มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2547 (ครั้งที่ 96)
วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2547 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเมธี เอื้ออภิญญกุล) ได้สอบถามเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจง ให้ทราบว่า คณะรัฐมนตรีได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงโดยกำหนดให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลให้มากขึ้น โดยยึดหลักการการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง สำหรับไบโอดีเซล กระทรวงพลังงานกำลังจะจัดการรณรงค์การใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ผสมกับน้ำมันดีเซลให้กับรถยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือกับกรมอู่ทหารเรือ และคาดว่าในการประชุมครั้งต่อไปถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมนำเรื่องนี้ เสนอต่อที่ประชุมจะได้มีการพิจารณารายละเอียดต่อไป
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2547 ปรับตัวสูงขึ้น 1.68 และ 2.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากมติโอเปคปรับลดโควต้าการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ระดับ 23.5 ล้านบาร์เรล/วัน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ประท้วงในเวเนซูเอล่าและเหตุระเบิดในอิรัก ต่อมาในเดือนเมษายน ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยปรับตัวลดลง 0.04 และ 0.89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ สหรัฐอเมริกาออกมากดดันกลุ่มโอเปคให้ควบคุมราคา น้ำมันดิบไม่ให้สูงไปกว่านี้ ประกอบกับตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันเบนซินในสหรัฐอเมริกา จากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณายกเลิกกฎหมายบังคับใช้น้ำมันเบนซิน ที่ไม่มี MTBE ใน 3 มลรัฐ คือ New York, Connecticut และ California ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยของเดือนเมษายน 2547 อยู่ที่ระดับ 30.81 และ 32.34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์เฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2547 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ปรับตัวสูงขึ้น 5.86 และ 6.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาแนฟทา ซึ่งมีอุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสหรัฐอเมริกามีการสำรองน้ำมันไว้ใช้ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ในขณะที่จีนลดการส่งออก จากความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัว สูงขึ้น 4.55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อของจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และอินเดีย ในขณะที่ อุปทานลดลงจากจีนและเกาหลีใต้ลดการส่งออก ส่วนน้ำมันก๊าดและน้ำมันเตาปรับตัวสูงขึ้น 2.44 และ 0.89 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากเกาหลีใต้ลดการส่งออก แต่มีความต้องการซื้อจากจีน และอินโดนีเซีย เนื่องจากความต้องการใช้ของโรงไฟฟ้าภายในประเทศ ส่วนในเดือนเมษายน 2547 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ปรับตัวลดลง 0.34 และ 0.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาแนฟทา เนื่องจาก อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเปลี่ยนไปใช้ก๊าซบิวเทน ซึ่งมีราคาถูกกว่า ในขณะที่ไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อของจีนและอินโดนีเซีย เพื่อนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม ประกอบกับอุปทานน้ำมันจาก ตะวันออกกลางที่เข้ามาในภูมิภาคเอเซียลดลง รวมทั้งเกาหลีใต้ลดการส่งออกเนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุงประจำปี สำหรับน้ำมันก๊าดและน้ำมันเตาได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.79 และ 0.51 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการซื้อของจีน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 , น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา เฉลี่ยของเดือนเมษายน 2547 อยู่ที่ระดับ 43.76, 42.40, 38.51, 37.82 และ 27.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกเฉลี่ยของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ในไตรมาส 1 ปี 2547 อยู่ที่ระดับ 17.03 , 16.23 และ 14.58 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 18 เมษายน 2547 อยู่ที่ระดับ 16.99 , 15.19 และ 14.59 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ค่าการตลาดเฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2547 ปรับตัวลดลงประมาณ 0.0814 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 1.0548 บาท/ลิตร โดยค่าการตลาดในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 1.1348 บาท/ลิตร ส่วนค่าการกลั่นเฉลี่ยใน ไตรมาส 1 ปี 2547 ปรับตัวสูงขึ้น ประมาณ 0.5201 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 0.9452 บาท/ลิตร โดยค่าการกลั่นในเดือนเมษายน 0.9501 บาท/ลิตร
5. รัฐบาลได้มีมาตรการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดราคาขายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ กรุงเทพมหานคร ที่ระดับ 16.99, 15.19 และ 14.59 บาท/ลิตร ตามลำดับ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงวันที่ 23 เมษายน 2547 กองทุนน้ำมันฯ มีภาระการจ่ายเงิน ชดเชยสะสมทั้งสิ้น 6,291 ล้านบาท แยกเป็นเงินชดเชยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็วประมาณ 1,185, 1,901 และ 3,205 ล้านบาท ตามลำดับ
6. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก ณ เดือนเมษายน 2547 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.6 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ในระดับ 291.6 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 10.81 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 1.67 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 319 ล้านบาท/เดือน และฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 16 เมษายน 2547 มียอดเงินคงเหลือหลังหักภาระผูกพันอยู่ในระดับ 1,553 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ 3,450 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิติดลบ 1,897 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1.ที่ประชุมรับทราบ
2.มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สนพ. รับไปศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันต่อภาวะเศรษฐกิจราคาสินค้า และสาขาการผลิตต่างๆ โดยให้นำเสนอต่อคณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป
เรื่องที่ 2 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 เห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร โดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ต่อมาคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546 ได้มีมติเห็นชอบตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 เรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการกำกับดูแลตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Board of Commission) และให้ กพช. ทำหน้าที่กำกับ ดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยให้กระทรวงพลังงานดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ให้เหมาะสมต่อไป
2. คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2546 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้แปลงสภาพ กฟผ. ทั้งองค์กรเป็นบริษัทโดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) โดยมีองค์ประกอบตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจฯ ต่อมาคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท กฟผ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแปลงสภาพ กฟผ. เป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมี ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ อำนาจ สิทธิ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ในบางมาตรา ไม่ควรโอนไปให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจมหาชน หรือเกิดจากการรอนสิทธิจากประชาชนมาให้ กฟผ. ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนักลงทุนและอาจนำไปสู่การผูกขาดในกิจการ ไฟฟ้าได้ ดังนั้น จึงควรมีการถ่ายโอนอำนาจบางส่วนดังกล่าวมายังคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ไฟฟ้า เพื่อกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ และให้ความคุ้มครองผู้บริโภค
3. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ได้พิจารณาเรื่องการเตรียมการก่อนดำเนินการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และนายกรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอดังนี้
(1) กิจการรัฐวิสาหกิจที่ดูแลด้านสาธารณูปโภคและผูกขาด ให้กระทรวงที่รับผิดชอบเร่งจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล (regulator) ขึ้น เพื่อแยกภาระหน้าที่กำกับดูแลออกจากภารกิจการประกอบกิจการหรือบริการของรัฐ วิสาหกิจ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เป็นการเฉพาะภายใน 30 วัน โดยให้กระทรวงการคลังประสานกับกระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้น และหากมีความจำเป็นให้ยกร่างกฎหมายหรือกฎรองรับด้วย
(2) สำหรับกรณีการแปลงสภาพ กฟผ. ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล ให้กระทรวงพลังงานประสานกับกระทรวงการคลังชี้แจงข้อมูล และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้พนักงาน กฟผ. และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ทราบอย่างชัดเจนแล้ว จึงดำเนินการแปลงสภาพ กฟผ. ต่อไป
4. กระทรวงพลังงานเห็นควรให้มีการเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้
4.1 ขั้นตอนที่ 1 เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ท่าน โดยมีกรรมการหนึ่งท่านเป็นประธาน และช่วงระยะต้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นกรรมการและ เลขานุการโดยตำแหน่ง และเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 กระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งที่ 5/2547 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย (1) นายวิเศษ จูภิบาล เป็นประธานกรรมการ (2) นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา และ (3) ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นกรรมการ สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า มีดังนี้
(1) กำกับดูแลอัตราค่าบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำกับดูแลที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด
(2) กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจการผูกขาดในทางมิ ชอบ ตรวจสอบการดำเนินการของศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้า รวมทั้งกำหนดวิธีการ และกำกับการ แข่งขันการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
(3) กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการกิจการไฟฟ้า โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล การส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพในกิจการไฟฟ้า
(4) กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของการประกอบ กิจการไฟฟ้า มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ รวมทั้งมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการไฟฟ้า
(5) ให้คำแนะนำและเสนอแนะเกี่ยวกับการเชื่อมโยง การใช้บริการ การปฏิบัติการ การควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการซื้อขายไฟฟ้า
(6) จัดทำและเสนอแนะการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า แผนการจัดหาไฟฟ้า และทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ แผนการขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้า
(7) วิเคราะห์ ตรวจสอบและประสานแผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า
(8) พิจารณาการร้องเรียน การอุทธรณ์ ของผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า และผู้ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากกิจการไฟฟ้า ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด
(9) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความจำเป็น
4.2 ขั้นตอนที่ 2 ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบจะมีการแข่งขัน ในกิจการผลิตไฟฟ้า เมื่อมีการแปลงสภาพ กฟผ เป็นบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) จะมีการกำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และอำนาจ สิทธิ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ในบางมาตราไม่ควรโอนไปยังบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่เข้ามาแข่งขัน ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้แก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เพื่อถ่ายโอนอำนาจเดิมของ กฟผ. ไปยังคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าที่จะจัดตั้งขึ้น โดยคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะทำการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน สามารถสรุปสาระสำคัญของอำนาจ ที่จะโอนไปให้คณะกรรมการกำกับดูแล ฯ ได้ดังนี้
(1) มาตรา 37 : กำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ประสงค์จะขายไฟฟ้าเข้าระบบต้องยื่นคำขอ และได้รับความเห็นชอบจาก บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
(2) มาตรา 38 วรรคสอง : กำหนดให้ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) มีสิทธิในการผลิตไฟฟ้าโดยให้สิทธิในการใช้น้ำร่วมกับกรมชลประทาน เนื่องจากเขื่อนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ และได้รับอำนาจในการเวนคืนที่ดินจากประชาชนเพื่อนำมาสร้างเขื่อน ดังนั้นเมื่อ กฟผ. แปลงสภาพเป็นบริษัทแล้ว สิทธิดังกล่าวควรเป็นของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าโดยพิจารณาร่วมกับ กรมชลประทาน
(3) มาตรา 29 (2) ให้อำนาจในการประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยในการ ส่งไฟฟ้าแก่ กฟผ. ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อบริษัทเอกชนที่เข้ามาแข่งขัน เนื่องจากราคาประมูลจะรวมมูลค่าสายส่งที่บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาให้ไว้ ดังนั้น การโอนอำนาจให้คณะกรรมการกำกับฯ จะทำให้เกิดความเป็นกลางในการจัดหาที่ดินเดินสายส่ง
4.3 ขั้นตอนที่ 3 การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นแนวทางการกำกับดูแลในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น เนื่องจากการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ในลักษณะดังกล่าวยังขาดอำนาจทางกฎหมายรองรับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ ในประเด็นหลักๆ เช่น การออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการไฟฟ้า การเพิกถอนใบอนุญาตและการกำหนดบทลงโทษซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล ได้อย่างมีประสิทธิผล การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า และการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการยกร่าง พรบ. การประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การกำกับดูแลมีความสมบูรณ์ครบถ้วนต่อไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้ามีอำนาจหน้าที่ตาม ข้อ 4.1 โดยใช้ พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
2.เห็นชอบในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ....
3.มอบหมายให้ ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 1 และข้อ 2 เกิดความชัดเจนในประเด็นดังนี้
3.1 การสรรหาและการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
3.2 ค่าตอบแทนของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า
3.3 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า โดยเพิ่มเติมเรื่องการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า และกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งการดำเนินการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนด
4.เห็นชอบในหลักการให้ยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการไฟฟ้ามีประสิทธิผลสูงสุดในระยาวต่อไป
- กพช. ครั้งที่ 96 - วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน 2547 (1324 Downloads)