ทิศทางการใช้งานระบบ NZE Microgrid
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการนำศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาใช้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฟาร์มกังหันลม และสร้างระบบไมโครกริดที่พึ่งพาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ดังนั้นในอนาคตข้างหน้าการออกแบบนโยบาย สร้างกลไกตลาด และนำเทคโนโลยีไมโครกริดมาใช้จะเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission โดยควรมุ่งเป้าไปที่การทำให้ไฟฟ้าของประเทศไม่เพียงราคาถูกลง แต่ยังพึ่งพาได้จากแหล่งพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และเร่งให้การใช้พลังงานในภาคอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า (Electrification) ซึ่งไม่เพียงมีผลดีด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอีกด้วย
ดังนั้นแนวคิดของโครงสร้างพื้นฐานระบบพลังงานแบบไมโครกริดจึงเป็นแนวคิดนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งสามด้าน คือ การแก้ปัญหาทางด้านเทคโนโลยี การแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทิศทางการใช้งานระบบไมโครกริดแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (NZE Microgrid) มีรายละเอียดดังนี้
• การใช้งาน NZE Microgrid ในพื้นที่ชุมชน
แนวทางการใช้ NZE Microgrid ในพื้นที่ชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นจะพิจารณาเจาะจงในเขตพื้นที่ย่านธุรกิจหรืออาคารสำนักงานในตัวเมืองและที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยลักษณะของการใช้ไฟฟ้า (Load Profile) ควรสอดคล้องกับแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resources: DERs) เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm หรือ Solar Rooftop) และการเสริมระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อรองรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเกินในช่วงกลางวัน และนำมาจ่ายในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง และในช่วงเวลากลางคืน
• การใช้ NZE Microgrid ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรม
ตามลักษณะการใช้พลังงานไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น นิคมอุตสาหกรรมถือว่าเป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นทั้งการใช้พลังงานไฟฟ้าในปริมาณที่สูงและมีขนาดกำลังไฟฟ้า 100 MW ขึ้นไป ทำให้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมีโอกาสที่สามารถประยุกต์ใช้ระบบไมโครกริดได้เป็นอย่างดี เพราะจะมีแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์หลากหลายประเภท อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น รวมถึงการเสริมระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อใช้บริหารจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลา หรืออาจมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองโดยใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นต้น ทั้งนี้ ถือว่าการพัฒนาระบบไมโครกริดในเขตอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสามารถช่วยเสริมความมั่นคง เสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า