มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2548 (ครั้งที่ 100)
วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.การแต่งตั้งองค์ประกอบเพิ่มเติมในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ
3.การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 2
4.มาตรการประหยัดพลังงานตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ
5.การดำเนินธุรกิจและจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะ Distributed Generation (DG)
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
1. ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า จากภาวะปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลได้ประกาศมาตรการด้านพลังงานในช่วงแรกเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2548 และในช่วงที่ 2 จะเป็นการสร้างสิ่งจูงใจให้กับภาครัฐและภาคเอกชนในการประหยัดพลังงานเพิ่ม ขึ้น และหากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังไม่ดีขึ้น จะดำเนินการมาตรการบังคับ ได้แก่ การกำหนดกฎเกณฑ์การปิด - เปิดไฟฟ้า เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ทุกมาตรการสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนระยะเวลาได้ตามความจำเป็น และวันนี้ได้เชิญรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ) เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ และการเปิด - ปิดสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ในเรื่องมาตรการประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาด้านน้ำมัน ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปัญหาด้านนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต จึงควรมีแนวทางแก้ไขที่แตกต่างกัน
2. นอกจากนี้ ประธานฯ ได้แจ้งว่ารัฐบาลได้ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาเรื่อง กำหนดเลื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และเรื่อง กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เพื่อโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อยแล้ว
3. ประธานฯ ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ สรุปผลการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงว่า จากเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ถูกกำหนดให้เป็นวันรวมพลังไทยลดใช้พลังงาน โดยกำหนดมาตรการ 3 ข้อ ได้แก่ การปิดแอร์ช่วงเวลา 12.00 - 13.00 น และปิดไฟอย่างน้อย 1 ดวง เป็นเวลา 1 ชม. รวมทั้งการขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. และผลการดำเนินการพบว่า การปิดแอร์ 1 ชั่วโมง ในวันที่ 1 มิถุนายน สามารถประหยัดไฟได้ 822 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 1.57 ล้านบาท และการปิดไฟ 5 นาที สามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 702 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 118,736 บาท และผลสถิติการลดใช้ไฟฟ้าช่วงเวลา 12.00 - 13.00 น ตั้งแต่วันที่ 1 - 20 มิถุนายน 2548 พบว่าสามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 11 และ อสมท.
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.62 และ 4.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวการระเบิดที่อิหร่าน และประกาศตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกาโดย Energy Information Administration (EIA) ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 329 ล้านบาร์เรล ประกอบกับผลกระทบของพายุโซนร้อน Ariene พัดผ่าน Gulf of Mexico ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2548อยู่ที่ระดับ 52.77 และ 57.75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2.ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.77 และ 3.76เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการซื้อมีอย่างต่อเนื่องจากตะวันออกกลาง ประกอบกับจีนจะลดการส่งออกเนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนโรงกลั่นในเกาหลีใต้และไต้หวันได้ปิดซ่อมบำรุง ทำให้อุปทาน High - octane ค่อนข้างตึงตัว ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.93 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอินโดนีเซียเริ่มเข้าซื้อน้ำมันดีเซลมากขึ้น ขณะที่ความต้องการซื้อในภูมิภาคเอเซีย เช่น อินเดีย และเวียดนามยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2548อยู่ที่ระดับ 62.83, 62.30 และ 69.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3.ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีก น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 4ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 1.16บาท/ลิตร และปรับราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ยกเว้น ปตท.) เพิ่มขึ้น 5 ครั้ง รวมเป็น 2.00 บาท/ลิตร ในช่วงเดือนมิถุนายน ส่วน ปตท. ปรับราคาดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 4 ครั้ง ๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร รวมเป็น 1.60 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว (ยกเว้น ปตท.) ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2548 อยู่ที่ระดับ 23.74, 22.94 และ 20.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของ ปตท. อยู่ที่ระดับ 19.79 บาท/ลิตร ทั้งนี้ นับแต่เริ่มดำเนินการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่วันที่ 10มกราคม - 17 มิถุนายน 2548 กองทุนน้ำมันฯ ได้จ่ายเงินอุดหนุนตรึงราคาน้ำมันไปแล้ว รวมประมาณ 89,988 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การแต่งตั้งองค์ประกอบเพิ่มเติมในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงพลังงานได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิง ชีวภาพ (กชช.) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพของ ประเทศ โดยมีองค์ประกอบ
ที่ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ) เป็นประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการรวม 23 คน และต่อมา ในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพขึ้นตามที่ กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งประธาน กพช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง กชช. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548
2. ในการประชุม กชช. ครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2548ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติม องค์ประกอบของ กชช. เพิ่มเติม โดยเพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ และนายวิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยพืชน้ำมัน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ กชช.ได้มีหนังสือขอให้ฝ่ายเลขานุการ กพช. ดำเนินการตามมติ กชช. ดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ประธาน กพช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งองค์ประกอบเพิ่มเติมในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริม เชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 ปัจจุบันภายใต้ MOU ดังกล่าวมี 2 โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ได้แก่ โครงการเทิน - หินบุน และห้วยเฮาะ นอกจากนี้ มีอีก 1 โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ กฟผ. ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ต่อมา นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไทยเรื่อง โครงการน้ำงึม 2 โดยขอให้พิจารณาลงนามข้อตกลงโครงการน้ำงึม 2 เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความก้าวหน้ามากกว่าโครงการอื่นๆ กฟผ. จึงได้ดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 2 คือ บริษัท SouthEast Asia Energy Limited (SEAN) จนได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญ และได้จัดเตรียมร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) แล้วเสร็จ
2. กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 ได้เห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการน้ำงึม 2ระหว่าง กฟผ. และบริษัท SEAN แต่ให้มีการเจรจาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ คือ 1) สัดส่วนการจ่ายเงินของ Primary Energy (PE) ให้ปรับเปลี่ยนเป็นจ่ายอย่างละร้อยละ 50 2) ให้มีการแบ่งช่วงเวลา ในอนาคตเพื่อให้มีการตกลงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ และ 3) ให้พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงก่อนเริ่มอายุสัมปทาน (Scheduled Initial Operation Date : SIOD) ควรมีราคาต่ำกว่าช่วงหลังกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD)
3. โครงการน้ำงึม 2 เป็นสายส่งฝั่งลาวยาว 107 กิโลเมตร ฝั่งไทยยาว 93 กิโลเมตร จะเชื่อมกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 โดยระบบ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จของโครงการประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 กลุ่มผู้ลงทุน คือ บริษัท SouthEast Asia Energy จำกัด ซึ่งมีบริษัท ช. การช่าง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 51 บริษัท Shlapak Group จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 10 รัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 25 และอื่นๆ ถือหุ้นร้อยละ 14
4. สาระสำคัญของ MOU โครงการน้ำงึม 2 ประกอบด้วย โครงการมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 615 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) เท่ากับ 2,218 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) เท่ากับ 92 ล้านหน่วย และจะมี Excess Energy (EE) อีกจำนวนหนึ่ง โดย กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PEและ SE และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย คือ Primary Energy (PE)Tariff เท่ากับ 4.997 Cents/หน่วย , Seconday Energy (SE) Tariff เท่ากับ 1.289 บาท/หน่วย , Excess Energy (EE) Tariff เท่ากับ 1.091 บาท/หน่วย, Pre IOD Energy Tariff เท่ากับ 1.448 บาท/หน่วย และการคำนวณและชำระเงิน ค่า PE : 70% บาท (Fx=39 บาท/USD)บวกกับ 30% USD นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 25 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ( Commercial Operation Date ) ทั้งนี้ MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีเหตุการณ์ใดต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือมีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงเลื่อนอายุ MOU ออกไป หรือทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้ สำหรับกำหนดวันแล้วเสร็จของงานจะเป็น Scheduled Financial Close Date (SFCD) เท่ากับ 6 เดือนนับจากลงนาม PPA ส่วน Scheduled Initial Operation Date (SIOD) (กำหนดจ่ายไฟฟ้าช่วงก่อนเริ่มอายุสัมปทานที่รับจาก สปป. ลาว) เท่ากับ 52 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Date และ วัน SFCD หรือวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 และ Commercial Operation Date (COD) (กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์) คือวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมายไทย
5. กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติ กพช. โดยได้เจรจากับบริษัท SEAN แล้ว และได้ผลสรุปว่า ประเด็นที่ 1 บริษัทฯ ยอมรับที่จะปรับสัดส่วนการจ่ายเงินเป็นสกุลเงินบาทและสกุลดอลลาร์ฯ อย่างละร้อยละ 50 ประเด็นที่ 2 เรื่องให้มีการแบ่งช่วงเวลาในอนาคตเพื่อให้มีการตกลงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะใช้ในการแปลงอัตราค่าไฟฟ้าจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ เป็นสกุลเงินบาทในอนาคตได้ บริษัทฯ ได้แจ้งว่าเงื่อนไขดังกล่าวนี้บริษัทฯ ไม่สามารถรับได้ เนื่องจากจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืมเงินจากเงื่อนไขนี้จะทำให้เกิดความ ไม่แน่นอนต่อฐานะการเงินของบริษัทฯ และประเด็นที่ 3 บริษัทฯ ยินยอมปรับอัตราค่าไฟฟ้าช่วงก่อนเริ่มอายุสัมปทาน (SIOD) ถึงกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ลดลงจากอัตราค่าไฟฟ้าเดิม 0.2 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 12 ล้านบาท ในช่วง 2.5ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเฉพาะในช่วง 2.5 ปีนี้ บริษัทฯ สามารถเสนอขาย Secondary Energy (SE) ด้วยจำนวนชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นในวันธรรมดาจาก 2 ชั่วโมงเป็น 4 ชั่วโมง และในวันอาทิตย์จาก 8 ชั่วโมง เป็น 12ชั่วโมง โดยยังคงจำกัดจำนวนเป้าหมาย SE ต่อปีไว้เท่าเดิม (92 ล้านหน่วย) ซึ่ง กฟผ.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคทางเทคนิค และราคา SEต่ำกว่าต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided Cost) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่เสียหายต่อ กฟผ. อนึ่งจากผลการเจรจา กฟผ. ได้ปรับปรุง MOU ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขข้างต้นแล้วและได้ลงนาม MOU น้ำงึม 2 กับบริษัท SEANแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2548
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 มาตรการประหยัดพลังงานตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 ได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้าน พลังงานของประเทศ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอและมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลัก ประสานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศต่อ ไป โดยสาระสำคัญของยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน ประกอบด้วย
1.1 เร่งใช้พลังงานทดแทนน้ำมัน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ : เป้าหมายลดการใช้พลังงานโดยรวมร้อยละ 15 และร้อยละ 20 ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ (เมื่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้วเสร็จ) โดยภาคขนส่งลดการใช้น้ำมันลงร้อยละ 25 ภายในปี 2552 ดำเนินการใช้เชื้อเพลิงอื่นแทนน้ำมัน เช่น NGV ก๊าซโซฮอล์ ไบโอดีเซล และปรับปรุงระบบ Logistics ขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสินค้า ส่วนภาคอุตสาหกรรมลดการใช้พลังงานร้อยละ 25 ในปี 2551 โดยใช้มาตรการกระตุ้นธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยตรง และใช้ก๊าซธรรมชาติแทนน้ำมัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมตามแนวท่อก๊าซ ใช้ระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและน้ำเย็น (Gas District Cooling and Cogeneration) สำหรับภาครัฐลดการใช้พลังงานร้อยละ 10 - 15 ทันที โดยกำหนดให้เป็น KPI ของทุกหน่วยงาน และนำเงินส่วนหนึ่งที่ประหยัดได้นำไปเป็นเงินรางวัล (Bonus) และภาคประชาชนลดการใช้พลังงานร้อยละ 10 โดยกำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายน 2548 เริ่ม Kick Off เร่งรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งประเทศ
1.2 การจัดหาแหล่งพลังงาน : เสริมสร้างความมั่นคงระยะยาว โดยการจัดหาจากแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อนบ้าน จากการลงทุนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน และการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศพม่าและมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งแหล่งพลังงานในภูมิภาคอื่น ตลอดจนการร่วมเป็น National Champion ปตท. ปตท.สผ. และ กฟผ. เพื่อร่วมเจรจาและหรือลงทุนแหล่งพลังงานในต่างประเทศ
1.3 การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพยากรพลังงาน โดยในระยะ 4 ปี (2548 - 2551) จะมีการ ลงทุนประมาณ 800,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาไบโอดีเซลและก๊าซโซฮอล์ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับ โครงสร้างภาคเกษตรยุคใหม่ และการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเป็นการเพิ่มมูลค่าก๊าซในอ่าวไทย
2. คณะรัฐมนตรีได้ลงมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนด แนวทางการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานในรายละเอียดของแต่ละภาคส่วนดังนี้
2.1 การประหยัดพลังงานภาครัฐ มอบรองนายกรัฐมนตรี (ดร. วิษณุ เครืองาม) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกระทรวงพลังงาน เป็นผู้สนับสนุนหลัก
2.2 การประหยัดพลังงานภาคเอกชน มอบรองนายกรัฐมนตรี (ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้สนับสนุนหลัก
2.3 การประหยัดพลังงานภาคประชาชน มอบรองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้สนับสนุนหลัก
3. เพื่อให้การดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุ ตามเป้าหมายที่กำหนด กระทรวงพลังงานจึงแต่งตั้ง "คณะกรรมการประสานการรณรงค์และติดตามการประหยัดพลังงาน" ทำหน้าที่ในการประสาน ติดตาม และประเมินผลการประหยัดพลังงาน ภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาคประชาชน และคณะกรรมการประสานฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติการรณรงค์ ติดตามการประหยัดพลังงานภาครัฐ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ในช่วงทดสอบ 3 เดือน พร้อมทั้งมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในแต่ละมาตรการ และเมื่อสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2548 ให้ผู้รับผิดชอบสรุปผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค วิธีการแก้ไข ให้ฝ่ายเลขานุการฯ (สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) รวบรวมประเมินผลด้วยตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ รายงานคณะรัฐมนตรี
4. จากการที่จะแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของไทย โดยลดการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก และรณรงค์ให้คนไทยร่วมใจกันประหยัดพลังงานจริงจัง หากยังไม่ได้ผลรัฐบาลอาจต้องนำมาตรการบังคับมาใช้ เพื่อให้คนไทยร่วมใจกันประหยัดพลังงาน ประกอบด้วย
4.1 ด้านไฟฟ้า ได้แก่ 1) หากผลการใช้ไฟฟ้า ณ เดือนสิงหาคม 2548 ยังไม่ลดลง จะปรับอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ให้มีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น โดยใช้มาก จ่ายแพง 2) ปรับอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มธุรกิจการค้า ประเภทสถานบันเทิง เป็นอัตราพิเศษสูงกว่ากลุ่มธุรกิจประเภทอื่น 3) ให้บังคับกำหนดเวลาปิด - เปิดสถานีโทรทัศน์ รวมถึง Cable TV และวิทยุชุมชน ให้ถ่ายทอดถึงเวลา 24.00 น. 4) บังคับปิดไฟโฆษณาทุกป้าย หลัง 4 ทุ่ม 5) บังคับสนามไดร์ฟกอล์ฟ ห้ามเปิดบริการหลัง 21.00 น. 6) บังคับให้ทุก หน่วยงานราชการ เปิดเครื่องปรับอากาศได้ตั้งแต่ 09.00 - 16.00 น. และอุณหภูมิต้องไม่ต่ำกว่า 25 - 26 องศา 7) ห้ามข้าราชการใส่สูททำงาน ยกเว้นวันที่มีงานพิธี 8) ลดจำนวนรถขบวนข้าราชการการเมือง และ 9) ให้ สมอ. เร่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้านพลังงาน ของวัสดุอุปกรณ์ที่จะผลิต/จำหน่ายในประเทศไทย ภายในปี 2549 รวมทั้งการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบประสิทธิภาพ พลังงานที่มีมาตรฐาน
4.2 สำหรับด้านน้ำมัน ได้แก่ 1) ให้ กระทรวงคมนาคม สร้าง Park & Ride ชานเมืองให้เสร็จภายในปี 2549 อย่างน้อย 10 แห่ง 2) ให้ กทม. ปรับเพิ่มอัตราค่าจอดรถยนต์ในพื้นที่ที่จราจรหนาแน่น 3) ให้กระทรวงคมนาคมเร่งจัด Zoning กำหนดสถานที่จอดรถแท๊กซี่ และรถสามล้อเครื่อง 4) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติ ตามกฎหมายโดยเคร่งครัด 5) ให้กระทรวงคมนาคมกำหนดนโยบายขนาดเครื่องยนต์ที่ใช้ในประเทศไทย ไม่เกิน 1,800 CC เพิ่มค่าธรรมเนียมฯ รถเกิน 1,800 CC 6) ให้กระทรวงการคลังกำหนดนโยบายราคาและภาษีรถยนต์ ที่เอื้อต่อการประหยัดพลังงาน ประกาศใช้ภายในปี 2549 และ 7) ให้ สมอ. บังคับผู้ผลิต/จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยต้องติดฉลากแสดง ข้อมูลอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ขนาดเครื่องยนต์ และน้ำหนักรถ ภายในปี 2548
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางการขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดใช้พลังงาน กรณีผลการลดใช้พลังงาน 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2548 ไม่บรรลุตามเป้าหมายจึงใช้มาตรการบังคับ โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานไปศึกษารายละเอียดผลกระทบของ มาตรการบังคับต่างๆ
2.ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้มงวดกฎระเบียบจราจรต่อผู้ใช้รถอย่างเข้มงวด
เรื่องที่ 5 การดำเนินธุรกิจและจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะ Distributed Generation (DG)
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาอนุมัติข้อเสนอของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในประเด็นดังต่อไปนี้ (1) ให้ กฟน. ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า น้ำร้อน และน้ำเย็นร่วมกัน (Combined Heat and Power) ในลักษณะ Distributed Generation (DG) ตามความต้องการของลูกค้า (2) ให้ กฟน. ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ มูลฝอย และพลังงานนอกรูปแบบ ตามความเหมาะสมของเทคโนโลยี และสภาพพื้นที่ และ (3) ให้ กฟน. ดำเนินการจัดตั้งบริษัท จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
2. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะ รัฐมนตรี คณะที่ 6.2 (ฝ่ายกฎหมาย) พิจารณาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติ มอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแผนดำเนินธุรกิจ (Business Plan) ในลักษณะ DG ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตลอดจนประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้า การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ได้จัดให้มีการประชุมหารือ เรื่อง การดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า น้ำร้อน และน้ำเย็นร่วมกัน (Combined Heat and Power) ในลักษณะ Distributed Generation (DG) ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3แห่ง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีรองปลัดกระทรวง พลังงาน (นายณอคุณ สิทธิพงศ์) เป็นประธาน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2548 และมีข้อสรุปดังนี้
3.1 การผลิตไฟฟ้าในลักษณะ DG เป็นการสนับสนุนนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ พลังงาน ตามยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์และมี ประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ช่วยประเทศประหยัดค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดการลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า เพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และช่วยเสริมความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน ตลอดจนช่วยลดต้นทุน การผลิตสินค้าและบริการ และช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak demand) ด้วย
3.2 เห็นชอบในหลักการการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะ Distributed Generation (DG)โดยระบบการผลิตไฟฟ้า น้ำร้อน และน้ำเย็นร่วมกัน (Combined Heat and Power : CHP) ทั้งนี้ ได้กำหนดนิยามของ DG ดังนี้ "เป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Customer's Site) โดยอาจติดตั้งขนานกับระบบจำหน่าย (local distribution network) หรือติดตั้งแยกอิสระจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั่วไป (stand alone)"
3.3 เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ในกรณีที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าส่วนเกินจากระบบ CHP เห็นควรให้สามารถขายเข้าระบบของการไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าใน ปัจจุบัน ดังนี้
3.3.1 ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ให้ขายเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามปริมาณที่กำหนดในระเบียบการรับซื้อ ไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษาการขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP เพื่อขยายปริมาณพลังไฟฟ้าที่จะรับซื้อจาก VSPPดังนั้น หากการศึกษาแล้วเสร็จ จะทำให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ได้เพิ่มขึ้น
3.3.2 ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายเกินกว่าที่กำหนดตามระเบียบ VSPP ให้ขายเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ทั้งนี้ สนพ. อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP สำหรับการรับซื้อ ไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยระบบ CHP
3.4 สำหรับการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย และพลังงานนอกรูปแบบนั้น ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามระเบียบ SPP และ VSPPอย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากขยะมีต้นทุนสูง ทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าไม่จูงใจให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มี ต้นทุนการผลิตสูง ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ขยะ เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะ Distributed Generation (DG)โดยระบบการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกัน (Combined Heat and Power : CHP) เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์และมี ประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ กำหนดนิยามของ DG ดังนี้
"เป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Customer's Site) โดยอาจติดตั้งขนานกับระบบจำหน่าย (local distribution network) หรือติดตั้งแยกอิสระจากระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั่วไป (stand alone)"
2.เห็นควรให้ผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ CHP ที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าส่วนเกิน สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตไฟฟ้า
3.มอบหมายให้ สนพ. ดำเนินการศึกษาแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะ CHP รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมต่อไป
- กพช. ครั้งที่ 100 - วันพุธที่ 22 มิถุนายน 2548 (3668 Downloads)