรัฐบาลได้กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเติมสารเติมแต่ง (Additive) ลงในน้ำมันก่อนจําหน่ายเพื่อลดมลพิษในไอเสียของรถยนต์ และเพิ่มอัตราสํารองของน้ำมันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ทําให้ต้นทุนการจําหน่ายสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะทําการเปรียบเทียบราคาและค่าการตลาด ระหว่างก่อนลอยตัวกับหลังลอยตัวจะต้องมีการปรับต้นทุนต่าง ๆ ดังกล่าวเข้าไปในราคาและค่าการตลาดช่วงก่อนลอยตัวเสียก่อน จึงจะสามารถเปรียบเทียบกันได้บนพื้นฐานเดียวกัน โดยผลการเปรียบเทียบพบว่า หากรัฐยังคงควบคุมราคามาจนถึงปัจจุบัน ราคาขายปลีกจะสูงกว่ากรณีราคาลอยตัว โดยค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกันหลังราคาลอยตัวต่ำกว่าช่วงก่อนราคาลอยตัว ดังนั้นค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มาจากการขึ้นราคาขายปลีก แต่มาจากค่าการกลั่นซึ่งลดลงมากเนื่องจากนโยบายนําเข้าเสรีของรัฐบาล ซึ่งดําเนินการไปพร้อมกับการปล่อยราคาลอยตัว ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีอํานาจต่อรองราคาลดลงและสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับให้แก่ผู้จําหน่ายในรูปของค่าการตลาดที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นก็มิได้ตกเป็นผลกําไรแก่ผู้จําหน่ายทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสํารองและการเติมสารเติมแต่ง คงเหลือเป็นกําไรที่เพิ่มขึ้นสําหรับน้ำมันเบนซินพิเศษประมาณลิตรละ 25 สตางค์ และสําหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตรละ 22 สตางค์ ซึ่งแม้ในส่วนนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนได้รับประโยชน์ด้วยดังนี้ (1) สภาพการแข่งขันในระดับการค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยจํานวนสถานีบริการเพิ่มขึ้น และมีผู้ลงทุนจัดตั้งสถานีบริการภายใต้เครื่องหมายการค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในด้านราคาจําหน่าย ซึ่งโดยทั่วไปจะตั้งราคาต่ำกว่าสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ สภาพของสถานีบริการ ทั้งด้านความปลอดภัย ความสะอาดและการบริการที่ดีขึ้น และในระยะยาวการแข่งขันระหว่างสถานีบริการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จะทําให้อัตราค่าการตลาดลดลง (2) ช่วยให้เกิดการขยายตัวของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึงในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงพอสมควร จึงจูงใจให้มีการนําไปจําหน่ายได้ (3) ผลประโยชน์ทางด้านสิ่งแวดล้อมในเมือง กล่าวคือ คุณภาพอากาศในเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากการที่น้ำมันมีคุณภาพดีขึ้นตามข้อกําหนดใหม่ที่เคร่งครัดมากขึ้น
3.2 ผลกระทบจากการลดลงอย่างมากของค่าการกลั่น (Refining Margin) ในช่วงหลังราคาลอยตัวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเล็งเห็นว่าในอนาคตค่าการกลั่นและค่าการตลาดที่ได้รับ จะผันแปรตามราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งไม่แน่นอน หากต้องการจะให้ผลประโยชน์ที่ได้รับมีความแน่นอนมากขึ้น จะต้องได้รับทั้งค่าการกลั่นและค่าการตลาดรวมกัน แนวความคิดดังกล่าวทําให้ผู้ค้าน้ำมันเริ่มขยายกิจการให้มีลักษณะกลั่นเองและจําหน่ายเองมากขึ้น เช่น บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด และบริษัท น้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จํากัด ซึ่งปัจจุบันซื้อ น้ำมันจากบริษัท ไทยออยล์ จํากัด ได้ขออนุญาตจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันของตนเองขึ้นโดยแยกกิจการเป็นบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จํากัด และบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จํากัด ตามลําดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านความมั่นคงของการจัดหา โดยประเทศไทยพึ่งพาการนําเข้าน้อยลง มีความเสี่ยงภัยต่อการขาดแคลนน้ำมันน้อยลง และในอนาคตหากมีการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันเพื่อการส่งออก ก็จะทําให้ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานยิ่งขึ้น และหากรัฐบาลยังคงควบคุมราคาขายปลีกมาจนถึงปัจจุบัน การขยายตัวด้านกําลังการกลั่นน้ำมันในประเทศดังกล่าวข้างต้นอาจไม่เกิดขึ้น
3.3 ในการปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว รัฐบาลได้คํานึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและได้กําหนด มาตรการไว้เรียบร้อยแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแล การกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ ซึ่งมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) การรักษาระดับราคา ให้ ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันสอดส่องดูแลมิให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสดงเครื่องหมายการค้าของตน จําหน่ายน้ำมันในราคาสูงกว่าที่ผู้ค้าน้ำมันกําหนด (2) การรับแจ้งราคา ให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละจังหวัดแจ้งราคาจําหน่าย ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนต่อสํานักงานพาณิชย์จังหวัดและสํานักงานพาณิชย์จังหวัดแจ้ง สพช. เพื่อวิเคราะห์และประเมินการเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกและค่าการตลาด (3) การติดตามราคา ให้จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของ สถานีบริการในจังหวัด ในการพิจารณาว่าระดับราคาสูงเกินความเหมาะสมหรือไม่ ให้ดูจากราคาของสถานีบริการ ปตท. ข้างเคียง โดยความแตกต่างของราคาไม่ควรเกินลิตรละ 20 สตางค์ หรือใช้ราคาจําหน่ายใน กทม. ที่ผู้ค้าน้ำมันแจ้งบวกด้วยค่าขนส่งไปยังจังหวัดนั้นแทนราคา ปตท. ข้างเคียงก็ได้ (4) การดําเนินการ หากพบสถานีบริการที่จําหน่ายน้ำมันในราคาเกินเหมาะสมให้จังหวัดแจ้งกรมการค้าภายในและ สพช. เพื่อแจ้งให้ผู้ค้าน้ำมันเจ้าของเครื่องหมายการค้าดําเนินการให้ลดราคาลง หรือให้ ปตท. แทรกแซงราคา หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดกําหนดราคาสินค้าและป้องกัน การผูกขาดพิจารณาแก้ไขโดยใช้อํานาจตามกฎหมาย นอกจากนั้น สพช. ร่วมกับ ปตท. ได้เดินทางไปสํารวจสภาพการแข่งขันของสถานีบริการในท้องที่ห่างไกลในทุกภูมิภาคเป็นระยะตลอดมา เพื่อให้ทราบว่ามีการกําหนดราคาจําหน่ายสูงเอาเปรียบผู้บริโภค หรือไม่ โดยได้เชิญให้ผู้ค้าน้ำมันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการค้าภายใน และกรมทะเบียนการค้าให้ส่งผู้แทนร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง
3.4 ผลการดําเนินการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาดในปี 2537 ที่ผ่านมาพอสรุปได้ ดังนี้ (1) ปตท. บริษัทบางจาก และผู้ค้าน้ำมันได้สอดส่องดูแลการกําหนดราคาขายปลีกของสถานีบริการทั่วประเทศตามมติคณะรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี โดยสํานักงานพาณิชย์จังหวัด และ สพช. ตรวจพบ สถานีบริการซึ่งจําหน่ายน้ำมันในราคาสูงเกินเหมาะสมน้อยรายมาก จากจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศโดยเฉลี่ย ในปี 2537 ทั้งหมด 4,768 ราย พบโดยเฉลี่ยเดือนละ 112 ราย หรือร้อยละ 2.4 สถานีบริการดังกล่าวมิได้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทุกภาค ทําให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนเพราะสามารถซื้อจากสถานีบริการอื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจพบผู้ค้าน้ำมันก็ได้ให้ความร่วมมือในการดําเนินการให้สถานีบริการลดราคาจําหน่ายลงอย่างรวดเร็ว (2) นอกจากการกํากับดูแลมิให้ราคาขายปลีกของสถานีบริการสูงเกินเหมาะสมแล้ว สพช. ยังได้กํากับดูแลระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นด้วย ซึ่งปรากฏว่าการ เปลี่ยนแปลงของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินพิเศษและเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วอยู่ในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงช้า” สพช. ได้นําเสนอปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีมติให้ ปตท. และบริษัทบางจาก ปรับปรุงกลไกการกําหนดราคาขายปลีก ณ สถานีบริการให้สามารถปรับปรุงราคาขายปลีกตามราคาขายส่งได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เจ้าหน้าที่สามารถดําเนินการไปได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อให้มีความคล่องตัว ผลปรากฏว่าช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยราคาขายปลีก ณ สถานีบริการของน้ำมันเบนซินพิเศษทั้ง 2 ชนิดเปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” โดย สพช. เห็นว่ามาตรการกํากับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รัฐกําหนดไว้ในปัจจุบันเหมาะสมดีแล้ว กล่าวคือช่วยให้ราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสะท้อนถึงราคาในตลาดโลก รวมทั้งค่าการตลาดที่ผู้ค้าน้ำมันได้รับก็มิได้เพิ่มสูงขึ้นมากเกินสมควร เมื่อคํานึงถึงต้นทุนการผลิตจําหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากกฎเกณฑ์ของรัฐ และผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากความปลอดภัย ความสะอาดและบริการที่ดีขึ้นของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงไม่จําเป็นต้องมีการทบทวนมาตรการกํากับดูแลดังกล่าวแต่อย่างใด
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการวิเคราะห์ของ สพช. เกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และ กรมการค้าภายใน ร่วมกัน พิจารณาปรับปรุงมาตรการในการกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีความ เหมาะสมยิ่งขึ้น
3. ให้กรมโยธาธิการเร่งดําเนินการในการออกประกาศกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันขนาดเล็กเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไปแล้ว
เรื่องที่ 4 รายงานสถานการณ์ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ)
สรุปสาระสำคัญ
1. เขตการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขต กฟน. ประสบปัญหาจํานวนไฟฟ้าดับถาวรเฉลี่ย 1.83 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม บางเขตยังมีปัญหาไฟฟ้าดับค่อนข้างสูง เช่น เขตบางใหญ่ และเขตบางพลี
2. เขตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 จํานวนไฟฟ้าดับ ถาวรอยู่ในระดับ 3.87 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟหนึ่งราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อย เขตที่มีปัญหามาก เป็นเขตทางภาคใต้ สาเหตุมาจากต้นยาง เขตที่มีปัญหารองลงมาคือ เขตภาคกลาง เนื่องจากเป็นเขตที่มีการใช้ ไฟฟ้าสูง อุปกรณ์ไฟฟ้าชํารุดบ่อยและปัญหารถชนเสาไฟฟ้า
3. ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีส่วนทําให้ระบบไฟฟ้าของ กฟน. และ กฟภ. ขัดข้องนั้น ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2538 ปัญหาไฟฟ้าดับที่เป็นผลมาจาก กฟผ. ลดน้อยลง โดยสามารถคิดเป็นเวลาที่ระบบไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟ ประมาณ 22.9 นาที ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 13.5
4. การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ของคณะกรรมการปรับปรุงความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นแกนนํา ได้มีการประสานงานกันระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และมีการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทําให้ระบบไฟฟ้าของประเทศดีขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยกําหนดให้ กรมสรรพสามิตติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าออกจากคลังและมาตรวัดน้ำมันคงเหลือแบบ Automatic Level Gauge ในคลังน้ำมันชายฝั่งทุกแห่ง และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดผนึกมิให้เปิดเครื่องเข้าไปแก้ไขสัญญาณ ได้ และให้มีการรายงานผลการดําเนินงานการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2538 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2538 จากการรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการฯ ปรากฏว่ามีคลังน้ำมันบางแห่งไม่อยู่ในความควบคุมของกรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมันที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยราชการใด เพื่อ กําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติต่อไป
3. สพช. ได้ดําเนินการตามมติแล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมโยธาธิการ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 และจัดทําข้อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 เพื่อพิจารณาสรุปได้ ดังนี้
3.1 ในข้อเท็จจริงแล้วไม่น่าจะมีคลังน้ำมันใดที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของทางราชการ เนื่องจากคลังน้ำมันทุกคลังต้องได้รับอนุญาตจากกรมโยธาธิการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสําหรับควบคุมดูแลด้านความ ปลอดภัยของสถานที่เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่ง และนอกจากนี้ถ้าคลังใดเป็นคลังน้ำมันนําเข้าจะต้องอยู่ในความดูแลของกรมศุลกากรเพื่อควบคุมการชําระอากรขาเข้า หรือถ้าคลังใดมีการดําเนินการตามกฎหมาย สรรพสามิต เช่น มีการเติมสารเติมแต่ง ก็จะต้องอยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิตในฐานะดําเนินการผลิตอีกด้วย
3.2 ในปัจจุบันมีคลังน้ำมันชายฝั่งรวมทั้งสิ้น 71 แห่ง แต่อยู่ในความดูแลของกรมสรรพสามิต และสามารถติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้เพียง 40 แห่ง ส่วนอีก 31 แห่ง กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจเข้าไปติดตั้งมาตรวัดได้ เนื่องจากกรมสรรพสามิตมีอํานาจติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เฉพาะคลังน้ำมันที่เข้าลักษณะเป็น “โรงอุตสาหกรรม” คือ คลังน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมัน และคลังน้ำมันที่มีการเติมสารเติมแต่ง (Additive) เท่านั้น จึงทําให้มีช่องโหว่ให้มีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และทําให้การแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามคลังชายฝั่งทั้ง 31 แห่ง นั้น มีคลังน้ำมันที่ควรจะต้องติดตั้งมาตรวัดจํานวน 10 แห่ง โดยให้กรมโยธาธิการดําเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคลังที่สมควรติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
3.3 คลังน้ำมัน 10 แห่งดังกล่าว อาจใช้อํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรกําหนดให้ติดตั้ง มาตรวัดได้ แต่เนื่องจากอํานาจของกรมสรรพากรไม่ใช่อํานาจบังคับให้ติดตั้ง แต่เป็นการกําหนดเป็นทางเลือก หนึ่งให้เจ้าของคลังน้ำมันเลือกที่จะใช้การติดมาตรวัดเป็นอุปกรณ์ในการรายงานข้อมูลการรับจ่ายและคงเหลือ ของน้ำมันในคลังต่อกรมสรรพากร โดยเจ้าของคลังน้ำมันทุกคลังมีสิทธิเลือกและไม่ได้จํากัดเฉพาะคลัง 10 แห่ง ดังกล่าว อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรอาจส่งเสริมให้เจ้าของคลังน้ำมันยอมรับการติดมาตรวัดให้มากขึ้นได้ โดยใช้ หลักการว่าคลังใดติดมาตรวัดจะถือว่ามีระบบควบคุมที่ดี กรมสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบภาษีอากรน้อยกว่า คลังที่ไม่ได้ติดมาตรวัด
4. เพื่อให้มาตรการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันชายฝั่งกระทําได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เห็นควรกําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิต ไม่มีอํานาจติดตั้งมิเตอร์ได้เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
4.1 ให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรตามแนวทาง ข้างต้น โดยให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
4.2 ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง หากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
มติของที่ประชุม
1. ให้กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากรรับไปดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงในคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้ง โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ให้เน้นการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งก่อน
2. ให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่งหากมีคลังน้ำมันที่ก่อสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร เพื่อดําเนินการให้มีการติดตั้งมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อไป
เรื่องที่ 6 การขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 และวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้มีมติ กําหนดแนวทางการดําเนินงานในอนาคตของ กฟผ. และการเพิ่มบทบาทของเอกชนในการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้ว โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด (บผฟ.) ขึ้น ซึ่งต่อมา แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จํากัด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 และได้ขายโรงไฟฟ้าระยองให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า ระยอง จํากัด (บฟร.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บผฟ. รวมทั้งจัดทําสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยอง โดยให้สิทธิ (Option) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เจรจาซื้อโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ. ได้ ต่อมาฝ่ายบริหารฯ กฟผ. ได้นําเรื่องการขายโรงไฟฟ้าขนอมเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณา ในการประชุม ครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 และมีมติอนุมัติในหลักการให้ขายโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งหมดจํานวน 824 เมกะวัตต์ แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และให้ฝ่ายบริหารฯ ดําเนินการตามที่เสนอ ซึ่งในการดําเนินการดังกล่าว จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ครบถ้วนภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 กฟผ. จึงเสนอเรื่องให้สํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา เมื่อสํานักนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จึงส่งเรื่องดังกล่าวมายังสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ สํานักนายกรัฐมนตรีได้นําเรียนรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายกร ทัพพะรังสี) ผู้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี สําหรับ กฟผ. พิจารณาแล้ว ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาก่อนนําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อไป
2. ขั้นตอนในการดําเนินการซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม มีขั้นตอนหลัก ดังนี้
2.1 การขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ กฟผ. ดําเนินการขายทรัพย์สินของ โรงไฟฟ้าขนอมกับ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. และการขอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน ราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการ หรือหุ้นที่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504
2.2 การเจรจาในรายละเอียดของสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ทั้งนี้ รวมถึงวิธีการประเมินราคาทรัพย์สิน ผลการประเมินราคาทรัพย์สิน วิธีการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า อัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่น ๆ
2.3 การขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้าย เพื่อให้มีการซื้อขายโรงไฟฟ้าขนอมเกิดขึ้น
3. สัญญาต่าง ๆ ประกอบด้วย
3.1 สัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน ของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาทรัพย์สินที่จะซื้อจะขาย คือ โรงไฟฟ้าขนอม ที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ โดยจะซื้อขายในราคาที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
3.2 สัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม จะใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่ง ผลิตจากโรงไฟฟ้าระยอง ระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญา
4. การประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมจะดําเนินการตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 หลังจากได้รับความเห็น ชอบในหลักการจาก ครม. แล้ว ทั้งนี้การประเมินราคาทรัพย์สินจะกระทําให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้การโอน ทรัพย์สินสามารถกระทําได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ตามกําหนดการ
5. การกําหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามลักษณะของต้นทุน ดังนี้ (1) ค่าความพร้อมผลิตไฟฟ้า (Availability Payment) คิดตามความพร้อมผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนคงที่ของโรงไฟฟ้า และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น โดยไม่ขึ้นกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. สั่งผลิต ต้นทุนคงที่ดังกล่าว ได้แก่ ค่าชําระคืนเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าบํารุงรักษาหลัก ค่าใช้จ่ายคงที่ในการผลิตและบํารุงรักษา และค่าประกันภัย เป็นต้น (2) ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) คิดตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าซึ่งได้ผลิตตามคําสั่งของ กฟผ. เพื่อให้เพียงพอกับต้นทุนผันแปร อันได้แก่ ค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบํารุงรักษา โดยไม่มีการตั้งเกณฑ์กําไรในส่วนของค่าพลังงานไฟฟ้า โดยปัจจัยสําคัญที่มีส่วนในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า ได้แก่ ราคาขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม สาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ความต้องการผลตอบแทนของผู้ลงทุนใน บผฟ. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ระยะเวลาคืนเงินกู้ อายุใช้งานของโรงไฟฟ้า ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และสิทธิประโยชน์ ที่พึงได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนโดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นใดตามที่กฎหมายอนุญาต โดยผลประโยชน์จูงใจที่สําคัญของ บผฟ. คือ บผฟ. จะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมผลิตไฟฟ้าที่ได้ตกลงล่วงหน้า ระบบจูงใจนี้จะส่งผลให้ บผฟ. พัฒนาคุณภาพงานแบบธุรกิจเอกชน และสร้างความมั่นคงแก่ระบบผลิตไฟฟ้าโดยรวม
6. การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
6.1 ขั้นตอนที่ 1 : การขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี ในการดําเนินการเบื้องต้นนั้น กฟผ. จําเป็นต้องขออนุมัติและขอรับการสนับสนุนในหลักการจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นได้ครบถ้วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
(1) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ขายโรงไฟฟ้าขนอม (ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 ชุด ขนาด 674 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 เครื่อง ขนาด 2 x 75 เมกะวัตต์ รวมเป็นกําลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 824 เมกะวัตต์) แก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม
(2) ขออนุมัติในหลักการให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งดําเนินกิจการ โดย บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยใช้สาระสําคัญตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจาก โรงไฟฟ้าระยองระหว่าง กฟผ. กับ บฟร. เป็นแนวทางในการจัดทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(3) ขออนุมัติให้ กฟผ. ทําสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้ง สัญญาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายและการประกอบการโรงไฟฟ้าขนอมเป็นภาษาอังกฤษ
(4) ขอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาในการ ส่งเสริมการลงทุนแก่ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. โดยให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีอื่น ๆ เป็นระยะเวลาสูงสุดตามที่กฎหมายอนุญาต
(5) ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจําหน่ายกิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504 โดยขอให้แต่งตั้งผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และผู้แทน กฟผ. ร่วมเป็นกรรมการฯ ด้วย แล้วนําผลการประเมินราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(6) ขอการสนับสนุนให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความอนุเคราะห์ให้ความร่วมมือ และอํานวยความสะดวกในการขอรับการอนุมัติและใบอนุญาตต่างๆ ที่จําเป็นในการซื้อขายและการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนอม เพื่อให้ทันกําหนดการโอนทรัพย์สิน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2538 ดังนี้
- ขอให้สํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าขนอม และท่าเทียบเรือ
- ขอให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมในส่วนของ โรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย พิจารณาอนุมัติออกสัมปทานในการประกอบ กิจการไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. เป็นระยะเวลา 25 ปี
- ขอให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตตั้งถังน้ำมัน เชื้อเพลิง และเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของโรงไฟฟ้าขนอมให้ กฟผ. และโอน ใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ.
- ขอให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติให้ กฟผ. โอนสิทธิการเช่าที่ ราชพัสดุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินอันเป็นบริเวณของโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่ บฟร หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ได้และให้กรมธนารักษ์เร่งดําเนินการต่าง ๆ ที่จําเป็นเพื่อให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. สามารถเช่าที่ราชพัสดุนั้น เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าอายุสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า
- ขอให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตให้ กฟผ. และโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ต่อไป เพื่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลําน้ำได้ คือ เทียบเรือใน บริเวณโรงไฟฟ้าขนอมและฝายกั้นน้ำในคลองท่าตก ซึ่งยกระดับน้ำเพื่อสูบเข้าอ่างเก็บน้ำดิบสําหรับโรงไฟฟ้าขนอม
- ขอให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุมัติให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัท ในเครือของ บผฟ. ใช้น้ำจากคลองท่าตกและทางน้ำสาธารณะอื่นในกิจการโรงไฟฟ้าขนอมได้
- ขอให้กรมที่ดินและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดําเนินการเพิกถอนสภาพทางสาธารณะและลํารางสาธารณะ ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่งให้แก่โรงไฟฟ้าขนอม และขายที่ดินอันเป็นทางสาธารณะที่ถูกเพิกถอนให้แก่ กฟผ.
- ขอให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ใช้ที่ดินในบริเวณเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาชัยสน ได้เช่นเดียวกับที่ กฟผ. ขอใช้อยู่ในปัจจุบัน
6.2 ขั้นตอนที่ 2 : การขออนุมัติขั้นสุดท้ายจากคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากการดําเนินการตามขั้นตอนที่ 1 และการจัดร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมเสร็จแล้ว ยังมีขั้นตอนการขออนุมัติจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีขั้นสุดท้ายดังนี้
(1) การขออนุมัติราคาทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอมที่ กฟผ. จะขายและโอนให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือบริษัทในเครือของ บผฟ. ตามสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าอันกําหนดโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
(2) การขออนุมัติให้ กฟผ. ขายและโอนโรงไฟฟ้าขนอมให้ บฟร. หรือ บผฟ. หรือ บริษัทในเครือของ บผฟ. ได้ตามร่างสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าขนอม และการขออนุมัติให้ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอมได้ตามร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งผลิตจากโรงไฟฟ้าขนอม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขายโรงไฟฟ้าขนอมให้แก่บริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด หรือบริษัทในเครือของบริษัทผลิตไฟฟ้า จํากัด ตามขั้นตอนการขออนุมัติและการขอรับการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 อนุมัติข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ โดยมอบหมายให้บริษัท การบินไทย จํากัด(มหาชน) เป็นแกนกลางในการลงทุนโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อ บางจาก-ดอนเมือง และให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วน พร้อมทั้งกําหนดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของโครงการ และต่อมาได้มีการจัดตั้งบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (Fuel Pipeline Transportation Limited : FPT) ขึ้น
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด เพิ่มทุนจดทะเบียนในบริษัทฯ จาก 200 ล้านบาท เป็น 440 ล้านบาท ได้ตามอัตราส่วนการร่วมทุนของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ บริษัทฯ ที่ให้มีการขยายท่อขนส่งน้ำมันจากดอนเมืองไปจนถึงบางปะอิน
3. บริษัท FPT เพิ่มการลงทุนอีกครั้งหนึ่งโดยการสร้างคลังรับและจ่ายน้ำมันที่บางปะอินและเชียงรากน้อย เพื่อให้จ่ายน้ำมันได้ทั้งทางรถยนต์และรถไฟโดยไม่มีการเพิ่มทุน ในขณะที่ธนาคารไม่สามารถเปลี่ยนเงินกู้ระยะสั้นเป็นเงินกู้ระยะยาวได้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินเกิน 4 ต่อ 1 ตามที่กําหนดไว้ในสัญญา และบริษัทฯ ยังขาดเงินสดจากการก่อสร้างอีก 295 ล้านบาท ทําให้บริษัทฯประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาว บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด จึงจําเป็นต้องเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งจาก 440 ล้านบาท เป็น 1,330 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่อีกจํานวน 8.9 ล้านหุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท
4. ปัญหาของผู้ถือหุ้นบริษัท FPT มีดังนี้
4.1 ผู้ถือหุ้นของ FPT บางส่วนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนจึงจะเพิ่มทุนจดทะเบียนใน FPT ได้
4.2 ผู้ถือหุ้นของ FPT ที่มีปัญหาดังกล่าวมี 2 รายคือ
(1) บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ มีมติให้เพิ่มการถือหุ้นในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท เพื่อคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท FPT ไว้ร้อยละ 10 ตามเดิม แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลานาน
(2) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด (BAFS) ต้องการเพิ่มการถือหุ้นใน บริษัท FPT จากเดิมร้อยละ 10 เป็นไม่เกินร้อยละ 34.5
5. เนื่องจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท FPT จําเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน แต่บริษัท FPT ยังไม่สามารถรับความช่วยเหลือในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือที่เป็นบริษัทซึ่งมีรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เสียก่อน ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัท FPT 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด จึงได้มีหนังสือขอให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เร่งดําเนินการนําเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นการเร่งด่วน ดังนี้
5.1 ให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาทเป็น 138 ล้านบาท ซึ่งจะทําให้มีสัดส่วนการถือหุ้นคงเดิมคือร้อยละ 10
5.2 ให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท BAFS 3 รายคือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS มาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
6. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เพิ่มทุนในบริษัท FPT จาก 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท และได้นําเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เพื่อพิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 16) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นกิจการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะเป็นพิษ จากยานพาหนะ รวมทั้งเพื่อลดอุบัติภัยจากการขนส่งทางรถบรรทุกและรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัด ใกล้เคียง แต่ทั้งนี้ ควรหารือกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อนนําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่ง สพช. ได้มีหนังสือสอบถามความเห็นจากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจาณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว โดยกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท FPT อีก 89 ล้านบาท และเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท BAFS ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด อีก 89 ล้านบาท เพื่อให้มีหุ้นเพิ่มจากเดิม 44 ล้านบาท เป็น 133 ล้านบาท
2. เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย นําเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด กลับมาซื้อหุ้นของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จํากัด ได้ไม่เกินวงเงินปันผลที่ได้รับ
กพช. ครั้งที่ 50 วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2538 (ครั้งที่ 50)
วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2538
1. การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
3. การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
4. รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
5. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
6. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
7. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
8. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
9. การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายชวน หลีกภัย)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. หน่วยงานต่าง ๆ ได้รายงานผลการดําเนินการให้ สพช. ทราบรวมทั้งสิ้น 11 หน่วยงาน ดังนี้
2.1 กระทรวงการคลัง
(1) กรมสรรพสามิต ได้ดําเนินการระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั้ง 42 แห่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งคลังน้ำมันที่นําเข้ามาจากต่างประเทศและคลังน้ำมันที่รับจากโรงกลั่นหรือคลังอื่นๆ ภายในประเทศ และให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่น ให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง รวมทั้ง ทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลัง หรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตรขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทําให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันในเดือนพฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538 สูงกว่าปีก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ถึงร้อยละ 7.96, 13.46, 28.41, และ 29.36 ตามลําดับ และมีการจัดเก็บภาษีน้ำมันในช่วง 4 เดือน (พฤศจิกายน 2537-กุมภาพันธ์ 2538) สูงกว่าปีก่อน ระยะเดียวกันถึงร้อยละ 19.80 นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการเคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันทั่วราชอาณาจักรตลอด 24 ชั่วโมง และได้จัดทําโครงการการติดตั้งมาตรวัด และอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่งทั้งหมด
(2) กรมศุลกากร ได้ให้คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมันทําการ ตรวจสอบคลังน้ำมันบริเวณภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน รวม 37 แห่ง และจัดกําลังเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนตรวจตราการขนส่งน้ำมันทางทะเลทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมทั้ง ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบปริมาณน้ำมันที่นําเข้า และเพิ่มสายสืบเพื่อเฝ้าตรวจสอบพฤติการณ์การขนส่งน้ำมันทางบกของคลังต่าง ๆ ด้วย โดยผลการดําเนินการในช่วงเดือนกันยายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่า สามารถจับกุมเรือที่ลักลอบนําเข้าได้ 4 ลํา เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รวม 435,108 ลิตร และ การตรวจสอบอื่น ๆ ไม่พบความผิดแต่อย่างใด
(3) กรมสรรพากร ได้ขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสถานีบริการน้ำมัน เชื้อเพลิงให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามตัวเลขของมิเตอร์หัวจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่มีการควบคุมทาง เทคนิคที่ดีทําให้มีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขอเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2537- 15 กุมภาพันธ์ 2538 จํานวนทั้งสิ้น 2,407 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.31 ของสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดที่ควรเข้าอยู่ในโครงการ และได้ขยายโครงการให้สถานีบริการน้ำมันทั้งสิ้นในประเทศต้องเข้าอยู่ในระบบด้วย พร้อมกันนี้ได้กําหนดมาตรการให้มีการตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษ และสำหรับการดําเนินการในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้ จากคลังน้ำมันบางแห่งที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนและถูกต้อง และทําผิดบทบัญญัติของกฎหมาย รวม 7 ราย
2.2 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดําเนินการแต่งตั้งผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องแล้ว
2.3 กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้ง รายละเอียดของเรือบรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทย แล้ว แต่ได้รับคําชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวมีข้อจํากัดเนื่องจากโรงกลั่นในสิงคโปร์จะจําหน่ายน้ำมันโดยผ่าน พ่อค้าคนกลางต่าง ๆ ทําให้ไม่สามารถทราบจุดหมายปลายทางของน้ำมันได้ และได้กําหนดเงื่อนไขในการนําเข้า น้ำมันของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกําลังอยู่ระหว่างการนําเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีก่อนดําเนินการต่อไป รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมตํารวจ กรมศุลกากร เพื่อให้สามารถดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบใบกํากับการขนส่ง และการเติมสารเติมแต่งได้ต่อไป
2.4 กระทรวงมหาดไทย
(1) กระทรวงมหาดไทย ได้ดําเนินการปรับปรุงคําสั่งแต่งตั้งคณะทํางานป้องกันปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ โดยให้กรมตํารวจ กรมโยธาธิการ และผู้ว่าราชการ จังหวัดวางมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานี บริการแบบถังลอยและให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุกเดือน ให้กรมตํารวจจัดหน่วยเฝ้าระวังอย่าง ต่อเนื่องและจริงจังในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และให้ตรวจตราใบกํากับน้ำมันอย่างเข้มงวด และให้กรมโยธาธิการสํารวจข้อมูลสถานีบริการแบบถังลอย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกํากับดูแลและตรวจสอบต่อไป
(2) กรมตํารวจ ได้ดําเนินการโดยสั่งการให้หน่วยรับผิดชอบ คือ ตํารวจภาค 8,9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง เพิ่มความเข้มงวดในการ ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเขต 14 จังหวัดภาคใต้ และให้ตํารวจภาค 1-9 เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งให้การสนับสนุนกรมโยธาธิการในการสํารวจ จํานวนสถานีบริการน้ำมันแบบถังลอย ทั้งนี้ ให้กองบังคับการตํารวจน้ำ จัดทําโครงการขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เสนอให้คณะทํางานซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยทราบ และให้ตํารวจภาค 1-9 กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตํารวจน้ำ กองตํารวจทางหลวง กําชับหน่วยปฏิบัติเพิ่มความระมัดระวังในการเก็บรักษาของกลางอย่าให้มีการสูญหายเป็นอันขาด และให้รายงานผลการดําเนินการโดยตรงต่อสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ทราบทุกระยะ 1 เดือน ด้วย โดยสําเนาส่งกรมตํารวจ ส่วนผลการจับกุมปราบปรามในช่วงมิถุนายน 2537-มกราคม 2538 ปรากฏว่าสามารถจับกุมการกระทําการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 8 ราย เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมดจํานวน 990,000 ลิตร
2.5 กองทัพเรือ ได้กําหนดมาตรการกรณีตรวจพบการลักลอบและนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามา ในราชอาณาจักรให้ดําเนินการตามที่กฎหมายกําหนดไว้ และหากตรวจพบการลักลอบนอกทะเลอาณาเขต ให้แสดงท่าที่ให้เห็นว่าทราบการปฏิบัติดังกล่าว ตลอดจนถ่ายภาพและรวบรวมข่าวสารข้อมูลไว้ หากเป็นเรือไทยให้ขึ้น ตรวจเยี่ยม ตรวจค้น โดยผลการดําเนินการในปีงบประมาณ 2537 สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงที่ลักลอบค้าน้ำมันในทะเล จํานวน 6 ลํา เป็นปริมาณ 199,000 ลิตร และในปีงบประมาณ 2538 จนถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมเรือประมงดัดแปลงได้จํานวน 5 ลํา เป็นปริมาณ 289,000 ลิตร
2.6 สํานักงานอัยการสูงสุด ได้ถือว่าคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นคดีที่มีความสําคัญยิ่ง อย่างหนึ่งและได้มีนโยบายที่จะปราบปรามเป็นพิเศษ โดยได้แจ้งมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้พนักงานอัยการถือปฏิบัติแล้ว
2.7 กระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่าได้มีคําสั่งให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค และสํานักงานเจ้าท่า ภูมิภาคสาขาจัดเวรตรวจสอบเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่าหรือแพปลาว่า ได้มีการดัดแปลงตัวเรือเป็นเรือบรรทุก น้ำมันหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ ควบคุมเครื่องจักร หากพบว่ามีการกระทําผิดกฎหมายให้ดําเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาด พร้อมทั้งให้ทํารายงานเสนอกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์ และสําเนาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบและมีมติ ดังนี้
1. ให้ สพช. รับไปรวบรวมจํานวนและรายชื่อคลังน้ำมัน ที่ไม่ได้อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วย ราชการใด เพื่อกําหนดมาตรการในการควบคุมดูแลการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และให้นําเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
2. ให้กระทรวงมหาดไทยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามชายฝั่งทะเลทั่วประเทศ
เรื่องที่ 2 การดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ดําเนินการเร่งรัดการ จัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ การนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ โดยใน ปัจจุบัน ปตท. ได้ดําเนินการตามมติดังกล่าวแล้วมีความคืบหน้ามาเป็นลําดับ
2. แนวทางในการดําเนินการตามมติดังกล่าว ปตท. จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อสนองความ ต้องการในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจะต้องสร้าง ตลาดรองรับขนาดใหญ่ที่มีความต้องการในระยะยาว เช่น กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งราคา จําหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระจะเป็นราคาที่ประกอบด้วยราคาเนื้อก๊าซ และค่าบริการผ่านท่อ ส่วนราคาจําหน่ายให้อุตสาหกรรมจะเป็นราคาที่แข่งขันกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่น โดยราคาจําหน่าย LPG และวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะอิงตามราคาตลาดสากล
3. ผลการดําเนินงาน มีดังนี้
3.1 ความก้าวหน้าการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง ปตท. กับ กฟผ. ปัจจุบัน อยู่ระหว่างจัดทําร่างสัญญาซื้อขาย ซึ่งหลักการส่วนใหญ่ของสัญญาสามารถทําการตกลงกันได้แล้ว โดยยังมี ประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ ระยะเวลาของสัญญา ผลตอบแทนจากการจัดหา และหลักการคิดคํานวณ ค่าเนื้อก๊าซ คาดว่าจะสามารถเจรจาแล้วเสร็จได้ประมาณกลางปี 2538
3.2 การจัดหาก๊าซธรรมชาติ จากแหล่งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ (1) แหล่งภายในประเทศ เช่น จากแหล่งยูโนแคล 1,2 และ 3 แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งทานตะวัน และแหล่ง JDA (2) การนําเข้าจากสหภาพพม่า จากแหล่ง YADANA และแหล่ง YETAGUN (3) โครงการนําเข้า LNG ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดหาจากหลายประเทศ เช่น กาตาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และออสเตรเลีย เพื่อให้สามารถนําเข้าได้ภายในปี 2544 (4) โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการดําเนินงาน คือโครงการวางท่อคู่ขนานในทะเล จากแหล่งเอราวัณ-ระยอง โครงการวางท่อคู่ขนานบนบกช่องระยอง-บางปะกง โครงการวางท่อจากบางปะกง-วังน้อย และโครงการวางท่อชายแดนไทย/สหภาพพม่า-โรงไฟฟ้าราชบุรีจากแหล่ง YADANA
3.3 การสนับสนุนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโครงการ Independent Power Producer (IPP) จากการดําเนินงานจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับกับความต้องการได้อย่างเพียงพอ ทําให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลือให้กับโครงการ IPP ประมาณ 123 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2542 และเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน ในปี 2546 โดยจะต้องมีการนําเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตั้งแต่ปี 2544 ในปริมาณความต้องการใน ระยะแรก 1 ล้านตัน/ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 3 และ 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2547-2548 ตามลําดับ ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าจํานวน 2,400 เมกะวัตต์ ในปี 2545 และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 ปตท. ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ผู้สนใจในโครงการ IPP ทราบข้อมูลการจัดหาและความเป็นไปได้ในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในโครงการดังกล่าวโดยคาดว่าจะสามารถจัดทําร่าง Heads of Agreement ในการซื้อขาย และประมาณราคาซื้อขายเบื้องต้นได้ประมาณต้นเดือนเมษายน ศกนี้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2537 (ครั้งที่ 14) เมื่อวันที่ กรกฎาคม 2537 ได้พิจารณาเรื่อง การจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปประสานงานกับกรมศุลกากร และสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและหาข้อยุติเกี่ยวกับการจัดเก็บอากรศุลกากรจากการนําเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนําเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมติของคณะกรรมการฯ ในข้อ 1 แล้ว โดยได้หารือร่วมกับกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2537 โดยได้นําประเด็นการจัดเก็บ อากรศุลกากรของผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในลักษณะเช่นเดียวกันไปหารือด้วย คือ น้ำมันองค์ประกอบ Reformate เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน เช่น Long Residue และน้ำมันดิบปรุงแต่ง ซึ่งกรมศุลกากร สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รับข้อหารือของ สพช. ไปพิจารณา
3. กระทรวงการคลังได้ดําเนินการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก. 17/2537 เรื่อง ยกเลิกการลดและการยกเว้นอากร, การลดอัตราอากรศุลกากรและกําหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรดังกล่าว น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากประเด็นส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนกัน คือ มีการจัดเก็บอากรในอัตราที่สูงเกินควร ดังนั้น การลดอัตราอากรศุลกากรให้เหลือต่ำเพียงร้อยละ 1 น่าจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และสําหรับในกรณีของน้ำมันดิบปรุงแต่งซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้เก็บอากรในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1 นั้นก็น่าจะแก้ไขปัญหาและยอมรับได้เช่นกัน เพราะน้ำมันดิบปรุงแต่งมีส่วนผสมของน้ำมันสําเร็จรูป จึงไม่ควรถือเป็นน้ำมันดิบซึ่งได้รับการยกเว้นอากรทั้งหมด แต่ควรถือเป็นน้ำมันกึ่งสําเร็จรูป ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้พิจารณากําหนดอัตราอากรศุลกากรของสินค้ากึ่งสําเร็จรูปโดยทั่วไปไว้เท่ากันตามราคาร้อยละ 1 ของมูลค่านําเข้า ส่วนปัญหาการจัดเก็บอากรศุลกากรสําหรับผลิตภัณฑ์ Reformate ที่นําเข้าก่อน วันที่ 1 มกราคม 2538 ควรที่กรมศุลกากรจะได้พิจารณาต่อไปตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
ความคืบหน้าของแผนงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในแต่ละโครงการสรุปได้ ดังนี้
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี ในส่วนของ กฟผ. ได้ดําเนินการจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ระยะที่ 2 งบประมาณ 100 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท ลีโอเบอร์เนทท์ จํากัด ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ดําเนินการ และได้นําภาพยนตร์ พร้อมทั้งสื่อโฆษณาต่าง ๆ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสื่อมวลชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ แบบหลอดตะเกียบ 2x11 วัตต์ แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ 32 วัตต์ แบบวงกลม และกิจกรรมส่งเสริมการใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ 9 หรือ 11 วัตต์ แบบหลอดตะเกียบ แทนหลอดไส้ธรรมดา กฟผ. ได้จัดทําโครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟ ซึ่งจะจัดกิจกรรมเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ จํานวน 1,509,999 หลอด รวมทั้งจะขอให้ภาคเอกชนลดการใช้ไฟฟ้าในกรณีจําเป็นจํานวนหนึ่งด้วย (Volunteer Interruptible Load) ส่วนกิจกรรมส่งเสริมการใช้บัลลาสต์ประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับการไฟฟ้า ทั้ง 3 และได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย ในการกําหนดให้ผู้ใช้ไฟรายใหม่ใช้เฉพาะบัลลาสต์ ประหยัดไฟฟ้าเท่านั้น โดยจะมีการประสานงานในรายละเอียดระหว่าง 3 การไฟฟ้า และสํานักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต่อไป
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายตู้เย็นรายใหญ่ในประเทศดําเนินการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิว ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โดยการกําหนดระดับประสิทธิภาพจะกําหนดจากระดับ 1-5 และการทดสอบประสิทธิภาพ กําหนดให้สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานกลางเป็นผู้ทดสอบช่วงปีแรก นอกจากนี้ได้กําหนดให้มีการรณรงค์ด้านการโฆษณา โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ประชุมร่วมกับบริษัทผู้ผลิตและผู้จําหน่ายเครื่องปรับอากาศ รวม 23 บริษัท เพื่อแจ้งให้ทราบว่า กฟผ. จะดําเนินการให้มีการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่จําหน่ายในประเทศไทย ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อพิจารณากําหนดระดับประสิทธิภาพต่อไป
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ ราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดย กฟผ. ได้ประสานงานกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และศูนย์การค้า เพื่อเข้า โครงการล้านดวงใจ ล้านดวงไฟ ร่วมใจภักดิ์ ร่วมประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. จะเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดาเป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงแรม ศูนย์การค้าและอาคาร ธุรกิจทั่วประเทศ ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 10-15% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่งโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
3. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดย กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทําแผนการดําเนินงานในรายละเอียดสําหรับโครงการส่งเสริมการใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง และจะมีการดําเนินการในเรื่องการจัดฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาดูงานจากโรงงานต่าง ๆ และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนจําหน่ายมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง สำหรับการดำเนินงานภายใต้โครงการล้านดวงใจฯ จะมีการขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป ให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงประมาณ 5-10% ในกรณีที่ระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น เป็นเวลาปีละไม่เกิน 30 ชั่วโมง (ไม่เกิน 15 วัน) ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด
4. โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า โดย กฟผ. ได้ดําเนินโครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศ โดยใช้ระบบ Ripple Control ซึ่งจะสามารถควบคุมการปิดเปิดเครื่องปรับอากาศจากศูนย์สั่งการใน กฟผ. ได้ รวมทั้ง กฟผ. ได้รับความร่วมมือจาก Tokyo Electric Power Company ประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) สําหรับอาคารธุรกิจและราชการ ซึ่งจะเป็นระบบปรับอากาศทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ในช่วง เวลา 21.30 น. ถึง 08.00 น. และนําความเย็นดังกล่าวมาใช้ในช่วงเวลากลางวันหรือช่วงหัวค่ำ คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน หรือหัวค่ำได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละอาคาร หรือจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ร้อยละ 5-10 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ คือประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในเวลา 10-15 ปี ในอนาคต
5. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า โดย กฟผ. ร่วมกับคณะทํางานพัฒนาชุดการเรียนเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานคร พัฒนาชุดการเรียนสําหรับระดับอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายรวม 6 ระดับ ในขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ร่างต้นฉบับชุดการเรียนดังกล่าว เพื่อส่งให้ที่ปรึกษาคณะทํางานฯ พิจารณาภาพรวม หลังจากนั้น กฟผ. จะได้จัดทําต้นฉบับเพื่อเผยแพร่ต่อไป ขณะเดียวกัน สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า อยู่ระหว่างดําเนินงานโครงการลูกเสือ/เนตรนารี ประหยัดไฟฟ้า โดยประสานงานกับฝ่ายลูกเสือและยุวกาชาด กองโรงเรียน กรุงเทพมหานคร กองลูกเสือและ กองยุวกาชาด กรมพลศึกษา เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การเป็นลูกเสือ/เนตรนารีประหยัดไฟฟ้า
6. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาสําหรับการประเมินผล กฟผ. ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาตามที่ธนาคารโลกได้ให้รายชื่อไว้มาร่วมประกวดราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทางด้านเทคนิค สำหรับรายงานการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อโครงการประชาร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า กฟผ. ได้ดําเนินการสํารวจการรับรู้และทัศนคติต่อการใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยจัดทําแบบสอบถามการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยตอบ พบว่าประชาชนรู้จักโครงการประชาร่วมใจประหยัดไฟฟ้า ร้อยละ 67 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ รู้จักหลอดประหยัดไฟฟ้า (หลอดผอม) ร้อยละ 95 จากสื่อโฆษณาโทรทัศน์ และวิทยุ โดยจะเลือกซื้อหลอดผอม ร้อยละ 90 และครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาประมาณ 18.30- 21.30 น. (PEAK LOAD) ร้อยละ 69.30
7. การดําเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน โดยสํานักงาน การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจพ.) ได้ดําเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ดังนี้
7.1 การประหยัดพลังงานที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มศูนย์การค้าเซ็นทรัล พบว่ามีความต้องการพลังไฟฟ้า ในระดับ 50 เมกะวัตต์ โดยจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 400 ล้านบาท และบริษัทเซ็นทรัล ยินดีให้ความร่วมมือในการประหยัดไฟฟ้า โดยยินดีจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 10 เมื่อระบบไฟฟ้ามีความจําเป็น และยินดีให้ กฟผ. เข้าทดลองเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า และบัลลาสต์ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าการดําเนินการดังกล่าวทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย บริษัทยินดีที่จะร่วมโครงการประหยัดไฟฟ้ากับ กฟผ. ทุกโครงการ
7.2 การศึกษาการใช้ไฟฟ้าของอาคารในสํานักนายกรัฐมนตรี สจพ. ได้ศึกษาการใช้ไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้า ตึกบัญชาการใหม่ และตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าทั้ง 3 อาคาร ระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2538 สรุปข้อมูลที่สําคัญได้ดังนี้ (1) ตึกไทยคู่ฟ้า ห้องทํางาน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีแสงสว่างบนโต๊ะทํางานเพียง 270 Lux ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานถึง 40% (มาตรฐานมากกว่า 450 Lux) ดังนั้น จึงจะต้องทําการปรับปรุง ส่วนหลอดไฟที่ตึกไทยคู่ฟ้าเกือบทั้งหมดเป็นหลอดไส้ (Incandescent) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ค่าไฟฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้าประมาณปีละ 1 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าอาจดําเนินการได้โดยการเปลี่ยนให้เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent) ซึ่งจะทําให้ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง ร้อยละ 70 ต่อหลอด และเมื่อเปลี่ยนหลอดได้ทั้งหมด ตึกไทยคู่ฟ้าจะประหยัดไฟฟ้าได้ประมาณร้อยละ 40 (จาก 274 กิโลวัตต์ เหลือ 165 กิโลวัตต์) หรือประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 400,000 บาทต่อปี (2) ตึกบัญชาการใหม่ เป็นตึกที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด ประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรับอากาศ (ถึงร้อยละ 60) โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี โดยการประหยัดพลังงานในเบื้องต้น อาจดําเนินการได้จากการเปิดเครื่องปรับอากาศห้องประชุมคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันมีการเปิดตั้งแต่เที่ยงคืนของคืนก่อนวันประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนั้นจึงอาจมีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนแปลงระบบปรับอากาศและแสงสว่างให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (3) ตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นตึกที่มีค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 1.2 ล้านบาท การประหยัดไฟฟ้าจะดําเนินการได้จากระบบแสงสว่างและระบบปรับอากาศ โดยการดําเนินการประหยัดพลังงานสําหรับทําเนียบรัฐบาลในระยะแรก จะดําเนินการได้ในส่วนของตึกไทยคู่ฟ้า เป็นลําดับแรก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบการรายงานความคืบหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
1. ให้หน่วยราชการทั่วประเทศร่วมมือส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยให้มีการใช้หลอด คอมแพคฟลูออเรสเซนต์แบบประหยัดพลังงานแทนหลอดไส้ธรรมดาในสถานที่ราชการ และมอบหมายให้สํานัก งบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ เพื่อการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าดังกล่าวให้แก่หน่วยราชการทั่วประเทศ
2. ให้รายงานความคืบหน้าของการดําเนินงานให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2538- 2554)
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (พ.ศ. 2538-2554) ซึ่ง กฟผ. จะปรับปรุงแผนฯ ทุกระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ครั้งหลังสุดที่ได้มีการจัดทําแผนฯ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ขณะนี้สถานการณ์บางอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายในการให้เอกชนขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ในรูป Independent Power Producer (IPP) กฟผ. จึงได้ดําเนินการปรับปรุงแผนระยาวขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการลงทุนในการจัดหาไฟฟ้าในระยะยาว
2. แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าที่ปรับใหม่ ประกอบด้วย 2 แผน คือ แผนหลักและแผนทางเลือก ทดแทน แผนหลักเป็นแผนที่ไม่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศลาว ส่วนแผนทางเลือก ทดแทนเป็นแผนที่รวมการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว ระหว่างปี 2541-2544 รวมปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า 1,611 เมกะวัตต์ แผนทางเลือกทดแทนจะแตกต่างจากแผนหลัก คือ เมื่อมีการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว โครงการที่ กฟผ. ดําเนินการเองบางโครงการจะถูกชะลอออกไป
3. แผนหลักและแผนทางเลือกทดแทนดังกล่าว ได้มีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการ โดยเป็นโครงการที่ไม่สามารถดําเนินการได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแก่งกรุง โครงการแม่ลามาหลวง และ โครงการอ่าวไผ่ นอกจากนี้ได้มีการผนวกโครงการที่เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้บางโครงการ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี และโครงการใหม่ ๆ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ สุราษฎร์ธานี ในระดับ 300 เมกะวัตต์ การเพิ่มสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลล์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP ในระดับ 300 เมกะวัตต์ ด้วย ทั้งนี้ แผนที่ออกมาเป็นทั้งแผนหลักและแผนทางเลือกทดแทน โดยแผนหลักคาดว่าจะใช้เงินลงทุนจํานวน 192,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 7 และเพิ่มเป็น 253,500 ล้านบาท ในช่วงแผนฯ 8 ในกรณีแผนทางเลือกทดแทนนั้น เงินลงทุนน้อยกว่าแผนหลักเล็กน้อย
4. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้ให้ความเห็นชอบในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ดังกล่าว ในกรณี “แผนหลัก” และ “แผนทางเลือกทดแทน” เพื่อใช้เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ต่อไป นอกจากนี้ได้มีความเห็นเพิ่มเติม ดังนี้ 1) เห็นควรให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป และ 2) เห็นควรเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรับไปดําเนินการต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในกรณี “แผนหลัก” ในช่วง พ.ศ. 2538-2554 ตามที่ กฟผ. เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนทางด้านการขยายระบบผลิตและระบบส่งของประเทศ
2. เห็นชอบ “แผนทางเลือกทดแทน” เป็นกรอบในการดําเนินการของ กฟผ. ตามที่ กฟผ. เสนอ โดยให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดําเนินการในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการต่าง ๆ ในประเทศลาว เพื่อให้สามารถทําความตกลงรับซื้อไฟฟ้าได้ในปริมาณรวมกันประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ ภายในปี 2544 และเพื่อให้ กฟผ. ชะลอโครงการในแผนหลักตามแนวทางแผนทางเลือกทดแทน
3. ให้ใช้แผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าในข้อ 1 และ 2 เป็นกรอบในการพิจารณารายละเอียดของ โครงการในช่วง พ.ศ. 2538-2544 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีขั้นตอนการเสนอและอนุมัติโครงการให้ยึดถือตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ดังนี้
(1) ให้ กฟผ. เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดําเนินการในช่วงปี 2538- 2544 ดังกล่าวข้างต้น ต่อสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนหลักหรือแผนทางเลือกทดแทนเท่านั้น
(2) ในขณะเดียวกันให้ กฟผ. จัดทําและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบ ไปยังสํานักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ. 2535
(3) สผ. เสนอความเห็นต่อ สศช.
(4) สศช. พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยคํานึงถึงความเห็นของ สผ.
(5) หากไม่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญและเป็นโครงการที่กําหนดให้ กฟผ. เป็นผู้ดําเนินการเอง ให้ สศช. นําเสนอกระทรวงการคลังเพื่อดําเนินการจัดหาเงินกู้ต่อไป และนําเสนอคณะรัฐมตรีและคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบ
(6) หากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายที่สําคัญให้นําเสนอคณะรัฐมตรีพิจารณาโดยผ่าน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นโครงการที่ไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. หรือเป็นโครงการเร่งด่วน เห็นควรให้ กฟผ. นําเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. ให้ สพช. และ กฟผ. ทําการศึกษาความเหมาะสมของสัดส่วนการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจาก ประเทศเพื่อนบ้านโดยรวม เพื่อให้มีการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม และนําเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาพลังงานในอนาคตต่อไป
5. ให้เพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) อีกร้อยละ 10 ของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามประกาศเดิม เพื่อทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าแม่ขามที่ กฟผ. ยกเลิกโครงการแล้ว โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รับไปดําเนินการต่อไป
เรื่องที่ 6 การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัทผลิตไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท YTL Coporation Berhad (YTL) บริษัท Perlis IPP (Teknologi Tenaga Perlis TTP) และ Tanaga National Berhad (TNB) แสดงความจํานงต้องการผลิตไฟฟ้าประมาณ 300 เมกะวัตต์ ขายให้ประเทศไทย ซึ่งต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ให้สิทธิแก่ TTP ในการขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ให้แก่ประเทศไทย
2. จากรายละเอียดความคืบหน้าโครงการความร่วมมือตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ ภายใต้โครงการ พัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMTGT) ในเดือนมิถุนายน 2537 ภาคเอกชนทั้งสามประเทศ ได้แก่ SPMS ประเทศมาเลเซีย กลุ่มชินวัตรประเทศไทย และ Bukaka Teknik Utama ประเทศอินโดนีเซีย ได้ลงนามใน MOU ร่วมกันที่เมดาน เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 2 x 150 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสตูล และประสงค์จะได้รับการอนุมัติให้เจรจาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้
3. ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พ.ศ. 2538-2554 แสดงให้เห็นว่า ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของภาคใต้ จะต้องดําเนินโครงการต่างๆ ดังนี้ 1) ปี 2540 โครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย ระยะที่ 2 ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ 2) ปี 2543 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กระบี่ สุราษฎร์ธานี ใช้น้ำมัน/ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์ และ 3) ปี 2545 โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนภาคใต้ ใช้น้ำมัน ก๊าซ เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกําลังผลิต 300 เมกะวัตต์
4. กฟผ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าเอกชน ในรูปของ Independent Power Producer (IPP) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องเป็นผู้เสนอสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าเอง ทั้งนี้อาจเป็นภาคใต้ของประเทศไทยก็ได้ โดยมีขนาดกําลังผลิตและระยะเวลา ดังนี้ ปีงบประมาณ 2539-2543 กําลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ปีงบประมาณ 2544 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ และปีงบประมาณ 2545 กําลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 3,800 เมกกะวัตต์
5. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุม ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2538 ได้พิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย และมีมติที่จะขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนี้ 1) การเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย ปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ควรดําเนินการเจรจาเช่นเดียวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาการประสานงาน และ กําหนดแนวทางการเจรจา โดยกําหนดให้เจรจากับ TTP 2) การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ได้ดําเนินการเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้นในปี 2543 และ 2545 โดยให้ผู้ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP ซึ่งได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 และ 3) มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซธรรมชาติตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
มติของที่ประชุม
1. ให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าที่รัฐบาลมาเลเซียมอบหมายให้ผลิตไฟฟ้าขายให้กับไทยในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบการ เจรจาและการประสานงาน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบ
(1) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ
(2) เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(3) อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการ
(4) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
(5) ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายพัฒนาธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
2. การรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ให้ผู้สนใจ ลงทุนยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ Independent Power Producer (IPP) ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537
3. มอบหมายให้ ปตท. รับไปดําเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการรับซื้อก๊าซ ธรรมชาติ ตามข้อเสนอใหม่ของมาเลเซีย
เรื่องที่ 7 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้าน การพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและ ร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และ ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (คปฟ.-ล) โดยมีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นประธาน เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า สปป.ลาว ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจาก โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 ซึ่งมีขนาดกําลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ ระยะเวลาดําเนินการปี 2538- 2541 และดําเนินการโดยรัฐบาล สปป.ลาว และกลุ่มผู้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการฯ ได้แก่ บริษัท Transfield (ออสเตรเลีย) การไฟฟ้าฝรั่งเศส (EDF) บริษัทอิตาเลียนไทย จํากัด บริษัทจัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด และบริษัทภัทรธนกิจ จํากัด การเจรจาสามารถตกลงกันได้ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 โดยมีข้อยุติคือ อัตราค่าไฟฟ้า 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) โดยให้ปรับราคาได้ร้อยละ 3 ต่อปี ในระหว่างการก่อสร้าง และร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค ในระหว่างการดําเนินการผลิต ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (Avoided Cost) คปฟ.-ล จึงเห็นสมควรยอมรับได้ และได้มีพิธีลงนามข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ของโครงการฯ น้ำเทิน 2 ระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2538 ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3. เนื่องจากข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า (Heads of Agreement) ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม 2538 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้า เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) เห็นชอบให้ สพช. นําเสนอ กพช. พิจารณา
4. ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 มีสาระสําคัญสรุปได้ดังนี้
4.1 ข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล สปป.ลาว คปฟ.-ล กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุน
4.2 กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.55 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือ ประมาณ 1.14 บาทต่อหน่วย
4.3 ในระหว่างก่อสร้าง ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 5 ปี จนถึงวันเริ่มผลิต และจ่ายไฟฟ้าได้ ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ร้อยละ 35 ของอัตราเพิ่มดัชนีราคาผู้บริโภค และเป็นราคาซื้อขายไฟฟ้า สําหรับปีแรก ทั้งนี้ วันที่เริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้าได้ ต้องไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2543
4.4 หลังจากเริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้า ให้ปรับราคาไฟฟ้าได้ทุกปีในอัตราร้อยละ 35 ของดัชนีราคาผู้บริโภค
4.5 กฟผ. รับประกันความเสี่ยงอันเนื่องมาจากฝนแล้ง ร้อยละ 50 กล่าวคือ ปีใด กฟผ. ซื้อ พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า 2,432 ล้านหน่วย (ร้อยละ 50 ของพลังงานที่จะต้องซื้อขายทั้งปี) และไม่มีน้ำเหลือ สําหรับผลิตไฟฟ้าอีก โดยพิสูจน์ได้ว่าเนื่องมาจากฝนแล้ง กฟผ. จะชําระค่าพลังงานไฟฟ้าจนครบ 2,432 ล้านหน่วย
4.6 ถ้าปีใด กฟผ. ซื้อพลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 4,864 ล้านหน่วย (พลังงานไฟฟ้าที่จะซื้อขายทั้งปี) กฟผ. จะจ่ายค่าพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เกิน ณ ราคาร้อยละ 80 ของราคาค่าไฟฟ้าปกติในปีนั้น
4.7 การชําระค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลบาทร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า และอีกร้อยละ 50 ของ ค่าไฟฟ้าจะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาท และเงินสกุลดอลล่าร์ สหรัฐของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา
4.8 ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้านี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทย
มติของที่ประชุม
เห็นชอบกับข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2
เรื่องที่ 8 การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด และเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยลงในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบไฟฟ้า (Peak)
2. การปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 ประกอบด้วยสาระสําคัญ 2 ประการคือ 1) มีการปรับปรุงราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย โดยลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จาก 1.4777 บาท/หน่วย เหลือ 1.4682 บาท/หน่วย และลดราคาที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จาก 1.0399 บาท/ หน่วย เหลือ 0.9630 บาท/หน่วย และ 2) มีการขยายขอบเขตโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ Time of Day Rate (TOD) ให้ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งมีผลทําให้ปัจจุบันมีธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ติดตั้งมิเตอร์ TOD แล้วรวมทั้งสิ้น 1,333 ราย มีการใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,900 GWH/เดือน และความต้องการพลังไฟฟ้าประมาณ 4,000 MW กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ TOD Rate มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเคมีภัณฑ์
3. การประเมินผลการดําเนินการตามการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 มีดังนี้
3.1 ผลกระทบของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติต่อราคาไฟฟ้าขายปลีก ในช่วงปี 2535-2537 ได้มีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 โดยค่า Ft ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 2.92-6.17 สตางค์/หน่วย ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า Ft คือ การนําภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ในเดือนมกราคม 2535 การใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากที่ได้วางแผนไว้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำและความจําเป็นที่จะต้องลดการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อรักษาคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเตาในปี 2537
3.2 ผลกระทบของอัตรา TOD ต่อการลดความต้องการพลังไฟฟ้าของระบบ โดยเหตุที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD Rate จะมีอัตราที่สูงมากในช่วง Peak (18.30 น.-21.30 น.) เมื่อเทียบกับช่วง Partial Peak (8.00 น.-18.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น.- 8.00 น.) ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วง Peak ลดลงถึง 700 MW ผู้ใช้ไฟที่ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak สามารถประหยัดค่าพลังไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 120-150 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน กฟผ. ก็สามารถลดการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในระยะยาวได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท และโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOD มีผลกระทบต่อลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ จนทําให้ลักษณะ Load Curve ของระบบเปลี่ยนแปลงไป โดยในปัจจุบันจะเหลือเพียงช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (08.00 น.-21.30 น.) และช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำ (21.30 น.- 08.00 น.) เพียง 2 ช่วง เท่านั้น
3.3 ผลกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่ประกาศใช้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 มีผลทําให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปี 2535- 2537 ดีกว่าที่ประมาณการมาก กล่าวคือ กฟน. มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROR on Revalued Asset) เฉลี่ยจริงสูงถึงร้อยละ 9.49 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 7.06 ส่วน กฟภ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริงร้อยละ 14.05 เทียบกับการประมาณการไว้ที่ร้อยละ 7.45 อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีอัตรา ROR เฉลี่ยจริง เพียงร้อยละ 5.91 โดยประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 8.08 ทั้งนี้เป็นผลจากการลดราคาขายส่งที่จําหน่ายให้ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งมีผลให้ราคาขายส่งเฉลี่ยลดลงจาก 1.2471 บาท/หน่วย เหลือเพียง 1.2067 บาท/หน่วย เพื่ออุดหนุน กฟภ. ในการขยายระบบการจําหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล
3.4 การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับต่างประเทศ จากการศึกษาเปรียบเทียบ ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ธุรกิจขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมิได้สูงไปกว่าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (ใช้ในช่วงหัวค่ำน้อย) จะสามารถซื้อไฟฟ้าได้ในอัตราที่ต่ำกว่า ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน TOD Rate นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มค่าไฟฟ้าในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา พบว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (รวม Ft แล้ว) ของ กฟน. มีอัตราอยู่ระหว่าง 1.77-1.92 บาท/หน่าย และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟภ. มีอัตราอยู่ ระหว่าง 1.59-1.74 บาท/หน่าย อาจกล่าวได้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเกือบไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.72 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
4. การประเมินผลโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันพบว่า ยังมีประเด็นปัญหาที่จะต้องดําเนินการ แก้ไข เพื่อให้นโยบายราคาไฟฟ้ามีความเหมาะสมยิ่งขึ้นดังนี้
4.1 ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีความแตกต่างกันอย่างมาก จากผลของการลดราคา ขายส่งไฟฟ้าที่ กฟผ. จําหน่ายให้แก่ กฟภ. เพื่อช่วยอุดหนุน กฟภ. สําหรับการลงทุนขยายระบบไฟฟ้าไปในพื้นที่ชนบทห่างไกล ประกอบกับความต้องการไฟฟ้าในเขตความรับผิดชอบของ กฟภ. มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทําให้ต้นทุนต่อหน่วยจําหน่ายต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้เดิม ทําให้ฐานะการเงินของ กฟภ. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2535-2537) มีความมั่นคงมากกว่า กฟผ. และ กฟน. ค่อนข้างมาก
4.2 การขยายขอบเขต TOD Rate ประสบความสําเร็จค่อนข้างมากจนมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าของประเทศจาก 3 ช่วงเวลา เป็น 2 ช่วงเวลา ที่มีช่วง Peak ในช่วงเวลาที่ ยาวขึ้น คือ 8.00 น.-21.30 น. ทําให้มีความจําเป็นต้องมีการปรับช่วงเวลาในอัตรา TOD เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบยิ่งขึ้นและควรให้มีการขยายผลการใช้อัตรา TOD ให้ครอบคลุมไปสู่ผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นที่ไม่ใช้อัตรา TOD ในปัจจุบัน
5. จากประเด็นปัญหาในข้อ 4 ควรจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ดังนี้
5.1 พิจารณาปรับราคาขายส่งและราคาขายปลีกเพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีฐานะการเงินที่มั่นคงตามเกณฑ์ที่กําหนด
5.2 ขยายขอบเขตของ TOD Rate และการนํา TOD Rate ประเภทใหม่มาใช้ให้สอดคล้องกับ ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของระบบในปัจจุบันที่มีเพียง 2 ช่วงคือ Peak (8.00 น. - 21.30 น.) และ Off-Peak (21.30 น. - 8.00 น.) ซึ่งในขณะนี้ สพช. ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ทําการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate ตามแนวทางดังกล่าวแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ใช้ไฟที่จะเข้าข่ายอัตรา TOD ใหม่ เพื่อให้รับทราบเหตุผลความจําเป็นของการขยายขอบเขตอัตรา TOD ดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้ไฟลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak ของระบบ เช่น การเสนอวิธีประหยัดไฟฟ้าตามแนวทางการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน และการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น ซึ่งการดําเนินการดังกล่าวจะทําให้การขยายขอบเขตอัตรา TOD Rate เป็นที่ยอมรับและเกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
6. ข้อเสนอการปรับราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้า มีดังนี้
6.1 ควรให้มีการใช้ราคาขายส่งระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่าย เดือนมกราคม 2538 เพื่อให้ ROR ของภาคไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ดังนี้ กฟน. 1.4865 บาท/หน่วย และ กฟภ. 1.0910 บาท/หน่วย
6.2 การประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ภายใต้ข้อสมมติฐานการปรับราคาขายส่งเดือน ม.ค. 2538 ปรากฏว่า ฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2538 ใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่กําหนด โดย ROR ของภาค ไฟฟ้าในปี 2538 เท่ากับ 7.77% สําหรับอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้อยู่ในระดับ 25-38% และปรากฏว่า ผลการประมาณการอัตราส่วนทางการเงินที่สําคัญ เช่น อัตราส่วนกําไรสุทธิต่อส่วนทุน Return on Equity (ROE) อยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะยอมรับได้ โดยเฉพาะ ROE ในปี 2538 ของการไฟฟ้าทั้งสามอยู่ระหว่าง 19-22%
6.3 จากเหตุผลในข้อ 6.1 และ 6.2 จึงพอสรุปได้ว่าการปรับราคาขายปลีกเพื่อให้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด ยังไม่มีความจําเป็นสําหรับปี 2538 แต่ควรจะต้องมีการพิจารณา ทบทวนฐานะการเงินในปี 2539-2540 ซึ่งจะดําเนินการได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นเมื่อการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA แล้วเสร็จ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการประเมินผลการดําเนินงานภายใต้การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2534 และแนวทางการดําเนินงานในการขยายขอบเขตอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของวัน เพื่อให้อัตรา TOD ครอบคลุมถึงผู้ใช้ไฟรายใหญ่มากขึ้น อันจะทําให้นโยบายราคามีผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบให้มีความสม่ำเสมอมากขึ้น ซึ่งจะทําให้การลงทุนของระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป
2. ให้มีการกําหนดราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้าฝ่ายจําหน่ายใหม่ โดยให้มีผลใช้ บังคับตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นไป ดังนี้
(1) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟน. เป็น 1.4865 บาทต่อหน่วย
(2) กําหนดให้ราคาขายส่งไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ กฟภ. เป็น 1.0910 บาทต่อหน่วย
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนความเหมาะสมของหลักเกณฑ์การพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่ใช้ในการกําหนดอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะการเงินของการไฟฟ้าอย่างแท้จริง และครอบคลุมถึงประสิทธิภาพการดําเนินงานของการไฟฟ้าด้วย รวมทั้งโครงสร้างราคาขายส่งและวิธีการอุดหนุน กฟภ. โดยกําหนดเป็นหัวข้อในการศึกษาเรื่อง Rationalization of Bulk Supply Tariff to MEA and PEA ซึ่งเป็นการศึกษาภายใต้เงื่อนไข เงินกู้ของธนาคารโลกสําหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลําตะคองแบบสูบกลับ และอยู่ภายใต้การกํากับการศึกษา ของ สพช. เมื่อการศึกษาแล้วเสร็จควรให้มีการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2539-2540 ตาม หลักเกณฑ์ใหม่ และนําเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
เรื่องที่ 9 การกําหนดเขตต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) รับไปดําเนินการหามาตรการเพื่อช่วย เหลือชาวประมงรายย่อย ซึ่งจะได้รับผลกระทบในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากมาตรการการกําหนดเขตต่อเนื่องในพื้นที่ระหว่าง 12 ถึง 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และให้นําผลการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการฯ โดยด่วน เพื่อประกอบการพิจารณากําหนดเขตต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
รายงานความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 12 เดือน
งบประมาณ ตุลาคม 2567
กบง.ครั้งที่ 4/2567 (ครั้งที่ 68) วันพุธที่ 25 กันยายน 2567
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2567 (ครั้งที่ 68)
วันพุธที่ 25 กันยายน 2567
1. แผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ค.ศ. 2025 - 2050
2. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
4. อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจ
5. แผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
เรื่องที่ 1 แผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ค.ศ. 2025 - 2050
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2567 - 2580 (แผนพลังงานชาติ) ซึ่งมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ และสอดรับกับการกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศภายในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ การเร่งจัดหาพลังงานสะอาดที่พึ่งพาได้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) พร้อมรักษาความสามารถในการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานโดยการผลักดันการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนพร้อมการสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ สนพ. จึงได้ศึกษาและจัดทำแนวทางการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน ที่ครอบคลุมมิติ ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ และสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2030 และเติบโต อย่างยั่งยืนจนเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้านประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน นอกจากนี้ สนพ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนด้านนโยบายไฮโดรเจนของประเทศไทย (คณะทำงานฯ) โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ผอ.สนพ.) เป็นประธาน และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาเสนอแนะเป้าหมายและนโยบายการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตลอดจนจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายไฮโดรเจนของประเทศไทย
2. คณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ค.ศ. 2025 – 2050 และแผนปฏิบัติการการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ระยะสั้น ค.ศ. 2025 - 2030 โดยได้พิจารณาให้เชื่อมโยงกับแผนพลังงานชาติ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 - 2580 (PDP 2024) ซึ่งกำหนดสัดส่วนผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนร้อยละ 5 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป และแผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 - 2580 (AEDP 2024) ซึ่งกำหนดให้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพทางเลือกอื่น มีเป้าหมาย ณ ปี พ.ศ. 2580 เท่ากับ 4 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ เพื่อส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย (โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และยานยนต์) ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการพัฒนาโครงการนำร่อง มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ พัฒนากลไกราคาที่มีการพิจารณาเกณฑ์การปล่อย GHG โดยระยะสั้น ค.ศ. 2025 - 2030 เป็นช่วงของการเตรียมพร้อม ระยะกลาง ค.ศ. 2031 - 2040 เป็นช่วงของการเริ่มต้นพัฒนาตลาดผู้ใช้ในเชิงพาณิชย์ และระยะยาว ค.ศ. 2041 - 2050 เป็นช่วงของการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของตลาดอย่างยั่งยืน
2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฮโดรเจนในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ และพัฒนาตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน โดยระยะสั้น เป็นช่วงของการวิจัยและพัฒนา ระยะกลาง เป็นช่วงของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไฮโดรเจนในประเทศ และระยะยาว เป็นช่วงของการมุ่งสู่ความยั่งยืน
2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง การใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน รวมถึงการซื้อขายไฮโดรเจนระหว่างประเทศ ด้วยการพัฒนาโครงข่ายระบบท่อสำหรับเชื้อเพลิงผสม พัฒนาระบบจัดเก็บ ขนส่ง และสถานีเติมไฮโดรเจน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจน และแอมโมเนีย หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ และกรอบเวลาการดำเนินงาน โดยระยะสั้น เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อม ระยะกลาง เป็นช่วงของการพัฒนาระบบรองรับตลาดเชิงพาณิชย์ และระยะยาว เป็นช่วงของการขยายโครงสร้าง พื้นฐานรองรับตลาดใหม่
2.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย มาตรฐาน และข้อกำหนดต่าง ๆ รองรับการจัดหาและการใช้งานไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยระยะสั้น เป็นช่วงของการเตรียมความพร้อม จำเป็นต้องเตรียมการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ รองรับการใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมการดำเนินการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการใช้งาน ระยะกลางและระยะยาว เป็นช่วงของการติดตาม ประเมิน และปรับปรุง โดยเป็นช่วงของการเติบโต ของตลาดผู้ใช้ไฮโดรเจนสำหรับภาคพลังงานในระยะกลางและระยะยาว อาจมีการพัฒนารูปแบบธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ต้องมีการศึกษา ติดตาม และทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ
3. แผนปฏิบัติการการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ระยะสั้น ค.ศ. 2025 - 2030 เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้และการจัดหาไฮโดรเจนสำหรับประเทศไทยที่จะผลักดัน ให้เกิดการใช้และการผลิตไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยการนำไฮโดรเจนไปใช้ใน 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ทั้งนี้ สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ ประกอบด้วยกลยุทธ์ (1) พัฒนาโครงการนำร่อง (2) มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฮโดรเจน และ (3) พัฒนากลไกราคาที่มีการพิจารณาเกณฑ์การปล่อย GHG ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วยกลยุทธ์ (1) ส่งเสริม การวิจัยและพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ (2) มาตรการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ และ (3) พัฒนาตลาดและกลไกการซื้อขายคาร์บอน ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย กลยุทธ์ (1) พัฒนาโครงข่ายระบบท่อสำหรับเชื้อเพลิงผสม (2) พัฒนาระบบจัดเก็บ ขนส่ง และสถานี เติมไฮโดรเจน และ (3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีไฮโดรเจนและแอมโมเนีย และยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน ประกอบด้วยกลยุทธ์การปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน
มติของที่ประชุม
รับทราบแผนการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ค.ศ. 2025 - 2050
เรื่องที่ 2 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 และ (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภูมิภาคเอเชียกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ผู้ซื้อในเอเชียรวมถึงประเทศอินเดียและญี่ปุ่นเตรียมกักตุนเชื้อเพลิงสำหรับใช้ทำความร้อน โดยในอนาคตราคาบิวเทนอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาโพรเพน เนื่องจากความต้องการบิวเทนเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของสหรัฐอเมริกามักจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG พบว่า ราคา LPG ตลาดโลกในเดือนมิถุนายน 2567 ถึงเดือนกันยายน 2567 เพิ่มขึ้นประมาณ 46.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 8 จาก 558.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในเดือนมิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 604.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 18 กันยายน 2567 โดยจากราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ปรับตัวลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวลดลง 0.2259 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 22.6265 บาทต่อกิโลกรัม (659.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 22.4006 บาทต่อกิโลกรัม (658.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยลดลงจาก 4.0956 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 3.8697 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคา ขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท
3. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปในภายหลัง โดย ณ วันที่ 22 กันยายน 2567 มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 101,343 ล้านบาท แยกเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 53,875 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 47,468 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิต และจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,336 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 1,182 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG มีรายรับ 154 ล้านบาทต่อเดือน
4. จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาล ส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG นำเข้ารวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ณ วันที่ 18 กันยายน 2567 อยู่ที่ 659 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 415 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม แต่เนื่องจากฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ยังคงติดลบสูงถึง 47,468 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชี LPG มีรายรับเพิ่มขึ้น และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ดังนี้ แนวทางที่ 1 คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคา ขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 21.8524 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG โดยมีสมมติฐานราคาตลาดโลกที่ 659 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน พบว่า ณ วันที่ 22 กันยายน 2567 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ ติดลบ 47,468 ล้านบาท หากปรับราคาก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 จะทำให้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะอยู่ที่ประมาณ ติดลบ 47,006 ล้านบาท หรือติดลบ 46,091 ล้านบาท ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. วันที่ 4 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการตามมติที่ กพช. มอบหมาย ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กพช. ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กกพ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ไปศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทาง การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้เหมาะสม และรายงานผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ทราบต่อไป
2. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กพช. ได้พิจารณา เรื่อง การทบทวนแนวทางการส่งเสริม การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบในหลักการการทบทวนแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยมีสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ รูปแบบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ในด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา (Regulated Market) ประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) รวมถึงผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ในภาคอุตสาหกรรม และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas ของประเทศ ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ และ/หรือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จัดหาได้ให้กับผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas ตลอดจนมอบหมายให้ ปตท. เป็น Pool Manager ทั้งนี้ ให้จัดตั้ง เป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. โดยมีกระบวนการแบ่งขอบเขตงานที่ชัดเจน (Ring Fenced) โดยมอบหมายให้ กกพ. ทำหน้าที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการ ก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่ เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณา 2) กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ในด้านปริมาณ และคุณภาพ (Partially Regulated Market) ประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ที่ไม่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Gas ของประเทศ และ (2) มอบหมายให้ กบง. เป็นผู้ติดตามการดำเนินการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 สามารถปฏิบัติได้ เป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ให้ กบง. จัดทำข้อเสนอแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ใหม่ และนำเสนอ กพช. อีกครั้ง ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กพช. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดยปรับให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุน ราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน มกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ และได้รับ ความเห็นชอบจาก กพช. โดยมอบหมายให้ กกพ. และกระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
3. โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันตามประกาศของ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564 ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 กำหนดให้โครงสร้างราคาขายส่งสำหรับกิจการจัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติไปยังกลุ่มลูกค้า เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 โดยสามารถสรุปโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ราคา ก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย (1) ราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1) ทั้งนี้ ได้คำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1) ที่รวมค่าผ่านท่อในทะเลทั้งหมด (รวมค่าผ่านท่อ ก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย ประเทศไทย จำกัด) ตามแนวทางที่ กกพ. ได้นำเสนอต่อ กบง. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มที่ 2 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supply ประกอบด้วย (1) ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซ (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ในทะเล) ก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) ณ ชายแดน และก๊าซ LNG (รวมค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ) หรือ Pool Gas (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่ง ก๊าซธรรมชาติ และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 2 – Zone 4) ทั้งนี้ สำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซให้เป็นไปตามที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทาน ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 5) และกลุ่มที่ 3 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้า ให้โรงไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบใน Regulated Market ประกอบด้วย (1) ราคา LNG (2) ค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ (3) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และ (4) ค่าผ่านท่อ ก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 3) โดยการกำกับราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติแต่ละแหล่งอยู่ภายใต้การดูแลจาก ภาคนโยบายตามราคาสัมปทานของผู้ผลิตแต่ละแหล่งและการเปลี่ยนแปลงดัชนีอ้างอิงในตลาดโลก สำหรับ การกำกับดูแลอัตราค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ เมื่อมีการนำเนื้อก๊าซเข้ามาในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามมาตรา 64 และมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อกำกับต้นทุนที่จะส่งผ่านค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (End Users)
4. การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กำหนดกลุ่มลูกค้า และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ กลุ่มลูกค้าก๊าซธรรมชาติสำหรับการจัดหาและค้าส่งก๊าซ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (2) กลุ่ม Regulated Market และ (3) กลุ่ม Partially Regulated Market โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ มีดังนี้ (1) ราคาก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย ราคาเนื้อ ก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (2) ราคา Pool Gas เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซในประเทศ ก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาในรูปแบบ LNG (3) ราคา ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซในประเทศ เป็นราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งรวมอัตราค่าผ่านท่อ ก๊าซธรรมชาติในทะเล (4) ราคาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาจากเมียนมา เป็นราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติซึ่งรวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อนำส่งก๊าซธรรมชาติมายังประเทศไทย (5) ราคาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามา ในรูปแบบ LNG เป็นราคา LNG ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า และค่าบริการสถานี LNG (6) อัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รายใหม่ต้องไปจองใช้บริการท่อก๊าซธรรมชาติจากผู้บริหารระบบส่งและศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operator: TSO) ให้คำนวณเฉพาะค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ บนบกเท่านั้น (ไม่รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) โดยมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่ เพื่อเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตามมติ กพช. ได้มอบหมายให้ ปตท. เป็น Pool Manager โดยให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. และมีกระบวนการแบ่งขอบเขตงานที่ชัดเจน มีหน้าที่ทำสัญญาเพื่อรับซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market คำนวณราคาก๊าซเฉลี่ย และทำสัญญาเพื่อขายก๊าซให้กับ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ในราคาเดียวกัน (Pool Gas) ตามปริมาณก๊าซที่ Shipper นั้น ๆ จัดหาและนำเข้า Pool Gas
5. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 กกพ. ได้เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ดังนี้
5.1 ปรับปรุงชื่อราคาก๊าซธรรมชาติในองค์ประกอบของสูตรราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง อ่าวไทย จากเดิมที่ใช้ Gulf Gas เป็น Gulf Price และราคาก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Regulated Market ในราคาเดียวกัน จากเดิมที่ใช้ Pool Gas เป็น Pool Price เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
5.2 ปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งกำหนดให้ ปตท. ทำหน้าที่เป็น Pool Manager และมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ให้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิต LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจาก อ่าวไทยที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จะแล้วเสร็จ
5.3 การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติในแต่ละเดือนตามการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคา ข้อ 5.1 และข้อ 5.2 ให้คำนวณตามสูตรการคำนวณและนิยามของตัวแปรตามองค์ประกอบของโครงสร้างราคา ก๊าซธรรมชาติ ดังนี้ (1) ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทุกสัญญาที่หักปริมาณก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงที่ TSO ใช้ดำเนินการเกี่ยวกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล ตามสูตร Gulf Price = โดยที่ i คือ สัญญาผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (2) ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา (Myanmar Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่ส่งมอบมายังประเทศไทย ซึ่งรวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการนำเข้า ทั้งนี้ ให้หักปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติของ TSO ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของสถานีเพิ่มความดัน Saiyok Compressor Station (SCS) เพื่อจัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ สำหรับนำไปคำนวณในราคา Pool Price ตามสูตร Myanmar Price =
โดยที่ j คือ สัญญาผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (3) ราคาเฉลี่ย ของเนื้อก๊าซ LNG (LNG Price) ให้คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้ามาในรูปแบบ LNG ซึ่งจัดหาโดย Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper ทุกราย โดยราคา LNG ของ Shipper แต่ละรายให้ใช้วิธีการคำนวณแบบ Moving Average ตามราคาและปริมาณนำเข้าและคงค้างในถังเก็บแต่ละเดือนของ Shipper รายนั้น ๆ ทั้งนี้ ราคา LNG นำเข้า ที่นำมาใช้ในการคำนวณให้รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าตามหลักเกณฑ์ที่ กพช. กำหนด ตามสูตร LNG Price =
โดยที่ k คือ Shipper ที่นำเข้า LNG และ (4) ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติ (Pool Price) สำหรับกลุ่ม Regulated Market ให้ Pool Manager คำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาและปริมาณขายก๊าซธรรมชาติของ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ทุกราย ซึ่งเป็นผลรวมของมูลค่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย เมียนมา และ LNG ที่ Shipper จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ หารด้วยผลรวมของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper โดยมีรายละเอียดมูลค่าและปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำมาคำนวณในแต่ละเดือน ตามสูตร Pool Price = [CGulf + CMMR + CLNG] / Qpool โดยที่ 1) มูลค่าก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (CGulf) คือ มูลค่าก๊าซธรรมชาติที่ Shipper รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทุกสัญญา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนวณจาก Gulf Price รวมค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ สำหรับระบบ ท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง (Tdzone1 และ Tczone1) ตามอัตราที่ กกพ. กำหนด คูณกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ไม่รวมปริมาณก๊าซธรรมชาติส่วนที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กำหนด ตามสูตร CGulf = (Gulf Price + TdZone1 + TcZone1) x (QGulf – QLPG) 2) มูลค่าก๊าซธรรมชาติเมียนมา (CMMR) คือ มูลค่าเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ Shipper จัดหาจากเมียนมา ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ตามสูตร CMMR = Myanmar Price x QMMR 3) มูลค่าก๊าซธรรมชาติเหลว (CLNG) คือ มูลค่า LNG ที่ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market จัดหาตามปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้บริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซส่วนของต้นทุนคงที่ (Ld) และส่วนของต้นทุนผันแปร (Lc) ตามสูตร
และ 4) ปริมาณก๊าซธรรมชาติ (Qpool) คำนวณจากผลรวมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market จัดส่งให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติของ Shipper ซึ่งไม่รวมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่โรงแยกก๊าซธรรมชาตินำไปใช้ผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กำหนด ตามสูตร Qpool = (QGulf – QLPG) + QMMR + QLNG โดยในกรณีเกิดวิกฤตราคาพลังงานให้นำราคาและปริมาณเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซ LNG หรือเชื้อเพลิงอื่นที่มีมูลค่าเทียบเท่าค่าความร้อนของก๊าซธรรมชาติที่ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่ง กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 หรือที่ กพช. กำหนดเพิ่มเติมให้นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. แทนการนำเข้า LNG ส่วนเพิ่ม เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานโดยรวมของประเทศไทยตามที่ กกพ. กำหนด (หน่วยเป็นบาทต่อล้านบีทียู) ทั้งนี้ การคำนวณราคาเฉลี่ยของ เนื้อก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นไปตามราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทานในแต่ละเดือน
5.4 การทบทวนองค์ประกอบของโครงสร้างราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับกิจการจัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติไปยังกลุ่มผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ (Wholesale Price: W) จำแนกตามกลุ่มลูกค้าได้ 3 กลุ่ม โดยมีข้อเสนอทบทวนสูตรการคำนวณราคาขายส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย (1) การซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง Shipper กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วนนำไปใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ตามสูตร Wโรงแยกก๊าซ (LPG) = Gulf Price + [S1,โรงแยกก๊าซ + S2,โรงแยกก๊าซ] + [Tdzone1 + Tczone1] และ (2) การซื้อขาย ก๊าซธรรมชาติระหว่าง Shipper กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจากการนำไปใช้ในการผลิตก๊าซ LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงตามข้อ (1) ตามสูตร Wโรงแยกก๊าซ (OTHERS) = Pool Price + [S1,โรงแยกก๊าซ + S2,โรงแยกก๊าซ] กลุ่มที่ 2 กลุ่ม Regulated Market ประกอบด้วย (1) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับโรงไฟฟ้า กฟผ. / IPP ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร Wกฟผ./IPP = Pool Price + [S1,กฟผ/IPP + S2,กฟผ/IPP] + [Tdzone 3 + Tczone 3] (2) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ SPP ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร WSPP = Pool Price + [S1,SPP + S2,SPP] + [Tdzone 3 + Tczone 3] (3) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับ IPP ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามสูตร Wขนอม = Pool Price + [S1,ขนอม + S2,ขนอม] + [Tdzone 2 + Tczone 2] (4) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตามสูตร Wจะนะ = Pool Price + [S1,จะนะ + S2,จะนะ] + [Tdzone 4 + Tczone 4] (5) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ตามสูตร Wน้ำพอง =(WHตามข้อตกลงระหว่าง ปตท. กับผู้รับสัมปทาน) + [S1,น้ำพอง + S2,น้ำพอง] + [Tdzone 5 + Tczone 5] (6) การซื้อขายก๊าซระหว่าง ปตท. กับผู้ค้า NGV ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร WNGV = Pool Price + [S1,NGV + S2,NGV] + [Tdzone 3 + Tczone 3] และ (7) การซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับผู้ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่ Zone 3 ตามสูตร Wผู้ค้าปลีก =Pool Price + [S1,ผู้ค้าปลีก + S2,ผู้ค้าปลีก] + [Tdzone 3 + Tczone 3] ทั้งนี้ ค่า Td และ Tc สำหรับผู้ใช้ก๊าซกลุ่มนี้สามารถกำหนดเป็นอัตราเดียวกันหรือแตกต่างกันได้ตามที่ กกพ. กำหนด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาพรวมของประเทศ และกรณีมีการซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับผู้ค้า NGV และผู้ค้าปลีกก๊าซธรรมชาติตามข้อ (6) และข้อ (7) ในพื้นที่ Zone 2 Zone 4 และ Zone 5 ให้คำนวณโดยใช้ค่าผ่านท่อตามพื้นที่ดังกล่าวในการคำนวณ และกลุ่มที่ 3 กลุ่ม Partially Regulated Market ที่ไม่มีการใช้ ก๊าซธรรมชาติจาก Pool Price ของประเทศ กำหนดให้มีการจัดเก็บอัตราค่าบริการจัดเก็บและแปรสภาพ ก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ และอัตราค่าบริการส่งก๊าซทางท่อตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด และในส่วนของแนวทางกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับ Pool Manager ในระยะเริ่มต้น เห็นควรกำหนดให้ ปตท. เป็น Pool Manager ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในระยะเริ่มต้น จนกว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงาน Pool Manager ที่แยกเป็นอิสระจาก ปตท. แล้วเสร็จ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินงานของ Pool Manager ในระหว่างที่ ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ โดย กกพ. จะพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการสำหรับการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติต่อไป
6. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามที่ กกพ. เสนอแล้ว พบว่าข้อเสนอดังกล่าวมีความสอดคล้องและเป็นการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่มอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการทบทวนโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ทบทวนใหม่
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติตามมติคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการแข่งขัน ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอ
2. มอบหมายให้ กกพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคำนวณ ราคาก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามนโยบายของ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ต่อไป
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 4 อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณา เรื่อง การทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และมีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติม จากผู้ผลิตไฟฟ้ากรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) ได้มีมติมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หารือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาส่วนเกินของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่น ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย เพื่อช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า และเพิ่มแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่ผ่านมามีอัตรารับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไป ระยะเวลาในการรับซื้อสั้น และมีค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าจึงทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการค่อนข้างน้อย
2. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 พพ. ได้นำเสนอหลักการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ต่อคณะอนุกรรมการฯ ด้วยอัตรา รับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย ในรูปแบบ Non-Firm โดยมีรายละเอียดข้อมูล ดังนี้ (1) ข้อมูลจากสำนักงาน กกพ. พบว่า ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567 มีโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ จำนวน 6,505 ราย มีพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่ผลิตได้รวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี โดยเมื่อประเมินไฟฟ้าส่วนเหลือจากจำนวนวันหยุดรายปีของกลุ่มดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย วันหยุดประจำสัปดาห์ จำนวน 52 วันต่อปี และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 18 วันต่อปี รวมทั้งสิ้น 70 วันต่อปี คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้เอง (Self Consumption) ที่คาดว่าจะสามารถรับซื้อเข้าสู่ระบบโครงข่ายประมาณร้อยละ 19 คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าประมาณ 380 ล้านหน่วยต่อปี (2) จากการประเมินการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 800 กิโลวัตต์ หากมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี พบว่าจะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี และอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจยื่นขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนลดลง และค่า IRR เพิ่มมากขึ้น (3) การเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 380 ล้านหน่วยต่อปี คาดว่า จะลดการนำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 60,000 ตัน (1 ลำเรือ) คิดเป็นมูลค่า 1,593 ล้านบาทต่อปี (กรณีราคา Spot LNG เท่ากับ 14.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35.66 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) ช่วยลดค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) จากการนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าลงเท่ากับ 0.0016 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ) โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ ที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่น และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบ Non-Firm ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และมอบหมายให้ พพ. นำเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ต่อมา พพ. ได้ปรับรายละเอียดข้อมูลการประเมินเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 โดยประเมินกลุ่มเป้าหมายประมาณ 6,585 ราย ปริมาณกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,796.81 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 2,360.50 ล้านหน่วยต่อปี โดยมีปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะจำหน่ายประมาณ 448.5 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งทำให้คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มสูงขึ้น คือช่วยลดการนำเข้า LNG ประมาณ 70,800 ตัน (1.18 ลำเรือ) คิดเป็นมูลค่า 1,880 ล้านบาทต่อปี (กรณีราคา Spot LNG เท่ากับ 14.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 35.66 บาท ต่อเหรียญสหรัฐฯ) และช่วยลดค่า Ft จากการนำเข้า LNG มาผลิตไฟฟ้าลงเท่ากับ 0.0018 บาทต่อหน่วย โดยราคารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย เทียบกับราคา Marginal Cost (บาทต่อหน่วย) จะไม่มีผลกระทบกับราคาค่าไฟฟ้า
3. พพ. ได้มีหนังสือขอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ กกพ. มีความเห็นว่า สนับสนุนหลักการของนโยบายการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และอาคารธุรกิจ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินว่า ควรอยู่ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator: SO) เพื่อให้การบริหารจัดการ ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ และควรใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบสัญญาเสถียรระยะสั้น (Semi Firm) ด้าน กฟผ. มีความเห็นว่า พร้อมดำเนินการตามนโยบาย และการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าเนื่องจากมีการติดตั้งและใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ควรกำหนดให้ กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวที่มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าขายเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (2) กำหนดให้มี Aggregators ทำหน้าที่รวบรวมปริมาณไฟฟ้าเสนอขายเข้าระบบจากหลายโครงการ ปริมาณรวมมากกว่า 10 เมกะวัตต์ ในลักษณะของ Virtual Power Plant (VPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และ (3) กำหนดกรอบปริมาณพลังงานไฟฟ้าและคำนิยามของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหา การตีความในการดำเนินการ ทั้งนี้ พพ. ได้พิจารณาข้อเสนอแนะของ กกพ. และ กฟผ. แล้ว มีความเห็นดังนี้ (1) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานเองทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณไฟฟ้าส่วนเกินในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ได้แน่นอน รวมถึงไม่มีการกำหนดพลังงานทดแทนประเภทอื่นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า รูปแบบการรับซื้อแบบ Semi Firm จึงอาจไม่มีความเหมาะสม จึงเห็นควรให้ดำเนินการโดยใช้รูปแบบสัญญาประเภท Non-Firm เช่นเดียวกับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในครั้งที่ผ่านมา (2) การซื้อขายไฟฟ้าส่วนเกินซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ายังไม่มาก จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะมี Aggregators ในการรวบรวมปริมาณไฟฟ้า ในการนี้ พพ. มีความเห็นว่าควรดำเนินการในรูปแบบเดิม แต่เพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่มีผลกระทบกับระบบไฟฟ้าและค่าไฟฟ้า โดย พพ. ได้นำเสนอคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบในแนวทางดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ) โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ ที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่น และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบ Non-Firm ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 5 แผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2567 - 2570)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนธันวาคม 2566 รวมทั้งรับทราบข้อเสนอการดำเนินงานต่อไป ที่ให้มีการรวบรวมข้อเสนอแนะจากการถอดบทเรียนการดำเนินมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานปี 2565 และปี 2566 อาทิ การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้ ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดทำเป็นแผนงานและข้อริเริ่มโครงการ ในร่างแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2567 - 2570) (ร่างแผนฯ) ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำโดยคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2566 - 2570) (คณะทำงานฯ) ตามคำสั่งกระทรวงพลังงาน ที่ 72/2566 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 เพื่อกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนงานและข้อริเริ่มโครงการ เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ตั้งแต่ภาวะปกติ แนวทางการ บูรณาการที่จำเป็นของประเทศ และการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะทำงานฯ ได้เสนอร่างแผนฯ ต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) ซึ่งแต่งตั้งขึ้นภายใต้คำสั่ง กบง. โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบหลักการและรายละเอียดร่างแผนฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ กบง. พิจารณาเพื่อใช้เป็นกรอบในการเตรียมพร้อมและบริหารวิกฤตการณ์พลังงานต่อไป
2. แผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2567 - 2570) มีเป้าหมายภาพรวม ได้แก่ “ประเทศไทยมีความพร้อมในการป้องกันผลกระทบและบริหารจัดการวิกฤตการณ์พลังงานอย่างทันท่วงทีให้ฟื้นคืนสู่การมีพลังงานเพียงพอในราคาที่เหมาะสม” ด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนามิติการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน และมิติการเตรียมการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 แนวทางการจัดทำแผน จัดทำโดยคณะทำงานฯ ซึ่งได้มีการประชุมพิจารณาจัดทำแผน จำนวน 3 ครั้ง และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมกลุ่มย่อยจำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ การประชุมกลุ่มย่อย ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ด้านก๊าซธรรมชาติ ด้านไฟฟ้า และด้านราคาพลังงาน โดยได้มีการนำร่างแผนฯ รับฟัง ความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 35 หน่วยงาน ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2567 ถึงเดือนสิงหาคม 2567 ทั้งนี้ เนื้อหาของแผนประกอบด้วยส่วนสำคัญ ได้แก่ ความสอดคล้องกับแผนสามระดับ ประเด็นภัยคุกคามและความเสี่ยงด้านพลังงาน สาระสำคัญของแผน และกฎหมายและกลไกการขับเคลื่อน
2.2 ความสอดคล้องกับแผนสามระดับ แผนปฏิบัติการฯ เป็นแผนระดับที่ 3 มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนระดับที่ 1 และระดับที่ 2 ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ (1) กลุ่มการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (ประเด็นหลัก) สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล แผนย่อยโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน (พ.ศ. 2567 - 2580) (แผนพลังงานชาติ) และแผนย่อยรายสาขา รวมถึงแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ของกระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2566 - 2580) และ (2) กลุ่มความมั่นคง (ประเด็นรอง) สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นความมั่นคง นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง พ.ศ. 2566 - 2570 แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ (พ.ศ. 2566 - 2570) และนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570)
2.3 ประเด็นภัยคุกคามและความเสี่ยงด้านพลังงาน กำหนดระดับความความรุนแรง ของสถานการณ์ฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์สองด้าน คือ ด้านผลกระทบต่อพลังงาน และด้านการบริหารจัดการ ดังนี้ (1) ระดับปานกลาง ด้านผลกระทบต่อพลังงาน คือ ภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อการจัดหาและราคาพลังงาน ในบางพื้นที่อย่างจำกัด โดยภาคเศรษฐกิจและประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ด้านการบริหารจัดการ คือ กลไกปกติของหน่วยงานกระทรวงพลังงาน และเอกชนภาคพลังงาน (2) ระดับรุนแรง ด้านผลกระทบต่อพลังงาน คือ ส่งผลกระทบต่อการจัดหาหรือราคาพลังงาน กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและความปกติสุขของประชาชนในหลายพื้นที่ ด้านการบริหารจัดการ คือ ใช้กลไกตามกฎหมายของกระทรวงพลังงานโดยบริหารแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก และ (3) ระดับรุนแรงมาก ด้านผลกระทบต่อพลังงาน คือ ส่งผลกระทบต่อการจัดหา และราคาพลังงาน รวมถึงอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตและทรัพย์สินประชาชนในหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง ด้านการบริหารจัดการ คือ จำเป็นต้องมีกลไกพิเศษนอกเหนืออำนาจตามกฎหมายของกระทรวงพลังงาน และมีหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง/หน่วยงานภายนอกบัญชาการเหตุ ทั้งนี้ แผนได้กำหนดสัญญาณบ่งชี้การเริ่มใช้แผน หรือ Trigger points ว่าหากเกิดผลกระทบต่อการจัดหาและราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้า ตามค่าอ้างอิงที่กำหนด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานเพื่อประกอบการบ่งชี้ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฉุกเฉินและกำหนดกลไกการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่อไป นอกจากนี้ แผนได้กำหนดให้มีการประเมิน ผลกระทบ (Impact) และโอกาส (Likelihood) ของสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยวิธี Risk Matrix โดยผู้เชี่ยวชาญ ด้านพลังงานเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งในปี 2567 คณะทำงานฯ ได้ประเมินโอกาสและผลกระทบของสถานการณ์ฉุกเฉินที่คัดกรองเบื้องต้น (Environmental Scanning) จากสถานการณ์ฉุกเฉินที่เคยเกิดขึ้นและยังส่งผลต่อเนื่อง ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ ที่เคยมีกรณีในต่างประเทศ หรือที่มีปัจจัยอุปสรรคภายในประเทศ จำนวน 8 ประเด็นภัยคุกคาม 17 สถานการณ์ฉุกเฉิน ผลการประเมินพบว่าโดยภาพรวมไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินใด ที่มีแนวโน้มจะยกระดับสู่เหตุการณ์ระดับรุนแรงมาก ทั้งนี้ ประเด็นภัยคุกคามที่ได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับรุนแรง ถึงปานกลาง และได้นำมาเป็นสถานการณ์สมมติประกอบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนการแก้ไขสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ได้แก่ (1) ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงนำเข้า ทั้งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และน้ำมันดิบ (2) ประเด็นข้อจำกัดการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มีความเสี่ยงว่าการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอาจมีข้อจำกัดจากการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบหน้ากระดาน (3) ประเด็นข้อจำกัดทางกฎหมายกฎระเบียบ ในกระบวนการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และความล่าช้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อขับเคลื่อนมาตรการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และ (4) ประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะอากาศร้อนแห้งแล้ง ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2.4 สาระสำคัญของแผน มีหลักการจัดทำโดยวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลจาก 3 ส่วน ได้แก่ (1) แผนภายใน คู่มือและแนวทางด้านการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงาน ที่เคยจัดทำ (2) ข้อเสนอแนะจากการฝึกซ้อมแผนเตรียมพร้อมสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของกระทรวงพลังงานที่จัดขึ้นรายปี ระหว่างปี 2561 - 2565 และ (3) การถอดบทเรียน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ จากการดำเนินมาตรการบริหารวิกฤติราคาพลังงาน ระหว่างปี 2565 – 2566 ของคณะอนุกรรมการฯ ทั้งนี้ แบ่งเนื้อหาสำคัญออกเป็นแผนย่อย 2 เรื่อง ดังนี้ (1) แผนย่อยเรื่องที่ 1 การเตรียมความพร้อม จากวิกฤตการณ์พลังงาน มีเป้าหมายย่อยให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านการจัดหาพลังงานในภาวะวิกฤติ และมีกลไกป้องกันและบรรเทาวิกฤติพลังงาน มีแนวทางการพัฒนา 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 พัฒนาคุณภาพฐานข้อมูลสำหรับการเตรียมพร้อมบริหารจัดการวิกฤติ แนวทางที่ 2 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันและบรรเทาวิกฤติพลังงาน แนวทางที่ 3 พัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการ และแนวทางที่ 4 พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือด้านการเตรียมพร้อมบริหารจัดการวิกฤติทั้งใน และต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอกรอบแผนงาน 17 แผนงาน และ (2) แผนย่อยเรื่องที่ 2 การบริหารจัดการ วิกฤติพลังงาน มีเป้าหมายย่อยให้หน่วยงานของรัฐด้านพลังงานมีศักยภาพสูงในการบริหารจัดการวิกฤติพลังงาน มีแนวทางการพัฒนา 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 พัฒนาประสิทธิภาพในการสื่อสารและประสานงาน เพื่อบริหารวิกฤติพลังงาน และแนวทางที่ 2 พัฒนาประสิทธิภาพการซักซ้อมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีข้อเสนอกรอบแผนงาน 4 แผนงาน ทั้งนี้ แผนได้มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักของกรอบแผนงาน โดยให้หน่วยงานดังกล่าวจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการและงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนกรอบแผนงานระหว่าง ปี 2568 – 2570 รวมทั้งกำหนดให้มีแนวทางการติดตามประเมินผลรายปีโดยคณะผู้ประเมินผลทั้งระดับเป้าหมายภาพรวม เป้าหมายแผนย่อย ตัวชี้วัด และข้อเสนอแผนงาน เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
2.5 กฎหมายและกลไกการขับเคลื่อน แผนได้ระบุรายชื่อของกฎหมาย และรายละเอียดมาตราที่เกี่ยวข้องสำหรับบริหารวิกฤติระดับชาติภาพรวม จำนวน 15 ฉบับ และกฎหมายด้านพลังงานที่หน่วยงาน ด้านพลังงานเป็นผู้ปฏิบัติและบังคับใช้ จำนวน 11 ฉบับ โดยกฎหมายดังกล่าวจะนำไปใช้บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านกลไกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ กรณีเป็นสถานการณ์ระดับรุนแรงมาก เช่น กลไกคณะกรรมการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนพลังงาน ตามอำนาจในพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 หรือกลไกการบริหารวิกฤติของกระทรวงพลังงาน กรณีเป็นสถานการณ์ระดับรุนแรง หรือปานกลาง เช่น กลไกอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านพลังงาน ซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่ง กบง. ภายใต้อำนาจของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกลไกการจัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กรณีมีสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ มีกฎหมายและกลไกระดับหน่วยงานที่ใช้บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินระดับปานกลาง ถึงรุนแรง ด้านการจัดหาและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ทั้งนี้ แผนได้ระบุบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน และหน้าที่ต่อการขับเคลื่อนแผน ของหน่วยงานรวม 39 หน่วยงาน แบ่งเป็นหน่วยงานในกำกับกระทรวงพลังงาน 10 หน่วยงาน และหน่วยงานภาครัฐภายนอก 29 หน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กร ในกำกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน ใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติด้านพลังงาน รวมถึงมีความเข้าใจในบทบาทการร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมและการบริหารวิกฤตการณ์พลังงาน (พ.ศ. 2567 - 2570) ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน รับความเห็นของที่ประชุมในการแก้ไขกฎหมายและยกร่างกฎหมายใหม่กรณีที่มีความจำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมและบริหารวิกฤตการณ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2567
กพช. ครั้งที่ 52 วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2538 (ครั้งที่ 52)
วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2538
1. ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
4. รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
5. รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
6. รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
7. รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
8. การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
9. สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
10. การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายบรรหาร ศิลปอาชา)
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
(นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์)
เรื่องที่ 1 ผลการดําเนินการในการแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2537 (ครั้งที่ 47) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 ในเรื่อง ข้อเสนอการปรับปรุงกฎเกณฑ์และส่งเสริมการตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการดําเนินการปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมทางหลวงรับไปศึกษาและพิจารณาผ่อนคลายกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการ ในบริเวณทางโค้ง และบริเวณภูเขาหรือเนินเขา เพื่อให้มีการจัดตั้งสถานีบริการในบริเวณดังกล่าวได้
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ในเรื่อง ข้อเสนอเพิ่มเติมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้ กรมโยธาธิการ ปรับปรุงกฎเกณฑ์การจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมให้สอดคล้องกันต่อไป และมอบหมายให้กรมโยธาธิการและกรมควบคุมมลพิษร่วมกันจัดทําเงื่อนไขควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมัน รวมทั้งการระบายน้ำเสียจากสถานีบริการเพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
3. กรมโยธาธิการได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามข้อ 1 และ 2 แล้ว โดยได้ออก ประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 มีสาระสําคัญดังนี้
3.1 กําหนดให้มีการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในบริเวณถนน ซอย ทางลัดหรือ ถนนในหมู่บ้านจัดสรรที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตรได้ นอกจาก กฎเกณฑ์เดิมที่กําหนดให้จัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เฉพาะในถนนสาธารณะที่มีความกว้าง ไม่น้อยว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตรเท่านั้น โดยแยกกฎเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงออกเป็น 2 กฎเกณฑ์ คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนสาธารณะที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร หรือถนนส่วนบุคคลที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 10.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 1 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งริมถนนที่มีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร ให้ใช้กฎเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ในประกาศกรมโยธาธิการ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ประเภทที่ 2
3.2 ลดหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จําเป็นเพื่อเพิ่มพื้นที่อนุญาตจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
3.3 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ซึ่งจะ จัดตั้งในบริเวณซอย ทางลัด หรือถนนในหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นแหล่งชุมชนพักอาศัย โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เก็บไอระเหยของน้ำมัน (Vapour Recovery System) รวมทั้งจํากัดปริมาณการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ด้วย
3.4 เพิ่มกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมสําหรับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทที่ 2 ที่จะจัดตั้ง ใหม่ต้องมีการติดตั้งถังใต้ดินแบบสองชั้น (Double Skin Tanks) และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภทที่จะจัดตั้งใหม่ต้องมีบ่อกักไขน้ำมันความจุไม่น้อยกว่า 1,500 ลิตร ต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,500 ตารางเมตร ทั้งนี้เพื่อควบคุมการทิ้งเศษวัสดุและน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ผลที่จะได้รับจากการปรับปรุงกฎเกณฑ์ดังกล่าว คือ
4.1 สถานีบริการในเขตกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ การลดพื้นที่ห้ามตั้งสถานีบริการโดย ให้สามารถตั้งได้ในบริเวณถนนขนาดเล็กความกว้าง ไม่น้อยกว่า 8.00 เมตร แต่ไม่ถึง 12.00 เมตร จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสถานีบริการเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในเขตกรุงเทพมหานคร และ เมืองใหญ่ และถึงแม้จะเพิ่มข้อกําหนดให้สถานีบริการริมถนนเล็กต้องติดตั้ง Double Skin Tanks และมี อุปกรณ์ Vapour Recovery Line เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนของอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ลดลง ซึ่งจะทําให้มีการจัดตั้งสถานีบริการริมถนนเล็กขึ้นใหม่ทดแทนสถานีบริการริมถนนใหญ่ที่เลิกกิจการไป และทําให้มีจํานวนสถานีบริการเพียงพอแก่ความต้องการ ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา เป็นผลให้ประชาชนในเมืองใหญ่ได้รับความสะดวกและบริการที่ดีขึ้นในราคาที่เหมาะสม
4.2 สถานีบริการในพื้นที่ที่ห่างไกล การลดพื้นที่ห้ามตั้งในเขตชุมชนเล็ก ๆ ในชนบท จะช่วยให้มีผู้สนใจมาลงทุนจัดตั้งสถานีบริการในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทําให้เกิดการแข่งขันด้านบริการและราคา ทําให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลหรือผู้เดินทางไปในพื้นที่ที่ห่างไกล สามารถหาที่เติมน้ำมันได้สะดวกขึ้น และได้รับบริการที่ดีขึ้นในราคาที่ลดลง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดําเนินงานในการส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้อนุมัติตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ในเรื่อง การส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว และมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว โดยให้กระทรวงพาณิชย์ (กรมทะเบียนการค้า) ร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาในรายละเอียด และดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ต่อไป โดยให้มีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป และให้กรมโยธาธิการแก้ไขประกาศกรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดของหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการ โดยให้มีข้อยกเว้นสําหรับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอกของท่อทางออกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็น ขนาดใหญ่เท่ากับหัวจ่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วในปัจจุบัน คือ ไม่น้อยกว่า 24.50 มิลลิเมตร หรือ 15/16 นิ้ว
2. สพช. และกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุม ในรายละเอียดร่วมกับกรมโยธาธิการ และบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ และได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ดําเนินการออกประกาศต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดําเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2538) เรื่อง กําหนดคุณภาพของน้ำมันเบนซิน ลงวันที่ 8 กันยายน 2538 เพื่อยกเลิกคุณภาพน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วและกําหนดคุณภาพน้ำมันเบนซินพิเศษไร้สารตะกั่วชนิดใหม่ที่มีสารเคลือบบ่าวาล์วอยู่ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป นอกจากนี้ในส่วนของกรมโยธาธิการ ได้เชิญบริษัทผู้ค้าน้ำมันมาร่วมพิจารณายกร่างประกาศ กรมโยธาธิการเกี่ยวกับการกําหนดขนาดหัวจ่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ซึ่งผสมสารเคลือบบ่าวาล์วแล้ว และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบร่างประกาศฯ ก่อนออกประกาศบังคับใช้ต่อไป
3. สถานการณ์การจําหน่ายในปัจจุบันนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ค้าน้ำมัน รายแรกที่ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีตะกั่วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นการยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วเป็นการล่วงหน้าก่อนที่จะใช้เป็นมาตรการบังคับประมาณ 6 เดือน และในปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันอื่น ๆ เช่น บริษัท สยามสหบริการ จํากัด บริษัท พี.ซี. สยามปิโตรเลียม จํากัด ได้ยกเลิกการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วแล้วเช่นกัน ซึ่งทําให้ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ในเดือนสิงหาคม 2538 มีปริมาณ 438.14 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 83 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือเป็นการจําหน่ายน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่ว เป็นปริมาณ 92.80 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราร้อยละ 17 ของการจําหน่ายน้ำมันเบนซินทั้งหมด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
1.1 ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2538 (มกราคม-พฤษภาคม) ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากปี 2537 ถึง 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาสูงขึ้นในระยะนี้ คือ
• การลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคลง 320,000 บาร์เรลต่อวัน และยืนยันจะไม่มี การปรับเพดานการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบียและอิหร่านพยายามควบคุมการผลิตตาม โควต้าที่ได้รับ และประเทศไนจีเรียมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเนื่องจากประสบปัญหาที่แหล่งผลิต
• อิรัคได้ปฏิเสธข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ยินยอมให้อิรัค ทําการส่งออกน้ำมันในมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 6 เดือน
• โรงกลั่นน้ำมันยุโรปเริ่มเปิดดําเนินการในเดือนเมษายนหลังจากที่ปิดซ่อมบํารุง ทําให้ มีความต้องการน้ำมันดิบเพื่อใช้ในการกลั่นมากขึ้น ประกอบกับมีแรงซื้อจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกา มากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการสํารองน้ำมันเบนซินอยู่น้อย จึงต้องเร่งกลั่นเพื่อรองรับฤดูร้อนซึ่งจะมีการใช้ น้ำมันเบนซินสําหรับรถยนต์มากขึ้น
• ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ทําให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาทดแทนที่เคยซื้อจากอิหร่านถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน และอิหร่านยังไม่สามารถขายให้ผู้อื่นแทนสหรัฐอเมริกาได้ จึงเป็นผลทําให้ตลาดมีการแข่งขันการซื้อน้ำมันมากขึ้น
• สําหรับราคาในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน 2538 ได้ปรับลดลง 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุสําคัญที่ผลักดันให้ราคาลดลงในระยะนี้ คือ ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากทุกแหล่งทั่วโลก ทั้งจากประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปคเองและนอกกลุ่มโอเปค ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังมีเชื้อเพลิงประเภทอื่นที่เป็นคู่แข่งสําคัญคือ ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีราคาถูกกว่า ซึ่งการประชุมกลุ่มโอเปคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันไม่น้อยเช่นกัน โดยโอเปคอาจพิจารณาเพิ่มโควต้าการผลิตในปีหน้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดด้วย ในขณะเดียวกัน จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกนอกกลุ่มโอเปคซึ่งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากในเดือนกรกฎาคม เป็นผลทําให้ราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลงและมีแรงกดดันที่ทําให้ราคาลดลงไปอีก และจากสถานการณ์ของอิหร่านได้คลี่คลายลงเมื่อเริ่มขายน้ำมันให้กับลูกค้าในยุโรปแทนสหรัฐอเมริกาได้ และประเทศมาเลเซียหยุดซ่อมบํารุงโรงกลั่นในเดือนกรกฎาคม จึงทําให้มีน้ำมันดิบทาปีสของมาเลเซียเหลือออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.2 ราคาน้ำมันสําเร็จรูป ราคาน้ำมันสําเร็จรูปโดยทั่วไปสูงขึ้นจากปี 2537 แต่ยังสูงขึ้นน้อยกว่า ราคาน้ำมันดิบ ทําให้โรงกลั่นน้ำมันมีรายได้ลดลง สาเหตุเกิดจากการขยายกําลังการกลั่นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทําให้มีน้ำมันสําเร็จรูปออกสู่ตลาดมากขึ้น
1.3 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศ เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงแคบๆ โดยมีการปรับราคาสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 แล้วปรับลดราคาลงในช่วงไตรมาส 3 ทั้งนี้ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นในประเทศจะปรับขึ้น-ลงตามราคาน้ำมันสําเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
1.4 ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เปลี่ยนแปลงตามราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น โดยจะมีการปรับราคาตามราคาขายส่งในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นราคาหรือลงราคา กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว”
1.5 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2538 นี้ คาดว่าราคาน้ำมันในตลาด โลกจะไม่สูงขึ้นตามที่กลุ่มโอเปคคาดหวัง แต่อาจจะลดลงเนื่องจาก การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญน้ำมัน คาดว่าการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคในระยะต่อไป จะใกล้เคียงกับโควต้าแต่ปริมาณการผลิตน้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้นจากการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปค ในหลายๆประเทศ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา โคลัมเบีย มาเลเซีย สําหรับปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน โดยทาง International Energy Agency (IEA) คาดว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การผลิตของกลุ่มนอกโอเปคจะเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Nymex and IPE Futures Markets ได้ประมาณราคาน้ำมันดิบ สําหรับไตรมาสที่ 4(2538) และไตรมาสที่ 1(2539) ว่าราคามีแนวโน้มลดลงกว่าปัจจุบัน และยังมีความไม่แน่นอนว่าอิรักจะกลับมาเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ ถ้าอิรักกลับมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันได้อีก กลุ่มโอเปคจะต้องจัดสรรโควต้าการผลิตกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคงจะเป็นปัญหาพอสมควรกับการที่สมาชิกหลายประเทศที่ได้ผลิตน้ำมันเพิ่มมาถึง 5 ปี จะต้องลดการผลิตตัวเองลง จึงคาดว่าถ้าอิรักกลับมาผลิตน้ำมันส่งออกอีกครั้งหนึ่งจะทําให้ราคาน้ำมันขาดเสถียรภาพไประยะหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนกว่าราคาจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การผลิตของกลุ่มนอกโอเปค ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
2. การกํากับดูแลการกําหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกํากับดูแลการกําหนดราคาจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศ และต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้กรมการค้าภายในและ สพช. ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการ ในการกํากับดูแลการกําหนดราคาและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการค้า ภายในและ สพช. ได้ประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ผลการประชุมสรุปได้ดังนี้ มาตรการกํากับดูแลราคาและค่าการตลาด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ยังมีความเหมาะสมที่จะใช้ปฏิบัติต่อไปโดยไม่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแต่อย่างใด ซึ่งหาก สพช. ทําการกํากับดูแลการกําหนดราคาของสถานีบริการ แล้วพบว่าสถานีบริการกําหนดราคาขายปลีกเกินเหมาะสม สพช. จะเป็นผู้ดําเนินการแก้ไขโดยใช้มาตรการต่าง ๆ ที่กําหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรี หากไม่เป็นผล สพช. จะส่งเรื่องให้ กรมการค้าภายในเป็นผู้ดําเนินการ โดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติกําหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ.2522
3. ผลการดําเนินการกํากับดูแลการกําหนดราคาในปี 2538 (เดือนมกราคม - สิงหาคม) จากรายงานราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 ของทุกเดือนของสํานักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ พบว่ามีสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสมโดยเฉลี่ยเดือนละ 79 สถานี หรือ ร้อยละ 1.29 ของจํานวนสถานีบริการทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2537 ซึ่งมีจํานวนสถานีบริการจําหน่ายน้ำมันราคาเกินเหมาะสม โดยเฉลี่ยต่อเดือน 117 สถานี หรือ ร้อยละ 2.37 ของสถานีบริการทั้งหมด จะเห็นว่าปริมาณลดลงประมาณหนึ่งในสาม และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคและรายผู้ค้าน้ำมันแล้วก็มีปริมาณลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการกํากับดูแลราคาขายปลีกตามมติคณะรัฐมนตรีประสบผลสําเร็จมากขึ้น ทําให้การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ณ สถานีบริการในต่างจังหวัดมีลักษณะ “ขึ้นเร็วลงเร็ว” มากขึ้น ประกอบกับสภาพการแข่งขันของตลาดน้ำมันในต่างจังหวัดสูงขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างสถานีบริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีสถานีบริการของผู้ค้าน้ำมันรายย่อยอื่น ๆ เกิดขึ้นมาก และมีสถานีบริการหลายรายเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้า โดยเปลี่ยนไปรับน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันที่สามารถขายน้ำมันให้ในราคาถูกที่สุด และทําให้สถานีบริการเหล่านี้สามารถขายน้ำมันได้ ในราคาต่ำกว่าสถานีบริการโดยทั่วไป รวมทั้งยังมีการแข่งขันกันด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ด้านคุณภาพน้ำมัน (การเพิ่มค่าออกเทน) รูปแบบของสถานีบริการที่ดูแปลกใหม่ สวยงาม และการบริการที่ดียิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดําเนินงานในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2538 (ครั้งที่ 49) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2538 ให้กําหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดําเนินการ และรายงานผลการดําเนินงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมทุกครั้ง
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2538 (ครั้งที่ 51) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 ได้พิจารณาเรื่อง การดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อกําหนดเขตต่อเนื่องในท้องทะเลบริเวณถัดออกไปจากน่านน้ำอาณาเขตเป็นระยะทางไม่เกิน 24 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งรวมทั้ง ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการปฏิบัติงานศุลกากรในเขตต่อเนื่องเสนอ โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาตรวจร่างต่อไป และให้กําหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม สําหรับคลังน้ำมันที่กรมสรรพสามิตไม่มีอํานาจติดตั้งมาตรวัด โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรรับไปดําเนินการติดตั้งมาตรวัดในคลังน้ำมันที่อยู่ชายฝั่งก่อน โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายของกรมสรรพากรในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และมอบหมายให้กรมโยธาธิการติดตามข้อมูลการก่อสร้างคลังน้ำมันชายฝั่ง ซึ่งหากมีการก่อสร้างคลังเพิ่มขึ้นให้แจ้งกรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรทราบ เพื่อดําเนินการต่อไป
3. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะ กรรมการฯ พร้อมกับพิจารณาร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และโดยที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําผิด พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมการกฎหมายทะเล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่างขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเรื่องการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบ รางประกาศเขตต่อเนื่อง ของราชอาณาจักรไทย ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว และให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประกาศต่อไป ส่วนร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ให้ทางสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานํากลับไปพิจารณาประกอบกับร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติการฯที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอมาและนําเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว และได้รายงานผลการดําเนินการ แก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อทราบ ดังนี้
4.1 กรมศุลกากร
(1) ได้ดําเนินการตรวจสอบเรือขนส่งน้ำมันของ กฟผ. และ ปตท. เช่นเดียวกับเรือของผู้ค้าน้ำมันรายอื่นอย่างเคร่งครัด และได้มีหนังสือแจ้งให้ ปตท. และ กฟผ. ทราบแล้ว
(2) คณะทํางานเพื่อทําหน้าที่ตรวจสอบการลักลอบนําเข้าน้ำมัน ได้สั่งการให้กองป้องกัน และปราบปรามและด่านศุลกากร จัดกําลังเจ้าหน้าที่และเรือตรวจการณ์การขนส่งน้ำมันทั้งทางด้านทะเลอันดามัน และอ่าวไทย รวมทั้งจัดเพิ่มสายสืบเฝ้าตรวจสอบการขนส่งน้ำมันทางบก ทั้งคลังที่ได้รับอนุมัตินําเข้าและคลังที่ไม่ได้รับอนุมัติให้นําเข้า แต่ไม่พบการกระทําความผิดแต่อย่างใด
(3) ได้จัดเจ้าหน้าที่ไปทําการตรวจสอบเรือนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทุกลําอย่างเข้มงวดเป็น เวลา 1 เดือน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาใน ราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งปรากฏว่าถูกต้องตามระเบียบของกรมศุลกากรทุกประการ
(4) กรมศุลกากรได้ออกคําสั่งทั่วไปกรมศุลกากร ที่ 13/2538 เรื่อง เพิ่มเติมประมวล ระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2530 หมวดที่ 17 บทที่ 08 ข้อที่ 02(ก) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการดําเนินคดี การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อปรับปรุงแนวทางการดําเนินคดีของกรม ศุลกากรให้รัดกุมยิ่งขึ้น
(5) นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้เพิ่มมาตรการสนับสนุน โดยจัดให้มีการติดตามและ ตรวจสอบเรือประมงดัดแปลงที่ถูกจับกุม และเจ้าของเรือหรือผู้มีสิทธิ์ที่ได้ยื่นคําร้องขอรับเรือของกลางไปเก็บ รักษาเองว่ามีการนําไปใช้เพื่อลักลอบนําเข้าหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าฝ่าฝืนกรมศุลกากรจะยึดเรือคืนและบังคับ สัญญาประกันทัณฑ์บน รวมทั้งดําเนินการสืบสวนติดตามพฤติกรรมเรือประมงดัดแปลงหรือเรือบรรทุกน้ำมัน ต่างประเทศ ที่เคยถูกจับกุมหรืออยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย
4.2 กรมสรรพสามิต
(1) จัดทําโครงการติดตั้งมาตรวัดและอุปกรณ์วัดน้ำมันด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อติดตั้ง ณ คลังชายฝั่ง โดยขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกทางด้านเทคนิคแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาอยู่ ซึ่งคาดว่าจะตกลงผลการประกวดราคาและทําสัญญาได้ในเดือนตุลาคม 2538 ส่วนการ ติดตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 42 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2539 นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้จัดตั้งห้อง Operation Room เพื่อรับรายงานการ เคลื่อนย้ายและขนส่งน้ำมันในทะเลจากโรงกลั่นน้ำมันไปยังคลังน้ำมันชายฝั่ง เพื่อป้องกันการลักลอบเดินเรือ ออกนอกเส้นทางเพื่อไปรับน้ำมันหนีภาษี ทั้งนี้กรมสรรพสามิตได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะ กรมทะเบียนการค้าในการรับข้อมูลการนําเข้าที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ต้องแจ้งแก่กรมทะเบียนการค้า ตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 106) พ.ศ. 2538 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2538
(2) ได้ระดมกําลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมคลังน้ำมันชายฝั่งทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยการ ซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายน้ำมัน รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ประจําในโรงกลั่นน้ำมันแจ้งข้อมูลการจ่ายน้ำมันจากโรงกลั่นให้สรรพสามิตปลายทางทราบทุกครั้ง และทําการตรวจสารเพิ่มคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการชายฝั่งทุกแห่ง และแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสรรพสามิตว่าด้วยการเก็บและการขนย้ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พ.ศ. 2537 ให้การขนส่งน้ำมันออกจากคลังหรือโอนย้ายน้ำมันระหว่างคลังตั้งแต่ 50,000 ลิตร ขึ้นไป ต้องแจ้งสรรพสามิต
(3) การดําเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการซีลผนึกท่อทางรับ-จ่ายคลังน้ำมัน รวมทั้งการ ปฏิบัติการอื่น ๆ มีผลให้การจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2537 – สิงหาคม 2538 (10 เดือน) สูงกว่าปีก่อนในช่วงระยะเดียวกันถึงร้อยละ 18
4.3 กรมสรรพากร ได้มีการกําหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบมิเตอร์หัวจ่าย โดยออกประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 60) เรื่อง กําหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกํากับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตาม มาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ได้กําหนดระบบการควบคุมการรับมอบน้ำมันให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย และ กรมสรรพากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันต่างๆ โดยเน้นให้ ตรวจสอบภาษีสถานีบริการที่ไม่ยอมเข้าอยู่ในระบบมิเตอร์หัวจ่ายเป็นพิเศษด้วย
4.4 กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันที่มีโรงกลั่นในสิงคโปร์ ให้แจ้งรายละเอียดของเรือ บรรทุกน้ำมันที่รับน้ำมันจากโรงกลั่นในสิงคโปร์และมีจุดหมายปลายทางมายังประเทศไทยแล้ว และได้รับแจ้งข้อมูลจาก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด เพียงรายเดียวซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลตามเงื่อนไข และได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนําสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2538 เพื่อกําหนดเงื่อนไขในการนําเข้าน้ำมันให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ทุกราย ต้องแจ้งรายละเอียดการนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทันทีที่เรือเดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์ ปรากฏว่ารายละเอียดส่วนใหญ่ถูกต้อง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมทะเบียนการค้าได้นําส่งแก่ สพช. และกรมสรรพสามิต เพื่อทราบด้วย รวมทั้งกรมทะเบียนการค้าได้ดําเนินโครงการตรวจสอบหาสารเติมแต่ง (Additives) ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากสถานีบริการทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏว่า จากผลการตรวจสอบน้ำมัน จํานวน 3,000 ตัวอย่างพบน้ำมันที่มีปริมาณสารเติมแต่งน้อยกว่าปริมาณที่บริษัทผู้ค้าได้แจ้งไว้แก่กระทรวงพาณิชย์ จํานวน 1,232 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 25 ของตัวอย่างทั้งหมดที่ตรวจสอบ โดยพบความผิดมากที่สุดในภาคใต้บริเวณจังหวัดชุมพร คิดเป็นร้อยละ 53.6 นครศรีธรรมราช ร้อยละ 44.6 สตูล ร้อยละ 41.2 ปัตตานี ร้อยละ 40.7 ตรัง ร้อยละ 39.5 และสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 35.8
4.5 กรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 307/2538 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคและ สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาที่มีเขตอํานาจครอบคลุมพื้นที่ที่มีเรือประมง ให้จัดเวรตรวจสอบใบอนุญาตใช้เรือ ใบทะเบียนเรือไทย ประกาศนียบัตรผู้ควบคุมเรือ และผู้ควบคุมเครื่องจักรของเรือประมงที่เข้าจอดเทียบท่า หรือแพปลา และหากพบผิดให้ลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยให้รายงานผลต่อกรมเจ้าท่าทุกสัปดาห์
4.6 กระทรวงมหาดไทย ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 140/2538 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการป้องกัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 31 มีนาคม 2538 เพื่อจัดรูปองค์การในการกํากับ และประสานการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง
4.7 กรมตํารวจ ได้ดําเนินการออกคําสั่งปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” เพื่อปฏิบัติการปราบปรามการค้าน้ำมันลักลอบนําเข้าในช่วง 17 มีนาคม - 30 กันยายน 2538 ไปแล้ว นั้น เนื่องจากกรมตํารวจได้ประเมินว่าสถานการณ์การลักลอบนําเข้า น้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายในระยะต่อไปจะไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา และสมควรที่กรมตํารวจจะได้ปรับแผนการในการป้องกันและปราบปรามให้เหมาะสม โดยได้อนุมัติให้ยกเลิกคําสั่งปฏิบัติการในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมาย “นม 001” และได้ออกแผน ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง “นม 002” โดยมอบหมายให้หน่วยงานปกติของกรมตํารวจรับผิดชอบในการดําเนินการแทน
4.8 กองทัพเรือ ได้มีคําสั่ง (เฉพาะ) ลับที่ 98/2538 ลงวันที่ 28 เมษายน 2538 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล เพื่อจัดตั้งศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจป้องกัน และปราบปรามการลักลอบค้าน้ำมันในทะเล โดยมุ่งเน้นการสืบหาข่าว การติดตามและจับกุมเรือประมงดัดแปลงเรือน้ำมันขนาดเล็ก หรือเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่มีการขนถ่ายน้ำมันนอกทะเลอาณาเขตของไทยด้วยเรือและอากาศยานที่มีอยู่
5. สถานการณ์ในปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้
5.1 สรุปการจับกุมของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2538 ได้มีการจับกุม รวมทั้งสิ้น 63 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงปริมาณ 2,616,264 ลิตร โดยเป็นการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง 25 ราย ได้ของกลางเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 2,371,942 ลิตร และเป็นการจับกุมคดีอื่น ๆ เช่น ประกอบการค้าโดยไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ค้ามาตรา 6 ทวิ เป็นต้น จํานวน 38 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 244,322 ลิตร ซึ่งการจับกุมในปี 2538 ในช่วงระยะเวลาเพียง 9 เดือนนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2537 ซึ่งมีการจับกุมคดีลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี จํานวน 39 ราย ได้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นของกลาง 1,965,268 ลิตร โดยสามารถจับกุมได้เพิ่มขึ้นจํานวน 24 ราย เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรวม 650,996 ลิตร คิดเป็นอัตราจับกุมเพิ่มร้อยละ 33
5.2 ปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 เป็นต้นมา มีแนวโน้ม แสดงว่าการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ลดลงในระดับหนึ่ง โดยในช่วงมกราคม - พฤษภาคม 2538 (รวม 5 เดือน) มีการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวม 6,442 ล้านลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการจําหน่ายรวม 5,290 ล้านลิตร หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,151 ล้านลิตร คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 22 แต่มี ข้อสังเกตว่าปริมาณการจําหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 และกรกฎาคม 2538 ได้เริ่มมีแนวโน้มลดลงโดยในเดือนกรกฎาคม 2538 ปริมาณการจําหน่ายรวม 1,294 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2538 ซึ่งมีปริมาณ 1,352 ล้านลิตร หรือลดลงประมาณ 58 ล้านลิตร คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 4 ทั้งนี้สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ลดลง เพราะสภาวะฝนตกและน้ำท่วมทําให้การคมนาคมไปมาไม่สะดวกหรืออาจจะมีการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ หรือทั้งสองอย่าง
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กรมตํารวจรับไปดําเนินการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปราม การลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผิดกฎหมายที่ได้ยุบไปแล้วขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และให้ดําเนินการกวดขัน ปราบปรามการลักลอบนําเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ให้เริ่มดําเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป และให้รายงานผลการดําเนินการให้ทราบในการประชุมครั้งต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป ดําเนินการพิจารณาที่จะให้มีหน่วยงานเอกชนทําหน้าที่ตรวจสอบพฤติการณ์ของคลังน้ำมันต่างๆ โดยให้ผู้ค้า น้ำมันสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ
เรื่องที่ 5 รายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2535 มีเจตนารมย์ที่จะส่งเสริมให้เกิดวินัยในการอนุรักษ์พลังงานและให้มีการดําเนินการลงทุนในการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานและอาคาร โดยใช้มาตรการบังคับควบคู่ไปกับการให้สิ่งจูงใจ กล่าวคือได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีบทลงโทษสําหรับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่จะออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว บทบาทของภาครัฐบาลก็คือ การสร้างและใช้กลไกของรัฐในการให้การสนับสนุน และส่งเสริม การดําเนินการในการประหยัดพลังงานของผู้ใช้พลังงาน ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะมีผลบังคับให้มีการดําเนินการอนุรักษ์พลังงานกับเฉพาะผู้ที่ถูกกําหนดเป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น โดยต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
1.2 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้อํานาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการออกกฎกระทรวงเพื่อกําหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมต้องอนุรักษ์พลังงาน ตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานในโรงงาน/อาคารของตนให้เป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง
1.3 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กําหนดให้มีเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้บริหารกองทุนฯ โดยเป็นเงินที่ได้มาจากเงินโอนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่นายกรัฐมนตรีกําหนด เงินที่ได้จากผู้ผลิตและผู้นําเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกําหนด เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นคราว ๆ เงินที่ได้รับจากเอกชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และดอกผลที่ได้จากกองทุนนี้
1.4 พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาตรา 42 กําหนดว่าเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 19 ใช้บังคับ โรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงต้องชําระค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้กําหนดโทษอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จ และการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงอีกด้วย
2. คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดอาคารควบคุมและกฎกระทรวง ที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกา และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 112 ตอน 33 ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับอาคารควบคุมรวม 3 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันอังคาร ที่ 19 กันยายน 2538 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ลงนามใน กฎกระทรวงฯ และนําประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกากําหนดโรงงานควบคุมและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ใน ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติและสามารถ นําเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ในการประชุมครั้งต่อไป
4. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้นําเสนอแผนงานอนุรักษ์พลังงาน แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลําดับความสําคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 4/2537 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2537 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้ออกระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ แล้ว สําหรับแผนงานอนุรักษ์พลังงานประกอบด้วย 3 แผนงาน 10 โครงการ ซึ่งแยกเป็นกลุ่มตามลักษณะของแผนการดําเนินงานได้ ดังนี้ แผนงานภาคบังคับ โดยมีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงานภาคความร่วมมือ โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และแผนงานสนับสนุน โดยมีสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานผลการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแผนการปรับปรุงระบบผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์พลังงาน
เรื่องที่ 6 รายงานความก้าวหน้าการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM)
สรุปสาระสำคัญ
1. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ
1.1 โครงการประชาร่วมใจ ใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า โดยบริษัทผู้ผลิตหลอดไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตและจําหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 20 วัตต์ และ 40 วัตต์ และทําการผลิตหลอดขนาด 18 วัตต์ และ 36 วัตต์ แทน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2537 ซึ่งสามารถยุติการผลิตได้ก่อนกําหนดประมาณ 1 ปี และการส่งเสริมการใช้หลอดตะเกียบประหยัดไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนหลอดไส้ธรรมดา (ขนาด 100 วัตต์, 60 วัตต์, 40 วัตต์) เป็นหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ (ขนาด 11 วัตต์ หรือ 7 วัตต์) จํานวน 1,509,999 หลอด โดยสํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (สจฟ.) จะเปลี่ยนหลอดไฟให้ก่อนและให้ผู้สนใจผ่อนชําระเงินผ่านใบเสร็จค่าไฟฟ้าโดยไม่เสียดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดําเนินการ
1.2 โครงการประชาร่วมใจ ใช้ตู้เย็นประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของตู้เย็นขนาด 5-6 คิวบิคฟุต ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 เป็นต้นไป ประสบผลสําเร็จ โดยประชาชนจะเลือกซื้อตู้เย็นที่ติดฉลาก แสดงระดับประสิทธิภาพในระดับสูง ส่วนผู้ผลิตก็ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพตู้เย็นเพื่อให้ได้ติดฉลากที่มีระดับ ประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพตู้เย็นในทุกขนาดและทุกรุ่น
1.3 โครงการประชาร่วมใจ ใช้เครื่องปรับอากาศประหยัดไฟฟ้า โดยการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศขนาด 7,000- 24,000 บีทียู/ชั่วโมง สจฟ. อยู่ระหว่างประสานงานกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อจัดลําดับการทดสอบ ปัจจุบันได้มี บริษัทผู้ผลิตและจําหน่ายเครื่องปรับอากาศยื่นความจํานงให้ทดสอบประสิทธิภาพเพื่อติดฉลาก จํานวน 40 บริษัท จาก 81 บริษัท และได้มีการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว 12 บริษัท คาดว่าจะสามารถติดฉลากเครื่องปรับอากาศได้ในราวเดือนมกราคม 2539
2. โครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ และโครงการ การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จะมีแนวทางในการดําเนินการที่คล้ายกัน กล่าวคือ สจฟ. ได้ริเริ่มโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) สําหรับอาคารของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ อาคารสํานักงานของเอกชนที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและประสงค์จะเข้าร่วมโครงการการ ประหยัดไฟฟ้า โดยอาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้า อาทิ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มีการจัดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Load Management) และจัดการปรับปรุงระบบการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร เป็นต้น โดย สจฟ. จะเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าให้ก่อน และให้ผ่อนชําระคืนภายหลัง ทั้งนี้ จะมีการเสนอขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมโครงการงดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา ที่ กฟผ. ร้องขอ (Voluntary Interruption) ด้วย ปัจจุบันมีอาคารที่เข้าร่วมโครงการ 4 อาคาร ได้แก่ อาคารเซ็นทรัลพลาซ่า ธนาคารแห่งประเทศไทย โรงแรมในเครือดุสิตธานี และอาคาร The Nation นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบกักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) ซึ่งหมายถึงระบบทําความเย็นเก็บไว้ในรูปของน้ำเย็นหรือน้ำแข็งในเวลากลางคืน และนําความเย็น มาใช้ในเวลากลางวัน โดย สจฟ. จะนํามาทดลองใช้ในโครงการสาธิตระยะแรกที่สํานักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และในระยะที่สองจะนํามาทดลองใช้กับอาคารที่มีระบบ ปรับอากาศขนาดใหญ่ เช่น ห้างเซ็นทรัลพลาซ่า โรงแรมดุสิตธานี และอาคารในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น คาดว่าจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในระยะ 10-15 ปี ในอนาคต
3.โครงการการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Management) เป็นการดําเนินการ ด้านเทคโนโลยีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการประหยัดพลังงานมาทดลองใช้ เช่น โครงการทดลองควบคุมการทํางานของเครื่องปรับอากาศโดยใช้ ระบบ Ripple Control ซึ่งเป็นระบบควบคุมจากศูนย์กลาง และโครงการทดลองระบบปรับอากาศด้วยระบบ กักเก็บความเย็น (Thermal Energy Storage) เป็นต้น
4. โครงการส่งเสริมทัศนคติประหยัดไฟฟ้า (Attitude Creation Program) มีแนวทางในการ ดําเนินงาน คือ ในระยะสั้นจะรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้าในรูปของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนในระยะยาวจะดําเนินการให้มีการเรียนการสอนเพื่อสร้างนิสัยประหยัดไฟฟ้าให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งประกอบด้วย
4.1 โครงการส่งเสริมทัศนคติเยาวชน โดยการจัดทําชุดการเรียนและคู่มือเพื่อสร้างนิสัยในการประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการปรับปรุงต้นฉบับ ประสานงานและจัดพิมพ์ ติดต่อจัดจ้างทําอุปกรณ์ในศูนย์การเรียน เพื่อส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าสําหรับการเรียนการสอนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และโครงการลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บําเพ็ญประโยชน์ประหยัดไฟฟ้า อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทําหลักสูตร
4.2 โครงการอาคารสีเขียว โดยจัดทําข่าวเผยแพร่ข้อมูล และตราสัญลักษณ์ของโครงการอาคารสีเขียว เพื่อเผยแพร่ในรายการ วิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ รายการโทรทัศน์ และไทยสกายทีวี
5. โครงการประเมินศักยภาพและการประเมินผล (Project Assessment and Project Evaluation) เป็นการติดตามและประเมินผลโครงการเพื่อเป็นการยืนยันว่า การใช้เงินในการดําเนินงานตามโครงการ DSM มีผลในทางปฏิบัติจริงและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาวางแผนก่อสร้าง โรงไฟฟ้าในอนาคตได้อีกด้วย ส่วนผลการพิจารณาทางด้านเทคนิคสําหรับการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผล โครงการ (Independent Monitoring and Evaluation Agency : IMEA) ได้มีบริษัทที่ปรึกษา 4 แห่ง ยื่นข้อเสนอให้ กฟผ. พิจารณา ปรากฏว่า บริษัท Barakat and Chamberlin ได้รับคะแนนสูงสุด และได้เริ่ม ดําเนินงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2538 ที่ผ่านมา
6. การพิจารณาเพิ่มเป้าหมาย จากความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดําเนินการมา ทําให้โครงการ DSM ซึ่งมีเป้าหมาย เดิมที่จะลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง Peak 238 เมกะวัตต์ ในปี 2540 กําลังพิจารณาเพิ่มเป้าหมายการประหยัดไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 3,400 ล้านหน่วย และประหยัดพลังไฟฟ้าได้ 1,400 เมกะวัตต์ โดยยังคงงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการตามเดิม
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดําเนินงานโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
2. มอบหมายให้สํานักงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า ประสานงานกับกระทรวงการคลัง ในการลดภาษีนําเข้าอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า และประสานงานกับสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์สําหรับโรงงานผลิตอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าในประเทศไทย
เรื่องที่ 7 รายงานความคืบหน้าการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)
1.1 รัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป. ลาว ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือ ด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริม และร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้า ให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ได้มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 116/2536 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2536 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) และคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 135/2537 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 เรื่องแต่งตั้งกรรมการใน คปฟ.-ล เพื่อติดตามการดําเนินงาน และประสานความร่วมมือกับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ ขณะเดียวกัน รัฐบาล สปป. ลาว ได้แต่งตั้ง Committee for Energy and Electric Power (CEEP) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาโครงการ ดังกล่าว
1.2 ขณะนี้มีโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนารวม 10 โครงการ รวมกําลังผลิต ประมาณ 3,603 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว 3 โครงการ และเป็นโครงการซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 7 โครงการ ดังนี้ โครงการที่ได้ตกลงราคาค่าไฟฟ้าแล้ว รวม 3 โครงการ คือ 1) โครงการน้ำเทิน-หินบุน มีกําลังผลิตติดตั้ง 210 เมกะวัตต์ 2) โครงการน้ำเทิน 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 681 เมกะวัตต์ 3) โครงการห้วยเฮาะ มีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ 133 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวม 7 โครงการ คือ 1) โครงการโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา มีกําลังผลิตติดตั้ง 720 เมกะวัตต์ 2) โครงการเซคาตาม-เซคามาน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 70 เมกะวัตต์ และ 360 เมกะวัตต์ 3) โครงการน้ำเทิน 1 มีกําลังผลิตติดตั้ง 540 เมกะวัตต์ 4) โครงการน้ำงึม 2 มีกําลังผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ 5) โครงการน้ำเทิน 3 มีกําลังผลิตติดตั้ง 190 เมกะวัตต์ 6) โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกําลังผลิตติดตั้ง 339 เมกะวัตต์ 7) โครงการน้ำเลิก มีกําลังผลิตติดตั้ง 60 เมกะวัตต์
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย
2.1 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2538 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย โดยให้มีการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis ประเทศมาเลเซีย ในปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ในปี 2540 ในราคาที่เหมาะสม และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อรับผิดชอบการเจรจาและการประสานงาน
2.2 รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายสาวิตต์ โพธิวิหค) ในฐานะประธานคณะกรรมการ พิจารณานโยบายพลังงาน ได้มีคําสั่งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานที่ 5/2538 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย เพื่อรับผิดชอบการเจรจา และการประสานงานในการรับซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ จากบริษัท Teknologi Tenaga Perlis
2.3 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการเจรจากับฝ่ายมาเลเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 สรุปความคืบหน้าในการเจรจา ได้ดังนี้ บริษัท Teknologi Tenaga Perlis (TTP) จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศมาเลเซีย ขนาด 650 เมกะวัตต์ และเสนอขายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ. จํานวน 300 เมกะวัตต์ แบบ Firm Energy โดยกระแสไฟฟ้าจะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าไปที่ Substation Chuping, Alor Setar, Bedong และ Gurun HVDC Convertor Station ในประเทศมาเลเซียและผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระบบกระแสตรง EGAT-TNB HVDC Link ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงคลองแงะในประเทศไทย ซึ่ง TTP ประมาณว่า อัตราค่าไฟฟ้า จะอยู่ในระดับเท่ากับ 5.5 เซนต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์- ชั่วโมง ซึ่งยังไม่รวมค่าส่งผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซีย แต่ยังไม่มีข้อเสนอทางด้านราคาที่ชัดเจน เพราะรัฐบาลมาเลเซียยังไม่ได้กําหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้สายส่ง และอัตราค่าบริการสายส่ง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ขอให้ TTP พิจารณาราคาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยที่รวมค่าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้ามาเลเซียเสนอคณะอนุกรรมการฯ ขณะเดียวกันให้ กฟผ. และ TTP ร่วมกัน พิจารณารายละเอียดทางด้านเทคนิค และการเชื่อมโยงระบบ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการตกลงราคาและเงื่อนไข สําคัญๆ ในการซื้อขายไฟฟ้า ภายในปลายปี 2538 และให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในช่วงกลางปี 2539
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 8 การลดช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. จากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายด้านพลังงานส่วนหนึ่งกําหนดให้มี การปรับปรุงและพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และให้น้ำมันมีราคาจําหน่ายปลีก ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) จึงได้จัดทําข้อเสนอ เพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าว โดยเสนอมาตรการดําเนินการเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 เกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มาตรการที่ 2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง มาตรการที่ 3 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ มาตรการที่ 4 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค และมาตรการที่ 5 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์) ได้พิจารณามาตรการดังกล่าวแล้ว เห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้ สพช. นํามาตรการที่ 1 และ 2 ไปดําเนินการ เนื่องจากสามารถ กระทําได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานใดทั้งสิ้น
2. สพช. ได้ดําเนินการตามมาตรการที่ 1 และ 2 แล้ว ดังนี้
2.1 การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สพช. ร่วมกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อีก 4 ราย คือ เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ และบางจาก ได้ดําเนินการปรับราคา น้ำมันเพื่อเกลี่ยค่าการตลาดแล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
2.2 ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สพช. ได้ทําการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า ค่าขนส่งควรลดต่ำลงจากบัญชีค่าขนส่งที่ทางราชการใช้อยู่ในปัจจุบันในทุกจังหวัดประมาณลิตรละ 1-10 สตางค์ ยกเว้น 9 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ลําพูน พะเยา อุบลราชธานี อํานาจเจริญ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งควรสูงขึ้นลิตรละ 1-2 สตางค์ ทั้งนี้ สพช. ได้นําผลการศึกษาดังกล่าวประชุมหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ขนส่งน้ำมัน รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และมีความเห็นว่าควรนํามาใช้แทนบัญชีค่าขนส่งเดิมได้ ซึ่งขณะนี้ สพช. กําลังประสานงานกับ ปตท. เพื่อนําไปปรับราคาจําหน่ายในต่างจังหวัดต่อไป
3. สําหรับมาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการมีสาระสําคัญ โดยสรุป ดังนี้
3.1 ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ สถานีบริการในปัจจุบันส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเมือง และริมทางหลวงสายหลัก ส่วนในท้องที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลและในเขตภูเขา ยังมีสถานีบริการ น้อยมากหรือไม่มีเลย สพช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมโยธาธิการ และกรมทางหลวง ได้ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้สามารถตั้งสถานีบริการได้มากขึ้น
3.2 การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค การมีกําลังกลั่นน้ำมันในประเทศมากขึ้นจะช่วยเพิ่ม ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น และทําให้ราคาจําหน่ายลดลงในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ หากมีโรงกลั่นน้ำมันขึ้นในภูมิภาคใดจะทําให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ลดลงได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่ง หรือเสียในอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิมมาก
3.3 ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ ท่อขนส่งน้ำมันเป็นกลไกที่สําคัญในการที่จะทําให้รัฐสามารถปรับราคาขายปลีกทั่วประเทศให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากการมีท่อขนส่งน้ำมันในภาคกลาง ปัจจุบันคือ ท่อศรีราชา-ลําลูกกา-สระบุรี ของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จํากัด (THAPPLINE) และท่อ บางจาก-ดอนเมือง-บางปะอิน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จํากัด (FPT) ทําให้สามารถปรับราคาขายปลีกให้เท่ากันได้ถึง 13 จังหวัดในภาคกลาง คือ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบอีก 12 จังหวัด ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาขยายท่อส่งน้ำมันให้กว้างขวางออกไปยังภาคอื่น ๆ เพื่อให้ สามารถปรับราคาจําหน่ายให้ลดลงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่ง สพช. ได้ทําการศึกษาในเบื้องต้นร่วมกับ บริษัทท่อทั้งสองบริษัทแล้ว ว่าควรมีการขยายท่อส่งน้ำมัน ดังนี้ ขยายท่อจากศรีราชาไปมาบตาพุดเพื่อรับน้ำมันจากโรงกลั่นใหม่ 2 โรงในจังหวัดระยอง ต่อท่อแยกจากท่อประธานช่วงศรีราชา-ลําลูกกาไปจ่ายน้ำมันให้สนามบินหนองงูเห่า คลังน้ำมันพระโขนง และคลังช่องนนทรี และขยายท่อจากสระบุรีไปภาคเหนือถึงพิษณุโลกหรือลําปาง และไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงขอนแก่น เพื่อจ่ายน้ำมันให้กับสถานีบริการและผู้ใช้น้ำมันในภาคดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิจการท่อส่งน้ำมันเป็นกิจการที่ต้องลงทุนมาก และในระยะแรก มีปริมาณน้ำมันผ่านท่อน้อยอาจจะทําให้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น รัฐจึงควรเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นการดําเนินการระยะแรกและมีรายได้พอเลี้ยงตัวเองได้ เช่น การส่งเสริมให้มี รถบรรทุกวิ่งเข้ารับน้ำมันได้โดยสะดวก การลดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเช่าที่ดิน การแก้ไขสัญญากับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เอื้ออํานวยต่อการกู้เงินได้ง่ายขึ้นและการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการดําเนินงานตามมาตรการที่ 1 และ 2 คือ
(1) การเกลี่ยค่าการตลาดกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
(2) ปรับปรุงบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบในหลักการสําหรับมาตรการที่ 3, 4 และ 5 คือ
(1) ปรับปรุงกฎเกณฑ์ส่งเสริมการตั้งสถานีบริการ
(2) การขยายหรือสร้างโรงกลั่นในภูมิภาค
(3) ส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อ
โดยมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการต่อไป
3. มอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไป พิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าผ่านท่อที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการลงทุนขยายเส้นท่อออกไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป
เรื่องที่ 9 สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวัน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 มอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติ โดยเร่งดําเนินการเจรจารับซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานในอ่าวไทย และจากแหล่งในต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
2. ปตท. ได้ดําเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานแหล่งทานตะวันในแปลง B8/32 และได้ลงนาม ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2538 โดยมีสาระสําคัญที่จะทําให้สัญญามีผลบังคับใช้ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้คือ (1) เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจากทางรัฐบาลไทยด้วย (2) ทั้งสองฝ่ายลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2538 หรือหลังจากนั้น ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงเลื่อนกําหนดการดังกล่าวออกไป ซึ่งต่อมาได้มีการลงนามในการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ เพื่อเลื่อนกําหนดวันลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่ง ปตท. ได้ส่งร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ให้สํานักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2538
3. กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ ปตท. ลงนามในร่างสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ได้ เนื่องจาก
3.1 ปตท. ต้องเร่งดําเนินการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศเพื่อสนองตอบ ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
3.2 แหล่งก๊าซฯ ทานตะวัน สามารถสนองตอบความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้เร็วที่สุด และทันเวลา
3.3 เงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ แหล่งทานตะวัน เป็นไปตามแบบของสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปัจจุบันที่ ปตท. ถือปฏิบัติอยู่และเป็นประโยชน์ต่อ ปตท.
3.4 ราคาก๊าซฯ เริ่มต้นของแหล่งทานตะวันจะต่ำกว่าราคาซื้อขายก๊าซฯ เฉลี่ยจากแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าราคาก๊าซจากแหล่งต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเทียบกับประมาณการ ของราคาน้ำมันที่ระดับต่าง ๆ
3.5 ผู้ขายยินยอมคุ้มครองความเสี่ยงของ ปตท. ในเรื่องการลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ ปตท. กรณีที่ผู้ขายไม่สามารถส่งก๊าซให้ ปตท. ได้ครบจํานวนตามสัญญา
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานสรุปผลการเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันแปลง สัมปทาน B8/32
2. เห็นชอบตามข้อเสนอของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และให้ ปตท. รับไปดําเนินการ ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งทานตะวันต่อไป เมื่อสัญญาฯ ดังกล่าวได้รับการแก้ไขจาก สํานักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว (ถ้ามี)
เรื่องที่ 10 การรับซื้อไฟฟ้าโครงการห้วยเฮาะ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ร่วมกันลงนาม ในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 ณ นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว โดยทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและร่วมมือกันพัฒนาไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 เพื่อจําหน่ายให้กับประเทศไทย และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสาน ความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว (คปฟ.-ล) เพื่อติดตามการดําเนินงานและประสานความร่วมมือ กับ สปป. ลาว ให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
2. คปฟ.-ล ได้ดําเนินการเจรจาเพื่อซื้อไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะ ซึ่งมีกําลังผลิตจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ จุดส่งมอบ (Contracted Capacity) 133.2 เมกะวัตต์ และกําหนดจะแล้วเสร็จปี 2541 โดยการเจรจาสามารถหาข้อยุติได้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กฟผ. 03100/51319 ถึงสํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เพื่อขอนําบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. บันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะมีสาระสําคัญสรุปได้ ดังนี้ (1) เป็นบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่าง กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ บันทึกความเข้าใจระหว่าง กฟผ. กับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการน้ำเทิน-หินบุนและน้ำเทิน 2 ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว บันทึกความเข้าใจจะประกอบด้วยหลักการสําคัญในการซื้อขายไฟฟ้า เช่น อัตราค่าไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าที่จะรับซื้อ ซึ่งจะเป็นสาระสําคัญของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะมีการเจรจาและลงนามกันต่อไป (2) บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่เป็น ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือนจากวันลงนาม ยกเว้นว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงขยายระยะเวลา (3) กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบ (ชายแดนไทย-ลาว) โดยมีปริมาณพลังงานไฟฟ้าประเภท Firm จํานวน 563 ล้านหน่วยต่อปี Secondary Energy จํานวน 12 ล้านหน่วยต่อปี และมีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา 133.2 เมกะวัตต์ เป็นเวลาวันละ 13.5 ชั่วโมง ในช่วงวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ของแต่ละสัปดาห์ (4) อัตราค่าไฟฟ้าจะเป็น ดังนี้ กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าที่ราคา 4.22 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย (ณ วันที่ 1 มกราคม 2537) หรือประมาณ 1.06 บาทต่อหน่วย และให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี จนถึงวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2542 และจะไม่มีการปรับราคาค่าไฟฟ้าจนกว่าจะมีการเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ครบ 12 เดือน เมื่อครบกําหนด 12 เดือน นับจากวันเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น ปีละร้อยละ 35 ของอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลบาท และอีกร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้า จะชําระเป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลบาทและเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ เฉลี่ยของเดือนที่มีการลงนามในสัญญา (5) ในกรณีที่กลุ่มผู้พัฒนาโครงการจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. น้อยกว่าปริมาณตามสัญญา จะมีบทปรับ เช่น ในกรณี ที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายน้อยกว่าปริมาณตามสัญญาแต่มากกว่าร้อยละ 50 อัตราค่าไฟฟ้า จะลดลงเหลือประมาณ 3.65 เซนต์สหรัฐฯต่อหน่วย (6) สําหรับเรื่องกฎหมายที่ใช้ในการทําสัญญาในข้อ 6 ตาม MOU ระบุให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับ MOU และสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น กลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะได้มีข้อโต้แย้ง โดยขอเสนอให้ใช้กฎหมายของประเทศที่เป็นกลาง
4. สพช. มีความเห็นว่าเห็นควรให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ กฟผ. เสนอ ทั้งนี้เพราะอัตราค่าไฟฟ้าที่ตกลงกันได้อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ. (Avoided Cost) คือ ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่จะได้จากการผลิตไฟฟ้าโดยโครงการอื่นที่ กฟผ. จะดําเนินการ และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่ได้ตกลงรับซื้อไปแล้วจากโครงการน้ำเทิน 2 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ควรพิจารณากําหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กฎหมายว่าจะยืนยันให้ใช้กฎหมายไทย หรือจะยอมให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบประเด็นหลักของการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการห้วยเฮาะ แต่ทั้งนี้ให้ใช้กฎหมายประเทศที่สาม (เช่น กฎหมายอังกฤษ) เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับบันทึกความเข้าใจ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กฟผ. รับไปลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกลุ่มผู้พัฒนาโครงการต่อไป
เรื่องที่ 11 อัตราค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
ที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นตามที่ประชาชนร้องเรียนมา ดังนี้
1. อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมามีอัตราที่สูงขึ้น ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ จึงควรมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติดังกล่าว เพื่อมิให้การไฟฟ้า ผลักภาระค่าใช้จ่ายบางประเภทที่ไม่เหมาะสมให้ผู้ใช้ไฟ รวมทั้ง ควรคํานึงถึงประสิทธิภาพการดําเนินการ และการให้บริการของการไฟฟ้าฯ เช่น ความสูญเสียในระบบ (Losses) และคุณภาพการบริการ ซึ่งหากไม่สามารถดําเนินการได้ การไฟฟ้าฯ ควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้
2. การประเมินผลการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ของการไฟฟ้าฯ ไม่ควรใช้กําไรเป็นหลักเพราะจะทําให้ การไฟฟ้าฯ มุ่งเน้นการหากําไรเพียงประการเดียว และผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้ไฟ จึงควรพิจารณา การประเมินผลด้วยเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ประกอบด้วย
3. อัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากการใช้น้ำมันดีเซลในจํานวนที่สูงเกือบถึง 100 ล้านลิตร/เดือน ในขณะที่แต่เดิมได้วางแผนว่าจะใช้น้ำมันดีเซลไม่เกิน 3 ล้านลิตรต่อเดือน เท่านั้น จึงส่งผลให้ อัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลมีต้นทุนที่สูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น การใช้น้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูงเป็นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มสูงเกินกว่ากําลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น หากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะติดตั้งระบบกําจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) แล้วเสร็จก็จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ส่วนหนึ่ง สําหรับในระยะยาวควรให้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาในระบบเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลให้มากที่สุด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สํานักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พิจารณาหาวิธีการในการลดอัตราค่าไฟฟ้า รวมทั้ง พิจารณาทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยคํานึงถึงข้อพิจารณาของที่ประชุมดังกล่าว