
มติกบง. (348)
ครั้งที่ 13 - วันจันทร์ ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2549 (ครั้งที่ 13)
วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 30 เม.ย. 49)
2. โครงการจำหน่ายน้ำมันในเขตทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 30 เม.ย. 49)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบ
1.1 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมกราคม 2549 อยู่ที่ระดับ 58.44 และ 63.49 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันในประเทศไนจีเรีย ถูกลอบวางระเบิด ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมของไนจีเรียลดลง 220,000 บาร์เรล/วัน ประกอบกับสถานการณ์ความตรึงเครียดในประเทศตะวันออกกลาง ส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันของโลก และต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยได้ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 57.66 และ 60.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากสภาพอากาศในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาอบอุ่นกว่าปกติ และปริมาณสำรองน้ำมันในสหรัฐอเมริกาทุกประเภทเพิ่มขึ้น โดยปริมาณสำรองน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 352.6 ล้านบาร์เรล
1.2 เดือนมีนาคมและเดือนเมษายนราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 64.27 และ 70.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย โดยอิหร่านได้ออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องจากคณะรัฐมนตรีความมั่นแห่งสหประชาชาติทั้ง 15 ชาติ ทำให้ตลาดเกิดความกังวล ประกอบกับแหล่งผลิตน้ำมันดิบในแถบทะเลเหนือจะลดกำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคม 2549 ลงประมาณ 57,000 บาร์เรล/วัน ดังนั้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาราคา น้ำมันดิบดูไบและเบรท์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 54.54 และ 64.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดูไบและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 9.99 และ 9.89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์
2.1 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยเดือนมกราคม 2549 อยู่ที่ระดับ 66.79, 65.42 และ69.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากโรงกลั่น Balikapan จะปิดซ่อมบำรุง และ Petec ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินปริมาณ 169,000 บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการซื้อน้ำมันก๊าดมีปริมาณมากอย่างต่อเนื่องจากญี่ปุ่น และสายการบิน ประกอบกับบริษัทของเกาหลีใต้และไต้หวันไม่มีน้ำมันก๊าดส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้โรงกลั่นในเอเชียเหนือลดการผลิตน้ำมันดีเซลลงและหันมาเร่งผลิตน้ำมันก๊าดในอัตราสูง
2.2 ในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX และอุปทานในเอเชียที่ลดลง ขณะที่น้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดีเซลในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE และปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลใน Amsterdam-Rotterdam-Antwerp ที่ประกาศในวันที่ 2 มีนาคม 2549 ปรับลดลง มาอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านตัน และในเดือนเมษายนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ,92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 81.93, 80.90 และ 83.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นในญี่ปุ่นหลายแห่งต้องปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน ประกอบกับ Arbitrage จากเอเชียเหนือไปสหรัฐอเมริกาเปิด ส่วนราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียหลายแห่งอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี โดยสรุปช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70.82 , 69.89 และ 72.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 8.16 , 8.21 และ 8.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกของไทย
3.1 เดือนมกราคม 2549 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 3 ครั้งๆ ละ0.40 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 มกราคม 2549 อยู่ที่ระดับ 27.24 26.44 และ 24.69 บาท/ลิตร ตามลำดับ และเดือนกุมภาพันธ์ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีก น้ำมันเบนซินลดลง 3 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น 0.40 บาท/ลิตร 1 ครั้ง ขณะ เดียวกันราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับลดลง 0.40 บาท/ลิตร 1 ครั้ง และปรับเพิ่มขึ้น 0.40 บาท/ลิตร 1 ครั้ง โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 อยู่ที่ระดับ 26.44 25.64 และ 24.69 บาท/ลิตร ตามลำดับ
3.2 อย่างไรก็ตามช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ผู้ค้าน้ำมันและ ปตท. ได้ปรับราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วผู้ค้าน้ำมันได้ปรับเพิ่มขึ้นและลดลงในบางช่วงเวลา ซึ่งส่งผลให้ ณ วันที่ 30 เมษายน 2549 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ยกเว้น ปตท. อยู่ที่ระดับ 28.74 , 27.94 และ 26.09 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วน ปตท. ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ระดับ 28.34 , 27.54 และ 25.69 บาท/ลิตร ตามลำดับ สรุปช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2.70 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.60 บาท/ลิตร
3.3 นอกจากนี้ ในช่วงเดือนเมษายนราคาขายหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลมีราคาสูงกว่าราคาขายปลีก ทำให้สถานีบริการบางแห่งไม่ซื้อน้ำมันมาขาย โดยเฉพาะสถานีบริการที่ไม่มียี่ห้อ จึงส่งผลให้สถานีบริการที่มียี่ห้อมีปริมาณขายน้ำมันมากขึ้น และเกิดการขาดแคลนในบางช่วง และปัจจุบันราคาขาย หน้าโรงกลั่นและขายปลีกของน้ำมันเบนซินมีราคาเท่ากัน โดยที่ราคาขายส่งของน้ำมันดีเซลจะสูงกว่าราคาขายปลีก
4. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การจัดเก็บอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันชนิดต่างๆ ณ วันที่ 28 เมษายน 2549 ประกอบด้วย น้ำมันเบนซินออกเทน 95 น้ำมันเบนซินออกเทน 91 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ในอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ คือ 2.50 , 2.30 , 0.54 , 0.10 , 0.95 และ 0.06 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดยมีรายรับเงินส่งเข้ากองทุนเฉลี่ย 2,858 ล้านบาท/เดือน และฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 มีเงินสดสุทธิ 8,601 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 68,089 ล้านบาท แยกเป็นหนี้เงินกู้ 29,605 ล้านบาท หนี้พันธบัตร 26,400 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาค้างชำระ 1,422 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 10,367 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 295 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 59,488 ล้านบาท และคาดว่าจะมีเงินส่งเข้ากองทุนฯ ในเดือนพฤษภาคมเพียง 2,645 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้กองทุนฯ ต้องขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ และลดค่าใช้จ่ายอื่นลง ได้แก่ ขยายเวลาการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ให้กับผู้ผลิตออกไปแต่จะไม่ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 โครงการจำหน่ายน้ำมันในเขตทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง
สรุปสาระสำคัญ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอโครงการจำหน่ายน้ำมันในเขตทะเลอาณาเขตให้แก่ชาวประมง ชายฝั่ง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันให้ชาวประมง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 ดังนี้
1. รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือชาวประมงโดยได้ดำเนินการ 2 ลักษณะ คือ (1) โครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ซึ่งน้ำมันโครงการจะมีคุณภาพต่ำกว่าน้ำมันบนบกเป็นน้ำมันที่ผลิตในประเทศ และได้รับการยกเว้นภาษีและกองทุนต่างๆ จึงทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันบนบก ประมาณ 5 - 6 บาทต่อลิตร โดยกำหนดให้จำหน่ายในเขตต่อเนื่อง (12 - 24 ไมล์ทะเล) มีการเติมสีเขียวและสาร Marker เพื่อป้องกันการลักลอบ ปัจจุบันมีปริมาณการใช้น้ำมันประมาณ 50-100 ล้านลิตรต่อเดือน และ (2) โครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือประมง (โครงการน้ำมันม่วง) โดยจัดหาน้ำมันดีเซลราคาถูกให้ ชาวประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลจาก ปตท. ที่ลดราคาให้ 1 บาทต่อลิตร และเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ชดเชยให้ 1 บาทต่อลิตร ทำให้ลดราคาน้ำมันได้รวมเป็น 2 บาทต่อลิตร มีกำหนดระยะช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2548 - 7 มีนาคม 2549 ปริมาณน้ำมันในโครงการอยู่ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อเดือน จำนวนเรือในโครงการ 13,494 ลำ และสถานีบริการน้ำมัน 150 สถานี ชาวประมงชายฝั่งใน 14 จังหวัดของประเทศ และปัจจุบันการดำเนินการโครงการจำหน่ายน้ำมันม่วงสิ้นสุดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันม่วงเพิ่มขึ้นทันที 1 บาทต่อลิตร ขณะที่ ปตท. จะสามารถช่วยเหลือลดราคาน้ำมันม่วง 1 บาทต่อลิตร ได้อีกในวงเงินประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 1.5 เดือน หลังจากนั้นชาวประมงชายฝั่งจะต้องใช้น้ำมันดีเซลราคาปกติ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือร้องเรียนขอให้รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือ ชาวประมงชายฝั่งในโครงการน้ำมันม่วงต่อไป
2. แนวทางแก้ไขที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
2.1 ให้โครงการน้ำมันม่วงใช้น้ำมันคุณภาพต่ำกว่าน้ำมันบนบกเช่นเดียวกับน้ำมันเขียว เพื่อลดต้นทุนและเปลี่ยนแปลงสถานที่จำหน่ายจากสถานีบริการแพปลาซึ่งอยู่ในเครือข่ายขององค์การสะพานปลา ประมาณ 150 แห่ง เป็นการจำหน่ายด้วยเรือสถานีบริการในทะเล ประมาณ 10 ลำ มีจุดจำหน่ายอยู่ในทะเลอาณาเขตห่างฝั่งไม่น้อยกว่า 5 ไมล์ทะเล ยกเว้นรอบเกาะไม่น้อยกว่า 1 ไมล์ทะเล ซึ่งส่งผลให้โครงการช่วยเหลือชาวประมงชายฝั่งหรือน้ำมันม่วงกลางทะเลที่เกิดใหม่มีความยั่งยืน เนื่องจากต้นทุนของราคาน้ำมันถูกลงเพราะน้ำมันมีคุณภาพต่ำลง โดยระยะแรกกองทุนน้ำมันฯ จะลดอัตราเงินส่งเข้าให้ส่วนหนึ่ง ราคาน้ำมันม่วงใหม่จะต่ำกว่าราคาน้ำมันบนบกไม่น้อยกว่า 2 บาทต่อลิตร และระยะต่อไป กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมให้มีการแข่งขันการจำหน่ายน้ำมันประมงเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันม่วงลดลง
2.2 เห็นควรเปิดโอกาสให้ผู้จำหน่ายน้ำมันในโครงการน้ำมันเขียวสามารถจัดหาน้ำมันจากต่างประเทศได้ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลให้ลดความเสี่ยงภัยน้ำมันเถื่อน และตอบสนองความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการน้ำมันม่วงที่จะใช้น้ำมันประมงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ชาวประมงในฝั่งอันดามันใช้น้ำมันเขียวที่มีราคาสูงกว่าฝั่งอ่าวไทยประมาณ 70 - 80 สตางค์ หากมีการเปิดโอกาสให้นำเข้าจากประเทศสิงคโปร์จะสามารถทำให้ราคาน้ำมันถูกลงกว่าในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเสียเปรียบราคาน้ำมันของฝั่งอันดามันทันที
3. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง โครงการจำหน่ายน้ำมันในเขตทะเลอาณาเขตให้แก่ชาวประมงชายฝั่ง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันให้ชาวประมง ดังนี้
3.1 ขอให้รัฐบาลจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีคุณภาพเหมาะสำหรับเรือประมงเพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวประมงชายฝั่งทดแทนน้ำมันที่ได้รับจากโครงการช่วยเหลือราคาน้ำมันให้ชาวประมง (น้ำมันม่วง) โดยให้คงราคาน้ำมันที่เคยจำหน่ายเดิมตามโครงการฯ (ราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบกไม่น้อยกว่า 2 บาทต่อลิตร ) โดยการจำหน่ายในพื้นที่ทะเลอาณาเขตห่างฝั่งไม่น้อยกว่า 5 ไมล์ทะเล ยกเว้นรอบเกาะไม่น้อยกว่า 1 ไมล์ทะเล น้ำมันดังกล่าวเสียภาษีต่างๆ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เช่นเดียวกับราคาน้ำมันบนบก แต่การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ อาจต่ำกว่าราคาน้ำมันปกติ
3.2 ขอให้มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับไปพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดต่อไป
3.3 ขอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีให้สามารถจัดหาน้ำมันสำหรับเรือประมงในโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องที่กำหนดให้จัดหาน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศเท่านั้น เป็นการจัดหาน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้
3.4 ขอให้มอบหมายกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปดำเนินการกำหนดแนวทางตรวจสอบการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศสำหรับโครงการทั้งสองให้เกิดความรัดกุม
4. ประเด็นพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 มีนาคม 2549 ตามข้อ 4.1 โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดราคาน้ำมันตามโครงการจำหน่ายน้ำมันในเขตทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง ให้มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก 2 บาท/ลิตร จึงจำเป็นต้องอาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันตามโครงการฯ ให้มีความแตกต่าง โดยมีข้อเสนอเพื่อพิจารณาดังนี้
4.1 ให้เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีคุณสมบัติของ ซัลเฟอร์ไม่เกินร้อยละ 0.7 (ไม่เกิน 0.7%S)
4.2 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไม่เกิน 0.7%S) ในกรณีการเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง ทั้งนี้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไม่เกิน 0.7%S) รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 2.50 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เวียนขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2549 แล้วและคณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า "เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีแนวทางและมาตรการร่วมกันในการดำเนินการควบคุมตรวจสอบการนำเข้า การจำหน่าย และการใช้น้ำมันให้เกิดความชัดเจนก่อนให้มีการนำเข้าน้ำมัน รวมทั้ง ศึกษาและติดตามประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตน้ำมันภายในประเทศในระยะยาว"
5. มติคณะกรรมการ
5.1 ให้เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีคุณสมบัติส่วนประกอบปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.7 (ไม่เกิน 0.7%S)
5.2 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไม่เกิน 0.7%S) ทั้งนี้ ในกรณีการเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง โดยที่อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไม่เกิน 0.7%S) รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 2.50 บาท/ลิตร
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2548 และวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการช่วยเหลือราคาน้ำมันให้ชาวประมงโดยใช้เงินช่วยเหลือจาก คชก. ลดราคาน้ำมัน 1 บาท/ลิตร และ ปตท. ช่วยเหลือลดราคาน้ำมันให้ชาวประมงอีก 1 บาท/ลิตร รวม 2 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ปตท. ได้กำหนดวงเงินช่วยเหลือไว้ไม่เกิน 240 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกเงินช่วยเหลือจาก คชก.ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันม่วงเพิ่มขึ้นทันที 1 บาท/ลิตร ทำให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อนและร้องขอให้ได้รับการช่วยเหลือในรูปของราคาน้ำมันต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปกติ 2 บาท/ลิตร
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2549 เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยรัฐบาลจัดหาน้ำมันซึ่งมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับเรือประมง เพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวประมงชายฝั่งทดแทนน้ำมันที่ได้รับจากโครงการช่วยเหลือราคาน้ำมันให้ชาวประมง (น้ำมันม่วง) ตามรายละเอียดในวาระที่ 3.2
3. ต่อมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้หารือกับกรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และโรงกลั่นน้ำมัน ขอให้ ปตท. ช่วยเหลือชาวประมงชายฝั่งด้วยการจำหน่าย น้ำมันม่วงต่ำกว่าราคาปกติลิตรละ 1 บาท ตามข้อ 1. ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าโครงการจำหน่ายน้ำมันม่วงในทะเลตามข้อ 2. จะสามารถดำเนินการได้ หรือจนกว่าวงเงินช่วยเหลือชาวประมงที่ ปตท. กำหนดไว้จำนวน 240 ล้านบาท จะหมดลง และน้ำมันที่นำมาจำหน่ายในเขต 5 ไมล์ทะเลให้เป็นสีม่วงเพื่อให้แตกต่างจากสีของน้ำมันที่จำหน่ายในเขตต่อเนื่อง (น้ำมันเขียว) พร้อมทั้งขอให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีอนุโลมการนำเรือประมงดัดแปลงเป็นเรือสถานีบริการน้ำมันในเขต 5 ไมล์ทะเล โดยมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี จนเมื่อจะมีการต่อเรือสถานีบริการน้ำมันที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากเรือสถานีบริการที่มีอยู่เป็นเรือขนาดใหญ่จึงไม่คุ้มทุนในการนำมาจอดจำหน่าย ในเขตดังกล่าว
4. สนพ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด เป็นผู้ผลิต/จำหน่ายน้ำมันม่วงให้แก่ชาวประมง ตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ได้อยู่ในระดับปกติ บริษัทจึงขอให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาชดเชยผลขาดทุนให้แก่บริษัทฯ
5. กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้องค์การสะพานปลา (อสป.) เป็นผู้ดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้ดำเนินการจัดเตรียมการจำหน่ายน้ำมันในโครงการน้ำมันม่วงให้พร้อมที่จะจำหน่ายได้ตั้งแต่ วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป
6. ผลกระทบที่มีต่อกองทุนน้ำมันฯ จากความต้องการใช้น้ำมันม่วงสูงสุดไม่เกินเดือนละ 10 ล้านลิตร ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระจ่ายเงินชดเชยไม่เกิน 14.036 ล้านบาท ซึ่งปกติอัตราเงินชดเชยน้ำมันม่วงควรจะอยู่ที่ระดับประมาณลิตรละ 0.50 บาท แต่เนื่องจากราคาจำหน่ายปลีก ณ สถานีบริการในปัจจุบันไม่อยู่ในระดับปกติ คือ สูงไม่ถึง 1 บาท/ลิตร หรือบางครั้งต่ำกว่าราคา ณ โรงกลั่นทำให้ต้องชดเชยค่าการตลาดให้ อสป. อีกส่วนหนึ่ง
โครงสร้างราคาน้ำมัน
วันที่ 4 พฤษภาคม 2549
หน่วย : บาท/ลิตร
น้ำมันดีเซล หมุนเร็ว (1) |
น้ำมันม่วง (2) |
ส่วนต่าง (1)-(2) |
|
ราคาน้ำมัน(อิงตลาดโลก) | 21.2361 | 20.1994 | 1.0367 |
ภาษีสรรพสามิต | 2.3050 | 2.4050 | -0.1000 |
ภาษีเทศบาล | 0.2305 | 0.2405 | -0.0100 |
กองทุนน้ำมันฯ | 0.9500 | -1.4036 | 2.3536 |
กองทุนอนุรักษ์พลังงาน |
0.0400 | 0.0400 | 0.0000 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม(ขายส่ง) | 1.7333 | 1.5037 | 0.2296 |
รวมขายส่ง | 26.4949 | 22.9850 | 3.5099 |
ค่าการตลาด (อสป.) | 0.0889 | 1.5000 | -1.4111 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม(ขายปลีก) | 0.0062 | 0.1050 | -0.0988 |
รวมขายปลีก | 26.59 | 24.59 | 2.00 |
7. จากการดำเนินการข้างต้น พบว่าต้องมีการกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯ หรือจ่ายเงินชดเชยที่แตกต่างไปจากอัตราปกติ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นควรให้มีการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันม่วง และมอบหมายให้ประธานฯ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทน คณะกรรมการฯ ในการกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินการต่างๆ ได้ตามความเหมะสม พร้อมทั้งมอบให้ผู้อำนวยการ สนพ. เป็นผู้ดำเนินการออกประกาศอัตราส่งเงินเข้ากองทุนหรือจ่ายเงินชดเชย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันที่จำหน่ายในเขตทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง (น้ำมันม่วง) ที่แตกต่างไปจากอัตราปกติ
2. มอบหมายให้ประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติแทนคณะกรรมการฯ ในการกำหนดรายละเอียดในหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินการต่างๆ ได้ตามความเหมะสม และให้ผู้อำนวยการ.สนพ. เป็นผู้ดำเนินการออกประกาศอัตราส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรืออัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันม่วง
ครั้งที่ 12 - วันศุกร์ ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2549
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2549 (ครั้งที่ 12)
วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2549 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. - 31 ธ.ค. 48)
2. ทบทวนบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาค
3. ทบทวนมติการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
4. การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ในช่วงฤดูร้อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. - 31 ธ.ค. 48)
สรุปสาระสำคัญ
1. ตลาดน้ำมันโลก
ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2548 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 52.32 และ 56.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม 1.32 และ 2.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากอุณหภูมิในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าระดับปกติ และปริมาณสำรองน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีการสะสมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เดือนธันวาคมท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท เชลล์ ในไนจีเรียถูกลอบวางระเบิด ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 170,000 บาร์เรล/วัน ต้องหยุดชะงัก และโอเปคมีแนวโน้มที่จะลดปริมาณการผลิตลงก่อนเข้าสู่ไตรมาส 2 ปี 2549
2. ตลาดน้ำมันสิงคโปร์
ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 60.94, 59.71 และ 62.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม 8.16, 8.23 และ 9.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากเวียดนามลดการนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือนธันวาคม 2548 ลงร้อยละ 50 หลังจากรัฐบาลเวียดนามประกาศเก็บภาษีนำเข้าน้ำมัน ร้อยละ 50 ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 พร้อมทั้ง ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีออกประมูลขายน้ำมันดีเซลส่งมอบปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าน้ำมันเบนซิน 95 จากเอเชียไปขายในสหรัฐอเมริกา และอากาศ ที่หนาวเย็นลดลงในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียเหนือ ทำให้ความต้องการน้ำมันเพื่อความอบอุ่นเพิ่มสูงขึ้น
3. ตลาดน้ำมันไทย
เดือนพฤศจิกายน 2548 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วลดลง 3 ครั้ง รวมเป็น 1.30 บาท/ลิตร และ 1.10 บาท/ลิตร ตามลำดับ และในเดือนธันวาคม ได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3 ครั้ง รวมเป็น 1.20 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง รวมเป็น 0.80 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 26.04, 25.24 และ 23.49 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2548 มีรายรับเงินส่งเข้ากองทุนจำนวน 4,779 ล้านบาท และรายจ่ายในการชดเชย LPG ดอกเบี้ย และอื่นๆ เป็นเงิน 766 ล้านบาท รายได้สุทธิเท่ากับ 4,013 ล้านบาท ทั้งนี้รายรับของกองทุนน้ำมันฯ มีเพียงพอที่จะรองรับการจ่ายหนี้สินของกองทุนน้ำมันฯ ได้ สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ ประมาณการ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2548 มีเงินสดสุทธิ 9,347 ล้านบาท หนี้สินค้างชำระ 84,961 ล้านบาท แยกเป็นหนี้เงินกู้เดิม (อายุไม่เกิน 1 ปี) 15,660 ล้านบาท หนี้พันธบัตร 26,400 ล้านบาท หนี้สถาบันการเงินอายุ 5 ปี 32,000 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยตรึงราคาค้างชำระ 2,256 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 10,078 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 159 ล้านบาท ดอกเบี้ยค้างจ่ายประจำเดือน 208 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 75,614 ล้านบาท
5. สถานการณ์พลังงานไทยในปี 2548 และแนวโน้มปี 2549
5.1 ภาพรวม ในปี 2548 การขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 4.7 เป็นผลจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลกปรับสูงขึ้นและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ อาทิ ภาวะภัยแล้ง และปัญหาการระบาดของ ไข้หวัดนก เป็นต้น ทำให้การใช้และการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศอยู่ที่ระดับ 1,525 และ 742 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน และมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 4.9 และ 9.4 ตามลำดับ โดยที่การนำเข้า (สุทธิ) พลังงานเชิงพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 969 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน หรือขยายตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.3 มีมูลค่านำเข้าพลังงานรวม 774,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 36.7 ซึ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนการส่งออกพลังงานมีมูลค่ารวม 146,814 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.8 จากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ทำให้มูลค่าการนำเข้า(สุทธิ) พลังงานค่ารวม 627,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 ขณะที่มูลค่าการใช้พลังงานทุกชนิดเชื้อเพลิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
5.2 น้ำมันดิบ การจัดหาน้ำมันดิบได้ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 925 พันบาร์เรลต่อวัน เป็นการผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ 12 และ 88 ตามลำดับ ขณะที่การผลิตภายในประเทศ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.1 อยู่ที่ระดับ 113 พันบาร์เรลต่อวัน ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบได้ลดลงถึงร้อยละ 7.0 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับราคา 41.93 เหรียญสหรัฐในเดือนมกราคม เป็น 51.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนพฤษภาคม และในช่วง 6 เดือนหลังของปี การนำเข้าน้ำมันดิบได้ชะลอตัวลง แต่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29.3
5.3 น้ำมันสำเร็จรูป การจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2548 มีปริมาณรวม 51,416 ล้านลิตร เป็นการผลิตภายในประเทศที่ 49,220 ล้านลิตร ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.1 และเป็นการนำเข้าจำนวน 2,196 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันเตาคุณภาพดีเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 42,005 ล้านลิตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 5.3 เนื่องจากราคาขายปลีกที่สูงขึ้น และมาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐ ทำให้ประชาชนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคอย่างชัดเจน ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) และ LPG มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนแก๊สโซฮอล์มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 873.3 หรือปริมาณที่เพิ่มขึ้น 524 ล้านลิตร จากรัฐบาลได้มีนโยบายอย่างจริงจัง ในการยกเลิกการใช้ MTBE ในน้ำมันเบนซิน 95 เปลี่ยนเป็นแก๊สโซฮอล์ทั้งหมดภายในมกราคม 2550 และราคาแก๊สโซฮอล์มีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินทั่วไป สำหรับการใช้น้ำมันดีเซลมีปริมาณ 19,633 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงร้อยละ 0.1 เนื่องจากรัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาขายปลีกดีเซลในช่วงกลางปีทำให้ปริมาณการใช้ดีเซลชะลอตัวลง และประกอบกับปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือและภาคใต้ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ของภาครัฐ ในมาตรการประหยัดพลังงาน ในขณะที่การใช้น้ำมันเตาเพื่อการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61.7 ส่วนการใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ลดลงถึงร้อยละ 8.1 เนื่องจากอุตสาหกรรม SME บางประเภทหันมาใช้ถ่านหินแทนน้ำมันเตามากขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันเครื่องบิน + ก๊าด และ LPG ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 และ 7.5 ตามลำดับ
5.4 ด้านไฟฟ้า ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2548 มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าอยู่ที่ 26,431 เมกะวัตต์ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ที่ระดับ 20,538 เมกะวัตต์ สูงกว่าปีที่ผ่านมาจำนวน 1,212 เมกะวัตต์ ค่าตัวประกอบไฟฟ้าเฉลี่ย (Load Factor) อยู่ที่ร้อยละ 75.7 และกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าต่ำสุด (Reserved Margin) อยู่ที่ร้อยละ 22.6 ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ระดับ 120,988 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยเป็นการใช้ในเขตนครหลวง เขตภูมิภาค และการใช้จากลูกค้าตรงของ กฟผ. ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8, 7.5 และ 12.7 ตามลำดับ ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 เช่นเดียวกับสาขาธุรกิจ บ้านและที่อยู่อาศัย สาขาเกษตร และสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6, 4.8, 7.9 และ 3.7 ตามลำดับ
6. แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2549
จาก สศช. ได้ประมาณเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 - 5.7 ในปี 2549 จึงสามารถ คาดการณ์การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณร้อยละ 5.6 ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 3.9 และ 7.6 ตามลำดับ สำหรับการใช้ลิกไนต์/ ถ่านหินคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เนื่องจากโรงไฟฟ้า BLCP ที่ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงจะเข้าระบบ ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 8.4
การใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ประกอบด้วย น้ำมันเบนซินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 น้ำมันดีเซลที่ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 น้ำมันก๊าด + เครื่องบิน จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และน้ำมันเตาจะใช้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.8 ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 ของ ปตท. จะยังคงสร้างไม่เสร็จในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 นอกจากนี้การใช้ LPG คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 โดยมีค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 21,822 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 15.86
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ทบทวนบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 ได้มีมติให้มีการกำกับดูแลการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ใช้ราคาขายปลีกของบริษัทน้ำมันในกรุงเทพมหานครบวกด้วยค่าขนส่งตามบัญชีค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเกณฑ์กลางในการพิจารณา ทั้งนี้ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานการค้าภายในจังหวัดใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นแนวในการคำนวณราคาขายปลีกที่เหมาะสมของจังหวัดต่างๆ
2. เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะประเด็นค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับสูงขึ้นในช่วงระดับ 20 - 25 บาท/ลิตร ขณะที่ตามบัญชีเดิมใช้ค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ 12 บาท/ลิตร เป็นฐานซึ่งเป็นระดับราคาในช่วงปี 2546 และได้มีการร้องเรียนให้แก้ไขอัตราค่าขนส่งอ้างอิงที่รัฐใช้ในการกำกับดูแล นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการขนส่งเพื่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้น ทำให้ต้นทุนในการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงไป
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 กระทรวงพลังงานได้มีคำสั่ง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาทบทวนบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่กำกับศึกษาทบทวนบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาค โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นายพรชัย รุจิประภา) เป็นประธานคณะทำงาน และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 คณะทำงานฯ ได้มีมติให้ทำการศึกษาบัญชีความแตกต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาคใหม่ โดยให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในปี 2549 และให้มีการพิจารณากำหนดความแตกต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างกรุงเทพมหานครกับส่วนภูมิภาค เพื่อใช้เป็นอัตราความแตกต่างชั่วคราวระหว่างที่การศึกษายังไม่แล้วเสร็จ โดยใช้แบบจำลองเดิมแต่คำนึงถึงเฉพาะปัจจัยผันแปรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสถาบันปิโตรเลียมฯ รับไปดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 พร้อมทั้ง ได้มอบให้กระทรวงพลังงานศึกษาแผนแม่บทการขนส่งพลังงานทั้งระบบ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงวิธีการขนส่ง ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 ทบทวนมติการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สรุปสาระสำคัญ
1. กลไกการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้อยู่ในระดับต่ำมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1) กำหนดรายได้ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้เท่ากับราคาตลาดโลก (ประกาศเปโตรมิน) ลบ 16 เหรียญสหรัฐ/เมตริกตัน โดยมีราคาต่ำสุดในระดับ 185 เหรียญสหรัฐ/เมตริกตัน และสูงสุดในระดับ 315 เหรียญสหรัฐ/เมตริกตัน 2) กำหนดราคาขายหน้าโรงกลั่นและราคาขายก๊าซ ณ คลังก๊าซไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นราคาเดียวกันทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร กิโลกรัมละ 12.4569 บาท หากราคาจำหน่ายตามข้อหนึ่งสูงกว่าให้จ่ายเงินชดเชยในอัตราสูงสุดไม่เกิน 2.00 บาท/กก. และ 3) กำหนดอัตราชดเชยค่าขนส่งก๊าซไปยังคลังก๊าซต่างๆ เป็นไปตามประกาศ กบง. เรื่อง การกำหนดค่าขนส่งก๊าซไปยังคลังก๊าซต่างๆ เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 เพื่อให้สามารถจำหน่ายก๊าซได้ในราคาเดียวกัน
2. นโยบายราคาก๊าซ LPG ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเข้าสู่ระบบราคา "ลอยตัวเต็มที่" โดย กบง. ได้มีมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ให้จำกัดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงสุด เพื่อยุติการไหลออกของเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยทยอยปรับลดอัตราชดเชย LPG ลงอย่างต่อเนื่อง และให้ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคา LPG เข้าสู่ระบบ "ลอยตัวเต็มที่" ในเดือนกรกฎาคม 2548 ซึ่งต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 กบง. ได้กำหนดอัตราเงินชดเชยสูงกว่าเพดาน สูงสุด 3 บาท/กก. ได้เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนดอัตราเงินชดเชยก๊าซ LPG เกินกว่าอัตราเงินชดเชยสูงสุดได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งได้มีการปรับกำหนดอัตราเงินชดเชยรวม 3 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา และในเดือนสิงหาคม 2548 กบง. ได้มีมติขยายระยะเวลาการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG และขยายระยะเวลาการกำหนดอัตราเงินชดเชยราคา LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. จากเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นภายในปี 2548
3. ปัจจุบันการขยายเวลาเกี่ยวกับการชดเชยราคาก๊าซ LPG ตามข้อ 2 ได้สิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2548 จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณานโยบายราคาก๊าซ LPG ใหม่ โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอ 3 ทางเลือก ได้แก่ ให้คงนโยบายราคาก๊าซ LPG เดิมไว้ หรือลดการชดเชยลงบางส่วน หรือยกเลิกการตรึงราคาก๊าซ LPG ทั้งหมด
4. โดยที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายชดเชยราคาก๊าซ LPG เฉลี่ยเดือนละ 530 ล้านบาท และชดเชยค่าขนส่งระหว่างคลังก๊าซ เฉลี่ยเดือนละ 40 ล้านบาท ดังนั้น หากมีการลดอัตราการชดเชยลง โดยปรับราคา LPG ขึ้น กิโลกรัมละ 1 บาท ราคาขายปลีกต่อถัง (15 กก.) จะขึ้นเป็น 267 บาท/ถัง (หรือราคา กก. ละ 17.8 บาท) จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซ LPG ในครัวเรือน ร้อยละ 55 ภาคอุตสาหกรรมและยานพานะ ร้อยละ 15 และ 20 ตามลำดับ ขณะที่ภาคปิโตรเคมีจะไม่ได้ส่งผลกระทบ นอกจากนี้รายจ่ายของกองทุนน้ำมันฯ จะเป็น 194 ล้านบาท/เดือน
5. แต่หากให้ตรึงราคาก๊าซ LPG เช่นเดิมต่อไป จะส่งให้ผู้ใช้รถยนต์เบนซินส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนมาใช้ LPG แทน ภาระการชดเชยจะเพิ่มขึ้น และจะกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการใช้ NGV ด้วย ขณะเดียวกันผู้ผลิต LPG ในประเทศได้พยายามส่งออกมากขึ้น เนื่องจากราคาตลาดโลกอยู่ระดับสูงกว่า 315 เหรียญสหรัฐ/เมตริกตัน ปัญหาการจัดหา LPG ให้เพียงพอต่อผู้ใช้อาจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานกำลังดำเนินการออกประกาศจำกัดปริมาณการส่งออก LPG
6. อย่างไรก็ตามฝ่ายเลขานุการ เห็นว่าควรคงนโยบายราคาปัจจุบันต่อไปอีก 6 เดือน (มกราคม - มิถุนายน 2549) แล้วจึงพิจารณาอีกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงควรเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นต้นไป เนื่องด้วยราคาก๊าซ LPG ที่ปรับสูงขึ้น จะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าค่อนข้างมาก หากปล่อยราคา LPG สูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค เนื่องจากจะมีการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า (ค่า Ft) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งทำให้กรมการค้าภายในจะมีภาระมากขึ้นในการเจรจาชะลอการปรับราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันยังสามารถรองรับการชดเชยต่อไปได้ และภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือและโครงการรองรับผลกระทบของกลุ่มรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊กไว้พร้อมก่อนที่จะมีการปรับราคา LPG
มติของที่ประชุม
1. ให้ขยายระยะเวลาการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากเดือนธันวาคม 2548 เป็นเดือนมิถุนายน 2549
2. ให้ขยายระยะเวลาการกำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. จากเดือนธันวาคม 2548 เป็นเดือนมิถุนายน 2549
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 4 การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ในช่วงฤดูร้อน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม 2535 ได้เห็นชอบระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ต่อมา บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) (บมจ. กฟผ.) ในปัจจุบัน ได้ดำเนินการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดย SPP จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ SPP ประเภท Firm อัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อจะประกอบด้วยค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment : CP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment : EP) และ SPP ประเภท Non - Firm อัตราค่าไฟฟ้าจะมีเพียงค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment : EP)
2. การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Firm จะแตกต่างกันตามประเภทเชื้อเพลิง คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเตา โดย SPP ที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบเป็นเชื้อเพลิง ราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นไปตามโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Non - Firm กำหนดค่าพลังงานไฟฟ้ารับซื้อฐาน 1.59 บาท/หน่วย ซึ่งกำหนดจากต้นทุน ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในระยะสั้นของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในปี 2543 ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตรายเล็กเปลี่ยนแปลงจากราคาฐาน (151.4518 บาท/ล้านบีทียู) มากกว่าหรือน้อยกว่า 1.0000 บาท/ล้านบีทียู
3. ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจาก SPP ในปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เพิ่มเติมจากสัญญา ไว้ในข้อ 17.4.3.2 โดยในกรณีที่มีการรับซื้อพลังไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญา โดย บมจ. กฟผ. เป็นฝ่ายร้องขอบริษัทฯ ให้จ่ายพลังไฟฟ้าเกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา ปริมาณพลังไฟฟ้าคิดเงินจะเท่ากับปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา บวกด้วยสาม (3) เท่าของปริมาณพลังไฟฟ้าที่ บมจ. กฟผ. ร้องขอเกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา คูณด้วยอัตราส่วนของระยะเวลาที่ บมจ. กฟผ. ร้องขอต่อจำนวนชั่งโมงในเดือนนั้นๆ และในกรณีที่บริษัทฯ ประสงค์ที่จะเสนอขายพลังไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญา โดยบริษัทฯ ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือต่อ บมจ. กฟผ. และ บมจ. กฟผ. มีแผนสั่งการรับซื้อพลังไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญา ปริมาณพลังไฟฟ้าคิดเงินจะเท่ากับปริมาณพลังไฟฟ้าจริงแต่ไม่เกินปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญา
4. บมจ. กฟผ. ได้เสนอแนวทางการปรับปรุงโครงการลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Cut) โดยให้มีการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า SPP ในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) เพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลจากโรงไฟฟ้าหลักลง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เห็นชอบในหลักการให้ บมจ. กฟผ. ประสานงานกับ SPP ให้มีการบริหารจัดการเพิ่มเติมหรือเลื่อนการผลิตมาในช่วงฤดูร้อน และข้อเสนอราคารับซื้อตามที่ บมจ. กฟผ. เสนอ และ บมจ. กฟผ. ได้จัดทำหลักการคิดค่าไฟฟ้าตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานให้ความเห็นชอบ และได้ทำข้อเสนอหลักการคิดเงินค่าไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า SPP ในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) พ.ศ. 2549 สรุปได้ ดังนี้
4.1 SPP ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) บมจ. กฟผ. จะชำระเงินเฉพาะค่า EP สำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนเกินสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตราค่าไฟฟ้าจาก SPP ประเภท Non - Firm ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตา
4.2 SPP ประเภท Non - Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล จะชำระเงินค่า EP สำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนที่เกินจากปริมาณพลังไฟฟ้า (kWh) ในช่วงเวลาที่ บมจ. กฟผ. ไม่มีการสั่งการ ณ เดือนนั้น ในอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากับ (1) อัตราค่าไฟฟ้าตามสัญญา และ (2) ส่วนต่างระหว่างอัตราค่าไฟฟ้าจาก SPP ประเภท Non - Firm ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตากับอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
4.3 SPP ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน บมจ. กฟผ. จะชำระเงินค่าไฟฟ้า ดังนี้ (1) ค่า EP สำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนเกินสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตราค่า EP ตามสัญญา (2) ค่า EP โดยปริมาณพลังไฟฟ้าคิดเงิน (kW) เท่ากับ 3 เท่าของปริมาณพลังไฟฟ้าที่ SPP จ่ายเกินข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ไม่เกินปริมาณพลังไฟฟ้าที่ บมจ. กฟผ. สั่งการเพิ่มเติม คูณด้วยอัตราส่วนของจำนวนชั่วโมงที่ บมจ. กฟผ. สั่งการเพิ่มเติมต่อจำนวนชั่วโมงในเดือนนั้นๆ และใช้อัตราค่าพลังไฟฟ้าตามสัญญา ทั้งนี้ หากผู้ผลิตรายเล็กทั้ง 3 แบบ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้า เพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามที่ บมจ. กฟผ. สั่งการได้ จะไม่มีการคิดค่าปรับเงินค่าไฟฟ้า
5. จากการคำนวณค่าไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายจาก SPP ในช่วงฤดูร้อน เปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล พบว่าจะช่วยลดต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2549 ได้ประมาณ 70.45 ล้านบาท
6. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า การคิดค่าไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของ SPP ที่ บมจ. กฟผ. เสนอเป็นแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก SPP เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในภาพรวมมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล แม้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลจะมีต้นทุนต่อหน่วยสูง แต่เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการกำหนดราคารับซื้อจาก SPP ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำมันเตาเป็นราคาที่จูงใจผู้ผลิตไฟฟ้าในระดับหนึ่ง
7. นอกจากนี้ บมจ. กฟผ. ได้มีหนังสือขอยกเลิกโครงการ Peak Cut ตามมติของคณะกรรมการ บมจ. กฟผ. เนื่องจากมาตรการที่ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองของผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อผลิตไฟฟ้าสำรองใช้เอง ที่มีเป้าหมายตัดทอนความต้องการไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์จากระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วง Peak Cut เป็นเวลา 15 ปี ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน และ ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปี 2549 และสัดส่วนกำลังผลิตสำรองกลับเข้ามาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้ง บมจ. กฟผ. ได้ประสานกับ SPP ให้มีการบริหารจัดการเพิ่มหรือเลื่อนการผลิตไฟฟ้ามาในช่วงฤดูร้อนเพื่อเสริมระบบแล้ว โดยที่ผู้ประกอบการที่สนใจและที่ลงนามสัญญาแล้ว 37 ราย ได้ทำหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาแล้วทุกราย ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2548 ทั้งนี้ผู้ร่วมโครงการไม่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายใดๆ เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเพื่อเข้าร่วมโครงการ และตามเงื่อนไขสัญญาได้ระบุให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยการแจ้งให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนที่จะมีการสั่งการในช่วงฤดูร้อนของทุกปี
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการคิดเงินค่าไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ในช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม) พ.ศ. 2549 ดังนี้
1.1SPP ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ได้รับค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนเกินสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในอัตราค่าไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กประเภท Non - Firm ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตา
1.2 SPP ประเภทสัญญา Non - Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ได้รับค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนที่เกินจากปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ในช่วงเวลาที่ บมจ. กฟผ. ไม่มีการสั่งการ ณ เดือนนั้น ในอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากับ (1) อัตราค่าไฟฟ้าตามสัญญา และ (2) ส่วนต่างระหว่างอัตราค่าไฟฟ้าจาก SPP ประเภท Non - Firm ที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตากับอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
1.3 SPP ประเภทสัญญา Firm ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน กำหนดค่าไฟฟ้า ดังนี้
1.3.1 ค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า (kWh) ส่วนเกินสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าตามสัญญา
1.3.2 ค่าพลังไฟฟ้า โดยปริมาณพลังไฟฟ้าคิดเงิน (kW) เท่ากับ 3 เท่าของปริมาณพลังไฟฟ้า ที่ผู้ผลิตรายเล็กจ่ายเกินข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ไม่เกินปริมาณพลังไฟฟ้าที่ บมจ. กฟผ. สั่งการเพิ่มเติมคูณด้วยอัตราส่วนของจำนวนชั่วโมงที่ บมจ. กฟผ.สั่งการเพิ่มเติมต่อจำนวนชั่วโมงในเดือนนั้นๆ และใช้อัตรา ค่าพลังไฟฟ้าตามสัญญา
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ทั้ง 3 ประเภท ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามที่ บมจ. กฟผ. สั่งการได้ จะไม่มีการคิดค่าปรับเงินค่าไฟฟ้า
2. เห็นควรให้ บมจ. กฟผ. ชำระเงินค่าไฟฟ้าให้กับ SPP ตามหลักการในข้อ 1
3. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และ บมจ. กฟผ. พิจารณาแนวทางการจัดสรรเชื้อเพลิงไปใช้ในโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
ครั้งที่ 11 - วันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 6/2548 (ครั้งที่ 11)
วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. - 10 ต.ค. 48)
2. ข้อเสนอการปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. - 10 ต.ค. 48)
สรุปสาระสำคัญ
1. ตลาดน้ำมันโลก
ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ในเดือนสิงหาคม 2548 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 56.60 และ63.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.63 และ 6.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวการก่อการร้ายโดย ลอบยิงขีปนาวุธโจมตีเรือรบสหรัฐอเมริกาที่ท่าเรือ Aqaba ประเทศจอร์แดน และความกังวลของตลาดโลกเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดเฮอริเคน ต่อมาในเดือนกันยายน 2548 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 56.41 และ 63.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 0.19 และ 0.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าว IEA ประกาศที่จะส่งน้ำมันสำรองฉุกเฉินประมาณ 2 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อแก้ปัญหาอุปทานตึงตัวในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับ โอเปคยืนยันที่จะพิจารณาเพิ่มเพดานการผลิตอีก 500,000 บาร์เรล/วัน
เดือนตุลาคม 2548 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 53.96 และ 59.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 2.45 และ 4.08 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากเฮอริเคนวิลมาอ่อนกำลังลงก่อนพัดขึ้นฝั่งในรัฐฟลอริดา และแท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเลของเม็กซิโกไม่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว
2. ตลาดน้ำมันสิงคโปร์
เดือนสิงหาคม 2548 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.20 , 72.52 และ 70.66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาซื้อขายน้ำมันดิบระหว่างวันในตลาด NYMEX และ IPE ประกอบกับอุปทานในภูมิภาคค่อนข้างตึงตัว และจากรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสหรัฐลดลง ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข่าวอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในเดือนกันยายน 2548 เพิ่มขึ้น สำหรับในเดือนกันยายน 2548 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 78.89, 77.86 และ 75.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.70, 5.34 และ 4.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดตามราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากผลกระทบของพายุเฮอริเคนแคทรีนา ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดคาดว่า Sinopec ของจีนกำลังจะประมูลซื้อน้ำมันดีเซลส่งมอบช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม 2548
เดือนตุลาคม 2548 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.10, 67.94 และ 72.62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 9.79, 9.92 และ 2.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากอินโดนีเซียชะลอการนำเข้าน้ำมันเบนซิน เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงและรัฐบาลลดเงินชดเชย โดยปรับเพิ่มราคาขายในประเทศส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง และเวียดนาม ยกเลิกการประมูลซื้อน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ประกอบกับจีนลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลเดือนพฤศจิกายน 2548 เนื่องจากราคานำเข้าสูงกว่าราคาขายในประเทศ
3. ตลาดน้ำมันไทย
เดือนสิงหาคม 2548 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 0.80 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 26.54, 25.74 และ 23.39 บาท/ลิตร ตามลำดับ และเดือนกันยายน 2548 ผู้ค้าน้ำมัน (ยกเว้น ปตท.) ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 อยู่ที่ระดับ 27.74, 26.94 และ 24.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ
เดือนตุลาคม 2548 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินลดลง 4 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 1.60 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลง 0.40 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2548 โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 26.14, 25.34 และ 23.79 บาท/ลิตร ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ข้อเสนอการปรับระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2547 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเรื่องการยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ดังนี้ 1) เห็นชอบในหลักการให้ยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว ทดแทนต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของราคาเอทานอล เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมักแก๊สโซฮอล์ทไว้ที่ระดับเดิม 2) ยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามข้อ 1) ไม่รวมถึงการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในช่วงราคาน้ำมันขาลงรัฐบาลจะเรียกเก็บเงินคืนเพื่อจ่ายเงินกู้ต่อไป 3) มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรมการค้าภายใน และ สนพ. รับไปหารือกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ที่จะนำมาผสมเอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์
2. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ในการประชุมผู้บริหารของกระทรวงพลังงานได้มีมติเห็นควรปรับลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง 0.25 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ความแตกต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และแก๊สโซฮอล์เท่ากับ 0.75 บาท/ลิตร โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป
3. กบง. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้อำนวยการ สนพ. เป็นผู้พิจารณาปรับขึ้นหรือ ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ในกรณีการเพิ่มหรือลดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง โดยการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ต้องทำให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) สามารถจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นตราสารหนี้ได้เมื่อครบกำหนดจ่าย แต่ทั้งนี้ อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และแก๊สโซฮอล์ จากเดิม 0.75 บาท/ลิตร เป็น 1.50 บาท/ลิตร ซึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2548 แต่ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป
4. เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถเก็บเงิน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ระดับเพดานสูงสุด 1.50 บาท/ลิตร ได้ และเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังลดลงอยู่ จะทำให้ภาครัฐสามารถเก็บอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นได้อีก โดยการขยายระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาเอทานอลนำเข้าอยู่ที่ระดับ 17.50 บาท/ลิตร และราคาภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 19.00 บาท/ลิตร ทำให้ผู้ค้าน้ำมันอาจต้องปรับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์กับน้ำมันเบนซิน 95 ไม่ถึง 1.50 บาท/ลิตร ได้เพื่อให้ส่วนต่างราคาอยู่ที่ระดับ 1.50 บาท/ลิตร โดยที่ภาครัฐไม่ต้องชดเชยราคาเอทานอล ดังนั้น ภาครัฐจึงควรขยายระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นอีก เพื่อทำให้ราคาของน้ำมันเบนซิน 95 สูงกว่าราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 1.50 บาท/ลิตร
5. นอกจากนี้ จากประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 75) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ได้กำหนดให้มีการเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.50 บาท/ลิตร ในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น ถ้าหากภาครัฐจะบริหารระดับราคาไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นโดยทันที ภาครัฐอาจจะใช้การเก็บอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เป็นทุนสำรองไว้ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2548 หลังจากนั้นจึงปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ลงเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องขยายระดับเพดานอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นก่อน
6. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอให้มีการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล เพิ่มขึ้นอีก 1.00 บาท/ลิตร จากระดับเพดานสูงสุด 1.50 บาท/ลิตร เป็น 2.50 บาท/ลิตร พร้อมทั้งมอบหมายให้ผู้อำนวยการ สนพ. ในฐานะเลขานุการขอ กบง. เป็นผู้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 3 - 4 พฤศจิกายน 2548 ราคาน้ำมันโลกได้ปรับตัวแนวโน้มลดลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการ สนพ. ดำเนินการปรับเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน และดีเซล เพิ่มขึ้นอีก 0.30 บาท/ลิตร โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 1.00 บาท/ลิตร จากระดับเพดานสูงสุด 1.50 บาท/ลิตร เป็น 2.50 บาท/ลิตร โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล
2. เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.30 บาท/ลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป
3. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันเอทานอล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไป
ครั้งที่ 10 - วันจันทร์ ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 5/2548 (ครั้งที่ 10)
วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2548 เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3. แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประจำปีงบประมาณ 2549 - 2553
4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มเติม)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้กล่าวขอบคุณสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสถาบันบริหารกองทุนพลังงานที่ ได้ร่วมดำเนินการให้การออกขายพันธบัตรของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประสบความสำเร็จ จนทำให้นักลงทุน ตอบรับชื่อตราสารหนี้ของกองทุนสามารถขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ตลาดโลกน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ในเดือนสิงหาคม 2548 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 56.60 และ 63.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.63 และ 6.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวการก่อการร้ายโดยลอบยิงขีปนาวุธโจมตีเรือรบสหรัฐอเมริกาที่ท่าเรือ Aqaba ประเทศจอร์แดน และข่าวโรงกลั่น Rotterdam ของคูเวตปิดฉุกเฉิน ประกอบกับตลาดกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดเฮอริเคนทำให้นักลงทุนเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX และ IPE
เดือนกันยายน 2548 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 56.54 และ 63.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ได้ปรับตัวลดลง 0.06 และ 0.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าว IEA ประกาศที่จะส่งน้ำมันสำรองฉุกเฉินประมาณ 2 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อแก้ปัญหาอุปทานตึงตัวในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป ได้จัดส่งน้ำมันเบนซินสำรองฉุกเฉินจำนวนกว่า 30 Cargoes ไปยังสหรัฐอเมริกา ประกอบกับ โอเปคยืนยันที่จะพิจารณาเพิ่มเพดานการผลิตอีก 500,000 บาร์เรล/วัน
2. ตลาดน้ำมันสิงคโปร์ เดือนสิงหาคม 2548 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ,92 และ ดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 73.20 , 72.52 และ 70.66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 8.50, 9.09 และ 5.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาซื้อขายน้ำมันดิบระหว่างวันในตลาด NYMEX และ IPE ประกอบกับอุปทานในภูมิภาคค่อนข้างตึงตัว และจากรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของสหรัฐลดลง ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ระดับสูงมากในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้นจากข่าวอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในเดือนกันยายน 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เนื่องจากโรงกลั่นจะปิดซ่อมบำรุง
เดือนกันยายน 2548 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ,92 และ ดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 79.40, 78.39 และ 75.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.21 , 5.87 และ 4.79 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตามราคาน้ำมันเบนซินในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากผลกระทบของพายุเฮอริเคน แคทรีนา ทำให้นักลงทุนในสิงคโปร์นำน้ำมันเบนซินไปขายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้นจากตลาดคาดว่า Sinopec ของจีนกำลังจะประมูลซื้อน้ำมันดีเซลส่งมอบช่วงครึ่งหลัง ของเดือนตุลาคม 2548 ประกอบกับข่าวอินเดียยกเลิกการประมูลขายน้ำมันดีเซลส่งมอบเดือนตุลาคม 2548 เนื่องจากราคาเสนอซื้อต่ำ
3. ตลาดน้ำมันไทย เดือนสิงหาคม 2548 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 0.80 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และ ดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 26.54, 25.74 และ 23.39 บาท/ลิตร ตามลำดับ เดือนกันยายน ผู้ค้าน้ำมัน(ยกเว้น ปตท.) ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร ส่วน ปตท. ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3 ครั้งๆละ 0.40 บาท/ลิตร และปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 2 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และ ดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 อยู่ที่ระดับ 27.74, 26.94 และ 24.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ชำระหนี้ชดเชยตรึงราคาน้ำมันไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 77,623 ล้านบาท ใช้เงินจากกองทุนฯ จำนวน 6,623 ล้านบาท และจากเงินกู้ 71,000 ล้านบาท และมีหนี้ชดเชยราคาน้ำมันค้างชำระสะสมประมาณ 2,600 ล้านบาท
2. ปัจจุบันกองทุนฯ มีหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันจำนวน 49,000 ล้านบาท และหนี้ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันจำนวน 22,000 ล้านบาท และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) ได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วประมาณ 1,183 ล้านบาท
3. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2548 มียอดเงินคงเหลือประมาณ 1,303 ล้านบาท หนี้เงินกู้ 71,000 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว 9,291 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 2,600 ล้านบาท และหนี้กรณีอื่นๆ 159 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ ติดลบประมาณ 81,934 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประจำปีงบประมาณ 2549 - 2553
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 อนุมัติให้เพิ่มเติมกฎเกณฑ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารกองทุนฯ สามารถนำเงินจากกองทุนฯ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ ได้ และต่อมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ออกคำสั่งที่ 3/2546 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุน น้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. เนื่องจากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพ.) กำลังจะออกตราสารหนี้ โดยไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันทำให้นักลงทุนอาจขาดความมั่นใจในตราสารหนี้/พันธบัตรของ สบพ. ดังนั้น ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการอนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้สนับสนุนโครงการศึกษาและวิจัยต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้สำหรับโครงการศึกษาและวิจัยที่ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนไปแล้ว และมีการผูกพันไปยังงบประมาณปีถัดไปให้ดำเนินการต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลา ของโครงการ และมอบหมายให้ สนพ. สบพ. รับไปดำเนินการจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ระยะ 5 ปี เพื่อใช้แสดงต่อผู้ลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่นในตราสารหนี้/พันธบัตรของกองทุนฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
3. ในปีงบประมาณ 2548 กองทุนน้ำมันฯ ได้จัดสรรเงินสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สป.พน. สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) พร้อมทั้งอนุมัติเงินสนับสนุนในโครงการศึกษาวิจัยต่างๆ ให้กับหน่วยงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 518,668,574.86 บาท และหน่วยงานต่างๆ ได้เบิกไปใช้แล้วเป็นเงิน 400,434,030.45 บาท ปัจจุบันมีเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอยู่ประมาณ 118,234,544.41 บาท
4. คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 ได้อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ ปีละ 80 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินกองกลางและสำรอง เมื่อมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเกิดขึ้น โดยทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารของกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงปี 2549 - 2553 (5 ปี) ของทุกหน่วยงาน จะประมาณ 376.1534 ล้านบาท และเงินสำรองอีก 5 ปี รวมเป็นเงินงบประมาณในแผนการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงในช่วงปี 2549 - 2553 จำนวน 776.154 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 1.0603 ของรายได้สุทธิของกองทุนน้ำมันฯ
มติของที่ประชุม
1. อนุมัติค่าใช้จ่ายในการบริหารของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปี 2549 - 2553 (5 ปี) ของทุก หน่วยงานในวงเงิน 376.1534 ล้านบาท
2. อนุมัติงบประมาณสำรองปีละ 80 ล้านบาท ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงปี 2549 - 2553 (5 ปี) ของหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 400 ล้านบาท ทั้งนี้ การขออนุมัติใช้จ่ายเงินงบสำรองในแต่ ละครั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ก่อน
เรื่องที่ 4 การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เพิ่มเติม)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 ได้มีมติเห็นชอบ ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ โดยตรง และต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 กบง. ได้ออกคำสั่ง ที่ 3/2546 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงานที่ปลัดกระทรวงพลังงานมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ และมีคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 คน
2. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน รับความเห็นของ สศช. ไปดำเนินการในประเด็นที่ให้ สบพ. จัดทำประมาณการกระแสเงินสดล่วงหน้าใหม่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขในการชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินกรณีที่มีการระดมทุนด้วยการกู้เงินแทนการออกพันธบัตร และจะต้องประมาณการเผื่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เนื่องจากใช้อัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวของธนาคารพาณิชย์ และเปรียบเทียบต้นทุนในระยะเวลาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินกับการออกตราสารหนี้ ในกรณีอัตราดอกเบี้ยต่างๆ กัน เพื่อปรับทางเลือกในการบริหารเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานประสานหารือกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดในการดำเนินการออกพันธบัตร หรือการกู้เงินจากสถาบันการเงินในแต่ละครั้งด้วย
3. จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องการให้มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง มาช่วยดูแลบริหารหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ในการพิจารณาใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันฯ แต่ถ้าให้คณะอนุกรรมการฯ ดูแลเกี่ยวกับการบริหารหนี้สินของกองทุนฯ จึงจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับ คณะอนุกรรมการฯ
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม คือ ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือผู้แทน) พร้อมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการออกตราสารหนี้/พันธบัตรของ สบพ.
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้มีการแก้ไขคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ 3/2546 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเพิ่มเติมผู้แทนจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ได้มีมติเรื่อง การขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเห็นชอบให้ สบพ. แก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 ให้เป็นไปตามร่างระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ตามที่ สบพ. เสนอ และ ขณะนี้ สบพ. อยู่ระหว่างการออกตราสารหนี้ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงระเบียบดังกล่าวใหม่เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
2. จากการดำเนินการเพื่อรองรับการออกตราสารหนี้ของ สบพ. ที่ผ่านมา ทำให้มีความจำเป็นต้องขอแก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานใน 5 กรณี คือ
2.1 คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ได้มีมติเรื่อง การขอกู้เงินของ สบพ. โดยให้ สบพ. จัดหาเงินกู้ได้ทั้งการออกตราสารหนี้และการกู้จากสถาบันการเงิน จากร่างระเบียบกระทรวงพลังงานฯ (เดิม) ที่ กบง. อนุมัติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ได้ระบุให้นำเงินในบัญชีต่างๆ ไปชำระหนี้ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้เท่านั้น สบพ. ขอเปลี่ยนชื่อบัญชีและเพิ่มวัตถุประสงค์การใช้เงินในบัญชีต่างๆ ให้สามารถนำไปชำระหนี้ต่างๆ ของ สบพ. ได้อย่างครบถ้วน
2.2 เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน จึงได้มีการจำกัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ประมาณ 120 ล้านบาท/ปี ในข้อกำหนดสิทธิระหว่าง สบพ. กับผู้ถือตราสารหนี้ โดย สบพ. ขอเปิดบัญชีเพิ่มเติมเพื่อเก็บรักษาเงินที่มีไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแยกออกจากรายรับที่สะสมไว้เพื่อชำระหนี้ของ สบพ.
2.3 ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถชำระภาษีสรรพสามิตและส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ กรมสรรพสามิตจึงขอให้ สบพ. ดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานฯ โดยขอให้ สบพ. สามารถเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อรับโอนเงินจากส่วนราชการที่รับเงินจากผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายกับสถาบัน การเงินอื่นได้ ที่ไม่ใช่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขในข้อกำหนดสิทธิระหว่าง สบพ. กับผู้ถือตราสารหนี้ของ สบพ. ดังนั้น สบพ. จึงขอเปิดบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี เพื่อรับเงินส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยผ่านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากที่รับเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม คือ บัญชี "กองทุนน้มันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" อีกทอดหนึ่ง
2.4 จากเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2547 กบง. ได้มีมติเรื่อง การขออนุมัติเงินทดรองจ่ายเพื่อจ่ายเงินชดเชยที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ให้ยกเลิกเงินทดรองจ่ายเพื่อจ่ายเงินชดเชยและเงินรับคืนกองทุนน้ำมันฯ โดยให้ สบพ. เป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนโดยตรง และให้แก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานฯ ซึ่งปัจจุบัน สบพ. ไม่ได้เบิกเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อทดรองจ่ายให้กรมสรรพสามิตและ กรมศุลกากรแล้ว สบพ. จึงขอแก้ไขยกเลิกเงินทดรองจ่ายที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ในระหว่างที่ สบพ. ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนโดยตรง และขอให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปพลางก่อน
2.5 นอกจากนี้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องแสดงรายงานงบการเงินรายไตรมาสต่อ ก.ล.ต. ภายใน 45 วัน ซึ่งการออกตรา สารหนี้ของ สบพ. ต้องรายงานงบการเงินทั้งของ สบพ. และกองทุนน้ำมันฯ รายไตรมาสต่อ ก.ล.ต. แต่ระเบียบกระทรวงพลังงานฯ กำหนดให้หน่วยงานที่ได้รับเงินจากกองทุนฯ ปิดบัญชีเงินฝากและส่งเงินคงเหลือพร้อมทั้งดอกผลหรือรายรับอื่นใดทั้งหมดให้กองทุนฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่การดำเนินงานสิ้นสุด และให้ทำรายงานสรุปรับ - จ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประจำเดือนส่งให้ สบพ. ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ซึ่งการกำหนดช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ สบพ. ไม่สามารถรายงานงบการเงินของกองทุนฯ ให้ ก.ล.ต. ได้ทันตามกำหนดเวลา จึงขอแก้ไขระยะเวลาการทำงบการเงินให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.
3. สบพ. จึงขอเสนอให้แก้ไขร่างระเบียบกระทรวงพลังงานฯ (เดิม) ดังนี้
3.1 หมวดที่ 1 การเก็บรักษาเงินและการนำส่งเงิน ขอแก้ไขเป็น
"ข้อ 5 ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามประเภทที่ ได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงพลังงาน ดังนี้
(1) บัญชีเงินฝากชื่อ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (e-banking)" เพื่อรับโอนเงินจากส่วนราชการ ที่รับเงินจากผู้ที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย
(2) บัญชีเงินฝากชื่อ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" เพื่อรับโอนเงินจากส่วนราชการที่รับเงินจากผู้ที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย และรับโอนเงินเงินจากบัญชี "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (e-banking)"
(3) บัญชีเงินฝากชื่อ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (งบค่าใช้จ่ายดำเนินการ)" เพื่อรับโอนเงิน จากบัญชี "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" และจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ
(4) บัญชีเงินฝากชื่อ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เงินคงเหลือเพื่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุน)" สำหรับรับโอนเงินจากบัญชี "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" และเก็บรักษาไว้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุน
(5) บัญชีเงินฝากชื่อ "สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (เงินกู้ยืม)" เพื่อรับเงินที่สถาบันบริหารกองทุนพลังงานจัดหามาชำระหนี้ จ่ายดอกเบี้ย และเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุน
(6) บัญชีเงินฝากชื่อ "สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (เงินสะสมเพื่อการชำระหนี้)" เพื่อเก็บรักษาเงินที่จะสะสมไว้ใช้ชำระหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานเมื่อครบกำหนด
(7) บัญชีเงินฝากชื่อ "สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (เงินสะสมสำรองเพื่อการชำระหนี้)" เพื่อเก็บรักษาเงินที่จะสะสมสำรองไว้ใช้ชำระหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงานที่ครบกำหนด แต่เงินในบัญชี "สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (เงินสะสมเพื่อการชำระหนี้)" มีไม่เพียงพอ
หากบัญชีเงินฝากใดหมดความจำเป็นต้องใช้แล้วให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานปิดบัญชีเงินฝากนั้น
ข้อ 6 ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานโอนเงินจากบัญชีเงินฝากข้อ 5 (1) เข้าบัญชีเงินฝากข้อ 5 (2) ทุกวันทำการสุดท้ายของทุกๆ สัปดาห์
ข้อ 7 ให้ส่วนราชการที่ได้รับเงินจากผู้ที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมาย ส่งเงินเข้าบัญชีเงินฝากข้อ 5 (1) หรือ 5 (2) ภายในวันที่ได้รับเงินหรืออย่างช้าภายในสองวันทำการนับแต่วันที่ได้รับเงิน
3.2 หมวดที่ 3 การจ่ายเงินชดเชยและการจ่ายคืน ขอแก้ไขเป็น
ข้อ 10 ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนจากกองทุนดำเนินการดังนี้
(1) ยื่นคำขอรับชดเชยหรือคำขอรับคืนต่อส่วนราชการ
(2) ให้ส่วนราชการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของเอกสารและหลักฐานต่างๆ ของ ผู้มีสิทธิไดรับชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนก่อนแจ้งจำนวนเงินรับชดเชยหรือเงินรับคืนจากกองทุนต่อสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน
(3) ให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานจ่ายเงินให้ส่วนราชการเพื่อนำไปจ่ายให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืน หรือพิจารณาสั่งจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนโดยตรงต่อไป
3.3 หมวดที่ 4 การขอเบิกเงิน ข้อแก้ไขเป็น
ข้อ 15 เมื่อการดำเนินงานสิ้นสุด ให้ส่วนราชการและสถาบันบริหารกองทุนพลังงานที่ได้รับเงินจากกองทุนปิดบัญชีเงินฝากสถาบันการเงินและส่งเงินคงเหลือพร้อมทั้งดอกผลหรือรายรับอื่นใดทั้งหมดให้กองทุนภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการดำเนินงาน
3.4 หมวดที่ 5 การบัญชีการรายงาน ขอแก้ไขเป็น
ข้อ 17 ให้ส่วนราชการและสถาบันบริหารกองทุนพลังงานถือปฏิบัติตามระบบบัญชีส่วนราชการโดยอนุโลมและจัดทำรายงานสรุปการรับ - จ่ายเงินกองทุนประจำเดือน แยกตามประเภทการจ่าย ส่งสถาบันบริหารกองทุนพลังงานภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยให้รวบรวมและเก็บรักษาใบสำคัญคู่จ่ายและเอกสารอื่นไว้ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... (เดิม) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 โดยทั้งนี้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปพิจารณารายละเอียดการแก้ไขระเบียบดังกล่าว
2. เห็นชอบให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้จ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (แล้วแต่กรณี) ไปพลางก่อนในระหว่างที่ สบพ. ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยหรือผู้มีสิทธิได้รับเงินคืนโดยตรง
ครั้งที่ 9 - วันพฤหัสบดี ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2548 (ครั้งที่ 9)
วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เวลา 15.30 น.
ณ ห้องประชุม 603 ชั้น 6 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. ขอทบทวนมติการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
4. ข้อหารือในการออกตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ตลาดน้ำมันโลก ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 52.12 และ 57.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลงจากเดือนที่แล้ว 0.17 และ 0.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจาก Hedge Fund เข้าซื้อในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX และ IPE และพายุ Cindy พัด เข้าเขตอ่าวเม็กซิโก ทำให้โรงกลั่น 5 แห่งต้องปิดชั่วคราว ประกอบกับข่าวประชาชนในอิรักประท้วงรัฐบาล และ ขู่จะหยุดผลิตน้ำมันทางตอนใต้ของอิรัก ตลอดจนจากตลาดคาดว่าความต้องการซื้อน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา ยังคงอยู่ในระดับสูง
2. ตลาดน้ำมันสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 65.45 และ 64.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 0.10 และ 0.05 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการซื้อในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับข่าวโรงกลั่น Deer Park (274,000 บาร์เรล/วัน) ของ Shell ในสหรัฐอเมริกาต้องเลื่อนการเดินเครื่อง เป็นครั้งที่ 3 และจาก IES ประกาศปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ลดลง 0.16 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 9.24 ล้านบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันดีเซล หมุนเร็วเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 66.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จาก Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล จำนวน 2 Cargo ปริมาณรวมประมาณ 400,000 บาร์เรล
3. ตลาดน้ำมันไทย ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง รวมเป็น 0.80 บาท/ลิตร โดยปรับตามหลังตลาดโลก และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ยกเว้น ปตท.) เพิ่มขึ้น 4 ครั้ง และลดลง 1 ครั้ง รวมเป็น 1.60 บาท/ลิตร ส่วน ปตท. ปรับราคาดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 4 ครั้ง รวมเป็น 2.00 บาท/ลิตร โดยราคา ขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 25.74, 24.94 และ 22.99 บาท/ลิตร ตามลำดับ ทั้งนี้ นับแต่เริ่มดำเนินการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 12 กรกฎาคม 2548 กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายเงินอุดหนุนตรึงราคาน้ำมันไปแล้วรวมประมาณ 92,071 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 13 มิถุนายน 2548 รัฐได้ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซล มีผลทำให้หนี้ตรึงราคาน้ำมันจะ ไม่เพิ่มขึ้นอีก
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ขอทบทวนมติการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ได้มีมติเห็นชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้จำกัดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียม (LPG) สูงสุด เพื่อยุติการไหลออกของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและให้กองทุนน้ำมันฯ จะสามารถชำระหนี้ได้หมดภายในปี 2547 โดยกำหนดให้ (1) เดือนกรกฎาคม 2546 จำกัดอัตราชดเชยไม่เกิน 3 บาท/กก. ซึ่งเป็นระดับไม่สูงกว่ารายได้ของกองทุนน้ำมัน (2) เดือนกรกฎาคม 2547 จำกัดอัตราชดเชยไม่เกิน 2 บาท/กก. และ (3) เดือนกรกฎาคม 2548 ให้ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ซึ่งต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2547 กบง. ได้มีมติให้กำหนดอัตราเงินชดเชยสูงกว่าเพดานสูงสุด 3 บาท/กก. ได้เป็นการชั่วคราว โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจกำหนดอัตราเงินชดเชยก๊าซ LPG เกินกว่าอัตราเงินชดเชยสูงสุดได้ตามความเหมาะสมแก่สถานการณ์
2. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบให้กำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 3 บาท/กก. ได้มีผลบังคับใช้ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 โดยอัตราเงินชดเชยจริงสูงสุดเท่ากับ 3.0711 บาท/กก. และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548 ได้เห็นชอบให้กำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. มีผลบังคับใช้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 โดยอัตราเงินชดเชยจริงสูงสุดเท่ากับ 2.2816 บาท/กก. และต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการกำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2548
3. การตรึงราคาก๊าซ LPG ได้กำหนดระยะเวลาไม่เกินเดือนกรกฎาคม 2548 ทั้งนี้ต่อมารัฐบาลมีนโยบายให้มีการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ภายในปี 2548 เนื่องจากรัฐบาลได้มีการประกาศ ลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล และหากดำเนินการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซ LPG จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ราคาสินค้าและอัตราค่าขนส่ง และประชาชน และปัจจุบันอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG อยู่ที่ระดับ 3.1554 บาท/กก. ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดอัตราเงินชดเชยสูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. แต่ได้รับการผ่อนผันจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 ซึ่งการจ่ายเงินชดเชยราคา LPG คาดว่าจะมีแนวโน้มเกิน 3 บาท/กก. เนื่องจากครึ่งปีหลังความต้องการก๊าซ LPG เพื่อความอบอุ่นจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการกำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. ต่อไปอีกจนถึงสิ้นปี 2548 พร้อมทั้งขอให้มีการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG ภายในปี 2548 ด้วย
มติของที่ประชุม
เห็นควรอนุมัติขยายระยะเวลาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
1. ให้ขยายระยะเวลาการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นภายในปี 2548
2. ให้ขยายระยะเวลาการกำหนดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงกว่าระดับเพดานอัตราเงินชดเชยสูงสุด 2 บาท/กก. จากเดือนกรกฎาคม 2548 เป็นภายในปี 2548
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 กบง. ได้อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจ่ายเป็นเงินชดเชยใน โครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง ในวงเงิน 94,254,060.54 บาท โดยจ่ายให้แก่บริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 58,775,024.94 บาท สำหรับการชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 และจ่ายให้แก่บริษัท อัลลายแอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เป็นจำนวนเงินรวม 35,479,035.62 บาท เพื่อจ่ายชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเหลืองเป็นน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548
2. ต่อมาสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพ.) และกรมสรรพสามิต ได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินชดเชยในโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องให้กับบริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด แล้ว แต่สำหรับบริษัท อัลลายแอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด บริษัทขอรับเงินในนามของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ซึ่ง สบพ. ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ได้ เนื่องจาก กบง. ไม่ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติจ่ายเงินให้กับบริษัทดังกล่าว
3. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขมติ กบง. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 เรื่องดังกล่าวในข้อ 2.2 ใหม่ โดยเปลี่ยนข้อความเป็น “…สำหรับการชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2547 และจ่ายให้แก่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เป็นจำนวนเงินรวม 35,479,035.60 (สามสิบห้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสามสิบห้าบาท หกสิบสตางค์) เพื่อจ่ายชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเหลืองเป็นน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548…"
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 1/2548 (ครั้งที่ 6) เรื่อง การชดเชยราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ในข้อ 2 เป็นดังนี้
"2. เห็นชอบอนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจ่ายเป็นเงินชดเชยในโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง ในวงเงิน 94,254,060,54 บาท (เก้าสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นสี่พันหกสิบบาทห้าสิบสี่สตางค์) โดยจ่ายให้แก่บริษัท น้ำมัน ทีพีไอ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 58,775,024.94 บาท (ห้าสิบแปดล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันยี่สิบสี่บาทเก้าสิบสี่สตางค์) สำหรับการชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเขียว ตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 และจ่ายให้แก่บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เป็นจำนวนเงินรวม 35,479,035.62 บาท (สามสิบห้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสามสิบห้าบาทหกสิบสองสตางค์) เพื่อจ่าย ชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเหลืองเป็นน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 โดยทั้งนี้ จำนวนเงินดังกล่าว เป็นการจ่ายจากกองทุนฯ ให้กับชาวประมงก่อนและจะเรียกเก็บเงินคืนเข้ากองทุนฯ เมื่อราคาน้ำมันเขียวลดต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบกไปจนกว่าจะเรียกเก็บคืนได้หมดตามจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยไป"
เรื่องที่ 4 ข้อหารือในการออกตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
1. ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) ได้นำเสนอประเด็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนของการออกตราสารหนี้ของ สบพ. เนื่องจาก กบง. ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ได้อนุมัติให้ สบพ. เปิดบัญชีสำหรับการออกตราสารหนี้ได้ 3 บัญชี ซึ่ง สบพ. ได้ดำเนินการแล้ว นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯ ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารกองทุนฯ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดสรรเงินให้กับงานบริหารของ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ สนพ. เป็นต้น และโครงการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ขอเงินสนับสนุนมาตลอดปี โดยไม่มีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ ชัดเจนหรือโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ขณะนี้เมื่อจะออกตราสารหนี้ความจำเป็นในเรื่องรายรับ - รายจ่ายของกองทุนฯ ต้องมีความชัดเจนและมีจำนวนที่แน่นอน เพื่อแสดงให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ ดังนั้น สบพ. จึงขอเสนอให้กันเงินจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ และโครงการศึกษาและวิจัยด้านพลังงานของหน่วยงานต่างๆ พร้อมนี้ ผู้อำนวยการ สนพ. ได้เสนอขอเงินสนับสนุนที่จะกันไว้ดังกล่าวให้กับโครงการเกี่ยวกับ NGV ด้วย
2. ประธานฯ ได้มีข้อคิดเห็นว่า ไม่ควรนำเงินกองทุนฯ มาใช้สนับสนุนโครงการ NGV เนื่องจากจะทำให้ผู้ลงทุนไม่มีความมั่นใจในฐานะกองทุนฯ ที่มีค่าใช้จ่ายแบบไม่มีหลักเกณฑ์ จึงเห็นควรให้นำเสนอโครงการ NGV เสนอขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องมากกว่า สำหรับในกรณี การกันเงินกองทุนฯ เพื่อการบริหารกองทุนฯ จำนวน 100 ล้านบาท อาจจะมากเกินไป ควรตัดส่วนที่ เป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการศึกษาและวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่มีจำนวนไม่จำกัดออก โดยให้ยุติการให้เงินสนับสนุนโครงการศึกษาและวิจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพื่อให้กระแสการเงินของกองทุนฯ มีความ แน่นอนและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมอบหมายให้ สบพ. จัดทำแผนการใช้จ่ายเงินของงบบริหารของกองทุนฯ จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเสนอที่ประชุมต่อไป
3. นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สบพ. ได้ขอหารือในประเด็นการออกตราสารหนี้ของ สบพ. โดยไม่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันจึงไม่มีผู้รับผิดชอบหนี้ของกองทุนฯ ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้เมื่อกองทุนฯ ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ โดย สบพ. ได้มีหนังสือขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหนังสือรับรองสภาพคล่องของตราสารหนี้กองทุนฯ แล้ว ขณะเดียวกัน สบพ. ไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนจึงทำให้ผู้ลงทุนขาดความมั่นใจในตราสารหนี้ของ สบพ. ทำให้การขายตราสารหนี้ของ สบพ. ทำได้ยาก
4. ประธานฯ ได้เสนอความเห็นว่า สบพ. ควรจะจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายของกองทุน (Clash - flow) ให้ชัดเจน โดยจัดทำเป็นแผน 5 ปี พร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้ลงทุนทราบนโยบายด้านราคาพลังงานและการกำหนดอัตราเงินกองทุนฯ ส่งเข้า ที่มี กบง. และ กพช. เป็นผู้กำหนด และฝ่ายเลขานุการฯ ได้รับที่จะเจรจาหารือร่วมกับ สบพ. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ สำหรับใช้ชี้แจงแก่นักลงทุน ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยุติการอนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้สนับสนุนโครงการศึกษาและวิจัยต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้สำหรับโครงการศึกษาและวิจัยที่ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ไปแล้วและมีความผูกพันไปยังงบประมาณปีถัดไปให้ดำเนินการต่อไปจนสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ
2. มอบหมายให้ สนพ. และ สบพ. รับไปดำเนินการจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ระยะ 5 ปี เพื่อใช้แสดงต่อผู้ลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ของกองทุนฯ และนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
ครั้งที่ 8 - วันพุธ ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/2548 (ครั้งที่ 8)
วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 603 ชั้น 6 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
ปลัดกระทรวงพลังงาน (นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์) ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการฯ ติดประชุมที่รัฐสภา จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ แทน
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.54 และ 5.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อภายหลังมีข่าวกลุ่มมุสลิมขู่โจมตี สถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไนจีเรีย และจากข่าวสหภาพแรงงานของบริษัท Statoil ขู่หยุดงานประท้วง ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังการผลิตของ Statoil ประมาณ 920,000 บาร์เรล/วัน ประกอบกับตลาดกังวลว่าอุปทาน น้ำมันเบนซินในสหรัฐอเมริกา อาจตึงตัวหลังจากมีข่าวโรงกลั่น ExxonMobil ต้องหยุดดำเนินการหน่วย Fluid Catalytic Cracker (208,000 บาร์เรล/วัน) เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 28 มิถุนายน อยู่ที่ระดับ 54.02 และ 58.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.95 และ 4.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันเบนซินในตลาด NYMEX หลังจากมีข่าวโรงกลั่น ExxonMobil ในสหรัฐอเมริกา ต้องหยุดดำเนินการ ส่งผลให้ตลาดคาดว่า Arbitrage จากเอเซียไปขายในตะวันตกสามารถทำได้ ประกอบกับความต้องการซื้อน้ำมันเบนซินในภูมิภาคมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โรงกลั่นในไต้หวันและเกาหลีอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปี ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากที่คาดว่า อุปทานจากตะวันออกกลางจะลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วง Peak Demand ในหน้าร้อนประกอบกับความต้องการซื้อในภูมิภาคเอเซีย เช่น จีน อินเดีย และเวียดนามยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 63.10, 61.30 และ 69.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 5 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 2.00 บาท/ลิตร ในเดือนมิถุนายน และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ยกเว้น ปตท.) เพิ่มขึ้น 6 ครั้ง รวมเป็น 2.40 บาท/ลิตร โดยที่ ปตท. ปรับราคาดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 5 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 2.00 บาท/ลิตร ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว (ยกเว้น ปตท.) ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 24.54, 23.74 และ 20.99 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของ ปตท. อยู่ที่ระดับ 20.59 บาท/ลิตร ทั้งนี้นับแต่เริ่มดำเนินการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 24 มิถุนายน 2548 กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายเงินอุดหนุนตรึงราคาน้ำมันไปแล้วรวมประมาณ 90,657 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการปรับข้อมูลด้านพลังงานให้ถูกต้องและเป็นชุดเดียวกันก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชนต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. จากวิธีปฏิบัติเดิม ตามความในข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 11 และข้อ 11 แห่งคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ให้ผู้ผลิตและนำเข้ามันเชื้อเพลิงส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและขอรับเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยแยกวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และขอรับเงินชดเชยออกจากกัน ให้เป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพสามิตและ กรมศุลกากร คือ 1) กรมสรรพสามิต ผู้ผลิตส่งเงินเข้ากองทุนฯ พร้อมกับการชำระภาษีสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใน 10 วัน นับจากวันที่นำน้ำมันออกจากโรงกลั่น และ 2) กรมศุลกากร ผู้นำเข้าส่งเงินเข้ากองทุนฯ พร้อมกับการชำระค่าภาษีอากรสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อนวันนำเข้า โดยที่กองทุนฯ จะจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นงวดๆ ในแต่ละเดือน เช่น ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเชื้อเพลิงขอรับเงินชดเชยงวดวันที่ 10 - 31 มีนาคม และจะได้รับการจ่ายเงินชดเชยคืนภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 ซึ่งทำให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องรับภาระเงินชดเชย
2. ในปัจจุบันวิธีปฏิบัติจะทำตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2547 เรื่อง การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับการชดเชยลดราคาน้ำมันผ่านกระบวนการเรียกเก็บเงินกองทุนฯ โดยให้รับการชดเชยด้วยวิธีการหักลบกันระหว่างอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ กับอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดและจำนวนเดียวกัน ทั้งนี้ การขอรับเงิน ชดเชยและการส่งเงินเข้ากองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรที่ได้ปฏิบัติในปัจจุบัน โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นไป
3. ในการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง การชี้แจงนโยบายการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และแนวทางการดำเนินการหลังการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) เสนอให้เปลี่ยนวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และการขอรับเงินชดเชยจากวิธีการหักลบกันระหว่างอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ กับอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดและจำนวนเดียวกัน เป็นการแยกอัตราเงินส่งเข้ากองทุนและอัตราเงินชดเชยออกจากกัน เพื่อให้มีเงินสดไหลเข้ามาในบัญชีกองทุนฯ ตามรายรับจากเงินส่งเข้ากองทุนที่เกิดขึ้นจริง และ สบพ. สามารถบันทึกบัญชีกองทุนได้ถูกต้องครบถ้วน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า สบพ. สามารถจ่ายดอกเบี้ยและไถ่ถอนตราสารหนี้ได้เมื่อครบกำหนด
4. ปัจจุบันรัฐบาลได้ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ทำให้ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยที่ผันแปรกับราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ยังคงมีอัตราชดเชยคงที่สำหรับน้ำมันดีเซล ซึ่งจะลดลงจนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2548 และต้องกลับไปใช้ระบบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และการขอรับเงินชดเชยแบบเดิม จึงขอเสนอให้ยกเลิกระบบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และการขอรับเงินชดเชยตามข้อ 2 และกลับไปใช้ระบบการส่งเงินเข้ากองทุนและการขอรับเงินชดเชยตามข้อ 1 ให้เหมือนกับวิธีปฏิบัติเดิมซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการทั่วไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกระบบการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการขอรับเงินชดเชย โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับการชดเชยลดราคาน้ำมันผ่านกระบวนการเรียกเก็บเงินกองทุนฯ โดยให้รับการชดเชยด้วยวิธีการหักลบกันระหว่างอัตราเงินส่งเข้ากองทุนกับอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดและจำนวนเดียวกัน และให้กลับไปใช้ระบบการส่งเงินเข้ากองทุนและการขอรับเงินชดเชยตามความในข้อ 8, 9, 10 และ 11 แห่งคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมัน เชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยให้ผู้ผลิตและนำเข้ามันเชื้อเพลิงส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและขอรับเงินชดเชยสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง แยกวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนฯ และขอรับเงินชดเชยออกจากกัน ทั้งนี้การขอรับเงินชดเชยและการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้เป็นไปตามระเบียบกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
เรื่องที่ 3 ขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติม
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ เห็นชอบให้ "สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 ให้เป็นไปตามร่างระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.... ตามที่ สบพ. เสนอ ทั้งนี้ ต้องระบุวัตถุประสงค์การแก้ไขระเบียบ ดังกล่าวให้ชัดเจน"
2. โดยการขอแก้ไขร่างระเบียบกระทรวงพลังงานฯ ดังกล่าว สบพ. ได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ตามประเภทที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานเพิ่มขึ้น 2 บัญชี จึงทำให้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเป็น 3 บัญชี ได้แก่ 1) บัญชีเงินฝากชื่อ "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" เพื่อรับโอนเงินจากส่วนราชการที่รับเงินจากผู้ที่มีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ตามกฎหมาย 2) บัญชี เงินฝากออมทรัพย์ ชื่อ "เงินตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" สำหรับเก็บรักษาเงินที่ได้รับจากการขายตราสารหนี้ เพื่อนำไปจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดให้กับผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย หรือผู้มีสิทธิได้รับคืน จากกองทุนฯ และค่าใช้จ่ายในการออกตราสารหนี้ ตลอดจนจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยตราสารหนี้ และ 3) บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อ "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" สำหรับรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝาก "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" และ "เงินตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" เพื่อเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้จ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดจ่ายและไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนตามข้อกำหนดสิทธิ
3. ตามที่ สบพ. ขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ 3 เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่ากระแสเงินของกองทุนน้ำมันฯ จะมีการบริหารจัดการเป็นไปอย่างชัดเจน โดยให้มีการจัดสรรรายรับของกองทุนน้ำมันฯ ส่วนหนึ่งสะสมไว้สำหรับจ่ายดอกเบี้ยและ/หรือไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดแยกออกจากค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ของกองทุนน้ำมันฯ
4. จากการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะออกเสนอขายตราสารหนี้พบว่า นักลงทุนยังคงมีความกังวลประเด็นที่ว่า สบพ. อาจไม่สามารถสะสมเงินไว้ในบัญชีได้ครบถ้วน เมื่อครบกำหนดเวลาจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวดและ/หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ของ สบพ. อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจจะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของ สบพ. ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ และทำให้ตราสารหนี้ของ สบพ. ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากเท่าที่ควร ซึ่งทำให้ต้นทุนด้านดอกเบี้ยตราสารหนี้ของ สบพ. จะสูงกว่าที่ควรจะเป็น
5. เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า สบพ. จะมีเงินครบถ้วนเพื่อจ่ายดอกเบี้ยและ/หรือไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดเวลา สบพ. จึงเห็นควรให้มีการสะสมเงินจำนวนหนึ่ง (ประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนเงินต้นรวมของพันธบัตรที่ออกไปแล้วในแต่ละช่วง) เพื่อสำรองไว้สำหรับจ่ายดอกเบี้ยและ/หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ ในกรณีที่ครบกำหนดเวลาจ่ายดอกเบี้ยและ/หรือไถ่ถอนตราสารหนี้ แต่เงินในบัญชีเงินไถ่ถอนตราสารหนี้มีไม่เพียงพอ โดยขอแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 เพื่ออนุญาตให้ สบพ. เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มเติม 1 บัญชี จากที่ขอเพิ่มเติมที่ได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 เป็นบัญชีที่ 4 คือ (4) บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อ "เงินสะสมสำรองเพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" สำหรับโอนเงินจากบัญชีเงินฝาก "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กระทรวงพลังงาน)" และ "เงินตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" เพื่อเก็บรักษาเงินดังกล่าว ไว้จ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดจ่าย และไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนตามข้อกำหนดสิทธิในกรณีที่ครบกำหนดจ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้และ/หรือครบกำหนดเวลาไถ่ถอนตราสารหนี้ตามข้อกำหนดสิทธิแล้ว แต่เงินในบัญชีที่ 3 มีไม่เพียงพอ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้ สบพ. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 โดยให้ สบพ. เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ชื่อ "เงินสะสมสำรองเพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" เพิ่มขึ้น 1 บัญชี นอกเหนือจากที่ กบง.ได้อนุมัติให้แก้ไขร่างระเบียบกระทรวงพลังงานดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 เพื่อให้การบริหารตราสารหนี้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
2. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนตราสารหนี้ของ สบพ. ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน และให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติทั่วไป จึงเห็นชอบให้ผู้จัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำสัญญาข้อตกลงกับผู้แทนผู้ถือ ตราสารหนี้ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถือตราสารหนี้เมื่อกองทุนน้ำมันฯ ผิดสัญญา เช่น สามารถระงับการจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ชื่อ "เงินสะสมสำรองเพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" และบัญชีเงินฝากชื่อ "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" เพื่อประโยชน์ของผู้ถือตราสารหนี้ เป็นต้น
ครั้งที่ 7 - วันพฤหัสบดี ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2548 (ครั้งที่ 7)
วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การชดเชยส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์สองเดือนแรกในไตรมาส 2 ปี 2548 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 4.94 และ 3.19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 จากการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลก โดย Energy Information Administration (EIA), International Energy Agency (IEA) และโอเปคได้ปรับเพิ่ม World Oil Demand ปี 2548 อยู่ที่ระดับ 84.8 , 84.3 , และ 84.0 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ และ Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นถึง 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้กองทุน Hedge Funds เข้าซื้อสะสมระยะสั้น ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 46.35 และ 50.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์สองเดือนแรกในไตรมาส 2 ได้ปรับตัวสูงขึ้นทุกผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 4.06 และ 4.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ด้วยอุปทานที่ยังคงตึงตัวเนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุง และความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 6.32 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันเพื่อความอบอุ่น (Heating Oil) ในขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันได้ลดการส่งออกลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงและต้องเก็บสำรองไว้ใช้ในประเทศ สำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2548 น้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ก๊าด, ดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 55.23 53.90, 62.92, 61.44 และ 39.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสองเดือนแรกในไตรมาส 2 ปี 2548 ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้น 2.18 และ 3.04 บาท/ลิตร ตามลำดับ จากการที่ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาเบนซินเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง ลดลง 1 ครั้ง และรัฐบาลได้ปรับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขึ้นไว้ที่ระดับ 18.19 บาท/ลิตร ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และ ดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ระดับ 22.14 , 21.34 และ 18.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. สำหรับไตรมาส 2 ค่าการตลาดและค่าการกลั่นปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 0.1197 บาท/ลิตร และ 0.4514 บาท/ลิตร ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 มาอยู่ที่ระดับ 0.9909 บาท/ลิตร และ 1.7924 บาท/ลิตร
5. สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรท์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 43 - 45 และ 48 - 50 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 53 - 57 และ 56 - 59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากปัจจัยอุปสงค์น้ำมันโลกอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปทานค่อนข้างตึงตัวและจำกัด ตลอดจนการปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป
6. รัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล โดยที่น้ำมันดีเซลได้ปล่อยลอยตัวราคาแบบมีการจัดการ (Manage float) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป ดังนั้น ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2548 กองทุนน้ำมันฯ จึงมีภาระการจ่ายชดเชยสะสมทั้งสิ้น 80,065 ล้านบาท แยกเป็นเงินชดเชยน้ำมันเบนซินและดีเซล หมุนเร็วจำนวน 6,975 ล้านบาท และ 73,090 ล้านบาท ตามลำดับ
7. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนพฤษภาคม 2548 ปรับตัวสูงขึ้น 5.0 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 421.2 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 12.4816 บาท/กก. (เป็นระดับเพดานของก๊าซ LPG สูงสุด 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน) อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 1.8364 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 99.66 ล้านบาท/เดือน และฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2548 มีเงินสดสุทธิ 1,275 ล้านบาท หนี้สินค้างชำระ 80,065 ล้านบาท แยกเป็นภาระผูกพัน 53 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 7,655 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 140 ล้านบาท หนี้การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงช่วงวันที่ 1 เมษายน 2548 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ประมาณ 9,097 ล้านบาท หนี้เงินกู้และดอกเบี้ย 63,000 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 78,790 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การชดเชยส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยเห็นชอบในหลักการให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตของเอทานอลหน้าโรงงานและภาษีสรรพสามิต ในส่วนของเอทานอลที่เติมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตลอดไป และลดหย่อนอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งต่อมาเดือนพฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งมาตรการหนึ่งคือ มาตรการด้านราคา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณายกเว้นการเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว
2. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ได้มีมติเรื่องการยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้ยกเว้นการส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว โดยไม่รวมถึงการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายตรึงราคาน้ำมัน และมอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) กรมการค้าภายใน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับไปหารือร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ที่จะนำมาผสมเอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์
3. ต่อมากระทรวงพลังงานได้มีนโยบายที่จะกำหนดให้ส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 1.50 บาท และเมื่อเดือนเมษายน 2548 กบง. ได้มีมติให้ผู้อำนวยการ สนพ. เป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มหรือลดอัตราลดส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ในกรณีที่เพิ่มหรือลดอัตราส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง โดยการกำหนดอัตราส่งเข้ากองทุนดังกล่าวต้องทำให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) สามารถจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้น ตราสารหนี้ได้เมื่อครบกำหนดจ่าย แต่ทั้งนี้ อัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจะต้องไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร
4. ในการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปัจจุบันยังไม่มีมติของคณะกรรมการใดกำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างดังกล่าว เพื่อให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ระดับ 1.50 บาท/ลิตร จึงเห็นควรขอความเห็นชอบดังนี้
4.1 ขอความเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้อนุมัติออกประกาศชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และมอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานประกาศชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่อไป
4.2 มอบหมายให้กรมสรรพสามิตและสถาบันบริหารกองทุนพลังงานร่วมกันจัดทำระบบการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงานเป็นผู้อนุมัติออกประกาศชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และมอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเรื่อง ชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์
2. มอบหมายให้กรมสรรพสามิต และสถาบันบริหารกองทุนพลังงานร่วมกันจัดทำระบบการจ่ายงินชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์
ครั้งที่ 6 - วันศุกร์ ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2548 (ครั้งที่ 6)
วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 09.00 น.
ณ ห้องประชุม 603 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ข้อเสนอการออกและการจำหน่ายตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน
4. การชดเชยราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาะสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้น และอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 41.41 และ 47.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนส่งผลให้การผลิตและการขนส่งน้ำมันต้องหยุดชัก ประกอบกับ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2548 ที่ประชุมกลุ่มโอเปคได้มีมติให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้นจากระดับ 27 ล้านบาร์เรล/วัน เป็นที่ระดับ 27.50 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 เป็นต้นไป ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนมีนาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 45.84 และ 53.16 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์เฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 ปรับตัวสูงขึ้น 3.31 และ 3.41 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จาก ความต้องการซื้อของอินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้น 1.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อของอินเดียเพิ่มขึ้นเนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้น้ำมันดีเซล 0.035% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ขณะที่ไต้หวัน เกาหลีใต้และจีนลดการส่งออก เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันปิดซ่อมบำรุงประจำปี ราคาเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2548 ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ระดับ 59.47, 58.73 และ 62.58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของไทยในไตรมาส 1 ปี 2548 ปรับตัวลดลงจากการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 โดยรัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไว้ที่ระดับ 18.19 บาท/ลิตร ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 1 เมษายน 2548 อยู่ที่ระดับ 22.09 , 21.29 และ 18.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ค่าการตลาดในไตรมาส 1 ปี 2548 ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 0.8856 บาท/ลิตร โดยค่าการตลาดเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 0.9034 บาท/ลิตร ส่วนค่าการกลั่นในช่วงไตรมาส 1 ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 1.3293 บาท/ลิตร ค่าการกลั่นเฉลี่ยโดยรวมเดือนมีนาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 1.5574 บาท/ลิตร
5. รัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ดังนั้นอัตราชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2548 อยู่ที่ระดับ 3.56 บาท/ลิตร และตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 กองทุนน้ำมันฯ มีภาระการจ่ายชดเชยสะสมทั้งสิ้น 78,370 ล้านบาท แยกเป็นเงินชดเชยน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วจำนวน 6,975 ล้านบาท และ 71,395 ล้านบาท ตามลำดับ
6. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนเมษายน 2548 ปรับตัวสูงขึ้น 37.20 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 416.2 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 12.2242 บาท/กก. (เป็นระดับเพดานของก๊าซ LPG สูงสุด 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน) อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 2.1543 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 408 ล้านบาท/เดือน และฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 1 เมษายน 2548 2548 มีเงินสดสุทธิ 258 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 63,572 ล้านบาท แยกเป็นภาระผูกพัน 197 ล้านบาท หนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 5,606 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 152 ล้านบาท หนี้การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ประมาณ 7,745 ล้านบาท หนี้เงินกู้ 49,780 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ประมาณ 92 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ ติดลบ 63,314 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รายงานผลการอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2547 - เดือนมีนาคม 2548 โดยได้อนุมัติเงินไปแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 481,036,288.86 บาท ให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมสรรพสามิต สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 ข้อเสนอการออกและการจำหน่ายตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) กู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้จำนวน 63,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แยกเป็นอนุมัติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จำนวน 8,000 ล้านบาท วันที่ 24 สิงหาคม 2547 จำนวน 30,000 ล้านบาท และวันที่ 21 ธันวาคม 2547 จำนวน 25,000 ล้านบาท ซึ่งการอนุมัติการกู้เงินครั้งสุดท้ายนี้มีมติประกอบให้ สบพ. ดำเนินการออกพันธบัตรและเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป เพื่อให้กองทุนฯ มีสภาพคล่องเพียงพอในการจ่าย ชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. สบพ. ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศโดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้จำนวน 63,000 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่และระยะเวลาครบกำหนดชำระ 12 เดือน แบ่งเป็น 3 ครั้ง โดยครั้งละ 8,000, 30,000 และ 25,000 ล้านบาท ตามลำดับ และ สบพ. ได้จ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันให้กับผู้ประกอบการแล้ว จำนวน 58,762 ล้านบาท และเหลือวงเงินกู้จำนวน 8,590 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงงวดเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งจะต้องจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2548
3. เงินกู้จำนวน 63,000 ล้านบาท จะทยอยครบกำหนดชำระคืนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นไป ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2548 มีเงินกู้ครบกำหนดชำระคืนจำนวน 3,000 ล้านบาท แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมากองทุนฯ มีภาระการจ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ สบพ. ไม่สามารถสะสมรายรับของกองทุนฯ เพื่อใช้ชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระคืนได้ เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ มีรายรับจากน้ำมันเบนซิน ก๊าด และเตา ประมาณ 252 ล้านบาท/เดือน แต่มีรายจ่ายเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซลจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ จ่ายชดเชยราคา LPG และรายจ่ายภาวะผูกพันเป็นจำนวนมาก ทำให้กองทุนฯ มีรายจ่ายมากกว่ารายรับประมาณ 190 ล้านบาท/เดือน
4. นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 กองทุนฯ มีหนี้สะสมชดเชยราคา LPG ประมาณ 7,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก สบพ. จ่ายชำระหนี้ในส่วนนี้ประมาณ 260 ล้านบาท/เดือน ขณะที่การชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวอยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาท/เดือน ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตเกิดความไม่มั่นใจ ในนโยบายของรัฐ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซปิโตรเลียมเหลวภายในประเทศได้ และเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานของรัฐค้ำประกันหนี้ที่เกิดขึ้นหรือตั้งงบประมาณรายจ่าย ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ให้ สบพ. ได้อีกต่อไป และ สบพ. ไม่มีทรัพย์สินใดที่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้ จึงทำให้ สบพ. ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้
5. เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดและสามารถจ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ และเพื่อให้ สบพ. สามารถบริหารภาระหนี้และบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนฯ ได้ สบพ. จึงเสนอให้ สบพ. ควรจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้กับกองทุนฯ โดยการออกตราสารหนี้และเสนอขายให้กับนักลงทุนทั่วไป และเมื่อภาระชดเชยราคาน้ำมันดีเซลยุติจึงจะสะสมรายรับจากเงินส่งเข้ากองทุนฯ ชำระคืนหนี้ตราสารหนี้ดังกล่าว
6. ในการออกและเสนอขายตราสารหนี้ของ สบพ. จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำเนินการออกและเสนอขายตราสารหนี้ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ของ สบพ. ได้คำนึงถึงความต้องการของนักลงทุนประกอบกับจำนวนเงินที่กองทุนฯ จำเป็นต้องใช้ในการชำระหนี้และจ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนฯ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการจัดทำโครงสร้างตราสารหนี้ที่ดีและบริหารจัดการกระแสเงินของกองทุนฯ อย่างชัดเจน และหากมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อลดภาระการชดเชยจากกองทุนฯ และปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อเพิ่มเติมรายได้ให้กองทุนฯ จะสามารถลดความกังวลของนักลงทุนและเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ของ สบพ. ได้
7. เพื่อให้ตราสารหนี้ของ สบพ. มีโครงสร้างที่ดี ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ "AA" และลดความกังวลของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้ตราสารหนี้ของ สบพ. ได้รับความสนใจจากนักลงทุนขอได้จึงเห็นควรขอเห็นชอบในประเด็นดังนี้
7.1 เห็นควรให้ สบพ. ออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้กับนักลงทุนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 85,000 ล้านบาท (ไม่เกินแปดหมื่นห้าพันล้านบาทถ้วน) โดยเสนอขายเป็นชุดๆ ตามจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละช่วงเวลาและอายุไถ่ถอนแต่ละชุดไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ จ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายดอกเบี้ย และเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกองทุนฯ หรือไม่
7.2 เห็นควรให้ สบพ. ไปเจรจาผ่อนเวลาการชำระหนี้ในส่วนที่ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป ซึ่งหากสามารถเจรจาได้สำเร็จ ให้หนี้ในส่วนที่ผ่อนเวลาการชำระหนี้และหนี้ ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 85,000 ล้านบาท (ไม่เกินแปดหมื่นห้าพันล้านบาทถ้วน) หรือไม่
7.3 เห็นควรให้ทยอยลดอัตราเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงเรื่อยๆ โดยกำหนดให้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นไป อัตราเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมไม่เกิน 1.50 บาท/กก. และตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 เป็นต้นไป อัตราเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมไม่เกิน 0.50 บาท/กก. หรือไม่
7.4 เห็นควรให้ทยอยลดอัตราเงินชดเชยของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นศูนย์ในที่สุด โดยกำหนดให้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 เป็นต้นไป อัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.00 บาท/ลิตร และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป อัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นศูนย์หรือไม่
7.5 เห็นควรให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารราปรับเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ในกรณีที่การเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง โดยการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวต้องทำให้ สบพ. สามารถจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นตราสารหนี้ได้เมื่อครบกำหนดจ่าย แต่ทั้งนี้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวจะต้องไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร หรือไม่
7.6 เห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุน น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2548 ตามร่างระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง พ.ศ. 2547 ที่ สบพ. เสนอ หรือไม่
7.7 เห็นควรให้ สบพ. ตรวจสอบยอดเงินในบัญชี "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" ทุกๆ 3 เดือน เพื่อพิจารณาถึงความสามามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระเงินคืนต้นที่ครบกำหนด และหากพบว่าไม่เพียงพอให้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานทราบ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป หรือไม่
7.8 เห็นควรให้โอนสิทธิการบริหารบัญชี "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" ให้ตัวแทนชำระเงินเป็นผู้บริหารบัญชีดังกล่าวภายใต้สัญญาที่มีการตกลงร่วมกันกับ สบพ. หรือไม่
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) ออกและเสนอขายตราสารหนี้ให้กับนักลงทุน ทั่วไปจำนวนไม่เกิน 85,000 ล้านบาท (ไม่เกินแปดหมื่นห้าพันล้านบาท) โดยเสนอขายเป็นชุดๆ ตามจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละช่วงเวลาและอายุไถ่ถอนแต่ละชุดไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ จ่ายชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จ่ายดอกเบี้ย และเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบให้ สบพ. ไปเจรจาผ่อนเวลาการชำระหนี้ในส่วนที่ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ซึ่งหากสามารถเจรจาได้สำเร็จ ให้หนี้ในส่วนที่ผ่อนเวลาการชำระหนี้และหนี้ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 85,000 ล้านบาท (แปดหมื่นห้าพันล้านบาท)
3. เห็นชอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล ในกรณีการเพิ่มหรือลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร/ครั้ง โดยการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนดังกล่าวต้องทำให้ สบพ. สามารถจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นตราสารหนี้ได้เมื่อครบกำหนดจ่าย แต่ทั้งนี้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซลรวมแล้วจะต้องไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร
4. เห็นชอบให้ สบพ. แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546 ให้เป็นไปตามร่างระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ตามที่ สบพ. เสนอ ทั้งนี้ ต้องระบุวัตถุประสงค์การแก้ไขระเบียบดังกล่าวให้ชัดเจน
5. เห็นชอบให้ สบพ. ทำหน้าที่ตรวจสอบยอดเงินในบัญชี "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน" อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นที่ครบกำหนด และหากพบว่าไม่เพียงพอให้แจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานทราบ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
6. เห็นชอบให้โอนสิทธิการบริหารบัญชี "เงินไถ่ถอนตราสารหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ให้ตัวแทนชำระเงินเป็นผู้บริหารบัญชีดังกล่าวภายใต้สัญญาที่มีการตกลงร่วมกันกับ สบพ."
เรื่องที่ 4 การชดเชยราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว)
สรุปสาระสำคัญ
1. จากรัฐบาลได้มีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2548 ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (น้ำมันเขียว) สูงกว่าราคาน้ำมันบนบก ชาวประมงจึงหันมาใช้น้ำมันบนบกแทน ดังนั้น เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นการผลักดันให้ชาวประมงหันกลับไปใช้น้ำมันเขียว คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ได้มีมติเรื่อง ข้อเสนอการลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเห็นชอบในหลักการให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมง ไม่ให้สูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก โดยให้จ่ายชดเชยในส่วนต่างของราคาน้ำมันเขียวที่สูงกว่าน้ำมันดีเซลบนบก และให้เรียกคืนเมื่อราคาน้ำมันเขียวลดต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบกไปจนกว่าจะเรียกเก็บคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้หมด และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการจัดระบบการชดเชยและส่งคืนเงินเข้ากองทุนฯ รวมทั้งการเพื่อป้องกันการนำน้ำมันที่ได้รับการ ชดเชยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
2. ผลการดำเนินโครงการฯ ในการจำหน่ายน้ำมันเขียว และการจ่ายเงินชดเชยตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2548 พบว่าการจำหน่ายน้ำมันเขียวและจำนวนเงินชดเชยมีปริมาณ 29,146,302 ลิตร เป็นเงิน 58,775,024.93 บาท และการจำหน่ายน้ำมันเหลืองเป็นน้ำมันเขียว (ขาดแคลน) และจำนวนเงินชดเชยมีปริมาณ 12,658,547 ลิตร เป็นเงิน 35,479,035.62 บาท รวมเป็นเงินที่จ่ายชดเชยทั้งสิ้น 94,254,060.54 บาท
3. เพื่อให้การแก้ไขปัญหาโครงการน้ำมันเขียวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอความเห็นชอบ ดังนี้
3.1 ขอความเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้อนุมัติออกประกาศชดเชยหรือประกาศส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) สำหรับกรณีน้ำมันเขียวแพงกว่าบนบกและกรณีน้ำมันเขียวขาดแคลนได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2548 และมอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันเขียวแพงกว่าน้ำมันบนบกหรือกรณีน้ำมันเขียวขาดแคลน ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสามารถสั่งการให้ออกประกาศชดเชยได้ทันที โดยไม่ต้องนำเข้า กบง. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
3.2 ขอความเห็นชอบวงเงินในการจ่ายเงินชดเชยโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ตามข้อ 2 เป็นจำนวนเงินชดเชยทั้งสิ้น 94,254,060.54 บาท (เก้าสิบสี่ล้าน สองแสนห้าหมื่นสี่พันหกสิบบาทห้าสิบสี่สตางค์) ทั้งนี้ จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายจากกองทุนน้ำมันฯ ให้ชาวประมงก่อน และจะเรียกเก็บเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันฯ เมื่อราคาน้ำมันเขียวลดต่ำลงกว่าราคาน้ำมันดีเซล บนบกไปจนกว่าจะเรียกเก็บคืนได้หมดตามจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยไป
3.3 มอบหมายให้กรมสรรพสามิตและสถาบันบริหารกองทุนพลังงานร่วมกันจัดทำระบบการชดเชยและส่งคืนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาน้ำมันเขียว โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้ตรวจสอบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในโครงการฯ และให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจ่ายเงินชดเชยหรือรับเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้อนุมัติออกประกาศชดเชยราคาน้ำมัน หรือประกาศการส่งคืนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ในกรณีราคาน้ำมันเขียวแพงกว่าน้ำมันดีเซลบนบก และกรณีน้ำมันเขียวขาดแคลนได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานต่อไป แต่ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันเขียวแพงกว่าน้ำมันดีเซลบนบก หรือกรณีน้ำมันเขียวขาดแคลนในระยะต่อไป เห็นควรให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสามารถสั่งการให้ออกประกาศชดเชยราคาน้ำมันหรือส่งคืนเงินเข้ากองทุนฯ ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณา/อนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
2. เห็นชอบอนุมัติเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจ่ายเป็นเงินชดเชยในโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง ในวงเงิน 94,254,060.54 บาท (เก้าสิบสี่ล้านสองแสนห้าหมื่นสี่พันหกสิบบาทห้าสิบสี่สตางค์) โดยจ่ายให้แก่บริษัท น้ำมันทีพีไอ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 58,775,024.94 บาท (ห้าสิบแปดล้าน เจ็ดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันยี่สิบสี่บาทเก้าสิบสี่สตางค์) สำหรับการชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเขียว ตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 และจ่ายให้แก่บริษัท อัลลายแอนซ์ รีไฟน์นิ่ง จำกัด และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด เป็นจำนวนเงินรวม 35,479,035.62 บาท (สามสิบห้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเก้าพันสามสิบห้าบาทหกสิบสองสตางค์) เพื่อจ่ายชดเชยการจำหน่ายน้ำมันเหลืองเป็นน้ำมันเขียวตั้งแต่วันที่ 4 - 22 มีนาคม 2548 โดยทั้งนี้ จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายจากกองทุนฯ ให้กับชาวประมงก่อนและจะเรียกเก็บเงินคืนเข้ากองทุนฯ เมื่อราคาน้ำมันเขียวลดต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบกไปจนกว่าจะเรียกเก็บคืนได้หมดตามจำนวนเงินที่จ่ายชดเชยไป
3. มอบหมายให้กรมสรรพสามิต และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพ.) ร่วมกันจัดทำระบบการจ่ายชดเชยและส่งคืนเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อตรึงราคาน้ำมันเขียว โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในโครงการฯ และให้ สบพ. เป็นผู้รับผิดชอบด้านการจ่ายเงินชดเชยหรือรับเงินคืนเข้ากองทุนฯ
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดยการดำเนินการรับซื้อ ไฟฟ้าจาก SPP ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้รับข้อเสนอขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 144 ราย มี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้ารวม 91 ราย โดย กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วจำนวน 81 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจา 10 ราย หากทุกโครงการแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้นจะ เท่ากับ 2,519.3 เมกะวัตต์
2. ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 มี SPP 69 ราย ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้ว และปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,228.8 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 19, 4 และ 1 โครงการ ปริมาณ 1,413, 196 และ 9 เมกะวัตต์ ตามลำดับ นอกจากนี้ เป็นโครงการที่ใช้พลังงานนอก รูปแบบเป็นเชื้อเพลิง 41 โครงการ จำนวน 375.8 เมกะวัตต์ และที่ใช้เชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า 1 โครงการ จำนวน 45 เมกะวัตต์
3. สนพ. ได้มี "โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน" โดยใช้เงินจาก "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ปัจจุบัน มีผู้ผลิตรายเล็ก ได้รับอนุมัติการจัดสรรเงินจากคณะกรรมการกองทุนฯ จำนวน 20 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้ารวม 243.3 MW คิดเป็นวงเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,400 ล้านบาท สำหรับโครงการของบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) (โครงการโรงไฟฟ้าห้วยยอด จังหวัดตรัง) คณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติให้รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้วให้ สนพ. นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนภายในวันที่ 30 กันยายน 2547
4. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 กฟผ. ได้ลงนามในหนังสือยืนยันการรับเงินกองทุนฯ กับ สนพ. โดยมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับ SPP จำนวน 20 ราย ตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ กฟผ. กฟผ. กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กฯ ได้ดำเนินการลงนามในหนังสือสัญญาขอรับเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าส่วนเพิ่ม เรียบร้อยแล้ว 6 ราย และกำลังตรวจสัญญา 6 ราย โดยที่มีการยกเลิกสัญญา 1 ราย และยังไม่ดำเนินการใดๆ 4 ราย ในการนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ปัจจุบันได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาครีรวม 18 คณะ
5. ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Firm จะต้องยื่นหลักค้ำประกันให้กับ กฟผ. จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
5.1 หลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอ SPP ต้องยื่นหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอ พร้อมคำร้องการขายไฟฟ้าในวงเงินเท่ากับ 500 บาทต่อกิโลวัตต์ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายให้กับ กฟผ. ทั้งนี้ กฟผ. จะคืนหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอให้แก่ SPP ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกภายใน 30 วัน หลังจากแจ้งผลการ คัดเลือกข้อเสนอ
5.2 หลักค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ SPP จะต้องยื่นหลักค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ ในวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ในวงเงินเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของมูลค่าปัจจุบันของค่าพลังไฟฟ้าที่จะได้รับทั้งหมดตามสัญญา โดยใช้อัตราส่วนลด (Discount Rate) เท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าจะคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ ให้แก่ SPP เมื่อ SPP ได้เริ่มต้นปฏิบัติตามสัญญาฯ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว
5.3 หลักค้ำประกันการยกเลิกสัญญาฯ SPP จะต้องยื่นหลักค้ำประกันการยกเลิกสัญญาฯ ก่อนวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญาฯ ในวงเงินเท่ากับร้อยละ 10 ของค่าพลังไฟฟ้าที่ SPP จะได้รับในระยะเวลา 5 ปีแรกของสัญญาฯ โดย กฟผ. จะคืนหลักค้ำประกันดังกล่าวเมื่ออายุสัญญาสิ้นสุด หรือเมื่อการไฟฟ้าได้เรียกเก็บเงินค่าพลังไฟฟ้าครบถ้วนในกรณีที่สัญญาฯ ถูกยกเลิกก่อนครบอายุสัญญา
6 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) (โครงการโรงไฟฟ้าห้วยยอด จังหวัดตรัง) ได้ยื่นคำร้องการขายไฟฟ้าประเภท Firm อายุสัญญา 25 ปี ให้ กฟผ. โดยเสนอขายพลังไฟฟ้าเข้าระบบ 20.2 เมกะวัตต์ ที่ใช้เศษไม้ยางพารา และกะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิง และได้วางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเป็นหนังสือค้ำประกัน จำนวนเงิน 10,100,000 บาท โดย กฟผ. ได้ตอบรับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทฯ เมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม 2545 ทั้งนี้ บริษัท ได้ยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และได้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น โดยอัตราเงินที่ได้รับสนับสนุนเท่ากับ 0.18 บาท/kWh และกำหนดวันสิ้นสุดการพิจารณาเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนด โครงการยังไม่ได้รับการพิจารณา รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัท และไม่คุ้มค่าการลงทุน บริษัทฯ จึงแจ้งยกเลิกข้อเสนอขายไฟฟ้า พร้อมทั้งขอรับคืนหลักค้ำประกันการยื่นเข้อเสนอขายไฟฟ้าจาก กฟผ.
7. ต่อมาเดือนตุลาคม 2547 สนพ. ได้แจ้งสงวนสิทธิ์สิ้นสุดการพิจารณาเงินสนับสนุนโครงการให้บริษัท กัลฟ์ฯ เพื่อให้บริษัททำเรื่องขอคืนหลักค้ำประกันจาก สนพ. เนื่องจากการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของ สผ. ยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งบริษัทได้ขอรับคืนหลักประกันซองข้อเสนอโครงการจาก สนพ. เรียบร้อยแล้ว และต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2547 บริษัทได้ขอยกเลิกข้อเสนอขายไฟฟ้าและขอรับคืนหลักประกันการยืนข้อเสนอขายไฟฟ้าจาก กฟผ. ทั้งนี้ บริษัท กัลฟ์ฯ (โครงการโรงไฟฟ้าห้วยยอด จังหวัดตรัง) ไม่ได้ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. เนื่องจากผลการพิจารณา EIA จาก สผ. ได้เลยระยะเวลาที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด กฟผ. จึงเห็นว่าควรยกเลิกข้อเสนอขายไฟฟ้าของบริษัทฯ และเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาคืนหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าของบริษัทฯ ต่อไป ซึ่งในการประชุม กพช. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 ได้มีมติให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้วินิจฉัยปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ในประเด็นที่ไม่ใช่ด้านนโยบายและเสนอ กพช. เพื่อทราบต่อไป
8. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า จากการที่บริษัทฯ ต้องรอผลการพิจารณารายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมจาก สผ. ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด จึงเป็นผลให้ ข้อเสนอโครงการของบริษัท กัลฟ์ฯ (โครงการโรงไฟฟ้าห้วยยอด จังหวัดตรัง) เป็นอันสิ้นสุดการพิจารณาเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ซึ่งทำให้ บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับรายได้ การลงทุน และการจัดหาเงินกู้ให้กับโครงการ บริษัทฯ จึงได้ขอยกเลิกข้อเสนอขายไฟฟ้า และขอรับคืนหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งนี้ โดยบริษัทฯ มิได้มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP นอกจากนี้ การยกเลิกคำร้องการขายไฟฟ้าของบริษัท ไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาไฟฟ้าของ กฟผ. เนื่องจากมีปริมาณพลังไฟฟ้าเพียง 20.2 เมกะวัตต์ และหากบริษัทฯ มีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าสามารถยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ได้ใหม่ จึงควรให้บริษัทฯ สามารถยกเลิกคำร้องการขายไฟฟ้าได้ โดยให้ กฟผ. คืนหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ากับบริษัท
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้ สนพ. และ กฟผ. รับไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมของข้อกำหนดของระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าและสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ครั้งที่ 5 - วันจันทร์ ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2547
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2547 (ครั้งที่ 5)
วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เวลา 15.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7
กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าของปี 2547
4. การยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์
5. การขอยุติเงินทดรองจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินชดเชยที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร
7. ข้อเสนอการลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ประธานกรรมการ
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้กล่าวเกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมันแพงที่เกิดขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปพบปะหารือกับหน่วยงาน IEA ของทวีปยุโรปและได้รับทราบว่าแนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการใช้ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะอ่อนตัวลงในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง และในการประชุมของกลุ่มประเทศ G7 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการหารือประเด็นราคาน้ำมันแต่อย่างไร
สำหรับยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแบ่งเป็น 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์เชิงตั้งรับ และยุทธศาสตร์เชิงรุก โดยที่ยุทธศาสตร์เชิงตั้งรับจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการใช้พลังงานที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพและประหยัดที่สุด รวมทั้งการใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันที่ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ระดับราคาน้ำมันของไทยอยู่ระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก ดังนั้น ระยะต่อไปรัฐบาลจะเริ่มคลายตัวด้านราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาดโดยคาดว่าเมื่อสิ้นฤดูหนาว ส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุกจะเป็นนโยบาย เกี่ยวกับการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ไทยได้เริ่มเข้าร่วมสัมปทานปิโตรเลียมในต่างประเทศมากขึ้น เช่น ปตท. สผ. ได้รับสัมปทานแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในประเทศพม่า หรือการเข้าร่วมลงทุนในประเทศโอมาน ซึ่งถือว่ารัฐบาลไทยได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตน้ำมันโลก นอกจากนี้รัฐบาลได้ดำเนินการเชิงรุก โดยการเพิ่มการผลิตพลังงานภายในประเทศให้มากขึ้น และลดการนำเข้าพลังงานลง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงให้มากขึ้น เช่น Bio Fuel รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าจากเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้ผลผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ เพื่อสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาสเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สาระสำคัญ
1. ความต้องการใช้และการผลิตน้ำมันดิบโดยรวม เดือนสิงหาคมได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 82.6 และ 83.4 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ จากกลุ่มโอเปคได้มีมติจะปรับเพิ่มโควต้าการผลิตขึ้นอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 27.0 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 เป็นต้นไป และปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศนอกกลุ่มโอเปคเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 47.6 ล้านบาร์เรล/วัน
2. ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 ปี 2547 ได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 2.90 - 7.23 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 38.56 และ 42.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากบริษัทน้ำมัน Yukos ของ รัสเซียเกิดปัญหาด้านการเงินจะต้องจ่ายภาษีคืนให้แก่รัฐเป็นเงิน 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากการเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรของ Hedge Funds รวมทั้งข่าวผู้ก่อการร้าย AI Queda ขู่จะโจมตีสถาบันการเงิน 5 แห่ง ของ สหรัฐอเมริกา แต่ในเดือนกันยายนราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34.92 และ 41.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากมติที่ประชุมกลุ่มโอเปค เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547 ให้ปรับเพิ่มโควต้าการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับซาอุดิอารเบียได้ปรับลดราคาน้ำมันดิบชนิดหนัก (กำมะถันสูง) ลง 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือนกันยายนราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นจากพายุ Herricane Ivan เข้าสู่อ่าวเม็กซิโกได้ส่งผลให้การผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกต้องหยุดชะงัก
3. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 2547 ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาส 2 โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และเตาปรับตัวสูงขึ้น 2.40, 2.57, 7.58, 7.69 และ 0.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.52 และ 45.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามราคาแนฟทา ซึ่งมีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่องจากปิโตรเคมี และความต้องการซื้อของอินโดนีเซียที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ด้วยอุปทานลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันญี่ปุ่นปิดฉุกเฉิน และน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เข้าในภูมิภาคเอเซียลดลง ส่วนน้ำมันก๊าดและเตาปรับตัวสูงอยู่ที่ระดับ 48.08 และ 29.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ดังนั้นราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 ก๊าด ดีเซลหมุนเร็วและเตา ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 51.50, 50.62, 52.29, 50.36 และ 30.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ และเดือนกันยายนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ให้ปรับตัวลดลง จากตลาดคาดว่าความต้องการซื้อของเอเซียและตะวันตกจะลดลงหลังสิ้นสุดฤดูท่องเที่ยวในช่วงเดือนกันยายน ในขณะที่จีนมีแผนจะส่งออกเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยอุปสงค์จากเวียดนามและจีน เพิ่มขึ้น และน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางเข้ามายังภูมิภาคเอเซียลดลง สำหรับน้ำมันก๊าดได้ปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการซื้อในภูมิภาคยังคงสูง ขณะที่น้ำมันเตาปรับตัวลดลงจากความต้องการซื้อในภูมิภาคต่ำกว่าอุปทาน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92, ก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และเตา เฉลี่ยอยู่ระดับ 47.99, 47.16, 53.21, 51.46 และ 29.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
4. ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2547 ปรับตัวสูงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานได้มีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินไตรมาส 3 จำนวน 5 ครั้ง รวม 3 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 20 กันยายน อยู่ที่ระดับ 21.79, 20.99 และ 14.59 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ค่าการตลาดเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 2547 เท่ากับไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 1.2060 บาท/ลิตร จากรัฐบาลตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โดยค่าการตลาดเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน คงที่อยู่ใน 1.2060 บาท/ลิตร ส่วนค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 1.1202, 0.8981 และ 1.4438 บาท/ลิตร ตามลำดับ
6. แนวโน้มราคาน้ำมันดิบคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35 - 40 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการคาดการณ์ของ IEA อยู่ที่ระดับ 82.2 ล้านบาร์เรล/วัน และปี 2548 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 84.0 ล้านบาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศกลุ่มโอเปค/ประเทศนอกกลุ่มโอเปค และการควบคุมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีนได้จะทำให้อุปสงค์น้ำมันจะชะลอตัวลง
7. แนวโน้มราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 46 - 58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มีอุปสงค์เข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งจากในภูมิภาคและนอกภูมิภาค ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 48 - 54 ต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อในภูมิภาคที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปทานจากตะวันออกกลางเข้ามาในภูมิภาคเอเซียลดลง
8. ผลการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน 8 ครั้งๆ ละ 0.60 บาท/ลิตร รวม 4.80 บาท/ลิตร ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 22 กันยายน 2547 อยู่ที่ระดับ 21.79, 20.99 และ 14.59 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดยอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของเบนซิน 95 และ 91 อยู่ที่ระดับ 0.975 และ 0.8902 บาท/ลิตร ตามลำดับ และอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ของดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ระดับ 5.0212 บาท/ลิตร หรือประมาณ 269 ล้านบาท/วัน และมีจำนวนเงินชดเชยสะสมทั้งสิ้น 33,425 ล้านบาท แยกเป็นเงินชดเชยน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็วประมาณ 2,619, 4,195 และ 26,611 ล้านบาท ตามลำดับ
9. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก เดือนกันยายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 383 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาก๊าซ LPG ในประเทศอยู่ในระดับ 13.06 บาท/กก. (สูตรกำหนดราคาก๊าซ LPG ในประเทศกำหนดเพดานสูงสุดไว้ที่ 315 เหรียญสหรัฐ/ตัน) อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2.99 บาท/กก. หรือ 544 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้คาดการณ์ได้ว่าราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนตุลาคมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 400 - 430 เหรียญสหรัฐ/ตัน และอัตราเงินชดเชยจะยังคงอยู่ในระดับ 2.99 บาท/กก. หรือ 554 ล้านบาท/เดือน
10. ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 กันยายน 2547 มียอดเงินคงเหลือตามบัญชีจำนวน 361 ล้านบาท ยอดหนี้ค้างชำระ 26,637 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ชดเชยราคาก๊าซ LPG 4,916 ล้านบาท หนี้เงินคืนกรณีอื่นๆ 106 ล้านบาท หนี้การตรึงราคาน้ำมันช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 - 20 กันยายน 2547 ประมาณ 10,130 ล้านบาท หนี้เงินกู้ 11,830 ล้านบาท และหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ประจำเดือนกันยายน 2547 16 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 26,637 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สาระสำคัญ
1. จากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 3/2546 (ครั้งที่ 3) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แยกงานพิจารณาอนุมัติการใช้จ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออก และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยให้ กบง. ทำหน้าที่พิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานเพื่อกลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
2. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2547 กบง. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงาน (ที่ปลัดกระทรวงพลังงานมอบหมาย) เป็นประธานอนุกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุมไปแล้วรวม 5 ครั้ง โดยมีการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2547 และได้พิจารณาและอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ให้แก่โครงการต่างๆ ของหน่วยงานกระทรวงพลังงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 93,278,906 บาท (เก้าสิบสามล้าน สองแสนเจ็ดหมื่นแปดพันเก้าร้อยหกบาทถ้วน)
3. ผลการอนุมัติเงินกองทุนฯ ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
3.1 สำนักงานคณะกรรมการประสานการพัฒนายุทธศาสตร์ศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค (สนพภ.) สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ในโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่ง และชุมชนในอนาคตบริเวณพื้นที่โครงการ (จำนวนเงิน 23 ล้านบาท) โครงการปรับปรุงแผนการดำเนินการและแผนปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันในทะเลในบริเวณพื้นที่โครงการ Sriracha Hub และ Strategic Energy Landbridge (จำนวนเงิน 14 ล้านบาท) และงบบริหารงานโครงการพัฒนาศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2547 และ 2548 (จำนวน 4.99 ล้านบาท และ 3.83 ล้าน ตามลำดับ)
3.2 กรมธุรกิจพลังงาน ในโครงการศึกษาข้อกำหนดและมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมในการควบคุมระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ (จำนวน 2 ล้านบาท) โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการธุรกิจน้ำมัน (จำนวน 6,061,550 บาท) และโครงการศึกษาและพัฒนากฎหมาย LPG (จำนวน 818,100 บาท)
3.3 สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ได้อนุมัติงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบัน สำหรับปี 2547 และปี 2548 เป็นจำนวนเงิน 9,964,600 บาท และจำนวนเงิน 12,899,800 บาท ตามลำดับ
3.4 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหน่วยงานอื่นๆ ได้อนุมัติเงินงบประมาณปี 2547 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อโครงการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดด้านธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว จำนวนเงิน10,784,000 บาท และอนุมัติงบบริหารกองทุนน้ำมันฯ ประจำปีงบประมาณ 2548 ให้แก่กรมศุลกากร (663,600 บาท) กรมสรรพสามิต (1,184,724 บาท) และ สนพ. (3,068,856 บาท) ในวงเงินรวม 4,917,180 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าของปี 2547
สาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปความเป็นมา ประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้า แนวทางการชดเชย รายได้ระหว่างการไฟฟ้า และข้อเสนอการชดเชยรายได้ของการไฟฟ้าในปี 2547 ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้เห็นชอบการชดเชยรายได้จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในลักษณะเหมาจ่าย (Lump Sum Financial Transfer) ในปีงบประมาณ 2544 - 2546 เท่ากับ 8,153 8,589 และ 9,041 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ ต่อมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 4/2546 (ครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ได้เห็นชอบการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. ในปีงบประมาณ 2547 เป็นการชั่วคราว ผ่านค่าไฟฟ้าขายส่ง จำนวน 9,041 ล้านบาท โดย กฟน. รับภาระการชดเชยรายได้จำนวน 7,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระการชดเชยรายได้จำนวน 2,041 ล้านบาท โดยกำหนดเป็นส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. ขายให้ กฟน. เท่ากับ 17.54 สตางค์/หน่วย และส่วนลดค่าไฟฟ้าขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟภ. เท่ากับ 12.29 สตางค์/หน่วย ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อยุติการกำหนดเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าแล้ว ให้นำมาปรับปรุงจำนวนเงินชดเชยรายได้ดังกล่าวย้อนหลังถึงเดือนตุลาคม 2546 ซึ่ง กฟภ. ขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับเงินชดเชยรายได้ค่าไฟฟ้าปี 2547 เป็นการเร่งด่วน โดยพิจารณาให้แต่ละการไฟฟ้ามีอัตราผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
2. สนพ. ได้ขอให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จัดทำประมาณการฐานะการเงินปีปฏิทิน 2547 (มกราคม - ธันวาคม 2547) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปี 2547 โดยใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือน (มกราคม - มิถุนายน 2547) และข้อมูลประมาณการ 6 เดือน (กรกฎาคม - ธันวาคม 2547) ซึ่งสามารถสรุปงบการเงินที่สำคัญได้ ดังนี้
ประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปีปฏิทิน 2547
3. แนวทางการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปี 2547 จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้บริหารของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และ สนพ. โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน (นายวิเศษ จูภิบาล) เป็นประธานในการประชุม เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2547 ได้เห็นชอบให้มีการปรับเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า เป็นการชั่วคราว ตามแนวทางการพิจารณา ดังนี้
3.1 เนื่องจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังไม่มีการแปลงสภาพเป็นบริษัทและจดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2547 ประกอบกับ ในปี 2547 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีนโยบายบัญชีที่แตกต่างกัน โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายปิดบัญชีเป็นปีปฏิทิน ในขณะที่ กฟผ. ยังปิดบัญชีเป็นปีงบประมาณ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาจำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในปี 2547 อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน จึงควรพิจารณาการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าจากงบการเงินในปีปฏิทิน 2547 ภายใต้หลักเกณฑ์ทางการเงินที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน กล่าวคือ SFR ไม่ต่ำกว่าร้อยละ25 และ DSCR ไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่า สำหรับ กฟผ. และ 1.5 เท่า สำหรับ กฟน. และ กฟภ.
3.2 การวิเคราะห์และปรับปรุงประมาณการฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปีปฏิทิน 2547
3.2.1 ฐานะการเงินของ กฟผ. : กฟผ. มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปี 2547 ประมาณ 28,643 ล้านบาท ในขณะที่ SFR ในปี 2547 เท่ากับร้อยละ -8.37 ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) การประมาณการเงิน นำส่งรัฐจากการดำเนินงานในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2546 จำนวน 1,000 ล้านบาท มารวมในการคำนวณค่า SFR ของปีปฏิทิน 2547 และ (2) กฟผ. อ้างอิงการปิดบัญชีปฏิทินปี 2546 (วันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็น วันหยุดราชการ) ส่งผลให้จำนวนวันเจ้าหนี้ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลงจาก 60 วัน เหลือ 30 วัน ซึ่ง กฟผ. ต้องหักเงินสดสำหรับจ่ายค่าซื้อไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน 2547 ในการคำนวณ Increase/(Decrease) in Working Capital เป็นจำนวน 12,291 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้รายได้ในการคำนวณ SFR ของ กฟผ. ติดลบ 1,403 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงการคำนวณ SFR ใน2 รายการดังกล่าวแล้ว กฟผ. จะมีฐานะการเงิน ที่ดีขึ้นมาก โดยมีค่าSFR ในปี 2547 สูงถึงประมาณร้อยละ 70 ซึ่งสามารถปรับเกลี่ยฐานะการเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้
3.2.2 ฐานะการเงินของ กฟน. : กฟน. มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปี 2547 ประมาณ2,668 ล้านบาท แบ่งเป็นกำไรสุทธิในเดือนมกราคม- มิถุนายน 2547 เท่ากับ 3,189 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2547 เท่ากับ 521 ล้านบาท และมีค่าSFR ในปี 2547 เท่ากับร้อยละ 11 ซึ่งเป็นผลมาจาก(1) กฟน.ประมาณการค่าความสูญเสียในระบบ (Loss Rate) ในเดือนกรกฏาคม- ธันวาคม 2547 สูงถึงร้อยละ 5.2 เมื่อกำหนดให้ กฟน. มีค่า Loss ตามมาตรฐานที่กำหนดคือร้อยละ 4.1 จะส่งผลให้ กฟน. สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเป็นเงินประมาณ 644 ล้านบาท และ (2) กฟน. ได้ออกพันธบัตรในปี 2547 เพื่อ Refinance หนี้เงินกู้เดิมเป็นจำนวนเงิน 5,700 ล้านบาท และได้จัดสรรเงินทุนสะสมเพื่อการชำระหนี้(Sinking Fund) ในวงเงินดังกล่าวในปี2547 เป็นเงินจำนวน 495 ล้านบาท ซึ่ง กฟน. ควรเริ่มกันเงินSinking Fund ในปีถัดไป ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงการคำนวณใน 2 รายการ ดังกล่าวแล้ว กฟน. จะมีฐานะการเงินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีค่าSFR ในปี 2547 ประมาณร้อยละ 26.88 นอกจากนี้ ฐานะการเงินของ กฟน. ยังมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ได้อีก ในกรณีโครงการประหยัดไฟกำไรสองต่อมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยกว่า 300 ล้านหน่วย ในเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2547 ตามที่ กฟน. ได้ประมาณการไว้
3.2.3 ฐานะการเงินของ กฟภ. : กฟภ. มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานในปี 2547 ประมาณ3,918 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก กฟภ. ประมาณการการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ในระดับแรงดันสูง ซึ่งค่าไฟฟ้ามีราคาถูกลดลง และประมาณการรับซื้อไฟฟ้าในระดับแรงดันต่ำซึ่งค่าไฟฟ้ามีราคาแพงเพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อปรับสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าของ กฟภ. ให้ใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา จะทำให้กำไรสุทธิจากการดำเนินงานของ กฟภ. ในปี 2547 อยู่ในระดับประมาณ 4,438 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 520 ล้านบาท ส่งผลให้ค่า SFR ในปี 2547 ดีขึ้นเล็กน้อยเป็นประมาณร้อยละ 13.3
หากพิจารณาให้ กฟภ. มีค่าSFR เท่ากับร้อยละ 25 ตามเกณฑ์ทางการเงินที่กำหนด กฟภ. จะมีความต้องการรายได้เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กฟภ. มีการประมาณการการปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2547 ประมาณ 500 ล้านบาท ประกอบกับหน่วยจำหน่ายของ กฟภ. มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากที่ประมาณการไว้ จึงอาจส่งผลให้ฐานะการเงินของ กฟภ. ดีขึ้นจากที่ประมาณการไว้ได้อีก ดังนั้น จึงเสนอให้มีการปรับเพิ่มเงินชดเชยรายได้ในปีปฏิทิน 2547 จากที่ได้รับในการประมาณการครั้งนี้ (9,601 ล้านบาท) อีกจำนวน 1,500 ล้านบาท โดยให้ กฟผ. เป็นผู้รับภาระการชดเชยรายได้ให้ กฟภ. ซึ่งจะมีผลทำให้ค่า SFR ของ กฟภ. อยู่ในระดับร้อยละ22
ฐานะการเงินของการไฟฟ้าในปี 2547 ภายหลังการปรับจำนวนเงินชดเชยรายได้
4. ข้อเสนอแนวทางการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปี 2547
4.1 เห็นควรกำหนดเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2547 เท่ากับ 11,101 ล้านบาท เป็นการชั่วคราว โดย กฟน. และ กฟผ. รับภาระการชดเชยรายได้ให้กับ กฟภ. เท่ากับ 7,165 และ 3,936 ล้านบาท สำหรับเงินชดเชยรายได้ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2546 เห็นควรให้ปรับปรุงตามจำนวนเงินชดเชยรายได้ในปีปฏิทิน 2547 เป็นการชั่วคราวเท่ากับ 2,557 ล้านบาท โดย กฟน. และ กฟผ. รับภาระการ ชดเชยรายได้ให้ กฟภ. เท่ากับ 1,677 และ 880 ล้านบาท ตามลำดับ
จำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า
ตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547
หน่วย : ล้านบาท
เดือน | กฟน. | กฟผ. | รวม |
ตุลาคม - ธันวาคม 2546 | 1,677 | 880 | 2,557 |
มกราคม - ธันวาคม 2547 | 7,165 | 3,936 | 11,101 |
รวม | 8,842 | 4,816 | 13,658 |
ทั้งนี้ เมื่อได้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม2547 แล้ว ให้นำมาปรับปรุงจำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าที่เหมาะสมในเดือนตุลาคม2546 -ธันวาคม 2547 อีกครั้งหนึ่ง
4.2 เห็นควรกำหนดหลักการในการจ่ายเงินชดเชยรายได้ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2547 โดยนำส่วนต่างระหว่างเงินชดเชยรายได้ในเดือนตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547 (13,658 ล้านบาท) กับเงินชดเชยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม2546 - กันยายน 2547 มาเฉลี่ยจ่ายให้กับ กฟภ. ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2547
4.3 เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารับไปดำเนินการปรับปรุงจำนวนเงินชดเชยรายได้ที่เหมาะสมระหว่างการไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547 โดยพิจารณาจากฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในเดือนมกราคม- ธันวาคม 2547 ภายใต้ หลักเกณฑ์ทางการเงินที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน กล่าวคือ SFR ไม่ต่ำกว่าร้อยละ25 และ DSCR ไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่า สำหรับ กฟผ. และ 1.5 เท่า สำหรับ กฟน. และ กฟภ.
4.4 เห็นควรกำหนดเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. เป็นการชั่วคราว ผ่านส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้า ในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ดังนี้
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548
หน่วยซื้อไฟฟ้า ประมาณการปีปฏิทิน 2547 (ล้านหน่วย) |
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (บาท/หน่วย) |
|
กฟผ. ขาย กฟน. | 40,849 | 0.1754 |
กฟผ. ขาย กฟภ. | 78,119 | (0.1421) |
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดเงินชดเชยรายได้ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเดือนตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547 เท่ากับ 13,658 ล้านบาท เป็นการชั่วคราว โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระการชดเชยรายได้ให้กับ กฟภ. เท่ากับ 8,842 และ 4,816 ล้านบาท ตามลำดับ
จำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า
ตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547
หน่วย : ล้านบาท
เดือน | กฟน. | กฟผ. | รวม |
ตุลาคม - ธันวาคม 2546 | 1,677 | 880 | 2,557 |
มกราคม - ธันวาคม 2547 | 7,165 | 3,936 | 11,101 |
รวม | 8,842 | 4,816 | 13,658 |
ทั้งนี้ เมื่อได้ฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนมกราคม- ธันวาคม 2547 แล้วให้ นำมาปรับปรุงจำนวนเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าที่เหมาะสมในเดือนตุลาคม 2546 -ธันวาคม 2547 อีกครั้งหนึ่ง
2. เห็นชอบการกำหนดหลักการในการจ่ายเงินชดเชยรายได้ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2547 โดย นำส่วนต่างระหว่างเงินชดเชยรายได้ในเดือนตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547 (13,658 ล้านบาท) กับเงินชดเชยรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม2546 - กันยายน 2547 มาเฉลี่ยจ่ายให้กับ กฟภ. โดยตรงในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2547
3. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารับไปดำเนินการปรับปรุงจำนวนเงินชดเชยรายได้ที่เหมาะสมระหว่างการไฟฟ้าในเดือนตุลาคม 2546 - ธันวาคม 2547 โดยพิจารณาจากฐานะการเงินของการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในเดือนมกราคม- ธันวาคม 2547 ภายใต้หลักเกณฑ์ ทางการเงินที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน กล่าวคือ SFR ไม่ต่ำกว่าร้อยละ25 และ DSCR ไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่า สำหรับ กฟผ. และ 1.5 เท่า สำหรับ กฟน. และ กฟภ.
4. เห็นชอบกำหนดเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. เป็นการชั่วคราว ผ่านส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ดังนี้
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548
หน่วยซื้อไฟฟ้า ประมาณการปีปฏิทิน 2548 (ล้านหน่วย) |
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (บาท/หน่วย) |
|
กฟผ. ขาย กฟน. | 43,850 | 0.1754 |
กฟผ. ขาย กฟภ. | 83,402 | (0.1421) |
เรื่องที่ 4 การยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตของเอทานอลหน้าโรงงานและภาษีสรรพสามิตในส่วนของเอทานอลที่เติมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตลอดไป และลดหย่อนอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักการเดียวกับภาษีสรรพสามิต คือ ให้ยกเว้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนในส่วนเอทานอล 10% โดยกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เท่ากับ 0.27 และ 0.0360 บาท/ลิตร ตามลำดับ
2. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งมาตรการหนึ่ง คือ มาตรการด้านราคา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณายกเว้นการเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่ำกว่าราคาของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 มาก ยิ่งขึ้น เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์
3. ต่อมากระทรวงพลังงานได้รับแจ้งจาก ปตท. และบางจากว่า ราคาเอทานอลและราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์สูงขึ้นประมาณ 0.38 บาท/ลิตร เนื่องจากผู้ผลิตเอทานอล ได้แก่ บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรูพ เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งปรับราคาจำหน่ายเอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% เพิ่มขึ้น 0.75 บาท/ลิตร เป็น 12.75 บาท/ลิตร ซึ่ง มีผลทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในส่วน 9% ที่เป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น 0.065 บาท/ลิตร และกลุ่มโรงกลั่น ได้แจ้งปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ที่จะนำมาผสมเอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์สูงขึ้น $1.31 ต่อบาร์เรล หรือประมาณ 0.34 บาท/ลิตร ทำให้ต้นทุนราคาแก๊สโซฮอล์ในส่วน 91% ที่เป็นน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เพิ่มขึ้น 0.31 บาท/ลิตร จาก 2 ปัจจัยคือ ราคาเดิมต่ำกว่าต้นทุนจริง และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับคุณภาพน้ำมันแก๊สโซฮอล์
4. กระทรวงพลังงาน ได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาแก๊สโซฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์สูงขึ้น 0.27 บาท/ลิตร (แยกเป็นต้นทุนเอทานอลและน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เพิ่มขึ้น 0.0675 และ 0.2025 บาท/ลิตร ตามลำดับ) และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ขอความเห็นชอบยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไม่เปลี่ยนแปลง และความแตกต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ระดับ 0.50 บาท/ลิตร ทั้งนี้ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยการปรับราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ลดลง 0.11 บาท/ลิตร
5. เพื่อแก้ไขปัญหาต้นทุนราคาแก๊สโซฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในการส่งเสริมการใช้และจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ สนพ.ได้เสนอขอความเห็นชอบ คือ
5.1 ขอความเห็นชอบยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไม่เปลี่ยนแปลง และความแตกต่างระหว่างราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ระดับเดิม 0.50 บาท/ลิตร
5.2 อย่างไรก็ตาม การยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตามข้อ 5.1 ไม่รวมถึงการเรียกเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่ได้มีการจ่ายชดเชยตามนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในช่วงราคาน้ำมันขาลง รัฐบาลจะต้องเก็บเงินคืนเพื่อจ่ายคืนเงินกู้ต่อไป
6. การยกเว้นเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มี รายได้ลดลงประมาณ 1.35 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกันยายน 2547 มีรายรับ 1,101 ล้านบาท และมีรายจ่ายชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 553 และ 7,058 ล้านบาท/เดือน ตามลำดับ และหากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นไปเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ของกระทรวงพลังงาน คือ จำนวน 30 ล้านลิตร/เดือน ในปี 2547 - 2549 และจำนวน 90 ล้านลิตร/เดือน ในปี 2554 จะทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันฯ ลดลง 8.1 ล้านบาท/เดือน ในปี 2547 - 2549 และ 24.3 ล้านบาท/เดือน ในปี 2554
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้ยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นการชั่วคราว ทดแทนต้นทุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของราคาเอทานอล เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไว้ที่ระดับเดิม
2. การยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตามข้อ 1 ไม่รวมถึงการเรียกเก็บเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่ได้มีการจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในช่วงราคาน้ำมันขาลง รัฐบาลจะต้องเก็บเงินคืนเพื่อจ่ายเงินกู้ต่อไป
3. มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กรมการค้าภายใน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับไปหารือร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ที่จะนำมาผสมเอทานอลเพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต้องเกิดขึ้นกับประชาชน แล้วให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 5 การขอยุติเงินทดรองจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเงินชดเชยที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 กบง. เห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎระเบียบ รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ โดยให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ให้แก่ผู้ผลิตและผู้นำเข้าภายใน 15 วัน นับจากวันที่ยื่นคำร้องขอรับเงินชดเชย และให้ปรับเพิ่มวงเงินทดรองจ่ายให้แก่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรซึ่งมีไว้สำหรับจ่ายชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการจ่ายชดเชยราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันฯ
2. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 ได้มีมติอนุมัติให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) กระทรวงพลังงาน กู้ยืมเงินในวงเงิน 8,000 ล้านบาท ด้วยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดหาเงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำไปชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยการกู้เงินเบิกเกินบัญชี จำนวน 8,000 ล้านบาท
3. ปัจจุบันฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ มีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเป็นจำนวนสูง และสถาบันฯ ได้กู้เงินมาให้กองทุนเพื่อจ่ายชดเชยเพิ่มเติมอีกจำนวน 30,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้การบริหารเงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และประหยัดต้นทุนในการกู้ยืมเงิน สถาบันฯ จึงขออนุมัติหลักการให้มีการยกเลิกวงเงินทดรองจ่ายที่กรมสรรพสามิต จำนวน 3,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร จำนวน 100 ล้านบาท โดยสถาบันฯ จะเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกองทุนให้กรมสรรพสามิต/ กรมศุลกากร เพื่อนำไปจ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการที่ได้ยื่นขอรับเงินชดเชย ดังนี้
3.1 การจ่ายเงินชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ให้กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร แจ้งยอดเงินที่ได้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ในแต่ละงวดเดือนภายในวันที่ 25 ของเดือน เพื่อสถาบันฯ จะได้แจ้งยอดเงินที่ต้องเบิกเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินภายใน 5 วันทำการก่อนเบิกเงินกู้ ตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน
3.2 การจ่ายเงินชดเชยก๊าซ LPG ให้กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ทำหนังสือขอเบิกเงิน กองทุนตามจำนวนเงินที่ผู้ประกอบการได้ยื่นขอรับเงินชดเชยและได้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องครบถ้วนแล้ว ภายในวันที่ 10 ของเดือน
4. จากฐานะกองทุนน้ำมันฯ ที่มีรายรับไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และสถาบันฯ ซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชีทุกเดือนและต้องชำระคืนเงินกู้เบิกเกินบัญชี และประกอบกับสถาบันฯ มีความพร้อมสามารถในการจ่ายเงินชดเชยโดยตรงให้กับผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วแทนกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเห็นว่าความจำเป็นในการมีเงินทดรองจ่ายไว้ที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรย่อมหมดความจำเป็น
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยกเลิกเงินทดรองจ่ายที่กรมสรรพสามิต จำนวน 3,000 ล้านบาท และกรมศุลกากร จำนวน 100 ล้านบาท โดยมอบให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยตรงให้กับผู้ประกอบการตามหลักฐานการขอรับเงินชดเชยที่กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรได้ตรวจสอบและรับรองถูกต้องแล้ว
2. เห็นชอบให้แก้ไขระเบียบกระทรวงพลังงานว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2546
สรุปข้อเสนอการขอแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2546 ดังนี้
ส่วนที่ 1 ขอแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
1. สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ซึ่งได้ทำหน้าที่จัดหาเงินมาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่คณะรัฐมนตรีกำหนด พร้อมทั้งรับโอนงานบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ จากกรมบัญชีกลางมาดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 และเพื่อให้สถาบันฯ สามารถดำเนินการในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุด สถาบันฯ จึงมีหนังสือขอให้มีการแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2546 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้ คือ
(1) ข้อ 2 เพิ่มเติมข้อความ "สถาบัน หมายความว่า สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546" และ "ผู้อำนวยการ หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน"
(2) ข้อ 3 ขอแก้ไขเป็น "ให้ตั้งกองทุน เรียกว่า "กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ไว้ที่สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและเพื่อตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้คงที่อยู่ในระยะเวลาหนึ่ง ตามที่นโยบายรัฐบาลกำหนด"
(3) ข้อ 6 ขอแก้ไข จาก "ให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้จัดการกองทุน" เป็น "ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้จัดการกองทุน"
(4) ข้อ 7 ขอแก้ไขเป็น "(2) เป็นเงินค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสถาบันตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเห็นชอบ" และ "(5) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใดๆ เพื่อให้การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงเป็นไปอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ"
(5) ข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 27 แก้ไขคำที่ใช้ว่า "ปลัดกระทรวงพลังงาน" เป็น "ผู้อำนวยการ"
2. แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ของสถาบันฯ ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรให้มีปรับปรุงแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2546 ในประเด็นเกี่ยวกับข้อความข้อ 2, 10, 11 และ 27 ในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2546 ตามที่สถาบันฯ ขอให้แก้ไข ทั้งนี้ เป็นการแก้ไขนิยามที่เกี่ยวข้องกับสถาบันซึ่งยังไม่ได้ถูกกำหนดไว้ และในส่วนข้อความข้อ 3, 6 และ 7 ในคำสั่งนายกรัฐมนตรีฯ ขอให้คงเดิม เนื่องจากนโยบายการมีกองทุนน้ำมันฯ ขึ้น เป็นนโยบายรัฐบาลที่มอบให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการกองทุน และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 3 ของพระราชกำหนด พ.ศ. 2516 ขณะเดียวกัน สถาบันฯ อาจของบประมาณจากงบประมาณประจำปีจากรัฐบาลและสามารถยื่นของบประมาณรายจ่ายประจำปีจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อ 7 (2) ได้อยู่แล้ว
ส่วนที่ 2 ขอแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 ในส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
3. กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการค้าและมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปแล้ว 2 ขั้นตอน ซึ่งมีผลให้โรงบรรจุต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ ห้ามบรรจุข้ามยี่ห้อ ห้ามบรรจุไม่เต็มน้ำหนัก และห้ามบรรจุถังผิดกฎหมาย และก่อนที่จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบการค้าฯ ใน ขั้นตอนสุดท้าย (ขั้นตอนที่ 3) ปรากฏว่าได้มีปัญหาการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลักลอบบรรจุข้ามยี่ห้อ ซึ่ง สนพ. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมธุรกิจพลังงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยจัดชุดตำรวจเฉพาะกิจด้านก๊าซปิโตรเลียมเหลวขึ้น เสริมกำลังเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ออกตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อควบคุมไม่ให้โรงบรรจุกลับไปบรรจุข้ามยี่ห้อเช่นเดิม
4. ผลการดำเนินโครงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเดือนตุลาคม 2546 - มิถุนายน 2547 มีผู้กระทำความผิด จำนวน 219 ราย แยกเป็นการกระทำผิดที่โรงบรรจุ 118 แห่ง สถานีบริการแก๊ส (ปั๊มแก๊ส) 94 แห่ง และร้านค้าปลีก 7 แห่ง โดยมี ข้อหาในการจับกุม จำนวน 251 ข้อหา จากผลการจับกุมดังกล่าว พบว่าปั๊มแก๊สซึ่งขออนุญาตจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเติมรถยนต์เป็นสถานที่กระทำความผิดและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบธุรกิจก๊าซ หุงต้มมากที่สุด จำนวน 104 ข้อหา โดยที่รายชื่อปั๊มแก๊สที่ถูกจับกุมจะเป็น รายชื่อซ้ำที่จะถูกจับกุมมากกว่าหนึ่งครั้ง
5. สำหรับสาเหตุการลักลอบบรรจุถังก๊าซหุงต้มโดยผิดกฎหมายเกิดจาก 1) บทลงโทษตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 (ปว. 28) ค่อนข้างต่ำ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทำให้ปั๊มก๊าซไม่เกรงกลัว 2) เนื่องจากปัจจุบันร้านค้าก๊าซไม่ได้สังกัดผู้ค้าก๊าซมาตรา 7 จึงสามารถนำถังก๊าซไปลักลอบบรรจุตามปั๊มก๊าซได้ และจะขาดการดูแลซ่อมบำรุงถังก๊าซตามที่กฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดอันตรายกับสังคมได้
6. ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงควรเป็น
(1) แก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในข้อ 21 ให้สถานีบริการก๊าซมีความผิดหากบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซหุงต้มขายหรือจำหน่ายก๊าซให้กับผู้อื่น บทลงโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) จัดระเบียบร้านค้าก๊าซ ให้สังกัดผู้ค้าก๊าซมาตรา 7 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อควบคุมให้ร้านค้าก๊าซนำถังก๊าซไปบรรจุตามยี่ห้อที่ตนสังกัด และหากร้านค้าก๊าซนำ ถังก๊าซไปบรรจุนอกยี่ห้อที่ตนสังกัด จะถูกยกเลิกการเป็นตัวแทนและห้ามขายก๊าซยี่ห้อดังกล่าว
(3) ขอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 เรื่อง การปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ความว่า "ให้ยุติการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง ประสานสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง" เนื่องจากความมุ่งหมายของมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มุ่งหมายให้โอนงานน้ำมันเถื่อนไปให้กระทรวงการคลังรับผิดชอบจัดหางบประมาณแผ่นดินมาใช้แทนการใช้เงินกองทุนน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินการดังกล่าวไม่รวมถึงการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับก๊าซหุงต้ม เนื่องจากไม่ใช่เรื่องหนีภาษี แต่เป็นเรื่องปัญหาความปลอดภัย และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีความหมายกว้าง ทำให้ไม่สามารถใช้เงิน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาสนับสนุนการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับธุรกิจปิโตรเลียมเหลว ซึ่งปัจจุบันยังต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการจัดทำร่างแก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2546 ตามการขอ แก้ไขคำสั่งนายกรัฐมนตรีฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ในข้อ 2, ข้อ 10 - 11, ข้อ 21 และข้อ 27 เพื่อดำเนินการต่อไป
2. เห็นชอบให้นำเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 เรื่อง การปรับองค์กรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ต่อคณะรัฐมนตรี
เรื่องที่ 7 ข้อเสนอการลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไป ด้วยการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลยังคงถูกตรึงราคาไว้ที่ระดับต่ำเช่นเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
2. ชาวประมงที่ซื้อน้ำมันในโครงการจำหน่ายน้ำมันสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง (โครงการน้ำมันเขียว) ได้รับความเดือดร้อนเพราะการตรึงราคาไม่ได้ครอบคลุมถึงโครงการฯจึงไม่ได้รับการชดเชย ดังนั้นราคาน้ำมัน ในโครงการฯจึงเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก จนใกล้เคียงกับราคาขายส่งของน้ำมันดีเซลบนบกที่ถูกตรึงราคาไว้ ทำให้ปริมาณจำหน่ายน้ำมันเขียวลดลง เนื่องจากชาวประมงบางส่วนต้องจอดเรือพักการทำประมง และบางส่วนหันมาซื้อน้ำมันบนฝั่งแทน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3. ผลสืบเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ทำให้กลุ่มประมงในบางจังหวัดเสนอขอให้มีการชดเชยราคาน้ำมันเขียว นอกจากนี้ชาวประมงที่ได้รับสัมปทานทำประมงในประเทศพม่าได้ซื้อน้ำมันบนบก เพื่อนำไปใช้ในการทำประมงแทนน้ำมันเขียว แต่เนื่องจากประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน กำหนดให้เรือที่มีความประสงค์จะเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้สำหรับเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ต้องส่งเงินคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ชาวประมงมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณลิตรละ 4 บาท และการซื้อน้ำมันบนบกราคาถูก อาจทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำมันไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาน้ำมันสูงกว่า ทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินชดเชยได้ และยังมีผลกระทบต่อการวางแผนการผลิตน้ำมันสำหรับโครงการน้ำมันเขียวของโรงกลั่นด้วย
4. ดังนั้นเพื่อลดภาระชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต และเป็นการผลักดันให้ชาวประมงหันกลับไปใช้น้ำมันเขียว และเพื่อป้องกันมิให้มีการน้ำมันบนบกที่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐมีการลักลอบนำไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สนพ. จึงได้ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ดังนี้
1) ขอความเห็นชอบ การตรึงราคาน้ำมันเขียวโดยการชดเชยในลักษณะของการให้ยืมและให้ส่งคืนเงินกองทุนน้ำมันเชื้อในภายหลังตามหลักเกณฑ์เดียวกับการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบนบก
2) ขอให้มอบหมาย สนพ.,กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ร่วมกันจัดทำระบบการชดเชยและ ส่งคืนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาน้ำมันเขียว โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยหรือรับเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
3) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำน้ำมันที่ได้รับชดเชยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำกับดูแลการจ่ายเงินชดเชยตามปริมาณน้ำมันเขียวที่ใช้จริงไม่ให้เกิดการรั่วไหล โดยขอให้มอบหมายหน่วยงานต่างๆ เช่น สนพ., กรมประมง, กรมศุลกากร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับไปดำเนินการ
4) ขอให้ช่วยเหลือชาวประมงขนาดเล็กได้ซื้อน้ำมันในราคาต่ำลงอีก โดยให้เรือประมงชายฝั่งขนาดเล็ก(ความยาวไม่เกิน 14 เมตร) รวมตัวเพื่อซื้อน้ำมันบนบกในราคาขายส่ง ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงประมาณ ลิตรละ 50 - 75 สตางค์ และให้มีการจัดตั้งเรือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทะเลอาณาเขต โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี, กรมธุรกิจพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับไปดำเนินการ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมง (โครงการน้ำมันเขียว) ไม่ให้สูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก โดยให้จ่ายเงินชดเชยในส่วนต่างของราคาน้ำมันเขียวที่สูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก และให้เรียกเก็บเงินคืนเมื่อราคาน้ำมันเขียวลดต่ำลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดีเซลบนบก ไปจนเมื่อเรียกเก็บเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้หมด
2. มอบหมายให้ สนพ. กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิตร่วมกันจัดทำระบบการชดเชยและส่งคืนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อตรึงราคาน้ำมันเขียว โดยให้กรมสรรพสามิตเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยหรือรับเงินคืนเข้ากองทุนน้ำมันฯ
3. มอบหมายให้ สนพ. กรมประมง กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รับไปดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำน้ำมันที่ได้รับชดเชยไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
ครั้งที่ 4 - วันจันทร์ ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2546
มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2546 (ครั้งที่ 4)
วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 603 อาคาร 7
กระทรวงพลังงาน
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2. การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2547
3. การขยายระยะเวลาปรับลดค่าไฟฟ้าจากการปรับลดแผนการลงทุน จำนวน 7 สตางค์ต่อหน่วย
4. การรับภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจากการตรึงค่า Ft
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ประธานกรรมการ
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) แทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ราคาน้ำมันดิบโอมานและดูไบเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น 0.10 - 0.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก และเหตุการณ์การก่อการร้ายอย่าง ต่อเนื่องในตะวันออกกลางและประเทศตุรกี ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ได้ปรับตัว ลดลง 0.27 - 0.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการคาดว่ากลุ่มโอเปคจะผลิตเกินโควต้าอยู่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วง ต้นเดือนธันวาคมราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง 0.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ทรงตัว จากผลการประชุมของโอเปค เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 ให้คงการผลิต ไว้ที่ระดับ 24.5 ล้านบาร์เรล/วัน ประกอบกับอิรักสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 0.35 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน โดยราคาน้ำมันดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2546 อยู่ที่ระดับ 27.52 และ 28.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้น 0.23 และ 1.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากจีนลดการส่งออกและโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง และอุปทานน้ำมันเข้ามาในภูมิภาคลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 92 ปรับตัวลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการส่งออกของไต้หวัน อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง ประกอบกับออสเตรเลียชะลอการนำเข้า ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ปรับตัวสูงขึ้น 0.89 - 1.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อของเวียดนามและบังคลาเทศ ประกอบกับญี่ปุ่นลดการส่งออก เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวลดลง 0.24 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล โดยอุปทานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากมีน้ำมันจากตะวันออกกลางเข้ามาขายในภูมิภาคเอเซีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 , น้ำมันก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2546 อยู่ที่ระดับ 37.48, 35.98, 37.78, 33.48 และ 25.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ในเดือนพฤศจิกายน ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ทรงตัว น้ำมันเบนซินออกเทน 91 สุทธิปรับขึ้น 0.10 บาท/ลิตร ดีเซลหมุนเร็วสุทธิปรับขึ้น 0.30 บาท/ลิตร ราคาขายปลีกในช่วงต้นเดือนธันวาคม ไม่เปลี่ยนแปลง โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2546 อยู่ที่ระดับ 16.69 , 15.89 และ 14.39 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ค่าการตลาดในเดือนพฤศจิกายน และช่วงต้นเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 1.2323 และ1.4320 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการกลั่นเฉลี่ยของเดือนพฤศจิกายนและช่วงต้นเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 0.7306 และ 0.9841 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนธันวาคม 2546 ปรับตัวสูงขึ้น 32 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ ในระดับ 312 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 11.84 บาท/กก. อัตราเงิน ชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 3.64 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 662 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนน้ำมันฯ มี รายรับจากน้ำมันชนิดอื่น 982 ล้านบาท/เดือน จึงมีเงินไหลออกกองทุนฯ สุทธิ 80 ล้านบาท/เดือน ยอดเงินคงเหลือกองทุนน้ำมันฯ หลังหักภาระผูกพัน ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 อยู่ในระดับ 2,449 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2546 รวม 5,292 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 2,843 ล้านบาท
6. เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ให้จำกัดอัตราชดเชยราคาก๊าซ LPG ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2546 - มิถุนายน 2547 ไม่เกิน 3 บาท/กก. สนพ. จึงได้ดำเนินการออกประกาศ กบง. ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2546 ปรับขึ้นราคาขายส่งก๊าซ LPG ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.9345 บาท/กก. ซึ่งจะทำให้ราคาขายส่ง/ราคาขายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.00 บาท/กก. หรือ 15 บาท/ถัง 15 กก. เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2546 เป็นต้นไป
7. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะยังทรงตัวในระดับสูง ในช่วงปลายปี 2546 จึงคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 27 - 29 และ 29 - 32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อราคาน้ำมัน คือ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง การส่งออกของอิรัก และการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรัสเซียและนอร์เวย์ ส่วนแนวโน้มของราคา น้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 35 - 38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปสงค์ของออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประกอบกับอุปทานในภูมิภาคลดลงจากจีนลดการส่งออก ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32 - 36 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศต่างๆ ได้เริ่มเก็บสะสม น้ำมันเพื่อความอบอุ่น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2547
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 9/2543 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 เรื่องการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยเห็นชอบข้อเสนอโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค (กฟภ.) โดยได้กำหนดให้มีการชดเชยรายได้จาก กฟน. ไปยัง กฟภ. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544-2546 ในลักษณะเหมาจ่าย (Lump Sum Financial Transfer) เท่ากับ 8,153 8,589 และ 9,041 ล้านบาทต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ให้นำจำนวนเงินชดเชยรายได้ดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน และให้ กฟน. นำส่งเงินชดเชยรายได้ให้แก่ กฟภ. เป็นรายเดือน ในปีงบประมาณนั้น ซึ่งอัตราการชดเชยรายได้ดังกล่าวสิ้นสุดลงในปีงบประมาณ 2546
2. ในการประชุมหารือเพื่อพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ว่าการการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้พิจารณาเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้มีการชดเชยรายได้ผ่านค่าไฟฟ้าขายส่ง โดยให้ กฟน. และ กฟภ. ซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. โดยมีส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ค่าซื้อไฟฟ้าประจำเดือนตุลาคม 2546 และ กฟภ. ได้มีหนังสือถึง สนพ. ขอให้พิจารณาดำเนินการเร่งนำเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อขอความเห็นชอบวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินชดเชย รายได้เป็นการชั่วคราวตามแนวทางการหารือเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 เนื่องจาก กฟภ. ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของ กฟภ.
3. การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าก่อนเดือนตุลาคม 2543 จะเป็นการชดเชยรายได้ผ่านค่าไฟฟ้าขายส่ง โดยการกำหนดเป็นส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง กล่าวคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะขายไฟฟ้าให้กับ กฟน. ในราคาค่าไฟฟ้าขายส่ง บวกส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า และขายให้ กฟภ. ในอัตรา ค่าไฟฟ้าขายส่ง และหักด้วยส่วนลดค่าไฟฟ้า
4. แนวทางการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าในปีงบประมาณ 2547 ให้มีการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. ในปีงบประมาณ 2547 เป็นการชั่วคราว ผ่านค่าไฟฟ้าขายส่ง จำนวน 9,041 ล้านบาท เท่ากับจำนวน เงินชดเชยรายได้ในปีงบประมาณ 2546 โดย กฟน. จะรับภาระการชดเชย 7,000 ล้านบาท และ กฟผ. รับภาระการชดเชยรายได้ด้วย จำนวน 2,041 ล้านบาท ดังนี้
ส่วนเพิ่มส่วนลดค่าไฟฟ้าขายส่ง (ไม่รวม VAT)
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546
หน่วยซื้อไฟฟ้า (ประมาณการปีงบประมาณ 2547) (ล้านหน่วย) |
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (บาทต่อหน่วย) |
|
กฟน. | 39,909 | 0.1754 |
กฟภ. | 73,563 | (0.1229) |
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อยุติการกำหนดเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าแล้ว ให้นำมาปรับปรุงจำนวน เงินชดเชยรายได้ดังกล่าวย้อนหลังถึงเดือนตุลาคม 2546
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้มีการจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ กฟภ. ในปีงบประมาณ 2547 เป็นการชั่วคราว ผ่านค่า ไฟฟ้าขายส่ง จำนวน 9,041 ล้านบาท โดย กฟน. รับภาระการชดเชยรายได้ จำนวน 7,000 ล้านบาท และ กฟผ. รับภาระการชดเชยรายได้ จำนวน 2,041 ล้านบาท ดังนี้
ส่วนเพิ่มส่วนลดค่าไฟฟ้าขายส่ง (ไม่รวม VAT)
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546
หน่วยซื้อไฟฟ้า (ประมาณการปีงบประมาณ 2547) (ล้านหน่วย) |
ส่วนเพิ่ม (ส่วนลด) ค่าไฟฟ้าขายส่ง (บาทต่อหน่วย) |
|
กฟน. | 39,909 | 0.1754 |
กฟภ. | 73,563 | (0.1229) |
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อยุติการกำหนดเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าแล้ว ให้นำมาปรับปรุงจำนวน เงินชดเชยรายได้ดังกล่าวย้อนหลังถึงเดือนตุลาคม 2546
2. มอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง ขายปลีก และการชดเชยรายได้ให้แล้วเสร็จก่อนการกระจายหุ้น กฟผ. เข้าตลาดหลักทรัพย์ และเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต่อไป
3. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เร่งรัดการปรับปรุงข้อมูลการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2546 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
เรื่องที่ 3 การขยายระยะเวลาปรับลดค่าไฟฟ้าจากการปรับลดแผนการลงทุน จำนวน 7 สตางค์ต่อหน่วย
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 35) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2544 เห็นชอบให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าจากการปรับลดแผนการลงทุน จำนวน 7 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งปรับลดแผนการลงทุนในปีงบประมาณ 2544-2546 ลงจากแผนเดิม 55,000 ล้านบาท ส่งผลให้ความต้องการรายได้สมทบการลงทุนลดลง 14,000 ล้านบาท สามารถลดค่าไฟฟ้าให้ ประชาชนได้ 7 สตางค์/หน่วย เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 - กันยายน 2546 โดยมอบหมายให้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติรับไปดำเนินการ
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2544 (ครั้งที่ 86) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2544 และในการประชุมครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 87) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ได้มีมติรับทราบผลการพิจารณาและผลการดำเนินการตามมติ กพง. ดังกล่าว
3. การปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนจำนวน 7 สตางค์/หน่วย ตามมติ กพง. และ กพช. ข้างต้น ได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนกันยายน 2546 การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ขอให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ขอความชัดเจนในการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่ยืดระยะเวลาไปจากมติ กพง. อีก 4 เดือน คือ เดือนตุลาคม 2546-มกราคม 2547 ทั้งนี้ กฟภ. เห็นว่า หากยังคงให้ กฟภ. รับภาระส่วนลดดังกล่าวต่อไปอีก สมควรให้มีการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาขายส่งให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมโดยเร็วต่อไป
4. การดำเนินการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์ต่อหน่วย ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
4.1 คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในการประชุม ครั้งที่ 6/2544 (ครั้งที่ 100) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการแบ่งรับภาระการปรับลดค่าไฟฟ้าจากการ ปรับลดแผนการลงทุนจำนวน 7 สตางค์/หน่วย โดยพิจารณาจากฐานะการเงินของการไฟฟ้า ในปี 2545 - 2546 ได้แก่ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. รับภาระ 4.2 0.6 และ 22 สตางค์/หน่วย ตามลำดับ
4.2 จากการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย ผ่านการปรับค่า Ft เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ตุลาคม 2544 - กันยายน 2546 การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้ลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนรวม 14,170 ล้านบาท จำแนกเป็น กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เท่ากับ 8,502 1,215 และ 4,453 ล้านบาท ตามลำดับ
5. ข้อเสนอแนวทางการขยายระยะเวลาการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย
5.1 เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายบรรเทาการเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า โดยการตรึงค่า Ft ณ ระดับ 26.12 สตางค์/หน่วย สำหรับการเรียกเก็บจากประชาชนในเดือนมิถุนายน 2546 ถึงมกราคม 2547 ดังนั้น จึงควรให้มีการขยายระยะเวลาการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย ออกไปอีก 4 เดือน ในช่วงเดือนตุลาคม 2546 - มกราคม 2547 ให้สอดคล้องกับระยะเวลาการตรึงค่า Ft ดังกล่าว โดยให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง แบ่งรับภาระในลักษณะเดิม คือ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เท่ากับ 4.2 6.6 และ 2.2 ล้านบาท ตามลำดับ โดย มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติรับไปดำเนินการต่อไป
5.2 การขยายระยะเวลาการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย ออกไปอีก 4 เดือน จะมีผลกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รวม 2,550 ล้านบาท จำแนกเป็น กฟผ. กฟน. และ กฟภ. เท่ากับ 1,530 219 และ 801 ล้านบาท ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์/หน่วย อันเนื่องมาจากการปรับลดการลงทุน ในการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ต่อไปจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
เรื่องที่ 4 การรับภาระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจากการตรึงค่า Ft
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบการรับภาระจากการตรึงค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 - มกราคม 2547 ประมาณ 3,743 ล้านบาท ตามมติของที่ประชุมเรื่องการปรับลดแผนการลงทุนและการเกลี่ยฐานะการเงินของการไฟฟ้า เมื่อวันพุธที่ 24 กันยายน 2546
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ กฟผ. รับภาระการตรึงค่า Ft ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546-มกราคม 2547 จำนวนประมาณ 3,743 ล้านบาท (เป็นค่าประมาณการเบื้องต้น ซึ่งค่าจริงจะปรากฏเมื่อครบกำหนดการตรึงค่า Ft ในเดือนมกราคม 2547) ไปก่อน โดยให้ถือเป็นรายได้ค้างรับ และจะเกลี่ยไปในอนาคตในช่วงที่ค่าไฟฟ้าลดลง ทั้งนี้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี (ภายในปี 2549)
2. มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการปรับปรุงใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่สอดคล้องกับมติข้อ 1 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2546 และจัดส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายโดยเร็ว