มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 11/2554 (ครั้งที่ 69)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09.00 น.
ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (ENCO) อาคารบี
2. การขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปี 2554
3. สรุปผลการสอบทานการเบิก - จ่าย และควบคุมเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2553
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราวประมาณ 2 - 3 เดือน โดยมอบหมายคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับไปดำเนินการ และถ้าหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ และเงินกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอ ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม และให้นำเสนอ กพช. ในการพิจารณาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 โดยมอบหมาย กบง. รับไปดำเนินการ หากฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิเหลือวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
2. ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2554 ได้มีการปรับอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วรวม 10 ครั้ง กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายชดเชยเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2554 ไปแล้วประมาณ 12,474 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 14 มีนาคม 2554 มีเงินสดในบัญชี 34,479 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 17,393 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 17,033 ล้านบาท งบบริหารและโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 359 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะเบื้องต้นสุทธิ 17,086 ล้านบาท โดยยังมีหนี้ที่มีมติไปแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย 14,361 ล้านบาท แยกเป็นหนี้เงินชดเชยค่าปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์รถแท๊กซี่ 1,200 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG จากโรงกลั่นในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า 1,428 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยการตรึงราคาก๊าซ NGV (กันยายน 2553 - กุมภาพันธ์ 2554) 2,094 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยการตรึงราคาก๊าซ NGV (มีนาคม - มิถุนายน 2554) 1,547 ล้านบาท หนี้เงินชดเชยก๊าซ LPG นำเข้า (มีนาคม - มิถุนายน 2554) 8,092 ล้านบาท
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง โดยวันที่ 16 มีนาคม 2554 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 104.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากวันก่อน 1.85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ระดับ 116.12 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 1.88 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 128.30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 1.64 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันปรับลดลงด้วย ทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาอยู่ที่ 1.3280 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดเฉลี่ย 5 วัน อยู่ที่ 1.2517 บาทต่อลิตร
4. จากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง ดังนั้นเพื่อเป็นการลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับลดเงินชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจากกองทุนน้ำมันฯ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลง 0.20 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ที่ 1.1280 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องจากติดลบ 302 ล้านบาทต่อวัน เป็นติดลบ 291 ล้านบาทต่อวัน ภาระกองทุนน้ำมันฯ ลดลงประมาณ 11 ล้านบาทต่อวัน และแนวทางที่ 2 ปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลง 0.30 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ที่ 1.0280 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องจากติดลบ 302 ล้านบาทต่อวัน เป็นติดลบ 286 ล้านบาทต่อวัน ภาระกองทุนน้ำมันฯ ลดลงประมาณ 16 ล้านบาทต่อวัน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาลง 0.30 บาทต่อลิตร จากชดเชย 5.00 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 4.70 บาทต่อลิตร และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป
เรื่องที่ 2 การขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปี 2554
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 กบง. ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2553-2555 จำนวนเงินปีละ 300 ล้านบาท โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในปีถัดไปได้ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองกองกลางให้กับหน่วยงานต่างๆ ใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 กบง. ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ในการดำเนินงานโครงการของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จำนวน 1 โครงการ ในวงเงิน 20 ล้านบาท และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) 2 โครงการ จำนวนเงินรวม 71.2175 ล้านบาท รวม 3 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 91.2175 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่สามารถอนุมัติได้รวม 208.7825 ล้านบาท
2. หน่วยงานในกระทรวงพลังงานได้จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ คือ 1) โครงการศึกษาวิธีการพัฒนาระบบและแนวทางปฏิบัติในการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน ระดับประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (สป.พน.) ในวงเงิน 6.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา และ 2) โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของ สนพ. ในวงเงิน 28 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 11 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
3. โครงการศึกษาวิธีการพัฒนาระบบและแนวทางปฏิบัติในการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานระดับประเทศ ของ สป.พน. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกำหนดแนวทางปฏิบัติ วิธีการ ทดสอบระบบ ในการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานระดับประเทศ โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบและปฏิบัติได้อย่างเป็นระบบ ดำเนินงานโดยจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
3.1 ศึกษาลักษณะการเกิดสภาวะวิกฤตด้านพลังงานของประเทศที่ผ่านมาในอดีตไม่น้อยกว่า 2 ปี วิเคราะห์ต้นเหตุด้านการจัดหา (Supply) การแปรรูป (Transformation) การขนส่ง (Transportation) และการจำหน่ายจ่ายแจก (Distribution) ศึกษาการแก้ไขสภาวะวิกฤตด้านพลังงานดังกล่าว
3.2 ศึกษาและเสนอแนะ Institutional Framework โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระบบรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานไม่น้อยกว่า 2 ประเทศ
3.3 ศึกษาและพัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจ โดยรวบรวมข้อมูลด้านระบบการจัดหาพลังงานของประเทศซึ่งครอบคลุมระบบน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ข้อมูลด้านการสำรองเชื้อเพลิง การขนส่งเชื้อเพลิง การผลิตและแปรรูปพลังงาน ความสามารถในการเปลี่ยนเชื้อเพลิง และการจำหน่ายจ่ายแจกพลังงานสู่ผู้ใช้ พร้อมทั้งจัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่แสดงความเชื่อมโยงของข้อมูลในระบบพลังงานดังกล่าว
3.4 ศึกษาและจัดทำการวิเคราะห์ภาพฉาย (Scenario analysis) ของการแก้ไขสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน โดยใช้กรณีศึกษาจากเหตุการณ์ในข้อ 3.1 เปรียบเทียบผลที่ได้จากภาพฉายและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งปรับปรุงระบบวิเคราะห์ข้อมูลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และจัดให้มีการซักซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.5 งบประมาณ 6,500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา โดยแบ่งเป็นระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน ระยะเวลาตรวจรับงานและเบิกจ่าย 2 เดือน
4. โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของ สนพ. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 11 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการตามแผนงานประชาสัมพันธ์ฯ 10 เดือน และระยะเวลาในการเบิกจ่าย 1 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้ความรู้ ความเข้าใจ รับทราบความจำเป็น และยอมรับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG (2) เพื่อสร้างการยอมรับในกลุ่มเป้าหมายต่อแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ของภาคอุตสาหกรรม และกรณีทยอยการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคขนส่งและครัวเรือนในอนาคต (3) เพื่อเผยแพร่มาตรการความช่วยเหลือต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG (4) ประชาสัมพันธ์โดยเผยแพร่กฎหมาย บทลงโทษ ผลเสีย ในกรณีลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือการลักลอบถ่ายเทก๊าซ LPG และ (5) เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG เช่น วิธีใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดก๊าซ LPG และวิธีใช้ก๊าซ LPG อย่างปลอดภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มแก้ว กระจก ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ สื่อมวลชนผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดำเนินการ ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมีข้อความสื่อสารหลัก คือ (1) ความรู้ความเข้าใจเรื่องราคาก๊าซ LPG (2) ประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และ (3) ประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG
ในการดำเนินการ โครงการใช้งบประมาณในวงเงิน 28 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) ผลิตสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 2 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน แทรกในรายการโทรทัศน์ประเภทข่าว เผยแพร่ไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ทาง Free TV และซื้อเวลาในรายการโทรทัศน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหรือพิธีกรชี้แจงให้รายละเอียดข้อมูล ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท
(2) ผลิตสารคดีวิทยุ ความยาว 1 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน เผยแพร่ในคลื่นกลุ่มผู้นำความคิด คลื่นข่าว คลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมต่อกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มประชาชนในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาค โดยเผยแพร่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง และต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท
(3) ผลิตและเผยแพร่สกู๊ปในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ขนาด ¼ หน้า ขาว-ดำ ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ และสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท
(4) จัดสัมมนา 2 ครั้ง ไปยังกลุ่มเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG และได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับนโยบายการปรับราคา รวมถึงรับทราบมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และวิธีการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท
(5) จัด Press Tour 2 ครั้ง เพื่อเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และชี้แจงถึงการส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพเพี่อลดต้นทุนการผลิต ใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาท
(6) จัดกิจกรรมบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เรื่องการใช้ก๊าซ LPG ในภาค อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคา LPG จำนวน 1 ครั้ง ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท
(7) สื่อมวลชนสัมพันธ์ ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท โดยจัดส่ง Fact Sheet ข้อมูลความรู้ LPG เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อต่างๆ และพลังงานจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมทั้งจัดผู้บริหารพบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และสื่อมวลชนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ตลอดจนจัดแถลงข่าว นโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือและอื่นๆ ตามความเหมาะสม
(8) ผลิตและเผยแพร่ โปสเตอร์ แผ่นพับ รวมไม่น้อยกว่า 20,000 แผ่น ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้รู้วิธีเตรียมพร้อม และใช้ก๊าซอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกวิธี ใช้งบประมาณ 9 แสนบาท
(9) เผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ตามสถานการณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
(10) ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามสถานการณ์ที่ สนพ. เห็นสมควร โดยผู้รับจ้างต้องจัดทำแผนและแสดงงบประมาณขออนุมัติต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุก่อนดำเนินการทุกครั้ง โดยผู้รับจ้างสามารถคิดค่าบริการไม่เกิน 10% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตลอดระยะเวลาของสัญญาการดำเนินการ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท
5. คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 ได้มีมติดังนี้ 1) อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ให้ สป.พน. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โครงการศึกษาวิธีการพัฒนาระบบและแนวทางปฏิบัติในการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานระดับประเทศ ในวงเงิน 6,500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา โดยให้สามารถถัวจ่ายระหว่างรายการและแยกดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ และให้เริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ 2554 และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป และ 2)เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยมอบให้ สนพ. ไปพิจารณาปรับลดงบประมาณให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะดำเนินการตามร่างขอบเขตของงาน (Term of Reference, TOR) และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 2 โครงการ ในวงเงินรวม 34,500,000 บาท (สามสิบสี่ล้านห้าแสนบาทถ้วน) ดังนี้
1. โครงการศึกษาวิธีการพัฒนาระบบและแนวทางปฏิบัติในการรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน ระดับประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 6,500,000 บาท (หกล้านห้าแสนบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินงาน 10 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
2. โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในวงเงิน 28,000,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินงาน 11 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
โดยให้แต่ละโครงการสามารถถัวจ่ายระหว่างรายการและแยกดำเนินการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งนี้ให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ และให้เริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ 2554
เรื่องที่ 3 สรุปผลการสอบทานการเบิก - จ่าย และควบคุมเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2553
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและการเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2549 หมวด 6 การตรวจสอบภายใน ข้อ 18 ให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แล้วรายงานให้ปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อนำเสนอคณะกรรมการทราบ
2. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ได้มีมติรับทราบผลสอบทานการปฏิบัติงานในการเบิก - จ่าย และควบคุมเงินกองทุนน้ำมันฯ ประจำปีงบประมาณ 2553 โดยสรุปผลได้ดังนี้
2.1 การขอเบิกและจ่ายเงินกองทุนน้ำมันฯ และการนำส่งเงินคืนคงเหลือ ดอกผล และรายรับอื่นๆ ของโครงการที่ปิดโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 พบว่ามีเอกสารประกอบการเบิกจ่าย และเอกสารประกอบเงินคืนคงเหลือ ดอกผล และรายรับอื่นๆ ครบถ้วน
2.2 จากการสุ่มกระทบยอดการโอนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 669 รายการ จำนวนเงิน 744,049,683.46 บาท พบว่าอัตราเงินส่งเข้ากองทุนถูกต้องและเป็นไปตามประกาศ กบง. ทั้งนี้ มีบางรายการที่โอนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มเติมเฉพาะส่วนของสารเติมแต่ง (additive) และ Ethanol/b100 โดยไม่ได้แนบหลักฐานการส่งเงินให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนที่เคยนำส่งเงินแล้วมาด้วย
2.3 หน่วยงานราชการบางแห่ง จัดส่งสำเนาใบนำส่งเงิน และสำเนาใบนำฝากให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) ใช้ระยะเวลาเกิน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบ ส่งผลให้การบันทึกบัญชีของสถาบันล่าช้าไปด้วย
2.4 ผลการสอบทานประเด็นอื่นๆ ที่มีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ได้สรุปผลการสอบทานและได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ตามที่ได้เสนอแนะร่วมกับสถาบันแล้ว
3. คณะกรรมการตรวจสอบ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในกรณีที่มีการโอนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เฉพาะส่วนของสารเติมแต่ง additive) และ Ethanol/b100 สบพน. ควรกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการตรวจสอบและติดตามเอกสารในส่วนที่มีการโอนเงินให้กองทุนน้ำมันฯ แล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการนำส่งเงินถูกต้องครบถ้วน และควรมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานราชการ ที่ต้องส่งสำเนาใบนำส่งเงิน และสำเนาใบนำฝาก มาให้ สบพน. เพื่อหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและเป็นไปได้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบกระทรวงพลังงาน ว่าด้วยการฝากและเบิกจ่ายเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2549 อย่างเคร่งครัด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ