มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2554 (ครั้งที่ 65)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 217 อาคารรัฐสภา 2
1. ขอขยายระยะเวลาการใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100)
5. การขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน
6. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมฯ ทราบว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ขยายการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG และ NGV ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 และให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชย NGV ในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม และเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ กพช. เสนอ และได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณาหาแนวทางการชะลอการใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง โดยใช้มาตรการภาษีทะเบียนรถยนต์ และให้นำเสนอ กพช. ในครั้งต่อไป
เรื่องที่ 1 ขอขยายระยะเวลาการใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซล (B100) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลซึ่งคำนึงถึงวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล 3 ชนิด คือ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์และสเตียรีน ดังนี้
B100 = | (B100CPO x QCPO)+(B100RBD x QRBD)+(B100ST x QST) |
QTotal |
ราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)
B100CPO = 0.94CPO + 0.1MtOH + 3.82
ราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากสเตียรีน
B100ST = 0.86ST + 0.09MtOH + 2.69
ราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD)
B100RBD = 0.93RBD + 0.1MtOH + 2.69
โดยที่
CPO | คือ | ราคาขายน้ำมันปาล์มดิบในเขตกรุงเทพมหานคร (บาทต่อกิโลกรัม) ใช้ราคาขายส่งสินค้าเกษตรน้ำมันปาล์มดิบชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามที่กรมการค้าภายในเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก (ตลาดมาเลเซีย) บวก 3 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ย สัปดาห์ก่อนหน้า เช่น ใช้ราคาในสัปดาห์ที่ 1 นำไปคำนวณราคาในสัปดาห์ที่ 2 |
ST | คือ | ราคาขายสเตียรีนบริสุทธิ์ในเขตกรุงเทพมหานคร (บาทต่อกิโลกรัม) ตามที่กรมการค้าภายในเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาขายน้ำมันปาล์มดิบในเขตกรุงเทพมหานคร โดยใช้ราคาสเตียรีนบริสุทธิ์เฉลี่ยสัปดาห์ก่อนหน้า เช่น ใช้ราคาในสัปดาห์ที่ 1 นำไปคำนวณราคาในสัปดาห์ที่ 2 |
RBD | คือ | ราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD) ใช้ราคาขายน้ำมันปาล์มดิบในเขตกรุงเทพมหานคร (บาทต่อกิโลกรัม) สัปดาห์ก่อนหน้า บวกค่าแปรสภาพ 3 บาทต่อกิโลกรัม จนกว่ากรมการค้าภายในจะประกาศราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD) |
2. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 กบง. มีมติเห็นชอบให้ปรับเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) ใช้ราคาปาล์มดิบในเขตกรุงเทพมหานคร (บาทต่อกิโลกรัม) ชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการชั่วคราวถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้นให้กลับมาใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล (B100) ให้ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย บวก 3 บาทต่อกิโลกรัมทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ กบง. มีมติให้ความเห็นชอบจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554
3. ปัจจุบันสต๊อคน้ำมันปาล์มในประเทศมีปริมาณต่ำมาก เนื่องมาจากภัยแล้งช่วงต้นปี 2553 ประกอบกับวิกฤตอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย และเกินราคาตลาดมาเลเซีย บวก 3 บาทต่อกิโลกรัม (MPOB+3) และมีแนวโน้มที่ราคา CPO จะสูงกว่า MPOB+3 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้พิจารณาปรับโครงสร้างราคาประกาศไบโอดีเซลอย่างเร่งด่วน เนื่องจากราคาประกาศไบโอดีเซลต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจริงอยู่มาก โดยให้พิจารณายกเลิกเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่เกินตลาดมาเลเซีย บวก 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
4. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 กบง. มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานขอความร่วมมือบริษัทผู้ค้าน้ำมันงดการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2554 ทั้งนี้ให้คงการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี3 ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงพลังงานเพื่อขอให้ยกเลิกการกำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่เกินตลาดมาเลเซีย บวก 3 บาทต่อกิโลกรัมและเพดานไม่เกินราคาจากปาล์มทะลาย (17% +2.25) เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดจากปาล์มทะลายคิดเป็นร้อยละ 13 -14 ซึ่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการอ้างอิง (ร้อยละ 17) เนื่องจากราคาปาล์มทะลายสูงขึ้น จึงทำให้เกษตรกรเร่งตัดผลผลิตที่ยังดิบมาจำหน่าย และเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 กบง. มีมติเห็นชอบให้ปรับลดปริมาณการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 2 (สัดส่วนขั้นต่ำจากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1.5)
5. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 คณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 และให้นำเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป
6. ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) ต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 และมอบหมายให้ สนพ. รับไปศึกษารายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและ กบง.ต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมันร้อยละ 17) บวกค่าสกัด 2.25 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อใช้ในการคำนวณราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) ต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปศึกษารายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาอ้างอิงไบโอดีเซล (B100) เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานต่อไป
เรื่องที่ 2 การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นการชั่วคราวประมาณ 2 - 3 เดือน โดยมอบหมาย กบง. รับไปดำเนินการ และถ้าหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ และเงินกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ไม่เพียงพอ ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม และให้นำเสนอ กพช. ในการพิจารณาต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 โดยมอบหมาย กบง. รับไปดำเนินการ
2. การดำเนินการที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึง 12 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีการปรับอัตราเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รวม 7 ครั้ง โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาได้รับการชดเชยสะสมไปแล้ว 3.65 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ได้รับการชดเชยสะสมไปแล้ว 3.55 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายชดเชยเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ไปแล้วประมาณ 7,196 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 มีเงินสดในบัญชี 35,430 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 12,581 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 12,311 ล้านบาท งบบริหารและโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 270 ล้านบาท กองทุนน้ำมันจึงมีฐานะสุทธิ 22,849 ล้านบาท
3. สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวในระดับสูง จากการประท้วงอันรุนแรงในลิเบียและอาจแผ่ลุกลามต่อไปยังชาติผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อื่นๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่อาจเกิดความรุนแรงในลักษณะเดียวกันกับอียิปต์และตูนีเซียได้ โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 104.61 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ระดับ 114.60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 120.09 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ที่ระดับ 40.24 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 อยู่ที่ระดับ 35.84 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 สนพ. ได้ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงราคาอยู่ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และ บี5 อยู่ที่ 0.9416 บาทต่อลิตร และ 1.2182 บาทต่อลิตร ตามลำดับ จากค่าการตลาดที่อยู่ในระดับต่ำอาจทำให้ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วขึ้นอีก ส่งผลให้ราคาขายปลีกเกิน 30.00 บาทต่อลิตร
4. จากค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 0.9416 บาทต่อลิตร แต่ราคาน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ปิดครึ่งวันของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 เพิ่มขึ้น 3 - 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.60 - 0.80 บาทต่อลิตร ดังนั้น จึงเห็นควรปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร เพื่อชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลของผู้ค้าน้ำมันไม่ให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร ในช่วงวันที่ 24 - 28 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม 2554 จะมีการลดส่วนผสมของไบโอดีเซลลงจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 มีผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี2 ลดลงประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ จะนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยหากเห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร จากชดเชย 3.50 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 4.30 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร จากชดเชย 4.05 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 4.85 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องจากติดลบ 194 ล้านบาทต่อวัน เป็นติดลบ 233 ล้านบาทต่อวัน
มติที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ขึ้น 0.50 บาทต่อลิตร จากชดเชย 3.50 บาทต่อลิตร เป็นชดเชย 4.00 บาทต่อลิตร และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2553-2555 จำนวนเงินปีละ 300 ล้านบาท โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในปีถัดไปได้ เพื่อเป็นเงินทุนสำรองกองกลางให้กับหน่วยงานต่างๆ ใช้เมื่อมีเหตุจำเป็น ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 สนพ. ได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 1 โครงการ คือ "โครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ ปีงบประมาณ 2554" ในวงเงิน 20,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องจากโครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งระยะเวลาดำเนินโครงการสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553
2. โครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ ปีงบประมาณ 2554 มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์และนโยบายพลังงาน ความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการใช้พลังงาน 2) เพื่อเผยแพร่และชี้แจงข้อเท็จจริง แก้ไขข้อมูลด้านลบกรณีเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน 3) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ผลงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กองทุนน้ำมันฯ กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่สำคัญสู่การปฏิบัติ กลุ่มเป้าหมายเกิดทัศนคติที่ดี เกิดการยอมรับและการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในเรื่องพลังงานอย่างดีและเป็นรูปธรรม
3. ลักษณะโครงการ เป็นโครงการผลิตและเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร นโยบายพลังงาน กิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน และ สนพ. ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ตามความเหมาะสม มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ สื่อมวลชน บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ นักวิชาการ ประชาชน และผู้ประกอบการด้านพลังงาน และกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนงานและกิจกรรม ดังนี้ 1) ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพลังงานผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ อาทิ สกู๊ปข่าวโทรทัศน์ วิทยุ บทความทางสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยภาษาทางการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ในสถานการณ์หรือช่วงเวลาที่เหมาะสม 2) จัดสัมมนา หรือกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องพลังงาน โดยร่วมมือกับภาครัฐหรือเอกชนในโอกาสต่างๆ และ 3) เผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านพลังงาน โดยสอดแทรกในกิจกรรมสำคัญของกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างๆ จัดกิจกรรม ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานต่างๆ อย่างเหมาะสม หรือตามที่ สนพ. เห็นสมควร
4. คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ให้ สนพ. ในการดำเนินงานโครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ ปีงบประมาณ 2554 ในวงเงิน 20,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ โดยให้เริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ 2554 และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ในการดำเนินงานโครงการประชาสัมพันธ์พลังงานตามสถานการณ์ ปีงบประมาณ 2554 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในวงเงิน 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา โดยให้เบิกจ่ายตามที่ใช้จ่ายจริงภายในวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ และให้เริ่มดำเนินโครงการภายในปีงบประมาณ 2554
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 กบง. ได้มีมติอนุมัติงบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2553 - 2555 จำนวนเงินปีละ 300 ล้านบาท โดยเงินเหลือจ่ายดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในปีถัดไปได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้มีหนังสือขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ในการดำเนินงาน "โครงการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับเหรียญรางวัล ในโครงการปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ"
2. ในปีที่ผ่านมา ธพ. ได้ดำเนินโครงการ ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ ปีที่ 3 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปรับปรุง พัฒนาและยกระดับคุณภาพการให้บริการและการควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดย ธพ. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานของสถานีบริการฯ ในด้านคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ความปลอดภัย สะอาด สะดวก และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ จากผลการดำเนินโครงการในช่วงปี 2551 - 2553 ธพ. คาดว่ามีสถานีบริการน้ำมันที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน และได้รับเหรียญรางวัลประมาณ 1,000 แห่ง ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์สถานีบริการที่ได้รับรางวัล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงพลังงาน ในด้านคุณภาพน้ำมัน มาตรฐานความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานการให้บริการ
3. ธพ. จึงขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ เพื่อดำเนิน "โครงการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมัน ที่ได้รับเหรียญรางวัล ในโครงการ ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับเหรียญรางวัลจากโครงการ "ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ" ให้เป็นที่รู้จัก และสร้างแรงจูงใจให้สถานีบริการน้ำมันได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย และบริการที่ดีให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนดำเนินการโดยการจัดจ้างทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ให้สถานีบริการน้ำมันที่ได้รับเหรียญรางวัลจากโครงการ "ปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ" ตั้งแต่ปี 2551 - 2553 ทั่วประเทศ โดยแผ่นป้ายมีขนาด 80 × 120 เซนติเมตร ทำจากอะครีลิค ชนิดโปร่งแสง จำนวน 1,000 ชุด ราคาค่าออกแบบและจัดทำป้าย 4,000 บาทต่อหน่วย รวมเป็นเงิน 4,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน (มีนาคม - มิถุนายน 2554)
4. อบน. ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ให้ ธพ. ในการดำเนินโครงการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับเหรียญรางวัล ในโครงการปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ ในวงเงิน 4,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2554 และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ในการดำเนินงานโครงการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีบริการน้ำมันที่ได้รับเหรียญรางวัล ในโครงการปั๊มคุณภาพ ปลอดภัย น่าใช้บริการ ของกรมธุรกิจพลังงาน ในวงเงิน 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2554
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 กบง. ได้มีมติอนุมัติเงินกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เพื่อดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน ในวงเงิน 55.8 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2550 - กันยายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมสัมมนา เป็นศูนย์ทดสอบและวิเคราะห์วิจัยธุรกิจพลังงาน ของ ธพ. ในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์ทดสอบถังและอุปกรณ์ NGV ศูนย์ปฏิบัติการทดสอบและวิเคราะห์น้ำมันเชื้อเพลิงและสารหล่อลื่น เป็นต้น ลักษณะโครงการเป็นการปรับปรุงและสร้างอาคารฝึกงาน อาคารห้องปฏิบัติการอบรม NDT (Nondestructive Test) อาคารปฏิบัติการและสำนักงานของสำนักควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แบ่งงบประมาณเป็น 3 ปี คือ ปีงบประมาณ 2551 - 2553 จำนวนเงิน 12, 20 และ 23.8 ล้านบาท ตามลำดับ
2. ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ธพ. ได้มีหนังสือขอขยายเวลาการดำเนินการโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน โดยแจ้งว่า ธพ. ได้ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง วางผังแม่บทและออกแบบอาคาร ซึ่งขั้นตอนการออกแบบอาคารมีความล่าช้า คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 ธพ. จึงจำเป็นต้องขอขยายเวลาดำเนินโครงการฯ เพิ่มอีก 15 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และขอยกเลิกการทยอยเบิกจ่ายในแต่ละปี (ปี 2551 - 2553) โดยให้สามารถเบิกจ่ายได้ภายในวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 55.8 ล้านบาท
3. อบน. ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2553 ได้พิจารณาเรื่อง การขอขยายเวลาการดำเนินการโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน ซึ่งเดิม ธพ. วางแผนก่อสร้าง 3 อาคาร คือ (1) อาคารฝึกอบรมและติดตั้งอุปกรณ์ NGV (2) อาคารทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิง และ (3) อาคารปฏิบัติการฝึกอบรม NDT แต่จากที่กรมโยธาธิการฯ ออกแบบให้ พบว่าในงบ 55.8 ล้านบาท สามารถก่อสร้างได้เพียงอาคาร (1) และ (2) ซึ่งที่ประชุมฯ มีความเห็นว่าเนื่องจากงบประมาณที่ใช้จ่ายจริงตามแบบก่อสร้าง สูงกว่างบประมาณที่ได้รับอนุมัติ จึงให้ ธพ. ไปทบทวนแผนการดำเนินงานใหม่ โดยสามารถปรับปรุงแผนงานและงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายจริงตามความจำเป็น แล้วนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ที่ประชุม อบน. จึงมีมติให้ ธพ. ไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป
4. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 และวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ธพ. ได้มีหนังสือถึง สนพ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างอาคารพร้อมทั้งวงเงินในการก่อสร้างและขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน โดยขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างและวงเงินในการก่อสร้างจากเดิม เป็น (1) ก่อสร้างอาคารฝึกอบรมและติดตั้งอุปกรณ์ NGV จำนวนเงิน 12,633,000 บาท (2) ก่อสร้างอาคารทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนเงิน 68,915,000 บาท และ (3) ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการฝึกอบรม NDT จำนวนเงิน 40,985,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 122,533,000 บาท พร้อมทั้งขอขยายเวลาดำเนินโครงการฯ เป็นสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 กันยายน 2555
5. อบน. ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ได้พิจารณาเรื่อง การขอเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างอาคารพร้อมทั้งวงเงินในการก่อสร้างและขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน และได้มีมติมอบหมายให้ ธพ. ทำเรื่องขอยกเลิกการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน วงเงิน 55.8 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก กบง. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 และให้จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 เพื่อใช้ในการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงานขึ้นใหม่ เฉพาะในส่วนการก่อสร้างอาคารทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิง โดยขออนุมัติในวงเงินที่ประกวดราคาค่าก่อสร้างได้รวมกับค่า K (Escalation Factor) และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กบง. พิจารณาต่อไป
6. ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ธพ. ได้มีหนังสือขอยกเลิกการดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน วงเงิน 55.8 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก กบง. เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 และ ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ในวงเงิน 67,217,500 บาท (วงเงินค่าก่อสร้าง 58,450,000 บาท และค่า K (Escalation Factor) = 8,767,500 บาท) เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิง ในโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
มติของที่ประชุม
อนุมัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง งบค่าใช้จ่ายอื่น ปีงบประมาณ 2554 ให้กรมธุรกิจพลังงาน ในการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคนิคพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารทดสอบน้ำมันเชื้อเพลิง ในวงเงิน 67,217,500 บาท (หกสิบเจ็ดล้านสองแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน) แบ่งเป็นวงเงินค่าก่อสร้างจำนวนเงิน 58,450,000 บาท (ห้าสิบแปดล้านสี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และค่า K (Escalation Factor) จำนวนเงิน 8,767,500 บาท (แปดล้านเจ็ดแสนหกหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยบาทถ้วน) มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา
เรื่องที่ 6 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส ในเดือนมกราคม 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 92.52 และ 89.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 3.47 และ 0.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง ประกอบกับญี่ปุ่นและเกาหลีรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือนธันวาคม 2553 เพิ่มขึ้น 3.1% (M-O-M) และ 2.8% (M-O-M) ตามลำดับ และในช่วงวันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2554 ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 96.69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 4.17 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลุกลามในกลุ่มประเทศอาหรับซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบสร้างความกังวลว่าอุปทานอาจตึงตัวโดยเฉพาะในยุโรป และจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร นอกจากนี้ศูนย์พยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) เฉลี่ยในสัปดาห์ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2554 จะต่ำกว่าระดับปกติ ร้อยละ 22.3
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซล ในเดือนมกราคม 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 106.38, 104.34 และ 108.19 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 4.29, 4.33 และ 5.58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จาก Pertamina ของอินโดนีเซียมีแผนนำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ปริมาณ 6.73 ล้านบาร์เรล เนื่องจากมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Balikpapan (260,000 บาร์เรลต่อวัน) ในไตรมาส 1/54 และ PTTAR มีแผนปิดซ่อมบำรุงในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2554 และบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียยกเลิกการประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.35%S ปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เนื่องจากราคาทรงตัวในระดับสูง และในช่วงวันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2554 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108.69, 106.36 และ 114.02 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 2.31, 2.02 และ 5.83 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากกองทัพสหรัฐฯ ประมูลซื้อ Marine Gas Oil ปริมาณ 2.9 ล้านบาร์เรล ส่งมอบในภูมิภาคเอเซียระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2554 - 31 ตุลาคม 2559 กอปรกับอุปสงค์น้ำมันดีเซลเพื่อเก็บใน floating storage ของเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น (Contango Economic)
3. ในเดือนมกราคม 2554 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85, แก๊สโซฮอล 91 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.30 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ไม่มีการปรับราคา ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ปรับเพิ่มชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B3 เพิ่มขึ้น 3 ครั้ง และเพิ่มอัตราชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 เพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85, แก๊สโซฮอล 91, ดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 44.24, 39.44, 35.14, 31.74, 20.92, 32.64, 29.99 และ 29.99 บาทต่อลิตร ตามลำดับ และในช่วงวันที่ 1 - 16 กุมภาพันธ์ 2554 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, แก๊สโซฮอล 91 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.70 บาทต่อลิตร, เบนซิน 91 และแก๊สโซฮอล 95 E85 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.80 และ 0.20 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ไม่มีการปรับราคา ในขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ปรับเพิ่มชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B3 และ B5 เพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91, แก๊สโซฮอล 95 E10, E20, E85 , แก๊สโซฮอล 91, ดีเซลหมุนเร็วและดีเซลหมุนเร็ว B5 ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 44.94, 40.24, 35.84, 32.44, 21.12, 33.34, 29.99 และ 29.99 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. สถานการณ์ก๊าซ LPG ในกุมภาพันธ์ 2554 ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลดลง 113 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 816 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากซาอุดิ อารัมโก้ เสนอขาย LPG Refrigerated 123 ล้านตัน และราคาโพรเพนบริเวณทะเลเหนือมีการซื้อขายในราคาต่ำกว่าแนฟทาประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน รวมทั้งโรงกลั่นไต้หวันลดราคา LPG ครัวเรือนและรถยนต์ลง 55 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากการคาดการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2554 คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 783 - 787 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศ รัฐได้กำหนดราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่น ที่ระดับ 10.2217 บาทต่อกิโลกรัม และกำหนดราคาขายส่ง ณ คลัง ที่ระดับ 13.6863 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีก ณ กรุงเทพฯ อยู่ที่ระดับ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม สถานการณ์การนำเข้าก๊าซ LPG ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 - 8 กุมภาพันธ์ 2554 มีการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 2,853,779 ตัน คิดเป็นภาระชดเชย 38,354 ล้านบาท
5. สถานการณ์น้ำมันแก๊สโซฮอล ในเดือนธันวาคม 2553 มีผู้ประกอบการผลิตเอทานอล 22 ราย กำลังการผลิตรวม 2.93 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเพียง 16 ราย ปริมาณการผลิตจริง 1.20 ล้านลิตรต่อวัน โดยราคาเอทานอลแปลงสภาพเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ 26.73 บาทต่อลิตร ในเดือนธันวาคม 2553 มีปริมาณจำหน่าย 11.90 ล้านลิตรต่อวัน จากสถานีบริการ 4,333 แห่ง ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 3.80 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 6.80 บาทต่อลิตร ในเดือนธันวาคม 2553 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 มีปริมาณการจำหน่าย 0.46 ล้านลิตรต่อวัน จากสถานีบริการ 432 แห่ง ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 ต่ำกว่าราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 3.40 บาทต่อลิตร ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 ในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 0.06 ลิตรต่อวัน จากสถานีบริการ 8 แห่ง โดยราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล E85 ต่ำกว่าราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 14.52 บาทต่อลิตร
6. สถานการณ์น้ำมันไบโอดีเซล ในเดือนธันวาคม 2553 มีผู้ผลิตไบโอดีเซล 11 ราย โดยมีกำลังการผลิตรวม 1.55 ล้านลิตรต่อวัน ความต้องการไบโอดีเซลในเดือนธันวาคม 2553 อยู่ที่ 2.54 ล้านลิตรต่อวัน ราคาเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2553 และเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ 43.74 และ 53.10 บาทต่อลิตร ตามลำดับ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ 18.85 ล้านลิตรต่อวัน จากสถานีบริการน้ำมัน 3,803 แห่ง ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 เท่ากับ -4.05 บาทต่อลิตร ทำให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 มีราคาเท่ากับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B3 อยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร
7. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 มีเงินสดในบัญชี 35,180 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 11,109 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 10,839 ล้านบาท และงบบริหารและโครงการซึ่งได้อนุมัติแล้ว 270 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ 24,070 ล้านบาท