มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 1/2566 (ครั้งที่ 57)
วันพุธที่ 18 มกราคม 2566
1. รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
2. รายงานผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
3. รายงานสถานการณ์และมาตรการด้านน้ำมันดีเซล
4. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 (มาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ) และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) ติดตาม การดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบ นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่างๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยเร็ว ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 กบง. ได้เห็นชอบ แผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 โดยให้คณะอนุกรรมการฯ สามารถปรับรายละเอียดมาตรการและประมาณการเป้าหมาย หรืออาจเพิ่มเติมมาตรการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดในการดำเนินการ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งให้ติดตามแผนดังกล่าวและรายงาน กบง. ทราบ
2. คณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยสามารถสรุปผลการดำเนินงานรายมาตรการ ได้ดังนี้ (1) ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงาน กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เป้าหมาย 898.8 ล้านลิตร ผลการดำเนินงาน 826 ล้านลิตร (2) จัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เป้าหมายเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMscfd) ผลการดำเนินงานเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 105 MMscfd (3) เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 554.428 ล้านหน่วย (GWh) ผลการดำเนินงาน 521.815 GWh (4) รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงาน กกพ. เป้าหมาย 163.330 GWh ผลการดำเนินงาน 13.143 GWh (5) ข้อเสนอจัดหาน้ำมันเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. ประกอบด้วย (5.1) การเพิ่มการจัดส่งน้ำมันดีเซลสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โกลว์ ไอพีพี (Glow) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อีสเทอร์น เพาเวอร์แอนด์อิเล็คทริค (EPEC) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น (GPG) และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กัลฟ์ เจพี ยูที (GUT) เป้าหมาย 20 ล้านลิตร โดยผลการดำเนินงานรวมอยู่ในมาตรการข้อ (1) และ (5.2) การปรับแผน การนำเข้าน้ำมันเตา 0.5% ด้วยวิธี Ship to Ship สำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกง เป้าหมาย 30 ล้านลิตร โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 คณะอนุกรรมการบริหารสถานการณ์ในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน (Execution Operation Team: EOT) ได้มีมติให้ส่งน้ำมันแบบ Direct Ship เพื่อนำเข้าน้ำมันมาเติมสต็อคตามสัญญาซื้อขาย (PPA) โดยไม่ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการนำเข้า Spot LNG ในช่วงนี้ เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดังกล่าวมีราคาสูง เมื่อเทียบกับ LNG (6) รับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. ประกอบด้วย (6.1) รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำเทิน 1 เป้าหมาย 43 GWh ผลการดำเนินงาน 183 GWh และ (6.2) โครงการเทินหินบุน เป้าหมาย 9.6 GWh ผลการดำเนินงาน 1.694 GWh (7) การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 88.62 GWh ผลการดำเนินงาน 19.865 GWh (8) การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กกพ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป้าหมาย 100,000 ตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 147,024 ตันเทียบเท่า LNG (9) มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 พพ. ได้มีการจัดกิจกรรมการประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน Energy Beyond Standards ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 70 หน่วยงาน (10) การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กฟผ. เป้าหมาย 8,800 ตันเทียบเท่า LNG ผลการดำเนินงาน 10,374 ตันเทียบเท่า LNG และ (11) เร่งรัดการอนุมัติ/อนุญาตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่สำนักงาน กกพ. ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงาน กกพ. โดยปัจจุบันสำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศขั้นตอนการรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงาน ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า
3. การดำเนินมาตรการตามแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 สามารถประเมินผลประโยชน์ ทางการเงิน (Financial Benefit) ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ได้รวม 78,969 ล้านบาท จากมาตรการ ดังนี้ (1) ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาตามมติ กกพ. 35,113.72 ล้านบาท (2) จัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด 19,850.41 ล้านบาท (3) เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 8 อยู่ที่ 15,227.50 ล้านบาท (4) รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 297.85 ล้านบาท (5) รับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป. ลาว ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำเทิน 1 อยู่ที่ 1,405.59 ล้านบาท และรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุน 8.605 ล้านบาท (6) นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า 124.86 ล้านบาท (7) การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรม 6,339 ล้านบาท และ (8) การเจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 601.49 ล้านบาท
4. สรุปบทเรียนจากการดำเนินมาตรการตามแผนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 และมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ได้ดังนี้ (1) ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาตามมติ กกพ. ปัญหา คือ ผลการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากการบริหารสต็อค LNG ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และการประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน รวมทั้งการจัดหาน้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ามีปัญหาด้านภาษีสรรพสามิต ข้อเสนอแนะ คือ โรงไฟฟ้าควรแจ้งยืนยันแผนการใช้น้ำมันล่วงหน้า เพื่อให้ กฟผ. แจ้งข้อมูลแผนการใช้น้ำมัน ต่อคณะ EOT โดยเร็ว และขอให้คณะ EOT พิจารณาแผนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนการใช้ ก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ถึง 45 วัน ทั้งนี้ กรณีที่ต้องใช้น้ำมันต่ำกว่าที่โรงไฟฟ้า รับจากผู้ค้า กฟผ. อาจขอให้โรงไฟฟ้ายังคงรับน้ำมันตามแผนและนำไปเติมสต็อคให้ได้มากที่สุด และกรณีที่ผู้ค้าไม่อาจส่งน้ำมันให้โรงไฟฟ้าตามแผน กฟผ. ควรแจ้ง ธพ. เพื่อกำกับให้เกิดการปฏิบัติตามแผนโดยเร็ว (2) จัดหา ก๊าซธรรมชาติในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด ปัญหา คือ การผลิตก๊าซส่วนเพิ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2565 จากแปลง G1/61 ต่ำกว่าแผนที่ผู้รับสัญญาคาดการณ์ไว้ ข้อเสนอแนะ คือ ควรเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยเร็ว โดย ชธ. กำกับ และติดตามอย่างใกล้ชิด (3) รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ปัญหา คือ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากราคารับซื้อไม่จูงใจ และเงื่อนไขการรับซื้อมีผลกระทบกับการซื้อขายไฟฟ้า ตามสัญญาหลัก ข้อเสนอแนะ คือ ควรพิจารณาเรื่องราคารับซื้อหรือเงื่อนไขการรับซื้อที่จูงใจมากขึ้น (4) รับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำระยะสั้นเพิ่มเติมจาก สปป. ลาว โครงการเทินหินบุน ปัญหา คือ การเริ่มกระบวนการรับซื้อ มีความล่าช้า เนื่องจากกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีการประชุมตามรอบที่กำหนด และ กฟผ. ต้องรอมติอย่างเป็นทางการก่อน ข้อเสนอแนะ คือ หากภาครัฐเห็นควรให้เจรจารับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุน ในระยะยาว อาจต้องพิจารณาปรับปรุงปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดใน MOU ระหว่างประเทศไทย และ สปป. ลาว ต่อไป (5) มาตรการประหยัดพลังงาน ปัญหา คือ พพ. ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถเกิดผลประหยัดอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอแนะ คือ ควรประชาสัมพันธ์มาตรการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดย พพ. อาจประสานสมาคมธนาคารในการร่วมมือด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งประสานสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับโครงการ 20:80 (6) การออกตลาดสำหรับการจัดหา LNG ปัญหา คือ สภาวะตลาดซื้อขาย LNG ปี 2565 มีความผันผวนสูง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ราคาในการออกตลาดเพื่อจัดหา LNG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะ คือ สำนักงาน กกพ. ควรดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติของคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาการจัดหาและนำเข้า LNG ซึ่งเป็นอำนาจของ กกพ. ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในอนาคต ควรพิจารณาเงื่อนไขสัญญาในการจัดหาและการจำหน่ายพลังงาน รวมทั้งสัญญาที่เกี่ยวข้องที่จะจัดทำในอนาคต ให้รองรับต่อการที่ภาครัฐจะสามารถนำมาบังคับใช้ตามแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ในกรณีที่เกิดภาวะวิกฤต รวมทั้งควรเตรียมการด้านความเพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน และการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ให้มีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน
5. คณะอนุกรรมการฯ ได้ทบทวนแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 ในส่วนของมาตรการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทน การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสำนักงาน กกพ. ได้รายงานว่าสถานการณ์ราคา Spot LNG ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยสำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ ปตท. และ กฟผ. ต่อการปรับลดปริมาณการใช้น้ำมันสำหรับผลิตไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 เพื่อให้ การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะรายงานผล การทบทวนค่าเป้าหมายของมาตรการดังกล่าวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาพลังงานต่อ กบง. ต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการด้านพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
เรื่องที่ 2 รายงานผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
สรุปสาระสำคัญ
1. นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ. 2559 - 2563) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้า ของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง โดยมีผู้ถูกร้องประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกร้องที่ 1) และคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2)
2. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีและมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ จากประชาชน ให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควร และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ อาจจะถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้ ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จะรายงานผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ กพช. ทราบต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่ 3 รายงานสถานการณ์และมาตรการด้านน้ำมันดีเซล
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและมีความ ผันผวนอย่างรุนแรง โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 โดยอยู่ที่ประมาณ 180 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2565 ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงสู่ระดับ 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจาก ตลาดกังวลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจโลกและกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก ขณะที่สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งยังมีการขยายมาตรการล๊อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดในเมืองสำคัญต่างๆ ตามนโนบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) เพิ่มขึ้นด้วย
2. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง เพื่อช่วยบรรเทา ความเดือดร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงผันผวนทั่วโลก จำนวน 6 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รวมเป็นเวลา 8 เดือน รัฐสูญรายได้ 80,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ค่าครองชีพประชาชน และภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นการต่ออายุมาตรการเป็นครั้งที่ 6 โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 โดยอัตราภาษีสรรพสามิตกลุ่มน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร
3. คณะรัฐมนตรีได้มีมาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิต ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ มีอัตราชดเชยเฉลี่ยรายเดือนอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 7 บาทต่อลิตร ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมัน มีฐานะติดลบประมาณ 8,224 ล้านบาท และในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับมาตรการบริหารราคาน้ำมันดีเซลโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิต ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันฯ มีอัตราชดเชยเฉลี่ยสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 10 บาทต่อลิตร และทยอยลดการชดเชยลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง จนในเดือนธันวาคม 2565 สามารถจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาทต่อลิตร ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมัน มีฐานะติดลบน้อยลง จากสูงสุดติดลบ 88,788 ล้านบาท มาอยู่ที่ติดลบ 72,089 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2566
4. จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยกองทุนน้ำมันฯ ยังคงมีภาระการชดเชยในระดับสูง คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จึงเห็นควรให้ยังคงจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยลดภาระของกองทุน ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของประเทศไทยเริ่มอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ ต้นเดือนธันวาคม 2565 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้ขยายระยะเวลาการปรับลดภาษีสรรพสามิต ดังนั้น กบน. จะเสนอแนวทางการบริหารอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยพิจารณาปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงในเดือน กุมภาพันธ์ 2566
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์และมาตรการของน้ำมันดีเซล
เรื่องที่ 4 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 และมอบหมายให้ ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
2. สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกยังคงผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากความกังวล ต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งอาจกดกันต่อความต้องการใช้น้ำมันและก๊าซ LPG ของโลก และสภาพอากาศ ที่อุ่นขึ้นในภูมิภาคยุโรป นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตามาตรการที่หลายประเทศทั่วโลกอาจออกมาควบคุม ผู้เดินทางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังประกาศเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ยังคงรุนแรง ส่งผลให้อุปสงค์การใช้น้ำมันเผชิญความไม่แน่นอน ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ก๊าซ พบว่าในเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 ราคา LPG ตลาดโลกลดลงประมาณ 26.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 4 จาก 609.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน สู่ระดับ 583.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ทั้งนี้ ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ย 2 สัปดาห์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายนำเข้า (X) ปรับตัวลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้าซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4283 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 23.7247 บาทต่อกิโลกรัม (678.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) เป็น 24.1530 บาทต่อกิโลกรัม (698.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) โดยกองทุนน้ำมันฯ ปรับเพิ่มการจ่ายเงินชดเชย จาก 6.1284 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 6.5567 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ขนาดถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 408 บาท
3. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 กบน. เห็นชอบให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG โดยให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้โอนเงินในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูปไปใช้ในบัญชีกลุ่มก๊าซ LPG และให้โอนคืนบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป ในภายหลัง โดย ณ วันที่ 15 มกราคม 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะกองทุนสุทธิ ติดลบ 116,883 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 72,089 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,794 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนการผลิต และจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ #1) มีรายรับ 1,252 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่ายภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 2,064 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 813 ล้านบาทต่อเดือน
4. เนื่องจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกที่ยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 อยู่ที่ 698 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน และฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,794 ล้านบาท เข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG เป็น 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 813 ล้านบาทต่อเดือน และแนวทางที่ 2 ปรับขึ้นราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ครั้ง ไปที่ 21.8524 บาทต่อกิโลกรัม โดยปรับขึ้นเดือนละ 0.9346 บาทต่อกิโลกรัม โดยการปรับขึ้นครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 513 ล้านบาทต่อเดือน และการปรับขึ้นครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG อยู่ที่ 21.8524 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกอยู่ที่ 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชี LPG มีรายจ่าย 213 ล้านบาทต่อเดือน
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้วิเคราะห์สภาพคล่องและฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG โดยมีสมมติฐานราคาตลาดโลกที่ 698 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน พบว่า ณ วันที่ 15 มกราคม 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชี ก๊าซ LPG อยู่ที่ประมาณติดลบ 44,794 ล้านบาท ทั้งนี้ หากปรับราคาก๊าซ LPG ตามแนวทางที่ 1 หรือแนวทางที่ 2 ฐานะกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG จะอยู่ที่ประมาณ ติดลบ 46,826 ล้านบาท หรือติดลบ 45,926 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ตามลำดับ ทั้งนี้ การดำเนินการตามแนวทางที่ 1 จะช่วยลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนแต่จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระเพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่แนวทางที่ 2 จะทำให้ราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนการจัดหา และลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดจากการอุดหนุนราคา LPG รวมถึงลดปัญหาการลักลอบจำหน่าย LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะ ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็น 438 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตามแนวทางที่ 2 ราคาขายปลีกของไทยก็ยังคงต่ำเป็นอันดับที่สองของอาเซียน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยคงราคาขายส่ง หน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และปรับขึ้นราคาขายส่งซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม ไปที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม กรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
2. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคา ก๊าซ LPG ต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566) โดยขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งจัดสรรเป็น (1) ส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป และ (2) ส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทาง การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ทั้งนี้ ปตท. ได้พิจารณา เสนอรูปแบบการสนับสนุนที่เหมาะสมตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 โดยการให้ส่วนลด ค่าก๊าซธรรมชาติกับ กฟผ. เป็นวงเงินประมาณ 4,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน
2. เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้แจ้งผลการพิจารณากรณีศึกษามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น เดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน ตามมติ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ดังนี้
2.1 ประมาณการผู้ใช้ไฟฟ้าและหน่วยการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 ดังนี้ (1) การไฟฟ้า นครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 150 หน่วย ประมาณ 14.72 ล้านราย การใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,074 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ย 73 หน่วยต่อรายต่อเดือน ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151 หน่วย ถึง 300 หน่วย ประมาณ 4.91 ล้านราย การใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1,305 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ย 266 หน่วยต่อรายต่อเดือน และผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 500 หน่วย ประมาณ 21.76 ล้านราย การใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 3,194 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ย 147 หน่วยต่อรายต่อเดือน (2) กฟผ. มีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ต่อเดือน ประมาณ 3,680 ราย การใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 1.75 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ย 0.44 หน่วยต่อรายต่อเดือน และ (3) กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ มีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ประมาณ 36,862 ราย การใช้ไฟฟ้ารวมประมาณ 7.74 ล้านหน่วย หรือเฉลี่ย 1.94 หน่วยต่อรายต่อเดือน
2.2 ประมาณการงบประมาณช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ในลักษณะส่วนลดค่าไฟฟ้า 4 กรณีศึกษา ดังนี้ กรณีที่ 1 ช่วยเหลือเท่ากับมาตรการในเดือนกันยายน 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้า และผลต่างอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) เรียกเก็บและส่วนลด ดังนี้ (1) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 150 หน่วย และตั้งแต่ 151 หน่วย ถึง 300 หน่วย 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301 หน่วย ถึง 350 หน่วย 51.50 สตางค์ต่อหน่วย และ 41.93 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (3) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 351 หน่วย ถึง 400 หน่วย 30.90 สตางค์ต่อหน่วย และ 62.53 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ และ (4) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 401 หน่วย ถึง 500 หน่วย 10.30 สตางค์ต่อหน่วย และ 83.13 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ รวมงบประมาณที่ใช้ 9,710.26 ล้านบาท (เฉลี่ย 2,427.57 ล้านบาทต่อเดือน) จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ประมาณ 21.80 ล้านราย กรณีที่ 2 ปรับปรุงการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่ม 151 หน่วย ถึง 500 หน่วย โดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้า และผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด ดังนี้ (1) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 150 หน่วย 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151 หน่วย ถึง 300 หน่วย 67.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (3) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301 หน่วย ถึง 350 หน่วย 34.33 สตางค์ต่อหน่วย และ 59.10 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (4) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 351 หน่วย ถึง 400 หน่วย 20.60 สตางค์ต่อหน่วย และ 72.83 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ และ (5) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 401 หน่วย ถึง 500 หน่วย 6.87 สตางค์ต่อหน่วย และ 86.56 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ รวมงบประมาณที่ใช้ 8,094.20 ล้านบาท (เฉลี่ย 2,023.55 ล้านบาทต่อเดือน) จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ประมาณ 21.80 ล้านราย กรณีที่ 3 ช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเฉพาะกลุ่ม 300 หน่วยแรก โดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้า และผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด ดังนี้ (1) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 150 หน่วย 92.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 151 หน่วย ถึง 300 หน่วย 67.04 สตางค์ต่อหน่วย และ 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ และ (3) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301 หน่วย ถึง 500 หน่วย ไม่มีส่วนลดค่าไฟฟ้า โดยมีผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมงบประมาณที่ใช้ 7,472.22 ล้านบาท (เฉลี่ย 1,868.06 ล้านบาทต่อเดือน) จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ประมาณ 19.66 ล้านราย และกรณีที่ 4 ช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของกรณีที่ 1 โดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้า และผลต่างค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด ดังนี้ (1) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 1 หน่วย ถึง 150 หน่วย และตั้งแต่ 151 หน่วย ถึง 300 หน่วย 46.02 สตางค์ต่อหน่วย และ 47.41 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 301 หน่วย ถึง 350 หน่วย 25.75 สตางค์ต่อหน่วย และ 67.68 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ (3) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 351 หน่วย ถึง 400 หน่วย 15.45 สตางค์ต่อหน่วย และ 77.98 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ และ (4) ผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 401 หน่วย ถึง 500 หน่วย 5.15 สตางค์ต่อหน่วย และ 88.28 สตางค์ต่อหน่วย ตามลำดับ รวมงบประมาณที่ใช้ 4,855.14 ล้านบาท (เฉลี่ย 1,213.79 ล้านบาทต่อเดือน) จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ ประมาณ 21.80 ล้านราย ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้การช่วยเหลือตามกรณีที่ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน รวมงบประมาณการช่วยเหลือประมาณ 7,472.22 ล้านบาท เนื่องจากข้อจำกัดด้านวงเงินการช่วยเหลือของภาครัฐที่จำเป็นต้องจัดสรร ตามความจำเป็น และเพื่อเป็นกลไกในการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและช่วยกันลดใช้พลังงานได้อีกทางหนึ่ง
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้มีความเห็นว่า ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เป็นการ ขอความร่วมมือ ปตท. สนับสนุนเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และให้ กบง. พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ซึ่ง ปตท. ได้เสนอแนวทางการจัดสรรเงินสนับสนุนที่ ปตท. สามารถดำเนินการได้ จึงเห็นสมควรพิจารณาเห็นชอบการดำเนินการตามแนวทางการจัดสรรเงินของ ปตท. วงเงินประมาณ 4,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางต่อไป สำหรับเงินส่วนต่างงบประมาณในการสนับสนุนค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามกรณีที่ 3 เห็นควรให้กระทรวงพลังงานดำเนินการ ขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบแนวทางการจัดสรรเงินสนับสนุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในวงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 4,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 ทั้งนี้ มอบหมายให้ กฟผ. และ ปตท. รับไปดำเนินการภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
2. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน วงเงินงบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,500 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก 2 แหล่ง ดังนี้
2.1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวม 3,200 ล้านบาท
2.2 ปตท. จัดสรรเงินสนับสนุนตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 วงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 4,300 ล้านบาท
3. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการขออนุมัติกรอบวงเงินตามมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กฟผ. และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สามารถดำเนินการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าตามมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป
4. ขอความร่วมมือให้ ปตท. นำความเห็นของ กกพ. และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ต่อแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ในประเด็นข้อจำกัดของการนำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจากกระบวนการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ไปประกอบ การพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ให้เต็มจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง และนำมาลดภาระ ของรัฐบาลตามข้อ 2.1 ต่อไป