มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 4/2566 (ครั้งที่ 60)
วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566
1. การทบทวนแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
2. แนวทางการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV
4. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
5. การกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว
6. ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
7. การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 – 2568
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การทบทวนแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบ แผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) สามารถปรับรายละเอียดมาตรการและประมาณการเป้าหมาย หรืออาจเพิ่มเติมมาตรการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดในการดำเนินการ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ติดตามแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 และรายงานต่อ กบง. ต่อไป
2. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบการทบทวนแผนของมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน สำหรับช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตไฟฟ้า โดยปรับเป้าหมายจากเดิมที่ 1,578 ล้านลิตร เป็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 มีเป้าหมายที่ 452.2 ล้านลิตร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เสนอ เนื่องจากราคา Spot LNG ปรับลดลง ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ประสานผู้ค้าน้ำมันและเสนอเป้าหมาย ที่สามารถปรับลดได้ ซึ่งอาจมีผู้ค้าน้ำมันบางส่วนที่มีสัญญาผูกพันและอาจส่งผลให้ต้องจ่ายค่าชดเชย ความเสียหาย โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ขอให้สำนักงาน กกพ. รับข้อเสนอของ ธพ. ดังกล่าวไปพิจารณา และ (2) มาตรการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม โดยปรับเป้าหมายจากเดิมที่ 120,000 ตันเทียบเท่า LNG เป็น 200,000 ตันเทียบเท่า LNG ตามที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เสนอ โดยพิจารณาจากอุปสงค์อุปทานและผลประโยชน์ของประเทศ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้รับทราบผลการเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศเพื่อลดการนำเข้า Spot LNG สำหรับการผลิตไฟฟ้าในปี 2566 ดังนี้ (1) แผนการเพิ่มระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณแปลง G1/61 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 และ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนธันวาคม 2566 และ (2) แผนการเจาะหลุม Development Drilling Plan ของแปลง G1/61 โดยปี 2566 มีเป้าหมายการเจาะหลุมรวม 273 หลุม (เฉลี่ยประมาณ 23 หลุมต่อเดือน) โดยเดือนมกราคม 2566 มีการเจาะหลุม 19 หลุม ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเดือนมีนาคม 2566 มีแผนการเจาะหลุม 24 หลุม และ 27 หลุม ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบการทบทวนแผนการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
เรื่องที่ 2 แนวทางการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนของก๊าซ NGV ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ประชาชน และผู้ประกอบการที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงได้รับความเดือดร้อน ภาครัฐจึงได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทั่วไปและรถโดยสารสาธารณะ โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องมาเป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 และขอให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 และวันที่ 13 กันยายน 2565 กบง. ได้มีมติให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปเพิ่มขึ้นคราวละ 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 16.59 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และเป็น 17.59 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป ตามลำดับ โดยให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ ปตท. คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัมต่อไป ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566
2. ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ตามสูตรโครงสร้างราคา ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 24.27 บาทต่อกิโลกรัม โดยจากการประมาณการราคาขายปลีกก๊าซ NGV ในปี 2566 พบว่ามีแนวโน้มปรับลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 24.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ จากสถานการณ์ราคาขายปลีกก๊าซ NGV ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่อง ปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง และภาครัฐได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยขอความอนุเคราะห์ ปตท. คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป และรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 ประมาณ 13,806 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 12,665 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 1,141 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี การตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV เป็นเวลานานจะก่อให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ ผู้บริโภคไม่มีความตระหนักรู้ ในราคาพลังงานที่แท้จริง นำไปสู่การใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้า ที่ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการในธุรกิจ NGV และผู้ประกอบการเชื้อเพลิงภาคขนส่งประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงอัตราค่าโดยสารสำหรับรถแท็กซี่ให้สอดคล้องกับราคาค่าเชื้อเพลิงและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV เพื่อลดการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงาน และให้ประชาชนทยอยปรับตัวต่อราคาพลังงานที่แท้จริง เป็น 2 แนวทาง ดังนี้ แนวทางที่ 1 รถยนต์ทั่วไป ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม และสำหรับรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566 คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือของ ปตท. ประมาณ 3,051 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 2,749 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 302 ล้านบาท) และแนวทางที่ 2 ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV เดือนละ 1 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับรถยนต์ทั่วไปและรถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. จนถึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ตามโครงสร้างที่ภาครัฐกำหนด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะสะท้อนราคาตามโครงสร้างที่ภาครัฐกำหนดในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และคิดเป็นวงเงินช่วยเหลือของ ปตท. ประมาณ 3,166 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 2,756 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 410 ล้านบาท)
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV ดังนี้
1. รถยนต์ทั่วไป ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566
2. รถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกันของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2566
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (แนวทางการส่งเสริมฯ ระยะที่ 2) และมอบหมายคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตามแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันฯ ในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศได้ส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกมีความผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบาย การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และวันที่ 30 มกราคม 2566 กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ประชุมร่วมกับผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหา และค่าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) จำนวน 8 ราย ได้แก่ (1) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) (2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (3) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (4) บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (5) บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (6) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) (7) บริษัท PTT Global LNG Company Limited (PTTGL) และ (8) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการตามแนวทาง การส่งเสริมฯ ระยะที่ 2 รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ และได้จัดทำข้อเสนอการทบทวนแนวทางการส่งเสริม การแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (การทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2) นำเสนอ กบง. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่ง กบง. ได้เห็นชอบ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาต่อไป
2. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 กพช. ได้พิจารณาการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 และมีมติเห็นชอบในหลักการการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ในรายละเอียด โดยให้นำความเห็นของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา และมอบหมาย กบง. เป็นผู้ติดตาม การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 สามารถปฏิบัติได้เป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ ให้ กบง. จัดทำข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมฯ ระยะที่ 2 ใหม่ และนำเสนอ กพช. อีกครั้ง โดยความเห็นของ กพช. สรุปได้ดังนี้ (1) ข้อเสนอการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 ต้องคำนึงถึง ข้อดี ข้อเสีย และประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว (2) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำกับดูแลการดำเนินการตามข้อเสนอการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ (3) หากไม่สามารถดำเนินการตามการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 ได้ ให้จัดทำข้อเสนอแนวทาง การทบทวน และนำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
3. สนพ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ร่วมกันพิจารณาเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย และประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการดำเนินการตามข้อเสนอการทบทวนแนวทางฯระยะที่ 2 สรุปได้ดังนี้
3.1 ผลต่อประเทศในภาพรวม มีดังนี้ (1) การทบทวนโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง Shipper รายเดิมและรายใหม่ ทำให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติอย่าง เท่าเทียม ส่งเสริมให้มีผู้จัดหาและนำเข้า LNG มากขึ้น ลดการผูกขาดทั้งในด้านการจัดหา ค้าส่ง และรวมถึง การจำหน่ายในอนาคต ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการแข่งขันทั้งในเชิงราคาและคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปเป็นตลาดสำหรับรองรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายเล็กหรือผู้ใช้ก๊าซที่อยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงก๊าซธรรมชาติและมีทางเลือกในการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น (2) การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของประเทศจะมีความต่อเนื่องและยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่เหมาะสมกับทุกสภาวะตลาด ไม่ว่าสถานการณ์ราคา LNG จะถูก หรือแพงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Pool Gas เดิม) เมื่อเทียบกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเดิม ที่สามารถใช้ได้ในสถานการณ์ที่ราคา LNG ถูกกว่า Pool Gas เดิม เท่านั้น (3) การทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2ทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติมากขึ้น เช่น มีการกำหนดขอบเขตของ Old Supply และ New Supply เพื่อให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติในส่วน New Supply สามารถแข่งขันได้ภายใต้บรรทัดฐานเดียวกันสำหรับ ทุก Shipper มีการกำหนดนิยาม Old Demand และ New Demand ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีทางเลือกในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจาก Shipper หลายราย ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และมีการกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เป็นต้น (4) การนำเข้า LNG ของ Shipper ทุกรายถูกกำหนดให้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. เช่นเดียวกับโครงสร้างกิจการ ก๊าซธรรมชาติเดิม โดยมีการปรับหลักเกณฑ์การจัดหา LNG ให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ทำให้ประเทศสามารถจัดหา LNG เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานได้ทันต่อสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ การใช้ก๊าซธรรมชาติในกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. (Regulated Market) จะถูกกำกับดูแลในด้านปริมาณ คุณภาพ และราคา ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Partially Regulated Market จะถูกกำกับดูแลในด้านปริมาณและคุณภาพ (5) การทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศให้มีความเหมาะสม มีการคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศ รวมทั้งการกำหนดปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จำเป็นต้องสำรองไว้ (Swing Gas) และหลักเกณฑ์การใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ไม่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ (Bypass Gas) ในกรณีจำเป็น (6) การแข่งขันนำเข้า LNG และบริหารผ่านระบบ Pool Gas จะช่วยให้การสั่งเดินเครื่องของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าของ กฟผ. สามารถดำเนินการได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (7) การทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 จะสามารถทำให้การเปิดให้ใช้ TPA สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และ (8) การมีผู้นำเข้า LNG และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับมากขึ้น สามารถต่อยอดให้ประเทศไทยยกระดับ เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) เป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอีกทางหนึ่ง
3.2 ผลต่อ Shipper มีดังนี้ (1) Shipper ทุกรายสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานเดียวกันภายใต้โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ โดยไม่มี Shipper ใดมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบจากการมีสิทธิ์ใช้ Pool Gas ในขณะที่โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเดิม มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้ Pool Gas และส่งผลให้ Shipper รายอื่น ไม่สามารถแข่งขันได้ และ (2) การเปิดแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติที่ผ่านมา ไม่สามารถประเมินความสามารถในการนำเข้า LNG ส่วนเพิ่มของประเทศแบบระยะยาวได้อย่างชัดเจน ดังนั้นในการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 จึงได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เปิดเผย และจัดส่งข้อมูลปริมาณ Demand - Supply และ Take or Pay ของตนเอง อย่างละเอียด โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่าง Shipper ทุกราย
3.3 ผลต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีดังนี้ (1) ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มจะมีทางเลือกในการจัดหาก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งได้รับการบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงขึ้น ในราคาที่เป็นธรรม โดยในช่วงเริ่มต้นการดำเนินการตามการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติหลักยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงอาจทำให้ไม่มีการแข่งขันในด้านราคามาก อย่างไรก็ดี เมื่อได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว และ Shipper เริ่มมีการนำเข้า LNG มากขึ้น จะเกิดการพัฒนาตลาดเพื่อรองรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่และรายเล็กที่อยู่ในแนวท่อหรือนอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกลไก ของตลาดดังกล่าวจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายย่อยที่ไม่มีความสามารถในการจัดหาก๊าซธรรมชาติด้วยตัวเอง มีโอกาสเลือกจัดหาก๊าซธรรมชาติจาก Shipper รายใดก็ได้ นอกเหนือจาก Shipper เดิม เช่น โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โรงงานอุตสาหกรรม หรือลูกค้าที่ตั้งอยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น (2) ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติของผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในกลุ่ม Regulated Market ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ตามโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ยังคงเท่ากับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเดิม ไม่ได้มีผล ทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติมีภาระเพิ่มขึ้น และ (3) การจัดตั้ง Pool Manager โดยกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (Pool Gas) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง มีความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้
4. ภายใต้โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกรายทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคไฟฟ้าจะสามารถซื้อก๊าซธรรมชาติได้ในราคาเดียวกันที่ราคา Pool Gas ซึ่งเท่ากับราคา EPP ของโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเดิม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมสามารถเลือกซื้อก๊าซธรรมชาติได้จาก Shipper รายใดก็ได้ เนื่องจากมีต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากันที่ราคา Pool Gas สำหรับการผลิตไฟฟ้าจะสามารถสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามประสิทธิภาพที่มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าที่ต่ำสุดได้ ซึ่งเกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้ มูลค่าราคาก๊าซธรรมชาติรวมในการผลิตไฟฟ้ากลุ่ม Regulated Market ตามโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่จะยังคงเท่ากับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติเดิม ดังนั้น การทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการตามข้อเสนอการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการในรายละเอียดการออก ปรับปรุงคำสั่ง มติ ประกาศข้อกำหนด หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับข้อเสนอการทบทวนแนวทางฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
มติของที่ประชุม
รับทราบการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การทบทวนแนวทาง การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามการทบทวนแนวทางฯ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
เรื่องที่ 4 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม ไปที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และ (2) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ) ให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ จากความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ของโลกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่ปริมาณการผลิตจากสหพันธรัฐรัสเซียมีแนวโน้มจะปรับลดลงในเดือนมีนาคม 2566 ประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป และมาตรการกำหนดเพดานราคา ของกลุ่ม G7 และสหภาพยุโรป ประกอบกับการส่งมอบก๊าซ LPG ในตะวันออกกลางเกิดความล่าช้า เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงของสถานีส่งออกและถังเก็บน้ำมันในภูมิภาค ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ก๊าซ พบว่าในเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคา LPG ตลาดโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 58.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 จาก 583.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน สู่ระดับ 642.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ที่ปรับตัวลดลง แม้ว่าค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.0033 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 26.6482 บาทต่อกิโลกรัม (808.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 26.6449 บาทต่อกิโลกรัม (783.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) โดยกองทุนน้ำมันฯ ปรับลดการจ่ายเงินชดเชยจาก 9.0519 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 8.1140 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท
3. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป ในภายหลัง โดย ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 104,012 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 57,917 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,095 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิต และจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,934 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 2,581 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีก๊าซ LPG มีรายจ่าย 648 ล้านบาทต่อเดือน
4. เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566ราคานำเข้าอยู่ที่ 784 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 444 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลต่อสภาพคล่อง ของกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จากติดลบ 648 ล้านบาทต่อเดือน เป็นติดลบ 417 ล้านบาทต่อเดือน หลังปรับขึ้นราคาขายปลีกในเดือนมีนาคม 2566 และฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,095 ล้านบาท เข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 417 ล้านบาทต่อเดือน และแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ครั้ง ไปที่ 23.7216 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9345 บาทต่อกิโลกรัม การปรับขึ้นครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 21.8524 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 116 ล้านบาทต่อเดือน การปรับขึ้นครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 22.7870 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 453 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายรับ 184 ล้านบาทต่อเดือน และการปรับขึ้นครั้งที่ 3 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 23.7216 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 468 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายรับ 484 ล้านบาทต่อเดือน
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG โดยมีสมมติฐานราคาตลาดโลกที่ 784 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน พบว่า ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณ ติดลบ 46,095 ล้านบาท ทั้งนี้ หากปรับราคาก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะอยู่ที่ประมาณ ติดลบ 47,763 ล้านบาท หรือติดลบ 45,960 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ตามลำดับ ทั้งนี้ การดำเนินการตามแนวทางที่ 1 จะช่วยลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนแต่จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระเพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่แนวทางที่ 2 จะทำให้ราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนการจัดหา และลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดจากการอุดหนุนราคา LPG รวมถึงลดปัญหาการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และอาจเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัย จากการที่ประชาชนบางส่วนมีการนำถังขนาด 15 กิโลกรัม สำหรับใช้ในครัวเรือนไปเติมก๊าซ LPG ที่สถานีบริการ เนื่องจากสามารถเลือกปริมาณและจำนวนเงินในการเติมเพื่อลดภาระในการซื้อก๊าซ LPG แต่ละครั้งได้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยคงราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคา ขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคา ก๊าซ LPG ต่อไป
3. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานกำกับดูแลสถานีบริการก๊าซ LPG ไม่ให้มีการลักลอบ เติมก๊าซ LPG สำหรับรถยนต์ลงในถังก๊าซหุงต้ม
เรื่องที่ 5 การกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี100) ในสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภาวะปกติและภาวะวิกฤต ดังนี้ ภาวะปกติ ระยะสั้น (พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2566) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และระยะยาว (พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป) กำหนดให้มีน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 เกรดเดียว สำหรับภาวะวิกฤต คือ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 2 กรณี คือ หากราคาไบโอดีเซลสูงกว่า 1.5 เท่า หรือ 2.5 เท่า ของราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี0) ให้นำเสนอ กบง. พิจารณาปรับลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นร้อยละ 5 หรือร้อยละ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 กบง. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร
2. กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2566 ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ประมาณ 3.13 ถึง 3.64 แสนตันต่อเดือน โดยมีความต้องการใช้ CPO ในประเทศประมาณ 1.97 ถึง 2.00 แสนตันต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นการใช้ในภาคบริโภคประมาณ 1 แสนตันต่อเดือน และการใช้ในภาคพลังงานประมาณ 0.97 ถึง 1.00 แสนตันต่อเดือน (กรณีคงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่ บี7) ในขณะที่คาดการณ์ความต้องการส่งออก CPO ประมาณ 0.93 แสนตันต่อเดือน สำหรับราคาน้ำมันไบโอดีเซล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 34.46 บาทต่อลิตร อยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ 34.56 บาทต่อลิตร
3. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซลจาก 5.99 บาทต่อลิตร เป็น 1.34 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 โดย ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีการจัดเก็บเงินจากน้ำมันดีเซล 4.22 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ กรณีไม่ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และไม่จัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566 จะอยู่ที่ 35.20 บาทต่อลิตร โดยหากพิจารณาราคาไบโอดีเซลปัจจุบัน พบว่าอยู่ที่ 34.46 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ซึ่งอยู่ที่ 23.54 บาทต่อลิตร ประมาณ 1.46 เท่า จึงเห็นควรคงสัดส่วนผสมไบโอดีเซลที่ร้อยละ 7 (บี7) และเมื่อพิจารณาระดับสต๊อก CPO ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4.0 แสนตัน พบว่าการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็น บี5 จะทำให้ระดับสต๊อก CPO เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับสต๊อกที่เหมาะสมของประเทศ และหากพิจารณาปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วกลับเป็นกรณีปรกติ คือ ร้อยละ 7 (บี7) ร้อยละ 10 (บี10) และร้อยละ 20 (บี20) จะทำให้ระดับสต๊อก CPO ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 4.82 แสนตัน ซึ่งช่วยดูดซับ CPO ได้เพิ่มอีก 0.59 แสนตัน เมื่อเทียบกับ บี7 เกรดเดียว แต่จะทำให้ต้นทุนราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เพิ่มขึ้น 0.26 บาทต่อลิตร และบี20 เพิ่มขึ้น 1.35 บาทต่อลิตร และส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ จัดเก็บเงินได้ลดลงประมาณเดือนละ 95 ล้านบาท (บนสมมติฐานปริมาณการใช้และส่วนต่างราคาขายปลีก บี7 บี10 และบี20 ในปี 2564) ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ร้อยละ 7 (บี7) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 เพื่อไม่ให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น และลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 33.94 บาทต่อลิตร
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566
2. มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล ตามข้อ 1
3. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานประสานฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) นำเสนอการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามข้อ 1 เพื่อทราบ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานอาจมีการทบทวนสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วตามความเห็น กนป.
เรื่องที่ 6 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B ตามลำดับ และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว โดยโครงการน้ำงึม 3 จะต้องดำเนินการจัดทำ Full Due Diligence ให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะ ลงนามได้ และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของทั้งสองโครงการในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
2. โครงการน้ำงึม 3 ได้จัดทำ Full Due Diligence แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 และ กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ส่วนโครงการเซกอง 4A และ 4B กฟผ. ลงนาม Tariff MOU กับผู้พัฒนาโครงการเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ การเจรจาร่าง PPA ของทั้งสองโครงการดำเนินการภายใต้กรอบ Tariff MOU ซึ่งกำหนดให้ใช้ PPA โครงการไซยะบุรี และโครงการน้ำเทิน 1 เป็นต้นแบบ เนื่องจากเป็น PPA โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประเภท Run-of-River และ Reservoir ฉบับล่าสุดที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการประสานฯ) กพช. และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการตรวจพิจารณาของ อส. แล้ว ทั้งนี้ กฟผ. และกลุ่มผู้พัฒนาโครงการได้เจรจาร่าง PPA แล้วเสร็จ โดยลงนามย่อกำกับ (Initial) ร่าง PPA โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตามลำดับ
3. รายละเอียดโครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B
3.1 โครงการน้ำงึม 3 กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ (ในร่าง PPA เรียกว่า Generator) คือ Nam Ngum 3 Power Company Limited เป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ Chaleun Sekong Energy Co., Ltd. (CSE) สัดส่วนร้อยละ 55 บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) สัดส่วนร้อยละ 25 และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Électricité du Laos: EDL) สัดส่วนร้อยละ 20 ตั้งอยู่บนลำน้ำงึม แขวงไซยสมบูรณ์ สปป. ลาว มีกำลังผลิตติดตั้ง 480 เมกะวัตต์ (3 x 160 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย - ลาว จำนวน 468.78 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 2,083 ล้านหน่วยต่อปี โดยเชื่อมโยงมาฝั่งไทยที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3
3.2 โครงการเซกอง 4A และ 4B กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ คือ Xekong 4A & 4B Power Company Limited เป็นบริษัทจดทะเบียนใน สปป. ลาว มีผู้ถือหุ้น ได้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สัดส่วนร้อยละ 60 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนร้อยละ 20 และบริษัท Lao World Engineering and Construction จำกัด สัดส่วนร้อยละ 20 โครงการตั้งอยู่บนลำน้ำเซกอง แขวงเซกอง ทางตอนใต้ของ สปป. ลาว มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 355 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟผ. ณ จุดส่งมอบชายแดนไทย – ลาว จำนวน 347.30 เมกะวัตต์ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้า 1,472.78 ล้านหน่วยต่อปี โดยแบ่งเป็น เซกอง 4A มีกำลังผลิตติดตั้ง 175 เมกะวัตต์ (2 x 87.5 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่าย ณ จุดส่งมอบ 170.20 เมกะวัตต์ และเซกอง 4B มีกำลังผลิตติดตั้ง 180 เมกะวัตต์ (2 x 90.0 เมกะวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าและจำหน่าย ณ จุดส่งมอบ 177.10 เมกะวัตต์ โดยเชื่อมโยงมาฝั่งไทยที่สถานีไฟฟ้าอุบลราชธานี
4. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการน้ำงึม 3
4.1 อายุสัญญาโครงการ 27 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)
4.2 กำหนดวันจัดหาเงินกู้ (Scheduled Financial Close Date: SFCD) คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 6 เดือน นับจากวันลงนาม หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน กำหนดวันจัดหาเงินกู้แบบ Project Finance (Scheduled Project Finance Achievement Date: SPFAD) คือ ภายใน 24 เดือน นับจากวันลงนามสัญญา หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SPFAD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน กำหนดวันจ่ายไฟฟ้า (Scheduled Energization Date: SED) คือ ภายใน 5 เดือน นับจากวันเริ่มงานก่อสร้าง (EGAT Construction Obligation Commencement Date: ECOCD) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (Scheduled Commercial Operation Date: SCOD) คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 36 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2569 ทั้งนี้ หากงานก่อสร้างล่าช้าฝ่ายที่ทำให้เกิดความล่าช้าจะต้องจ่ายค่าปรับ (Liquidated Damages: LD) แต่หากเกิดจากเหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) ฝ่ายที่อ้างเหตุจะต้องจ่ายค่า Force Majeure Offset Amount (FMOA) โดยจะได้รับคืนภายหลัง ซึ่งแตกต่างจาก LD ที่ไม่มีการจ่ายคืน
4.3 เงื่อนไขการเดินระบบ (Operating Arrangements) คุณภาพไฟฟ้าต้องเป็นไปตาม Contracted Operating Characteristics (COCs) การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าต้องสามารถตอบสนองคำสั่ง ของ กฟผ. ได้แบบ Fully Dispatchable และ Generator ไม่มีสิทธิ์ขายพลังงานไฟฟ้าให้บุคคลที่สาม ยกเว้นตามที่ได้รับความเห็นชอบจาก กฟผ. โดยพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ ได้แก่ (1) Primary Energy (PE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ ถึงวันเสาร์ (2) Secondary Energy (SE) คือ พลังงานไฟฟ้าที่ Generator แจ้งขายได้ไม่เกิน 5.35 ชั่วโมงต่อวัน ในวันจันทร์ ถึงวันเสาร์ และไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในวันอาทิตย์ และ (3) Excess Energy (EE) เป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกินจาก PE และ SE โดย กฟผ. จะรับประกันซื้อ PE และ SE แต่ไม่รับประกันซื้อ EE ทั้งนี้ Generator ต้องรับประกันการผลิต PE ส่งให้ กฟผ. ไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงในแต่ละเดือน โดยไม่รวมวันอาทิตย์ และเมื่อรวมทั้งปีแล้วต้องไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่รวมวันอาทิตย์ โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) ราคารับซื้อระหว่างทดสอบ (Test Energy) เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย (2) ก่อน COD ประกอบด้วย ราคาในช่วง Peak เท่ากับ 1.5300 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak เท่ากับ 1.3005 บาทต่อหน่วย หลัง COD ประกอบด้วย PE ซึ่งแบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท ในสัดส่วน 50 : 50 เท่ากับ 4.2850 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย และ 1.3712 บาทต่อหน่วย SE เท่ากับ 1.6454 บาทต่อหน่วย และ EE เท่ากับ 1.0000 บาทต่อหน่วย
4.4 การจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้า มีดังนี้ (1) กฟผ. จะจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าให้ Generator แต่ละปีไม่เกินจำนวนพลังงานไฟฟ้าตามเป้าหมายรายปี โดยกรณีที่ Generator มีความพร้อมผลิตไฟฟ้า เกินเป้าหมายรายปี พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเป้าหมายจะถูกเก็บไว้ในบัญชี และ กฟผ. จะจ่ายเงินคืนให้ Generator ในปีที่ Generator มีความพร้อมต่ำกว่าเป้าหมาย (2) กรณีที่ กฟผ. สั่งเดินเครื่องน้อยกว่าค่าพลังงานไฟฟ้า ที่รับประกันซื้อรายเดือน กฟผ. ต้องจ่ายเงินเท่ากับที่รับประกันซื้อ และส่วนที่ซื้อไม่ครบสามารถสะสมไว้ในบัญชี Dispatch Shortfall โดย กฟผ. มีสิทธิ์ Make-up ได้ตลอดอายุสัญญา หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนที่รับประกันซื้อในเดือนนั้นๆ จนครบแล้ว (3) กรณีที่มี Dispatch Shortfall กฟผ. สามารถสะสมไว้ในบัญชี และมีสิทธิ์ Make-up หลังจากที่ซื้อพลังงานไฟฟ้าในส่วนที่รับประกันซื้อจนครบแล้วตลอดอายุสัญญา และ (4) ในเดือนสุดท้ายของ Relevant Period ที่ 3 และปีสุดท้ายของ PPA หากมี Supply Excess PE Account และ Supply Excess SE Account เหลือ ให้นำมาคูณด้วยอัตราค่าไฟ Excess Energy เพื่อนำมารวมเข้าไปใน Excess Revenue Account โดยค่าใน Dispatch Shortfall Payment Account จะถูกปรับค่าโดย Excess Revenue Account และจ่ายคืนให้กับ กฟผ. และหากยังคงมีเงินคงเหลือใน Excess Revenue Account หลังการปรับค่าแล้ว ให้จ่ายเงินคืนให้ กฟผ. อีกร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่เหลือใน Excess Revenue Account
4.5 การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Security) ประกอบด้วย (1) Development Security (DS) คือ หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 8.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 21.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) Performance Security (PS) คือ หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 19.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 14 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 6.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 14 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security ส่วนแรก FCD Additional Security คือ หลักประกันจำนวน 1,300 ล้านบาท หรือสัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการ เพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. วงเงิน 4,130 ล้านบาท ซึ่ง Generator ต้องนำส่งหนังสือค้ำประกันหรือ Mortgage Contract Over Secured Property ให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD และส่วนที่สอง PFAD Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินของโครงการเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. วงเงิน 4,130 ล้านบาท ซึ่ง Generator ต้องนำส่ง Mortgage Contract Over Secured Property ให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน PFAD
4.6 เหตุสุดวิสัย (Force Majeure: FM) กรณีเกิด FM ฝ่ายที่อ้าง FM สามารถหยุดปฏิบัติ ตามพันธะใน PPA ได้นานเท่าที่ FM เกิดขึ้น และจะได้รับการขยายเวลาสำหรับการปฏิบัติตามพันธะนั้นเท่ากับจำนวนวันที่เกิด FM แต่ต้องจ่าย FMOA ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งในอัตราที่กำหนดใน PPA โดยจะได้รับเงินคืน ในภายหลังด้วยวิธีหักกลบลบหนี้กับค่าไฟฟ้ารายเดือน กรณีเกิด Political Force Majeure ฝ่ายที่ถูกกระทบ มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้และต้องจ่าย Termination Payment ให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน PPA แต่อีกฝ่ายจะมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 15 เดือน กรณีเกิด Non-Political Force Majeure หากผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 24 เดือน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาโดยไม่มีฝ่ายใดต้องจ่าย Termination Payment ทั้งนี้ กรณี กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างระบบส่งได้ ให้ถือเป็น FM เนื่องจาก EGAT Access Rights โดย กฟผ. มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ แต่ Generator จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อผลกระทบไม่ได้รับการแก้ไขนานเกิน 730 วัน ทั้งนี้ กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการเมื่อมีการบอกเลิกสัญญา
4.7 การบอกเลิกสัญญา (1) หากเกิดขึ้นก่อน FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน (2) หากเกิดขึ้นหลัง FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกเข้าซื้อโครงการหรือไม่ก็ได้ โดยหากเลือกซื้อ กฟผ. ต้องจ่ายค่าซื้อโครงการตามราคาที่คู่สัญญาตกลงกันแต่ไม่เกินมูลค่า Shareholder Loan Amount กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ และ (3) หากเกิดขึ้นหลัง PFAD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ
4.8 การยุติข้อพิพาท หากมีข้อพิพาทให้ยุติโดยการเจรจาด้วยความสุจริต (Good Faith Discussion) ในลำดับแรก หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนดให้นำเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) และหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับ Billing, Invoice หรือ Statement ให้ยุติข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายก่อน หากไม่สำเร็จให้ยุติปัญหา โดยอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ PPA นี้ใช้บังคับและตีความตามกฎหมายไทย
5. สาระสำคัญของร่าง PPA โครงการเซกอง 4A และ 4B
5.1 อายุสัญญาโครงการ 27 ปี นับจากวัน COD
5.2 กำหนดวัน SFCD คือ วันที่ช้ากว่าระหว่าง 18 เดือน นับจากวันลงนาม หรือวันที่ 1 มกราคม 2569 หากจัดหาเงินกู้ล่าช้ากว่า SFCD ต้องจ่ายค่าปรับให้ กฟผ. ในอัตรา 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน กำหนดวัน SED คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 53 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 สิงหาคม 2573 และกำหนดวัน SCOD คือ ภายในวันที่ช้ากว่าระหว่าง 82 เดือน นับจากวัน ECOCD หรือวันที่ 1 มกราคม 2576 โดยมีเงื่อนไขการจ่ายค่าปรับกรณีงานก่อสร้างล่าช้า เช่นเดียวกับโครงการน้ำงึม 3
5.3 เงื่อนไขการเดินระบบ และพลังงานไฟฟ้าที่ กฟผ. ซื้อ มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการ น้ำงึม 3 โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) Test Energy เท่ากับ 0.570 บาทต่อหน่วย (2) PE แบ่งจ่ายเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ : บาท ในสัดส่วน 50 : 50 ก่อน COD เท่ากับ 3.3567 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย และ 1.0742 บาทต่อหน่วย หลัง COD เท่ากับ 4.4756 เซนต์สหรัฐฯ ต่อหน่วย และ 1.4322 บาทต่อหน่วย (3) SE ก่อน COD เท่ากับ 1.2890 บาทต่อหน่วย หลัง COD เท่ากับ 1.7186 บาทต่อหน่วย และ (4) EE ก่อน COD เท่ากับ 1.0742 บาทต่อหน่วย หลัง COD เท่ากับ 1.4322 บาทต่อหน่วย โดยการจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้ามีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการน้ำงึม 3
5.4 การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประกอบด้วย (1) หลักประกันในช่วงพัฒนาโครงการ แบ่งเป็น DS1 จำนวน 5.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันลงนามสัญญา จนถึงวันก่อน FCD และ DS2 จำนวน 14.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน FCD จนถึงวันก่อน COD (2) หลักประกันในช่วงการซื้อขายไฟฟ้า แบ่งเป็น PS1 จำนวน 12.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วัน COD จนถึงวันก่อนครบ 14 ปี นับจาก COD และ PS2 จำนวน 4.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ครบ 14 ปี นับจาก COD จนสิ้นสุดอายุสัญญา และ (3) Additional Security คือ สัญญาจดจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันให้ กฟผ. วงเงิน 3,650 ล้านบาท ซึ่ง Generator ต้องนำส่ง Mortgage Contract Over Secured Property ให้ กฟผ. ก่อนหรือ ณ วัน FCD
5.5 การบอกเลิกสัญญา (1) หากเกิดขึ้นก่อน FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. จะคืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. จะยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ (2) หากเกิดขึ้น หลัง FCD กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิด Thai Political Force Majeure กฟผ. ต้องเข้าซื้อโครงการ กรณีเลิกสัญญาเนื่องจาก Generator ผิดสัญญา หรือเกิด Lao Political Force Majeure กฟผ. มีสิทธิ์เลือกที่จะให้ Generator จ่ายค่า Termination Payment หรือ กฟผ. เข้าซื้อโครงการ ทั้งนี้ ในส่วนของรายละเอียดด้านเหตุสุดวิสัย การยุติข้อพิพาท และกฎหมายที่ใช้บังคับสัญญา มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการน้ำงึม 3
6. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้พิจารณาร่าง PPA ของโครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B โดยมีมติเห็นชอบร่าง PPA ของทั้งสองโครงการ โดยมอบหมายให้ กฟผ. เสนอ อส. ตรวจพิจารณาร่าง PPA ดังกล่าว รวมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และ กพช. เพื่อพิจารณามอบหมายให้ กฟผ. ลงนามใน PPA โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจาก อส. แล้ว
มติของที่ประชุม
1. รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA โครงการน้ำงึม 3 และโครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 7 การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 – 2568
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้รับทราบ แนวทางการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 ซึ่งกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะจัดทำนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ของประเทศไทย ปี 2564 – 2568 เสนอต่อ กพช. และมอบให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 – 2568 ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายดังกล่าว กกพ. จะยังคงใช้หลักเกณฑ์ตามนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2558 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เพื่อใช้กำกับอัตราค่าไฟฟ้าไปพลางก่อน ต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 กพช. ได้มีมติเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 และกรอบแนวทาง การจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ ทั้งนี้ หาก กกพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าควรกำหนดให้มีมาตรการหรือการดำเนินการเฉพาะอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเพิ่มเติม ให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และต่อมา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กพช. ได้มอบหมายให้ กกพ. ศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และสรุปผลนำเสนอ กบง. และ กพช. พิจารณาต่อไป
2. กกพ. ได้กำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 โดยมีการดำเนินการ ดังนี้
2.1 จัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยออกประกาศ กกพ. เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศ ลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (1) ให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าตามนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2558 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 เพื่อใช้กำกับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2564 และ (2) กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2565 - 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการของ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้แก่ 1) โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าควรสะท้อนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าตามหลักการต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost) ที่เหมาะสม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และลักษณะการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยรวม 2) อัตราค่าไฟฟ้า ต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ (Allowed Revenue) ของการไฟฟ้า ซึ่งคิดจากต้นทุนในการบริการที่คำนึงถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยจำแนกตามประเภทผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า และ 3) กำหนดแนวทางการดำเนินงานสำหรับการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส (ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย) โดยมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนการใช้สิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าประกอบการดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายหนึ่งจะได้รับสิทธิ 1 สิทธิ ต่อครัวเรือนต่อบิลเดือน และต่อหนึ่งหมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า ให้ได้รับการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ให้มีการลงทะเบียน ผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ โดยให้การไฟฟ้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการค่าไฟฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย ในปัจจุบัน ที่ประสงค์จะรับสิทธิช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อยสำหรับปี 2566 เป็นต้นไป ลงทะเบียนในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นอกจากนี้ ให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส (ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย) ไปพิจารณารวมกับความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าตามแนวทางที่ กพช. เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558
2.2 ศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์ และข้อเสนอการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ปี 2564 – 2568 โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 กกพ. ได้เห็นชอบข้อเสนอโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2564 – 2568 จากการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้ (1) การทบทวนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าตามหลักการต้นทุนหน่วยสุดท้ายที่เหมาะสม พบว่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณค่าพลังไฟฟ้า (Demand Charge) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Charge) ในภาพรวมจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน (2) ทบทวนอัตราค่าบริการรายเดือน ให้สะท้อนต้นทุนคงที่ของการไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งสามารถปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงได้ในบางกลุ่มประเภทอัตราค่าไฟฟ้า (3) ข้อเสนอการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับปี 2564 – 2568 ได้แก่ 1) ให้คงอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า และอัตราค่าพลังไฟฟ้า สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งระดับส่ง และอัตราค่าไฟฟ้าในระดับขายปลีกในระดับเดียวกับปัจจุบัน 2) ปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้สะท้อนต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มบ้านอยู่อาศัยอัตราปกติที่ใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน และอัตรา TOU ที่แรงดันต่ำกว่า 22 กิโลโวลต์ (kV) และ 12 kV จากเดิม 38.22 บาทต่อรายต่อเดือน เป็น 24.62 บาทต่อรายต่อเดือน กิจการขนาดเล็ก อัตราปกติ และ TOU ที่แรงดันต่ำกว่า 22 kV และ 12 kV จากเดิม 46.16 บาทต่อรายต่อเดือน เป็น 33.29 บาทต่อรายต่อเดือน และสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU ทุกระดับแรงดัน จากเดิม 228.17 บาทต่อรายต่อเดือน เป็น 204.07 บาทต่อรายต่อเดือน และ 3) ปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าให้จำแนกองค์ประกอบค่าไฟฟ้าตามนโยบาย กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense: PE) ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือน พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป (4) โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง และอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าขายส่งฐาน ค่า Ft และ PE ในระดับขายส่ง โดยการจำแนกค่า PE ที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานเดิมออกไปเป็นค่า PE ส่งผลให้ค่าพลังงานไฟฟ้าในค่าไฟฟ้าฐานซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงเท่ากับ 0.0354 บาทต่อหน่วยขายส่ง ทั้งนี้ ให้มีการชดเชยรายได้จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีฐานะการเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนด ผ่านกลไกกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(1) ซึ่งหักจากอัตราค่าบริการเป็นรายปี โดยให้ กฟน. นำส่งเงินเข้ากองทุน และให้ กฟภ. ขอเบิกจ่ายจากกองทุนตามประกาศที่ กกพ. กำหนด 2) โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าขายปลีกฐาน ค่า Ft และ PE ในระดับขายปลีก โดยให้คงอัตรา ค่าความต้องการพลังไฟฟ้าเท่าเดิม การจำแนกค่า PE ที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานออกไปเป็นค่า PE ส่งผลให้ค่าพลังงานไฟฟ้าในค่าไฟฟ้าฐานซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงในทุกประเภทอัตราค่าไฟฟ้า เท่ากับ 0.1430 บาทต่อหน่วยขายปลีก รวมทั้งให้ทบทวนคำนิยามผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและองค์กรไม่แสวงหากำไร ของ กฟน. และ กฟภ. ให้เป็นหลักการเดียวกัน และปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนตามที่กำหนด 3) กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ (Public EV Charger) ประกอบด้วย อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมค่า Ft ค่า PE และค่าบริการรายเดือน) เท่ากับ 2.9162 บาทต่อหน่วย และไม่มีค่าความต้องการพลังไฟฟ้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยที่ กฟน. และ กฟภ. ซื้อจาก กฟผ. รวมทั้งไม่เกิดภาระค่าใช้จ่ายกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น 4) กำหนดสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่า Ft และค่า PE กำหนดรายได้ที่พึงได้รับของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สำหรับปี 2565 – 2568 และกรอบค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำกับการดำเนินงานตามแผนการลงทุนของการไฟฟ้าและรายได้ที่พึงได้รับของการไฟฟ้า และ 5) เห็นควรชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐานสำหรับการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการติดตั้งมิเตอร์เพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย ที่ชัดเจนทั้งหมด และขอให้พิจารณากำหนดนโยบายให้การไฟฟ้าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะให้ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนก่อนดำเนินการในระยะต่อไป และ (5) กกพ. ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ศึกษาและเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าในระยะต่อไป ดังนี้ 1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเสนอ กกพ. พิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 และ 2) อัตราค่าใช้บริการระบบส่งและระบบจำหน่าย (Wheeling Charge) อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเติมเงิน (Pre-Paid) อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ให้ความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าแบบชั่วคราว (Temporary Demand Response Programs) และอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนานโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในอนาคต
3. กกพ. ได้มีข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการตามนโยบายและการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 ดังนี้ (1) ขอความเห็นชอบภาคนโยบายต่อข้อเสนอการปรับโครงสร้างอัตรา ค่าไฟฟ้า จากการปรับปรุงข้อมูลและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ได้แก่ 1) เห็นควรให้คงอัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิม สำหรับค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าพลังไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีก และคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง 2) ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน เหมาะสมในทางปฏิบัติในระยะต่อไป และ 3) กำหนดให้การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ที่การไฟฟ้าได้ตรวจสอบสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ให้มีความซ้ำซ้อน และผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป และให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าตามนโยบาย กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 และ (2) ข้อเสนอต่อการปรับอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน โดย กกพ. ได้กำหนดโครงสร้างอัตรา ค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และวันที่ 1 เมษายน 2564 และให้การไฟฟ้าเตรียมความพร้อมเพื่อประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานที่ผันผวนและสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ส่งผลต่อต้นทุนการให้บริการไฟฟ้าของประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดังนั้น หากมีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จำแนกค่า PE ออกจากค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft ในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ จะส่งผลต่อการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว และอาจทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความสับสนในการจำแนกใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่มีการเพิ่มรายการค่า PE ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ ทั้งนี้ ตามที่คาดการณ์ว่าการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยจะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเดือนเมษายน 2567 ประกอบกับมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่มอบหมายให้ กกพ. พิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งมีผลกระทบ ต่อต้นทุนการให้บริการของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กกพ. จึงเห็นควรเสนอให้พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ออกไปเป็นภายในปี 2567
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า ควรพิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า จากการปรับปรุงข้อมูลและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กกพ. ในการคงอัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิม ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐานเนื่องจากยังไม่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะอย่างครบถ้วน การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรายได้ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย รวมถึงประเด็นผลกระทบในการนำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่จำแนกค่า PE ออกจากค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft ในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี มติ กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ได้กำหนดการพิจารณา ค่า PE เป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมในอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐ และต้องกระจายภาระดังกล่าวไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ซึ่งในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่นำเสนอแม้จะมีแนวทางการประเมินค่า PE อย่างชัดเจนแล้ว แต่อาจจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการกระจายภาระต้นทุน อันเกิดจากการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ครอบคลุม และเป็นธรรม เพื่อสอดรับกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในระบบผลิตไฟฟ้า และระดับผู้ใช้ไฟฟ้า (Prosumer) โดยคำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยที่ยังต้องใช้บริการพลังงานไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าที่อาจมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรเร่งเตรียมการเพื่อรองรับ การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้าตามนโยบายที่ กพช. กำหนด ซึ่งบางส่วนมีความจำเป็นต่อการประกาศใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต เช่น การวางยุทธศาสตร์เชิงรุกในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าและประชาชน การจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพื่อบูรณาการกับฐานระบบข้อมูลของศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. รับทราบผลการดำเนินการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564 – 2568 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 และวันที่ 1 เมษายน 2564
2. เห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต่อการดำเนินการตามนโยบายและการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2564 - 2568 พร้อมรับข้อเสนอแนะของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานไปดำเนินการ
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ต่อมา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับปี 2565 – 2573 ในปริมาณรวม 5,203 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2569 ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้า และกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอน ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนปริมาณเชื้อเพลิงรายปีที่กำหนดไว้ได้ตามสถานการณ์หรือศักยภาพที่เหมาะสม หรือปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณา โดยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 กบง. ได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม สำหรับปี 2565 – 2573 ด้านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของโครงการ และเห็นชอบให้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารายปี เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวม ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ
2. กกพ. ได้ออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนี้ (1) ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 (2) ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง บนพื้นดิน พ.ศ. 2565 จำนวน 4 ฉบับ ลงวันที่ 30 กันยายน 2565 และที่ประกาศเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ถึงฉบับที่ 4 ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 1 มีนาคม 2566 ตามลำดับ (3) ระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 และ (4) ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม (ปี 2569) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2565 และที่ประกาศเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กบง. ได้รับทราบรายงานผลการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่สะท้อนถึงความสนใจและศักยภาพของผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จึงมีความเห็นให้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ให้สามารถรองรับการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่มีปริมาณมากเพิ่มเติมได้ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ตามแผนที่กำหนด พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการดำเนินการต่อ กบง. เพื่อพิจารณา
3. เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ประชุมหารือในประเด็นศักยภาพพลังงานหมุนเวียนคงเหลือสำหรับส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ด้วยการบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ โดย พพ. พิจารณาแล้วเห็นควรปรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ให้สอดคล้องกับศักยภาพ เชิงพื้นที่ของพลังงานแสงอาทิตย์ 184,178.46 เมกะวัตต์ พลังงานลม 7,835 เมกะวัตต์ ชีวมวล 1,085 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 1,140 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม 212 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ให้พิจารณาตามกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดรายภาคแบ่งตามศักยภาพเชื้อเพลิงที่ กพช. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 และเห็นควรปรับเป้าหมายของพลังงานก๊าซชีวภาพจากแผนเดิมให้คงเหลือ 200 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมวลจากแผนเดิมให้คงเหลือ 390 เมกะวัตต์
4. สนพ. ได้รับแจ้งสรุปรายละเอียดข้อมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565 – 2573 สำหรับพลังงานหมุนเวียนกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม พร้อมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากประธาน กกพ. สรุปได้ดังนี้ (1) การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจำนวน 629 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 17,011.93 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติจำนวน 548 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 13,855.74 เมกะวัตต์ และที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจำนวน 81 โครงการ ปริมาณ พลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 3,156.19 เมกะวัตต์ และมีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อม ทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) จำนวน 317 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 7,639.08 เมกะวัตต์ และที่ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ จำนวน 231 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 6,216.66 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์เกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน และประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) (2) การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับขยะอุตสาหกรรม มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจำนวน 27 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 207.70 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ โดยภาคตะวันออก มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดในปริมาณรวม 108.70 เมกะวัตต์ รองลงมา คือ ภาคกลาง 77 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 17 เมกะวัตต์ และภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ส่วนภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้า ทั้งนี้ มีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติจำนวน 26 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 202.70 เมกะวัตต์ และมีผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน รวมกับผู้ที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ของ กกพ. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 24 โครงการ ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 186.70 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ และ (3) ข้อเสนอแนะจากการดำเนินการ มีดังนี้ 1) ผลการรับซื้อไฟฟ้าปรากฏว่ามีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเกินกว่าเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม สอดคล้องกับเป้าหมายความ เป็นกลางทางคาร์บอน และเป็นประโยชน์กับประเทศในด้านพลังงานและเศรษฐกิจ 2) ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ที่ไม่ผ่านการพิจารณาความพร้อมด้านคุณสมบัติและด้านเทคนิคขั้นต่ำเป็นจำนวนมากรายที่มีข้อผิดพลาด และเอกสารประกอบคำเสนอขายไฟฟ้าไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือตกหล่นเล็กน้อย ที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกำหนด ดังนั้น หากมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าในรอบแรกที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติและเทคนิคดังกล่าวสามารถปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าให้ครบถ้วน เนื่องจากโครงการมีความพร้อม มีความตั้งใจและลงทุนจัดเตรียมข้อมูลเพื่อพัฒนาโครงการแล้ว และ 3) การกระจุกตัวของโครงการในบางพื้นที่ทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเสริมระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน เช่น กรณีพลังงานลมที่มีศักยภาพพื้นที่จำกัด เป็นต้น ดังนั้น หากมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ควรกำหนดให้การพิจารณาคำเสนอขายไฟฟ้าเพิ่มเติมนี้ดำเนินการหลังการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จก่อน
5. การบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าตามแผนการเพิ่มเติมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ เพื่อรองรับปริมาณเสนอขายไฟฟ้าที่มีจำนวนมากได้เพิ่มเติมนั้น พิจารณาบนหลักการคำนวณ ค่าปริมาณพลังงานไฟฟ้าจากโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผน และนำมาจัดสรรให้กับประเภทเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่จะพิจารณาขยายการรับซื้อ เพื่อให้ปริมาณพลังงานไฟฟ้ายังคงเพียงพอตามแผน PDP2018 Rev.1 และแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ โดยมีการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผนรวมทั้งสิ้น 1,140 เมกะวัตต์ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ ปี 2571 ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ โครงการ SPP Hybrid Firm 183 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 135 เมกะวัตต์ ชีวมวล 95 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน Quick Win 26.5 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ จากหลักการดังกล่าว สามารถจัดทำแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยมีสาระสำคัญของการปรับปรุงแผน คือ ปรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า และเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง ให้สอดคล้องกับศักยภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 12,704 เมกะวัตต์
6. หลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 มีดังนี้
6.1 รับซื้อไฟฟ้าสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ขนาดกำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ และสำหรับขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในรูปแบบสัญญา Non-Firm อายุสัญญารับซื้อไฟฟ้า 20 - 25 ปี อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ทั้งนี้ จะยังไม่รับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาผสมผสาน ให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีความสามารถในการพร้อมจ่ายและรองรับความต้องการ ในแต่ละช่วงเวลาได้ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดสอบและคาดว่าจะสามารถจัดหาได้ครบตามเป้าหมายแล้ว
6.2 เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 - 2573 รวมทั้งสิ้น 3,668.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์ กรณีที่มีเป้าหมายคงเหลือจากการรับซื้อไฟฟ้า ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม ให้นำเป้าหมายคงเหลือมารวมในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมด้วย ยกเว้นก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ทั้งนี้ กกพ. สามารถพิจารณาปรับเป้าหมาย การรับซื้อไฟฟ้ารายปี เฉพาะกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนน ความพร้อมด้านเทคนิค ข้อเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวัน SCOD และศักยภาพระบบไฟฟ้า โดยไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง หลักการตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ได้รายงาน ให้ กพช. รับทราบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565
6.3 การรับซื้อไฟฟ้าให้ยึดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกโครงการและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการตามหลักการเช่นเดียวกับที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สำหรับกลุ่ม ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และวันที่ 22 มิถุนายน 2565 สำหรับขยะอุตสาหกรรม และที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ กำหนดให้เพิ่มเติมเงื่อนไขของผู้ยื่นข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้ (1) ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม ต้องเป็นผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 ซึ่งเป็นการรับซื้อตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กบง. เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 (2) ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องใช้หนังสือแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฉบับเดิมที่ได้ใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 (3) ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมสามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายได้ แต่ต้องไม่สูงเกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย ตามคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 ทั้งนี้ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิง ที่ตั้งโครงการ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า ระดับแรงดันที่เชื่อมต่อ และรูปแบบการเชื่อมต่อตามที่ระบุในหนังสือแสดงผลการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฉบับเดิมได้ และ (4) ผู้ยื่นข้อเสนอ ในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีสถานะเป็นผู้เรียกร้อง ผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง หรือผู้ร้องสอด ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบ และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของ กกพ. ในข้อ 2 ซึ่งหมายรวมถึง กพช. กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยผู้ยื่นข้อเสนอ ในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจะต้องยืนยันความไม่เกี่ยวข้องหรือยืนยันสถานะดังกล่าวตลอดเวลา
6.4 การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมตามข้อ 6.2 ให้เริ่มดำเนินการเมื่อสำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 เสร็จสิ้น โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ (1) ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก ภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 ทั้งนี้ กำหนดให้ กกพ. พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อม ตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพที่ได้จัดทำไว้โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้า และมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน โดยให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) พลังงานลม และ 2) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นรายสุดท้ายภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 ของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่ากรอบเป้าหมายที่คงเหลือนั้น ให้ กกพ. สามารถปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายให้กับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารายดังกล่าวได้ไม่เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตาม คำเสนอขายไฟฟ้าเดิม ถ้าหากโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีศักยภาพที่สามารถรองรับได้ (2) การรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือหลังหักปริมาณที่ได้รับซื้อไปแล้วในข้อ 6.4 (1) ให้ดำเนินการในลำดับถัดมา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในข้อ 2 หรือไม่ได้รับการคัดเลือกในการรับซื้อตามข้อ 6.4 (1) สามารถปรับปรุงแก้ไขคำเสนอขายไฟฟ้าที่ได้ยื่นไว้แล้วให้ครบถ้วนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ.กำหนด รวมถึงเงื่อนไขของผู้ยื่นข้อเสนอในข้อ 6.3 ทั้งนี้ ให้พิจารณารับซื้อเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 2) พลังงานลม 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ 4) ขยะอุตสาหกรรม สำหรับผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ภายใต้ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในข้อ 2 สามารถเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนที่เหลือนี้ได้ และ (3) การรับซื้อไฟฟ้าจะพิจารณาตามศักยภาพของโครงข่ายระบบไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ โดยการประเมินความสามารถระบบไฟฟ้าให้ดำเนินการประเมินสำหรับการรับซื้อตามข้อ 6.4 (1) ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะประเมินสำหรับการรับซื้อตามข้อ 6.4 (2) ต่อไป ทั้งนี้ หากมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าในการรองรับ และไม่สามารถดำเนินการปรับปรุงให้สามารถเชื่อมโยงเพื่อรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ภาครัฐขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ตอบรับข้อเสนอขายไฟฟ้า
6.5 การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ให้ยึดกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดรายภาค ที่ กพช. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 โดยการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมกำหนดให้ความสำคัญ เป็นลำดับแรกกับขยะอุตสาหกรรมที่กำจัดยาก ซึ่งมีกระบวนการกำจัดที่ซับซ้อนกว่าการเผาไหม้โดยตรง และมีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยะอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทดแทน (Reuse/Recycle) ตามนโยบายกำจัดของเสียของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมถึงการป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพดีอย่างยั่งยืน
6.6 อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจากแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดฯ ให้ยึดใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565 – 2573 ตามที่ กพช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ ดังนี้ (1) กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง สำหรับกำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด ใช้อัตราตามที่ กพช. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ดังนี้ 1) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา FiT เท่ากับ 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี 2) พลังงานลม เท่ากับ 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี และ 3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เท่ากับ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี ทั้งนี้ สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.50 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ และ (2) ขยะอุตสาหกรรม กำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 เมกะวัตต์ ใช้อัตราตามที่ กพช. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ได้แก่ อัตรา FiTF เท่ากับ 3.39 บาทต่อหน่วย FiTV,2560 เท่ากับ 2.69 บาทต่อหน่วย และ FiT เท่ากับ 6.08 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี โดยอัตรา FiTv จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core Inflation) ทั้งนี้ ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 8 ปีแรก 0.70 บาทต่อหน่วย และ FiT Premium สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ตลอดอายุโครงการ 0.50 บาทต่อหน่วย
7. ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม (1) ช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้มีการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย การลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 – 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ได้นำเสนอการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซ เรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Nationally Determined Contribution: NDC) ซึ่งต่อมามีการพิจารณาปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 30 – 40 ได้ (2) การที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมกันเกินกว่าเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนอีกมาก ซึ่งการบริหารจัดการเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าให้สามารถรองรับการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าที่มีปริมาณมากเพิ่มเติมได้นั้น จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะยาว อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนแนวนโยบายการบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 และ (3) การเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ ปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
8. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้สำเร็จได้ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม และฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 30 - 40 ตามแผน NDC และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่กำหนดนั้น การไฟฟ้าทั้งสามแห่งจะต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าได้
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2)
2. เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ อาจพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) ได้ โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานพิจารณา
3. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1 ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) และแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยใช้งบประมาณของโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วและมีวัตถุประสงค์ เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งดำเนินการเพิ่มศักยภาพระบบส่งไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ (หากจำเป็น) ทั้งนี้ มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินโครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าหรือส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับอนุมัติไว้แล้วที่ช่วยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาระบบจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อขออนุมัติต่อไป
4. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณาต่อไป