การจ้างงานด้านพลังงานกับความเท่าเทียมทางเพศ (Energy Employment and Gender Equality)
ภาพรวมการจ้างงานด้านพลังงานทั่วโลกในปี 2023
จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2023 ส่งผลให้ทั่วโลกมีงานในภาคพลังงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 ล้านตำแหน่ง ทำให้มีการจ้างงานทั้งหมดมากกว่า 67 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโดยรวมที่ 2.2% ประกอบไปด้วยงานด้านการจัดหาแหล่งพลังงาน ด้านไฟฟ้า ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การเติบโตของงานด้านพลังงานได้รับแรงเสริมจากการลงทุนในแหล่งพลังงานที่หลากหลายภายหลังวิกฤตพลังงานโลก ส่งผลให้ในปี 2023 มีงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากพลังงานสะอาด (1.5 ล้านตำแหน่ง) และเชื้อเพลิงฟอสซิล (940,000 ตำแหน่ง) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคแม้ว่าจะมีอัตราที่แตกต่างกันก็ตาม โดยในประเทศจีนมีการเติบโตของงานด้านพลังงานสะอาดมากกว่า 90% ในขณะที่ในตะวันออกกลางมีการเติบโตของงานด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 80%
การเติบโตของงานด้านพลังงานสะอาด
ในปี 2023 งานด้านพลังงานสะอาดมีการขยายตัวโดยมีอัตราเติบโตโดยรวม 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2022 พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นกลุ่มหลักในด้านพลังงานสะอาดที่มีการเติบโตของการจ้างงาน โดยมีงานเพิ่มมากกว่า 5 แสนตำแหน่งจากการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ ขณะที่การเติบโตของการจ้างงานในภาคพลังงานอื่นๆ จะมีปัจจัยที่ซับซ้อนมากกว่า อาทิ ในภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่มีงานเพิ่มขึ้น 410,000 ตำแหน่ง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตขยายการผลิตเพื่อแข่งขันกันเป็นผู้ครองตลาดแม้ว่าจะต้องเผชิญกับต้นทุนและการแข่งขันระดับโลกที่เพิ่มขึ้นก็ตาม ในขณะที่ผู้ผลิตพลังงานลมส่วนหนึ่งมีการเลิกจ้างจากโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานในภาคพลังงานลมทั้งหมดยังคงเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการก่อสร้างโครงการใหม่จำนวนมาก นอกจากนี้งานด้านพลังงานยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญในระดับสูง เช่น โครงข่ายไฟฟ้าและพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
บริษัทต่างๆ มีการแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในด้านพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต แต่ก็อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของโครงการและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศต่างๆ ที่มุ่งเป้าหมายสู่พลังงานสะอาดก็เห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของการจ้างงานในส่วนนี้ ในปี 2023 ประเทศจีน มีการเติบโตของการจ้างงานในภาคพลังงานสะอาดมากกว่า 10% ของการจ้างงานในภาพรวม และสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีการเติบโตของการจ้างงานในภาคพลังงานสะอาดมากกว่า 4 - 6% ของการจ้างงาน ในเศรษฐกิจขั้นสูง อย่างไรก็ตามในประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนของการจ้างงานใหม่ในภาคพลังงานสะอาด ต่ำกว่า 2%
SDGs เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน (Achieve gender equality and empower all women and girls)
การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย (รูปที่ 1) เน้นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG localization) เพื่อนำวาระการพัฒนาระดับโลกสู่ชุมชนท้องถิ่นให้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งในเป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน มีเป้าหมายย่อยครอบคลุมประเด็นการยุติการเลือกปฏิบัติ และขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลในการเป็นผู้นำและการตัดสินใจในทุกระดับ การเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ในเชิงนโยบายเป้าหมายนี้เน้นว่าควรมีการดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และความเสมอภาคทางเพศด้านอื่นๆ ในทุกระดับ เพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมผู้หญิงและเด็กหญิง
รูปที่ 1 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย
ที่มา: UN Thailand
พลังงานกับความเท่าเทียมทางเพศ
ในปี 2018 ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยในงานด้านพลังงานโดยคิดเป็น 20% ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานหรือประมาณ 1 ใน 5 ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงาน ถึงแม้ว่าจะมีผู้หญิงเกือบ 40% ของกำลังแรงงานทั่วโลกก็ตาม (รูปที่ 2) ทั้งนี้ผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงมีจำนวนน้อยหรือมีสัดส่วนที่ต่ำอยู่ แต่พลังงาน บางภาคส่วนที่กำลังเติบโต อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ มีผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในภาพรวม (รูปที่ 3)
รูปที่ 2 การจ้างงานจำแนกตามเพศ
ที่มา: IEA, 2019
รูปที่ 3 สัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงจำแนกตามภาคพลังงาน
ที่มา: IEA, 2023
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผู้หญิงที่ศึกษาในสาขา STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) จำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การลดความไม่สมดุลทางเพศในกำลังแรงงานด้านพลังงานจึงขึ้นอยู่กับการเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่จบสาขาวิชาชีพ เนื่องจากงานครึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันต้องการการฝึกอบรมด้านวิชาชีพซึ่งเน้นทักษะเฉพาะทางและประสบการณ์ภาคปฏิบัติ นอกจากนั้นยังมีบางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ช่างมุงหลังคาหรือช่างไฟฟ้า มีกำลังแรงงานผู้หญิงคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 3% ดังนั้น แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่ศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอาจส่งผลต่อการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคตได้
รูปที่ 4 สัดส่วนของกำลังแรงงานผู้หญิง
ที่มา: IEA: 2023
ด้วยนโยบายที่เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs อื่นๆ ได้
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการสร้างงานที่มาพร้อมกันนั้น สร้างโอกาสให้เกิดการปรับสมดุลทางเพศของแรงงานด้านพลังงาน โดยงานด้านพลังงานสะอาดมีสัดส่วนแรงงานผู้หญิงประมาณ 40% ซึ่งมากกว่างาน ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเกือบสองเท่า เมื่อการสร้างงานไม่ได้ช่วยให้เกิดงานที่เหมาะสมสำหรับแรงงานทุกคนจึงเกิดการจ้างงานนอกระบบขึ้น โดยแรงงานนอกระบบมักได้รับค่าจ้างต่ำกว่าและต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ดีเท่าแรงงานในระบบ โดยประเทศตัวอย่างที่พยายามพัฒนาระบบแรงงาน เช่น รัฐบาลอินเดียและอินโดนีเซียมีความคิดริเริ่มในการลดจำนวนแรงงานนอกระบบ รวมถึงบทบัญญัติเฉพาะด้านพลังงาน จึงสามารถดึงดูดการลงทุนและช่วยสร้างรายได้ในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัว ทำให้สามารถดำเนินการตาม SDGs เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) และเป้าหมายที่ 8 งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต (Decent work and Economic growth) ได้ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- https://thailand.un.org/th/sdgs