มติการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 168)
วันพุธที่ 4 กันยายน 2567
การขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
ผู้มาประชุม
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
(นายภูมิธรรม เวชยชัย)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู)
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้มีบทเฉพาะกาลมาตรา 55 บัญญัติไว้ว่ากรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวต่อไปได้เป็นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้นำความในหมวด 4 การดำเนินงานของกองทุน และหมวด 7 บทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับการดำเนินการนี้ด้วย และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยทุกรอบระยะเวลาหนึ่งปี โดยให้นำประกาศดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป ให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจขยายระยะเวลาดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสองปี
2. เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบ การขอขยายระยะเวลาดำเนินการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปสองปี จากเดิมครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นวันที่ 24 กันยายน 2567 และเห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพอออกไปสองปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
3. สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อพลิง (สกนช.) ดำเนินการตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พ.ศ. 2566 – 2567 และได้ติดตามข้อมูลของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการจ่ายชดเชยสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2567 และจากการประเมินผลกระทบหากมีการสนับสนุนให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 เป็นน้ำมันฐานแม้ว่า ในปัจจุบันกองทุนไม่ได้มีการชดเชยในกลุ่มน้ำมันเบนซิน แต่หากราคาน้ำมันเบนซินและราคาเอทานอล ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต อาจส่งผลทำให้ส่วนต่างราคาระหว่างแก๊สโซฮอล 95 E10 แก๊สโซฮอล E20 รวมถึงแก๊สโซฮอล E85 แคบลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 มากขึ้น จากการประเมินผลกระทบกับปริมาณความต้องการใช้เอทานอลในภาคขนส่ง อาจทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินได้สูงสุดถึงร้อยละ 24 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียในกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร จึงเห็นความจำเป็นต้องขยายเวลาการจ่ายชดเชยต่อเนื่องอีก 2 ปี
4. สกนช. ได้จัดทำแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2569 และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ กรณีขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ จากที่จะครบวันที่ 24 กันยายน 2567 ออกไปสองปีจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2569 เพื่อให้การดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องตามนโยบายภาครัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
4.1 หลักเกณฑ์การดำเนินการ ประกอบด้วย (1) การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ให้เป็นไปตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 (2) น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ หมายความถึง น้ำมันเบนซินที่มีการผสมเอทานอล และน้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซล B100 ในสัดส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 และแก๊สน้ำมันโซฮอล E85 และ 2) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 (ปัจจุบันน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา B10 (ยกเลิก) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ซึ่งทั้งนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการชดเชยฯ ก่อนวันที่ 24 กันยายน 2562 ประกอบด้วย น้ำมันแก๊สโซฮอล E20 น้ำมันแก๊สโซฮอล E85 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (B10) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (B20) (3) เมื่อไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามนโยบายภาครัฐ โดยมีกรอบในการดำเนินงานดังต่อไปนี้ 1) กำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และไม่ควรใช้เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (Cross Subsidies) 2) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามหลักการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการแทรกแซงที่มีผลกระทบต่อกลไกตลาดเสรี และ 3) คำนึงถึงภาวะความผันผวนของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และรวมถึงมาตรการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพอื่น ๆ ของภาครัฐในช่วงนั้น ๆ และ (4) การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และการกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเพียงพอใช้ในการบริหารจัดการกองทุน ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
4.2 วิธีการดำเนินงาน ดังนี้ (1) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดทำประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในระยะเวลา 2 ปี นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ มอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดทำแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพรายปี และสามารถปรับแผนระหว่างปีได้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนดังกล่าว (2) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอนุมัติอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินการตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืน จากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยจะออกเป็นระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศกำหนด และ (3) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงออกประกาศกำหนดอัตราเงินกองทุนตามมติคณะกรรมการ บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งติดตามให้เป็นไปตามแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
4.3 มาตรการการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพประกอบด้วย (1) มาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มน้ำมันเบนซิน โดยการกำหนดอัตราเงินกองทุนให้เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อจูงใจให้ใช้น้ำมันฐาน ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานสำหรับกลุ่มน้ำมันเบนซิน โดยพยายามไม่เข้าไปชดเชยน้ำมันเบนซินชนิดอื่นและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด (2) มาตรการลดการจ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มน้ำมันดีเซล โดยการกำหนดอัตราเงินกองทุนให้เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อจูงใจ ให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เป็นน้ำมันมาตรฐานสำหรับกลุ่มน้ำมันดีเซล และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และ (3) มาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านของน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ดำเนินการหารือสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันและสร้างความรู้ความเช้าใจเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพให้สามารถประยุกต์ในการใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น Sustainable Aviation Fuel (SAF) พลาสติกชีวภาพ ยา เครื่องสำอางค์ และอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น รวมถึงเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพสำเร็จลงอย่างมีประสิทธิภาพในปี พ.ศ. 2569
5. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้พิจารณาการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ มีมติดังนี้ (1) เห็นชอบแนวทางการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพจากที่จะครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2567 ออกไปสองปีจนถึงวันที่24 กันยายน 2569 (2) เห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (3) มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสนอดำเนินการตามข้อ (1) และ (2) เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งให้นำความเห็นและข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดำเนินการต่อไปด้วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปสองปี จากเดิมครบกำหนดวันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นวันที่ 24 กันยายน 2569
2. เห็นชอบแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการเพื่อลด การจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ
3. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเรื่องการขอขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ และแผนการลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ พร้อมร่างประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการเพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยนำข้อสังเกตของ ที่ประชุมเป็นข้อมูลประกอบในการนำเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อไป