มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2546 (ครั้งที่ 95)
วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2546
3.แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 (ปรับปรุง)
4.การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการกำกับดูแล
5.แผนการระดมทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
6.การแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับความก้าวหน้าและการดำเนินการทางยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน ดังนี้
1. กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแนวทางการส่งเสริมการนำพืช ทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้มากขึ้น ได้แก่ การผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล เป็นต้น เพื่อช่วยลดการนำเข้าพลังงานและเป็นการสนับสนุนการใช้ผลิตผลทางเกษตรให้เกิด ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งความคืบหน้าจะนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป
2. การดำเนินการด้านความปลอดภัยของประชาชนเกี่ยวกับคลังน้ำมันรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่ง ขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการประสานงานกับบริษัทน้ำมันต่างๆ ที่มีคลังน้ำมันอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ เพื่อหาแนวทางย้ายคลังน้ำมันดังกล่าวออกไปในพื้นที่ห่างจากชุมชนเพื่อความ ปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะบริเวณท่าเรือคลองเตยที่ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นใกล้คลังน้ำมันในช่วง ที่ผ่านมา
3. การดำเนินการเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ Strategic Energy Landbrige ในภาคใต้ กระทรวงพลังงานได้ประสานงานกับกระทรวงการคลัง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ด้านภาษีเพื่อให้เกิดเขตปลอดภาษีขึ้นในบริเวณดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2546
4. สำหรับความมั่นคงด้านพลังงานในโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันเพื่อรองรับการ ลำเลียงน้ำมันที่จะขยายขึ้น โดยได้มีการศึกษาความเป็นไปได้แล้ว และพบว่าจะต้องนำผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของภูมิภาคเอเซีย เข้าร่วมกัน โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างประเทศที่เป็นผู้ค้าน้ำมันได้ให้ความสนใจที่จะเข้า ร่วมลงทุนและดำเนินการด้านนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 4 เดือน
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในเดือนกันยายน 2546 ได้ปรับตัวลดลง 1.35 - 3.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานในช่วงฤดูหนาวผ่อนคลายลง หลังจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2546 ราคาน้ำมันดิบได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปคมีมติปรับลดเพดานการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 24.5 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ในเดือนตุลาคม 2546 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น 1.99 - 2.60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากตลาดคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบ จะตึงตัวในช่วงฤดูหนาว ประกอบกับมีปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ เช่น อิสราเอลและปาเลสไตน์ ปากีสถานและอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ปรับตัว สูงขึ้น 0.10 - 0.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก รวมทั้ง เหตุการณ์การก่อการร้ายอย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางและประเทศตุกี ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ได้ปรับตัวลดลง 0.27 - 0.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการคาดว่ากลุ่มโอเปคจะผลิตเกินโควต้า อยู่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 อยู่ที่ระดับ 28.19 และ 29.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ในเดือนกันยายน 2546 ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็ว ปรับตัวลดลง 4.19 , 3.81 และ 1.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ อุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐอเมริกาลดลง หลังสิ้นสุดฤดูท่องเที่ยว ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอุปทานเพิ่มขึ้นจากจีน ไต้หวัน และมีน้ำมันจากตะวันออกกลางเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ในเดือนตุลาคม 2546 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้น 2.41 , 2.32 และ 1.26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จีน เกาหลี และไต้หวันได้ลดการส่งออกลง ประกอบกับโรงกลั่นในสิงคโปร์และไทยปิดซ่อมบำรุง ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้น 0.13 และ 0.74 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากจีนลดการส่งออกลงและโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง และอุปทานน้ำมัน จากตะวันตกเข้ามาในภูมิภาคลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 92 ปรับตัวลดลง 0.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากการส่งออกของไต้หวัน อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง ประกอบกับออสเตรเลียชะลอการนำเข้า ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 , ก๊าด ดีเซลหมุนเร็ว และเตา ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 อยู่ที่ระดับ 36.15, 33.98, 36.33, 34.35 และ 26.52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ในเดือนกันยายน ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวลดลงรวม 1.20 , 1.10 และ 0.70 บาท/ลิตร ตามลำดับ ในเดือนตุลาคม ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวม 0.90, 0.90 และ 0.80 บาท/ลิตร ตามลำดับ ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และดีเซลหมุนเร็วทรงตัว ส่วนน้ำมันเบนซินออกเทน 91 สุทธิได้ปรับ สูงขึ้น 0.10 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 อยู่ที่ระดับ 16.69 , 15.89 และ 14.09 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ค่าการตลาดในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 1.2742, 1.1865 และ 1.1917 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการกลั่นเฉลี่ยของเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 0.7279, 0.4449 และ 0.6815 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนพฤศจิกายน 2546 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ในระดับ 280 เหรียญสหรัฐ/ตัน ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 10.56 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 2.36 บาท/กก. กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่าย 837 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมันชนิดอื่น 982 ล้านบาท/เดือน จึงมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ สุทธิ 145 ล้านบาท/เดือน ยอดเงิน คงเหลือกองทุนน้ำมันฯ หลังหักภาระผูกพัน ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 อยู่ในระดับ 2,449 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2546 รวม 5,292 ล้านบาท ฐานะ กองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 2,843 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงเพิ่มเติมต่อที่ประชุม ดังนี้
1. ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูง อันเป็นผลมาจากนโยบายของกลุ่มโอเปคในการบริหารปริมาณการผลิตเพื่อรักษาระดับ ราคาไว้ที่ระดับ 25 - 28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากนัก เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ใช้ราคาน้ำมันในระดับนี้ในการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
2. ในการเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตของประเทศ กระทรวงพลังงานได้พยายามประสานความร่วมมือกับประเทศนอกกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ได้แก่ รัสเซีย โอมาน และคาซักสถาน แล้ว
3. รัฐบาลมีนโยบายที่จะยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยได้กำหนดแผนการดำเนินการไว้ในช่วงกลางปี 2548 ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเร่งให้เร็วขึ้น เพื่อยุติการ นำเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซ LPG ซึ่งไม่เป็นธรรม และอาจทำให้สามารถ นำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปใช้เป็นกลไกในยุทธศาสตร์ด้านอื่น ๆ ต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2546
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุด หนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม เพื่อทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานในการจัดสรรเงินกองทุนฯ และให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อทราบ และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อทราบภายในสามสิบวันทำการนับ แต่วันสิ้นปีงบประมาณ
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2544 - 2546 ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้น 66 ล้านบาท โดยแบ่งออกตามหมวดรายจ่ายต่างๆ ดังนี้ การค้นคว้า วิจัย และการศึกษา ปีละ 4 ล้านบาท การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และประชาสัมพันธ์ ปีละ 3 ล้านบาท ทุนการศึกษาและฝึกอบรม ปีละ 5.4 ล้านบาท การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา ปีละ 5 ล้านบาท การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน ปีละ 4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ปีละ 6 ล้านบาท
3. ในปีงบประมาณ 2546 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ และมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 จึงไม่สามารถอนุมัติงบประมาณฯ ตามแผนการใช้จ่ายเงินที่วางไว้ได้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2546 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายจากเงินกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดต่างๆ ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,802,414 บาท โดยแบ่งออกเป็น
(1) หมวดการค้นคว้า วิจัย และการศึกษา และหมวดการโฆษณาการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดขอรับการสนับสนุน จึงมีงบประมาณทั้ง 2 หมวด คงเหลือเป็นเงิน 7,000,000 บาท
(2) หมวดทุนการศึกษาและฝึกอบรม ในปีงบประมาณ 2546 คณะกรรมการกองทุนได้อนุมัติทุนการศึกษาและฝึกอบรมให้กับผู้รับทุนแก่หน่วย งานที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานและปิโตรเลียมเป็นค่าใช้จ่าย ในการศึกษาเพิ่มเติม และขยายระยะเวลาการศึกษา จำนวน 432,973 บาท ดังนี้
(3) หมวดการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา ในปีงบประมาณ 2546 ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน จำนวน 1 โครงการ ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามโครงการศึกษาเพื่อกำหนดบทบาทเป้าหมายและ ยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน ในวงเงิน 695,000 บาท
(4) หมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน ได้อนุมัติค่าใช้ จ่ายหมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน โดยอนุมัติจ่ายเงินงบประมาณปีงบประมาณ 2546 จำนวน 74,441 บาท ให้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อชดเชยเงินที่เบิกเกินในปีงบประมาณ 2545
(5) หมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ในปีงบประมาณ 2546 อนุมัติเงินจำนวน 600,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการบริหารงานฯ ได้แก่ เงินเดือนค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับกองทุนฯ มีความสะดวกรวดเร็ว
4. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2546 ในหมวดต่างๆ ทั้ง 4 หมวด รวมเป็นเงิน 1,802,414 บาท โดยได้เบิกจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 544,495.59 บาท และยอดคงเหลือผูกพันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดทุนการศึกษาและฝึกอบรมไปปี 2547 เป็นจำนวนเงิน 432,973 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
หมวดรายจ่าย | อนุมัติ | การเบิกจ่าย ณ วันที่ 30 ก.ย. 46 |
ผูกพัน ปี 2547 |
คงเหลือ |
1. การค้นคว้า วิจัย และการศึกษา | 0.00 | 0.00 | 0.00 | 0.00 |
2. การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และประชาสัมพันธ์ | 0.00 | 0.00 | 0.00 | 0.00 |
3. เงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม | 432,973 | 0.00 | 432,973 | 432,973 |
4. การเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา | 695,000 | 298,806.75 | 0.00 | 396,193.25 |
5. การจัดหาเครื่องมือ และอุปกรณ์สำนักงาน | 74,441 | 74,441 | 0.00 | 0.00 |
6. ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน | 600,000 | 171,247.84 | 0.00 | 428,752.16 |
รวม | 1,802,414 | 544,495.59 | 432,973 | 1,257,918.41 |
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 (ปรับปรุง)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่องแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวและแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.) เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 8 โครงการ วงเงินลงทุน 93,060 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ 45 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และจากความต้องการก๊าซธรรมชาติที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ได้ประมาณ การไว้เดิม จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแผนการขยายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อให้สอด คล้องกับสถานการณ์
2. แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว จากการขยายตัวของเศรษฐกิจใน ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยคาดว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ รวมในภาคการผลิตต่างๆ จะเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,630 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2546 เป็น 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2552 และจะมีความต้องการถึงระดับ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2559 โดยแยกตามกลุ่มผู้ใช้ ดังนี้
2.1 ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการผลิตไฟฟ้า คาดว่าความต้องการก๊าซฯ ในภาคการผลิตไฟฟ้าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ในช่วงปี 2546 - 2559
2.2 ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 8 ต่อปี
2.3 ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เนื่องจาก ปตท. มีแผนที่จะก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 858 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2553 และคาดว่าจะมีความต้องการอยู่ที่ระดับ 865 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2559 โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี
3. การจัดหาก๊าซธรรมชาติ
3.1 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ณ สิ้นปี 2544 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ปริมาณสำรองที่น่าจะเป็น (Probable Reserves) และปริมาณสำรองที่คาดว่าจะเป็น (Possible Reserves) เท่ากับ 52.21 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และหากมีการผลิตที่ระดับ 3,000 และ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะมีก๊าซฯ ใช้ได้อีกประมาณ 48 และ 36 ปี ตามลำดับ
3.2 การจัดหาก๊าซธรรมชาติในอดีต - ปัจจุบัน ปตท. มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับกลุ่มผู้ขายทั้ง ในประเทศและต่างประเทศรวม 9 ฉบับ มีปริมาณซื้อขายตามสัญญา (Daily Contract Quantity : DCQ) ประมาณ 2,587 - 2,828 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเรียกรับก๊าซฯ เพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 15 ของปริมาณ DCQ และร้อยละ 10 สำหรับสัญญาเจดีเอ รวมเป็นปริมาณซื้อขายทั้งหมดประมาณ 2,966 - 3,243 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
3.3 แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคต คาดว่าจะมีศักยภาพในการจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้อีกประมาณ 580 - 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งที่มีสัญญาอยู่ในปัจจุบันได้ อีกประมาณ 800 - 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
4. ปตท. ได้ทำการปรับปรุงแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2544 - 2554) ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 เพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้ และจากความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอนาคตที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนในระบบท่อส่งก๊าซฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีสาระสำคัญในการปรับปรุง ดังนี้
4.1 การเพิ่มขีดความสามารถของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก มีแผนการติดตั้ง Compressor ที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งการวางท่อจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ราชบุรี - วังน้อย บริเวณไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี (Main Line) ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ และวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Spur Line) เชื่อมต่อจาก Main Line บริเวณ อำเภอทวีวัฒนา ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จังหวัดนนทบุรี พร้อมกับการติดตั้ง Standby Compressor ที่จังหวัดราชบุรี
4.2 การเพิ่มขีดความสามารถของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออก เป็นการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเส้นที่ 3 จากแหล่งอาทิตย์ และพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ไปยังจังหวัดระยอง และวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 3 ต่อไปยังสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และวางท่อ ส่งก๊าซฯ ต่อจากอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และจะทำการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลเส้นที่ 3 บริเวณจุด KP 361 (Kilometer Post 361) ไปยังจังหวัดราชบุรี
5. การดำเนินโครงการตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 (ปรับปรุง) จะทำให้โครงข่ายระบบท่อจากอ่าวไทยจะมีกำลังส่งก๊าซฯ สูงสุด 3,680 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกำลังส่งจากโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ จากสหภาพพม่าสูงสุด 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะทำให้โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยรวมมีกำลังส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดเป็น 5,020 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
6. แผนการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ระยะ และมีโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินงานทั้งหมด 10 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ มีกำหนดเวลาเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติตั้งแต่กลางปี 2548 จนถึงต้นปี 2549 และโครงการลงทุนในระยะที่ 2 จำนวน 6 โครงการ มีกำหนดเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ต้นปี 2551 จนถึงปี 2555 ประมาณการเงินลงทุนที่จะต้องใช้ในกรณีที่ทุกโครงการได้รับสิทธิและประโยชน์ ในการ ยกเว้นอากรนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมเป็นเงิน 98,495 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และหากโครงการไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แล้ว วงเงินลงทุนทั้งหมดจะเท่ากับ 104,834 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 (ปรับปรุง) ตามที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เสนอ ดังรายละเอียดตามเอกสารแนบ 4.1.1 และเอกสารประกอบวาระ 4.1 เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยมีโครงการที่จะอนุมัติในช่วงปี 2544 - 2554 จำนวน 10 โครงการ วงเงินลงทุน 104,834 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) แยกเป็นโครงการในระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ และระยะที่ 2 จำนวน 6 โครงการ
2.เห็นชอบให้ใช้แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตามข้อ 1 เป็นกรอบของการพิจารณาในรายละเอียดของโครงการในช่วงปี 2544 - 2554 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบายอีก ยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีโครงการที่จะขออนุมัติดำเนินการในช่วงปี 2544 - 2554 ดังนี้
โครงการในระยะที่ 1 | กำหนดวันเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติ |
1. โครงการติดตั้ง Compressor ที่จังหวัดกาญจนบุรี | กลางปี 2548 |
2. โครงการติดตั้ง Standby Compressor ที่จังหวัดราชบุรี | ปลายปี 2548 |
3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย - โรงไฟฟ้าพระนครใต้/โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ | ปลายปี 2548/ต้นปี 2552 |
(เดิมคือโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติรอบกรุงเทพและปริมณฑล) | |
4. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลและบนบกเส้นที่ 3 | ต้นปี 2549 |
โครงการในระยะที่ 2 | กำหนดวันเริ่มส่งก๊าซธรรมชาติ |
1. โครงการติดตั้ง Compressor บนบกและในทะเล | ต้นปี 2551 |
2. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย - แหล่งอาทิตย์ | ต้นปี 2551 |
3. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจาก KP361 ในทะเล - ปท. 5 จังหวัดราชบุรี | ต้นปี 2551 |
4. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากโรงไฟฟ้าวังน้อย - แก่งคอย จังหวัดสระบุรี | ต้นปี 2551 |
5. โครงการติดตั้ง Compressor ที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี | ต้นปี 2551 |
6. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากท่อเส้นที่ 3 - ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | 2555 |
3.ให้ บมจ. ปตท. เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดำเนินการในช่วงปี 2544 - 2554 ดังกล่าวข้างต้นต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตามข้อ 1
4.ให้ บมจ. ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการขยายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้โครงการสามารถแล้วเสร็จทันตามเป้าหมาย ในการสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ
5.ให้ บมจ. ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในการพิจารณาอนุมัติให้การ ส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามข้อ 1
เรื่องที่ 4 การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการกำกับดูแล
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543 และ 3 ตุลาคม 2543 เรื่องการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะนำเสนอโครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อไป และเห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร โดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
2. กระทรวงพลังงาน ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา Boston Consulting Group (Thailand) เพื่อทำการศึกษาการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศไทย และการปรับปรุงประสิทธิภาพ กิจการไฟฟ้า โดยมีคณะกรรมการกำกับโครงการศึกษาการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากิจการ พลังงานของประเทศไทย และการปรับปรุงประสิทธิภาพกิจการไฟฟ้า ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาดังกล่าว
3. ในการศึกษาได้มีการเปรียบเทียบรูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ในลักษณะต่างๆ ดังนี้ (1) รูปแบบFull Competition (2) รูปแบบ Competitive Bilateral Contract Model (3) รูปแบบ Super National Champion Model (4) รูปแบบ Enhanced Single Buyer Model (5) รูปแบบ Partial Competition Model
4. ในระหว่างการศึกษาได้มีการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยว ข้องในกิจการไฟฟ้าประกอบด้วย ผู้แทนจากการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง หน่วยราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง สหภาพแรงงานของ 3 การไฟฟ้า ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมาธิการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน วุฒิสภา กรรมาธิการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
5. ลักษณะโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ESB ที่กระทรวงพลังงานนำเสนอมีลักษณะดังนี้
5.1 กิจการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการผลิตและส่งไฟฟ้าเช่นเดียวกับในปัจจุบัน และเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single buyer) ส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
5.2 ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า : การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า จะสั่งโดยศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ซึ่งจะอยู่ภายใต้กิจการระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ของ กฟผ. โดยหน่วยงานกำกับ ดูแล (Regulator) จะทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าให้มีความโปร่งใสใน การสั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าผ่านกระบวนการการแบ่งขอบเขตงาน (Ring Fence) ที่ชัดเจน
5.3 บทบาทของผู้ประกอบการเอกชน : การผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีการเปิดประมูลแข่งขัน โดยหน่วยงานกำกับดูแลที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการ ประมูล ให้มีความชัดเจน โปร่งใส ให้ความเป็นธรรมกับผู้ลงทุน
5.4 หน่วยงานกำกับดูแล : จะมีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ภายใต้กระทรวงพลังงาน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า กำกับดูแลราคาค่าบริการ คุณภาพบริการ และการลงทุนให้มีความเหมาะสม พอเพียง รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลความเป็นธรรมกับนักลงทุน และ คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับคุณภาพการบริการที่ดี
6. ลักษณะโครงสร้างองค์กรของ 3 การไฟฟ้า
6.1 กฟผ. จะมีการแปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร และจดทะเบียนกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2547 โดยมีการแบ่งแยกทางบัญชีระหว่างกิจการผลิตและกิจการระบบส่ง เพื่อสร้างความโปร่งใส และส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
6.2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเป็นผู้ดำเนินการระบบจำหน่าย และการค้าปลีกไฟฟ้า ภายใน พื้นที่รับผิดชอบของตน จะมีการแบ่งแยกทางบัญชีระหว่างธุรกิจสายจำหน่ายและจัดหาไฟฟ้า เพื่อส่งเสริม ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หน่วยงานกำกับดูแลสามารถตรวจสอบได้ และป้องกันการอุดหนุนระหว่างธุรกิจสายจำหน่ายที่มีลักษณะผูกขาดกับธุรกิจการ ค้าปลีกไฟฟ้า
7. องค์กรกำกับดูแล
7.1 จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าขึ้นภายใต้กระทรวงพลังงาน ดำเนินงานภายใต้นโยบายของกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ทำหน้าที่ดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าให้ระบบมีความมั่นคง รักษาระดับราคาและคุณภาพของบริการให้มีความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และประสานงานให้มีการลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความมั่น คงของระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดี
7.2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ประกอบด้วย กรรมการ 7 ท่าน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวง พลังงานปฏิบัติหน้าที่เป็น หน่วยงานเลขานุการ มีงบประมาณจากผู้ประกอบการ/หรือเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
7.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้น 1 ชุด เพื่อคัดเลือกกรรมการกำกับดูแลฯ 6 ท่าน โดยเมื่อคณะกรรมการทั้ง 6 ท่านได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทั้ง 6 ท่าน จะเป็นผู้สรรหาหัวหน้าสำนักงานฯ อีกครั้งหนึ่ง
8. เพื่อเป็นแรงผลักดันให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในกิจการไฟฟ้า ควรมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าดังนี้ (1)ปรับหลักเกณฑ์ทางการเงินจากเกณฑ์ที่อิงทางด้านเงินสด เป็นเกณฑ์ที่อิงผลตอบแทนการลงทุน (2) ปรับปรุงกลไกให้การไฟฟ้ารับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น (3) สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ (4) กำหนดกลไกในการชดเชยรายได้ที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาไฟฟ้า เป็นตัวกลางการชดเชยรายได้ระหว่างการ ไฟฟ้า (5) กำหนดมาตรการจูงใจให้กับผู้ประกอบการในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน
9. กระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการต่อไป ดังนี้ (1) ทำการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ขายส่ง ขายปลีก และการชดเชยรายได้ (2) กำหนดรายละเอียดการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า และดัชนีชี้วัดการดำเนินงานของการไฟฟ้า (3) ดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ยกร่างกฎหมายหลัก และกฎหมายรองว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (4) เตรียมการด้านบุคลากร และการพัฒนาศักยภาพในการกำกับดูแล (5) ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และการสร้างการรับรู้ของสาธารณชน
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบข้อเสนอการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและแนวทางการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน
2.มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กฟผ. กฟน. กฟภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการ ไฟฟ้าบังเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
3.เนื่องจาก กฟผ. อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อแปรสภาพองค์กร ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในต้นปี 2547 เพื่อให้ กฟผ. สามารถแปรสภาพได้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ ตามระยะเวลาที่กำหนด เห็นควรให้
3.1 ยกเว้นให้ กฟผ. ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่ายกิจการหรือหุ้น ที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504
3.2 ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดมทุนจากภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด และ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่พิจารณาประเมินราคาหุ้นที่เสนอขาย ขั้นตอน และวิธีการกระจายหุ้น
เรื่องที่ 5 แผนการระดมทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ได้เห็นชอบแผนการเตรียมความพร้อมการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้มีการจดทะเบียนและกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจ 18 แห่ง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะจดทะเบียนและกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 1 ไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ปี 2547 ตามลำดับ
2. กฟภ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมองค์กรสำหรับแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน จำกัด โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย เพื่อทำการศึกษาและเสนอแนะแนวทางในการแปรรูปและการจัดทำแผนระดมทุนจากภาค เอกชนที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการ กฟภ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 ได้ให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าว และต่อมาคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้าในการประชุม ครั้งที่1/2546 (ครั้งที่ 46) เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546 ได้มีมติรับทราบผลการศึกษาแผนการระดมทุนของ กฟภ. และเห็นชอบในหลักการให้ กฟภ. แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร โดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542
3. สรุปสาระสำคัญของแผนระดมทุน
3.1 การจัดโครงสร้างบริษัท : ให้แปลงสภาพ กฟภ. ทั้งองค์กรเป็นบริษัท โดยโครงสร้างองค์กรแบ่งเป็น 5 หน่วยธุรกิจ แต่ในเบื้องต้น กฟภ. อาจพิจารณารวมหน่วยธุรกิจปฏิบัติการเครือข่ายและหน่วยธุรกิจจัดจำหน่ายภาย ใต้การกำกับดูแลไว้เป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน เนื่องจากหน่วยธุรกิจทั้งสองปัจจุบันมีการใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ควรแยกระบบบัญชีและสารสนเทศของแต่ละหน่วยธุรกิจโดยทันที และ เมื่อมีความพร้อมจึงแยกออกเป็นหน่วยธุรกิจ และในอนาคตสามารถจัดตั้งหน่วยธุรกิจทั้งสองเป็นบริษัทหากมีความเหมาะสม
3.2 การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินและทุน
(1) การแปลงสภาพ กฟภ. ทั้งองค์กร และจัดตั้ง บมจ. กฟภ. ภายใต้ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้ทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดของ กฟภ. โอนไปเป็นของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ณ วันจดทะเบียน โดยสามารถใช้มูลค่าทรัพย์สินตามมูลค่าตามบัญชีได้
(2) ขั้นตอนการประเมินราคาทรัพย์สินใหม่อาจสามารถดำเนินการในภายหลังได้เพื่อให้ บมจ. กฟภ. มี ROA และ/หรือ ROE ที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทเทียบเคียงเพื่อประโยชน์ในการเสนอขาย หุ้น
(3) กฟภ. จะต้องดำเนินการแยกระบบบัญชีระหว่างหน่วยธุรกิจปฏิบัติการเครือข่ายและหน่วย ธุรกิจจัดจำหน่ายภายใต้การกำกับดูแลเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ไฟฟ้า และเพื่อให้สามารถออกงบการเงินแยกตามหน่วยธุรกิจ
3.3 การวิเคราะห์ฐานะการเงินของ กฟภ. : รายได้ และ EBITDA ในประมาณการกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โครงสร้างทุน และวิธีดำเนินธุรกิจ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม EBT (กำไรสุทธิก่อนภาษีและเงินนำส่งรัฐ) และ Earnings (กำไรสุทธิหลังหักภาษีและเงินนำส่งรัฐ) จะลดต่ำลงในปี 2547-2551 เนื่องจากมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำ ไปลงทุน ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ (ROA) และอัตราส่วนกำไรต่อส่วนทุน (ROE) ของ กฟภ. อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.14 และ 3.82 ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของบริษัทในต่างประเทศ (ร้อยละ 3.1 และ 9.4 ตามลำดับ)
3.4 มูลค่าองค์กรของ กฟภ. : การประเมินมูลค่าโดยใช้วิธีการคำนวณ Discounted Cash Flow ได้จัดทำเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณี | มูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้น (ล้านบาท) (Equity Value) |
|
ฐาน | ไม่มีการปรับโครงสร้างการชดเชยค่าไฟฟ้า | 19,505-32,682 |
1 | ปรับโครงสร้างการชดเชยค่าไฟฟ้า โดยเพิ่มส่วนต่างค่าไฟฟ้า ขายปลีกและขายส่งร้อยละ 3.1 | 62,807-82,990 |
2 | ปรับโคสร้างสินทรัพย์โดย Write-down สินทรัพย์ และทุนลงร้อยละ 25 | 17,341-30,338 |
3.5 การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า
กลุ่มที่ปรึกษาได้นำเสนอแนวทางเลือกในการชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าไว้ 4 แนวทาง คือ (1) กฟผ. ขายให้ กฟภ. ในราคาที่ต่ำกว่า กฟน. (2) กฟผ. ขายให้ กฟภ. และ กฟน. ในราคาเดียวกัน แต่การชดเชยเกิดขึ้นที่ระดับค่าส่งในรูปค่า Ft (3) จัดตั้งกองทุนไฟฟ้าเพื่อเป็นตัวกลางระหว่าง กฟภ. และ กฟน. และ (4) หน่วยงานของรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยให้ กฟภ.
ทั้งนี้ กลไกการชดเชยรายได้ที่นักลงทุนให้การยอมรับต้องมีการกำหนดสูตรการคำนวณ เงินชดเชยที่ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีผลบังคับใช้ในระยะยาวมีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่กำกับดูแล และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
3.6 การกำหนดทุนจดทะเบียน : จดทะเบียนบริษัทที่ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำที่ 7,000 ล้านบาท ก่อน และเมื่อได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเงิน และมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นของ กฟภ. แล้วจึงแปลงกำไรสะสมที่ยังมิได้จัดสรรเป็นทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระเพิ่ม เติมจนถึงระดับที่เหมาะสม ก่อนการเสนอขายหุ้นของ บมจ. กฟภ. ให้แก่นักลงทุน
3.7 แนวทางการระดมทุน
3.7.1 การระดมทุนจะประสบความสำเร็จ กฟภ. ต้องดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ (1) หาข้อสรุปโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้าและการให้เงินสนับสนุน (2) ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มโครงสร้างอุตสาหกรรมและสภาวะ การแข่งขัน (3) หาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สิน ภาระหนี้และข้อตกลงสัญญาต่างๆ ระหว่าง กฟภ. กับหน่วยงานรัฐบาล และเอกชน (4) จัดทำแผนการขยายธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาวะการแข่งขัน รวมทั้งมีแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร (5) จัดให้มีบรรษัทภิบาล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน
3.7.2 การกำหนดสัดส่วนการเสนอขายเบื้องต้นที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาแนะนำ ได้แก่ สัดส่วน 60:40 (ในประเทศ : ต่างประเทศ) ทั้งนี้จะต้องมีการกำหนดให้มีความยืดหยุ่นในการปรับสัดส่วนการเสนอขายให้ เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงในขณะที่ทำการเสนอขาย
3.8 การจัดสรรผลประโยชน์พนักงาน
3.8.1 มูลค่าผลประโยชน์ทั้งหมดที่จัดสรรให้แก่พนักงานอาจจะกำหนดเป็น XX เท่าของเงินเดือนทั้งหมดของพนักงาน
3.8.2 ในเงื่อนไขการขายหุ้นให้กับพนักงานควรมีการกำหนดให้มีระยะเวลาห้ามขายหุ้น (Lock-up Period) ตามความเหมาะสม เช่น 3 ปี เพื่อลดผลกระทบต่อราคาหุ้นหลังจากเปิดให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
3.8.2 ในการจัดสรรหุ้นให้กับพนักงานจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับจัด สรรหุ้นอย่างชัดเจนเพื่อลดความขัดแย้งในองค์กร โดย กฟภ. ควรเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว
3.9 กฟภ. จะต้องดำเนินการในประเด็นต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนการจดทะเบียนเป็นบริษัท ดังนี้
3.9.1 การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ
3.9.2 การจัดโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างบริษัทเพื่อการแปรรูป
3.9.3 การเตรียมความพร้อมด้านบัญชี, ด้านระบบภาษีบัญชี และด้านระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ
3.9.4 การขอความยินยอมจากคู่สัญญา/ผู้ให้กู้
3.9.5 การขอความสนับสนุนจากรัฐบาล
3.9.6 การจัดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการประชาสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
3.9.7 การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Hearing)
มติของที่ประชุม
1.รับทราบผลการศึกษาแผนการระดมทุนของ กฟภ.
2.เห็นชอบในหลักการให้ กฟภ. แปลงสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กร โดยใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และให้ กฟภ. ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าต่อไป
เรื่องที่ 6 การแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)
สรุปสาระสำคัญ
1. การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าและ ไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ใน ประเทศให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของภาครัฐในระบบการผลิตและ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า
ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเพื่อให้ระเบียบมีความเหมาะสมและสามารถนำไป ปฏิบัติได้ ตลอดจนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปรับปรุงครั้งสำคัญในปี 2540 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเห็นชอบมาตรการในการแก้ไขปัญหาของผู้ผลิตรายเล็ก ได้แก่ การปรับโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้า และสูตรการปรับค่าพลังงานไฟฟ้า การปฏิบัติตามบางส่วนของ Grid Code การผ่อนผันคุณสมบัติของ SPP โดยมาตรการดังกล่าวได้นำมาปรับปรุงในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับ SPP และใช้ปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา เงื่อนไขในทางปฏิบัติบางประเด็นไม่ได้ระบุไว้ในระเบียบฯ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กฟผ. จึงขอปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ให้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ การ แก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ได้กำหนดไว้ในระเบียบฯ ข้อ บ. ว่า "การแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ ทุกครั้งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ"
2. คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ได้เห็นชอบการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP โดยสามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
2.1 แก้ไขข้อกำหนดคุณสมบัติของ SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ/น้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงหลักหรือเชื้อเพลิงเสริม หากเกินกว่าร้อยละ 25 ของพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงทั้งหมด จะถือเป็นคุณสมบัติการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration ซึ่งจะต้องมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 เนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขเดิม ไม่เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและพลังงานนอกรูปแบบกากหรือ เศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก
2.2 แก้ไขรายละเอียดข้อมูลประกอบคำร้องและข้อเสนอการขายไฟฟ้า ให้ตรงกับแบบฟอร์มที่ กฟผ. ถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และขยายระยะเวลาลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จากเดิมภายใน 1 ปี เป็นภายใน 2 ปี หลังจากวันที่การไฟฟ้าแจ้งผลการพิจารณารับซื้อไฟฟ้า โดยกำหนดให้ SPP จะต้องแสดงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กับการไฟฟ้าก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ทั้งนี้ เห็นควรให้ กฟผ. ทำหนังสือแจ้งผลการตอบรับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขการแสดงรายงานผลกระทบสิ่งแวด ล้อม รวมทั้งแนบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระหว่าง กฟผ. กับ SPP ว่าจะมีการ รับซื้อไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
2.3 กำหนดระยะเวลาการยื่นและคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อนการลงนามใน สัญญา 10 วันทำการ เพื่อความชัดเจนและให้ระยะเวลาตรวจสอบหลักประกันได้ในระยะเวลาหนึ่ง
2.4 SPP จะต้องผลิตไฟฟ้าให้มีคุณภาพตามระเบียบการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานระบบของ การไฟฟ้า และเป็นไปตาม SPP Grid Code ทั้งนี้ ในการแก้ไข Grid Code และระเบียบการเดินเครื่องกำเนิด ไฟฟ้าขนานระบบของการไฟฟ้า ให้กำหนดไว้ในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP โดยการแก้ไขจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากภาค รัฐ และนักวิชาการ และเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้สอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการในขั้นตอนการหารือด้วย
2.5 แก้ไขความหมายของเชื้อเพลิงเสริม โดยหมายความรวมถึงเชื้อเพลิงสำรองด้วย และ กำหนดจำนวนชั่วโมงที่ใช้คำนวณ Monthly Capacity Factor ให้หักลบด้วยจำนวนชั่วโมงที่ต้องหยุดซ่อมบำรุง ตามแผนบำรุงรักษารายปี จำนวนชั่วโมงในวันที่ กฟผ. สั่งการเดินเครื่องต่ำกว่าสัญญาในช่วง Peak วันที่ กฟผ. ไม่สามารถรับไฟได้ รวมถึงวันที่มีเหตุสุดวิสัยด้วย
2.6 เพิ่มเติมข้อกำหนดการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าและไอน้ำ Tie Bus และ Tie Steam โดยให้แยกระบบเชื่อมโยงเป็นอิสระในแต่ละสัญญา ไม่อนุญาตให้มีการนำระบบมาเชื่อมต่อกัน เว้นแต่ ได้รับอนุญาตจากการไฟฟ้า โดยให้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมตามที่การไฟฟ้ากำหนด
2.7 ให้ผ่อนปรนการลดการจ่ายไฟฟ้าในช่วง Off-peak ของผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ โดยให้สามารถผลิตได้เต็มที่ในช่วงดังกล่าว เนื่องจากธรรมชาติของเชื้อเพลิงที่ใช้ ไม่สามารถควบคุมให้มีความสม่ำเสมอได้ นอกจากนี้ การผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบรวม เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่ต่ำมาก (ประมาณ 1%) และมีปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาน้อย ทั้งนี้ หากในอนาคตปริมาณการผลิตไฟฟ้าจาก SPP พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นมาก จนส่งผลกระทบต่อการสั่งการเดินเครื่องของ กฟผ. กฟผ. สามารถเสนอขอทบทวนการผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวได้
2.8 ตามสูตรการคำนวณปริมาณพลังไฟฟ้าคิดเงินแต่ละเดือน หากผลการคำนวณมีค่าเป็นลบ ผู้ผลิตรายเล็กจะต้องชำระเงินให้การไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่ากับปริมาณพลังไฟฟ้า คิดเงินที่มีค่าเป็นลบ คูณด้วยอัตราค่าพลังไฟฟ้าในเดือนนั้นๆ ทั้งนี้ ค่าปรับที่ กฟผ. เรียกเก็บจาก SPP ให้ส่งคืนประชาชนผ่านสูตร Ft ในการคำนวณค่า Ft แต่ละเดือน
2.9 ระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าใหม่กำหนดให้บังคับใช้เฉพาะ SPP ที่จะยื่นคำร้องและข้อเสนอการขายไฟฟ้าภายหลังการออกระเบียบฉบับใหม่นี้ ทั้งนี้ SPP รายเดิม หากมีความประสงค์จะปฏิบัติตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ ใหม่ สามารถยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิม และใช้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แก้ไขใหม่ตามระเบียบใหม่ได้ โดยจะขอแก้ไขข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพียงบางข้อไม่ได้ ทั้งนี้ การยกเลิกสัญญา ดังกล่าว SPP ไม่ต้องคืนเงินค่าพลังไฟฟ้า
2.10 เห็นควรให้คงข้อกำหนดในการแก้ไขปัญหาจากการปฏิบัติตามระเบียบการรับซื้อ ไฟฟ้าฯ และการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามระเบียบฯ เดิม โดยให้ยื่นข้อพิพาทผ่านอนุญาโตตุลาการหากอนุญาโตตุลาการไม่สามารถวินิจฉัยหา ข้อยุติได้ ให้ยื่นต่อศาลไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบการแก้ไขระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก รายละเอียดตามข้อ 2
2.มอบหมายให้การไฟฟ้าออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตรายเล็ก และจัดทำต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตราย เล็กฉบับใหม่ ตามแนวทางและหลักการในข้อ 1
3.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ และนักวิชาการ เป็นผู้พิจารณาการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานกับระบบ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (SPP Grid Code) และระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
สรุปสาระสำคัญ
1. ปี 2522 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยในขณะนั้น ประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง จนต้องมีการปันส่วนน้ำมัน ดังนั้น รัฐบาล จึงได้ออก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2523 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2523 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย 5 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการจำกัดเวลาการเปิดบริการของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (2) มาตรการจำกัดเวลาการใช้ไฟฟ้าในการโฆษณาสินค้าและบริการ (3) มาตรการจำกัดเวลาเปิดทำการของสถานบริการ (4) มาตรการจำกัดเวลาของสถานีวิทยุ โทรทัศน์ (5) การให้คณะกรรมการเฉพาะกิจในภาวะฝนแล้ง กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ไฟฟ้าของผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม
2. ต่อมาภาวะวิกฤตการณ์น้ำมันได้คลี่คลายลง จึงได้มีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เพื่อยกเลิก มาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อ (1) และ (2) ส่วนมาตรการในข้อ (3) (4) และ (5) ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
3. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณาแล้วว่าปัจจุบันประเทศไทยสามารถจัดหาน้ำมันและไฟฟ้าได้เพียงพอต่อ ความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้มาตรการประหยัดน้ำมันและไฟฟ้า ตามข้อ (3) (4) และ (5) ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป สนพ. จึงได้เสนอให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2523 ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 10/2523 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2523 เรื่อง การกำหนด มาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2543 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชเป็นเชื้อเพลิง ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปแต่งตั้งคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ และต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ได้มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาข้อเสนอการขอ ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง โดยให้เป็นไปตามกรอบนโยบายที่คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติกำหนด และให้นำเสนอผลการพิจารณาตั้งโรงงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2545 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 ได้มีการพิจารณาเรื่องการอนุญาตตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้ เป็นเชื้อเพลิง และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 ได้มีมติอนุมัติการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิงของผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ
3. เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้ดำเนินการแจ้งผลการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย ทราบ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการทั้ง 8 รายจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ยื่นไว้ตามประกาศคณะกรรมการ เอทานอลแห่งชาติ ลงวันที่20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 อาทิเช่น ต้องดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อเป็นเชื้อเพลิงตามที่ได้รับ อนุมัติให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 ปี นับจากวันที่ ได้รับแจ้งการอนุญาต และต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใน 180 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการอนุญาต เป็นต้น
4. คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ได้พิจารณาการดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และได้มีมติให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตยื่นเอกสารหลักฐานและรายละเอียด ประกอบคำขอรับใบอนุญาตประกอบพิจารณาโรงงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ครบถ้วน ภายในเดือนกรกฎาคม2546 ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวปรากฎว่า มีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจำนวน 7 ราย ยื่นเอกสารหลักฐานและรายละเอียดครบถ้วนตามที่กำหนด และมีผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจำนวน 1 ราย คือ บริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด ยื่นเอกสารหลักฐานและรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งคืนคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้กับ บริษัทฯ แล้ว
5. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ในการประชุมคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ได้พิจารณาคำขอของบริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด โดยได้ขออนุญาตขยายระยะเวลาการปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขออกไปอีก 180 วัน นับจากวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติไม่อนุญาตให้บริษัทฯ ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตจัด ตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของบริษัทฯ ต่อไป เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดได้ภายในกำหนดเวลา ขณะที่ผู้ได้รับอนุญาตรายอื่นสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ได้ทุกราย ประกอบกับบริษัทฯ ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงตามที่รับอนุญาตแต่อย่างใด
มติของที่ประชุม
เห็นชอบตามมติคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ในการพิจารณาไม่อนุญาตให้บริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และให้เพิกถอนการอนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของ บริษัทฯ
- กพช. ครั้งที่ 95 - วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2546 (2478 Downloads)