มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2546 (ครั้งที่ 93)
วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุมธำรงนาวาสวัสดิ์ ชั้น 3
อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.การจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
3.ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2
4.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 - 2559 (PDP 2003)
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 2 ปี 2546 ปรับตัวลดลง 3.95 - 5.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากอุปทานในตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักได้ยุติ ลง และโอเปคได้เพิ่มโควต้าการผลิต รวมทั้งจากการส่งออกของเวเนซูเอล่าและไนจีเรีย ในขณะที่อุปสงค์ในตลาดลดลงเนื่องจากสิ้นสุด ฤดูหนาวประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของโลกที่ซบเซาเนื่องจากโรคระบาด SARS โดยในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น 0.38 - 2.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามอุปทานในตลาดที่ตึงตัวขึ้น เนื่องจาก อิรักยังไม่สามารถกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในระดับปกติได้ จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดท่อส่งน้ำมันทางตอนเหนือของอิรัก และผลการประชุมโอเปค ในวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ได้มีมติให้คงปริมาณการผลิตไว้ที่ระดับ 25.4 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาอุปทานในตลาดให้อยู่ในระดับปกติ ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยของเดือนมิถุนายน 2546 อยู่ที่ระดับ 25.51 และ 27.32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์เฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 2546 ปรับตัวลดลง 4.10 - 7.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันดิบและอุปทานเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นสิงคโปร์ที่เพิ่มกำลังการก ลั่น และจากการส่งออกของไทย ในขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคลดลง โดยในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 และ 92 ปรับตัวสูงขึ้น 2.86 และ 3.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากเหตุเพลิงไหม้ โรงกลั่นน้ำมันของไต้หวัน และอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียและศรีลังกา ประกอบกับมีการนำน้ำมันจาก ภูมิภาคเอเซียไปขายยังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนอุปทานได้ลดลง เนื่องจากจีนลดปริมาณการกลั่นจากผลกระทบจากโรค SARS ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.34 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล จากความต้องการซื้อของศรีลังกา ประกอบกับเกาหลีใต้ได้ลดการส่งออกน้ำมันดีเซลลงเนื่องจาก โรงกลั่นของประเทศมีแผนจะลดปริมาณการกลั่นลง ราคาเฉลี่ยของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 92 และดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ระดับ 31.59, 30.84,และ 28.73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยของไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2546 ได้ปรับตัวลดลงตามราคา น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์และผลจากการที่รัฐบาลยุติมาตรการตรึงราคา น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว ปรับตัวลดลง 0.70 , 0.70 และ 0.83 บาท/ลิตร ตามลำดับ โดยในเดือนมิถุนายน 2546 มีการปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้น 2 ครั้ง ลง 1 ครั้ง สุทธิเพิ่มขึ้น 40 สตางค์/ลิตร น้ำมันดีเซล หมุนเร็วปรับขึ้น 1 ครั้ง 30 สตางค์/ลิตร โดยราคาขายปลีกเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 , 91 และดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ระดับ 15.41 , 14.41 และ 12.84 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ค่าการตลาดเฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 2546 อยู่ในระดับทรงตัวที่ 1.0778 บาท/ลิตร โดยในเดือนมิถุนายน ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.8838 บาท/ลิตร จากการที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกได้น้อยกว่าต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าการกลั่น ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2546 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.5798 บาท/ลิตร โดยค่าการกลั่นเฉลี่ยมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 0.4034 บาท/ลิตร ตามลำดับ
5. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนกรกฎาคม 2546 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 26.2 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ในระดับ 269.0ราคา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 10.55 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในระดับ 2.35 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 422 ล้านบาท/เดือน และมีรายจ่ายในการชำระหนี้ตามข้อตกลงอีก 400 ล้านบาท/เดือน รวมมีรายจ่าย 822 ล้านบาท/เดือน โดยกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมันชนิดอื่น 982 ล้านบาท/เดือน จึงมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ สุทธิ 160 ล้านบาท/เดือน ยอดเงิน คงเหลือกองทุนน้ำมันฯ หลังหักภาระผูกพัน ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2546 อยู่ในระดับ 6,322 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2546 รวม 8,885 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 4,617 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 การจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในช่วงที่ ราคาน้ำมันแพง โดยให้จัดหาเงิน 6,000 - 8,000 บาท จากเงินกู้สำหรับจ่ายชดเชยเพื่อ ตรึงราคาขายปลีก ณ กรุงเทพมหานคร ของน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วเป็นระยะเวลา 4 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2546) เมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลงให้เก็บเงินใช้คืนเงินกู้ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ขึ้น โดยยกร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การ มหาชน พ.ศ. 2542 เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและสามารถกู้เงินมาใช้ในการอุดหนุนเพื่อตรึง ราคาน้ำมันได้
2. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 ได้มีประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 120 ตอนที่ 26 ก เรื่องพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 ขึ้นโดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป โดยวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาเงิน มาให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำไปชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ได้สูงเกินกว่าระดับ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และดำเนินการใดๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนพลังงาน
3. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 ได้มีมติให้แต่งตั้งประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) จำนวน 6 คน และต่อมาสำนักนายก รัฐมนตรีได้ออกประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2546 เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันบริหารกอง ทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) โดยให้แต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 มีผลบังคับใช้ เป็นต้นมา ประกอบด้วย นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ เป็นประธานกรรมการ และ นายพละ สุขเวช นางเกษรี ณรงค์เดช นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ นายนิตย์ จันทรมังคละศรี และนายวิทิต สัจจพงษ์ เป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
4. เพื่อให้สถาบันดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และประกอบกับมาตรา 32 ของพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันฯ ปลัดกระทรวงพลังงานจึงแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) เป็นผู้อำนวยการของสถาบันฯ เป็นการชั่วคราว เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสถาบันที่ยังไม่มีการแต่งตั้ง
5. ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2546 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการ จัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบัน และให้กำหนดค่าตอบแทนของผู้อำนวยการสถาบันให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนของผู้อำนวยการองค์การมหาชน ซึ่งต่อมาในการประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันบริหารกอง ทุนพลังงานขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ 5 คน โดยมีนายวิทิต สัจจพงษ์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การพิจารณาและดำเนินการ สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการสรรหาผู้อำนวยการต่อคณะกรรมการสถาบันให้แล้ว เสร็จภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2546
6. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ได้มีประกาศสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เรื่อง รับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบริหาร กองทุนพลังงาน โดยกำหนดระยะเวลารับสมัครระหว่างวันที่ 11 - 20 มิถุนายน 2546 ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกจำนวน 5 คน และคณะกรรมการสรรหา ผู้อำนวยการสถาบันได้สัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งหมดในวันที่ 27 มิถุนายน 2546 ซึ่งปรากฏว่า ผู้สมัครทั้งหมด ไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากมีคุณสมบัติและประสบการณ์ทำงานไม่สอดคล้องกับงานของสถาบันที่จะ ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ผลการรับสมัครจะนำเสนอคณะกรรมการสถาบันฯ พิจารณาในลำดับต่อไป
7. สำหรับการดำเนินงานของสถาบันช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการสถาบันฯ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2546 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่สถาบันจะจ่ายให้ธนาคาร ออมสินในอัตราร้อยละ 4.00 ต่อปี ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ธนาคารออมสินได้เสนอให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สถาบัน ในรูปของวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยมีเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนในวงเงินกู้ไม่เกิน 8,000 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับร้อยละ 4.00 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกระยะ 6 เดือน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน
8. จากปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปรับตัวลดลง ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ จนทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินหมุนเวียนอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเบิกเงินกู้จากธนาคารออมสินมา เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ และแนวทางการดำเนินงานของสถาบันต่อไป คือ การบริหารกองทุนพลังงานซึ่งเป็นการบริหารจัดการเงินกองทุนพลังงานต่างๆ อาทิ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่จะโอนจากกระทรวงการคลังมายัง กระทรวงพลังงานตามกฎหมายการปฏิรูประบบราชการ ปี 2545 กระทรวงพลังงานได้มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ ปรึกษาในการจัดเตรียมการปฏิบัติงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางได้แต่งตั้งให้ นางอุไร ร่มโพธิหยก นักบัญชี 9 กลุ่มระบบบัญชีภาครัฐ และ คณะเป็นที่ปรึกษา สำหรับภารกิจอื่นๆ ของสถาบันในอนาคตขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะมอบหมายให้เป็นเรื่องๆ ไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เพื่อส่งเสริมและ ให้ความร่วมมือการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว เพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศไทยปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการใน สปป. ลาว จำนวน 2 โครงการ ที่จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน-หินบุน และโครงการห้วยเฮาะ สำหรับโครงการลำดับต่อไปที่ได้มีการเจรจาซื้อขายไฟฟ้า คือ โครงการน้ำเทิน 2
2. กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการน้ำเทิน 2 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2543 ต่อมา กฟผ. ได้ดำเนินการเจรจาจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement : PPA) โครงการน้ำเทิน 2 กับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการ (Num Theun 2 Power Company Limited : NTPC) ซึ่งคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน ลาว (คปฟ-ล.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างสัญญาฯ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2544
3. คณะกรรมการ กฟผ. ได้ให้ความเห็นชอบร่างสัญญาฯ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2545 และได้นำส่งร่างสัญญาฯ ดังกล่าวต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ต่อมา กฟผ. ได้นำข้อสังเกตของ อส.แจ้งให้ NTPC พิจารณา และ NTPC ยินยอมแก้ไขและเพิ่มเติมในร่างสัญญาฯ ยกเว้น 2 ประเด็นที่ขอให้ กฟผ. พิจารณาคงเงื่อนไขไว้ตามร่างสัญญาฯ เดิม
4. ลักษณะโครงการน้ำเทิน 2 มีขนาดกำลังการผลิต ณ จุดส่งมอบ 920 เมกะวัตต์ กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. อีก 6 ปี นับจากวันลงนามในสัญญาฯ โดยกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 2 ประกอบด้วย รัฐบาล สปป. ลาว ถือหุ้นร้อยละ 25 EDF International ถือหุ้นร้อยละ 35 บริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 15 และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 25
5. สาระสำคัญของร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2 สรุปได้ ดังนี้
5.1 อายุสัญญา เริ่มจากวันลงนามสัญญา และต่อเนื่องไปอีก 25 ปี นับจากวันเริ่มต้นจ่าย ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โดยอายุสัญญาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วง 13 ปีแรก และช่วง 12 ปีหลัง
5.2 ค่าไฟฟ้าปีแรกจะมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 1.49 บาท/หน่วย (ณ. อัตราแลกเปลี่ยน 42.5 บาท/US$) และหลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 1.38% ต่อปี ซึ่งเมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุสัญญา (Levelized Price) 25 ปี เท่ากับ 1.64 บาท/หน่วย
6. อัยการสูงสุด (อส.) มีประเด็นข้อสังเกตของสัญญาฯ ซึ่ง กฟผ. ได้นำข้อสังเกตไปหารือกับกลุ่ม ผู้ลงทุนโครงการ (NTPC) และ NTPC ยินยอมแก้ไขและเพิ่มเติม ยกเว้นใน 2 ประเด็น ดังนี้
6.1 กรณีค่าปรับไม่เท่ากัน อส. ไม่ขัดข้องเรื่องอัตราค่าปรับไม่เท่ากัน เนื่องจากการก่อสร้าง ล่าช้า แต่ให้พิจารณาทบทวนว่าจะเป็นภาระต่อ กฟผ. เกินกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่
6.2 กรณี กฟผ. มีข้อผูกพันต้องซื้อโครงการ อส. ไม่ขัดข้องในหลักการเรื่องข้อผูกพันการ Buy - out โครงการหากมีการเลิกสัญญา แต่เห็นว่าหากกำหนดทางเลือกให้ กฟผ. มีสิทธิจ่ายค่าชดเชย (มีเพดาน) แทนการ Buy-out ไว้ด้วยจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น
7. คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2546 ได้ให้ความเห็นต่อความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ดังนี้
7.1 เรื่องค่าปรับที่ไม่เท่ากัน คณะกรรมการ กฟผ. มีความเห็นว่า การกำหนดอัตราค่าปรับ ที่แตกต่างกันเนื่องจากผู้ลงทุนต้องลงทุนสูงกว่า กฟผ. หลายเท่าตัวจากการลงทุนเกี่ยวกับตัวเขื่อน โรงไฟฟ้า อาคารประกอบและสายส่ง การกำหนดอัตราค่าปรับไม่เท่ากันจึงมีความยุติธรรม
7.2 เรื่องที่ กฟผ. มีข้อผูกพันต้องซื้อโครงการ (Buy-out) หากมีการเลิกสัญญา เนื่องจาก กฟผ. ผิดสัญญา หรือเกิดจาก Thai Political Force Majeure คณะกรรมการ กฟผ. มีความเห็นว่าโครงการ น้ำเทิน 2 เป็นโครงการขนาดใหญ่มีกำลังผลิตสูงถึง 920 เมกะวัตต์ และสร้างขึ้นมาเพื่อขายไฟฟ้าให้ กฟผ. แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น หาก กฟผ. ผิดสัญญา บริษัทไม่สามารถขายไฟฟ้าให้ผู้อื่นได้ การมีเงื่อนไข Buy-out โครงการจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ผู้ลงทุนหาแหล่งเงินกู้ได้
8. สำหรับฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นว่า ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2 กระทำขึ้นภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาว ที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามไว้กับรัฐบาล สปป. ลาว จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับการกำหนดอัตราค่าปรับที่ไม่เท่ากัน และการมีข้อผูกพันต้องซื้อคืนโครงการ (Buy-out) หากมีการเลิกสัญญา มีความเหมาะสม เนื่องจากผู้ลงทุนต้องลงทุนสูงกว่า กฟผ. หลายเท่าตัว นอกจากนี้ โครงการน้ำเทิน 2 เป็นโครงการขนาดใหญ่ และสร้างขึ้นมาเพื่อขายให้เฉพาะ กฟผ. การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถหาแหล่งเงินกู้ ได้
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2 และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการน้ำเทิน 2 ต่อไป ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไขร่างสัญญาฯ ดังกล่าว ในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญเห็นควรให้ กฟผ. สามารถพิจารณาแก้ไขได้ โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อีก
เรื่องที่ 4 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 - 2559 (PDP 2003)
สรุปสาระสำคัญ
1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พ.ศ. 2546 - 2559 (PDP 2003) เป็นแผนระยะยาวที่ กฟผ. จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและระบบ ส่งไฟฟ้าในอนาคต และเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบ โดยรายละเอียดของแต่ละโครงการภายใต้แผน PDP กฟผ. จะนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาอนุมัติเป็นราย โครงการตามขั้นตอนปกติ และแผน PDP จะถูกมีการ ปรับปรุงเป็นระยะตามความเหมาะสม
2. สมมติฐานที่ใช้ในการจัดทำแผน PDP 2003
2.1 กฟผ. ใช้ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 เป็นฐาน โดยสมมติฐานหลักในการจัดทำค่าพยากรณ์ฯ อาศัยฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 และร้อยละ 4.7 ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 และ 11 ซึ่งได้ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังไฟฟ้า เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9, 10 และ 11 ในระดับ 21,648 เมกะวัตต์ 29,321 เมกะวัตต์ และ 38,851 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ต่อปี
2.2 สำหรับปริมาณก๊าซธรรมชาติใช้ข้อมูลที่ได้จากการประมาณการของ ปตท. โดยก๊าซ ธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้มาจากแหล่งบนบกและจากอ่าวไทย รวมทั้งการนำเข้าก๊าซจากสหภาพพม่าและแหล่งไทย - มาเลเซีย
2.3 ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับโรงไฟฟ้าต่างๆ ประมาณการโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
2.4 กำหนดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยตัวชี้วัด โอกาสไฟฟ้าดับ (Loss of Load probability : LOLP) ไม่เกิน 24 ชั่วโมงใน 1 ปี รวมทั้งกำหนดกำลังผลิตสำรองต่ำสุดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
2.5 การซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน
(1) รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทที่มีสัญญา Firm ทั้งที่ลงนาม ในสัญญาแล้วและกำลังจะลงนามในสัญญา ในช่วงปี 2546 - 2548 จำนวน 128.8 เมกะวัตต์ และจาก โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงปี 2546 - 2548 จำนวน 128.1 เมกะวัตต์ โดยพิจารณาเฉพาะที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอนุมัติ รอบแรก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546
(2) บริษัท กัลฟ์เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น และบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด จะมีการเจรจาเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จออกไป 2 ปี - 3 ปีครึ่ง ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า ส่วนบริษัท BLCP เพาเวอร์ จำกัด จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา
(3) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงนามในสัญญา กำหนดการจ่ายไฟฟ้าเบื้องต้นเข้าระบบได้ในต้นปีงบประมาณ 2553
3 สาระสำคัญของแผน
3.1 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้
(1) ปรับปรุงการจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนอมโดยเปลี่ยนจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ขนาด 75 เมกะวัตต์ 2 เครื่อง ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ขึ้น ขนาด 385 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติในปริมาณใกล้เคียงกับปัจจุบัน กำหนดแล้วเสร็จในต้นปี 2550
(2) ก่อสร้างสายส่ง 500/230 กิโลโวลต์ บางสะพาน - สุราษฎร์ธานี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2551 เพื่อเสริมระบบในภาคใต้ให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการ ผลิตต่ำกว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตไฟฟ้าอยู่ในภาคใต้ พร้อมทั้งสามารถส่งกระแสไฟฟ้าที่มีราคาถูกจากภาคกลางมายังภาคใต้
(3) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ภาคใต้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ เพื่อสนองความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2551
3.2 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
(1) ปรับปรุงสายส่ง 230 กิโลโวลต์ ลำตะคอง-นครราชสีมา 2 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2550 เพื่อแก้ไขการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากการลดลงของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าน้ำพอง
(2) ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ให้แล้วเสร็จในปี 2553
(3) ประสานงานกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการวางท่อก๊าซธรรมชาติไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบริเวณจังหวัดนครราชสีมา
(4) พิจารณาก่อสร้างสายส่ง 500/230 กิโลโวลต์ ท่าตะโก-ชัยภูมิ-อุดรธานี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 หากการดำเนินการในข้อ (3) ไม่เหมาะสม
3.3 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ารวม
(1) เจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน บริษัท กัลฟ์เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด และบริษัท ยูเนียนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ให้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไป 2 ปี - 3 ปีครึ่ง ตามความเหมาะสม
(2) ยืดอายุโรงไฟฟ้าเก่าที่จะหมดอายุการใช้งาน แต่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงต่ำ โดย ทำการปรับปรุงให้มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 10-15 ปี
(3) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ชุดที่ 1 และพระนครใต้ ชุดที่ 3 ให้แล้วเสร็จในปี 2552 และบางปะกง ชุดที่ 5 ให้แล้วเสร็จในปี 2553 ขนาดกำลังผลิตชุดละ 700 เมกะวัตต์ โดยใช้ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุการใช้งาน
(4) โรงไฟฟ้าใหม่นอกเหนือจากนั้นจะเริ่มเข้าระบบในปี 2553 ซึ่งอาจจะเป็นการก่อสร้าง โดย กฟผ. หรือซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าภายในประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน
(5) ปรับปรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้งานมานาน ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนน้ำพุง และเขื่อนแก่งกระจาน
3.4 กฟผ. ได้จัดทำแผนหลักและแผนทางเลือก โดยการนำโรงไฟฟ้าเข้าระบบและกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองต่ำสุดในแต่ละปี ในช่วงปี 2546 - 2555 เหมือนกันทั้งสองแผน แต่หลังจากปี 2556 แผนหลักจะนำโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ระบุเชื้อเพลิงเข้าในระบบ ส่วนแผนสำรองจะนำโครงการสาละวินเข้าระบบแทนโรงไฟฟ้าใหม่ รวมทั้งสิ้นจำนวน 5,390 เมกะวัตต์ ทำให้มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงต่างกัน โดยมีการใช้พลังน้ำ ก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังไม่ระบุเชื้อเพลิง ร้อยละ 5.1 47.3 และ 34.6 ตามลำดับในแผนหลัก กับร้อยละ 17.6 49.3 และ 20.6 ตามลำดับในแผนทางเลือก
3.5 กำลังผลิตสำรองต่ำสุดภายใต้แผนหลักและแผนทางเลือกมีปริมาณเท่ากัน โดยในปี 2546 มีกำลังการผลิตสำรองต่ำสุดร้อยละ 35.5 ซึ่งจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับร้อยละ 15 ในปี 2550 และคงอยู่ ในระดับดังกล่าวจนสิ้นสุดแผน
3.6 แผนการลงทุนของ กฟผ. แบ่งออกเป็นการลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าและสายส่งที่ กฟผ. ดำเนินการเอง และส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังมิได้กำหนดนโยบายการลงทุน โดยช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 9 กฟผ. จะลงทุนเองทั้งหมด คิดเป็นเงิน 90,500 ล้านบาท และในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 กฟผ. จะมีการ ลงทุนเอง 178,000 ล้านบาท และมีส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ยังมิได้กำหนดนโยบายการลงทุน 157,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 425,500 ล้านบาท
3.7 อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหากประมาณการโดยพิจารณาผลตอบแทนจากอัตราส่วนทางการเงิน ที่ใช้อยู่ คือ ความสามารถในการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และความสามารถในการชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 1.3 เท่า แล้ว อัตราค่าไฟฟ้าขายส่งในแผนหลักกรณีที่โรงไฟฟ้าใหม่ก่อสร้างโดย กฟผ. จะอยู่ระหว่าง 1.916 - 2.129 บาทต่อหน่วย ในช่วงปี 2546-2559
4. ฝ่ายเลขานุการฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับแผน PDP 2003 ดังนี้
4.1 ระดับกำลังการผลิตสำรองในช่วงปี 2546 จะเท่ากับร้อยละ 35.5 และจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงระดับร้อยละ 15 ในปี 2550 และคงอยู่ในระดับดังกล่าวจนสิ้นสุดแผน การกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องมั่นใจว่าโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าใหม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด ดังนั้น กฟผ. ควรพิจารณาข้อจำกัดต่างๆ ของโรงไฟฟ้า เช่น ข้อจำกัดด้านปริมาณและราคาเชื้อเพลิง และด้านชลประทานเพิ่มเติม นอกจากนี้ กฟผ. ควรมีการพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า เสร็จไม่ทันกำหนดเพิ่มเติม เช่นในกรณีของโรงไฟฟ้า BLCP และโรงไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์ฯ และบริษัท ยูเนียน ซึ่งอาจไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดได้ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง และมีไฟฟ้าใช้เพียงพอต่อความต้องการ
4.2 สัดส่วนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ปี 2546 เป็นร้อยละ 5.2 ปี 2549 ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงมีอายุมากและมีประสิทธิภาพต่ำ และราคาน้ำมันเตาสูงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติ
4.3 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า ใหม่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ซึ่งหาก กฟผ. เป็นผู้ลงทุนในส่วนนี้ทั้งหมดจะทำให้ภาครัฐมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นจากใน ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 เกือบ 4 เท่า ดังนั้น กฟผ. ควรเพิ่มเติมรายละเอียดการลงทุนในส่วนนี้ให้มีความชัดเจน โดยอาจพิจารณาให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) เข้าร่วมผลิตไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐโดยใช้วิธีการประมูลแข่งขัน ได้
4.4 เพื่อให้มั่นใจว่าราคาก๊าซฯ และน้ำมันเตาจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ปตท. ควรพิจารณาการพยากรณ์ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเป็นหลายกรณี เช่น กรณีฐาน กรณีสูง หรือกรณีต่ำ
4.5 ในระยะปานกลาง (ปี 2546 - 2554) สัดส่วนการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จะอยู่ในระดับสูง ดังนั้น กฟผ. ควรพิจารณาชนิดเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและมีเชื้อเพลิงเพียงพอ
4.6 การปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่าจะมีผลทำให้ประหยัดการลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าใน ช่วงต้น แต่ประสิทธิภาพของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต่ำ และอาจทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นได้ในที่สุด ดังนั้น กฟผ. ควรจัดทำรายละเอียดการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบทางการเงินของการปรับปรุง โรงไฟฟ้าเก่าต่อไป เพื่อให้ มั่นใจว่าการปรับปรุงโรงไฟฟ้ามีความคุ้มค่าทางการเงิน
4.7 การจัดหาไฟฟ้าในภาคใต้ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมภาคใต้ในช่วงปี 2551 จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงไฟฟ้าที่สามารถซื้อผ่านสายส่งเชื่อมโยงไทย - มาเลเซีย จำนวน 300 เมกะวัตต์ ดังนั้นการก่อสร้างสายส่งไปยังภาคใต้ ได้แก่ โครงการสร้างสายส่ง จอมบึง - บางสะพาน และสายส่งบางสะพาน-สุราษฎร์ธานี อาจจะยังไม่มีความจำเป็นน่าจะเลื่อนออกไปได้ โดยเฉพาะในกรณีสายส่งจอมบึง - บางสะพาน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรองรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้า บ่อนอกและหินกรูด ซึ่งมีการเลื่อนกำหนดการซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ออกไปแล้ว
4.8 เพื่อให้มีการกระจายชนิดเชื้อเพลิงและลดภาระการลงทุนของภาครัฐ กฟผ. อาจพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านตามบันทึกความเข้าใจที่ได้มีการ ลงนามไปแล้วเป็นทางเลือกหนึ่งในการ จัดหาไฟฟ้า โดยใช้หลักการต้นทุนที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการเจรจาตกลงราคารับซื้อไฟฟ้า
4.9 กฟผ. ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสายส่ง เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนสาละวิน และควรจัดทำรายละเอียดการศึกษาความเป็นไปได้ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางการเงินของโครงการต่อไป เพื่อเพิ่มความชัดเจนของแผนทางเลือก
4.10 กฟผ. ควรบรรจุโครงการ SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนไว้ในแผน หากโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้ว
4.11 กฟผ. ควรเพิ่มเติมข้อมูลการประมาณการฐานะการเงิน และการคำนวณราคาขายส่งไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าราคาขายส่งดังกล่าวมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับ สมมุติฐานราคาเชื้อเพลิง
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546 - 2559 (PDP 2003)
2.มอบหมายให้ กฟผ. แก้ไขรายละเอียดของแผนดังกล่าวโดยปรับลดขนาดสายส่งบางสะพาน - สุราษฎร์ธานี ลงเป็นขนาด 230 เควี พร้อมทั้งปรับปรุงแผนการลงทุนให้สอดคล้องกันก่อนนำแผนดังกล่าวเสนอคณะ รัฐมนตรีต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2535 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ให้มีการผลิตและการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม จึงได้ออกกฎกระทรวง รวม 4 ฉบับ ดังนี้
(1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2538 และว่าด้วยกำหนดแบบและระยะเวลาการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานและการ อนุรักษ์พลังงานและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบันทึกข้อมูลการใช้พลังงาน และการติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการใช้ พลังงานและการอนุรักษ์พลังงานสำหรับอาคารควบคุม ซึ่งเป็นการกำหนดให้เจ้าของอาคารควบคุมต้องส่งข้อมูลการใช้พลังงานและการ อนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ตามแบบ บพอ.1 และ แบบ บพอ.2 ตามลำดับ
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2540 ว่าด้วยการกำหนดแบบระยะเวลาการส่งข้อมูล เกี่ยวกับการผลิต การใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบันทึกข้อมูล การใช้พลังงาน และการติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการใช้ พลังงานและการอนุรักษ์ พลังงาน สำหรับโรงงานควบคุมซึ่งเป็นการกำหนดให้เจ้าของโรงงานควบคุมต้องส่งข้อมูลการ ใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน และการติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ส่งให้ พพ. ตามแบบ พบร.1 และ พบร. 2 ตามลำดับ
(3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2538 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2540 ว่าด้วยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาให้เจ้าของอาคารควบคุม/เจ้าของโรงงานควบคุม จัดทำ ส่งเป้าหมาย และแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุม/ของโรงงานควบคุม และตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคาร ควบคุม/ของโรงงานควบคุม โดยเจ้าของอาคารควบคุม/โรงงานควบคุม ต้องดำเนินการดังนี้
- เจ้าของอาคารควบคุม/เจ้าของโรงงานควบคุม ต้องดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเพื่อใช้ประกอบในการกำหนด เป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมี 3 ขั้นตอน คือ การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และการ จัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งให้ พพ. ตามที่กฎกระทรวงกำหนด
- เจ้าของอาคารควบคุม/เจ้าของโรงงานควบคุมทำการตรวจสอบและวิเคราะห์การ ปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานที่ พพ. ให้ความเห็นชอบแล้ว และจัดทำรายงานทุกหนึ่งปี
2. ภายหลังจากการใช้บังคับกฎกระทรวงทั้ง 4 ฉบับ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากแบบ บพอ.1 และ บพร.1 ยังไม่เหมาะสมและไม่มีความชัดเจน ส่งผลให้การส่งรายงานตามแบบ บพอ.1 และ บพร.1 ไม่ถูกต้องและยุ่งยาก ต่อการดำเนินการ นอกจากนั้น การจัดทำเป้าหมายและแผนเพื่อลงทุนอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายมีความ ล่าช้ากว่าที่กำหนด เนื่องจากต้องดำเนินการหลายขั้นตอนจึงเป็นภาระต่อเจ้าของอาคารควบคุมและโรง งานควบคุมส่งผลให้การอนุรักษ์พลังงานไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้อง แก้ไขกฎกระทรวง 4 ฉบับ ดังนี้
(1) ยกร่างแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2538) และ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2540) เฉพาะส่วนแบบ บพอ.1 และ บพร.1 จะเป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะ แบบ บพอ.1 และ บพร.1 สำหรับวิธีการและระยะเวลานำส่ง รวมทั้ง แบบ บพอ.2 และ บพร.2 ยังคงเป็นไปตามเดิม
(2) ยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540) แล้วยกร่าง กฎกระทรวงใหม่ โดยรวมกฎกระทรวงทั้งในส่วนของอาคารควบคุมและโรงงานควบคุมเป็นฉบับเดียว ซึ่งจะ ทำให้ลดขั้นตอนในการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงานจากเดิมสามขั้นตอน เหลือเพียงขั้นตอนเดียว และสร้างกลไกการควบคุมการดำเนินการของที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์พลังงานโดย กฎหมายวิชาชีพ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (เอกสารแนบ 4.3.2) พร้อมบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง (เอกสารแนบ 4.3.1)
2.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และการตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน สำหรับอาคารควบคุมและโรงงานควบคุม พ.ศ. .... (เอกสารแนบ 4.3.4) พร้อมบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่าง (เอกสารแนบ 4.3.3)
3.เห็นชอบตารางเปรียบเทียบกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2540) กับ ร่างกฎกระทรวงใหม่ (เอกสารแนบ 4.3.5)
- กพช. ครั้งที่ 93 - วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2546 (1171 Downloads)