สรุปสาระสำคัญจากการประชุม COP 21 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม 2558กรุงปารีส
ประเด็นเจรจาที่สำคัญ :
...............................
สาระสำคัญ :
1.มีเป้าหมายจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือหากเป็นไปได้จะพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
2.ทำให้ก๊าซเรือนกระจกมีระดับการปล่อยสูงสุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้การปล่อยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมนุษย์ และการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ พื้นดิน และมหาสมุทร ให้ได้ภายในช่วงปี 2593-2643 หรือในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21
3.ในการประเมินการแสดงเจตจำนงของแต่ละประเทศ จะมีการทบทวนทุก 5 ปี ซึ่งสำหรับของประเทศไทยนั้น ตาม INDC ที่ส่งเข้าในการประชุม COP21 มีเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 จากระดับที่คาดว่าจะปล่อยในปี 2573 ซึ่งคาดการณ์แล้วว่า ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573 ดังนั้นแล้ว ไทยจะต้องพยายามลดการปล่อยลงให้ได้ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573
4.ข้อตกลงที่บรรลุร่วมกันในกรุงปารีสจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 โดยในระหว่างนี้ ประเทศพัฒนาแล้วยังได้ให้คำมั่นว่าให้เงินสนับสนุน Green Climate Fund จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ภายในปี 2563 ในการช่วยเหลือให้ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาในการปรับตัวกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้มากเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งจะมีการพูดคุยอีกครั้งถึงจำนวนเงินที่จะปรับเพิ่มขึ้นภายในปี 2568
หัวหน้ากองบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยอีกว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะไม่มีการบังคับใช้จนกว่า 55 ประเทศทั่วโลกจะลงนามให้สัตยาบัน (Ratification) ที่จะเปิดให้ลงนามระหว่างวันที่ 22 เมษายน 2559 - 21 เมษายน 2560 โดยประเทศที่ให้สัตยาบันนั้นจะต้องมีสัดส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกิน 55% ของโลก ซึ่งหมายความว่า หากประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกไม่ให้สัตยาบัน การบังคับใช้ข้อตกลงจะเป็นไปได้ยาก โดยข้อมูลจากสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ระบุว่า จีน และสหรัฐเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ที่ร้อยละ 24 และ ร้อยละ 14 ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยนั้น กฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นลักษณะนี้จำเป็นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งในปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทำหน้าที่แทน และในกรณีที่ผ่านสภาแล้ว ประเทศไทยจึงสามารถให้สัตยาบันต่อข้อตกลงปารีสต่อไป
ข้อมูล : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย