มติกบง. (121)
กบง.ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่15) วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 15)
วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น.
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
3. รายงานความก้าวหน้าการนำเข้า LNG แบบ Spot ของ กฟผ.
4. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)
5. ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018)
6. ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580 (EEP2018)
7. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018)
8. แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping)
10. การเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหากรรมการภาคประชาสังคมของกระทรวงพลังงาน
11. แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ขึ้น และมีการแบ่งหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันฯ ไปให้ กบน. ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ กบง. ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ให้เพิ่มเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เข้าร่วมเป็นกรรมการ
2เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบเห็นชอบร่างคำสั่ง กพช. ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และมอบหมายให้ ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธาน กพช. พิจารณาลงนามต่อไป ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ได้ลงนามในคำสั่ง กพช. ที่ 3/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ 31 มกราคม 2563
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติรับทราบ ในหลักการนโยบายมอบของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านราย โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 50 บาทต่อคนต่อเดือน (150 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน) เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 แทนการให้การช่วยเหลือเดิม (45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน) ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินการดังกล่าว โดยให้ยกเลิกสิทธิ์การช่วยเหลือเดิม (45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน) เป็นการชั่วคราว และยกเลิกการให้ความช่วยเหลือของ ปตท. แก่กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 100 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งการช่วยเหลือจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 240 ล้านบาทต่อเดือน และ ปตท. บริจาคเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ จำนวน 10 ล้านบาทต่อเดือน
2. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการ ปตท. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ หากกรมบัญชีกลางพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” เสร็จ และร้านค้าก๊าซสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซแล้ว ให้ยกเลิกการช่วยเหลือของ ปตท. ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 กระทรวงพลังงานมีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการฯ ขอเปลี่ยนแปลงระยะเวลานโยบายการมอบของขวัญปีใหม่ฯ เป็นวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อให้ต่อเนื่องจากการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือของ ปตท. ทั้งนี้ ณ วันที่ 28 มกราคม 2563 มีร้านค้าก๊าซสมัครขอรับการติดตั้งแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” จำนวน 904 แห่ง
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3. รายงานความก้าวหน้าการนำเข้า LNG แบบ Spot ของ กฟผ.
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบเห็นชอบแนวทางการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยให้ กฟผ. ทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot จำนวน 2 ลำเรือ (Cargoes) โดย Cargo ละประมาณ 65,000 ตัน ปริมาณรวมไม่เกิน 200,000 ตัน โดยลำเรือที่ 1 นำเข้าในเดือนธันวาคม 2562 และลำเรือที่ 2 นำเข้าในเดือนเมษายน 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รายงานผลการนำเข้า LNG ลำเรือแรกต่อ กบง. เพื่อทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า และผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
2. กฟผ. ได้นำเข้า LNG และนำก๊าซที่แปรสภาพแล้วไปใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่กำหนด โดยสรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้ (1) ปริมาณการนำเข้า LNG 3,314,420 ล้านบีทียู (2) ระยะเวลาในการใช้ LNG ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2563 รวม 25 วัน (3) การจองและใช้ความสามารถของระบบส่งก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 (BPK-C5) 100 พันล้านบีทียู (Overuse 3 วัน) โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 (WN-C4) 110 พันล้านบีทียู (Overuse 13 วัน) รวม 210 พันล้านบีทียู (4) ความไม่สมดุลของการใช้ก๊าซ (เกินบวก/ลบ ร้อยละ 5) รวม 10 วัน (5) คุณภาพก๊าซในระบบส่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ กกพ. ประกาศกำหนด (6) ค่าบริการระบบส่งก๊าซธรรมชาติ รวมเป็นจำนวนเงิน 112,299,856 บาท (7) ค่าบริการสถานี LNG รวมเป็นจำนวนเงิน 62,412,643 บาท (8) ไม่มีค่าปรับจากการใช้ความสามารถของระบบส่งเกินสิทธิ ในช่วงการทดสอบการนำเข้า LNG ของ กฟผ. (9) ไม่มีค่าปรับจากความไม่สมดุล (ในช่วงการทดสอบการนำเข้า LNG ของ กฟผ.)
3. กระบวนการปฏิบัติตามขั้นตอนการนำเข้า LNG แบบ Spot ของ กฟผ. (1) การจัดหา LNGโดย กฟผ. ดำเนินการจัดหา LNG แบบ Spot ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 (2) การนำ LNG เข้าสู่สถานี LNG โดยการจองใช้สิทธิความสามารถในการให้บริการของ LNG Terminal มีแนวทางปฏิบัติตาม TPA Code จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการเสียสิทธิ (Use-It-Or-Lose-It หรือ UIOLI) ของ Shipper รายเดิม (ปตท.) แต่ กฟผ. ได้รับการยกเว้น ตามมติ กบง. เมื่อวันที่21 ตุลาคม 2562 กำหนดให้ PTTLNG แจ้ง Slot ล่วงหน้า 3-5 Slots/Cargo แทนการจองใช้งานแบบ UIOLI เนื่องจาก กฟผ. จะต้องมีความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาส่งมอบ (Slot Flexibility) ซึ่งควรพิจารณาความเหมาะสมของเงื่อนไขการเสียสิทธิ UIOLI เพื่อให้รองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในอนาคต และ Minimum Send-out ด้วยข้อจำกัดของปั๊ม (pump) จะต้องส่งก๊าซขั้นต่ำ (Minimum Send-out) และมีช่วงที่ไม่สามารถส่งได้ (Dead Band) ดังนั้น ในช่วงการทดสอบ Shipper ทั้งสองรายจะต้องช่วยกัน Send-Out ให้ได้ตามข้อจำกัดของสถานี LNG (3) การผสมคุณภาพก๊าซ (Gas Mixing) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ Shipper ในการนำก๊าซที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเข้าระบบส่งก๊าซธรรมชาติ โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้ารายที่มีอยู่เดิม ข้อยกเว้นในการทดสอบคือ Shipper ปตท. จะเป็นผู้พิจารณาคุณภาพรวมของก๊าซที่ผสม ข้อเสนอแนะในขั้นตอนนี้คือ ควรศึกษาแนวทางการปรับปรุงคุณภาพของก๊าซ LNG ที่แปรสภาพแล้ว หรือคุณภาพของก๊าซผสมในระบบส่งก๊าซธรรมชาติ โดยให้คำนึงถึงปริมาณก๊าซในอ่าวและปริมาณ LNG ที่มีภาระผูกพันตามสัญญาระยะยาว เพื่อรองรับ LNG ที่จะเข้ามาในอนาคต (4) ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยการจองใช้สิทธิความสามารถในการให้บริการของระบบส่งก๊าซธรรมชาติ มีแนวทางปฏิบัติปกติตาม TPA Code จะต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาที่ TSO ประกาศความสามารถคงเหลือในการให้บริการของระบบส่งก๊าซธรรมชาติแต่ละเดือน และ TSO มีหน้าที่ในการบริหารสมดุลและคุณภาพของก๊าซในระบบส่ง TSO จะทำการแจ้งปริมาณรับและส่งก๊าซ และความไม่สมดุลของ Shipper แต่ละรายเป็นระยะๆ ซึ่งข้อยกเว้นในการทดสอบ ได้แก่ ค่าปรับความไม่สมดุลรายวัน ค่าปรับการใช้ความสามารถของการให้บริการระบบส่งเกินกำหนด และการขอปรับเปลี่ยน Nomination ระหว่างวัน (Daily Adjustment) ข้อเสนอแนะในขั้นตอนนี้ คือ กกพ. จะกำหนดอัตราค่าปรับความไม่สมดุลรายวัน และค่าปรับการใช้ความสามารถของการให้บริการระบบส่งเกินกำหนด ภายหลังการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ลำเรือที่ 2 แล้วเสร็จ สำหรับประเด็นการขอปรับเปลี่ยน Nomination ควรปรับปรุงวิธีการดำเนินการให้เหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติต่อไป และ (5) การเรียกเก็บค่าบริการ แนวทางปฏิบัติตาม TPA Code จะเป็นกระบวนการสรุปข้อมูลปริมาณการใช้บริการ LNG Terminal และระบบส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของ Shipper เพื่อเรียกเก็บค่าบริการ ข้อยกเว้นในการทดสอบคือ การเรียกเก็บค่าบริการแบบ Non-Firm (UIOLI) ของ LNG Terminal ได้รับการยกเว้นตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ที่ได้กำหนดให้ กฟผ. ชำระเงินค่าบริการ LNG Terminal ตามวันและปริมาณ Send Out Rate ตามที่ กฟผ. ใช้จริง และการเรียกเก็บค่าบริการแบบ Non-Firm ของระบบส่งก๊าซธรรมชาติได้รับการยกเว้น โดยกำหนดให้ กฟผ. ชำระค่าผ่านท่อตามหลักการ Daily Basis ตามจำนวนวันที่ใช้จริง โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ฉบับปัจจุบัน ในขั้นตอนนี้มีข้อเสนอแนะคือ ควรปรับปรุงความเหมาะสมสำหรับการเรียกเก็บอัตราสำหรับสถานี LNG และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภายหลังจากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ลำเรือที่ 2 แล้วเสร็จ เพื่อให้รองรับการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 และวันที่ 30 เมษายน 2562 ตามลำดับ สรุปได้ ดังนี้ (1) มีการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ โดยในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 77,211 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ (2) ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า มีความมั่นคงรายพื้นที่ สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค (3) ปลายแผนมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลร้อยละ 65 ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 53 ถ่านหินและลิกไนต์ร้อยละ 12 การผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วนร้อยละ 35 ประกอบด้วย พลังน้ำต่างประเทศ ร้อยละ 9 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 20 และการอนุรักษ์พลังงานร้อยละ 6 (4) ในการจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักประเภทฟอสซิลใหม่ ได้คำนึงถึงการลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินลงจากแผน PDP ฉบับเดิม (PDP2015) เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้สอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21 และลดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ โดยการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีราคาลดลงมาก เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับเหมาะสมสามารถแข่งขันได้ (5) มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป และ (6) ให้ทบทวนแผน PDP ใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ และให้ศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาครวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization) ต่อไป
2. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 กพช. ได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แทนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi - Firm ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 (2) เห็นชอบกรอบราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (3) มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT สำหรับ VSPP โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา และ (4) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธาน กพช. พิจารณาลงนามต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากได้รับการแต่งตั้งแล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563
3. กระทรวงพลังงาน ได้ทบทวนและปรับปรุง PDP2018 โดยปรับเป้าหมายและแผนการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 รวมถึงปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและแผนการปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบของโรงไฟฟ้าหลักประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิลบางโรง ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (คณะอนุกรรมการฯ) ได้มีมติเห็นชอบร่างแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างแผนดังกล่าว และให้นำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 สนพ. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ 4 แผน ประกอบด้วย ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561– 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580 (EEP2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018) ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งสิ้น 457 คน
4. ร่างแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 สรุปได้ดังนี้ (1) ปรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยยังคงเป้าหมายรวมไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ (2) เพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้สอดคล้องกับมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าที่ผลิตด้วยเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน รวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) กับชีวมวล และหรือ ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและ/หรือ ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน โดยจะเปิดรับซื้อตั้งแต่ปี 2563 - 2567 มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,993 เมกะวัตต์ (3) ปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสำหรับโรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐเดิมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 – 2565 ปีละ 60 เมกะวัตต์ เป็นปี 2565 – 2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ (4) ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง (5) ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาในแผน จำนวน 24 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 69 เมกะวัตต์ (6) ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) (7) ปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เร็วขึ้น จากเดิมเริ่มรับซื้อปี 2577 เป็นปี 2565 และมีการปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและแผนการปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบของโรงไฟฟ้าหลักประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิลบางโรง ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (NPS) กำลังผลิต ตามสัญญารวม 540 เมกะวัตต์ เปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนพฤศจิกายน 2570 โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 หรือ 9 เลื่อนการปลดออกจากระบบ จากเดิมปลดปลายปี 2564 เป็นปลดปลายปี 2567 เพื่อรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 230 kV ในการส่งไฟฟ้าไปพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน จนกว่าสายส่ง 500 kV แม่เมาะ 3 - ลำพูน 3 จะแล้วเสร็จในปี 2567 โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12 - 13 เลื่อนการปลดออกจากระบบ จากเดิมปลดต้นปี 2568 เป็นปลดปลายปี 2568 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงรายละเอียดของแผนงานตามที่กรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 5. ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 และวันที่ 30 เมษายน 2562 ตามลำดับ ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดทำร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2561 - 2580 (AEDP2018) เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับแผน PDP2018 และได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผน AEDP2018 ในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 7 ครั้ง ต่อมา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 กพช. ได้มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แทนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แบบ VSPP Semi-Firm ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 พพ. จึงได้ปรับปรุงร่างแผน AEDP2018 ให้สอดคล้องกับ มติ กพช. ดังกล่าว และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงพลังงาน ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) จำนวน 4 แผน ประกอบด้วย ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 - 2580 (AEDP2018) ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 - 2580 (EEP2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 - 2580
2. เหตุผลในการปรับปรุงแผน AEDP สรุปได้ดังนี้ (1) ปรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยยังคงเป้าหมายรวมไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย การเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ให้สอดคล้องตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 โดยจะเปิดรับซื้อตั้งแต่ปี 2563 - 2567 มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,993 เมกะวัตต์ ปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสำหรับโรงไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐเดิมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเดิมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564 - 2565 ปีละ 60 เมกะวัตต์ เป็น ปี 2565 - 2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามาในแผน จำนวน 24 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 69 เมกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และปรับแผนการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมให้เร็วขึ้น จากรับซื้อปี 2577 เป็นปี 2565 (2) ปรับเป้าหมายการผลิตความร้อนจากพลังงานหมุนเวียนบางประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่เพิ่มขึ้นจากการขยายโรงงานน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาทำให้คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ชีวมวลเพิ่มสูงขึ้น ปรับลดเป้าหมายการผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่เหมาะสม ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตความร้อนจากไบโอมีเทนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว และ (3) ปรับเป้าหมายการผลิตเชื้อเพลิงในภาคขนส่งจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ปรับลดเป้าหมายการผลิตเอทานอลลงจากการส่งเสริมให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลัก โดยปรับลดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มเบนซินและลดการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลง ปรับลดเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลจากการส่งเสริมให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานของประเทศเพื่อให้สมดุลกับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม และลดการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลง และปรับลดเป้าหมายการผลิตไบโอมีเทนอัดลงจากการคาดการณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติ ในยานยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง
3. สรุปร่าง AEDP2018 ประกอบด้วย (1) เป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 9 ประเภทเชื้อเพลิง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 18,696 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 52,894 ล้านหน่วย ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 9,290 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ชีวมวล 3,500 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 183 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) 1,000 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 69 เมกะวัตต์ สัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อพลังงานขั้นสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 3.55 (2) เป้าหมายการผลิตพลังงานความร้อนจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 5 ประเภทเชื้อเพลิง พลังงานความร้อนที่ต้องการ 64,657 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ได้แก่ ชีวมวล 23,000พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ก๊าซชีวภาพ 1,283 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ขยะ 495 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และไบโอมีเทน 2,023 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ สัดส่วนความร้อนจากพลังงานทดแทนต่อพลังงานขั้นสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 19.15 (3) เป้าหมายการผลิตเชื้อเพลิงในภาคขนส่งจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จำนวน 5 ประเภทเชื้อเพลิง ความต้องการเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง 40,890 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ได้แก่ เอทานอล 7.5 ล้านลิตรต่อวัน (1,396 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ไบโอดีเซล 8.00 ล้านลิตรต่อวัน (2,517 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) และน้ำมันไพโรไลซิส 0.53 ล้านลิตรต่อวัน (171 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) สัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพต่อพลังงานขั้นสุดท้าย คิดเป็นร้อยละ 3.22 (4) เปรียบเทียบเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของแผน AEDP2015 และ AEDP2018 อยู่ที่ร้อยละ 30.07 และ 30.18 ตามลำดับ แบ่งเป็น พลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 4.27 และร้อยละ 5.75 ตามลำดับ พลังงานความร้อนอยู่ที่ร้อยละ 19.15 และร้อยละ 21.20 ตามลำดับ และการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ที่ร้อยละ 6.65 และร้อยละ 3.22 ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 - 2580 (AEDP2018) และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงรายละเอียดของแผนงานตามที่กรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 6. ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580 (EEP2018)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (EEP2015) ที่กำหนดเป้าหมายจะลดความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity; EI) ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2579 ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 กพช. ได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP2018) ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากมาตรการอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์ และการประชุมหารือแนวทางการจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 มีมติให้ปรับปรุงแผน TIEB ได้แก่ (1) แผนอนุรักษ์พลังงาน (2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (3) แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และ (4) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องตามแผน PDP2018
2. แนวทางการจัดทำร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 - 2580 (EEP2018) มีดังนี้ (1) ปรับสมมติฐานที่ใช้ในการคาดการณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต กำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศในระยะสั้น 1-2 ปี ระยะกลาง 10 ปี และระยะยาว 20 ปี ปรับสมมุติฐาน GDP อัตราการเพิ่มของประชากร และค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้สอดคล้องกับแผน PDP2018 รวมทั้งรักษาระดับเป้าหมายโดยการลด EI ลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ให้ได้ทั้งสิ้น 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ของปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 (2) ทบทวนกรอบการอนุรักษ์พลังงาน แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 - 2580 โดยมีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงาน (EI) ลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 คือ ลดการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ ณ ปี พ.ศ. 2580 จากระดับ 181,238 ktoe ในกรณีปกติ (Business as usual: BAU) ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 126,867 ktoe หรือคิดเป็นเป้าหมายผลการประหยัดพลังงานเท่ากับ 54,371 ktoe ผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2554 - 2560 คิดเป็นพลังงานที่ประหยัดได้สะสมประมาณ 5,307 ktoe และสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน (EI) ลงได้ร้อยละ 7.63 ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดความเข้มการใช้พลังงาน (EI) ลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2580 จึงจะต้องมีเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2580 อีกประมาณ 49,064 ktoe (3) ปรับกลยุทธ์การขับเคลื่อนแผนฯ โดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย 5 สาขาเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านอยู่อาศัย เกษตรกรรม และขนส่ง แบ่งเป็น 3 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ภาคบังคับ มีการกำกับดูแลให้ผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ในภาคส่วนต่างๆ ต้องมีการใช้พลังงานเป็นไปตาม มาตรฐาน มาตรการ/วิธีการที่กำหนดขึ้นอย่างเหมาะสม กลยุทธ์ภาคส่งเสริม มีมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อเร่งรัดให้มีการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือดำเนินมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน และกลยุทธ์ภาคสนับสนุน ช่วยเสริมกลยุทธ์ภาคบังคับและกลยุทธ์ภาคส่งเสริมให้เกิดผลประหยัดด้านพลังงาน โดยหากดำเนินการได้ตามเป้าหมายคาดว่าจะก่อให้เกิดผลประหยัดพลังงานของประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2561 - 2580 รวม 54,371 ktoe คิดเป็นมูลค่าเงินที่จะประหยัดได้ราว815,571 ล้านบาท ช่วยลดภาระในการจัดหาโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ และยังทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 170 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Mt-CO2) ทั้งนี้ ภายหลังจัดทำร่างแผน EEP2018 พพ. ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ ในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 4 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 - 2580 (EEP 2018) และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงรายละเอียดของแผนงานตามที่กรรมการได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 7. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 (Gas Plan 2018)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 - 2579 (Gas Plan 2015) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ต่อมากระทรวงพลังงานได้ทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ โดย กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ได้รับทราบ Gas Plan 2015 ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งได้ทบทวนและปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ในประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 เนื่องจาก Gas Plan 2015 เป็นการวางแผนโดยบูรณาการตาม PDP2015 ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงในปี 2561 และ 2562 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องภายหลังการประมูลสัมปทานในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ส่งผลให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยได้อย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
2. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันทบทวน Gas Plan 2015 และจัดทำร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติพ.ศ. 2561 -2580 (Gas Plan 2018) โดยบูรณาการให้สอดคล้องกับ PDP2018 และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ได้รับทราบแนวทางการจัดทำ Gas Plan 2018 และให้ สนพ. นำไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจัดทำสรุปเสนอ กบง. ต่อไป
3. การจัดทำ Gas Plan 2018 สรุปได้ดังนี้ (1) กรอบแนวคิดและเป้าหมายของ Gas Plan 2018 ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ เร่งรัดการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศ พื้นที่พัฒนาร่วมและพื้นที่ทับซ้อน พัฒนาและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ (2) สมมติฐานความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ภาคการผลิตไฟฟ้า ประมาณการตาม PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงแยกก๊าซ (ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิต LPG และปิโตรเคมี) ประมาณการตามปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ภาคอุตสาหกรรม ประมาณการตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งการคาดการณ์ GDP ปี 2561 - 2580 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี และคำนึงถึงแผนการขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภาคขนส่งประมาณการตามแนวโน้มจำนวนรถ NGV (3) ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี คาดว่าในปี 2580 จะอยู่ที่ระดับ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 67 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 21 โรงแยกก๊าซฯ ร้อยละ 11 และภาคขนส่งร้อยละ 1 (4) ประมาณการการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติในประเทศ (อ่าวไทยและพื้นที่บนบก) ก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา LNG สัญญาปัจจุบัน และก๊าซธรรมชาติหรือ LNG ที่ต้องจัดหาเพิ่ม โดยตั้งแต่ปี 2563 จำเป็นต้องจัดหาก๊าซธรรมชาติหรือ LNG เพิ่มเติมจากที่มีในสัญญาเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประเทศ และจากการคาดการณ์การจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4,676 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2561 เป็นประมาณ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 โดยการผลิตจากแหล่งภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 การจัดหา LNG เพิ่มเติมจากที่มีในสัญญาเพื่อรองรับความต้องการใช้ของประเทศ พบว่าในปี 2580 ความต้องการ LNG ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 26 ล้านตันต่อปี (โครงข่ายท่อบนบกประมาณ 22 ล้านตันต่อปี และภาคใต้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี) โดยการจัดหาเพื่อรองรับความต้องการในภาคใต้ ประกอบด้วย การจัดหาสำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ ตามแผน PDP2018 rev.1 มีความจำเป็นต้องจัดหาก๊าซธรรมชาติในรูปแบบ LNG ประมาณ 1.5 - 3.0 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2570 และการจัดหาสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งปัจจุบันจัดหาจากแหล่ง JDA โดยจะเร่งรัดการเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA เพิ่มเติม หรือจัดหาในรูปแบบ LNG ประมาณ 0.7 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2572 (5) แผนโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันมีท่าเรือและ LNG Terminal ที่รองรับการนำเข้า LNG ได้ 11.5 ล้านตันต่อปี ขณะที่การใช้งานตามสัญญาสูงสุดของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีเพียง 5.2 ล้านตันต่อปี เท่านั้น ทั้งนี้ หากรวมโครงการ LNG Terminal ที่ได้รับอนุมัติแล้ว ได้แก่ โครงการ LNG Terminal แห่งใหม่ จังหวัดระยอง (บ้านหนองแฟบ) [T-2] ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2565 FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน [F-1] กำหนดแล้วเสร็จปี 2567 มาบตาพุดระยะที่ 3 (EEC) จังหวัดระยอง 10.8 ล้านตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2570 ดังนั้นในปี 2570 จะมี LNG Terminal ที่สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้ในปริมาณรวมทั้งสิ้น 34.8 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายเพื่อรองรับ LNG ได้ถึง 47.5 ล้านตันต่อปี LNG Terminal ส่วนที่เหลือจากความต้องการใช้ในประเทศ ซึ่งต้องมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มศักยภาพต่อไป อาทิ มาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น LNG Regional Hub
4. แนวโน้มความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ มีดังนี้ (1) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 rev.1 ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาก๊าซธรรมชาติโดยการนำเข้า LNG เนื่องจากนโยบายในการส่งเสริมให้ส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นไปยังโรงแยกก๊าซที่จังหวัดระยองทั้งหมดเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการก่อสร้าง LNG Terminal ขนาด 5 ล้านตันต่อปี และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก LNG Terminal ถึงโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 เพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีที่จะเข้าระบบในปี 2570 (2) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ ในกรณีที่ไม่สามารถเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ได้ อาจมีความจำเป็นต้องก่อสร้าง FSRU ขนาด 2 ล้านตันต่อปี ในพื้นที่เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ให้แล้วเสร็จภายในปี 2571 ส่วนความต้องการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการพิจารณาแนวโน้มความต้องการใช้ เปรียบเทียบกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค (แหล่งสินภูฮ่อมและแหล่งน้ำพอง) พบว่าการจัดหาจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2572 โดยต้องเตรียมการสำรวจและผลิตหรือจัดหาเพิ่มเติมผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติใหม่จาก จังหวัดนครราชสีมาไปโรงไฟฟ้าน้ำพองและโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 rev.1 โดยก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะเข้าระบบในปี 2573
5. เปรียบเทียบ Gas Plan 2015 และ (ร่าง) Gas Plan 2018 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภาพรวม อยู่ที่ระดับ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี สูงกว่า Gas Plan 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2579 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ต่อปี นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการใช้จากเดิมคาดว่าจะมีความต้องการ LNG เพิ่มขึ้นสูง ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยก๊าซธรรมชาติในประเทศสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง (ภายหลังจากการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณในรูปแบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC)) ส่งผลให้ความต้องการ LNG ในส่วนที่ต้องจัดหาเพิ่มตาม (ร่าง) Gas Plan 2018 อยู่ที่ระดับ 26 ล้านตันต่อปี ในปี 2580 น้อยกว่าใน Gas Plan 2015 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34 ล้านตันต่อปี ในปี 2579
6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ (1) สร้างความมั่นคง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพและทำให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง ชุมชนมีโอกาสในการใช้วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรผลิตเป็นไบโอมีเทนอัดมาใช้ทดแทนการนำเข้า LNG (2) สร้างความมั่งคั่ง มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในแนวท่อซึ่งจะเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วยเพิ่มมูลค่าของก๊าซธรรมชาติได้ถึง 7-25 เท่า ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว การเกิด LNG Regional Hub มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 165 พันล้านบาทใน 10 ปี และเกิดการจ้างงาน 16,000 คนต่อปี การใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มศักยภาพจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลง ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง และ (3) สร้างความยั่งยืน จากการลดการปล่อยมลพิษจากการผลิตไฟฟ้าจาก 0.46 kg-CO2/kWh ในปี 2561 เป็น 0.27 kg-CO2/kWh ตาม PDP2018 rev.1 ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการใช้พลังงาน รวมทั้งมีการบริหารจัดการเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการจัดหา ราคา และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ มีมติเห็นชอบร่าง Gas Plan 2018 และมอบหมายให้ สนพ. นำเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 - 2580 (Gas Plan 2018) และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานจัดทำแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับ Gas Plan 2018 รวมถึงศึกษาทบทวนโครงการ Floating Storage Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เพื่อให้การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เรื่องที่ 8. แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) ซึ่งได้มีการบรรจุมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นมาตรการหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่ง โดยตั้งเป้าหมายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน และจากปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมีมาตรการด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องคือ การใช้มาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะต้องมีแนวทางการดำเนินการภายในปี 2562 - 2564 โดยในส่วนของกระทรวงพลังงานจะมีการกำหนดกรอบแนวทางการสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า การทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า
2. ข้อมูลการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าของกรมการขนส่งทางบก ปี 2562 พบว่าการจดทะเบียนของยานยนต์ไฟฟ้าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจาก 9,585 คัน ในปี 2557 เป็น 20,484 คันในปี 2561 และเพิ่มเป็นจำนวน 32,127 คัน ในปี 2562 โดยในจำนวนนี้รวมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน และรถโดยสาร ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกได้รวมรถไฟฟ้าประเภทไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฮบริดทั่วไป (HEV) จึงทำให้ไม่สามารถอ้างอิงจำนวนรถ PHEV จากข้อมูลการจดทะเบียนได้ (เฉพาะรถประเภท PHEV และ BEV เท่านั้นที่สามารถอัดประจุไฟฟ้าจากโครงข่ายไฟฟ้าได้) จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ปัจจุบันมีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เป็นการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน จำนวน 520 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนหัวจ่ายรวม 805 หัวจ่าย แยกเป็นประเภทหัวจ่ายแบบธรรมดา (Normal Charge) จำนวน 736 หัวจ่าย และหัวจ่ายแบบเร่งด่วน (Quick Charge) จำนวน 69 หัวจ่าย การกระจายตัวของสถานีอัดประจุไฟฟ้าพบว่ายังคงกระจุกตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นส่วนใหญ่ ยังขาดการกระจายตัวในถนนสายหลักระหว่างเมืองที่ต้องรองรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เดินทางมาจากเมืองอื่น ตลอดจนผู้ใช้ยานยนต์ที่มาพักผ่อนเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่น
3. แนวทางการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ประกอบด้วย
3.1 วัตถุประสงค์ (1) เพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม/เพิ่มทางเลือกในการใช้พลังงาน/ลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ/เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่อย่างทั่วถึง อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (3) เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น (4) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจการให้บริการ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า อาคารธุรกิจอื่นๆ ในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า
3.2 กรอบแนวทางการดำเนินงาน (1) พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ พื้นที่ชุมชน ส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งในสถานีบริการน้ำมันห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ และอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ของสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีการลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าบนถนนสายหลักระหว่างเมืองเพื่อรองรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นหรือรองรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เดินทางมาจากเมืองอื่น (2) ประเภทของสถานีอัดประจุ แบ่งเป็น สถานีอัดประจุไฟฟ้ากระแสตรงแบบเร่งด่วน (Quick Charge) ในเขตชุมชนเมืองชั้นในระหว่างเส้นทางหลวงสายหลักของประเทศไทย และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบปกติ (Normal Charge) ในห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ และอาคารสำนักงาน ที่มีศักยภาพและความพร้อม (3) งบประมาณสนับสนุน เปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการสนับสนุนการลงทุนเพื่อติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (4) ขั้นตอนการดำเนินงาน โดยจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์และแนวทางในการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุน โดยแนวทางในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความหนาแน่นของประชากร ความหนาแน่นของการจราจร/การเดินทาง ระยะทางระหว่างกริดแรงดันไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ (Land use) จากนั้นดำเนินการ ประกาศรับสมัครหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ แนวทางฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเริ่มดำเนินการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามขั้นตอนที่กำหนดในแผนงาน (5) วิธีการดำเนินงาน มอบสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารงานส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดย จัดทำข้อเสนอโครงการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้า นครหลวง (กฟน.) เพื่อดำเนินการกำหนดพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mapping) ให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าโดยให้มีระยะห่างของแต่ละ สถานีภายในรัศมีไม่เกิน 50 - 70 กิโลเมตร และจัดทำแนวทางการกำกับดูแลความปลอดภัยของการติดตั้งสถานอัดประจุไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการดำเนินงานอย่างพร้อมเพรียงและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้มอบสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พิจารณากำหนดแนวทางในการจัดสรรเงินสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งมอบการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟผ./กฟภ./กฟน.) พิจารณาเตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับและเชื่อมต่อกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามวิธีการดำเนินงาน และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) และเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
2. การดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีดังนี้ (1) การศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ (Mass Transit) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ศึกษาต้นทุนค่าไฟฟ้า เทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของระบบขนส่งสาธารณะทางราง พบว่าเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 4 นอกจากนั้นพบว่า ค่าไฟฟ้าของระบบขนส่งสาธารณะทางรางอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ (2) การศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้ศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและแนวทางการจัดการระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยอ้างอิงกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีมาตรการจูงใจทางด้านภาษี (Tax Incentive) ในการนำเข้ารถยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีการคิดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
3. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 กกพ. ได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีฯ เพื่อใช้เป็นอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป โดยมีข้อเสนอ 2 แนวทาง ดังนี้ (1) อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU)) ซึ่งมีอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงเวลา Peak เท่ากับ 5.7982 บาทต่อหน่วย และช่วงเวลา Off Peak เท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยมีเงื่อนไขคือ กำหนดขนาดกำลังติดตั้งของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสูงสุดต้องไม่เกินขนาดหม้อแปลง 250 kVA (2) อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU)) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยมีเงื่อนไขคือ การใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง (Low Priority) เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และสามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ เมื่อมีข้อจำกัดด้านความจุไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติทางเทคนิคของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่รับผิดชอบ
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะ และการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า
2. เห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตาม โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก อัตราตามช่วงเวลา (Time Of Use (TOU)) หรือเท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย (สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 kV) โดยอัตราดังกล่าวต้องใช้กับเงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และสามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ เมื่อมีข้อจำกัดด้านความจุไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติทางเทคนิคของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่รับผิดชอบ และใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้กำหนดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐอย่างเป็นทางการ ในรูปของคณะที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการของภาคประชาสังคม ให้เป็นหนึ่งในประเด็นปฏิรูปที่ 3 ปฏิรูปการสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการของภาคประชาสังคม ภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการแต่ละชุดของกระทรวงพลังงาน ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและรับทราบปัญหาพร้อมให้ข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการและกำกับดูแล เพื่อเสนอมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการ โครงสร้างกรรมการประกอบด้วยตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย (Stake Holders) 3 ฝ่าย คือ (1) ผู้ใช้/ผู้บริโภคพลังงาน (2) ตัวแทนองค์กรผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายพลังงาน (3) นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ การได้มาของคณะกรรมการให้เป็นไปตามความเหมาะสม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อมาดำเนินการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยกรรมการจากแต่ละภาคส่วน ดังนี้ (1) ผู้ใช้/ผู้บริโภคพลังงานมีสัดส่วน 3 คน (2) ผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายพลังงาน มีสัดส่วน 3 คน (3) ภาควิชาการ มีสัดส่วน 3 คน และ (4) กรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการด้านพลังงานแต่ละชุด มีสัดส่วน 2 คน โดยให้กรรมการสรรหาไปกำหนดวิธีการได้มาขอตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย โดยเปิดโอกาสให้สมัครหรือเสนอชื่อเป็นการทั่วไป
2. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 กระทรวงพลังงานได้มีประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหากรรมการภาคประชาสังคมของกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการสรรหาฯ มีองค์ประกอบ คือ (1) ผู้แทนองค์กรผู้ใช้/ผู้บริโภคพลังงาน จำนวน 3 คน (2) ผู้แทนผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายพลังงาน จำนวน 3 คน (3) ภาควิชาการ จำนวน 3 คน (4) ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการด้านต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน จำนวน 2 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านพลังงาน หมายถึง กรรมการด้านพลังงานระดับประเทศที่มีการแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการ ปิโตรเลียม และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ซึ่งกรรมการสรรหามีอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์การสรรหาคณะกรรมการของภาคประชาสังคม คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ต่อมาสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อขอให้ สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการด้านพลังงานระดับประเทศ พิจารณามอบหมายผู้แทนจากคณะกรรมการแต่ละชุด เพื่อร่วมเป็นกรรมการสรรหาตามประกาศกระทรวงพลังงาน เนื่องจากกรรมการด้านพลังงานระดับประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของ สนพ. จำนวน 3 คณะ (กพช. กบง. และ กทอ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 1 คณะ (คณะกรรมการปิโตรเลียม) ทั้งนี้ ในส่วนของ สนพ. จึงขอนำเสนอ กบง. พิจารณามอบหมายผู้ที่มีคุณสมบัติตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหากรรมการภาคประชาสังคม ของกระทรวงพลังงาน เข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาฯ จำนวน 1 คน
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้แทนของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อเป็นกรรมการสรรหากรรมการภาคประชาสังคมของกระทรวงพลังงาน
เรื่องที่ 11. แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ดังนี้ (1) เห็นชอบการขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร โดยให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป (2) เห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เป็นทางเลือก ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยที่ 1.85 บาทต่อลิตร
2. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ออกประกาศปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ตามมติ กพช. มีผลให้ส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 2 บาทต่อลิตร และส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ดังนี้ (1) 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมผู้มือค้าน้ำมันให้เพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี10 ในสถานีบริการ (2) 18 ตุลาคม 2562 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพไบโอดีเซลเหลือชนิดเดียว (3) 1 มกราคม 2563 ขอความร่วมมือให้ทุกคลังของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และ (4) 1 มีนาคม 2563 ขอความร่วมมือให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีจำหน่ายในสถานีบริการทุกสถานี
3. ปัญหาในการดำเนินงาน ได้แก่ (1) ส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วยังไม่จูงใจให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วและไบโอดีเซล ยังไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดย ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 มีปริมาณการใช้ ดังนี้ (1) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 อยู่ที่ประมาณ 57 ล้านลิตรต่อวัน สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ 5 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 82 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด (2) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 การใช้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้มาก โดยปัจจุบันอยู่ที่ 4.7 ล้านลิตรต่อวัน ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน (3) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อยู่ที่ 7.2 ล้านลิตรต่อวัน สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5 ล้านลิตรต่อวัน (4) ไบโอดีเซล (บี 100) อยู่ที่ 5.9 ล้านลิตรต่อวัน กว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ 7.1 ล้านลิตรต่อวัน (2) ปัจจุบัน ธพ. ไม่มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการติดตามค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วรายผลิตภัณฑ์ เพื่อติดตามราคาขายปลีกให้เหมาะสม และค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
4. ข้อเสนอฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรส่งเสริมให้มีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพิ่มขึ้น โดยปรับส่วนต่างราคาขายปลีก ดังนี้ (1) ขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 2 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี10 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 1 บาทต่อลิตร เป็น 0.50 บาทต่อลิตร (2) ปรับปรุงค่าการตลาดที่เหมาะสมของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วรายผลิตภัณฑ์ โดยกำหนดให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 สูงกว่าค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 และ บี20 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 โดยยังคงค่าการตลาดเฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ที่ระดับ 1.85 บาทต่อลิตร ตามมติ กบง. วันที่ 20 เมษายน 2561 ดังนี้ ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 1.50 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 1.85 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 1.55 บาทต่อลิตร
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ที่ 0.50 บาทต่อลิตร
2. เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ดังนี้
3. เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563
กบง.ครั้งที่ 7/2562 (ครั้งที่14) วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2562 (ครั้งที่ 14)
วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายเพทาย หมุดธรรม)
รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
เรื่องที่ 1 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ดังนี้ (1) เบนซินออกเทน 95 เท่ากับ ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชียบวกค่าพรีเมียม ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนหารด้วย 158.984 โดยที่ค่าพรีเมียม ประกอบด้วย ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ร้อยละ 0.084 ของ C&F ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ (2) เบนซินออกเทน 91 เท่ากับ ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชียบวกค่าพรีเมียม 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนหารด้วย 158.984 โดยที่ค่าพรีเมียมประกอบด้วย ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ร้อยละ 0.084 ของ C&F ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
2. ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลาง ของตลาดภูมิภาคเอเชีย คำนวณจากหลักการเสมอภาคการนำเข้า (Import Parity) จากตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย (ประเทศสิงคโปร์) ซึ่งปัจจุบันอ้างอิงด้วยราคา MOPS (Mean of Platts Singapore) Gasoline 95 Unl และค่าพรีเมียม โดยมีส่วนประกอบหลักสองส่วน คือ (1) ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และ (2) ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า (ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง) และบริษัท S&P Global Platts เป็นองค์กรที่ประกาศราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย ได้มีประกาศปรับคุณลักษณะของน้ำมันเบนซิน 92 (MOPS Gasoline 92 Unl) น้ำมันเบนซิน 95 (MOPS Gasoline 95 Unl) และน้ำมันเบนซิน 97 (MOPS Gasoline 97 Unl) ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยปรับลดปริมาณกำมะถัน (Sulphur) ความดันไอ (Reid Vapor Pressure) จุดเดือดสุดท้าย (Final Boiling Point) อะโรมาติก (Aromatics) และโอเลฟิน (Olefins) ซึ่งการประกาศปรับคุณลักษณะดังกล่าวยังคงมีคุณสมบัติของน้ำมันบางรายการไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเบนซินของประเทศไทย ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 และเนื่องจาก การกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินของประเทศไทยมีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานน้ำมันที่ซื้อขาย ในตลาดภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอ้างอิงจาก S&P Global Platts ทั้งนี้ คุณลักษณะของน้ำมันเบนซินของตลาดภูมิภาคเอเชียที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินในส่วนของค่าปรับคุณภาพน้ำมัน เพื่อให้ได้มาตรฐาน EURO 4 ตามประกาศของ ธพ. ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 กบง. ได้กำหนดให้มีค่าต้นทุนส่วนเพิ่ม EURO 4 ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ที่ระดับ 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้ค่าต้นทุนส่วนเพิ่ม EURO 4 ดังกล่าวเป็นค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ค่าปรับคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าปรับคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเบนซินออกเทน 91 อยู่ที่ 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
3. เพื่อให้หลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินสะท้อนต้นทุนตามปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับคุณลักษณะของน้ำมันเบนซินของตลาดภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศยังต้องปรับปรุงคุณลักษณะของน้ำมันเบนซินบางรายการให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพน้ำมันของประเทศ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน โดยให้ สนพ. ขอข้อมูลโรงกลั่นน้ำมัน ดังนี้ (1) ค่าปรับคุณภาพน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งครอบคลุมถึงต้นทุนส่วนเพิ่มการผลิตน้ำมัน ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินพื้นฐาน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 (2) ค่าพรีเมียมของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งประกอบด้วย ค่าขนส่งทางเรือ (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา - กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง และ (3) ปริมาณจำหน่าย และราคาขายส่งเฉลี่ยหน้าโรงกลั่น (บางจาก ศรีราชา ระยอง) ของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้โรงกลั่นน้ำมันส่งข้อมูลให้ สนพ. ภายใน7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ไปดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินต่อไป
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการขอข้อมูลโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อใช้ในปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ดังนี้
2.1 ค่าปรับคุณภาพน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งครอบคลุมถึงต้นทุนส่วนเพิ่มการผลิตน้ำมัน ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินพื้นฐาน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562
2.2 ค่าพรีเมียมของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งประกอบด้วย 1) ค่าขนส่งทางเรือ (สิงคโปร์ – ศรีราชา) 2) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) 3) ค่าประกันภัย 4) ค่าสูญเสีย และ 5) ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง
2.3 ปริมาณจำหน่าย และราคาขายส่งเฉลี่ยหน้าโรงกลั่น (บางจาก ศรีราชา ระยอง) ของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ให้โรงกลั่นน้ำมันส่งข้อมูลให้ สนพ. ภายในวันที่ 7 มกราคม 2563
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ด้านการบริหารจัดการพลังงาน ประเด็นการปฏิรูปที่ 3 ปฏิรูปการสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน แนวทาง 4 ส่งเสริมและสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกองค์กร โดยการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งได้เสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน โดยภาคอุตสาหกรรมและกิจการพลังงาน และให้เริ่มนำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และการปฏิรูปรูปแบบของการจัดกิจกรรมทางสังคมของผู้ประกอบการ โดยดำเนินการเป็นองค์รวมในรูปแบบของกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมจะตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึง โดยจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทจำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ จากรัฐ โดยการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงและขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อขายสินค้า (Matching) ระหว่างผู้ผลิต (Supply) คือวิสาหกิจชุมชน ผู้บริโภค (Demand) คือ โรงงาน พนักงาน และประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุมชนและทำหน้าที่พัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าของวิสาหกิจชุมชน โดยบริษัทวิสาหกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจัดตั้งโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และบริหารจัดการร่วมกันโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน และเพื่อให้บริษัทดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนการซื้อขายและการพัฒนามาตรฐานสินค้าชุมชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและของวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐและไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในการกำกับดูแล ซึ่งการมีวิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน (Integration) ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และยังเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับโครงการ CSR ที่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
2. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (กยผ.สป.พน.) ได้มอบหมาย ให้มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (สถาบันฯ) ดำเนินงานโครงการศึกษาการบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนำร่องในพื้นที่มาบตาพุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความยอมรับและความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนา โดยใช้แนวทางความรับผิดชอบต่อธุรกิจสังคม ประกอบการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม นำร่องในพื้นที่ มาบตาพุด การดำเนินงานโครงการฯ มีระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึง กุมภาพันธ์ 2563 และกยผ.สป.พน. ได้ยกร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../ 2562 เรื่อง แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 12 คน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานและผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม โดยมีหน้าที่และอำนาจในการยกร่างการดำเนินการและขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติสนับสนุนการดำเนินโครงการนำร่องบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมมาบตาพุด โดยหลังจากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุดสำเร็จ คณะอนุกรรมการฯ จะมีหน้าที่พิจารณาผลการศึกษาและกำหนดแนวทางดำเนินการ มาตรการสนับสนุนและแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ขอความเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ปรับปรุงร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด โดยปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานให้อยู่ในอุตสาหกรรมด้านพลังงานและปิโตรเคมี ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมและให้นำเสนอคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงานพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติรับทราบ การเปลี่ยนการช่วยเหลือ กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การช่วยเหลืออยู่เดิม มาเป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการให้ส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
2. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้มีหนังสือถึง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ หากกรมบัญชีกลางมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” เสร็จ โดยร้านค้าก๊าซสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มเรียบร้อยแล้ว จึงให้ยกเลิกการช่วยเหลือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
กบง.ครั้งที่ 6/2562 (ครั้งที่13) วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 6/2562 (ครั้งที่ 13)
วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
1. รายงานความก้าวหน้าของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และ กฟผ.(Global DCQ)
2. แนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub)
3. โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
5. การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า
6. การทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว
7. ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
8. นโยบายมอบของขวัญปีใหม่ (ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม) ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
9. การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1.รายงานความก้าวหน้าของสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง ปตท. และ กฟผ.(Global DCQ)
สรุปสาระสำคัญ
1เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาเรื่อง การนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เสนอ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (2) รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU และความก้าวหน้าของการเจรจา Global DCQ ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2562(3) เห็นชอบให้ กฟผ. จัดหา LNG แบบ Spot ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน สำหรับการทดสอบระบบส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยมอบหมายให้ กกพ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กฟผ. ไปพิจารณาความเหมาะสม ทั้งด้านปริมาณ และช่วงเวลาในการจัดหา LNG แบบ Spot สำหรับการทดสอบระบบ แล้วนำกลับมาเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป (4) มอบหมายให้ กฟผ. ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้า LNG กับ บริษัท PETRONAS LNG Ltd. โดยไม่ให้มีเกิดการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) (5) มอบหมายให้ ปตท. และ กฟผ. ไปบริหารจัดการ การใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และ (6) มอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
2. การเจรจาสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. (Global DCQ) เป็นสัญญาเพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความมั่นคงและความยืดหยุ่นสำหรับการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซฯ โดยเสรีที่ไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ภายใต้แผนความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ โดยสัญญากำหนดปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยรายวัน (DCQ) ซึ่ง ปตท. และ กฟผ. ได้หารือร่วมกันในประเด็นในสัญญา Global DCQ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การเรียกรับก๊าซและการเปลี่ยนแปลงการเรียกรับก๊าซ (Re-Nomination) (2) การกำหนดบทปรับ กรณีการใช้ก๊าซไม่สมดุลในแต่ละวัน (Imbalance) (3) การขาดส่งก๊าซธรรมชาติของบุคคลที่สาม และ (4) เงื่อนไขการใช้ก๊าซขั้นต่ำ (Minimum Take) ทั้งนี้ ใน 4 ประเด็นข้างต้น กกพ. จะพิจารณาภายใต้หลักการให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน ความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ภายหลังการเจรจาทั้ง 4 ประเด็นแล้วเสร็จ สัญญา Global DCQ จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการ กฟผ. อัยการสูงสุด กบง. และ กพช. ตามลำดับ ทำให้ไม่สามารถลงนามสัญญา Global DCQ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 จึงจำเป็นต้องต่ออายุสัญญาชั่วคราวไปก่อนอีก 1 ปี หรือจนกว่าจะลงนาม Global DCQ แล้วเสร็จ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2. แนวทางการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง การซื้อ-ขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub)
สรุปสาระสำคัญ
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional LNG Hub และให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ ปตท. กำหนด Roadmap การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional LNG Hub ภายในปี 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 คณะอนุทำงานขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปพลังงานด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ภายใต้คณะทำงานพิเศษประสานเชื่อมโยงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศของกระทรวงพลังงาน ได้รับทราบผลการศึกษาการพัฒนา Regional LNG Hub ในประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของที่ตั้งของประเทศและการผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านไฟฟ้าและศูนย์กลาง LNG
2. การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขาย LNG ในภูมิภาค (Regional LNG Hub) เพื่อให้เป็นตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายมารวมตัวเพื่อทำการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย LNG โดยใช้ประโยชน์จาก LNG Terminal Infrastructure ที่มีอยู่หลายแห่งในภาคตะวันออก โดยประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็น Regional LNG Hub เนื่องจากมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับประเทศไทยตั้งอยู่ ในตำแหน่งที่เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีความต้องการ LNG มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับโดยสามารถให้บริการต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น การให้บริการขนถ่ายและกักเก็บ LNG การให้บริการแปรสภาพ LNG เป็นก๊าซธรรมชาติ และการให้บริการเพื่อนำ LNG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น โดยปัจจัยส่งเสริม/ผลักดันในการพัฒนา Regional LNG Hub ได้แก่ การเพิ่ม Flexibility ในการบริหารจัดการ LNG เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ผ่านกลไกตลาด รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดการพัฒนาโครงข่ายก๊าซธรรมชาติและพัฒนาเป็นศูนย์กลางการซื้อ - ขาย LNG ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในภูมิภาคพบว่าตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ - ขาย LNG ภายในภูมิภาค คิดเป็นประมาณ 60% ของการซื้อ-ขาย LNG ในโลก และมีแนวโน้มความต้องการใช้ LNG ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ของการพัฒนา Regional LNG Hub ในประเทศไทย มีดังนี้ (1) สามารถเพิ่ม Flexibility ในการบริหารจัดการ LNG สนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน (2) เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและอัตราการจ้างงานของประเทศไทยโดยรวม (4) ลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้า และ (5) สร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาคและในระดับสากล
3. แผนการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจ Regional LNG Hub แบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้ (1) ช่วงทดสอบกิจกรรม (ไตรมาสที่ 1 ปี 2563) โดยทดสอบระบบการให้บริการต่าง ๆ และทำการตลาด/สื่อความกับผู้ค้า LNG เพื่อให้เข้ามาใช้บริการ (2) ช่วงเริ่มดำเนินการ (ไตรมาสที่ 2-3 ปี 2563) โดยเริ่มทดลองค้าขาย LNG เชิงพาณิชย์ ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาคและในระดับสากลร่วมกับภาครัฐ และ (3) ช่วงดำเนินการเชิงพาณิชย์ (ไตรมาส 4 ปี 2563 และ ปี 2564 เป็นต้นไป) ไตรมาส 4 ปี 2563 ให้บริการ Regional LNG Hub เต็มรูปแบบ ส่วนปี 2563 เป็นต้นไป จะปรับปรุง Infrastructure ที่จำเป็น (เช่น สร้างถังกักเก็บ LNG เพิ่มเติม และ/หรือ ปรับปรุงท่าเรือ) ทั้งนี้ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Regional LNG Hub จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน ได้แก่ (1) การซื้อ-ขาย LNG เพื่อให้ประเทศไทยเป็น LNG Hub ในเชิงพาณิชย์ ควรศึกษาแนวทางดำเนินการให้เกิดความชัดเจน และไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน (2) ขยายการให้บริการของ LNG Terminal ที่เกี่ยวข้องกับ Regional LNG Hub เพื่อรองรับกิจกรรมตาม LNG Hub เช่น การส่งออก การสำรอง เป็นต้น (3) การกำหนดอัตราค่าบริการ LNG Terminal ในส่วนที่เกี่ยวกับ LNG Hub เป็นการเพิ่ม utilization rate ของ Terminal ช่วยลดภาระผู้บริโภคในประเทศ และ (4) ควรศึกษาแนวทางดำเนินการสำหรับกรณีที่ปริมาณความต้องการ LNG ในประเทศสูงขึ้นและมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือถังเก็บ LNG เพิ่มเติม โดยพิจารณาแบ่งสัดส่วนต้นทุน (Unbundle) ให้เหมาะสม
4. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ที่ประชุมคณะอนุทำงานฯ ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีมติรับทราบผลการศึกษาโดยมีข้อสังเกต สรุปได้ดังนี้ (1) ผลการศึกษาพิจารณาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน Onshore Terminal ความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional LNG hub ของ ปตท. ยังไม่ครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมดที่มีแผนจะดำเนินการ ซึ่งได้แก่ โครงการก่อสร้าง FSRU ของ กฟผ. (2) ในอนาคตหากสามารถพัฒนาเป็น Regional LNG hub จะต้องพิจารณาแบ่งสัดส่วนทั้งในเรื่องการแยกบัญชีก๊าซระหว่างการใช้ในประเทศ การส่งออก และขอบเขตการดำเนินงานของ ธุรกิจ LNG ที่ใช้ในประเทศเพื่อความมั่นคงกับเชิงพาณิชย์ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ต้นทุนที่เกิดจากการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม จะไม่ถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ก๊าซในประเทศ เพราะเป็นต้นทุนในส่วนการค้าเชิงพาณิชย์ และ (3) ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค นอกเหนือจากประเทศสิงคโปร์ เพียงประเทศเดียว เช่น ประเทศเวียดนาม และฟิลิปปินส์
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3. โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีหลักการในการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงและสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและการจำหน่ายไฟฟ้า และสร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ โดยเป้าหมายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้น ๆ มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 กพช. ได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และเห็นชอบให้นำความเห็นของ กพช. ไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายละเอียดโครงการฯ เช่น (1) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควรผลิตไฟฟ้าให้ชุมชนได้อย่างมีเสถียรภาพ และไม่เป็นภาระต่อระบบ โดยอาจเป็นโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายเชื้อเพลิง (Hybrid) และพิจารณาการนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคง (2) เน้นผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในชุมชนให้มากที่สุดและให้มีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือขายเข้าระบบน้อยที่สุด โดยต้องมีอัตราการรับซื้อที่เหมาะสมไม่กระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม (3) ควรพิจารณากรอบวัตถุประสงค์และกฎระเบียบการใช้เงินจากกองทุนต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนในโครงการให้เหมาะสม (4) พิจารณาการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิง (5) ควรกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการให้มีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนการคัดเลือก และ(6) ควรกำหนดแนวทางและมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนรอบโครงการ พร้อมทั้งมอบหมาย กบง. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยมีองค์ประกอบ 17 คน มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นอนุกรรมการ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็น เสนอแนะ และกำหนดแนวทางการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน พิจารณาและเสนอความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคและนโยบายต่อการดำเนินงาน และต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ประธานฯ กบง. ได้ลงนามในคำสั่งปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการฯ
3.เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาหลักการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้
3.1 หลักการทั่วไปใช้สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยประเภทเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่าง ชีวมวล และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ทั้งนี้ ให้ติดตั้งมิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้าแยกแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และแยกราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาประเภท Non-Firm สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วยได้ และห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลช่วยในการผลิตไฟฟ้า ยกเว้นช่วงการเริ่มต้นเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ในปี 2563 จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าปริมาณรวม 700 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) โดยแบ่งเป็น (1) โครงการ Quick win เป็นโครงการที่ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้าร่วมโครงการ และ (2) โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป กรณีที่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขหักหลักประกันตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ และปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเป็นไปตามที่ประกาศรับซื้อกำหนดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ การคัดเลือกโครงการจะดำเนินการโดยคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จัดตั้งภายใต้ กพช. โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด และคัดเลือกเรียงตามลำดับจากโครงการที่เสนอให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนสูงสุดไปสู่ผลประโยชน์ต่ำสุด ทั้งนี้ จะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick win ก่อนเป็นลำดับแรก แล้วจึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป
3.2 รูปแบบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีรูปแบบการร่วมทุนประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60 - 90 และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณร้อยละ 10 - 40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีก รวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นของโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นๆ และจะต้องกำหนดเงื่อนไขการจัดสรรเงินส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าของโครงการฯ ให้เป็นไปเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานให้กับชุมชน โดยมีอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นไม่ต่ำกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และอัตราส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ Hybrid สำหรับพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นของโรงไฟฟ้านั้น ๆ ครอบคลุมหมู่บ้านโดยรอบโรงไฟฟ้าที่อยู่ในรัศมีจากศูนย์กลางโรงไฟฟ้าเป็นระยะทาง ดังนี้ (1) 5 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (2) 3 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเกิน 100 ล้านกิโลวัตต์ ชั่วโมงต่อปี แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และ (3) 1 กิโลเมตร สำหรับโรงไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 100 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในกรณีที่มีการทับซ้อนกันของเขต พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น เนื่องจากโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้กันอาจรวมพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นเข้าด้วยกันก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นเป็นสำคัญ และชุมชนยังคงได้รับผลประโยชน์ตามระเบียบกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติ ต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิง โดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบเกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อเชื้อเพลิง ระยะเวลาการรับซื้อเชื้อเพลิง คุณสมบัติของเชื้อเพลิงและราคารับซื้อเชื้อเพลิงไว้ในสัญญาด้วย
3.3 อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (VSPP) ดังนี้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) รูปแบบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเสนอ ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับกรณีก๊าซชีวภาพที่ใช้พืชพลังงานเพียงอย่างเดียวด้วย และให้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาต่อไป
2. เห็นควรให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณามอบหมายให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน พิจารณา
3. มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกโครงการที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. ในช่วงปี 2558 - 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) โดยได้กำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้า ประเภทพลังงานหมุนเวียน ปริมาณการรับซื้อ รวมทั้งกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) ของแต่ละโครงการไว้ และได้มอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าและกำหนด SCOD ของแต่ละโครงการไว้ตามมติ กพช. ทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ ซึ่งสาเหตุการเลื่อน SCOD มีทั้งจากเหตุสุดวิสัย เช่น การประสบภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เหตุขัดข้องของระบบไฟฟ้า และสาเหตุมาจากไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เช่น ความล่าช้าจากการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) และ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) ความล่าช้าจากการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือการจัดซื้อเครื่องจักร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในกรณีที่มีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัย ต่อมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กพช. ได้มีมติมอบอำนาจให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กกพ. พิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนี้ (1) มอบให้ กบง. สามารถพิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้ง ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากเดิมที่ กพช. มีมติเห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้า และ (2) มอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ทั้ง SPP และ VSPP) จากเดิมที่ กพช. ได้มีมติไว้เฉพาะกรณีที่โครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าหรือมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (สัญญาฯ) แล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกรอบระยะเวลาที่ กพช. กำหนด เนื่องจากเหตุสุดวิสัย โดยให้ กกพ. สามารถพิจารณาเลื่อนกำหนด SCOD ใหม่ได้ โดยให้กรอบการขยายระยะเวลา SCOD เท่ากับระยะเวลาที่เกิดเหตุสุดวิสัยจริง และจะต้องรายงานผลการดำเนินการให้ กบง. และ กพช. ทราบเป็นระยะ
2. ปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการ VSPP ขยะอุตสาหกรรม (7 ราย กำลังผลิต 41.83 เมกะวัตต์) กำหนด SCOD ภายในปี 2562 ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว และมี 2 ราย ขอเลื่อนกำหนด SCOD จากปัญหาสถาบันการเงินและความล่าช้าในการจัดทำรายงาน EHIA โดยขอเลื่อนกำหนด SCOD (2) โครงการ VSPP ขยะชุมชน (11 ราย กำลังผลิต 83.04 เมกะวัตต์) กำหนด SCOD ภายในปี 2564 ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว มี 1 ราย ขอเลื่อนกำหนด SCOD เนื่องจากระยะเวลาก่อสร้างและทดสอบระบบไม่ทันกำหนด SCOD (3) โครงการ VSPP ประชารัฐ เชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ (3 ราย กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์) ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 2 ราย สำหรับ 1 ราย ไม่ได้ลงนามสัญญาฯ เนื่องจากที่ตั้งติดผังเมือง (4) โครงการ SPP Hybrid Firm 17 ราย กำลังผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในปี 2564 สถานภาพอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA หรือรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Code of Practice : CoP) ก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเนื่องจากการจัดทำ EIA ต้องใช้ระยะเวลาทำให้การพัฒนาโครงการ ไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้มี 6 ราย ขอเลื่อนการลงนามสัญญาฯ และ 7 ราย ขอเลื่อนทั้งการลงนามสัญญาฯ และ กำหนด SCOD
3. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กพช. ได้มีมติมอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาเลื่อนกำหนด SCOD ใหม่ได้ โดยให้ขยายระยะเวลากำหนด SCOD ได้เฉพาะกรณีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น ตามระยะเวลาที่เกิดเหตุสุดวิสัยจริง ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 กกพ. ได้มีมติกำหนดแนวทางการพิจารณาขยายกำหนดวัน SCOD อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละราย และกำหนดให้พิจารณาขยายกำหนดวัน SCOD จากความพร้อม 4 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านที่ดิน (2) ด้านเทคโนโลยี (3) ด้านแหล่งเงินทุน และ (4) ด้านการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. กกพ. ได้ประเมินผลการรับซื้อไฟฟ้าที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างความเข้าใจ และการยอมรับจากชุมชน โดยบางโครงการได้รับการคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำรายงาน EIA และการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งเหตุดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัยตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตาม SCOD ที่ กพช. หรือ กบง. กำหนด ดังนั้น กกพ. จึงขอให้ กพช. มอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลา SCOD โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ประสบปัญหาการพัฒนาโครงการได้ตามความเหมาะสมเป็นรายโครงการ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปจนแล้วเสร็จเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายรัฐ โดย กกพ. จะออกหลักเกณฑ์ และแนวทางการพิจารณาความพร้อม 5 ด้าน คือ (1) ความพร้อมด้านที่ดิน (2) ความพร้อมด้านการจัดหาเครื่องจักร (3) ความพร้อมด้านแหล่งเงินทุน (4) ความพร้อมด้านการขออนุญาตประกอบกิจการ (5) ความพร้อมด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาขยายระยะเวลา SCOD ต่อไป และ กกพ. ขอสงวนสิทธิที่จะกำหนดบทปรับได้ตามความเหมาะสม
มติของที่ประชุม
เห็นควรนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณามอบอำนาจให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพิ่มเติมจากที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยให้สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกรอบวันที่ กพช. หรือคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดสำหรับโครงการที่ประสบปัญหาการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากกรณีเหตุอื่นที่ไม่เข้าข่ายเหตุสุดวิสัยได้ โดยให้ กกพ. พิจารณาเป็นรายโครงการตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด รวมทั้ง ให้ออกหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป ทั้งนี้ ให้ กกพ. สามารถสงวนสิทธิที่จะกำหนดบทปรับได้ตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด และจะต้องรายงานผลการดำเนินการให้ กบง. และ กพช. ทราบเป็นระยะ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศเรื่องอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรกเพื่อรองรับการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (โครงการนำร่อง) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเป็นการชั่วคราวไปก่อนจนกว่าจะมีอัตราค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติดังกล่าวได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2560 กกพ. ได้ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า โดยกำหนดเกณฑ์การอนุญาตตามขนาดการจำหน่ายไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ดังนี้ (1) กรณีสถานีอัดประจุไฟฟ้า มีขนาดการจำหน่ายไฟฟ้า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ขึ้นไป (หรือขนาดตั้งแต่ 1.0 เมกะวัตต์ ที่ค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าเท่ากับ 1.0) ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. (2) กรณีสถานีอัดประจุไฟฟ้า มีขนาดการจำหน่ายไฟฟ้าต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต (ให้มาจดแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. เพื่อขอยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกากําหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงาน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2552)
2. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox : ERC Sandbox) และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 สำนักงาน กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ซึ่งมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวนทั้งหมด 34 โครงการ รวมถึงโครงการที่เสนอขอศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งสรุปได้ดังนี้ (1) ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 170 โครงการมีกำลังไฟฟ้าติดตั้งรวม 9,399.44 กิโลโวลต์แอมแปร์ (หรือประมาณ 9.4 เมกะวัตต์ ที่ค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าเท่ากับ 1.0) ซึ่งเข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตทั้งหมด (2) การประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า จะต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตราค่าไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อมาจำหน่ายให้กับยานยนต์ไฟฟ้าที่มารับบริการอัดประจุไฟฟ้า ดังนั้นผลประกอบการจึงขึ้นอยู่กับต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็น (1) กรณีมีผู้ใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้าน้อยรายและไม่ต่อเนื่อง จะมีการใช้กำลังไฟฟ้าชาร์จที่สูงและเกิดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ในสัดส่วนสูงถึง 66% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงถึง 13.20 บาทต่อหน่วย (2) กรณีมีผู้ใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนมากและสม่ำเสมอ จะเกิดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ในสัดส่วนเพียง 10% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 4.83 บาทต่อหน่วย ต้นทุนค่าไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับความต้องการกำลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) ความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy Demand) ระยะเวลาที่ใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้า และจำนวนผู้ใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อมีผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนน้อยรายและไม่ต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นการเปิดกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า จึงทำให้สถานีอัดประจุไฟฟ้ามีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงมากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการฯ เสนอขอผ่อนปรนกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงการ ERC Sandbox
3. เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 คณะทำงานดำเนินงานโครงการ ERC Sandbox ได้หารือกับผู้ประกอบการฯ ซึ่งสรุปข้อเสนอแนวทางการดำเนินการเพื่อขอผ่อนปรนกฎและระเบียบต่างๆ ภายใต้โครงการ ERC Sandbox ดังนี้ (1) กำหนดให้การใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง (Low Priority) เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป และสามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีประจุไฟฟ้าได้ เมื่อมีข้อจำกัดด้านความจุไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Grid capacity) ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อตรวจวัดและควบคุมสถานีอัดประจุไฟฟ้าในสายป้อน (Feeder) ที่เกี่ยวข้อง และติดตั้งระบบตรวจวัดและควบคุมรวมทั้งระบบสื่อสาร ซึ่งผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น (2) ขอให้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการส่งเสริมส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 กกพ. ได้พิจารณาเรื่อง การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า เห็นว่าการส่งเสริมสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ควรคำนึงถึงต้นทุน ในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม ส่งเสริมให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ จึงมีมติเห็นควรเสนอให้ กพช. พิจารณามอบอำนาจให้ กกพ. และ กบง. สามารถพิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า ในโครงการ ERC Sandbox เพื่อศึกษาอัตราค่าบริการที่เหมาะสมต่อสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
เห็นควรนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระบบขนส่งสาธารณะ (Mass transit) ต่อไป
เรื่องที่ 6. การทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมเป็นดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) เป็นทางเลือก ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน โดยกำหนดให้มีกรดโมโนกลีเซอไรด์ (Monoglyceride) จากไม่สูงกว่าร้อยละ 0.7 โดยน้ำหนัก เป็นร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนัก ซึ่งการปรับปรุงกระบวนการผลิตไบโอดีเซลเพื่อให้ได้ค่าโมโนกลีเซอไรด์ไม่สูงกว่าร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนัก จะต้องเพิ่มเงินลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยเพื่อขอทราบข้อมูลต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตไบโอดีเซล และเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ได้หารือร่วมกับ ธพ. สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล และผู้ค้ามาตรา 7 โดย สนพ. ได้เสนอต้นทุนและหลักเกณฑ์ในการคำนวณใหม่ที่ประเมินจากต้นทุนการผลิตเดิมและเงินลงทุนใหม่ มาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณไบโอดีเซลเพื่อผสมเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นว่าควรใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปก่อน เพราะส่วนใหญ่การตกลงซื้อขายน้ำมันไบโอดีเซลจะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ค้าน้ำมันเรียบร้อยแล้ว และการที่ผู้ผลิตไบโอดีเซลมีต้นทุนส่วนเพิ่มในการปรับปรุงโรงงานเพื่อผลิตไบโอดีเซล (เกรดพิเศษ) ผู้ผลิตสามารถเจรจาส่วนลดที่เคยมีกับผู้ค้าน้ำมันได้ ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคงหลักเกณฑ์การคำนวณไบโอดีเซลเดิม แต่ผู้ค้าน้ำมันยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 เป็น B10 จึงขอให้ สนพ. เร่งศึกษาต้นทุนการผลิตที่แท้จริง และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ดังนั้น สนพ. จึงขอเสนอ กบง. เพื่อพิจารณา ดังนี้ (1) เห็นควรใช้หลักเกณฑ์คำนวณราคาไบโอดีเซลตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 และ (2) เห็นควรให้ สนพ. เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของรายละเอียดต้นทุนไบโอดีเซล ซึ่งอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการผลิต เพื่อให้มีลักษณะและคุณภาพของไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 และขอให้ สนพ.รับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องก่อนเสนอ กบง. พิจารณา
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันไบโอดีเซล ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่
2. รับทราบในหลักการว่าควรมีการศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม แต่เห็นควรให้ติดตามการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน เป็นระยะเวลา 6 เดือน และนำมาเสนอ กบง. เพื่อประกอบการพิจารณาการศึกษาหลักเกณฑ์การคำนวณราคาไบโอดีเซลใหม่ที่เหมาะสม ต่อไป
เรื่องที่ 7. ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ 4/2545 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนา และมาตรการด้านพลังงานตามที่ กพช. มอบหมาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานกรรมการ มีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ มีองค์ประกอบรวมทั้งสิ้น 11 คน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการทางด้านพลังงาน บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกรอบและแนวทางที่ กพช. มอบหมาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ได้ลงนามในคำสั่ง กพช. ที่ 1/2557 โดยให้ยกเลิกคำสั่ง กพช. ที่ 4/2545 และให้แต่งตั้ง กบง. ขึ้นใหม่ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คงเดิม ต่อมาพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 โดย พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (คบน.) และแบ่งอำนาจและหน้าที่ กบง. ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันฯ ตามคำสั่ง กพช. ที่ 1/2557 ข้อ 3 (3) เป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ถ่ายโอนอำนาจและหน้าที่ไปให้ คบน. ตามมาตรา 14 (4) ใน พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ และส่วนที่ 2 อำนาจและหน้าที่ กบง. ตามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 15/2562 ข้อ 3
2. เพื่อให้อำนาจและหน้าที่ของ กบง. สอดคล้องกับการปฏิบัติงานในปัจจุบัน ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรปรับปรุงอำนาจและหน้าที่ กบง. โดยได้จัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้ง กบง. ขึ้นใหม่ โดยขอตัดอำนาจและหน้าที่ข้อ 3 (3) ออก ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา กบง. มีภารกิจในการพิจารณาเรื่องนโยบายไฟฟ้าเป็นจำนวนมากจึงเห็นควรให้เพิ่ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เข้าร่วมเป็นกรรมการอีกตำแหน่งหนึ่ง
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงพลังงานจะจัดทำนโยบายมอบของขวัญปีใหม่ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านราย โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 50 บาทต่อคนต่อเดือน (150 บาท ต่อคนต่อ 3 เดือน) เป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563) แทนการให้การช่วยเหลือเดิม (45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน) โดย ปตท. จะนำเงินเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เดือนละ 10 ล้านบาท และจะขอยกเลิกการช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีผู้ได้รับสิทธิ์ 88,189 ราย (ช่วยเหลือจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน) หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการช่วยเหลือ (วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ทั้งนี้คาดการณ์ว่านโยบายนี้ ต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 100 - 250 ล้านบาทต่อเดือน จากเงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 240 ล้านบาทต่อเดือน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) บริจาคเข้ากองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 10 ล้านบาทต่อเดือน
2. ซึ่งการดำเนินการของบประมาณจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีขั้นตอนการดำเนินการ โดยต้องนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อพิจารณากลั่นกรอง และนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม แล้วจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 9. การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สรุปสาระสำคัญ
ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ได้รับทราบข้อเสนอการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้ ปตท. ดำเนินการตามกฎหมาย กฎระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป ต่อมา ปตท. ได้มีข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างการขายหุ้นของ PTTOR โดยกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท. ใน PTTOR และการเสนอขายหุ้นสามัญของ PTTOR ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ ปตท. ทั้งนี้ ปตท. เห็นควรนำเรื่องดังกล่าวเสนอ กพช. ทราบต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
กบง.ครั้งที่ 5/2562 (ครั้งที่12) วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 5/2562 (ครั้งที่ 12)
วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
2. แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
3. การทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ขอความร่วมมือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (ครัวเรือนรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารและอื่นๆ) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีแนวทางอื่นมาทดแทน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เรื่องแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเห็นชอบวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดจำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (ใช้ 1 ครั้งต่อ 3 เดือน) ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดเริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซ้ำซ้อนกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือนที่ ปตท. ให้ความช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือแจ้ง ปตท. ยกเลิกการช่วยเหลือและระงับการใช้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย (18 กิโลกรัมต่อ 3 เดือน) ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือนส่วนการช่วยเหลือร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (150 กิโลกรัมต่อเดือน) ปตท. ยังดำเนินการตามเดิมในอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท โดยมีจำนวนร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการจำนวน 408,567 ราย คิดเป็นจำนวนเงินช่วยเหลือค่าชดเชยประมาณ 19.4 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีการใช้บริการผ่านร้านค้าก๊าซ LPG ที่ลงทะเบียนกับโครงการ จำนวน 7,772 ร้าน ผ่านการใช้สิทธิ์ด้วยการส่งข้อความ SMS
2. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 กบง. ได้มีมติมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ขอความร่วมมือ ปตท. ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562
3. การดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปตท. เปลี่ยนการช่วยเหลือมาเป็นให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (1) ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่เคยลงทะเบียนใช้สิทธิ์ตามโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีก ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) (โครงการเดิม) และเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการบรรเทาผลกระทบฯ จำนวน 88,189 ราย ทั้งนี้ ปตท. ดำเนินการโดยการนำข้อมูลผู้ที่ลงทะเบียนร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (โครงการเดิม) จำนวน 408,567 ราย ไปเปรียบเทียบกับผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.5 ล้านราย พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ์ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 88,189 ราย (2) ปริมาณการช่วยเหลือ ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 รวมเป็นจำนวนเงินช่วยเหลือประมาณ 8.8 ล้านบาท/เดือนและ (3) รูปแบบการช่วยเหลือ ใช้บริการผ่านร้านค้าก๊าซที่ติดตั้งเครื่อง EDC ภายใต้โครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐได้ทุกร้าน โดยปัจจุบันมีร้านค้าก๊าซที่ติดตั้งเครื่อง EDC แล้ว จำนวน 2,001 ร้าน ทั่วประเทศ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2. แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
สรุปสาระสำคัญ
1.เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 กพช. ได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และให้นำความเห็นของ กพช. ไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ (1) โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควรที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้ชุมชนได้อย่างมีเสถียรภาพและไม่เป็นภาระต่อระบบ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายเชื้อเพลิง (Hybrid) และพิจารณาถึงการนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบ (2) โรงไฟฟ้าชุมชนควรเน้นผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในชุมชนให้มากที่สุดเป็นอันดับแรกและให้มีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือขายเข้าระบบน้อยที่สุด โดยจะต้องมีอัตราการรับซื้อที่เหมาะสมไม่กระทบค่าไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าโดยรวม (3) ควรพิจารณากรอบวัตถุประสงค์และกฎระเบียบการใช้เงินจากกองทุนต่างๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุน ในโครงการให้เหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายของกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (4) ควรพิจารณาถึงการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรและลดปัญหามลพิษ PM 2.5 (5) ควรกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการให้มีความชัดเจนโปร่งใส และเป็นธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ และคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและประเทศด้วย และ (6) ควรกำหนดแนวทางและมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนรอบโครงการ ทั้งนี้ มอบหมายให้ กบง. จัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. การจัดทำรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ควรจะต้องพิจารณาถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่
2.1 วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองอย่างยั่งยืน (2) ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า (3) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิง และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (4) ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้จากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน จากวัสดุทางการเกษตรและจำหน่ายไฟฟ้า และ (5) สร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ
2.2 หลักเกณฑ์การคัดเลือก ต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้ (1) รูปแบบการร่วมทุน ให้ภาครัฐและ/หรือเอกชนและ/หรือชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน โดยการกำหนดสัดส่วนการร่วมทุนให้เหมาะสม ชุมชนสามารถเข้าร่วมได้ (2) กำหนดพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ 6 ภูมิภาคของประเทศ โดยกำหนดเป็น Zoning ในพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนและมีความพร้อมในการดำเนินงาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่มีระดับ GDP ในเกณฑ์น้อย โดยอาจดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานก่อนขยายผลในระยะต่อไป (3) เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่สามารถจัดหาได้ในพื้นที่เป็นหลัก ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ สามารถใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบผสมผสานได้ (Hybrid) เพื่อใช้ทดแทนในกรณีที่เชื้อเพลิงหลักไม่เพียงพอ นอกจากนี้ กรณีที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องมีแนวทางการกำจัดซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (4) โครงสร้างพื้นฐาน มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้ โดยโรงไฟฟ้าชุมชนต้องมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ (5) ผลตอบแทนสู่ชุมชน มีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าคืนสู่ชุมชน ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงานตามสัดส่วนที่ชุมชนได้ร่วมทุน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร (6) ราคารับซื้อไฟฟ้า ต้องไม่กระทบหรือกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งนี้ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) โดยอาจเร่งรัดให้มีการรับซื้อเร็วขึ้นจากแผนตามความเหมาะสม
2.3 แหล่งเงินสนับสนุนการดำเนินโครงการ พิจารณาการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน โดยพิจารณากรอบวัตถุประสงค์และกฎระเบียบการใช้เงินจากกองทุนต่างๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนในโครงการให้เหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายของกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมาย พพ. ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายดังกล่าว ซึ่ง พพ. เห็นควรเสนอ กบง. ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนให้การกำหนดแนวทางการส่งเสริมพลังงานทดแทนและสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอความเห็นชอบจาก กบง. ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวภายใต้ กบง. รวมทั้งมอบหมายให้ พพ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานร่วมกันจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รูปแบบในการจัดหาโรงไฟฟ้าชุมชน และราคารับซื้อไฟฟ้า โดยนำความเห็นของ กพช. ไปพิจารณาประกอบการจัดทำ และนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ ก่อนเสนอ กบง. ให้ความเห็นชอบต่อไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานจัดทำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ และมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอประธานกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณาลงนามต่อไป
2.มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานร่วมกันจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รูปแบบในการจัดหาโรงไฟฟ้าชุมชน และราคารับซื้อไฟฟ้า โดยนำความเห็นของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปพิจารณาประกอบการจัดทำ และนำเสนอคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเพื่อพิจารณา ก่อนนำเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 3. การทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 โครงการนำร่อง โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ ในปริมาณการจัดหาไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อนำก๊าซ LNG ไปใช้กับโรงไฟฟ้าของตนเองที่กำหนด เพื่อทดสอบโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีผู้ประกอบการมากกว่าหนึ่งราย เตรียมตัวไปสู่การเปิดเสรีในอนาคตที่จะให้มีผู้ประกอบการหลายราย ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบให้ กฟผ. เตรียมการจัดหา LNG ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 และเริ่มการนำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ภายในปี 2562 และเห็นชอบการขอส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ของ กฟผ. ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาไฟฟ้าได้ภายใต้เงื่อนไข กฟผ. ต้องเลือกโรงไฟฟ้าที่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ราคาที่จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำที่สุดตามสัญญาการจัดหา LNG ระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสัดส่วนปริมาณการนำเข้าต่อขนาดการจองพื้นที่ของสถานีแปรสภาพ LNG ของ กฟผ. จะต้องไม่น้อยกว่าสัดส่วนของ ปตท.
2.เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 กบง. ได้พิจารณาการนำเข้า LNG ของ กฟผ. และได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และ ปตท. เสนอภายใต้การกำกับของ กกพ. (2) รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU และความก้าวหน้าของการเจรจาสัญญา Global DCQ ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 (3) เห็นชอบให้ กฟผ. จัดหา LNG แบบ Spot ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน สำหรับการทดสอบระบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยมอบหมายให้ กกพ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กฟผ. ไปพิจารณาความเหมาะสมทั้งด้านปริมาณ และช่วงเวลาในการจัดหา LNG แบบ Spot สำหรับการทดสอบระบบ แล้วนำกลับมาเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป (4) มอบหมายให้ กฟผ. ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้า LNG กับ บริษัท PETRONAS LNG Ltd. โดยไม่ให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP)(5) มอบหมายให้ ปตท. และ กฟผ. ไปบริหารจัดการการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายใต้ การกำกับของ กกพ. ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และ (6) มอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
3.สำนักงาน กกพ. ได้หารือร่วมกับ สนพ. ปตท. กฟผ. และบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) เพื่อหารือการดำเนินการตามมติ กบง. วันที่ 30 สิงหาคม 2562 จำนวน 3 ครั้ง และเมื่อวันที่16 ตุลาคม 2562 ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีข้อสรุปเห็นควรให้พิจารณาเป็นทางเลือก 2 แนวทาง พร้อมทั้งจัดทำผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณา ดังนี้ (1) แนวทางที่ 1 กฟผ. นำเข้า LNG แบบ Spot 2 Cargoes ติดต่อกันภายในเดือนธันวาคม 2562 มีข้อดีคือ ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ กพช. และ กบง. มีระยะเวลาการดำเนินงานสั้น สามารถสรุปผลเพื่อนำไปสู่การพิจารณาการแข่งขันกิจการก๊าซธรรมชาติระยะต่อไปได้รวดเร็ว มีการทดสอบการบริหารจัดการ LNG ในถังเก็บ ของ PTTLNG และทดสอบการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในท่อของ Transmission System Operator (TSO) ส่วนข้อเสียคือ มีความเสี่ยงภาระ Take or Pay แหล่งก๊าซฯ เมียนมา และราคา LNG แบบ Spot ในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มสูงและกระทบอัตราค่าไฟฟ้าสูงกว่าการนำเข้าเดือนเมษายน และ (2) แนวทางที่ 2 กฟผ. นำเข้า LNG แบบ Spot Cargo ที่ 1 ในเดือนมกราคม 2563 และ Cargo ที่ 2 ในเดือนเมษายน 2563 มีข้อดีคือ ราคา LNG แบบ Spot เดือนเมษายนมีแนวโน้มต่ำกว่าและกระทบอัตราค่าไฟฟ้าต่ำกว่าการนำเข้าเดือนธันวาคม มีการทดสอบการบริหารจัดการ LNG ในถังเก็บของ PTTLNG และทดสอบการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในท่อของ TSO โดยมีระยะเวลาในการสรุปผลก่อนการทดสอบ Cargo ที่ 2 ส่วนข้อเสียคือ ขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมดใช้เวลา 3 ถึง 4 เดือน ส่งผลให้การสรุปผลการทดสอบและการพิจารณาการส่งเสริมโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติระยะต่อไปล่าช้าออกไป
4. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 กกพ. ได้พิจารณาแนวทางการนำเข้า LNG แบบ Spot ทั้งสองแนวทาง และเห็นควรให้เสนอแนวทางที่ 3 ด้วยสมมติฐานการนำเข้า LNG เดือนละ 1 Cargo ในเดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 โดยสำนักงาน กกพ. ได้วิเคราะห์ผลกระทบของแต่ละแนวทางและช่วงเวลาในการนำเข้า LNG สรุปได้ดังนี้ (1) ช่วงเวลาการนำเข้า อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ถึงเมษายน 2563 (2) ปริมาณ แนวทางที่ 1 และ 2 รวม 2 Cargoes ไม่เกิน 200,000 ต้น ส่วนแนวทางที่ 3 เลือกนำเข้า 1 Cargo ประมาณ 65,000 ตัน (3) โรงไฟฟ้าที่กำหนด ทั้ง 3 แนวทางเลือกใช้ โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 (WN4) โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 (BPK5) และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 (SBRP1) (4) ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าทั้ง 3 แนวทาง มูลค่ารวมและราคา LNG กฟผ. เสนอต่ำกว่า TPA Code ทั้งนี้ ไม่คิดค่าใช้จ่ายทางการเงิน (ค่าใช้จ่ายที่ ปตท. เรียกเก็บ) และ Margin และ (5) ผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า (คิดเฉพาะส่วนต่างเนื้อก๊าซ) แนวทางที่ 1 คิดเป็น 156 ล้านบาท แนวทางที่ 2 นำเข้าเดือนมกราคมและเมษายน 2563 คิดเป็น 108 และ -222 ล้านบาท ตามลำดับ และแนวทางที่ 3 เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนเมษายน 2563 คิดเป็น 78 108 25 -116 และ -222 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ เปรียบเทียบราคา LNG กับ ราคา Swing gas ที่ LNG ไปแทนที่ (อ้างอิงราคา LNG JKM Spot (Forecast) ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2562) และที่อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
5.กฟผ. ได้นำเสนอแนวทางการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot เพื่อขอความเห็นชอบจาก กบง. ดังนี้ (1) Slot Available ขอให้ PTTLNG แจ้ง Slot ล่วงหน้า 3-5 Slots/Cargo แทนการจองใช้งานแบบ Use-It-Or-Lose-It (UIOLI) โดยแนวทางที่ 1 กฟผ. สามารถใช้ทุก slot ได้ โดยไม่กระทบ Inventory (2) เงื่อนไข UIOLI ของ Terminal กำหนดอัตรา Send-out Rate ตามแผนการใช้จริงของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และชำระเงินตามวันและปริมาณ Send Out Rate ตามที่ กฟผ. ใช้จริง (3) การชำระค่าบริการระบบท่อ ขอชำระค่าบริการตามหลัก Daily Basis ตามจำนวนวันที่ใช้จริง และชำระค่าผ่านท่อสำหรับจุดส่งมอบโรงไฟฟ้าบางปะกงและพระนครใต้ โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง กฟผ./ปตท. ฉบับปัจจุบัน (4) โครงสร้างราคา ขอใช้หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG กฟผ. เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การนำเข้า LNG ของ ปตท. ที่ ปตท. ปฏิบัติอยู่ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 คือกำหนดให้ราคา LNG Spot ที่นำเข้าไม่เกินราคาน้ำมันเตา 2%S หลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ Spot LNG ในครั้งนี้เป็น Must take และให้ กฟผ. ส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ของ กฟผ. ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาไฟฟ้าได้ โดยใช้สูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในการนำเข้าของ กฟผ. เพื่อทดสอบระบบ ตามที่ กบง. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ดังนี้ Wกฟผ = LNGกฟผ. + S + [Tzone 3] โดยที่ Wกฟผ. คือ ราคาขายก๊าซของ กฟผ. ให้กับลูกค้าโรงไฟฟ้าที่กำหนด LNGกฟผ. คือ ราคาเนื้อก๊าซ LNG ที่ กฟผ. จัดหา S คือ อัตราค่าบริการสำหรับการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ Tzone 3 คือ อัตราค่าบริการสำหรับการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่ง โดยกำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) ให้เท่ากับ 0 บาทต่อล้านบีทียู เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้า (5) ช่วงเวลาการนำเข้า คือช่วงเดือนธันวาคม 2562 จำนวน 2 Cargoes (6) โรงไฟฟ้าที่กำหนดให้ใช้ Spot LNG ได้แก่ โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 (WN4) โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 (BPK5) และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 (SBRP1) และ (7) ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าประกอบด้วย ราคาเนื้อ LNG ค่า Surveyor Fee ค่าสินค้าผ่านท่าเทียบเรือ ค่าเดินพิธีศุลกากร ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ค่าใช้จ่ายทางการเงิน ค่าสถานี ค่าท่อ ค่าประกัน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และ Margin โดยให้ กฟผ. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายนำเข้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทางการเงิน และ Margin เมื่อเงื่อนไขการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ เป็นไปตามข้อ (1) ถึง (3) ข้างต้น
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางการทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยให้ กฟผ. ทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot จำนวน 2 ลำเรือ (Cargoes) โดย Cargo ละประมาณ 65,000 ตัน ปริมาณรวมไม่เกิน 200,000 ตัน ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ตามกำหนดเวลา คือ ลำเรือที่ 1 นำเข้าในเดือนธันวาคม 2562 และลำเรือที่ 2 นำเข้าในเดือนเมษายน 2563 ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
1. Slot Available : PTTLNG แจ้ง Slot ล่วงหน้า 3-5 Slots/Cargo แทนการจองใช้งานแบบ Use-It-Or-Lose-It (UIOLI) เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากผู้ค้าต้องมีความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาส่งมอบ (Slot Flexibility)
2. เงื่อนไข UIOLI ของ Terminal : กำหนดอัตรา Send Out Rate ตามแผนการใช้จริง ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และให้ กฟผ. ชำระเงินตามวันและปริมาณ Send Out Rate ตามที่ กฟผ. ใช้จริง
3. การชำระค่าบริการระบบท่อ : ให้ กฟผ. ชำระค่าผ่านท่อตามหลัก Daily Basis ตามจำนวนวันที่ใช้จริง โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง กฟผ. กับ ปตท. ฉบับปัจจุบัน
4. โครงสร้างราคา :
(1) เกณฑ์ราคานำเข้า LNG กฟผ. ให้เป็นไปตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับที่ ปตท. ปฏิบัติอยู่ คือกำหนดให้ราคา LNG Spot ที่นำเข้าไม่เกินราคาน้ำมันเตา 2%S โดย กฟผ. สามารถดำเนินการนำเข้าได้ โดยไม่ต้องผ่าน กบง. อีกครั้ง
(2) ให้ กฟผ. ส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ของ กฟผ. ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาไฟฟ้าได้
(3) หลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ Spot LNG ในครั้งนี้เป็น Must take
5. โรงไฟฟ้าที่กำหนดให้ใช้ Spot LNG : คือ โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 (WN4) โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 (BPK5) และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนระยะที่ 1 (SBRP1)
6. ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า :
ค่าใช้จ่ายนำเข้า = ราคาเนื้อ LNG + Surveyor Fee + ค่าสินค้าผ่านท่าเทียบเรือ + ค่าเดินพิธีศุลกากร + ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า + ค่าใช้จ่ายทางการเงิน+ ค่าสถานี+ ค่าท่อ + ค่าประกัน + ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต + Margin
โดยให้ กฟผ. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายนำเข้า โดยไม่คิด ค่าใช้จ่ายทางการเงิน และ Margin เมื่อเงื่อนไขการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ เป็นไปตามข้อ 1 - 3 ข้างต้น
7. ให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รายงานผลการนำเข้า LNG ลำเรือแรก ต่อ กบง. เพื่อทราบผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงการเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า และผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
เรื่องที่ 4. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล
สรุปสาระสำคัญ
1.วันที่ 11 มีนาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทาง การแก้ไขปัญหาชีวมวลสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 โดยให้โครงการชีวมวลในรูปแบบ Adder สามารถเลือกปรับรูปแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) ได้ โดยทำการปรับลดระยะเวลาอายุสัญญาคงเหลือในรูปแบบ FiT ลง เพื่อให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของมูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าของโครงการที่ผู้ประกอบการได้รับในรูปแบบ FiT เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิของมูลค่าการรับซื้อไฟฟ้าที่พึงจะได้รับตลอดอายุโครงการที่เหลืออยู่จากรูปแบบอัตราที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
2. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล ได้ยื่นหนังสือ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเดือดร้อนของ SPP ชีวมวลโดยเร่งด่วนให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม เช่นเดียวกับที่ได้มีการแก้ไขปัญหาให้แก่ VSPP ชีวมวลไปแล้ว ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ คณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและศึกษาข้อเท็จจริง ตลอดจนชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อข้อร้องเรียนหรือข้อเสนอของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติร่วมกัน ทั้งนี้ให้รวมถึงกรณีโครงการประเภท SPP ที่ได้มีการเปลี่ยนสัญญาเป็น VSPP ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการเปลี่ยนเป็นรูปแบบ FiT ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ระบบ Adder ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 และวันที่ 16 สิงหาคม 2560 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนโรงไฟฟ้า SPP ชีวมวล และเสนอ กบง. พิจารณา เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 โดย กบง. มีมติเห็นชอบแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนของ SPP ชีวมวล โดยให้สามารถสมัครใจในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น FiT ได้ โดยมีเงื่อนไขตามที่กำหนดจำนวน 6 ข้อ ทั้งนี้ ในข้อ 6 ให้ กกพ. ร่วมกับการไฟฟ้าคู่สัญญา พิจารณาดำเนินการเพื่อให้สามารถปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเป็น FiT ได้ เช่น เงื่อนไขการยกเว้นการยึดหลักค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิม การวางหลักประกันให้สอดคล้องกับสัญญา SPP Firm ในปัจจุบัน การส่งผ่านค่าใช้จ่ายในการรับซื้อไฟฟ้า การคำนวณระยะเวลาปรับลดกรณีโครงการที่มีปัญหาด้านเทคนิคในการปฏิบัติตามสัญญา Firm เกินกว่ากรอบระยะเวลาที่กำหนด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. มีการปรับคณะรัฐมนตรี และเปลี่ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายศิริ จิระพงษ์พันธ์) จึงมีการทบทวนใหม่ โดย กบง. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติมอบหมายให้ กกพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนหลักการพร้อมทั้งเสนอราคารับซื้อไฟฟ้าและแนวทางการบรรเทาความเดือดร้อนของ SPP ชีวมวลอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป ต่อมา กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 มีมติเห็นชอบเสนอ กบง. พิจารณาโดยใช้หลักการ Net Present Value (NPV) ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 โดยขอแก้ไขมติ กบง. ใน 3 ประเด็น ดังนี้ (1) ปรับปรุงการคำนวณในตารางระยะเวลาที่ปรับลดอายุสัญญาจากที่ กบง. มีมติเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 (2) ภายหลังสิ้นสุดอายุสัญญาในรูปแบบ FiT แล้ว ไม่ควรที่จะมีการต่ออายุสัญญาอีก และ (3) ขอเพิ่มกรณีโครงการที่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้า เข้าระบบ เมื่อเปลี่ยนสัญญาไปใช้อัตรา FiT (ประเภท Firm) ให้มีผลตั้งแต่วันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ
4. กบง. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 มีมติเห็นชอบในหลักการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ SPP ชีวมวล ตามที่สำนักงาน กกพ. เสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน กกพ. ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของ SPP ที่ได้รับผลกระทบจริงตามข้อร้องเรียนเป็นรายโครงการ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นจากการรับซื้อไฟฟ้าของ SPP Hybrid Firm และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาอีกครั้ง
5. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 กกพ. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสรุปผลการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ในส่วนของ SPP ที่ได้รับผลกระทบจริงตามข้อร้องเรียนเป็นรายโครงการ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นจากการรับซื้อไฟฟ้าของ SPP Hybrid Firm ตาม มติ กบง. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ต่อมา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 สำนักงาน กกพ. ได้เข้าร่วมประชุมหารือระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และชมรม SPP ชีวมวล โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มอบหมาย ดังนี้ (1) ให้ ชมรม SPP ชีวมวล มีหนังสือสอบถามสมาชิก SPP เป็นรายๆ ว่ารายใดบ้างที่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็น FiT ภายใต้สมมติฐานเริ่มได้รับอัตรา FiT วันที่ 1 มกราคม 2562 และ (2) ให้สำนักงาน กกพ. มีหนังสือถึงผู้ที่ผ่านการคัดเลือกโครงการ SPP Hybrid Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อขอรับทราบความคิดเห็นและข้อกังวล กรณีที่ SPP ชีวมวล ที่มีสัญญาเดิม จะเปลี่ยนแปลงอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นรูปแบบ FiT 4.24 บาทต่อหน่วย (ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์) และ 3.66 บาทต่อหน่วย (มากกว่า 10 เมกะวัตต์) โดยจะต้องเปลี่ยนเป็นสัญญาแบบ Firm เมื่อได้รับอัตราแบบ FiT และจะไม่มีการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายหลังครบอายุสัญญา และ วันที่ 18 ธันวาคม 2561 กกพ. มีหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อส่งผลการสำรวจ SPP ชีวมวลที่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็น FiT และความเห็นของ SPP Hybrid Firm (ชีวมวล 15 โครงการ)
6. กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 มีความเห็นให้สำนักงาน กกพ. ชี้แจง กบง. ดังนี้ (1) ในเรื่องนี้เป็นประเด็นเชิงนโยบาย โดย กบง. มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาด้วยวิธี NPV ตามมติ กบง. เดิมเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าว (2) กกพ. ได้ดำเนินการตามที่ กบง. และกระทรวงพลังงานมอบหมาย แต่ กกพ. ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลง หลักการตามมติ กบง. ดังกล่าวได้ เว้นแต่ กบง. จะมีมติเปลี่ยนแปลงหลักการใหม่ กกพ. ขอเวลาในการศึกษาและจะนำเรียน กบง. ต่อไป และ กบง. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 กบง. ได้มีมติมอบหมายสำนักงาน กกพ. ไปพิจารณาทางเลือกอื่นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล กรณีไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเป็นแบบ FiT ได้ และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
7. วันที่ 24 เมษายน 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งปลัดประทรวงพลังงาน ได้เชิญ สนพ. พพ. สำนักงาน กกพ. และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมประชุม โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ กฟผ. พิจารณารายละเอียดของ SPP ชีวมวลของแต่ละสัญญา โดยจะนัดหมายมาหารือกันคราวต่อไป และ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 มีมติให้สำนักงาน กกพ. จัดทำข้อวิเคราะห์ในการเสนอความเห็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ SPP ชีวมวล ต่อ กบง. เพื่อพิจารณา ดังนี้ (1) โครงสร้างและสูตรการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าของ SPP สัญญาประเภท Firm ที่ผ่านมาถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐจากหลักการต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided cost) โดยผู้ประกอบการได้นำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมก่อนตัดสินใจลงทุนโครงการ (2) การแก้ไขปัญหา SPP ชีวมวล เป็นประเด็นปัญหาเชิงนโยบายซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการให้สิทธิ VSPP สามารถเลือกเปลี่ยนค่าไฟฟ้าเป็นแบบ FiT ได้ตามมติ กพช. ซึ่งการแก้ไขปัญหาให้กับ SPP ชีวมวลนอกจากจะต้องพิจารณาความเป็นธรรมจากผลกระทบเชิงนโยบายแล้วจะต้องพิจารณาผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP Hybrid Firm ที่ได้รับการคัดเลือกโดยวิธี Competitive Bidding
8. วันที่ 13 กันยายน 2562 สำนักงาน กกพ. มีหนังสือถึง สนพ. เพื่อนำเสนอความเห็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล ต่อ กบง. ฝ่ายเลขานุการจึงขอให้ที่ประชุม พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาของ SPP ชีวมวล ตามความเห็นของ กกพ. ซึ่งได้มีความเห็นว่า กบง. ได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 โดยให้ SPP ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือกอยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น FiT ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่ต่อมา กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติมอบหมายให้ กกพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนหลักการและเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่ง กกพ. ได้เสนอ กบง. พิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ให้ใช้หลักการ Net Present Value (NPV) ตามเดิมที่ กบง. เคยมีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 ทั้งนี้ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล แล้ว มีความเห็น ดังนี้ (1) โครงสร้างและสูตรการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ผ่านมากำหนดจากนโยบายของรัฐและกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยอัตราค่าไฟฟ้าของ SPP ชีวมวลสัญญาประเภท Firm กำหนดจากหลักการต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided cost) มีโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment: CP) เป็นราคาต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment: EP) อ้างอิงราคาเชื้อเพลิง Fossil ประเภทต่างๆ เช่น น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน โดยที่ผู้ประกอบการได้นำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวมาใช้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมก่อนตัดสินใจลงทุนในโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาราคาเชื้อเพลิง Fossil มีทั้งสูงและต่ำตามสถานการณ์ตลาดโลก สำหรับสัญญาประเภท Non-Firm ในปัจจุบันอ้างอิงราคาค่าไฟฟ้าขายส่งและค่า Ft ขายส่ง (2) ในการแก้ไขปัญหา SPP ชีวมวล จึงเป็นประเด็นปัญหาเชิงนโยบายซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการให้สิทธิผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสามารถเปลี่ยนค่าไฟฟ้าเป็นแบบ FiT ได้ตามมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 จึงทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนความไม่ธรรมและเหลื่อมล้ำจาก VSPP ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วโดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวมวล ทำให้ VSPP เชื้อเพลิงชีวมวลได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 โดยได้รับสิทธิให้สามารถเปลี่ยนค่าไฟฟ้าเป็นแบบ FiT ในอัตรา 4.24 - 4.54 บาทต่อหน่วย (หลักการ Net Present Value: NPV โดยลดระยะเวลาอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปัจจุบัน) ซึ่งในการแก้ไขปัญหาให้กับ SPP ชีวมวลนอกจากจะต้องพิจารณาความเป็นธรรมจากผลกระทบเชิงนโยบายแล้วจะต้องพิจารณาผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นกับ SPP ชีวมวลแบบ FiT (โครงการ SPP Hybrid Firm) ที่ได้มีการประกาศรับซื้อและดำเนินคัดเลือกเมื่อปี 2560 โดยวิธี Competitive Bidding ควบคู่กันไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 และ วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ชีวมวล สามารถสมัครใจเลือกอยู่ในรูปแบบสัญญาเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเดิม หรือให้สามารถเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็น Feed-in Tariff (FiT) ได้
2. มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกันพิจารณาปรับตารางระยะเวลาที่ปรับลด พร้อมทั้งทบทวนเงื่อนไขการปรับไปใช้อัตรา FiT ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้เป็นปัจจุบัน และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
กบง.ครั้งที่ 4/2562 (ครั้งที่11) วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2562 (ครั้งที่ 11)
วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 14.30 น.
1. สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
2. มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายเพทาย หมุดธรรม)
เรื่องที่ 1. สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
สรุปสาระสำคัญ
ทีม Prism จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ให้ที่ประชุมฯ ทราบว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 เกิดเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันของบริษัท Saudi Aramco ประเทศซาอุดีอาระเบีย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ใน Abqaiq Crude Oil Processing Facility (กำลังผลิต 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ Khurais Oil Complex (กำลังผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ทำให้เกิดไฟไหม้และสามารถดับไฟได้ในเวลาต่อมา แต่มีความจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งผลส่งประทบต่อปริมาณการผลิตประมาณ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 Saudi Aramco ได้แจ้งว่าการกลับมาผลิตน้ำมันให้ได้ตามเดิมจะใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมง ตามที่ประเมินไว้ในระยะแรก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แจ้งว่ามีความพร้อมที่จะส่งออกน้ำมันสู่ตลาดมากขึ้นหากจำเป็น หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ราคาน้ำมันดิบเบรนส์ปรับเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 14 ซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบปิดตลาดวันนี้จะปรับสูงขึ้นตาม ความรุนแรงของการโจมตีดังกล่าวจะส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และน้ำมันสำเร็จรูป 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) มองว่าด้วยศักยภาพของกลุ่มโอเปคจะเพิ่มกำลังผลิตคืนมาได้ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ Platte มองว่าจะผลิตคืนมาได้เพียง 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาแจ้งว่าพร้อมปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 630 ล้านบาร์เรล ในส่วนของราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวซึ่งมีความต้องการใช้ในการสร้างความอบอุ่น สำหรับตลาด ก๊าซธรรมชาติ (LNG) เหตุการณ์ในประเทศซาอุดีอาระเบียไม่ส่งผลกระทบต่อราคา LNG โดยราคาส่งมอบ ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2562 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามฤดูกาลปกติ ปัจจัยที่มีผลต่อราคา LNG ได้แก่ ความตึงเครียดในบริเวณช่องแคบฮอมุส เนื่องจาก LNG ของกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะต้องขนส่ง ผ่านช่องแคบนี้คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณ LNG ของโลก หากมีการข่มขู่ปิดช่องแคบฮอมุสอาจส่งผลกระทบต่อราคา LNG แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคา Spot LNG มากนัก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2. มาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซาอุดีอาระเบียบ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 โรงกลั่นน้ำมัน บริษัท ซาอุดี อารามโก (Saudi Aramco) ของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีและเกิดไฟไหม้ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รายงานให้กระทรวงพลังงาน ทราบว่าจุดที่ถูกโจมตีไม่ได้เป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมัน แต่เป็น Crude Oil Processing Facility หรือโรงงานที่ทำหน้าที่กำจัดสารต่างๆ ที่ไม่ต้องการออกจากน้ำมันดิบ ก่อนส่งต่อไปยังผู้ซื้อของบริษัท Aramco ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความกังวลในช่วงที่ คาดว่าจะเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน 2 - 30 วัน
2. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ราคาน้ำมันตลาดโลกปิดตลาด ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 63.85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับสูงขึ้น 5.52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 79.69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับสูงขึ้น 6.60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซล (10 PPM) อยู่ที่ 80.55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับสูงขึ้น 5.59 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา อยู่ที่ 30.6823 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันวันที่ 16-22 กันยายน 2562 ลิตรละ 20.82 บาท ราคาเอทานอล ณ เดือน กันยายน 2562 ลิตรละ 21.96 บาท ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 กันยายน 2562 มีฐานะสุทธิ 39,402 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 45,113 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 5,711 ล้านบาท โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 กันยายน 2562 ค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลอยู่ที่ 1.26 บาทต่อลิตร กลุ่มน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.45 บาทต่อลิตร และของน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดอยู่ที่ 1.31 บาทต่อลิตร ปัจจุบันรัฐยังคงชดเชยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล E20, E85 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และ บี20 ส่งผลให้สภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซลมีรายจ่าย 31 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่มีรายรับจากกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,231 ล้านบาทต่อเดือน และรายรับจากน้ำมันเตา 10 ล้านบาทต่อเดือน โดยภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องรายได้ 1,210 ล้านบาทต่อเดือน
3. กระทรวงพลังงานมีมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้ (1) การป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดย ปตท. จะกระจายการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่น เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ประเทศโอมาน เป็นต้น เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียประมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) จะบริหารจัดการปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน โดย ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงคงเหลือและปริมาณสำรองของประเทศรวม 6,407 ล้านลิตร คาดการณ์ว่าสามารถเพียงพอใช้ได้ 54 วัน และปริมาณก๊าซ LPG สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และ ภาคขนส่ง คาดการณ์ว่าสามารถเพียงพอใช้ได้ 12 วัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยาวนานเกินกว่า 12 วัน ธพ. จะจัดสรรก๊าซ LPG ให้กับภาคครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก และ (2) การรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประเมินเบื้องต้น หากสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในช่วง 1 สัปดาห์ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หากอยู่ในช่วงราว 2 - 6 สัปดาห์ ราคาจะปรับขึ้น 5 - 15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน กระทรวงพลังงานเห็นควรปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลลง 1.00 บาทต่อลิตร และกลุ่มดีเซลหมุนเร็วลง 0.60 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 2,023 ล้านบาทต่อเดือน มีสภาพคล่องรายได้ของกลุ่มน้ำมัน ติดลบรวม 813 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 925 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมมีรายรับ 1,231 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายรับ 307 ล้านบาทต่อเดือน และกลุ่มดีเซล มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 1,099 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมมีรายจ่าย 31 ล้านบาทต่อเดือน เป็น มีรายจ่าย 1,130 ล้านบาทต่อเดือน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
2. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ .. พ.ศ. 2562 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2562 เป็นต้นไป
กบง.ครั้งที่ 3/2562 (ครั้งที่10) วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/2562 (ครั้งที่ 10)
วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.30 น.
1. การนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
2. แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
3. แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7)
4. กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
5. การทบทวนคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
6. ความคืบหน้าการดำเนินคดีกับบริษัท ยูไนเต็ดแก๊ส จำกัด
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1. การนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) รับทราบการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติรับทราบความคืบหน้ารายงานการเจรจาระหว่าง กฟผ. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ภายใต้การกำกับของสำนักงาน กกพ. (2) มอบหมายให้ กฟผ. และ ปตท. ภายใต้การกำกับของ กกพ. ไปจัดทำข้อตกลงในการนำเข้า กำกับ และบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. รวมทั้งให้เจรจาสัญญา Global DCQ ให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะการ ขาดแคลน LNG ในอนาคต โดยอยู่ภายในระยะเวลาการเริ่มต้นใช้ LNG Terminal ของ กฟผ. และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาตามข้อเสนอในสัญญาการนำเข้า LNG ของ กฟผ. (ภายในวันที่ 15 กันยายน 2562) และให้ กกพ. รายงาน กบง. ต่อไป และ (3) เห็นชอบหลักการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า หรือ Heat Rate เฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นหลักการในการปฏิบัติของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าในช่วงส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 สำนักงาน กกพ. ได้รายงาน กบง. เรื่องผลกระทบจากการนำเข้าตามโครงสร้างเพื่อรองรับการแข่งขันตามมติ กพช. วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยการแบ่งการคิดราคาก๊าซเป็น Pool Gas ปตท. และ LNG กฟผ. ส่งผลต่อการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในระบบ Heat Rate แทนระบบ Merit Order ที่ใช้อยู่เดิม โดยเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 2 สตางค์ต่อหน่วย
2. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 กกพ. ได้พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ฉบับใหม่ (Global DCQ) โดยมีข้อสรุปดังนี้ (1) การวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิด Take or Pay พบว่าในปี 2563 2564 และ 2565 มีปริมาณก๊าซที่สามารถเรียกเพิ่มเติมจากอ่าวไทยอยู่ที่ 37,991 170,582 และ 237,094 BBTU/Yr ตามลำดับ แต่เนื่องจากการใช้และการจัดหาก๊าซธรรมชาติอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละเดือน ดังนั้น การบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay จำเป็นต้องพิจารณาความต้องการรายเดือนด้วย และจากการวิเคราะห์พบว่า กฟผ. และ ปตท. จะสามารถบริหารจัดการและไม่เกิด Take or Pay ในทุกๆสัญญาได้ โดย กฟผ. และ ปตท. เห็นชอบร่วมกันว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดี หาก กฟผ. นำเข้าไม่เกิน 1 MTPA ในปี 2563 และไม่เกิน 1.2 MTPA ในปีต่อๆ ไป และในการเจรจาสัญญา LNG Sales and Purchase Agreement (SPA) กฟผ. ได้ขอเพิ่มเงื่อนไขให้สามารถปรับลดปริมาณ LNG ลงได้อีก 15% ของ Annual Contract Quantity (ACQ) ในแต่ละปี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ก๊าซลดลง กฟผ.จะสามารถใช้ทางเลือกในสัญญาปรับลดการซื้อก๊าซเพื่อลดผลกระทบและโอกาสในการเกิด Take or Pay นอกจากนี้ LNG SPA ของ กฟผ.ยังอนุญาตให้สามารถ Divert Cargo ไปยัง Terminal อื่นได้หากจำเป็น เพื่อลดภาระ Take or Pay (2) การทำ MOU เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay และการใช้ก๊าซตาม Global DCQ ฉบับใหม่ เนื่องจาก กฟผ. เลือกใช้โรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและเดินเครื่องในลักษณะ Base Load จึงไม่มีโอกาสเกิด Take or Pay ในส่วนสัญญา LNG ของ กฟผ. แต่จะมีโอกาสเกิด Take or Pay ในส่วนสัญญาของ ปตท. ดังนั้น ปตท. จึงไม่เห็นความจำเป็นในการลงนาม MOU แต่เห็นควรให้ทำการบริหารจัดการร่วมกันระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ภายใต้การกำกับของ กกพ. จะเกิดผลในทางปฏิบัติมากกว่า และหลังจากสัญญา Global DCQ สิ้นสุดลง กฟผ. และ ปตท. ได้มีการพิจารณาต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะสั้นเป็นรายปีมาแล้ว 4 ครั้ง และสัญญาจะสิ้นสุดอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2562 เพื่อให้ ปตท. สามารถบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในระยะยาว จึงจำเป็นต้องลงนามสัญญา Global DCQ อีกครั้ง โดยสัญญา Global DCQ ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว แต่ยังคงเหลือประเด็นด้านเทคนิคบางประเด็นที่ยังหาข้อยุติไม่ได้และจะดำเนินการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
3. กกพ. จึงขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาดังนี้ (1) ขอความเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และ ปตท. เสนอ ภายใต้การกำกับของ กกพ. โดย กฟผ. จะต้องมีการนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.09 ล้านตัน ในปี 2563 และไม่เกิน 1.2 ล้านตัน หลังปี 2564 โดยสัญญา SPA ระหว่าง กฟผ. และ Petronas จะสามารถปรับลดลงได้อีก 15% ของสัญญา หากจำเป็นที่จะต้องลดการนำเข้า LNG เพิ่มเติมเมื่อเกิดภาระ Take or Pay ให้พิจารณาลดการนำเข้าของ กฟผ. เป็นลำดับแรก รวมทั้งอาจมีการ Divert LNG ไปยัง Terminal อื่นหากจำเป็น (2) รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU และ (3) รับทราบความก้าวหน้าของการเจรจาสัญญา Global DCQ ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
4. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดประชุมร่วมกับ กฟผ. ปตท. สำนักงาน กกพ. โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นายสราวุธ แก้วตาทิพย์) เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้ (1) สถานการณ์ LNG ของประเทศในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่ กพช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ที่ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 ที่มอบหมายให้ กฟผ. นำเข้า LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลงตามที่ได้เคยประมาณการไว้ ในขณะที่ความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ประมาณการไว้ จึงทำให้ความจำเป็นในการนำเข้า LNG อาจเปลี่ยนไปจากเดิม (2) การนำเข้า LNG ของ กฟผ. โดยหลักการแล้วไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจัดหา LNG ของประเทศ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 Pool จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่จะมีผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น (3) ราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง จึงอาจต้องพิจารณาความเหมาะสมและทบทวนความจำเป็นเร่งด่วนของการผูกพันสัญญาการจัดหา LNG ในระยะปานกลางและระยะยาวในขณะนี้ และ (4) กรณีที่จะให้ กฟผ. นำเข้า LNG ควรจะมีกลไกการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเรื่อง Take or Pay รวมทั้งต้องพิจารณาความเป็นไปได้และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อนดำเนินการด้วย ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปข้อสรุปแนวทางดำเนินการเป็น 3 ทางเลือก ดังนี้ (1) ให้ กฟผ. บริหารสัญญานำเข้า LNG ไม่ให้เกิดภาระ Take or pay หรือ (2) ให้ กฟผ. จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขันตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 31กรกฎาคม 2560 หรือ (3) ให้ กฟผ. เลื่อนเวลาการนำเข้า LNG ที่ประมูลได้ จากปี 2562 เป็นปี 2565
มติของที่ประชุม
1. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เสนอภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
2. รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU และความก้าวหน้าของการเจรจาสัญญา Global DCQ ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562
3. เห็นชอบให้ กฟผ. จัดหา LNG แบบ Spot ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน สำหรับการทดสอบระบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยมอบหมายให้ กกพ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กฟผ. ไปพิจารณาความเหมาะสมทั้งด้านปริมาณ และช่วงเวลาในการจัดหา LNG แบบ Spot สำหรับการทดสอบระบบ แล้วนำกลับมาเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาต่อไป
4. มอบหมายให้ กฟผ. ไปเจรจาหาข้อยุติในการนำเข้า LNG กับบริษัท PETRONAS LNG Ltd. โดยไม่ให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP)
5. มอบหมายให้ ปตท. และ กฟผ. ไปบริหารจัดการการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภายใต้การกำกับของ กกพ. ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
6. มอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ไปทบทวนแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 2. แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานได้แก่ที่สำคัญ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า (2) การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ กระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทำแนวทางการใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และให้มีราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (3) ยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) พลังงานต้องมีต้นทุนราคาที่เป็นธรรมสามารถยอมรับได้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordable) และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างกลไกให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy for all) โดยการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า มุ่งเน้นให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าในชุมชนตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง ราคาถูก โดยอาจใช้กองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ
2. กรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก มีหลักการและเหตุผลในการ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงและสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและการจำหน่ายไฟฟ้า และสร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ โดยเป้าหมายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้ เปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน มีแนวทางการจัดตั้ง (1) ให้ชุมชนมีส่วนร่วมลงทุนโรงไฟฟ้ากับภาครัฐและ/หรือเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายใต้แผน AEDP และสอดคล้องกับแผน PDP2018 โดยอาจเร่งรัดให้มีการรับซื้อเร็วขึ้นจากแผนตามความเหมาะสม (3) ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพจากพืชพลังงานจะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(4) โรงไฟฟ้าชุมชนต้องมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ (5) มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (6) ราคารับซื้อไฟฟ้าต้องไม่กระทบหรือกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด (7) มีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าคืนสู่ชุมชน ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงานตามสัดส่วนที่ชุมชนได้มีการร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชุมชน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร
3. ขั้นตอนการดำเนินงานจะนำเสนอกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณามอบหมายให้ กบง. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับความเห็นชอบ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ และพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านระบบส่งและระบบจำหน่าย เป็นต้น และแก้ไขหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน ดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป โดยโรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565
4. ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่ ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน และลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชน ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และเกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 3. แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หารือกับกรมสรรพสามิต ในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ในอัตรา 5.80 บาทต่อลิตร รวมทั้งเห็นชอบให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 1.00 บาทต่อลิตร โดยกำหนดอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ที่ 0.65 บาทต่อลิตร ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 กบง. เห็นชอบขยายระยะเวลาให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 กบง. เห็นชอบขยายระยะเวลาให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยคงอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไว้ที่ 4.50 บาทต่อลิตร ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 กบง. มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.50 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 อัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 0.35 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 อัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชย 4.20 บาทต่อลิตร
2. ปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ออกประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล เป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ส่วนสถานการณ์การจำหน่ายและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนี้ (1) ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2562 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีจำนวน 3 ราย แบ่งเป็น Fleet 1 แห่ง และสถานีบริการ 44 แห่ง และที่จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 จำนวน 13 ราย แบ่งเป็น Fleet 532 แห่ง สถานีบริการ 1,693 แห่ง (2) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจาก 0.00003 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงเริ่มต้น (เดือนพฤษภาคม 2562) โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 1–18 สิงหาคม 2562 มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 0.011 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 0.10 ล้านลิตรต่อวัน ในช่วงปี 2561 โดยปัจจุบันมียอดจำหน่ายถึง 6.18 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2562 พบว่า ปัจจุบันยังคงชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ในอัตรา 0.35 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ในอัตรา 4.20 บาทต่อลิตร โดยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 1 บาทต่อลิตร และ 5 บาทต่อลิตร ตามลำดับ โดยสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 มีสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมัน 1,400 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,320 ล้านบาทต่อเดือน และกลุ่มดีเซล 69 ล้านบาทต่อเดือน และมีฐานะกองทุนน้ำมันรวม ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 38,210 ล้านบาท
3. ความพร้อมการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) แบ่งเป็น (1) ความพร้อมของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2562 ครึ่งปีหลัง จะออกสู่ตลาดประมาณ 7.490 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยไตรมาสที่ 4 คาดว่าผลผลิตในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม จะออกสู่ตลาดประมาณ 1.312 ล้านตัน 1.391 ล้านตัน และ 1.208 ล้านตัน ตามลำดับ (ประมาณการ ณ วันที่ 27 เมษายน 2562) (2) กระทรวงพาณิชย์รายงานปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม 2562 มีจำนวน 451,127 ตัน เพิ่มขึ้นจากสต็อกคงเหลือ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ร้อยละ 12.65 ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ของกระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ณ เดือนธันวาคม 2562 จะมีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล B100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน เทียบเท่าการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 167,360 ตันต่อเดือน ซึ่งสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในปัจจุบันและผลผลิตปาล์มที่คาดการณ์จะสามารถรองรับการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้เพียงพอ (3) ความพร้อมของผู้ผลิตไบโอดีเซล (บี100) ปัจจุบันมี 13 ราย กำลังการผลิต 8,312,242 ลิตรต่อวัน โดยมีผู้ผลิตไบโอดีเซลสำหรับใช้ผสมเป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 10 ได้ (ค่าโมโนกลีเซอไรต์ ไม่สูงกว่าร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนัก) จำนวน 9 ราย กำลังการผลิต 6,892,242 ลิตรต่อวัน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการผลิต (4) ความพร้อมของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล 10,466,820 คัน เป็นรถยนต์ที่ค่ายรถยนต์รับรองว่าสามารถรองรับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ได้ประมาณ 5,231,972 คัน (คิดเป็นร้อยละ 50.0 ของจำนวนรถยนต์ดีเซลทั้งหมด) ทั้งนี้ รถยนต์ดีเซลที่หมดการรับประกันแล้ว จะใช้กลไกส่วนต่างราคาเพื่อจูงใจให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และ (5) ความพร้อมของผู้ค้าน้ำมัน มีความพร้อมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งเร่งการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพิ่มขึ้น
4. แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ปัจจุบันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) มีสัดส่วนการใช้สูงสุดของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว คือ ประมาณ 56.4 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 91 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด ในขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ รับภาระชดเชยในส่วนนี้ประมาณ 805 ล้านบาทต่อเดือน โดยหากการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีอัตราเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายมากจะทำให้ปริมาณ CPO ภาพรวมทั้งประเทศที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ (1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันส่วนต่างอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร) และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันส่วนต่างอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร) หลังการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ คาดว่า ณ เดือนธันวาคม 2552 การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 50 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ประมาณ 30 - 32 ล้านลิตรต่อวัน) การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 50 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ประมาณ 30 – 32 ล้านลิตรต่อวัน) และการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 5 ล้านลิตรต่อวัน และส่งผลให้สภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ในกลุ่มน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 371 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 440 ล้านบาทต่อเดือน และจากนโยบายของรัฐบาลในการรายได้ราคาผลปาล์มน้ำมัน 4 บาทต่อกิโลกรัม จะส่งผลให้ราคาไบโอดีเซล บี100 เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 7 บาทต่อลิตร จากราคา 20.54 บาทต่อลิตร เป็น 27.43 บาทต่อลิตร และทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.70 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เพิ่มขึ้นประมาณ 1.50 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ หากราคาขายปลีกสูงขึ้นมากจนส่งผลกระทบต่อประชาชน สามารถพิจารณาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และนำเงินที่กองทุนน้ำมันฯ มารักษาเสถียรภาพราคาได้ และ (2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 บังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เป็นทางเลือก รวมทั้งประกาศคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด โดยการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น ช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ สร้างความมั่นคงทางพลังงานในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศมากขึ้น ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคา CPO ของประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในภาคคมนาคมขนส่ง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
2. เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
2. เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารส่วนต่างราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยปรับเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ในกรอบอัตราตามข้อ 2 ในช่วงสถานการณ์ราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
4. เห็นชอบให้วันที่ 1 มกราคม 2563 บังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เป็นทางเลือก
5. เห็นชอบมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
5.1 กระทรวงพลังงานบริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้บริโภค
5.2 กรมธุรกิจพลังงานติดตามปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว และประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563
5.3 กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ดำเนินการบริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไบโอดีเซล และดำเนินการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1.พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 (พระราชบัญญัติฯ) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เพื่อยกระดับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 สำหรับใช้เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ในการบริหารกิจการของกองทุนฯ โดย พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป และให้ยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) โดยตั้ง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเข้ามาทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งการโอนบรรดาเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน รวมทั้งงบประมาณของ สบพน. ไปเป็นของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการบริหารกิจการของกองทุนฯ จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แทน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
2. การเตรียมความพร้อมบริหารกองทุนฯ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานกองทุนฯ ก่อนถึงกำหนดเวลาที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ได้ดำเนินการร่วมกับสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ในการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ การจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และการจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ การจัดทำกฎหมายลำดับรอง การเตรียมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลิกยุบ สบพน. การจัดทำโครงสร้างสำนักงานกองทุนฯ และการปรับปรุง/แก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมบริหารกองทุนฯ คาดว่าจะดำเนินการได้ทันรองรับกับพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับในวันที่ 24 กันยายน 2562 ซึ่งจะมีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 54 ให้นำประกาศและระเบียบที่ออกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ นี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฯ จนกว่าจะมีประกาศและระเบียบตามพระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ ทั้งนี้ การดำเนินการออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศตามพระราชบัญญัติฯ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
3.เพื่อให้การดำเนินงานบริหารกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สนพ. และ สบพน. จึงมีหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปได้ดังนี้ (1) ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย อาจเกิดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความมีผลใช้บังคับของข้อกำหนดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนอันจะส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้บังคับและการปฏิบัติการตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสมควรทบทวนข้อกำหนดตามที่กำหนดในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 โดยยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 และออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดเฉพาะมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ไว้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถประกาศใช้บังคับให้มีผลพร้อมกับพระราชบัญญัติฯ ได้ต่อไป (2) พระราชบัญญัติฯ ตามมาตรา 5 กำหนดให้กองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันฯ และต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายบริหารกองทุนฯ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด ด้วยเหตุนี้ การดำเนินงานของกองทุนฯ อันได้แก่ การส่งเงินเข้ากองทุนฯ และการจ่ายเงินชดเชย รวมถึงการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุนฯ และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนฯ จึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์เช่นว่านั้นและอยู่ภายใต้กรอบนโยบายบริหารกองทุนที่ กพช. กำหนดด้วย และจากบทเฉพาะกาลมาตรา 54 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้มีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แม้จะยังไม่มีกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ก็ตาม การดำเนินงานของกองทุนฯ ในส่วนของการมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก็ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยนำประกาศและระเบียบที่ออกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ในส่วนที่เกี่ยวกับกองทุนฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ (3) สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่ดำเนินการในปัจจุบัน มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 55 ที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ โดยให้ใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เป็นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ และขยายระยะเวลาดำเนินการได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี เมื่อบทเฉพาะกาลดังกล่าวบัญญัติรองรับให้มีการจ่ายเงินชดเชยโดยไม่ได้มีความยึดโยงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่กำหนดในมาตรา 5 ดังนั้น แม้จะยังไม่มีการกำหนดกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ โดย กพช. ก็สามารถดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพได้ตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว (4) กรณีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามที่ดำเนินการในปัจจุบันในระยะเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลนั้น มิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เห็นว่า ถ้ายังไม่มีการกำหนดกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ โดย กพช. ก็ไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ และ (5) คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) มีข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรเร่งดำเนินการเสนอกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ต่อ กพช. เพื่อให้พิจารณากำหนดโดยเร็ว รวมทั้งควรเร่งรัดจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ เพื่อเสนอต่อ กพช. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ กับเร่งดำเนินการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้มีกรอบนโยบายและแผนที่ชัดเจนอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายต่อไป
4. เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงักตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเห็นสมควรเสนอ กบง. เพื่อพิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่
4.1 (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 สนพ. ร่วมกับ สบพน. ดำเนินการตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฯ จัดทำ (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ เสนอ กบง. เพื่อโปรดพิจารณา ก่อนเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้ (1) การบริหารกิจการของกองทุนฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์มาตรา 5 เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นไปตามกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ โดยวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนอันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ดังนี้ (1.1) สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนหมายความว่ามีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น อันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบของตลาดที่สำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 1 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดอ้างอิง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นใน 1 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อลิตร หรือมีเหตุการณ์ ที่ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับที่เกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสม มากกว่า 30 บาทต่อลิตร ในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว ได้แก่ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บริษัทยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) มีราคาสูงกว่าราคานำเข้า หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวของตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับที่เกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับถัง 15 กิโลกรัม มากกว่า 363 บาท (1.2) สถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ หมายความว่า มีเหตุการณ์ที่ทำให้ปริมาณการผลิตและหรือนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เป็นไปตามแผน โดยมีแนวโน้มอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน (2) การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมายถึง การนำเงินกองทุนฯ ไปใช้จ่ายเพื่อชดเชยให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นโรงกลั่น หรือผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ซื้อหรือได้มาซึ่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามมาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติฯ โดยให้มีกรอบและวินัยในการใช้จ่ายเงินเพื่อชดเชยดังต่อไปนี้ (2.1) เป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน และหรือชะลอการขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ (2.2) เป็นมาตรการระยะสั้น และคงหลักการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการกระทบต่อกลไกตลาดเสรี และ (2.3) คำนึงถึงภาวะความผันผวนของราคาต้นทุนที่แท้จริง แนวโน้มตลาดโลก หลีกเลี่ยงการชดเชยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ควรอุดหนนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (Cross Subsidies)
4.2 (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดย สนพ. ในฐานะเลขานุการฯ กบง. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ซึ่งคณะทำงาน ฯ ได้ประชุมหารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 เพื่อยกร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีใหม่ เป็น (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ กบง. โดยยังคงมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และหรือกำหนดราคา สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร หรือนำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณและหรือค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณและหรืออัตรา สำหรับค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาและหรือกำหนดราคา สำหรับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นหรือราคาขายปลีก กำหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อคณะกรรมการฯ เป็นต้น และ (2) ปรับปรุงข้อกำหนด/ข้อห้ามปฏิบัติในการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้ม โดยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและกฎหมายการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาต่อไป
2. เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และเห็นชอบให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 5. การทบทวนคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1.คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ 4/2545 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2545 เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนา และมาตรการทางด้านพลังงานตามที่ กพช. มอบหมาย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความจำเป็น ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ได้ยกเลิกคำสั่ง กพช. ที่ 4/2545 และให้แต่งตั้ง กบง. ขึ้นใหม่ตามคำสั่ง กพช. ที่ 1/2557 โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่คงเดิม ทั้งนี้ กบง. ได้มีคณะอนุกรรมการช่วยปฏิบัติงานด้านต่างๆ จำนวน 29 คณะ ต่อมาในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ และได้แต่งตั้ง กบง. ขึ้นใหม่ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่เหมือนคำสั่ง กพช. ที่ 1/2557 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ต่อมา กบง. ได้ทบทวนปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการทั้ง 29 คณะ และแต่งตั้งขึ้นใหม่ 9 คณะ ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (2) คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) (3) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน (4) คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา แนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) (5) คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือ ด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (6) คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและความร่วมมือพหุภาคีด้านพลังงานกับต่างประเทศ (7) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซล (8) คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... และ (9) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการจัดหา ราคา และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ
2. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 265 แห่งรัฐธรรมนูญฯ และ กบง. ที่แต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. ที่ 55/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2558 ได้สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลงด้วย และต้องกลับมาใช้ กบง. ตามคำสั่ง กพช. ที่ 1/2557 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการจำนวน 29 คณะ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดเดิม จำนวน 29 คณะและให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นใหม่ จำนวน 9 คณะ โดยให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่สอดคล้องกับคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. ที่แต่งตั้งโดย คสช. แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 กันยายน 2562 พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้ อบน. ที่มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแทน กบง. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ลง ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปจัดทำร่างคำสั่ง กบง. เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดที่เหลือจำนวน 8 คณะ เพื่อเสนอประธาน กบง. พิจารณาลงนามต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จำนวน 29 คณะ ที่ กบง. ได้แต่งตั้งขึ้นก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 1/2557 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปจัดทำร่างคำสั่ง กบง. เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. จำนวน 8 คณะ โดยให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่สอดคล้องกับคณะอนุกรรมการภายใต้ กบง. ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ อาจมีการทบทวนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้เป็นปัจจุบัน ก่อนนำเสนอประธาน กบง. พิจารณาลงนามต่อไป ดังนี้
(1) คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ
(2) คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน
(3) คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
(4) คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
(5) คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและความร่วมมือพหุภาคีด้านพลังงานกับต่างประเทศ
(6) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซล
(7) คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานภายใต้ร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
(8) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการจัดหา ราคา และความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ
เรื่องที่ 6. ความคืบหน้าการดำเนินคดีกับบริษัท ยูไนเต็ดแก๊ส จำกัด
สรุปสาระสำคัญ
1.บริษัท ยูไนเต็ดแก๊ส จำกัด เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ที่จำหน่ายก๊าซมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2554 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 แต่บริษัทฯ นำส่งเงินเข้ากองทุนไม่ครบตามปริมาณที่จำหน่ายก๊าซในแต่ละเดือนที่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) แจ้งมายังสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 และวันที่ 30 กันยายน 2557 สบพน. ได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กบง. ให้ สบพน. ประสานงานกับ ธพ. ในการเจรจาทวงถาม ซึ่ง สบพน. มีหนังสือทวงถามถึงบริษัทฯ แล้วแต่บริษัทฯ ก็ยังมียอดคงค้างชำระหนี้ สบพน. จึงร่วมกับ ธพ. ดำเนินคดีตามกฎหมายกับบริษัทฯ
2. วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ศาลแพ่งได้ประทับรับฟ้องตามคดีหมายเลขดำที่ พ.3040/2559 ระหว่าง สบพน. ร่วมกับ ธพ. ในการยื่นฟ้องบริษัท ยูไนเต็ดแก๊ส จำกัด (จำเลย) ข้อหาหรือฐานความผิด เรียกหนี้กองทุนน้ำมันฯ และเงินเพิ่ม โดยขอให้ชดใช้เงิน 121,048,633.29 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 77,952,717 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัทฯ ชำระเงินจำนวน 121,048,633.29 บาท พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 3 ต่อเดือน ของต้นเงินจำนวน 77,952,717 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นขออุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งได้มีหมายส่งสำเนาอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีลงวันที่ 8 สิงหาคม 2562 แจ้งยัง สบพน. ในฐานะโจทก์ที่ 1 โดยแจ้งว่า หากประสงค์จะแก้อุทธรณ์ และคัดค้านการขอทุเลาฯ ให้ยื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2562
3. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 สบพน. มีหนังสือถึงอัยการ สำนักงานคดีแพ่ง เพื่อแจ้งความประสงค์ขอให้ยื่นแก้อุทธรณ์และคัดค้านคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 สบพน. ได้รายงานการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ต่อคณะกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติให้ สบพน. รายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ให้ กบง. ทราบต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
กบง.ครั้งที่ 2/2562 (ครั้งที่9) วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2562 (ครั้งที่ 9)
วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 11.00น.
1. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีประกาศ กบง. เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ฉบับที่ 4 กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 0.20 บาทต่อลิตร และอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ที่ 4.50 บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2562 และฉบับที่ 12 กำหนดอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ที่ 0.65 บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 กบง. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้ระดับราคา ขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยคงอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไว้ที่ 4.50 บาทต่อลิตร
2. จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันตลาดโลก ปิดตลาด ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2562 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 56.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 68.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล (10 PPM) อยู่ที่ 72.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 30.9432 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันวันที่ 5 – 11 สิงหาคม 2562 ลิตรละ 21.14 บาท ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ของกลุ่มน้ำมัน ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2562 มีสินทรัพย์รวม 50,361 ล้านบาท หนี้สินรวม 13,409 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 36,952 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นบัญชีน้ำมัน 43,140 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 6,188 ล้านบาท
3.โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2562 ของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล E85 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เป็นดังนี้ (1) อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ 8.0800 2.1200 2.1200 -0.7800 -6.3800 0.2000 -0.6500 และ -4.5000 บาทต่อลิตร ตามลำดับ (2) ค่าการตลาด อยู่ที่ 2.9396 1.9841 2.1215 2.0023 3.7021 2.4778 2.4555 และ 2.6118 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และ (3) ราคาขายปลีก อยู่ที่ 34.66 27.25 26.98 24.24 19.79 25.99 24.99 และ 20.99 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ประมาณการสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 ในกลุ่มดีเซลมีรายจ่าย 387 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,238 ล้านบาทต่อเดือน และรายรับจากน้ำมันเตา 11 ล้านบาทต่อเดือน โดยภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องรายได้ 862 ล้านบาทต่อเดือน
4.ในช่วงนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อยู่ในระดับสูงเกินเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อรักษาสมดุลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และเป็นการเตรียมพร้อมในด้านราคาให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นสมควรปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ กลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วทุกชนิดเพิ่มขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ หลังปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ กลุ่มน้ำมันดีเซลมีรายรับเพิ่มขึ้น 621 ล้านบาทต่อเดือน (จากเดิมมีรายจ่าย 387 ล้านบาทต่อเดือน เป็นมีรายรับ 234 ล้านบาทต่อเดือน) และส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ของกลุ่มน้ำมันมีรายได้อยู่ที่ 1,483 ล้านบาทต่อเดือน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ปัจจุบัน (9 ส.ค. 62) อยู่ที่ 0.20 บาท/ลิตร ใหม่ 0.50 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลง +0.30 บาท/ลิตร
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 10 ปัจจุบัน (9 ส.ค. 62) อยู่ที่ -0.65 บาท/ลิตร ใหม่ -0.35 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลง +0.30 บาท/ลิตร
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ปัจจุบัน (9 ส.ค. 62) อยู่ที่ -4.50 บาท/ลิตร ใหม่ -4.20 บาท/ลิตร เปลี่ยนแปลง +0.30 บาท/ลิตร
2. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ .. พ.ศ. 2562 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
กบง.ครั้งที่ 1/2562 (ครั้งที่8) วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2562 (ครั้งที่ 82)
วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 08.30 น.
1. รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. ผลการตรวจสอบรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1. รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 มีสินทรัพย์รวม 50,572 ล้านบาท หนี้สินรวม 13,830 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 36,742 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 42,994 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 6,252 ล้านบาท และสภาพคล่องสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ณ 24 กรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1,156 ล้านบาทต่อเดือน โดยสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมันอยู่ที่ 921 ล้านบาทต่อเดือน และสภาพคล่องสุทธิกลุ่มก๊าซ LPG 234 ล้านบาทต่อเดือน
2. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปหมุนเวียนใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนเงินคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปในภายหลัง จากการประมาณการพบว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ฐานะกองทุนของกลุ่มก๊าซ LPG จะติดลบ 6,271 ล้านบาท และสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จะติดลบ 6,037 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินกรอบเพดานการชดเชยราคาก๊าซ LPG ตามมติ กบง. ที่กำหนด จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานการใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 14 กันยายน 2558 ส่วนที่ 5 การบัญชีและการตรวจสอบ มาตรา 29 กำหนดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือบุคคลที่ สตง. ให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของทุนหมุนเวียน ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของทุนหมุนเวียนทุกรอบปีบัญชี ให้ผู้สอบบัญชีรายงานการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน และให้คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนส่งรายงานการเงินพร้อมด้วยรายงานการสอบบัญชีต่อกระทรวงการคลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชี ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นทุนหมุนเวียนตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว
2. เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 สตง. ในฐานะผู้สอบบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนน้ำมันฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 เสร็จแล้ว จึงได้จัดส่งรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินมายังสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ซึ่งในรายงานของผู้สอบบัญชี ไม่มีประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากการตรวจสอบรายงานการเงิน สบพน. จึงขอรายงานการสอบบัญชีให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในฐานะคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทราบ เพื่อที่ สบพน. จะได้จัดส่งรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินต่อกระทรวงการคลังต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 การส่งเสริมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ยอดการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 0.917 ล้านลิตรต่อเดือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 เป็น 121.269 ล้านลิตรต่อเดือน หรือประมาณ 4.04 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนมิถุนายน 2652 โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 กองทุนน้ำมันฯ ใช้เงินชดเชยสะสมอยู่ที่ 1,363 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 13 ราย จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 แบ่งเป็นกลุ่มรถบรรทุก (Fleet) 406 แห่ง และสถานีบริการ 955 แห่ง
2.โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลอยู่ที่ 1.32 บาทต่อลิตร กลุ่มดีเซลอยู่ที่ ติดลบ 0.09 บาทต่อลิตร และค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 0.33 บาทต่อลิตร โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องสุทธิ กลุ่มน้ำมัน 1,065 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,238 ล้านบาทต่อเดือน และ กลุ่มดีเซล ติดลบ 184 ล้านบาทต่อเดือน
3.การส่งเสริมน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งเป็นผลดีในการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (บี100) เพิ่มขึ้นและทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงาน ที่เสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรคงมติ กบง. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ที่กำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 3 บาทต่อลิตร
มติของที่ประชุม
เห็นชอบขยายระยะเวลาให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยคงอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไว้ที่ 4.50 บาทต่อลิตร
สรุปสาระสำคัญ
1.เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติขอความร่วมมือให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับผิดชอบโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน (ครัวเรือนรายได้น้อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร และอื่นๆ) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีแนวทางอื่นมาทดแทน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเสนอของกระทรวงการคลัง แนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเห็นชอบวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดจำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน (ใช้ 1 ครั้งต่อ 3 เดือน) ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดเริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ทั้งนี้ การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวซ้ำซ้อนกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ที่ ปตท. ให้ความช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือแจ้ง ปตท. ยกเลิกการช่วยเหลือและระงับการใช้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย (18 กิโลกรัมต่อ 3 เดือน)ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ส่วนการช่วยเหลือร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (150 กิโลกรัมต่อเดือน) ปตท. ยังดำเนินการตามเดิมในอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท
2.เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ ปตท. ให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ตามแนวทางเดิมต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 250 ล้านบาท เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ภายในกรอบวงเงิน 250 ล้านบาท
3. เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ปตท. ได้มีหนังสือแจ้งว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติให้การดำเนินการช่วยเหลือใดๆ ที่อาจขัดต่อพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ไม่สามารถดำเนินการได้เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ หรือผลประโยชน์ส่วนรวมดังนั้น เพื่อให้คณะกรรมการ ปตท. พิจารณาอนุมัติการให้ความช่วยเหลือโครงการฯ ต่อไปนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับมติคณะรัฐมนตรี หรือ มติคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เพื่อมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
4. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ปตท. ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ภายในกรอบวงเงินเดิม 125 ล้านบาท โดยให้ไปพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือตามมติคณะกรรมการ ปตท. วันที่ 25 มีนาคม 2562 ในการรับลดปริมาณ LPG ที่ให้ส่วนลดจากสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 กบง. มีมติรับทราบ ข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ โดยตัดสิทธิผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีการใช้สิทธิเป็นระยะเวลาย้อนหลังตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และปรับลดปริมาณ LPG ที่ให้ส่วนลดจากสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562
5. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ธพ. มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กบง. เพื่อขอให้ กบง. พิจารณามอบหมายให้ ธพ. ขอความร่วมมือ ปตท. ให้ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ และแผงลอยอาหาร ต่อไปอีก 1 เดือน ในเดือนสิงหาคม 2562 และขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 30 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ธพ. ได้มีหนังสือถึง สนพ. ขอแก้ไขระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือโครงการบรรเทาผลกระทบฯ เป็น 2 เดือน ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 และขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 60 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ต่อไปอีก 2 เดือน ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 และขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 60 ล้านบาท
กบง.ครั้งที่ 82 วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 8/2562 (ครั้งที่ 82)
วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
1. รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง20
2. ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อรองรับพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
3. การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน
4. แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20
7. ร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2563 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 . รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1.ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 มีสินทรัพย์รวม 49,051 ล้านบาท หนี้สินรวม 13,140 ล้านบาท และฐานะสุทธิ 35,911 ล้านบาท แยกเป็นส่วนของบัญชีน้ำมัน 42,411 ล้านบาท และบัญชี ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 6,500 ล้านบาท และสภาพคล่องสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ เดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 1,292 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมัน 1,065 ล้านบาทต่อเดือน และกลุ่มก๊าซ LPG 227 ล้านบาท ต่อเดือน
2. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ รักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้ส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปหมุนเวียนใช้ในบัญชีก๊าซ LPG และให้โอนเงินคืนบัญชีน้ำมันฯ ในภายหลัง จากการประมาณการพบว่า ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะติดลบประมาณ 6,273 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 จะติดลบประมาณ 6,046 ล้านบาท ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานการใช้กองทุนน้ำมันฯ ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 . ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อรองรับพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
สรุปสาระสำคัญ
1.พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ประกอบด้วย 7 หมวด 58 มาตรา ได้แก่ หมวด 1 การจัดตั้งกองทุน หมวด 2 การบริหารกิจการของกองทุน หมวด 3 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หมวด 4 การดำเนินงานของกองทุน หมวด 5 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 6 การบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผล หมวด 7 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ซึ่งแบ่งแยกอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกองทุนน้ำมันฯ ออกจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
2. การดำเนินการก่อนพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ มีผลใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 24 กันยายน 2562) ประกอบด้วย (1) กบง. ยังคงปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม (2) เจ้าหน้าที่ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถาบันฯ และ (3) เตรียมการโอนเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน รวมทั้งงบประมาณของ สบพน. ไปเป็นของกองทุนน้ำมันฯ เมื่อพระราชกฤษฎีกายุบเลิก สบพน. มีผลใช้บังคับ
3. เมื่อพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีวาระการประชุมที่สำคัญ อาทิ การโอนเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน รวมทั้งงบประมาณที่ได้รับโอนจาก สบพน. ไปเป็นของสำนักงานกองทุนน้ำมันฯ และการแต่งตั้งผู้มีอำนาจ ลงนามในการดำเนินธุรกรรมของกองทุนน้ำมันฯ และสำนักงานกองทุนน้ำมันฯ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3. การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1.ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2562 ได้เกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 เรือบรรทุกน้ำมัน 4 ลำ ถูกโจมตีและได้รับความเสียหาย ในบริเวณนอกชายฝั่งเมืองท่า Fujirah ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ (2) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 สถานีสูบน้ำมัน 2 แห่ง บริเวณท่อส่งน้ำมันตะวันออก-ตะวันตก ใกล้เมืองริยาดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ถูกโดรนจำนวน 7 ลำ โจมตีจนเกิดไฟลุกไหม้และต้องปิดตัวชั่วคราว และ (3) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 เรือน้ำมัน 2 ลำ ถูกโจมตีด้วยอาวุธตอร์ปิโด บริเวณอ่าวโอมาน ใกล้กับประเทศอิหร่าน
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ประชุมซักซ้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้ (1) การบริหารจัดการและจัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลให้มีความเป็นปัจจุบัน (2) กระทรวงพลังงานเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการโดยจำลองเหตุการณ์จริง และ (3) กรมธุรกิจพลังงานได้นำเสนอสถานะปริมาณสำรองน้ำมัน และมาตรการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรณีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ โดยปัจุจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถใช้ได้ทั้งสิ้น 54 วัน ประกอบด้วย น้ำมันดิบสำรอง 24 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างการขนส่ง 15 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 15 วัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 . แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 การส่งเสริมอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ยอดการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 0.917 ล้านลิตรต่อเดือน ในเดือนกรกฎาคม 2561 เป็น 121.269 ล้านลิตรต่อเดือน หรือประมาณ 4.04 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนมิถุนายน 2652 โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 กองทุนน้ำมันฯ ใช้เงินชดเชยสะสมอยู่ที่ 1,363 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จำนวน 13 ราย จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 แบ่งเป็นกลุ่มรถบรรทุก (Fleet) 406 แห่ง และสถานีบริการ 955 แห่ง
2. โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอลอยู่ที่ 1.32 บาทต่อลิตร กลุ่มดีเซลอยู่ที่ ติดลบ 0.09 บาทต่อลิตร และค่าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 0.33 บาทต่อลิตร โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องสุทธิ กลุ่มน้ำมัน 1,065 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,238 ล้านบาทต่อเดือน และกลุ่มดีเซล ติดลบ 184 ล้านบาทต่อเดือน
3.การส่งเสริมน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 ส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เติบโตอย่างก้าวกระโดดซึ่งเป็นผลดีในการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (บี100) เพิ่มขึ้นและทำให้ราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงาน ที่เสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรคงมติ กบง. เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ที่กำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 5 บาทต่อลิตร ต่อไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) 3 บาทต่อลิตร
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ที่เห็นชอบให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา 5 บาทต่อลิตร ต่อไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงาน และเงื่อนไขสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันดีเซลใกล้เคียงจุดสมดุล
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินการสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงาน
3. มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานนำเป้าหมายการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามแผนการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงของกระทรวงพลังงานไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP2018)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ขอความร่วมมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (โครงการฯ) ออกไปอีก 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562) ภายในกรอบวงเงิน 250 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (คณะกรรมการ ปตท.) ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท และต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 คณะกรรมการ ปตท. ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการสนับสนุนโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท โดยหากยังมีการขยายความช่วยเหลือหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2562 จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยตัดสิทธิผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีการใช้สิทธิเป็นระยะเวลาย้อนหลังตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และปรับลดปริมาณก๊าซ LPG ที่ให้ส่วนลดจากสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือน
2. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ปตท. ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาช่วยเหลือโครงการฯ LPG ต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ภายในกรอบวงเงินเดิม 125 ล้านบาท โดยใช้หลักเกณฑ์ตามมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 ในการปรับลดปริมาณ LPG ที่ให้ส่วนลดจากสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือน
มติของที่ประชุม
รับทราบมติคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาช่วยเหลือโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ต่อไปอีก 1 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ภายในกรอบวงเงิน 125 ล้านบาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ภายในกรอบวงเงินเดิม 125 ล้านบาท โดยปรับลดปริมาณ LPG ที่ให้ส่วนลด จากเดิมไม่เกิน 150 กิโลกรัมต่อเดือน เป็นไม่เกิน 75 กิโลกรัมต่อเดือน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปีงบประมาณ 2562 โดย (1) งบบริหาร วงเงินรวม 16.5970 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) 5.0890 ล้านบาท และ (2) งบค่าใช้จ่ายอื่น ในวงเงิน 300 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรองกองกลาง ต่อมาพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน 2562 และ สบพน. จะเปลี่ยนผ่านไปเป็นสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่ สบพน. ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2562 ไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 สบพน. ได้มีหนังสือถึง สนพ. แจ้งขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 2,770,937 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 มีมติเห็นชอบในหลักการสนับสนุนเงินให้ สบพน. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการรองรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ โดยให้ สบพน. ไปปรับปรุงรายละเอียดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น และนำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
2. สบพน. ได้ปรับลดงบประมาณรายจ่าย ตามมติ อบน. เหลือแต่ค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนน้ำมันฯ ปีงบประมาณ 2562 (เพิ่มเติม) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ประจำปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1,744,337 บาท ซึ่งประกอบด้วย (1) ค่าสาธารณูปโภค (2) ค่าเบี้ยประชุมกรรมการ (3) ค่าประกันสุขภาพ (4) ค่าเช่าทรัพย์สินอาคาร ENCO (5) ค่าเช่าครุภัณฑ์ (คอมพิวเตอร์และรถยนต์) (6) ค่าจ้างเหมาบริการ (7) ค่าโอนฐานข้อมูลทางบัญชีของระบบโปรแกรม Formula (8) ค่าพาหนะ (9) ค่ารับรอง (ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มสำหรับการประชุม) (10) ค่าบำรุงรักษาระบบเว็บไซต์ และ (11) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบบริหาร ปีงบประมาณ 2562 (เพิ่มเติม) ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นจำนวน 1,744,337.00 บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นสี่พันสามร้อยสามสิบเจ็ดบาทถ้วน) โดยให้สามารถถัวจ่ายได้ทุกรายการ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีเงินนอกงบประมาณถือปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลเงินนอกงบประมาณ ซึ่งรวมถึงระบบประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนที่เป็นมาตรฐานสากล และมีการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงาน (KPI) โดยกรมบัญชีกลางได้พิจารณาเห็นชอบให้ทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกำกับของกระทรวงพลังงาน คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าสู่ระบบประเมินผลฯ ตั้งแต่ปีบัญชี 2551 เป็นต้นไป
2. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือถึงสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ให้จัดทำร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2563 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลฯ ในรูปแบบที่กรมบัญชีกลางกำหนด โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้งและครอบคลุมการดำเนินงานตามภารกิจของทุนหมุนเวียน และขอให้คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน หรือมอบหมายกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ท่าน เพื่อประชุมหารือตัวชี้วัดการประเมินผลฯ ประจำปี 2563 ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และที่ปรึกษาด้านการประเมินผล (บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2562 ก่อนมีการทำบันทึกข้อตกลงวัดผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปี 2563 ระหว่างกระทรวงการคลังกับประธานทุนหมุนเวียน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน)
3. สบพน. ได้จัดทำร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีบัญชี 2563 ตามกรอบหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด ดังนี้ (1) ด้านการเงิน น้ำหนักร้อยละ 20 (2) ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย น้ำหนักร้อยละ 20 (3) ด้านการปฏิบัติการ น้ำหนักร้อยละ 20 (4) ด้านการบริหารจัดการทุนหมุนเวียน น้ำหนักร้อยละ 15 (5) ด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน พนักงาน และลูกจ้าง น้ำหนักร้อยละ 10 และ (6) ด้านการดำเนินงานตามนโยบายรัฐและกระทรวงการคลัง น้ำหนักร้อยละ 15 ทั้งนี้ เกณฑ์ประเมินผลฯ ด้านที่ 4 ถึง 6 เป็นตัวชี้วัดร่วม ซึ่งจะมีค่าเป้าหมายตามเกณฑ์การประเมินผลฯ ประจำปีบัญชี 2563 ที่กรมบัญชีกลางกำหนด
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2563 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) จัดส่งร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้กรมบัญชีกลางต่อไป
2. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้แทนในการประชุมหารือร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยมีผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เข้าร่วมประชุมหารือด้วย
กบง.ครั้งที่ 81 วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2562 (ครั้งที่ 81)
วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เวลา 10.00 น.
1. การเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน
2. รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. การนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. หลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับโครงสร้างการนำเข้าแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน
สรุปสาระสำคัญ
1.ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อการกลั่นน้ำมันประมาณ 160 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 85 ของกำลังการผลิตทั้งหมด โดยนำเข้าจากตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 64 ตะวันออกไกลประมาณร้อยละ 13 และอื่นๆ ประมาณร้อยละ 23 หากเกิดสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย อันเนื่องมาจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันดิบ
2. ธพ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำมัน โดยจัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว และผลกระทบการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรณีปิดช่องแคบฮอร์มุซ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ธพ. ได้กำหนดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ออกเป็น 4 ระดับ โดยระดับสูงสุด คือ ระดับ 4 ซึ่งจะส่ง ผลกระทบต่อการจัดหาน้ำมันของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนขึ้นได้ ให้มีการใช้มาตรการและ แนวทางการแก้ไข ได้แก่ (1) มาตรการด้านข้อมูลน้ำมันเชื้อเพลิง โดยออกคำสั่งให้โรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมัน แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม แผนปฏิบัติการค้าตามแบบและระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต้องรายงานข้อมูลน้ำมันเป็นรายวันทันที ทั้งข้อมูลการสำรองน้ำมัน การผลิตน้ำมันสำเร็จรูป การสั่งซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลระบบขนส่งน้ำมันทั้งในคลังเก็บและทางท่อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการดำเนินมาตรการต่างๆ (2) มาตรการด้านการจัดหาน้ำมัน โดยสั่งการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากภายในประเทศให้มากขึ้น ควบคุมการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน หากการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่เพียงพอ ให้พิจารณาออกคำสั่งผ่อนปรนการสำรองน้ำมันเป็นการชั่วคราว รวมถึงการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้น้ำมัน อี20 หรือ บี20 เป็นต้น และจำกัดปริมาณน้ำมันองค์ประกอบ (Feedstock) ที่ส่งเป็นวัตถุดิบให้ปิโตรเคมี (3) มาตรการควบคุม โดยควบคุมปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้ค้าส่ง (Jobber) โดยให้ผู้ค้าน้ำมันจัดทำรายงานการจำหน่ายน้ำมันแต่ละชนิดนำส่งรายสัปดาห์ รวมถึงการควบคุมการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของสถานีบริการน้ำมัน ควบคุมการดำเนินการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นและธุรกิจพลังงาน (4) มาตรการด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หากไม่สามารถจัดหาน้ำมัน ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ภาครัฐจะต้องประกาศใช้ระบบการควบคุมราคาเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกัน การกักตุนและการโก่งราคาขายเกินเหมาะสม (5) มาตรการด้านการประหยัดพลังงาน โดยจำกัดเวลาเปิดปิดสถานีบริการน้ำมัน และจำกัดการเปิดจำหน่ายของสถานีบริการน้ำมันในแต่ละพื้นที่ กำหนดเวลาเปิดปิดห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง รวมทั้งเพิ่มการใช้บริการรถขนส่งมวลชน หรือการจัดเขตการใช้ (Zoning) รถยนต์ส่วนบุคคล และ (6) มาตรการปันส่วนน้ำมัน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง (ส่วนกลาง) เพื่อพิจารณาการปันส่วนน้ำมัน
3.กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมเพื่อซักซ้อมการเตรียมความพร้อมกรณีการขาดแคลนน้ำมันจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ร่วมด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน รองปลัดกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1.ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2562 มีสินทรัพย์รวม 47,697 ล้านบาท หนี้สินรวม 13,570 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิ 33,838 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 40,403 ล้านบาท และบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 6,565 ล้านบาท โดยมีสภาพคล่องสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ 1,292 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมัน 1,416 ล้านบาทต่อเดือน และสภาพคล่องสุทธิกลุ่มก๊าซ LPG ติดลบ 124 ล้านบาทต่อเดือน
2. ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ พบว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 สภาพคล่องสุทธิกลุ่มก๊าซ LPG จะติดลบ 6,613 ล้านบาท และสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จะติดลบ 6,587 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินกรอบเพดานการชดเชยราคาก๊าซ LPG ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปหมุนเวียนใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนเงินคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปในภายหลัง และมอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) จัดทำรายงาน รายรับ/รายจ่าย และฐานะกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG เพื่อรายงาน กบง. ทราบทุกเดือน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานการใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ไม่เกิน 7,000 ล้านบาท ตามมติดังกล่าว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1.ระเบียบวาระนี้ไม่มีเอกสารแจกในที่ประชุม และขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ซึ่งได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หารือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ภายใต้การกำกับของสำนักงาน กกพ. ในการบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay โดยให้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอ กบง. ต่อไป
2. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เลขาธิการ สกพ.) (นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต) ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า สำนักงาน กกพ. ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เสนอเรื่องการนำเข้า LNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามมติที่ประชุม กบง. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ต่อ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่ง กกพ. ได้พิจารณาแล้วรับทราบว่า กฟผ. กับ ปตท. มีการหารือกันเรื่องการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปี ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay และรับเรื่องไปดำเนินการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay
3.ประธานฯ ได้ให้ผู้แทน กฟผ. นำเสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุม โดยรองผู้ว่าการเชื้อเพลิง (นายธวัชชัย จักรไพศาล) ได้รายงานที่ประชุมว่า กฟผ. และ ปตท. ได้มีการหารือกันแล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในปี 2563 กฟผ. กับ ปตท. สามารถที่จะบริหารร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา Take or Pay ได้ และในขณะเดียวกันในปี 2564 หากมี Supply เพิ่มขึ้นในปริมาณ 100 พันล้านบีทียู ก็สามารถจะบริหารร่วมกันได้เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay รวมถึงได้หารือเรื่องโครงสร้างของสัญญา Global DCQ โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ในสัญญา Global DCQ มีอายุสัญญา 10 ปี สามารถทบทวนปริมาณ LNG ได้ทุกๆ 5 ปี และในเบื้องต้นได้ปริมาณ LNG แต่ละปีตลอดอายุสัญญาแล้ว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ได้ไปรายงาน กกพ. แล้ว จากนั้นประธานฯ ได้ให้ผู้แทน ปตท. นำเสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุม ทั้งนี้ ไม่มีผู้แทน ปตท. เข้าร่วมประชุม
มติของที่ประชุม
1. รับทราบการรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติรับทราบความคืบหน้ารายงานการเจรจาระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ภายใต้การกำกับของสำนักงาน กกพ.
2. มอบหมายให้ กฟผ. และ ปตท. ภายใต้การกำกับของ กกพ. ไปจัดทำข้อตกลงในการนำเข้า กำกับ และบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. รวมทั้งให้เจรจาสัญญา Global DCQ ให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลน LNG ในอนาคต โดยอยู่ภายในระยะเวลาการเริ่มต้นใช้ LNG Terminal ของ กฟผ. และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาตามข้อเสนอในสัญญาการนำเข้า LNG ของ กฟผ. (ภายในวันที่ 15 กันยายน 2562) และให้ กกพ. รายงานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติมอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น ผู้จัดหาและค้าส่ง (Shipper) รายใหม่ ในการจัดหาปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เพื่อนำ LNG ไปใช้กับโรงไฟฟ้าของตนเองที่กำหนด โดยการบริหารจัดการในช่วงทดสอบระบบระยะที่ 1 การจัดหาก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้าให้แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) Shipper รายเดิม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยใช้ราคาก๊าซพูล (Pool Price) และ (2) Shipper รายใหม่ กฟผ. จัดหา LNG ให้กับโรงไฟฟ้าของตนเองที่กำหนด โดยใช้ราคา LNG ที่นำเข้าโดย กฟผ. ซึ่งไม่ถูกนำไปเฉลี่ยอยู่ในราคา Pool Gas รวมทั้งมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ กฟผ. ศึกษาหลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้สอดคล้องรองรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติในอนาคต โดยคำนึงถึงต้นทุนการส่งผ่านค่าไฟฟ้า ประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า และการสั่งการเดินเครื่องที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
2.โครงสร้างกิจการก๊าซฯ ในปัจจุบัน ปตท. ทำหน้าที่ผู้จัดหาก๊าซฯ เพียงรายเดียว โดยจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งต่างๆ ประกอบกันขึ้นเป็น Pool Gas (Pool Gas ปตท.) ประกอบด้วยก๊าซฯ จากอ่าวไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ LNG แต่จากมติ กพช. ดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลให้เกิด Pool Gas ใหม่เพิ่มขึ้น คือ Pool Gas ที่จัดหาโดย กฟผ. (Pool Gas กฟผ.) ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 กฟผ. ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องแนวทางการจัดหา LNG และการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า กฟผ. กรณี กฟผ. นำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปีตามมติ กพช. ดังกล่าว โดย กฟผ. ขอเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ช่วงทดสอบระบบระยะที่ 1 ในส่วนที่ กฟผ. นำเข้า LNG 1.5 ล้านตันต่อปี
3. ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าในปัจจุบันใช้หลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามหลักการต้นทุนการผลิตไฟฟ้า หรือ Merit Order เพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมที่ต่ำที่สุด โดยทุกโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซฯ (โรงไฟฟ้า กฟผ., IPP, SPP, VSPP) มีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงใช้ก๊าซฯ ด้วยราคา Pool Price เดียวกัน และในช่วงส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ช่วงทดสอบระบบระยะที่ 1 จำเป็นที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าต้องทำการเปลี่ยนแปลงหลักการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯ มาจากสองแหล่ง คือ Pool Gas กฟผ. และ Pool Gas ปตท. ซึ่งแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามหลักการต้นทุนการผลิต หรือ Merit Order เหมือนในปัจจุบัน ทั้งนี้ กกพ. มีอำนาจตามมาตรา 87 ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ในการกำกับให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงานมีหน้าที่ควบคุม บริหาร และกำกับดูแลให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ
4. กกพ. ร่วมกับ กฟผ. ทำการศึกษาหลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ในอนาคต โดยพบว่าศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสามารถสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตาม 2 หลักการที่เป็นไปได้ คือ การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า หรือ Heat Rate โดยโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดจะได้รับการสั่งเดินเครื่องก่อน และการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารวมต่ำที่สุด หรือ Merit Order โดยพิจารณาทั้งต้นทุนราคาเชื้อเพลิง และประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุดจะได้รับการสั่งเดินเครื่องก่อน หลักการนี้เป็นหลักการที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน
5.สำนักงาน กกพ. ได้ทำการศึกษาผลกระทบของการนำเข้าเชื้อเพลิง LNG ต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ปริมาณ LNG และปริมาณ Pool Gas ที่ใช้ในระบบเพื่อผลิตไฟฟ้า รวมถึงราคา Pool Gas ที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับกรณีศึกษาต่างๆ โดยอ้างอิงการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามสภาพจริงในปี 2560 ดังนี้ (1) การนำเข้า LNG โดย กฟผ. เพื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. กรณีมีการแบ่งเป็น 2 Pool Gas ได้แก่ Pool Gas ปตท. และ Pool Gas กฟผ. ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยราคาก๊าซฯ สำหรับการผลิตไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะใช้หลักการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามหลักการ Heat Rate หรือ Merit Order เนื่องจากเชื้อเพลิง LNG มีแนวโน้มราคาแพงกว่า Pool Gas ซึ่งมีก๊าซฯ ที่มีราคาต่ำกว่า LNG ถัวเฉลี่ยอยู่ (2) การนำเข้า LNG โดย กฟผ. เพื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ส่งผลให้ต้นทุนราคาก๊าซฯ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและ NGV ลดลง เนื่องจากราคา LNG นำเข้าโดย กฟผ. ถูกส่งผ่านไปยังภาคไฟฟ้าโดยตรง และไม่ถูกนำไปเฉลี่ยอยู่ในราคา Pool Gas นอกจากนั้น กฟผ. ทำการปันส่วน LNG นำเข้าจาก ปตท. เพื่อนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าของตนเอง ทำให้สัดส่วนการนำเข้า LNG โดย ปตท. ใน Pool Gas ปตท. ลดลง (3) ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้หลักการ Heat Rate เพิ่มขึ้น 2.1 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้หลักการ Merit Order ที่เพิ่มขึ้น 2.4 สตางค์ต่อหน่วย และ (4) หลักการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตาม Heat Rate มีความเหมาะสมมากกว่าหลักการ Merit Order ในช่วงส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ช่วงทดสอบระบบระยะที่ 1 ที่มี 2 Pool Gas เนื่องจากเป็นหลักการที่นำ LNG ไปใช้กับโรงไฟฟ้าประสิทธิภาพดี อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากตลาดก๊าซฯ ในประเทศไทยเกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ สำนักงาน กกพ. เห็นควรให้เลือกหลักการ Merit Order ในการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด ซึ่งการศึกษาดังกล่าวสามารถสรุปเป็นต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลฐาน (Base case) (1.44 บาทต่อหน่วย โดยอ้างอิงการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าปี 2560 ซึ่งไม่มีการนำเข้า LNG โดย กฟผ.) ได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 นำเข้า LNG โดย กฟผ. และสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามหลักการ Heat Rate และกรณีที่ 2 นำเข้า LNG โดย กฟผ. และสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามหลักการ Merit Order โดยจากการศึกษาพบว่ากรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 จะมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.1 สตางค์ต่อหน่วย และ 2.4 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบหลักการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า หรือ Heat Rate เฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นหลักการในการปฏิบัติของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าในช่วงส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 1 และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป