มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 6/2565 (ครั้งที่ 44)
วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565
1. การทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหาร จัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติ ดังนี้ (1) เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้า รายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm โดยกรณีที่ 1 โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.7187 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 2 โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา และแบบทุ่นลอยน้ำ อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน และพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.7292 บาทต่อหน่วย และพลังงานน้ำ ขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.0910 บาทต่อหน่วย และ (2) มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 กกพ. ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีความเห็นว่า หลักการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทเดียว อาจไม่สะท้อนต้นทุนและค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวภาพและขยะ เนื่องจากแต่ละประเภทเชื้อเพลิงมีต้นทุนและค่าบริการจัดการที่ต่างกัน ซึ่งการพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าแยกประเภทเชื้อเพลิงน่าจะมีความเหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ประชุมหารือในวันที่ 23 มีนาคม 2565 และมีข้อสรุปในการทบทวนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ดังนี้ (1) ยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าโดยคำนึงถึงต้นทุนตามประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไม่เกินต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่หลีกเลี่ยงได้จากการใช้เชื้อเพลิงนำเข้าในราคาสูง ณ ปัจจุบัน (Avoided Cost) ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้รายงานค่า Avoided Cost โดยคิดจากราคาเฉลี่ย Spot LNG (PTT) ปี 2565 เท่ากับ 26.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (USD/MMBtu) คิดเป็น 5.7786 บาทต่อหน่วย (บาท/kWh) ณ อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (2) เห็นควรใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ โดยเชื้อเพลิงชีวมวล อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจาก SPP และ/หรือ VSPP จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า จะพิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายปฏิบัติงานและบำรุงรักษา (O&M) และค่าเชื้อเพลิง (Fuel Cost) ซึ่งค่า O&M ของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งแบบ SPP และ VSPP อยู่ระหว่างร้อยละ 6 - 7.5 ของเงินลงทุนระบบ แต่หากคิดเฉพาะค่าใช้จ่าย O&M ที่เพิ่มขึ้น (Variable O&M หรือ Consumables) จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณร้อยละ 2.5 ของเงินลงทุนระบบ คิดเป็น 0.31 บาทต่อหน่วย ค่าเชื้อเพลิง (FiTv ปี 2565) เท่ากับ 1.8931 บาทต่อหน่วย ดังนั้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมคือ 0.31 บวกกับ 1.8931 เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย สำหรับเชื้อเพลิง ก๊าซชีวภาพ และขยะ เห็นควรรับซื้อในอัตราเดียวกับเชื้อเพลิงชีวมวล เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย และ (3) โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง พิจารณาดังนี้ 1) พลังงานแสงอาทิตย์ กรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแบบติดตั้งบนหลังคาโดยรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากการใช้เอง ประเมินจากต้นทุนการลงทุนในอดีตของระบบผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของอาคารธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ระยะเวลาโครงการ 25 ปี คำนวณจากต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาบางส่วนอย่างเดียว คิดประมาณร้อยละ 1.1 ของเงินลงทุนติดตั้งระบบ เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ให้รวมถึงกรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการติดตั้งเพื่อใช้เอง 2) พลังงานแสงอาทิตย์ กรณี การติดตั้งบนพื้นดิน ประเมินจากต้นทุนการลงทุนในอดีตของระบบผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 40,000 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาโครงการ 25 ปี คำนวนจากต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาบางส่วนเพียงอย่างเดียว คิดประมาณร้อยละ 1.1 ของเงินลงทุนติดตั้งระบบ เท่ากับ 0.43 บาทต่อหน่วย เห็นควรรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับกรณีการติดตั้งบนหลังคา 3) พลังงานลม เห็นควรรับซื้อในอัตราเดียวกับกรณีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย และ 4) ขอยกเลิก การรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการจำหน่ายไฟฟ้าส่วนเพิ่มในเงื่อนไขการรับซื้อนี้
3. สรุปอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ อัตรา รับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบยกเลิกมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565
2. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวล หรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ซึ่งมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้
2.1 กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย
2.2 กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม) จากสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในสัญญาเดิม
3. เห็นชอบให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก/ขนาดเล็กมาก ออกไปก่อน และมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานศึกษาความเหมาะสมในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มดังกล่าว
4. มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ 2 มาตรการประหยัดพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับประเทศยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานในปัจจุบันมีความผันผวน และคาดว่าอาจมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน กระทรวงพลังงาน จึงได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวโดยจะพิจารณากำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะมาตรการด้านการลดการใช้ไฟฟ้า เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแรงจูงใจของภาคประชาชนต่อการลดการใช้พลังงานของประเทศในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงเช่นปัจจุบัน
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการและดำเนินการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินการด้านการลดการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งให้หน่วยงานที่มีแหล่งงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนมาตรการส่งเสริม การประหยัดพลังงานดังกล่าวให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด
มติของที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการการประหยัดพลังงานช่วงที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง ดังนี้
1. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการและดำเนินการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่มีแหล่งงบประมาณ พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน