มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2567 (ครั้งที่ 170)
วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567
1. การขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม
2. การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี
ผู้มาประชุม
นายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธาน
(นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้พิจารณา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการพิจารณารับซื้อไฟฟ้านอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดไม่เกินต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่หลีกเลี่ยงได้จากการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าในราคาสูงสุด ณ ปัจจุบัน (Avoided Cost) (2) มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกันกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้า และเงื่อนไขอื่น ๆ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า โดยคำนึงถึงประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าต่อไป และ (3) มอบหมายให้ กบง. พิจารณาและบริหารการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามนโยบาย โดยคำนึงถึงประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ทันต่อสถานการณ์ และรายงานให้ กพช. ทราบต่อไป โดยต่อมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 กบง. ได้พิจารณา เรื่อง การทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และได้มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่น ๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. และ กฟภ. หรือ กฟน. สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และ (2) กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม
2. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 กพช. ได้พิจารณาเรื่อง มาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และได้มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของมติ กบง. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยขยายกรอบระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากปี 2565 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ต่อมา เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน มีมติเห็นชอบการขยายมาตรการบริหารจัดการพลังงานที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ดังนี้ (1) มอบหมาย พพ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนข้อมูลระยะเวลาคืนทุน ตัวเลขผลกระทบมาตรการรับซื้อคืนไฟฟ้าส่วนเกินโซลาร์หลังคาภาคอุตสาหกรรม 1 บาทต่อหน่วย ต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และปรับปรุงรายละเอียดมาตรการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุม รวมทั้งจัดทำรายละเอียดมาตรการรับซื้อคืนไฟฟ้าส่วนเกินโซลาร์หลังคาภาคอุตสาหกรรม 1 บาทต่อหน่วย ระยะเวลามาตรการ 2 ปี และประสาน สนพ. เพื่อนำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป และ (2) มอบหมาย พพ. ประสาน สนพ. นำเสนอวาระการขอขยายเวลามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจาก SPP และ/หรือ VSPP สัญญาเดิม ระยะสั้น 2 ปี (วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569) และขยายสัญญาปีต่อปี และกำหนดเงื่อนไขสิทธิ์บอกเลิกสัญญาหากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) และในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็น 1.00 บาทต่อหน่วย เพื่อให้เกิดการจูงใจในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ต่อ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป
3. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้พิจารณามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ระยะที่ 2 ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยมีมติดังนี้ (1) เห็นชอบมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ระยะที่ 2 ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม (2) มอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ (3) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
4. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มที่ผ่านมา มีผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 ราย รวมกำลังการผลิตประมาณ 25 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ 1 ราย ซึ่งค่อนข้างน้อย พพ. จึงได้วิเคราะห์สาเหตุและเสนอแนะการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จูงใจมากขึ้น ซึ่ง พพ. ประเมินแล้วพบว่าการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดการติดตั้งเท่ากับ 800 กิโลวัตต์ ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ หากมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเพิ่มด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 2 ปี พบว่า จะมีระยะเวลาคืนทุน ประมาณ 6 ปี และอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return: IRR) ประมาณร้อยละ 14 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจยื่นขอรับสิทธิลดหย่อนภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนลดลงและค่า IRR เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.00 บาทต่อหน่วย เทียบกับราคา Marginal Cost (บาทต่อหน่วย) จะไม่มีผลกระทบกับราคาค่าไฟฟ้า
5. เพื่อให้การดำเนินมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มที่จะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจูงใจให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าร่วมโครงการมากขึ้น พพ. จึงเห็นสมควรเสนอขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. และ กฟภ. หรือ กฟน. สามารถรองรับได้ โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568 – 2569 ไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และสำหรับกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย และประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม ยกเว้นกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยเฉพาะกรณี SPP ชีวมวล และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (Spot LNG) ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมีการนำเข้าถึง 97 ลำเรือ รวมทั้งเกิดประโยชน์จากการลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งในภาวะปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลแนวโน้มราคาไฟฟ้าต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง LNG (LNG Unit Cost) เฉลี่ยปี 2567 พบว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ซึ่งอยู่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ยังคงต่ำกว่าประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจาก LNG เฉลี่ยปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย โดยเป็นไปตามกรอบราคารับซื้อไฟฟ้า Avoided Cost ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยรับซื้อตั้งแต่ปี 2568 – 2569 ไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ตามประเภทพลังงาน ดังต่อไปนี้
1.1 กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย
1.2 กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
(1) ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย
(2) ประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม ยกเว้นกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 2 การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุน เพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าเดิม 440 เมกะวัตต์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ในอัตราค่าไฟฟ้าไม่มากกว่าสัญญาเดิม โดย กฟผ. ได้ดำเนินงานตามมติ กพช. โดยได้ลงนามในหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการเทินหินบุน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กพช. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ โดยนับจากวันลงนามข้อตกลงเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ไม่เกินกว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 1.85 บาทต่อหน่วยตามสัญญาเดิม เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและบรรเทาสถานการณ์ราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง และมอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมตามมติ กพช. ดังกล่าว โดยต่อมา กฟผ. ได้ดำเนินงานตามมติ กพช. โดยได้ลงนามในหนังสือแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าร่วมกับโครงการเทินหินบุน เพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 บริษัท Theun-Hinboun Power Company จำกัด (THPC) ได้มีหนังสือถึง กฟผ. เสนอให้พิจารณาขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม จำนวน 20 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 หรือช่วงเวลาตามที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสม โดยเสนอให้ใช้หลักการเดิมตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ THPC ฉบับปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ได้มีมติให้ กฟผ. ประสานสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอวาระการขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป โดยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้มีเห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
3. การขยายเวลามาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี ภายใต้มาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (1) อายุสัญญา ระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (2) ราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นไปตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบันที่กำหนดให้จ่ายเป็นสกุลบาทที่ 0.9083 บาทต่อหน่วย และสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ 0.02595 เหรียญสหรัฐฯ ต่อหน่วย โดยเมื่อคำนวนอัตราแลกเปลี่ยน 37.0105 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567) คิดเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้ารวมประมาณ 1.87 บาทต่อหน่วย (3) เงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักการเดิมตามที่ระบุในข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และ (4) ไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ กฟผ. พิจารณาแล้วพบว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้น ในด้านเทคนิคไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า รวมทั้งในด้านต้นทุนจะสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เนื่องจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิตหน่วยสุดท้าย (Short Run Marginal Cost) โดย ณ เดือนมิถุนายน 2567 Short Run Marginal Cost ช่วง Peak มีราคา 2.261 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak 2.152 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางยังไม่มีเสถียรภาพและราคาเชื้อเพลิงยังมีความผันผวน ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้นจะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนได้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 (ร่างแผน PDP2024) ได้พิจารณาเสนอให้มีการขยายอายุการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ขนาดกำลังผลิตตามสัญญารวม 650 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2574 เพื่อให้สอดคล้องกับอายุสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2574) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระบวนการจัดทำร่างแผน PDP2024 ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้สถานะของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 จะต้องยึดกำหนดการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ซึ่งเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน โดยตามแผน PDP2018 Rev.1 โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
2. เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 เป็นโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้แหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง - สินภูฮ่อม ที่มีต้นทุนราคาในการผลิตไฟฟ้าถูก ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวแบบตลาดจร (Spot LNG) และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้ ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้มีหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ขอให้เสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาขยายการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กบง. ได้มีมติเห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) โดยมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
3. การขอขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 มีรายละเอียดดังนี้ (1) ด้านเทคนิค โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 มีความพร้อมรองรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามกรอบระยะเวลาการขอขยายอายุการเดินเครื่อง โดย กฟผ. มีแผนการบำรุงรักษา และตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ระบบส่งไฟฟ้ามีความพร้อมให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง เชื่อถือได้ มีคุณภาพเพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการบริหารจัดการอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ (2) ด้านเชื้อเพลิง กฟผ. มีความพร้อมด้านเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าจากการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี โดยเป็นการใช้ทรัพยากรภายในประเทศของแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง - สินภูฮ่อม ที่มีต้นทุนถูกได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง Spot LNG โดยสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิประมาณ 5,263 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการเปรียบเทียบต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้ 1) โรงไฟฟ้าน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ต้นทุนผลิตไฟฟ้า 1.8844 บาทต่อหน่วย ประมาณการหน่วยผลิตไฟฟ้า 4,266 กิกะวัตต์ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานรวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 8,039 ล้านบาท 2) โรงไฟฟ้า Marginal เชื้อเพลิง Spot LNG ต้นทุนผลิตไฟฟ้า 3.1181 บาทต่อหน่วย ประมาณการหน่วยผลิตไฟฟ้า 4,266 กิกะวัตต์ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายดำเนินงานรวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิง 13,302 ล้านบาท ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าสุทธิลดลง 5,263 ล้านบาท และ (3) ด้านสิ่งแวดล้อม กฟผ. ดำเนินการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน Monitor) และนำส่งผลรายงาน Monitor ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ทุก 6 เดือน เพื่อติดตามตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้น การขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เนื่องจากการดำเนินงานและรายละเอียดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองไม่มีการเปลี่ยนแปลง
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568)
2. มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 มาตรา 28 (1) กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมาตรา 4 (4) กำหนดให้ กพช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 28 (1)
2. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้พิจารณาแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และได้มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นำเสนอต่อ กพช. พิจารณาต่อไป และ (3) มอบหมายให้สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ออกประกาศยุทธศาสตร์การจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายหลังที่ กพช. เห็นชอบต่อไป
3. แนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีรายละเอียดดังนี้
3.1 แนวทางการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวงเงินรวม 3,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากผลการศึกษา ทบทวน ผลการดำเนินงาน ผลลัพธ์การจัดสรรเงินที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลจากการสำรวจความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประมาณการรายรับ - รายจ่ายเงินกองทุนฯ โดยแบ่งการจัดสรรเงินตามมาตรา 25 (1) – 25 (4) ดังนี้ 500 500 2,250 และ 250 ล้านบาท ตามลำดับ
3.2 หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแต่ละมาตรา ดังนี้
3.2.1 มาตรา 25 (1) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงาน ในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานราชการลงทุนและดำเนินการด้านการลดการใช้พลังงานตามมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ เพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน โดยลดความเข้มข้นของการใช้พลังงาน ซึ่งมีแนวทางดำเนินการให้หน่วยงานราชการลงทุนติดตั้งหรือใช้วัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงหรือเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในหน่วยงาน (2) การดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนและดำเนินการด้านการอนุรักษ์พลังงานด้วยบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) ในหน่วยงานราชการ ซึ่งหน่วยงานราชการดำเนินการด้วยกลไกบริษัทจัดการพลังงาน โดยทำสัญญารับประกันผลประหยัดพลังงาน และมีการตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัด (M&V) เพื่อรับประกันผลตอบแทนของโครงการให้กับหน่วยงานราชการ และ (3) การสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ (ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) หรือศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.) หรือเขตพระราชฐาน ซึ่งพื้นที่พิเศษไม่รวมโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) สนับสนุนในลักษณะเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน รูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายจริงหรือราคากลาง สำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานสำหรับหน่วยงานราชการ (2) สำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานหรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ โครงการพระราชดำริ (ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กปร. หรือ ศปร. หรือเขตพระราชฐาน ซึ่งพื้นที่พิเศษไม่รวมโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์) โดยสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ขอรับการสนับสนุนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่พิเศษหรือไม่ได้รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษโดยตรง ต้องมีเอกสารร้องขอเพื่อดำเนินโครงการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษโดยตรง หากไม่แสดงเอกสารดังกล่าว ส.กทอ. ขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานยื่นขอรับการสนับสนุน และ (3) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานหรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน ต้องเป็นหน่วยงานราชการ
3.2.2 มาตรา 25 (2) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยการจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงขึ้น ทั้งในรูปของอุปกรณ์/เครื่องใช้ เครื่องจักร กระบวนการผลิต และระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพใน 5 สาขาเศรษฐกิจหลักที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ (1) อุตสาหกรรม (2) ธุรกิจการค้า (3) บ้านอยู่อาศัย (4) เกษตรกรรม และ (5) ขนส่ง โดยให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กระตุ้นและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน มีการใช้งานอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนแก่เอกชนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงาน หรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน โดยสนับสนุนในลักษณะเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุน ในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายจริงหรือราคากลาง โดยการขอรับการสนับสนุนต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนด และ (2) เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงานให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยการขอรับการสนับสนุนต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนด
3.2.3 มาตรา 25 (3) เป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยองค์กรเอกชนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนตามมาตรา 25 (3) ต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือมุ่งค้าหากําไรจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าว เพื่อดำเนินการ โดยแบ่งเป็นหมวด ก. – จ. ดังนี้
ก. โครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน หรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.1) ด้านการสนับสนุนนโยบาย ที่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน การสำรวจ รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ และการจัดทำข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและแผน และการขับเคลื่อนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพลังงานชาติ นโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงพลังงาน หรือตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บข้อมูลและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พลังงาน 1.2) ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ที่เป็นการกำกับ ดูแล บังคับภายใต้ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติหรือการสนับสนุนการใช้กฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อบังคับและสนับสนุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร/โรงงานควบคุม การใช้เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง การดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก นโยบายอนุรักษ์พลังงาน หรือนโยบายพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่มีลักษณะการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน ข้อกำหนด ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามมาตรฐานในประเทศหรือมาตรฐานสากล การดำเนินการผลักดันหรือเตรียมความพร้อมออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงานเชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์พลังงาน และ 1.3) ด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ผ่านหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยใช้ศักยภาพด้านพลังงานของชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงการใช้พลังงานแบบพึ่งพาตนเอง และ (2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 2.1) ด้านการสนับสนุนนโยบาย ซึ่งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และ 2.2) ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นการกำกับ ดูแล บังคับภายใต้ข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติหรือการสนับสนุนการใช้กฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวง มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน การดำเนินการผลักดันหรือเตรียมความพร้อมออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงานเชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายที่ส่งผลต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการอนุรักษ์พลังงาน และการติดตามหรือประเมินผลตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติ หรือแผนงาน เชิงนโยบาย หรือข้อกำหนดการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) การอนุรักษ์พลังงาน โดยการสนับสนุนด้านนโยบาย และการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย จะสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สำหรับการสนับสนุนด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร จะสนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ตามสัดส่วนหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ผ่านหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ทั้งนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องมีลักษณะ ดังนี้ ด้านการสนับสนุนนโยบาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ และการจัดทำข้อมูลสถิติด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา จัดทำ หรือผลักดันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน ด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจกำกับ ดูแล เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านพลังงาน โดยต้องแสดงรายละเอียดอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ และด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจโดยตรง ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยให้การสนับสนุนในรูปแบบของการร่วมจ่าย (Co-pay) ตามสัดส่วนหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานกำหนดในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และ (2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน โดยการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนในลักษณะเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนตามค่าใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกินมาตรฐานราคากลางอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องมีลักษณะ ดังนี้ ด้านการสนับสนุนนโยบาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงาน ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา จัดทำ หรือผลักดันมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และด้านการกำกับ ดูแล หรือบังคับใช้ภายใต้ข้อกฎหมาย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีภารกิจกำกับ ดูแล เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับด้านพลังงาน โดยต้องแสดงรายละเอียดอำนาจหน้าที่หรือภารกิจตามกฎหมายของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ
ข. การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การวิจัยเพื่อสร้างงานต้นแบบ (Prototype) หรือนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการนำไปสาธิตต้นแบบสร้างนวัตกรรม และขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Levels: TRLs) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป (2) การวิจัยเชิงนโยบายที่มีผลทำให้หน่วยงานรัฐสามารถนำไปออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย ให้กิจการประเภทเดียวกันต้องปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง และต้องมีโอกาสนำไปขยายผล หรือบังคับที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง (3) การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานที่มีศักยภาพขยายผล หรือผลักดันในเชิงธุรกิจ (4) การวิจัยที่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีปัญหา มาจากผู้ประกอบการ และพร้อมนำผลการวิจัยไปดำเนินการและขยายผล (5) การวิจัยที่มีโอกาสนำไปขยายผลในรูปแบบการบรรจุในหลักสูตรเพื่อการศึกษา หรือบังคับใช้ในหน่วยงานของตนเองหรือที่มีแนวโน้มนำมาสู่การอนุรักษ์พลังงานที่เป็นรูปธรรม อย่างต่อเนื่อง และ (6) การวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานในระดับชุมชน ทั้งนี้ โครงการค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริม และการอนุรักษ์พลังงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน ควรคำนึงถึงศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) โครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องไม่ซ้ำซ้อนหรือเคยมีโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันวิจัยมาก่อน และต้องไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะการดำเนินโครงการวัตถุประสงค์หลักเพื่อการประกอบกิจการไฟฟ้า หรือการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการไฟฟ้า (2) การรับการสนับสนุนทุนวิจัย การดำเนินโครงการวิจัย เป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (3) ผลการวิจัยที่เกิดภายใต้การสนับสนุนเงินจากกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 (4) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม
ค. โครงการสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนโครงการด้านสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานหรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ การบริหาร วิธีการ หรือรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยนำไปดำเนินการ หรือยังไม่มีผลลัพธ์เชิงประจักษ์อย่างชัดเจน หรือมีลักษณะสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ เพื่อแสดงถึงความคุ้มค่า มีโอกาสนำมาเผยแพร่ เป็นตัวอย่างและขยายผลหรือการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายได้ ในวงกว้าง (2) การใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบ การบริหาร วิธีการ หรือรูปแบบที่เคยดำเนินการมาแล้ว และเป็นเรื่องที่รับทราบอย่างแพร่หลายหรือใช้งานเชิงพาณิชย์ ต้องมีเหตุผลถึงความแตกต่างและความจำเป็นที่ต้องดำเนินการพัฒนา หรือสาธิต (3) นวัตกรรมจากงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ และมีความประสงค์จะพัฒนาไปเป็นต้นแบบสำหรับการขยายผลเชิงประจักษ์ (4) การแก้ปัญหาอุปสรรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และต้องเป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่ยังไม่เคยมีผลของการแก้ปัญหาในการเพิ่มประสิทธิภาพอันเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับอย่างกว้างขวางมาก่อน และ (5) มีลักษณะสาธิตในพื้นที่เฉพาะ มีศักยภาพที่แตกต่างกันมีลักษณะการบริหารจัดการในสังคมที่แตกต่างกัน และยังไม่เคยดำเนินการในพื้นที่นั้นมาก่อน ใช้เป็นต้นแบบนำไปขยายผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ให้การสนับสนุนบางส่วนหรือเต็มจำนวน ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่จะนำมาสาธิตในโครงการ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา ที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม และสาธิต หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุน หรือขับเคลื่อนงานวิจัย นวัตกรรม และสาธิต
ง. การศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) การพัฒนาบุคลากร เครือข่ายพลังงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกลไกของการพัฒนาหรือสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้หมายรวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัย ทุนการศึกษา แก่นักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน (2) การพัฒนาหลักสูตรหรือพัฒนาสื่อ หรือจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของกระทรวงพลังงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไป เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้นำชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ได้ต่อไป เช่น หลักสูตรฝึกอบรม การดูงาน การจัดทำสื่อการเรียนรู้ เป็นต้น (3) การจัดประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกี่ยวกับพลังงานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้ ความเข้าใจ หรือเพื่อเปิดโอกาสให้ปรึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าสัมมนาเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน (4) การให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษาในการศึกษาต่อในประเทศ (ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) และการศึกษาต่อในต่างประเทศ (ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก) และการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน (5) การให้ทุนอุดหนุนการวิจัยสำหรับนักศึกษาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน หันมาให้ความสนใจในการทำวิจัยด้านการจัดการพลังงาน เทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงาน และ (6) การพัฒนาวิทยาลัยพลังงานของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของพลังงานต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ และกระตุ้นความสนใจในการวิเคราะห์แนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต ปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) โครงการควรมีกิจกรรมประเมินผลการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ หรือผลกระทบด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้น (2) โครงการประเภททุนการศึกษา และทุนอุดหนุนการวิจัยจะให้การสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงาน เพื่อดำเนินการให้แก่บุคลากรของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา และ (3) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการศึกษา
จ. การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน เป็นเงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนการโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานที่มีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ดังนี้ (1) กิจกรรมเผยแพร่นโยบาย มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือผลงานโครงการที่เกี่ยวกับด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นเป้าหมายในการนำไปสู่การขยายผลหรือทำให้ประชาชนเข้าใจ หรือมีทัศนคติที่ดีต่อกระทรวงพลังงาน (2) กิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึก และสร้างความตระหนักเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (3) กิจกรรมเผยแพร่การผลิตและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ประสบความสำเร็จ และ (4) สื่อที่จะใช้ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถวัดผลการรับสื่อได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) สื่อที่จะใช้ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถวัดผลการรับสื่อได้อย่างชัดเจน (2) การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ควรมีข้อมูลสำรวจหรือประเมินระดับความรู้ในประเด็นต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดเนื้อหาที่จะสื่อสารให้ความรู้ กำหนดเป้าหมายระดับความรู้ที่คาดหวังและเป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินผลหลังการประชาสัมพันธ์ (3) กรณีหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงานขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ต้องผ่านคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานก่อน เพื่อกำหนดกรอบ แนวทาง แผนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามนโยบาย มาตรการ แผนงานด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงพลังงาน โดยแสดงเอกสารผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เพื่อยืนยันข้อมูล เช่น มติการประชุม หรือรายงานการประชุม หรือการแจ้งผลการพิจารณา หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ยกเว้นโครงการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของ ส.กทอ. ที่ให้เสนอผ่านคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และ (4) หน่วยงานผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงด้านพลังงาน หรือที่มีหน้าที่โดยตรงกับงานสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน
3.2.4 มาตรา 25 (4) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ และตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ระหว่างกระทรวงการคลังกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดให้กองทุนเป็น “ทุนหมุนเวียนที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ” และเร่งรัดให้มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และโดยที่ ส.กทอ. เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และคณะอนุกรรมการ ที่คณะกรรมการแต่งตั้ง และมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานต่าง ๆ ในภารกิจที่เกี่ยวกับกองทุน จึงมีความจำเป็นในการใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการกองทุน อาทิ การดำเนินงานตามภารกิจ การจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อรองรับการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการปฏิบัติงานของพนักงานกองทุน ค่าเช่าหรือค่าย้ายที่ตั้งสำนักงาน รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลที่จะต้องมีการทบทวนสวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานกองทุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน และพัฒนากองทุนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยมีหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ (1) การใช้จ่ายเงินตามแผนการบริหารจัดการ ส.กทอ. ได้แก่ 1) งบบุคลากร 2) งบดำเนินงาน 3) งบลงทุน และ 4) งบรายจ่ายอื่น (2) การใช้จ่ายเงินในโครงการที่ต้องดำเนินการตามแผนบริหารจัดการ ส.กทอ. ประจำปี แผนปฏิบัติการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลประจำปี และแผนปฏิบัติการดิจิทัลประจำปี (3) การใช้จ่ายเงินในการบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัล เช่น การจัดให้มีระบบการบริหารจัดการสารสนเทศที่สนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการและ/หรือผู้บริหารกองทุน (EIS/MIS) ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้ใช้บริการภายในกองทุน ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนผู้ใช้บริการภายนอกกองทุน และตอบสนองต่อนโยบายด้านดิจิทัล รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ที่สำคัญของภาครัฐ และ (4) การใช้จ่ายเงินในการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management : HRM) และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development : HRD) สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR Enabler) ได้แก่ การสร้างความผูกพันและความพึงพอใจของบุคลากร (Employee Engagement & Satisfaction) เช่น อัตราค่าตอบแทนพนักงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับพนักงาน ความปลอดภัย/สุขอนามัย/สภาพแวดล้อมในการทำงาน (Safety/Health/ Environment : SHE) ระบบสารสนเทศที่สนับสนุนงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR Information System : HRIS) ซึ่งมีเงื่อนไขตามลักษณะงานและให้ลำดับความสำคัญ ดังนี้ (1) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (2) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจของ ส.กทอ. (3) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ และ (4) ส.กทอ. และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นผู้รับการสนับสนุน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
ประธานฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมทราบว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขอให้ที่ประชุมพิจารณาหารือเกี่ยวกับเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in-Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยกับประชาชนเรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและราชการ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
2. เห็นชอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ดำเนินการตามข้อ 1
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็น ข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวได้