Super User
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 20-26 พฤศจิกายน 2566
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 18 - 24 ธันวาคม 2566
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 11 - 17 ธันวาคม 2566
กบง.ครั้งที่ 6/2566 (ครั้งที่ 62) วันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 6/2566 (ครั้งที่ 62)
วันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566
1. การบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งกำหนดมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถันไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) โดยกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว เป็นระดับยูโร 5 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ครม. ได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เรื่อง แนวทาง การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นทางเลือก โดย ธพ. ได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 (มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (หรือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 (มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร) อย่างไรก็ดี ธพ. ได้กำหนดแผนการบริหารจัดการชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลในร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) พ.ศ. 2566 – 2580 โดยมีแผนให้ตั้งแต่ ปี 2567 เป็นต้นไปกำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดเดียว ซึ่งเบื้องต้นกำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 7 เป็นเกรดพื้นฐาน เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นทางเลือกสำหรับ Fleet โดยไม่อุดหนุนราคา
2. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ธพ. ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายด้านคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดแผนการดำเนินการเพื่อบังคับใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วมาตรฐานยูโร 5 และการบริหารจัดการชนิดน้ำมันในกลุ่มน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้
2.1 การกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันในกลุ่มดีเซล ตามร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil plan) โดย ธพ. จะจัดทำร่างประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... โดยยกเลิกมาตรฐานคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 และกำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วมี 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (หรือน้ำมันดีเซลบี 7) กำหนดให้เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานของประเทศ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทางเลือก
2.2 การเตรียมการของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 (สถานีบริการน้ำมัน) ดังนี้ (1) การเตรียมการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 โดยให้สถานีบริการน้ำมัน ทยอยจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งผลิตก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 และเปลี่ยนผ่านคุณภาพน้ำมันที่จำหน่ายให้เป็นน้ำมันยูโร 5 และ (2) การเตรียมการบริหารจัดการชนิดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยให้สถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนป้ายชื่อชนิดน้ำมัน จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 คงค้าง (น้ำมันที่ผลิตก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567) ให้ติดป้ายชื่อกำกับว่าเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 6.6 – ร้อยละ 10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 จะต้องมีสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
2.3 ระยะเวลาผ่อนผัน 3 เดือน ในช่วงเดือนมกราคม 2567 – เดือนมีนาคม 2567 ดังนี้ (1) การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 ผ่อนผันให้คลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว มาตรฐานยูโร 4 คงค้าง (น้ำมันที่ผลิตก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567) โดยสำหรับน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ผ่อนผันในข้อกำหนดเรื่องปริมาณกำมะถันสูงกว่า 10 แต่ไม่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ผ่อนผันในข้อกำหนดเรื่องปริมาณกำมะถัน สูงกว่า 10 แต่ไม่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน สูงกว่าร้อยละ 8 แต่ไม่สูงกว่าร้อยละ 11 โดยน้ำหนัก ทั้งนี้ สำหรับน้ำมันที่จัดเก็บในโรงกลั่นน้ำมันจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และ (2) การบริหารจัดการชนิดน้ำมันในกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ดำเนินการดังนี้ (2.1) ผ่อนผันให้สถานีบริการน้ำมันสามารถจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร คงค้าง ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผลิตก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 (2.2) ผ่อนผันให้สถานีบริการน้ำมันสามารถจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี10) ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร คงค้าง ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผลิตก่อน วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยติดป้ายชื่อกำกับว่าเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 6.6 – ร้อยละ 10 และ (2.3) ผ่อนผันเรื่องสีของน้ำมัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากจะมีการยกเลิกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี10) ซึ่งมีสีม่วง ดังนั้น คลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันจะเปลี่ยนไปจัดเก็บน้ำมันดีเซล หมุนเร็วธรรมดา (บี7) ซึ่งเป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานตามประกาศฉบับใหม่แทน ทำให้ในช่วงระยะเวลาที่มี การเปลี่ยนผ่านเกรดน้ำมัน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) จะมีสีผิดเพี้ยนไปจากที่กำหนดให้ต้องเป็นสีเหลือง อย่างไรก็ดี ตามที่ ธพ. กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ทันภายในระยะเวลาการผ่อนผัน 3 เดือน แจ้งแผนการดำเนินการเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันที่สถานีบริการน้ำมันต่อ ธพ. ภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 พบว่ามีผู้ค้าน้ำมันจำนวน 2 ราย ได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นต่อ ธพ. ว่าเนื่องจากมีจำนวนสถานีบริการที่ต้องบริหารจัดการจำนวนมาก ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ทำให้การจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิดเป็นไปได้ช้า ส่งผลให้การหมุนเวียนน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันในสถานีบริการบางพื้นที่ได้ทันภายในระยะเวลากำหนด ซึ่ง ธพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการที่คาดว่าจะดำเนินการไม่ทันระยะเวลาการผ่อนผันมีประมาณร้อยละ 11.7 ของปริมาณน้ำมันในสถานีบริการทั่วประเทศ จึงเห็นควรให้คงระยะเวลาการผ่อนผัน 3 เดือน ตามมติที่ประชุม และขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้ผู้ค้าน้ำมันในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันต่อไปอีกไม่เกิน 1 เดือน โดยให้ผู้ค้าน้ำมันส่งหนังสือขอขยายระยะเวลาการผ่อนผันถึง ธพ. เพื่อพิจารณา
2.4 การประชาสัมพันธ์ ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 – เดือนธันวาคม 2566 โดยมีแนวทาง ดังนี้ (1) กำหนดประเด็นสื่อสารและเนื้อหาที่จะประชาสัมพันธ์ คือ การบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการลดหัวจ่ายน้ำมันดีเซล (2) กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการน้ำมัน ประชาชน และสื่อมวลชน (3) กำหนด สื่อที่ใช้ และการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ คือ แผ่นพับ อินโฟกราฟิกส์ (Infographic) คลิปวีดิทัศน์ (Video Clip) ข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release หรือ Scoop News) และการแถลงข่าว และ (4) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และการปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
2. มอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการคลัง พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้อง จากการปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันยูโร 4 เป็นมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แล้วนำมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
3. มอบหมายกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จัดส่งร่างประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. .... เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนนำมาเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 มาตรา 23 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษาและจัดทำกฎกระทรวงแล้ว จำนวน 72 ฉบับ (72 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลจากการศึกษาจะได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (High Energy Efficiency Standards : HEPS) นำมาจัดทำเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (Minimum Energy Efficiency Standards : MEPS) นำมาจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำส่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศบังคับใช้ต่อไป
2. ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 38 ฉบับ (38 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือออกกฎกระทรวงกำหนดวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ของตนเอง ซึ่งหากเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับการส่งเสริมโดยใช้มาตรการการติดฉลาก กฎกระทรวงดังกล่าว จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการดำเนินการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ซึ่งดำเนินการ โดย พพ. ติดฉลากแล้ว 19 ผลิตภัณฑ์ และฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดฉลากแล้ว 19 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 พพ. ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้านการกำหนดมาตรฐาน กับ สมอ. โดยมีกรอบความมือให้ พพ. กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำตามแผนและกระบวนการที่ พพ. และ สมอ. ดำเนินการร่วมกัน และ พพ. จะศึกษาค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำให้ สมอ. เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ส่งร่าง มอก. ให้กับ สมอ. และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 29 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นมาตรฐานบังคับ 5 ฉบับ และมาตรฐานทั่วไป 24 ฉบับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มี การใช้เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงมากขึ้น และเป็นการกีดกันการใช้เครื่องจักรวัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานต่ำ ทำให้มีศักยภาพการประหยัดพลังงานของประเทศมากขึ้น
3. พพ. ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (ร่างกฎกระทรวงฯ) และร่าง มอก. โดยดำเนินการสำรวจข้อมูลในด้านต่างๆ เช่น จำนวน รุ่น ปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อกำหนดกลุ่มและจำนวนตัวอย่างที่ต้องสุ่มทดสอบ รวมถึงแนวทางการหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน วิธีมาตรฐานการทดสอบ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงทดสอบหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน ประมวลผลการทดสอบตามหลักสถิติ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ HEPS ประมาณร้อยละ 20 และกำหนดให้ไม่ผ่านเกณฑ์ MEPS ประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ แต่ละผลิตภัณฑ์มีการปรับให้เหมาะสมโดยคำนึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่าง มอก. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญตามสาขาต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ รวมทั้งการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีขั้นตอน การพิจารณาดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พพ. (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (3) คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงพลังงาน (4) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) (5) กพช. (6) คณะรัฐมนตรี (7) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) (8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนาม และ (9) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่าง มอก. ที่ผ่านขั้นตอนที่ 2 คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน แล้ว พพ. จะนำส่ง สมอ. เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานต่อไป
4. ร่างกฎกระทรวงฯ แต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย หลักการและเหตุผล นิยาม ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และมาตรฐานการทดสอบ ห้องทดสอบ โดยมีรายละเอียดการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูงของร่างกฎกระทรวงฯ ทั้ง 17 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
4.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามชนิดและขนาดของเครื่องปรับอากาศที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) เครื่องปรับอากาศ ชนิดความสามารถทำความเย็นคงที่ ขนาดไม่เกิน 8,000 วัตต์ และขนาดมากกว่า 8,000 วัตต์ แต่ไม่เกิน 12,000 วัตต์ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน EER (Energy Efficiency Ratio) 3.63 – 3.97 วัตต์ต่อวัตต์ และ 3.46 – 3.72 วัตต์ต่อวัตต์ ตามลำดับ และ (2) เครื่องปรับอากาศชนิดความสามารถทำความเย็นปรับเปลี่ยนได้ ขนาดไม่เกิน 8,000 วัตต์ และขนาดมากกว่า 8,000 วัตต์ แต่ไม่เกิน 12,000 วัตต์ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน CSPF (Cooling Seasonal Performance Factor) 5.00 – 7.50 วัตต์ชั่วโมง ต่อวัตต์ชั่วโมง และ 4.70 – 6.34 วัตต์ชั่วโมงต่อวัตต์ชั่วโมง ตามลำดับ
4.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังด้านออก และจำนวนขั้วของมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 2 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 53.6 - 66.5 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.1 - 91.7 และ (2) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 4 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 59.1 - 69.8 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.7 - 92.6
4.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามกำลังด้านออก และความดันอากาศอัดที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) เครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีน้ำมันในกระบวนการอัด ระบายความร้อนด้วยอากาศ กำหนดค่ากำลังจำเพาะของขนาดกำลังด้านออก 2.2 กิโลวัตต์ สำหรับความดันอากาศอัดในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 7.5 - 6.9 ถึง 9.7 - 8.2 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ จนถึงขนาดกำลังด้านออก 315 กิโลวัตต์ ในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 5.4 - 4.8 ถึง 7.6 - 6.0 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ และ (2) เครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีน้ำมันในกระบวนการอัด ระบายความร้อนด้วยน้ำ กำหนดค่ากำลังจำเพาะของขนาดกำลังด้านออก 7.5 กิโลวัตต์ สำหรับความดันอากาศอัดในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 6.2 - 5.3 ถึง 8.1 - 7.1 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตรต่อนาที ตามลำดับ จนถึงขนาดกำลังด้านออก 630 กิโลวัตต์ ในช่วง 0.7 ถึง 1.25 เมกะพาสคาล ที่ 5.3 - 4.5 ถึง 7.2 - 6.3 กิโลวัตต์ต่อลูกบาศก์เมตร ต่อนาที ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องอัดอากาศแบบเกลียวทั้งสองรูปแบบนอกเหนือจากขนาดกำลังด้านออกที่กำหนด ให้คำนวณหาค่ากำลังจำเพาะจากสมการที่กำหนด
4.4 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน ตามค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้น ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไป ที่จำเพาะแตกต่างไปตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี ได้แก่ หลอดแอลอีดีแบบทรงเอ หลอดแอลอีดีแบบเอ็มอาร์ หลอดแอลอีดีแบบพาร์ หลอดแอลอีดีแบบทีแปด ดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีแบบโลว์เบย์และไฮเบย์ และดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีแบบสาดแสง โดยกำหนดค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้นที่ 80 - 85 ลูเมนต่อวัตต์ ถึง 120 - 150 ลูเมนต่อวัตต์ ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 - 96 ของประสิทธิศักย์เริ่มต้น และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไป 70 - 80
4.5 ร่างกฎกระทรวงกำหนดฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามชนิดและความหนาของฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) ฉนวนอีพีดีเอ็ม ความหนา 3 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 0.1071 - 0.1125 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ จนถึงความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 1.3985 - 1.4684 ตารางเมตร เคลวินต่อวัตต์ และ (2) ฉนวนเอ็นบีอาร์ ความหนา 3 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 0.1186 - 0.1243ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ จนถึงความหนา 50 มิลลิเมตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 1.6090 - 1.6856 ตารางเมตรเคลวินต่อวัตต์ ทั้งนี้ ค่าประสิทธิภาพพลังงานของฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำที่ไม่ได้ระบุ ความหนาตามที่กำหนด ให้คำนวณหาค่าประสิทธิภาพพลังงานจากสมการที่กำหนด
4.6 ร่างกฎกระทรวงกำหนดกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน SHGC (Solar Heat Gain Coefficient) ค่า LSG (Light to Solar Gain) ค่า U-Value ที่จำเพาะแตกต่างไปตามกลุ่มและประเภทของกระจก ได้แก่ (1) กลุ่มกระจกพื้นฐาน ประเภทกระจกแผ่น กระจกโฟลตใส กระจกโฟลตสีตัดแสง และกระจกสีเขียว กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.53 – 0.47 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ (2) กลุ่มกระจกแปรรูปแผ่นเดี่ยว กลุ่มที่ 1 ประเภท กระจกเทมเปอร์ และกระจกอบแข็งด้วยความร้อน กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.53 – 0.47 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ (3) กลุ่มกระจกแปรรูป แผ่นเดี่ยว กลุ่มที่ 2 ประเภทกระจกเปล่งรังสีความร้อนต่ำ กระจกสะท้อนแสง และกระจกนิรภัยหลายชั้น กำหนดค่า SHGC และค่า LSG ที่ 0.50 - 0.46 และ 1.20 – 1.30 ตามลำดับ และ (4) กลุ่มกระจกฉนวนความร้อน ประเภทกระจกฉนวนความร้อน กำหนดค่า SHGC ค่า LSG และค่า U-Value ที่ 0.40 - 0.33 1.20 – 1.60 และ 2.25 – 1.97 ตามลำดับ
4.7 ร่างกฎกระทรวงกำหนดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ ประเภท L1e-A L1e-B และ L3e ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 20.4 – 18.7 26.4 – 23.4 และ 36.8 – 29.7 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร ตามลำดับ
4.8 ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้งที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้งทุกขนาด ที่ 5.257 + 0.010V ถึง 4.673 + 0.009V กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน
4.9 ร่างกฎกระทรวงกำหนดตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้งที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานของตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้งทุกขนาด ที่ 2.6767 + 0.0034V ถึง 1.6295 + 0.0020V กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน
4.10 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องแช่เย็นและเครื่องแช่แข็งอย่างรวดเร็วที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามความสามารถในการแช่เย็น 0.073 – 0.050 กิโลวัตต์ชั่วโมง ต่อกิโลกรัม หรือความสามารถในการแช่แข็ง 0.250 – 0.170 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม
4.11 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ดังนี้ (1) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทอาร์ค ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 – 95 (2) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภททิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 83 – 95 และ (3) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทมิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 – 95
4.12 ร่างกฎกระทรวงกำหนดคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ ดังนี้ (1) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิต่ำ ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ (0.7911 + 0.7392) x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] ถึง (1.1555 + 0.7392) x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] และ (2) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิปานกลาง ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ (1.3774 + 1.2934) x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)] ถึง (2.149 + 1.2934) x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)]
4.13 ร่างกฎกระทรวงกำหนดยางนอกรถจักรยานยนต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... กำหนดค่าสัมประสิทธิ์ความต้านทานการหมุน ของยางนอกรถจักรยานยนต์ที่มีความสามารถรับน้ำหนักตั้งแต่ 71 - 600 กิโลกรัม และความเร็วที่ล้อยางทนได้ ตั้งแต่ 80 - 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ 12.0 – 9.0 นิวตันต่อกิโลนิวตัน
4.14 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตั้งแต่ร้อยละ 21.70 - 31.57
4.15 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. ....กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทและขนาดปริมาณน้ำมัน ดังนี้ (1) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมประเภทใช้ไฟฟ้า ปริมาณน้ำมันที่ใช้ ไม่เกิน 8.5 ลิตร และมากกว่า 8.5 - 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 76 – 87 และร้อยละ 72 – 82 ตามลำดับ และ (2) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมประเภทใช้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ปริมาณน้ำมันที่ใช้ ไม่เกิน 11 ลิตร และมากกว่า 11 - 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 43 – 50 และร้อยละ 42 – 47 ตามลำดับ
4.16 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องเป่าผมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังไฟฟ้าที่ผู้ผลิตระบุ ตั้งแต่ขนาดกำลังไฟฟ้าไม่เกิน 1,300 วัตต์ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 4.5 – 2.8 วัตต์ชั่วโมงต่อกรัมต่อนาที จนถึงขนาดกำลังไฟฟ้า 1,901 – 2,800 วัตต์ ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 5.7 – 4.8 วัตต์ชั่วโมงต่อกรัมต่อนาที
4.17 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องดูดควัน ดังนี้ (1) ประเภทระบบท่อดูดอากาศออกสู่ภายนอก (กระโจมกลางห้อง กระโจมติดผนัง มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 5 – 9 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมงต่อวัตต์ และ (2) ประเภทระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้อง (มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 2.5 - 9 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อวัตต์
มติของที่ประชุม
1. รับทราบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ (1) เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (2) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง (3) เครื่องอัดอากาศแบบเกลียวที่มีประสิทธิภาพสูง (4) หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง (5) ฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (6) กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (7) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (8) ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้งที่มีประสิทธิภาพสูง (9) ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้งที่มีประสิทธิภาพสูง (10) เครื่องแช่เย็น และเครื่องแช่แข็งอย่างรวดเร็วที่มีประสิทธิภาพสูง (11) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (12) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง (13) ยางนอกรถจักรยานยนต์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (14) เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง (15) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (16) เครื่องเป่าผม ที่มีประสิทธิภาพสูง และ (17) เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง
2. มอบหมายกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดส่งร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงานพิจารณา ก่อนนำมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาต่อไป