มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2567 (ครั้งที่ 65)
วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567
1. รายงานผลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปี 2566
2. ผลการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT)
3. รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
4. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
5. การทบทวนคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
เรื่องที่ 1 รายงานผลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปี 2566
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณา ความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปี 2565 ถึงปี 2567 และมีมติเห็นชอบความสามารถ ในการนำเข้า LNG สำหรับปี 2565 ถึงปี 2567 รวม 4.5 5.2 และ 5.0 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาทบทวน รวมทั้งได้มอบหมาย ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้บริหารจัดการปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 ถึงปี 2567 และกำกับดูแล ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา เรื่อง การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในรายละเอียด โดยในส่วนของการพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG มอบหมายให้ กกพ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ ชธ. ร่วมกันพิจารณาความต้องการใช้ (Demand) และการจัดหา (Supply) ก๊าซธรรมชาติของประเทศ และนำเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG ของประเทศ รวมถึงปริมาณการนำเข้า LNG ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแล
2. ในปี 2566 มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวแบบตลาดจร (Spot LNG) และมีการส่งมอบ ณ เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนธันวาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 6.2 ล้านตันต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถในการนำเข้า LNG ที่ได้เสนอต่อ กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ที่ 5.2 ล้านตันต่อปี พบว่า มีการจัดหา Spot LNG ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.0 ล้านตันต่อปี โดยมีปัจจัยมาจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ในภาพรวมที่ลดลง แม้ว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาพรวมจะลดลงด้วยก็ตาม ทั้งนี้ การจัดหา ก๊าซธรรมชาติ ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 3,772 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับแผนเดิมที่ได้เสนอต่อ กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงทั้งจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาว รวมถึงแหล่งก๊าซมีการหยุดซ่อมบำรุง แม้ว่าได้มีการบริหารจัดการโดยทำสัญญา ซื้อขายก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งที่มีศักยภาพ และเรียกรับก๊าซธรรมชาติตามความสามารถการผลิต ของแหล่ง ในส่วนของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติพบว่า ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 4,589 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับแผนเดิมที่ได้เสนอต่อ กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4,821 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากภาคการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) ภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และภาคขนส่ง ในขณะที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน หยุดเดินเครื่อง และมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานผลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปี 2566
เรื่องที่ 2 ผลการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณาแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) และมีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตรา UGT ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย ประเภทที่ 1 อัตรา UGT จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับ การให้บริการพลังงานไฟฟ้า ในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป และประเภทที่ 2 อัตรา UGT จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ที่มาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจง กลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป และ (2) มอบหมายให้ กกพ. จัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT ตามแนวทางการกำหนดอัตรา UGT ทั้งรูปแบบเจาะจงที่มา (UGT1) และรูปแบบไม่เจาะจงที่มา (UGT2) และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 กกพ. ได้พิจารณาและเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เสนอ โดยสำนักงาน กกพ. ได้นำเสนอร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT ดังกล่าวในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 กกพ. ได้พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์การกำหนด อัตรา UGT และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT ซึ่งประกอบด้วย UGT1 และ UGT2 และให้สำนักงาน กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้านำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT ดังกล่าวไปทดลอง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 และวันที่ 1 กันยายน 2566 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้า นครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้แจ้งการดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานร่วมสามการไฟฟ้า (คณะทำงานร่วมฯ) และได้นำเสนอความก้าวหน้าการจัดทำร่างข้อเสนออัตรา UGT ซึ่งเป็นการทดลองดำเนินการตามมติ กกพ. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 รวมทั้งได้หารือกับสำนักงาน กกพ. โดยที่ประชุมมีความเห็น ให้นำผลการดำเนินงานเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำกับการกำหนดอัตราค่าบริการ (คณะอนุกรรมการฯ) และนำแนวทางการจัดกลุ่มโรงไฟฟ้าสำหรับ UGT2 ตามร่างข้อเสนออัตรา UGT ไปรับความเห็นจากผู้ใช้ไฟฟ้า สีเขียว ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 สำนักงาน กกพ. ได้นำร่างข้อเสนออัตรา UGT ในระดับขายส่ง และระดับขายปลีก ของคณะทำงานร่วมฯ ซึ่งได้ปรับปรุงตามความเห็นของสำนักงาน กกพ. พร้อมผลการ หารือกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กกพ. และคณะทำงานร่วมฯ รับความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงร่างข้อเสนออัตรา UGT และเสนอ กกพ. พิจารณาต่อไป
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 และวันที่ 19 ตุลาคม 2566 กฟภ. และ กฟน. ได้นำส่ง ร่างข้อเสนออัตรา UGT ในระดับขายปลีก ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 กฟผ. ได้นำส่ง ร่างข้อเสนออัตรา UGT ในระดับขายส่ง ให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอต่อ กกพ. พิจารณา โดยร่างข้อเสนออัตรา UGT1 ของการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง มีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่มในระดับขายปลีกเท่ากับ 0.0594 บาทต่อหน่วย และ UGT2 มีราคาในระดับขายปลีกสำหรับ Portfolio A และ Portfolio B เท่ากับ 4.7223 บาทต่อหน่วย และ 4.7181 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 กกพ. ได้พิจารณาร่างข้อเสนออัตรา UGT ของการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง และมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กกพ. นำร่างข้อเสนออัตรา UGT1 และ UGT2 ซึ่งไม่รวมองค์ประกอบที่ กฟผ. เสนอเพิ่มเติม ไปรับฟังความคิดเห็น โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การให้บริการและการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) พ.ศ. 2566
4. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 กกพ. ได้พิจารณาแนวทางการปรับปรุงอัตรา UGT2 โดยใช้ Plant Factor ของแต่ละ Portfolio ตามที่สำนักงาน กกพ. เสนอ และให้นำอัตรา UGT สำหรับ UGT2 ของ Portfolio A และ Portfolio B ที่อัตราประมาณ 4.5 ถึง 4.6 บาทต่อหน่วยขายปลีก ไปรับฟังความคิดเห็น โดยสำนักงาน กกพ. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นทางช่องทางต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 กกพ. ได้พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็น ร่างข้อเสนออัตรา UGT และมีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบร่างข้อเสนออัตรา UGT1 ของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. โดยให้ปรับปรุงตามข้อ (1.1) ถึงข้อ (1.3) ก่อนนำไปประกาศอัตราค่าบริการและจัดทำสัญญาการให้บริการไฟฟ้า (ESA) ในการให้บริการ UGT1 ต่อไป ดังนี้ (1.1) ให้จัดสรรปริมาณการจองโดยใช้หลักการ First-Come-First-Served แทนการเฉลี่ยปริมาณให้ผู้ขอใช้บริการทุกรายแบบ Weighted Average และให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเลือกขอรับบริการเป็นร้อยละของปริมาณการใช้ในแต่ละเดือนได้ด้วย นอกเหนือจากการขอรับบริการเป็น Block (1.2) ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทสามารถขอใช้บริการ UGT1 ได้ และ (1.3) ให้กำหนดเงื่อนไขของสัญญา และการต่อสัญญาให้ชัดเจนภายใต้มาตรฐาน The International REC Standard (I-REC) และ (2) สำหรับอัตราและข้อกำหนดการให้บริการอัตรา UGT2 ให้ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. นำความเห็นที่ได้รับไปปรับปรุง ร่างข้อเสนออัตรา UGT2 และเสนอให้ กกพ. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 สำนักงาน กกพ. ได้มีหนังสือแจ้งมติ กกพ. ถึงการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง โดยการไฟฟ้าจะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบปฏิบัติการของแพลตฟอร์มให้เป็นไปตามมติ กกพ. และจัดทำสัญญาการให้บริการไฟฟ้าซึ่งมีขั้นตอนการเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาก่อนการเปิดรับสมัคร โดยสำนักงาน กกพ. จะเร่งรัดให้การไฟฟ้าเปิดรับสมัคร UGT1 รวมทั้งเสนออัตรา UGT2 ที่ปรับปรุงแล้วต่อ กกพ. เพื่อเริ่มให้บริการตามกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของ Portfolio A ต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบผลการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT)
เรื่องที่ 3 รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวนับรวมแผนการก่อหนี้ใหม่ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เพิ่มเติมอีก 80,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่ ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 จำนวน 30,000 ล้านบาทแล้ว รวมเป็นวงเงิน 110,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สกนช. ได้มีหนังสือชี้ชวนไปยังสถาบันการเงินจำนวน 7 แห่ง เพื่อให้ยื่นข้อเสนอเงินกู้แก่ สกนช. และได้รับข้อเสนอการให้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน 3 แห่ง ประเภทวงเงินกู้ ระยะยาว (Term Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 สกนช. ได้เบิกเงินกู้ยืมแล้วจำนวน 80,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกอีกจำนวน 25,333 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาเบิกเงินกู้สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ วงเงินกู้ยืมดังกล่าวมีระยะเวลาชำระคืน 5 ปี (รวม Grace Period 2 ปีแล้ว) กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา และเริ่มทยอยชำระคืนเงินต้นเป็นงวดรายเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ถึงเดือนกันยายน 2571
2. ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 มีนาคม 2567 มีฐานะติดลบสุทธิ 96,270 ล้านบาท ประกอบด้วยกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบ 49,339 ล้านบาท กลุ่มก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 46,931 ล้านบาท ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ มีหนี้เงินชดเชยค้างชำระรวม 21,503 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้เงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ค้างชำระประมาณ 3,430 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระ 18,073 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักจากเงินฝากจำนวน 3,582 ล้านบาท คงเหลือหนี้เงินชดเชยค้างชำระจำนวน 17,921 ล้านบาท ทั้งนี้ จากประมาณการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 18 มีนาคม 2567 มีรายจ่ายสุทธิ 194.94 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,043 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป็นรายจ่ายในกลุ่มน้ำมัน 188.45 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 5,842 ล้านบาทต่อเดือน และรายจ่ายในกลุ่มก๊าซ LPG 6.49 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 201 ล้านบาทต่อเดือน จากนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อรวมภาระดอกเบี้ย ที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องชำระคืนเงินต้นประมาณ 200 ถึง 250 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เมื่อ สกนช. เบิกเงินกู้ยืมในส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 25,333 ล้านบาท ภายในเดือนมีนาคม 2567 จะสามารถดำเนินการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตามมติคณะรัฐมนตรีได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 จะมีการนำเสนอสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ แนวโน้มสถานการณ์ ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาแนวทางบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ รวมทั้งภาระการชำระหนี้เงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบรายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
เรื่องที่ 4 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 และ (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 ถึงปัจจุบัน ค่อนข้าง ทรงตัวในระดับสูงที่ประมาณ 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ถึง 630 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เนื่องจากยังมีปัจจัย ที่ไม่แน่นอนจากนโยบายควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ความขัดแย้งทางการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตกในการควบคุม เงินเฟ้อ รวมทั้งการปรับตัวของกลุ่มพลังงานในยุคการเปลี่ยนแปลงพลังงาน (Energy Transition) ทั้งนี้ ราคา LPG ตลาดโลกในเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 2.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.45 จาก 619.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 622.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ จากราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ได้ปรับสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6540 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 24.0710 บาทต่อกิโลกรัม (668.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 24.7250 บาทต่อกิโลกรัม (684.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นจาก 5.5401 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 6.1941 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท
3. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป ในภายหลัง โดย ณ วันที่ 3 มีนาคม 2567 มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 93,498 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 46,742 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,756 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,788 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 1,989 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG มีรายจ่าย 201 ล้านบาทต่อเดือน
4. จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัจจัย ที่ไม่แน่นอนของราคาพลังงานโลก ทำให้คาดว่าราคาก๊าซ LPG อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาก๊าซ LPG นำเข้ารวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567 อยู่ที่ 685 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคา ขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 431 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม อย่างไรก็ดี ด้วยฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ยังคงติดลบสูงถึง 46,756 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG มีรายรับเพิ่มขึ้น และไม่ส่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ดังนี้ แนวทางที่ 1 คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 หรือแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซ LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ 21.8524 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG โดยมีสมมติฐานราคาตลาดโลกที่ 685 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน พบว่า ณ วันที่ 3 มีนาคม 2567 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ติดลบ 46,756 ล้านบาท หากปรับราคาก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 จะทำให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะอยู่ที่ประมาณ ติดลบ 47,359 ล้านบาท หรือติดลบ 46,447 ล้านบาท ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อคงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการคงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567
เรื่องที่ 5 การทบทวนคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. จำนวน 2 คณะ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน และนำมาเสนอต่อ กบง. พิจารณาต่อไป ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และ (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน
2. การทบทวนคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (คณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ)
2.1 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ ได้พิจารณาคำสั่ง กบง. ที่ 3/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 มีความเห็นว่า กบง. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ ขึ้น เพื่อให้การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน และทำให้การวางแผนการจัดหาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยการกำหนดองค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรง และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน ด้านเศรษฐศาสตร์ และมีความเป็นกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคม ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทในปัจจุบัน จึงขอปรับปรุงองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ปรับผู้แทนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกจากองค์ประกอบ เนื่องจาก TDRI ได้มีหนังสือ ที่ PO/2563/007 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ แจ้งว่าไม่มีผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ และ (2) ปรับ นายเดชรัต สุขกำเนิด ออกจากองค์ประกอบ เนื่องจากมีตำแหน่งหน้าที่ในพรรคการเมือง จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งในคณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ
2.2 คณะอนุกรรมการพยากรณ์ฯ ที่ขอปรับปรุง มีองค์ประกอบ 19 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน หรือรองปลัดกระทรวงพลังงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ผอ.สนพ.) เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีอนุกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือผู้แทน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้แทนหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทน กฟผ. ผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นายกุลยศ อุดมวงศ์เสรี นายบัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร นายเทียนไชย จงพีร์เพียง ผู้อำนวยการกองนโยบายไฟฟ้า สนพ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สนพ. และผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) จัดทำพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในระยะยาวของประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผน และกำหนดนโยบายด้านไฟฟ้า รายงานสถานการณ์ความต้องการไฟฟ้า รวมทั้งวิเคราะห์และให้ข้อคิดเห็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศ (2) จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้การจัดหาไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะยาวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความมั่นคง ของระบบไฟฟ้าของประเทศและการลงทุนการขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เสนอต่อ กบง. (3) มีอำนาจเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พิจารณา รวมทั้งจัดหา รวบรวม จัดส่งหรือชี้แจงเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม (4) มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น (5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ กบง. หรือประธาน กบง. มอบหมาย และ (6) รายงานผลการปฏิบัติงานต่อ กบง. ทราบหรือพิจารณาเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม
3. การทบทวนคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (คณะอนุกรรมการ ด้านมาตรฐานฯ)
3.1 พพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานฯ ได้พิจารณาคำสั่ง กบง. ที่ 4/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และขอปรับปรุงองค์ประกอบ และหน้าที่และอำนาจ ของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานฯ ดังนี้ (1) ปรับปรุงองค์ประกอบลำดับที่ 1 เดิม ได้แก่ ปลัดกระทรวงพลังงาน และลำดับที่ 2 เดิม ได้แก่ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ลำดับประธานของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานฯ สอดคล้องกับขั้นตอนการพิจารณา และเพื่อให้ การพิจารณาดำเนินการมีประสิทธิภาพ คล่องตัวมากขึ้น จึงให้องค์ประกอบลำดับที่ 3 เดิม ได้แก่ อธิบดี พพ. เป็นประธานอนุกรรมการแทน (2) เพิ่มคำว่า “...หรือผู้แทน” ในองค์ประกอบลำดับที่ 4 เดิม ได้แก่ ผอ.สนพ. และลำดับที่ 11 เดิม ได้แก่ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ (3) ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ ข้อที่ 1 ข้อที่ 2 และข้อที่ 3 จากเดิม “...เครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน...” แก้ไขเป็น “...เครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน...” และข้อที่ 7 จากเดิม “กำกับ ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานผลปฏิบัติงานทุก 3 เดือนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบ” แก้ไขเป็น “ติดตามและรายงานผลการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและยานพาหนะ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบ”
3.2 คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานฯ ที่ขอปรับปรุง มีองค์ประกอบ 14 คน ประกอบด้วย อธิบดี พพ. เป็นประธานอนุกรรมการ มีอนุกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าการ กฟผ. หรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือผู้แทน อธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้แทน อธิบดีกรมสรรพสามิต หรือผู้แทน นายกสภาวิศวกร หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ หรือผู้แทน ประธาน ส.อ.ท. หรือผู้แทน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ผู้อำนวยการ กองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พพ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และผู้แทน พพ. เป็นอนุกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ และมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้ (1) เสนอแนะแนวทางการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและยานพาหนะ รวมถึงมาตรฐานวิธีการทดสอบและคุณสมบัติของห้องทดสอบ (2) เสนอแนะรูปแบบฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงาน ของเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและยานพาหนะ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการ ติดฉลาก การตรวจสอบ และบทลงโทษ (3) เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดำเนินงานด้านการส่งเสริมมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและยานพาหนะ (4) เสนอแนะแนวทางการให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาคเอกชนและประชาชน (5) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเรื่องห้องทดสอบเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ และยานพาหนะ ภายในประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการของห้องทดสอบให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (6) ประสานความร่วมมือกับ สมอ. ในการพิจารณากำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำของวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร และยานพาหนะ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพด้านพลังงานด้วย (7) ติดตามและรายงานผลการกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ของเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและยานพาหนะ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทราบ (8) มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานฯ มอบหมาย ตลอดจนเชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็นได้ และ (9) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ 3/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ 4/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562
2. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศ และคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน ขึ้นใหม่ ตามองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอร่างคำสั่งต่อประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาลงนามต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 มาตรา 23 กำหนดให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุหรืออุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษาและจัดทำกฎกระทรวงแล้ว จำนวน 73 ฉบับ (73 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลจากการศึกษาจะได้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูง (High Energy Efficiency Standards : HEPS) นำมาจัดทำเป็นกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง หรือวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ (Minimum Energy Efficiency Standards : MEPS) นำมาจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำส่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ประกาศบังคับใช้ต่อไป
2. ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีเห็นชอบและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 38 ฉบับ (38 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง หรือออกกฎกระทรวงกำหนดวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ของตนเอง ซึ่งหากเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานเป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับการส่งเสริมโดยใช้มาตรการการติดฉลาก กฎกระทรวงดังกล่าวจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการดำเนินการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง ซึ่งดำเนินการโดย พพ. ติดฉลากแล้ว 19 ผลิตภัณฑ์ และฉลากประหยัดไฟฟ้า เบอร์ 5 ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดฉลากแล้ว 22 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 พพ. ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือด้านการกำหนดมาตรฐาน กับ สมอ. โดยมีกรอบความมือให้ พพ. กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำตามแผนและกระบวนการที่ พพ. และ สมอ. ดำเนินการร่วมกัน และ พพ. จะศึกษาค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำให้ สมอ. เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน พพ. ได้ส่งร่าง มอก. ให้กับ สมอ. และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 30 ฉบับ ในจำนวนนี้ เป็นมาตรฐานบังคับ 5 ฉบับ และมาตรฐานทั่วไป 25 ฉบับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มีการใช้เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงมากขึ้น และเป็นการกีดกันการใช้เครื่องจักรวัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานต่ำ ทำให้มีศักยภาพการประหยัดพลังงานของประเทศมากขึ้น
3. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 พพ. ได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดย กบง. ได้มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว และมอบหมายให้ พพ. จัดส่ง ร่างกฎกระทรวงฯ เสนอต่อคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกระทรวงพลังงาน (คณะกรรมการฯ) พิจารณา ก่อนนำมาเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 17 ฉบับ (17 ผลิตภัณฑ์) ตามที่ พพ. เสนอ และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี เครื่องเชื่อมไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้น เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม และเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้ม และให้ดำเนินการเสนอต่อ กบง. พิจารณาต่อไป (2) เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 3 ฉบับ (3 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องอัดอากาศแบบเกลียว และกระจก โดยให้ พพ. รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ ก่อนที่จะนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป และ (3) เห็นชอบให้ พพ. ถอนร่างกฎกระทรวงฯ จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ ฉนวนกันความร้อนอุณหภูมิต่ำ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบกึ่งตั้ง ตู้แช่เย็นแสดงสินค้าแบบตั้ง เครื่องแช่เย็นและเครื่องแช่แข็งอย่างรวดเร็ว ยางนอกรถจักรยานยนต์ และเครื่องเป่าผม ออกจากวาระการประชุม
4. การจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่าง มอก. ดำเนินการโดยการสำรวจข้อมูลในด้านต่าง ๆ เช่น จำนวน รุ่น ปริมาณการใช้พลังงาน เพื่อกำหนดกลุ่มและจำนวนตัวอย่างที่ต้องสุ่มทดสอบ รวมถึงแนวทางการหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน วิธีมาตรฐานการทดสอบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงทดสอบหาค่าประสิทธิภาพพลังงาน ประมวลผลการทดสอบตามหลักสถิติ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์ HEPS ประมาณร้อยละ 20 และกำหนดให้ไม่ผ่านเกณฑ์ MEPS ประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ แต่ละผลิตภัณฑ์มีการปรับให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งการจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ และร่าง มอก. ต้องผ่านการพิจารณาของคณะทำงานวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญตามสาขาต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการพิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ รวมทั้งการสัมมนารับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีขั้นตอนการพิจารณาดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย พพ. (2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (3) คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย กระทรวงพลังงาน (4) กบง. (5) กพช. (6) คณะรัฐมนตรี (7) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) (8) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงนาม และ (9) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยร่าง มอก. ที่ผ่านคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน แล้ว พพ. จะนำส่ง สมอ. เพื่อพิจารณากำหนด มอก. คุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานต่อไป
5. ร่างกฎกระทรวงฯ แต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย หลักการและเหตุผล นิยาม ค่าประสิทธิภาพพลังงาน และมาตรฐานการทดสอบ ห้องทดสอบ โดยมีรายละเอียดการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานขั้นสูงของร่างกฎกระทรวงฯ ทั้ง 7 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
5.1 ร่างกฎกระทรวงกำหนดมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามขนาดกำลังด้านออก และจำนวนขั้วของมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่ผู้ผลิตระบุ ดังนี้ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 2 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 53.6 ถึงร้อยละ 66.5 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.1 ถึงร้อยละ 91.7 และ (2) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียว 4 ขั้ว ค่าประสิทธิภาพพลังงานของขนาดกำลังด้านออก 0.12 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 59.1 ถึงร้อยละ 69.8 จนถึงขนาดกำลังด้านออก 7.50 กิโลวัตต์ คือ ร้อยละ 88.7 ถึงร้อยละ 92.6
5.2 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตั้งแต่ร้อยละ 21.70 ถึงร้อยละ 31.57
5.3 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องดูดควัน ดังนี้ (1) ประเภทระบบท่อดูดอากาศออกสู่ภายนอก (กระโจมกลางห้อง กระโจมติดผนัง มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 5 ถึง 9 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมงต่อวัตต์ และ (2) ประเภทระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้อง (มาตรฐาน และสลิมไลน์) ค่าประสิทธิภาพพลังงาน 2.5 ถึง 9 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงต่อวัตต์
5.4 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องเชื่อมไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนด ค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า ดังนี้ (1) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทอาร์ค ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 ถึงร้อยละ 95 (2) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภททิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 83 ถึงร้อยละ 95 และ (3) เครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทมิก ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 87 ถึงร้อยละ 95
5.5 ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. ....กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามประเภทและขนาดปริมาณน้ำมัน ดังนี้ (1) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมประเภทใช้ไฟฟ้า ปริมาณน้ำมันที่ใช้ไม่เกิน 8.5 ลิตร และมากกว่า 8.5 ลิตร ถึง 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 76 ถึงร้อยละ 87 และร้อยละ 72 ถึงร้อยละ 82 ตามลำดับ และ (2) เครื่องทอดแบบ น้ำมันท่วมประเภทใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ปริมาณน้ำมันที่ใช้ไม่เกิน 11 ลิตร และมากกว่า 11 ลิตร ถึง 30 ลิตร ค่าประสิทธิภาพพลังงาน ร้อยละ 43 ถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 42 ถึงร้อยละ 47 ตามลำดับ
5.6 ร่างกฎกระทรวงกำหนดคอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงานตามค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ ดังนี้ (1) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิต่ำ ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ 0.7911 + 0.7392 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] ถึง 1.1555 + 0.7392 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.049)] และ (2) อีวาพอเรเตอร์อุณหภูมิปานกลาง ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ คือ 1.3774 + 1.2934 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)] ถึง 2.149 + 1.2934 x [ขนาดทำความเย็น/(ขนาดทำความเย็น + 1.785)]
5.7 ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง พ.ศ. .... กำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน ตามค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้น ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไป ที่จำเพาะแตกต่างไปตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี ได้แก่ หลอดแอลอีดีแบบทรงเอ (LED Bulb) หลอดแอลอีดีแบบเอ็มอาร์ (LED MR) หลอดแอลอีดีแบบพาร์ (LED PAR) หลอดแอลอีดีแบบทีแปด (LED T8) ดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีแบบโลว์เบย์และไฮเบย์ (LED Low/High Bay) และดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี แบบสาดแสง (LED Flood Light) โดยกำหนดค่าประสิทธิศักย์เริ่มต้นต่ำสุดที่ 80 ถึง 85 ลูเมนต่อวัตต์ และสูงสุดที่ 120 ถึง 150 ลูเมนต่อวัตต์ จำเพาะตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี ค่าประสิทธิศักย์คงไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หรือร้อยละ 96 ของประสิทธิศักย์เริ่มต้น จำเพาะตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี และดัชนีการทำให้เกิดสีทั่วไปที่ 70 หรือ 80 และค่า R9 มากกว่าศูนย์ หรือไม่ระบุ จำเพาะ ตามชนิดของหลอดหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดี
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 7 ฉบับ (7 ผลิตภัณฑ์) ได้แก่ (1) มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวที่มีประสิทธิภาพสูง (2) เครื่องดูดฝุ่นชนิดลากพื้นที่มีประสิทธิภาพสูง (3) เครื่องดูดควันสำหรับเตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพสูง (4) เครื่องเชื่อมไฟฟ้า ที่มีประสิทธิภาพสูง (5) เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมที่มีประสิทธิภาพสูง (6) คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น ที่มีประสิทธิภาพสูง และ (7) หลอดแอลอีดีหรือดวงโคมไฟฟ้าแอลอีดีที่มีประสิทธิภาพสูง
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณา ให้ความเห็นชอบต่อไป