มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 13/2554 (ครั้งที่ 71)
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 11.30 น.
ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (ENCO) อาคารบี
2. การกำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100)
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงเอทานอล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ประธานกรรมการ
ผู้ตรวจราชการกระทรวง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายบุญส่ง เกิดกลาง) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 ซึ่งในการดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึง 23 มีนาคม 2554 ได้มีการปรับอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รวม 12 ครั้ง กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายชดเชยเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปแล้วจนถึงวันที่ 4 เมษายน 2554 ประมาณ 17,242 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 4 เมษายน 2554 มีเงินสดในบัญชี 34,482 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 22,130 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 21,771 ล้านบาท งบบริหารและโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 359 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะเบื้องต้นสุทธิ 12,351 ล้านบาท โดยยังมีหนี้ที่มีมติไปแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย 14,361 ล้านบาท แยกเป็นหนี้เงินชดเชยค่าปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รถแท๊กซี่ 1,200 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG จากโรงกลั่นในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า 1,428 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยการตรึงราคาก๊าซ NGV (กันยายน 2553 - กุมภาพันธ์ 2554) 2,094 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยการตรึงราคาก๊าซ NGV (มีนาคม - มิถุนายน 2554) 1,547 ล้านบาท และหนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG นำเข้า (มีนาคม - มิถุนายน 2554) 8,092 ล้านบาท
2. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับสูง โดยวันที่ 1 เมษายน 2554 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 111.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราเงินชดเชยครั้งที่แล้ว ณ วันที่ 21 มีนาคม 2554 อยู่ที่ 2.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ระดับ 124.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 3.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 134.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 2.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นผู้ค้าน้ำมันได้ปรับราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น โดยมีผลเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2554 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 อยู่ที่ 37.94 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วยังคงราคาอยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 4 เมษายน 2554 อยู่ที่ 0.8763 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดเฉลี่ย 5 วัน อยู่ที่ 1.2013 บาทต่อลิตร
3. จากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลของผู้ค้าน้ำมันไม่ให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร จากชดเชย 5.10 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 5.40 บาทต่อลิตร โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2554 เป็นต้นไป โดยจะทำให้ค่าการตลาดมาอยู่ที่ 1.1763 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดเฉลี่ย 5 วันทำการ อยู่ที่ 1.2613 บาทต่อลิตร ภาระกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 16.7 ล้านบาทต่อวัน จากวันละ 331.1 ล้านบาท เป็นวันละ 347.8 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาขึ้น 0.30 บาทต่อลิตร จากชดเชย 5.10 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 5.40 บาทต่อลิตร และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2554 เป็นต้นไป
เรื่องที่ 2 การกำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซล (B100) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลซึ่งคำนึงถึงวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์และสเตียรีน โดยราคาขายน้ำมันปาล์มดิบที่ใช้ในการคำนวณ ใช้ราคาขายส่งสินค้าเกษตรน้ำมันปาล์มดิบชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามที่กรมการค้าภายในเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก (ตลาดมาเลเซีย) บวก 3 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยสัปดาห์ก่อนหน้า เช่น ใช้ราคาในสัปดาห์ที่ 1 นำไปคำนวณราคาในสัปดาห์ที่ 2
2. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 กบง. มีมติเห็นชอบให้ปรับเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) ใช้ราคาปาล์มดิบในเขตกรุงเทพมหานคร (บาทต่อกิโลกรัม) ชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) ต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 โดยมอบหมายให้ สนพ. รับไปศึกษารายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและ กบง. ต่อไป
3. คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 ได้มีมติเห็นชอบให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มในราคากิโลกรัมละ 36.28 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มที่มีคุณภาพเท่านั้น พร้อมติดป้ายประกาศรับซื้อผลปาล์มน้ำมันในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 6.00 บาท ที่อัตราน้ำมันจากผลปาล์มขั้นต่ำร้อยละ 17 หากอัตราน้ำมันจากผลปาล์มเกินร้อยละ 17 ให้ปรับราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน รวมทั้งให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มมีสิทธิปฏิเสธรับซื้อผลปาล์มน้ำมัน หากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันไม่มีคุณภาพ
4. ณ วันที่ 25 มีนาคม 2554 ราคา CPO ที่คิดจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม มีการปรับตัวลงมาอยู่ที่ 31.96 บาทต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ประกาศโดยกรมการค้าภายในที่ 32.25 4 ของเดือนมีนาคม 2554 ราคา CPO ที่คิดจากราคาปาล์มทะลายในประเทศลดลงมาอยู่ที่ 32.07 ใกล้เคียงกับราคา CPO ที่ประกาศโดยกรมการค้าภายใน ซึ่งอยู่ที่ 32.42 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ย CPO ที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลายในเดือนกันยายน และตุลาคม 2553 ซึ่งเป็นเดือนที่มีผลผลิตปาล์มทะลายออกตามปกติ พบว่ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 32.95 และ 35.59 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าราคาปาล์มทะลายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
5. ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นว่า การใช้เพดาน CPO ที่คิดจากปาล์มทะลายจะเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต B100 มากกว่าการกำหนดจากราคา MPOB+3 เนื่องจากราคา CPO ที่รับซื้อจะสะท้อนต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการใช้เพดาน MPOB+3 เหมาะสำหรับช่วงภาวะปกติเท่านั้น ซึ่งในช่วงที่ผลผลิตออกน้อย (พฤศจิกายน -กุมภาพันธ์) จะทำให้ราคา CPO ตามประกาศกรมการค้าภายในสูงกว่า MPOB+3 ค่อนข้างมาก ดังนั้น เพื่อให้การคำนวณราคาอ้างอิงน้ำมันไบโอดีเซลสอดคล้องกับความเป็นจริงและสะท้อนต้นทุนการผลิต เห็นควรกำหนดเพดานโดยใช้ CPO ที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลายแทน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย บวก 3 บาทต่อกิโลกรัม ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) และให้ใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100)
เรื่องที่ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงเอทานอล
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิต (Cost Plus) ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 คณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิตโดยเปลี่ยนแปลงเฉพาะในส่วนราคากากน้ำตาลที่เดิมใช้ราคาส่งออกตามประกาศเผยแพร่โดยกรมศุลกากร (บาทต่อกิโลกรัม) จากการคำนวณราคาเฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลัง เป็นราคาเฉลี่ยเดือนที่ 1 นำไปคำนวณราคาในเดือนที่ 3 เพื่อให้ราคาเอทานอลสะท้อนราคาตลาดเร็วขึ้น ทั้งนี้ กรณีมีเดือนที่มีราคากากน้ำตาลสูงหรือต่ำกว่าราคาของเดือนก่อนเกินร้อยละ 50 ให้ผู้อำนวยการ สนพ. สามารถพิจารณาใช้ราคาเฉลี่ย 3 เดือน ย้อนหลังมาคำนวณราคาอ้างอิงเอทานอลได้
2. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 กบง. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิตเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2554 และเห็นชอบใช้ราคากากน้ำตาลตามประกาศเผยแพร่โดยกรมศุลกากรเฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลัง ถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณส่งออก (บาทต่อกิโลกรัม) เพื่อคำนวณราคาอ้างอิงเอทานอลในเดือนมกราคม - มีนาคม 2554
3. ปัจจุบัน สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาอ้างอิงเอทานอล เพื่อให้สะท้อนต้นทุน เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 3 เดือน ดังนั้น ในระหว่างการศึกษาทบทวน สนพ. มีความเห็นว่าการกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน ยังมีความเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่ จึงเห็นควรให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิตเดิมต่อไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 และมอบให้ สนพ. นำเสนอผลการศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเอทานอลอ้างอิงต่อ กบง. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2554
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงเอทานอลจากต้นทุนการผลิต ตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2554 ต่อไปอีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานนำเสนอผลการศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเอทานอลอ้างอิงต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2554
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) ได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบเกี่ยวกับการตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ซึ่งประสบอุทกภัย ในช่วงวันที่ 1 - 4 เมษายน 2554 พบว่าสถานีบริการฯ ขนาดใหญ่จำนวนทั้งหมด 492 แห่ง มีจำนวน 32 แห่ง ที่ไม่สามารถเปิดบริการได้ คิดเป็นร้อยละ 6.5 ของสถานีบริการฯ ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเนื่องจากเกิดอุทกภัยจึงไม่มีรถยนต์ มาใช้บริการ ส่วนก๊าซ LPG มีคลังอยู่ที่จังหวัดสงขลาและสุราษฎร์ธานี โดยคลังสุราษฎร์ธานีรับก๊าซ LPG ทางเรือจากโรงแยกก๊าซขนอม ส่วนคลังสงขลาจะรับก๊าซ LPG จากคลังเขาบ่อยา ซึ่งไม่มีปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG แต่อาจจะมีปัญหารถขนส่งก๊าซ LPG ไม่สามารถขนส่งไปยังโรงบรรจุก๊าซและสถานีบริการได้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ