มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2548 (ครั้งที่ 99)
วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2548 เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุม 501 ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมประจำปีงบประมาณ 2547
3.การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 2
4.การแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2548 ความต้องการใช้และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวม อยู่ที่ระดับ 84.7 และ 84.6 ล้านบาร์เรล/วัน ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 ประมาณ 0.1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่โควต้าการผลิตของกลุ่มโอเปค ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 27 ล้านบาร์เรล/วัน และตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 โควต้าการผลิตของโอเปคจะปรับอยู่ที่ระดับ 27.5 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปคอยู่ที่ระดับ 48.7 ล้านบาร์เรล/วัน
2.ราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2548ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาส 4 ของปี 2547 ประมาณ 1.52 - 5.86 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ และเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 41.41 และ 47.79 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ส่งผลให้การผลิตและการขนส่งน้ำมันต้องหยุดเป็นระยะๆ และความต้องการใช้น้ำมันเพื่อความอบอุ่นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอยู่ระดับสูง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของอินเดีย ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548เป็นต้นไป ได้ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าของอินเดียสูงขึ้น เมื่อโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ
3.ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2548 ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2547 ประมาณ 1.24 - 3.41 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 น้ำมันก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา ปรับตัวสูงขึ้น 3.31, 3.41, 1.42, 1.33และ 1.24 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการซื้อของอินโดนีเซียและอินเดียเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อุปทานลดลงจากโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุงประจำปีและปิดฉุก เฉิน ณ เดือนมีนาคม 2548ราคาเฉลี่ยของน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 น้ำมันก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา อยู่ที่ระดับ 59.47, 58.73, 66.33, 62.58 และ 35.76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ
4.สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของไทยในช่วงไตรมาส 1ปรับตัวลดลง โดยราคา ขายเฉลี่ยของน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91และดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ระดับ 20.44, 19.64 และ 15.09 บาท/ลิตร ตามลำดับ ภายหลังเมื่อรัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซิน เมื่อวันที่ 22ตุลาคม 2547 แต่ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2548รัฐบาลได้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 0.40 บาท/ลิตร และปรับราคา น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้น 3บาท/ลิตร ในวันที่ 23 มีนาคม 2548 ทำให้ราคาขายเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 1 เมษายน 2548 อยู่ที่ระดับ 22.09,21.29 และ 18.19 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5.สำหรับเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2548 ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.9353, 0.8121 และ 0.9034 บาท/ลิตร ตามลำดับ ขณะที่ค่าการกลั่นเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ระดับ 1.0862, 1.3624 และ 1.5574 บาท/ลิตร ตามลำดับ
6. แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปคาดว่าในระยะสั้นจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 45 - 47 และ 53 - 55เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตลาดจรสิงคโปร์จะอยู่ที่ระดับ 58 - 61 และ 61 - 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ จากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นทั่วโลก ส่งผลให้ความต้องการใช้ น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ได้แก่ การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารสหรัฐอเมริกา และการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย และบริเวณทะเลสาบแคบเซียน
7.ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนเมษายน 2548ได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 416.2 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคา LPG ณ โรงกลั่นภายในประเทศอยู่ที่ระดับ 12.2242 บาท/กก. ส่วนแนวโน้มราคา LPG ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 410 - 425 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยมีอัตราเงินชดเชยอยู่ที่ระดับ 2.1543 บาท/กก. หรือ 408 ล้านบาท/เดือน
8. สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 เมษายน 2548 มีเงินสดสุทธิ 203 ล้านบาท มีหนี้สินค้างชำระ 63,572 ล้านบาท ทำให้ฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 63,369 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมประจำปีงบประมาณ 2547
สรุปสาระสำคัญ
คณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมได้จัดทำรายงานผลการ ดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2547 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้อนุมัติกรอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2547 - 2549 ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้น 30 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 5 หมวดรายจ่าย
2. ปีงบประมาณ 2547 กองทุนฯ ได้อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดต่างๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,270,893 บาท โดยแบ่งเป็นหมวดเงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม จำนวน 5,203,400 บาท หมวดการเดินทางเพื่อศึกษาดูงาน/สัมมนา จำนวน 320,515 บาท หมวดจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน จำนวน 1,446,978 บาท และหมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน จำนวน 300,000 บาท ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 4,083,522.09 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการน้ำงึม 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว สำหรับจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย จำนวนประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันภายใต้ MOU ดังกล่าวมี 2 โครงการที่จ่ายไฟฟ้า เชิงพาณิชย์เข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน ขนาดกำลังผลิต 187 เมกะวัตต์ และห้วยเฮาะ ขนาดกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ มีอีก 1โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ กฟผ. ในเดือนพฤศจิกายน 2552
2. กฟผ. ได้ดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 2 คือ บริษัท South East Asia Energy Limited (SEAN) ภายใต้นโยบายและหลักการที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือ ด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จนได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญ และได้จัดเตรียมร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) แล้วเสร็จ โดยคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการ กฟผ. ได้มีมติอนุมัติร่าง MOUของโครงการน้ำงึม 2 ใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2548 และเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 ตามลำดับ
3. ลักษณะโครงการน้ำงึม 2 ประกอบด้วย ขนาดกำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย ปีละ 2,310ล้านหน่วย สายส่งฝั่งลาวยาว 107 กิโลเมตร ฝั่งไทยยาว 93 กิโลเมตร จะเชื่อมกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 โดยระบบ 500 กิโลโวลต์ แต่ในเบื้องต้นจะใช้งานที่ 230 กิโลโวลต์ กำหนดแล้วเสร็จของโครงการประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 โดยกลุ่มผู้ลงทุน คือ บริษัท South East Asia Energy จำกัด ซึ่งมีบริษัท ช. การช่าง จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 51 บริษัท Shlapak Groupจำกัด ถือหุ้นร้อยละ 10 รัฐบาลลาวถือหุ้นร้อยละ 25 และอื่นๆ ถือหุ้นร้อยละ 14
4. สำคัญของ MOU น้ำงึม 2 ประกอบด้วย 1) ข้อตกลงนี้ทำขึ้นระหว่าง กฟผ.และบริษัท SEAN 2) โครงการน้ำงึม 2 เป็นโครงการที่ กฟผ. จะดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ภายใต้ MOU ระหว่าง รัฐบาลไทยและ สปป. ลาว 3) MOU ของโครงการฯ จะขอความเห็นชอบจาก กพช. และจากกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมของรัฐบาล สปป. ลาว ภายใน 3เดือนนับจากวันลงนาม และจะมีผลบังคับใช้หลังจาก ทั้งสองฝ่ายได้รับแจ้งการได้รับความเห็นชอบดังกล่าวแล้ว 4) โครงการมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 615 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) เท่ากับ 2,218 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) เท่ากับ 92 ล้านหน่วย และจะมี Excess Energy (EE) อีกจำนวนหนึ่ง โดย กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PEและ SE
5. นอกจากนี้ MOU น้ำงึม 2 ได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน ดังนี้
- Primary Energy (PE) Tariff = 4.997 Cents/หน่วย
- Seconday Energy (SE) Tariff = 1.289 บาท/หน่วย
- Excess Energy (EE) Tariff = 1.091 บาท/หน่วย
- Pre IOD Energy Tariff = 1.448 บาท/หน่วย
- การคำนวณและชำระเงิน ค่า PE : 70% บาท (Fx=39 บาท/USD) + 30% USD
โดยที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีอายุ 25 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date ) และ MOU จะสิ้นสุดเมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว หรือมีอายุครบ 18 เดือนนับจากวันลงนามหรือวันที่ช้ากว่าหากมีการตกลงเลื่อนอายุ MOU ออกไป หรือทั้งสองฝ่ายตกลงกันเป็น ลายลักษณ์อักษรเพื่อเลิกก่อนได้ โดยที่แต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตน และไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายต่อเนื่องจาก MOU หรือจากการยกเลิก MOU
6. MOU น้ำงึม 2 ได้กำหนดวันแล้วเสร็จของงานต่างๆ คือ 1) Scheduled Financial Close Date (SFCD)เท่ากับ 6 เดือนนับจากลงนาม PPA 2) Scheduled Initial Operation Date (SIOD) เท่ากับ 52 เดือน นับจากวันที่ช้ากว่าระหว่างวัน Financial Close Dateและวัน SFCD หรือวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 3) Commercial Operation Date (COD) (กำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์) คือวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยทั้งนี้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะถูกบังคับใช้ภายใต้กฎหมายไทย
7. คณะกรรมการ กฟผ.ได้มีความเห็นเกี่ยวกับ MOU น้ำงึม 2 ว่า ก่อนขอความเห็นชอบจาก กพช. ควรจะได้นำ MOU เสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ กพช. และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Equity Internal Rate of Return หรือ Equity IRR) ของผู้ลงทุนซึ่ง ใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลบาท คือ Minimum Lending Rate (MLR)ควรพิจารณาว่า ถ้าบริษัท SEAN มีการกู้เงินบางส่วนด้วยเงินสกุลดอลล่าร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แตกต่าง จาก MLR น่าจะทำให้ Equity IRR สูงขึ้น ซึ่ง กฟผ. ได้พิจารณาจากการประมาณการฐานะการเงินโครงการน้ำงึม 2 พบว่า กรณีบริษัทฯ กู้เป็นเงินดอลล่าร์ด้วยสัดส่วนเท่ารายได้ที่เป็นดอลล่าร์ คือ 30%ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แตกต่างจาก MLR จะทำให้ Equity IRR เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 11.64-13.56% เป็น 12.20-13.80% (หากกำหนดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศเท่ากับ MLR+1 หรือในช่วง 7 - 9%)
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการร่าง MOU ของโครงการน้ำงึม 2 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอ
2.มอบหมายให้ กฟผ. รับไปดำเนินการเจรจากับกลุ่มผู้ลงทุนในประเด็นต่อไปนี้
2.1 ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินใน 2 กรณี คือ
(1) การกำหนดสัดส่วนการชำระเงินที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของความผันผวนจาก อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ กำหนดสัดส่วนการชำระเงิน ฿ : USD = 50:50 เป็นต้น
(2) ปรับช่วงเวลาการชำระเงินในอนาคต โดยให้มีการแบ่งช่วงเวลาในอนาคต เพื่อให้มีการตกลงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนใหม่
2.2 ปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้าสำหรับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าช่วงก่อนเริ่มอายุสัมปทาน (Scheduled Initial Operation Date : SIOD) ให้ต่ำกว่าราคาสำหรับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD)
เรื่องที่ 4 การแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลได้ประกาศให้การดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย และบังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ กระทรวงพลังงานจึงได้ นำเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและแผนการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพของ ประเทศต่อ กพช. และเสนอแนะหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในด้านการผลิต การจัดการวัตถุดิบ การนำเข้า และการส่งออก ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศ
2. องค์ประกอบของ กชช. ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ) เป็นประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ รวม 23 คน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2548 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งนี้ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย
- กพช. ครั้งที่ 99 - วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2548 (1110 Downloads)