มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2545 (ครั้งที่ 92)
วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์พลังงานของไทย
- สถานการณ์พลังงานของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545
- สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2.องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
3.คณะกรรมการและระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแต่งตั้ง
4.รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2545
5.การปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
6.การขอยกเลิกคณะกรรมการต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่งตั้ง
7.การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.)
8.การปรับปรุงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเถื่อนให้สอดคล้องกับการปรับระบบราชการ
9.การปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535
10.การส่งเสริมและสนับสนุนการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง
นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ เป็นประธานที่ประชุม
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ เป็นเลขานุการที่ประชุม
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และได้ ชี้ถึงแนวทางนโยบายด้านพลังงานที่จะดำเนินการต่อไป โดยขอให้มุ่งเน้น 4 ด้าน คือ 1) การพัฒนาพลังงานที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยต้องติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและพลังงานอย่างใกล้ ชิด โดยเฉพาะด้านราคาเชื้อเพลิง 2) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ 3) การจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ และ 4) การพัฒนาด้านพลังงานที่มีความสมดุลย์กับสิ่งแวดล้อม
เรื่อง สถานการณ์พลังงานของไทย
เรื่องที่ 1-1 สถานการณ์พลังงานของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545
สรุปสาระสำคัญ
1. ภาพรวมการใช้ การผลิต การส่งออก และการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์
1.1 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 1,283 พันบาร์เรล น้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2544 ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นของ พลังงานทุกประเภท สำหรับสัดส่วนของการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์แต่ละชนิด ประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและลิกไนต์ และไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าคิดเป็นร้อยละ 46 37 14 และ 3 ตามลำดับ
1.2 การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 634 พันบาร์เรล น้ำมันดิบต่อวัน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่การผลิตพลังงานทุกชนิด มีปริมาณเพิ่มขึ้น ยกเว้นคอนเดนเสทที่มีการผลิตลดลงเล็กน้อย สำหรับสัดส่วนของการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ แต่ละชนิด ประกอบด้วย การผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ลิกไนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9
1.3 การนำเข้า (สุทธิ) พลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 810 พันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2544 เนื่องจากได้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าปริมาณมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเป็นผลจาก การผลิตของโรงกลั่นที่มีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยที่มูลค่าการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ มีจำนวน 219,154 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 4.7
2. สถานการณ์พลังงานแต่ละชนิด สรุปได้ดังนี้
2.1 การใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 2,617 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 อันเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ใช้ก๊าซธรรมชาติทดแทนการใช้ น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาและเยตากุนของพม่ามาใช้เป็นเชื้อ เพลิง ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ การใช้ก๊าซธรรมชาติที่ของโรงไฟฟ้า IPP ได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
2.2 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 74 พันบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งเบญจมาศ แหล่งสิริกิติ์ และแหล่งทานตะวัน ได้ผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทคิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการใช้เพื่อการกลั่นภายในประเทศ จึงทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวน 725 พันบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 182,266 ล้านบาท
2.3 การผลิตลิกไนต์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 13 ล้านตัน ซึ่งผลิตได้จากเหมืองแม่เมาะและกระบี่ของ กฟผ. คิดเป็นร้อยละ 76 และร้อยละ 21 เป็นการผลิตจากเหมืองเอกชน ส่วนลิกไนต์ที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 9.7 ล้านตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 5.8 จากปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้ลิกไนต์ของภาคเอกชนมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 โดยส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ สำหรับการนำเข้าถ่านหินได้มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ซึ่งถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ SPP จำนวนประมาณ 1.8 ล้านตัน และใช้ในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 1.9 ล้านตัน
2.4 การใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 621 พันบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการใช้น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดมีปริมาณ เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนปริมาณการผลิตยังมีปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ จึงส่งผลให้มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป (สุทธิ) เป็นจำนวน 81 พันบาร์เรลต่อวัน
2.5 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2545 อยู่ที่ระดับ 74,008 ล้านหน่วย (Gwh) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยที่การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมี สัดส่วนของการผลิตสูงสุดคือ ร้อยละ 71.5 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ สำหรับความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) อยู่ที่ระดับ 16,681 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ส่วนภาคธุรกิจ และที่อยู่อาศัยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.9 และ 3.3 ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 1-2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2545 ได้ปรับตัวลดลง 2.7 - 5.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐอเมริกา และอิรักได้ผ่อนคลายลง โดยอิรักยินยอมปฏิบัติตามมติคณะความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการปลดอาวุธร้าย แรงอย่างไม่มีเงื่อนไข ประกอบกับมีอุปทานเพิ่มขึ้นจากอิรักส่งออกน้ำมันดิบมากขึ้น และกลุ่มโอเปคยังคงผลิตเกินโควต้า ราคาน้ำมันดิบ ดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 อยู่ที่ระดับ 22.53 และ 23.85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2545 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ได้ปรับตัวลดลง 1.5 และ 1.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการใช้ ในภูมิภาคลดลง ในขณะที่ไต้หวันและจีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในเดือนตุลาคมได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากประเทศต่างๆ ลดการส่งออกเพื่อใช้ในฤดูหนาว แต่ในเดือนพฤศจิกายนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วได้อ่อนตัวลง 2.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดเบาบาง ในขณะที่อุปทานเพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกของจีน มาเลเซีย เกาหลี และอินเดีย โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92, ก๊าด, ดีเซล และน้ำมันเตา ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 อยู่ที่ระดับ 27.9, 26.9, 28.3, 28.0 และ 21.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2545 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็วได้ปรับลดลงสุทธิ 20, 20 และ 40 สตางค์/ลิตร ตามลำดับ ราคา ขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 อยู่ที่ระดับ 15.59, 14.59 และ 13.89 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการตลาดและค่าการกลั่นในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 1.45 บาท/ลิตร และ 1.44 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนพฤศจิกายน 2545 ได้ปรับตัวสูงขึ้น 32 เหรียญสหรัฐ/ตัน มาอยู่ในระดับ 327 เหรียญสหรัฐ/ตัน และราคาก๊าซ ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 13.52 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจาก กองทุนน้ำมันฯ 5.32 บาท/กก. คิดเป็นเงิน 899 ล้านบาท/เดือน กองทุนฯ มีรายรับ 878 ล้านบาท/เดือน และ มีรายจ่ายในการชำระหนี้ตามข้อตกลงอีก 400 ล้านบาท/เดือน ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกสุทธิ 421 ล้านบาท/เดือน
5. กรมบัญชีกลาง ได้รายงานยอดคงเหลือกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 อยู่ในระดับ 6,135 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2545 รวม 11,013 ล้านบาท และกรม สรรพสามิตได้รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2545 ไม่มีการชำระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เจ้าหนี้ผู้ผลิต ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระตามข้อตกลงยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 9,366 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1.รับทราบสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2.มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปศึกษามาตรการและแนวทางบรรเทาผลกระทบปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยการใช้อัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการสำรองน้ำมันโดยรัฐ
เรื่องที่ 2 องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อเสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี
2. เนื่องจากการกำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาของประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงโครง สร้างส่วนราชการใหม่ตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 โดยในส่วนของพระราชบัญญัติปรับปรุงฯ ได้มีการแก้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ใหม่ คือ ให้เปลี่ยนคำว่า "สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ" เป็น "สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน" คำว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน" เป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน" คำว่า "อธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน" เป็น "อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน" และคำว่า "เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ" เป็น "ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน" นอกจากนี้ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 300/2545 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยรองนายกรัฐมนตรี (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ดังนั้น องค์ประกอบของ กพช. จึงปรับเปลี่ยนไป โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน เป็นกรรมการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ พลังงาน เป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
มติของที่ประชุม
- ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 คณะกรรมการและระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแต่งตั้ง
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามความในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติมอบหมายได้ และปัจจุบันมีระเบียบและคณะกรรมการต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งออกและแต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ ทั้งหมด 6 คณะ และออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 1 ฉบับ
2. ระเบียบและคณะกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติออกและแต่งตั้ง ประกอบด้วยคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน คณะกรรมการประสานงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม คณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบ ปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนใน การแปรสภาพ ปตท. คณะกรรมการศึกษาการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นน้ำมันไทย และคณะกรรมการเพื่อดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสหภาพพม่า และออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2545
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุด หนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียมทำ หน้าที่แทน กพช. ในการพิจารณาจัดระเบียบ วางแนวทางและพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ พร้อมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำงบแสดงผลการรับจ่ายเงินในระหว่างปี งบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงินของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
2. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2545 ซึ่งเป็นไปตามมติ ของ กพช. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2543 ที่เห็นชอบ แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2544 - 2546 ภายในวงเงินรวมทั้งสิ้น 66 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2545 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินตามหมวดรายจ่ายต่างๆ ตามความจำเป็นเร่งด่วนและความต้องการใช้งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ โดยได้โอนค่าใช้จ่ายจากหมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงานจำนวน 152,288 บาท และหมวดการโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ จำนวน 96,800 ล้านบาท ไปเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดทุนการศึกษา และฝึกอบรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,649,088 บาท ส่วนแผนการใช้เงินในหมวดอื่นๆ ยังคงเดิม กล่าวคือ หมวดการค้นคว้า วิจัย และการศึกษา 4 ล้านบาท หมวดการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรมและสัมมนา 5 ล้านบาท และหมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน 0.6 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22 ล้านบาท
3. จากการปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายตามหมวดค่าใช้จ่ายต่างๆ สรุปได้ดังนี้ คือ
1) หมวดการค้นคว้า วิจัย และการศึกษา และหมวดการโฆษณาการเผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ไม่ได้มีการอนุมัติงบ ประมาณ ทั้ง 2 หมวด ทำให้มีเงินคงเหลือเป็นเงิน 6,903,200 บาท
2) หมวดเงินทุนการศึกษาและฝึกอบรม ได้อนุมัติทุนการศึกษาระดับปริญญาโทในประเทศ จำนวน 9 ทุน ทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษในต่างประเทศ จำนวน 8 ทุน และทุนฝึกอบรมภาษาอังกฤษในประเทศ 61 ทุน รวมวงเงิน 5,636,800 บาท
3) หมวดการเดินทางเพื่อศึกษา ดูงาน ประชุม อบรม และสัมมนา ได้อนุมัติงบประมาณให้กับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพลังงานและ ปิโตรเลียมจำนวน 5 โครงการ ในวงเงิน 1,554,200 บาท
4) หมวดการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สำนักงาน ได้อนุมัติงบประมาณในหมวดครุภัณฑ์สำนักงาน จำนวนเงิน 3,847,712 บาท
5) หมวดค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ได้อนุมัติเงินจำนวน 600,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างลูกจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ให้ สนพ. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณรายจ่ายจากสำนักงบประมาณ
4. ในส่วนการทบทวนแผนการใช้จ่ายเงินกองทุน ปีงบประมาณ 2546 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาข้อมูลจากงบแสดงผลการรับ-จ่ายเงินในระหว่างปีงบประมาณ และงบแสดงฐานะการเงิน ของกองทุน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ มีมติยืนยันแผนการใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ 2546 ตามแผนการใช้จ่ายที่กำหนดไว้เดิมจำนวน 22 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
รับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม ประจำปีงบประมาณ 2545
เรื่องที่ 5 การปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกอง ทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้ใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.) เป็นผู้พิจารณาทางเลือกการดำเนินการใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" หรือปรับราคาโดยอัตโนมัติ
2. กพง. เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ได้แจ้งยืนยันการชำระหนี้กองทุนน้ำมันฯ ว่าจะชำระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้ทุกรายตามสัดส่วนหนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2544 โดยรวมไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาทต่อไตรมาส เริ่มมีผลตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2544 เป็นต้นไป และหากกองทุนชำระหนี้ไม่ควบถ้วน ให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา ค่าเฉลี่ย MLRลบ 1 ต่อปี ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ นับแต่วันถัดจากวันสิ้นไตรมาส โดยคำนวณจากเงินส่วนที่จ่ายขาดในแต่ละไตรมาส ไปจนถึงวันที่ชำระครบถ้วน
3. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนตุลาคม 2545 ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 295 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 12.19 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 4.92 บาท/กก. หรือ 831 ล้านบาท/เดือน กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมันชนิดอื่นในระดับ 878 ล้านบาท/เดือน มีรายจ่ายเพื่อชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในระดับ 831 ล้านบาท/เดือน มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ 47 ล้านบาท/เดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ที่ได้ตกลงไว้กับผู้ผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวใน ระดับ 400 ล้านบาท/เดือน
4. เพื่อลดภาระการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ และรักษาระดับรายได้สุทธิให้สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง สนพ. ได้ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2545 ปรับราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น 0.9346 บาท/กก. เป็น 10.5878 บาท/กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มรวมภาษี มูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น 1 บาท/กก. เป็น 14.60 บาท/กก. หรือ เพิ่มขึ้น 15 บาท/ถัง (15 กก.) เป็น 219 บาท/ถัง (15 กก.)
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 การขอยกเลิกคณะกรรมการต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่งตั้ง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ชาติ (กพช.) ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้น เพื่อให้การดำเนินงานของ กพช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1) คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน 2) คณะกรรมการอำนายการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกันและปราบ ปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม 3) คณะกรรมการประสานงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม 4) คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. 5) คณะกรรมการศึกษาการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นน้ำมันไทย และ 6) คณะกรรมการเพื่อดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสหภาพพม่า
2. เนื่องจากการกำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศได้มีการปรับ เปลี่ยน โครงสร้างตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 โดยได้จัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่ กพช. ได้แต่งตั้งไว้ บางคณะกรรมการได้ปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จ และบางคณะกรรมการสมควรต้องเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการใหม่ตามนโยบาย ของกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน โดยความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงพลังงานขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่งการแต่งตั้งคณะ กรรมการต่างๆ ที่ กพช. ได้ออกคำสั่งไว้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพการณ์ปฏิบัติงานของกระทรวง พลังงาน ดังนี้ คือ
(1) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน
(2) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม
(3) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม
(4) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท.
(5) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่นน้ำมันไทย
(6) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากสภาพพม่า
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการฯ
เรื่องที่ 7 การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานขึ้น ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สั่งและปฏิบัติราชการในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแทนนายก รัฐมนตรี) เป็นประธานกรรมการ และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้าน พลังงานเป็นกรรมการ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายการบริหารและพัฒนา และมาตรการทางด้านพลังงาน รวมทั้ง เสนอ ความเห็นต่อ กพช. เกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และมาตรการอื่นๆ ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนั้น ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ กพช. หรือประธาน กพช. มอบหมาย
2. เมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของ กพง. เห็นได้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวยังมีความจำเป็น มีความสำคัญและมีบทบาทภารกิจที่ต่อเนื่อง สนพ. จึงขอเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.) เพื่อปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาและเสนอแนะแนวทางในการ กำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาของประเทศต่อไป โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ ดังนี้
2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ
2.2 ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการ
2.3 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้ง ผู้แทน สนพ. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้แต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน" เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานที่ยกเลิกไป โดยที่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการจำนวน 11 คน
เรื่องที่ 8 การปรับปรุงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเถื่อนให้สอดคล้องกับการปรับระบบราชการ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ได้มีมติรับทราบคำสั่งของนายก รัฐมนตรี ที่มีบัญชามอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) มีอำนาจในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ กำกับ ดูแลและควบคุมการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่รวมถึงการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันทน์) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 1/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2545 และคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ 2/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2545 โดยทั้ง 2 คณะมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) เป็นประธานกรรมการ
3. เนื่องจากพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาโอน กิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับ ปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้โอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับ ดูแลงานด้านพลังงานในสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้ไปอยู่ที่กระทรวงพลังงาน และได้มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของหน่วยงานเดิมที่เคยปฏิบัติงานที่เกี่ยว ข้องด้านพลังงาน โดยให้โอนอำนาจหน้าที่เฉพาะด้านพลังงานไปยังหน่วยใหม่ที่สังกัดกระทรวง พลังงานทำให้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมมีการเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่ 1/2545 และ ที่ 2/2545 ดังกล่าวในข้อ 2
4. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 300/2545 เรื่องมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในคณะกรรมการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมเป็นไป อย่างมีระบบ จึงควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติงาน สนพ. จึงได้ดำเนินการยกร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ ..../2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม และคณะกรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ปิโตรเลียม มาเพื่อพิจารณา
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมแทนคณะกรรมการ อำนวยการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมและคณะ กรรมการประสานงานการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียม ที่ถูกยกเลิกไป โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวให้เหมาะสม แล้วนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ก่อนเสนอให้ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาลงนาม โดยถือเป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ พิจารณาจัดสรร การใช้ประโยชน์เงินอุดหนุนจำนวน 350 ล้านบาท ที่บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด มอบให้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม และตามข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุด หนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กำหนดให้นำเงินกองทุนนี้ไปใช้จ่ายได้เฉพาะดอกผล หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากกองทุน โดยให้ใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยส่วนราชการที่เกี่ยวกับการพลังงานและ ปิโตรเลียม ดังนั้น รายได้ของกองทุน จึงได้มาจากดอกผล ที่ได้จากดอกเบี้ยของเงินต้น ซึ่งนำไปหาผลประโยชน์จากการฝากธนาคาร การซื้อพันธบัตรรัฐบาล และการซื้อตราสารการเงินอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 กองทุนมีเงินต้น 350 ล้านบาท และดอกเบี้ยของกองทุนจำนวนรวม 33,731,858.62 บาท
2. กพช. โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ได้วางระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ หน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการพลังงานและปิโตรเลียม และตามความในข้อ 9 ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วยการบริหาร กองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 กำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุนคณะหนึ่ง ประกอบด้วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นประธาน และผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทน สพช. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ในการทำ หน้าที่แทนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการจัดสรรเงินกองทุนตามวัตถุ ประสงค์ของกองทุน และกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เงินกองทุน รวมทั้ง จัดทำงบแสดงฐานะการเงิน งบรายรับ - จ่าย ทุกวันสิ้นปีงบประมาณ ตลอดจนรายงานผลการใช้จ่ายเงินกองทุนต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
3. เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงสังกัดจาก สำนักนายกรัฐมนตรีมาอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน และได้เปลี่ยนแปลงชื่อสำนักงานเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นอกจากนั้นกระทรวงพลังงานได้รวบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับพลังงานและปิโตรเลียมมาไว้ภายใต้กระทรวงพลังงาน แล้ว จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 โดย สนพ. ขอเสนอให้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าวเพียงความในข้อ 9 เพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนฯ เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันของกระทรวงพลังงาน ดังนี้
"ข้อ 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้แทนกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการ และให้มีผู้แทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเป็นกรรมการและเลขานุการ"
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่าด้วย การบริหารกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม พ.ศ. 2535 เพื่อมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็น ผู้รับผิดชอบและพิจารณาจัดสรรการใช้ประโยชน์ ของกองทุนเงินอุดหนุนจากสัญญาโรงกลั่นปิโตรเลียม แทนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พร้อมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุน ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
เรื่องที่ 10 การส่งเสริมและสนับสนุนการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการเร่งรัดการดำเนินการมาตรการปรับเปลี่ยนพลังงานจากการใช้น้ำมันเป็นก๊าซ ธรรมชาติมากขึ้นทั้งในการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง โดยมอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งดำเนินการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดในยานพาหนะ (CNG หรือ NGV) โดยให้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการดัดแปลงและเปลี่ยนเครื่องยนต์รถ ขสมก. ในวงเงิน 270 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ ในการดัดแปลงรถขยะ กทม. ในวงเงิน 160 ล้านบาท รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ ในการก่อสร้างสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอัดของ ปตท. จำนวน 6 สถานี ในวงเงิน 180 ล้านบาท
2. คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 ได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่เห็นชอบโครงการเร่งรัดการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่ง โดยมอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งในส่วนที่ให้ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์โดยสาร NGV จำนวน 82 คัน ในวงเงิน 65 ล้านบาท และการขยายจำนวนรถโดยสาร NGV แบบใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว จำนวน 70 คัน ในวงเงิน 400-420 ล้านบาท รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯ ในรถแท็กซี่ จำนวน 1,000 คัน ในวงเงิน 20 ล้านบาท
3. ปตท. ได้จัดทำแผนการส่งเสริมการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2546 - 2551 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 การขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (สถานีบริการ NGV)
เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่งที่จะเพิ่ม ขึ้นในอนาคต บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้เตรียมแผนการก่อสร้างสถานีบริการ NGV ดังนี้
1) ปตท. จะเร่งขยายจำนวนสถานีบริการ NGV ในเขตกรุงเทพฯ และตามแนวท่อก๊าซฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2) ปตท. จะเร่งดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซฯ ไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ ให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2547 และเร่งขยายสถานี NGV ตามแนวท่อควบคู่ไปด้วยกัน
3) ปตท. มีแผนเร่งรัดการก่อสร้างสถานีบริการ NGV ในช่วงปี 2545-2551 ดังนี้
ปี | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 |
จำนวนก่อสร้างสถานี (สถานี) | 8 | 20 | 20 | 20 | 20 | 20 | 12 |
จำนวนสถานีสะสม (สถานี) | 8 | 28 | 48 | 68 | 88 | 108 | 120 |
จำนวนเงินลงทุน (ล้านบาท) | 294 | 797 | 821 | 797 | 811 | 787 | 494 |
เงินลงทุนสะสม (ล้านบาท) | 294 | 1,091 | 1,911 | 2,708 | 3,519 | 4,306 | 4,800 |
ประมาณการเงินช่วยเหลือ (30%) | 88 | 239 | 246 | - | - | - | - |
ประมาณการเงินช่วยเหลือสะสม (ล้านบาท) | 88 | 327 | 573 | - | - | - | - |
หมายเหตุ : ปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินการสร้างสถานี NGV แล้ว 8 สถานี และมี 5 สถานีที่เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว โดยการก่อสร้างสถานีบริการ NGV ในช่วงปี 2545 - 2547 ปตท. จะขอรับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในลักษณะเงินให้เปล่าจำนวนทั้งสิ้น 573 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อใช้ในการสร้างสถานีบริการ NGV จำนวนทั้งสิ้น 48 สถานี (ซึ่งรวม 8 สถานีที่มีในปัจจุบันด้วย เนื่องจาก ปตท. ได้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวไปก่อน) ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนในช่วงแรกนี้ยังให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ หลังจากนั้น ปตท. จะรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
3.2 การขยายท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมรอบเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เพื่อขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและภาคคมนาคมขนส่ง ซึ่ง ปตท. จะดำเนินโครงการระบบท่อจำหน่ายก๊าซฯ รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2548 ซึ่งจะทำให้สามารถต่อท่อจากระบบท่อส่งก๊าซฯ หลัก ไปยังสถานีบริการ NGV เป็นผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการ ขนส่งถูกลงกว่าการขนส่งโดยการใช้รถขนส่งก๊าซฯ
3.3 การขยายจำนวนรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
การขยายจำนวนสถานีบริการ NGV ดังกล่าวในข้อ 3.1 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับจำนวน รถที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน (ปัจจุบันมีรถที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงประมาณ 1,200 คัน ซึ่งแบ่งออกเป็น รถแท็กซี่ 1,100 คัน รถโดยสารประจำทาง ขสมก. 82 คัน และรถโดยสารส่วนตัว 18 คัน) โดย ปตท. คาดว่าในปี 2551 จะมีจำนวนรถที่ใช้ก๊าซ NGV เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 44,500 คัน โดยแบ่งออกเป็น รถยนต์โดยสารส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ จำนวน 40,000 คัน และรถขนส่งมวลชน รถเก็บขยะ และรถบรรทุก จำนวน 4,500 คัน
ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนรถยนต์ NGV ดังกล่าวในเบื้องต้น บางส่วนจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน และงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กทม. และ ขสมก. เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วย
(1) การเพิ่มจำนวนรถยนต์ NGV ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2543 และวันที่ 5 กันยายน 2543
- การติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯ (Conversion kit) ให้แก่รถแท็กซี่ จำนวน 1,000 คัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในวงเงินรวม 50 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงาน จำนวน 20 ล้านบาท และ ปตท. ร่วมลงทุนอีก 30 ล้านบาท (เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม 2545 และ คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้ง 1,000 คัน ภายในสิ้นปี 2545)
- การจัดซื้อรถโดยสาร NGV ใหม่ให้กับ ขสมก. โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน 690 ล้านบาท และ ขสมก. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 643 ล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ)
- การปรับปรุงและซ่อมแซมเครื่องยนต์รถโดยสาร NGV ของ ขสมก. จำนวน 44 คัน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้งานเนื่องจากเสียใช้การไม่ได้ โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ทั้งหมด จำนวน 50 ล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ)
- การจัดซื้อรถเก็บขยะ NGV ใหม่ให้แก่ กทม. จำนวน 69 คัน ในวงเงินรวม 244 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 160 ล้านบาท และ กทม. ร่วมลงทุน 84 ล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ)
(2) การเพิ่มจำนวนรถยนต์ NGV อื่นๆ
- โครงการรถแท็กซี่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 10,000 คัน โดยผู้ประกอบการแท็กซี่จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในลักษณะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ NGV โดยจะติดตั้งปีละ 2,000 คัน และเริ่มดำเนินการในปี 2546 เป็นต้นไป
- โครงการปรับปรุงรถใช้งานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ให้เป็นรถ NGV จำนวน 600 คัน โดยใช้งบประมาณของ ปตท. ทั้งหมด
3.4 การกำหนดราคาจำหน่าย NGV
ปัจจุบันราคาจำหน่าย NGV อ้างอิงกับราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซล โดยมีราคาที่ประมาณ ร้อยละ 50 ของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งตั้งแต่ ปี 2546 เป็นต้นไป ปตท. จะปรับราคาจำหน่าย NGV ใหม่ โดยจะอ้างอิงกับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 ดังนี้
- ปี 2546 - 2548 (1 ม.ค. 46 - 31 ธ.ค. 48) : ราคา NGV = 50% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
- ปี 2549 (1 ม.ค. 49 - 31 ธ.ค. 49) : ราคา NGV = 55% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
- ปี 2550 (1 ม.ค. 50 - 31 ธ.ค. 50) : ราคา NGV = 60% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
- ปี 2551 เป็นต้นไป : ราคา NGV = 65% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
โดยราคาดังกล่าวนี้จะใช้กับผู้ใช้ก๊าซในภาคการขนส่งทั้งหมดทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้กำหนดเพดานราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ระดับไม่เกิน 11 บาท/กก. (หรือประมาณ 10.6 บาท/ลิตร เทียบเท่าเบนซิน 91) แม้ว่าน้ำมันจะมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นในระดับใดก็ตาม
3.5 การกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง
1) การให้เงินสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ในรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคล รวมทั้งการซื้อ รถโดยสารส่วนบุคคล NGV ในระยะ 5 ปีแรก ซึ่งเป็นเงินคันละ 10,000-15,000 บาท (คิดเป็นเงินประมาณ 400-600 ล้านบาทในช่วงปี 2546-2551)
2) การจัดหารถบริการสาธารณะใหม่ในเขต กทม. ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิง เพื่อ ทดแทนรถเก่าที่หมดอายุการใช้งาน เช่น รถโดยสาร ขสมก. รถจัดเก็บขยะ กทม. เป็นต้น
3) หน่วยงานของรัฐต้องสนับสนุนการใช้รถ NGV เป็นอันดับแรก
3.6 มาตรการส่งเสริมการใช้รถ NGV ที่ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ
1) กระทรวงคมนาคม :
การลดหย่อนภาษีทะเบียนรถประจำปี สำหรับรถ NGV โดยรถ NGV ชนิด Dedicated ได้รับส่วนลด 75% สำหรับรถ NGV ชนิด Bi-Fuel ได้รับส่วนลด 50%
การกำหนดสัดส่วนรถแท็กซี่ NGV ต่อรถใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น โดยกำหนดให้ รถแท็กซี่ใหม่ต้องเป็นรถ NGV อย่างน้อย 25% ของจำนวนรถใหม่
การกำหนด Car Zone ที่ต้องใช้รถ NGV เท่านั้น เช่น สนามบินนานาชาติ เขตที่มีมลพิษสูง เป็นต้น
ให้กรมขนส่งทางบกเร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฏกระทรวงที่เกี่ยวกับรถ NGV ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐาน NGV ในต่างประเทศ
ให้กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถขนส่งก๊าซฯ NGV วิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในเขตกรุงเทพฯ
2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม :
- จัดทำมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดสำหรับรถยนต์ รถโดยสาร และรถบรรทุก ในเขตกรุงเทพฯ
3) กระทรวงการคลัง :
ธนาคารของรัฐและสถาบันการเงิน ให้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซฯ NGV, ผู้ซื้อรถ NGV และผู้ประกอบการสถานีบริการ NGV
กรมศุลกากร/สรรพากร/สรรพสามิต
ลดหย่อนอากรนำเข้าของถังก๊าซฯ NGV (จากร้อยละ 10) และเครื่องอัดก๊าซฯ (จากร้อยละ 3) ให้เหลือร้อยละ 1
ลดหย่อนหรือยกเว้นอากรนำเข้าและภาษีสรรพสามิต CKD (Chasis with Engine and Accessories) ของรถ NGV ทั้ง รถยนต์, รถโดยสาร และรถบรรทุก
การนำค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯ ถังก๊าซฯ และราคาส่วนเพิ่มของรถ NGV มาใช้ลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลได้
4) กระทรวงอุตสาหกรรม :
โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนสูงสุดกับกิจการ ได้แก่ ผู้ผลิตถัง NGV ผู้ประกอบการ/ติดตั้งอุปกรณ์ NGV ผู้ผลิต/ประกอบรถ NGV และผู้ประกอบการสถานี NGV
5) กระทรวงพลังงาน :
โดยกรมธุรกิจพลังงาน ให้เร่งรัดจัดทำประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ความปลอดภัยของสถานีบริการ NGV โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน NGV ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการขยายจำนวนสถานีบริการ NGV ได้อย่างรวดเร็ว โดย
อนุญาตให้ติดตั้งอุปกรณ์ NGV ได้ในสถานีบริการน้ำมัน
ไม่นำมาตรฐานความปลอดภัยของ LPG มาใช้กับสถานี NGV
สร้างอาคารสองชั้นได้เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน
6) กระทรวงมหาดไทย
- โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนดให้สามารถสร้างสถานีบริการ NGV ได้ในพื้นที่ที่อนุญาตให้ก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันได้
7) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ :
- อนุญาตให้รถขนส่งก๊าซฯ NGV วิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ
3.7 ผลประโยชน์และผลกระทบที่ได้รับ
การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง นอกจากจะเป็นการใช้พลังงานที่มีอยู่ ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศซึ่งสามารถประหยัดเงินตราที่ ออกนอกประเทศ และช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ได้รับภายในระยะเวลา 10 ปี จากการดำเนินการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งในข้อ 3.1 - 3.6 โดยเฉพาะการขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 120 สถานี และการขยายจำนวนรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 44,500 คัน ภายในปี 2551 สามารถจำแนกได้ดังนี้
ผลประโยชน์ที่ได้รับ | ผลกระทบที่ได้รับ |
1. ภาครัฐ
|
1. ภาครัฐและผู้ประกอบการ
|
2. ผู้ประกอบการแท็กซี่
|
2. การสนับสนุนอื่นๆ จากภาครัฐ
|
หมายเหตุ :
(1) เฉพาะราคาเชื้อเพลิงไม่รวมภาษี
(2) จากการศึกษากรมควบคุมมลพิษ : ค่ารักษาพยาบาลจากปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ มีมูลค่า 15 บาท/กรัม/ปี, รถ NGV ทดแทนดีเซลช่วยลดฝุ่นละอองเฉลี่ยประมาณ 250 กรัม/คัน/วัน
(3) ณ ระดับน้ำมันดิบ 20-25 US$/BBL, อัตราแลกเปลี่ยน 42 บาท/ US$
3.8 การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง
เพื่อให้การดำเนินการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นไปในแนวทางที่ถูก ต้องและเหมาะสม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จึงขอเสนอให้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการ ส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง" ขึ้นโดยมีองค์ประกอบและหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
(1) องค์ประกอบ
ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการ
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กรรมการ
อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กรรมการ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กรรมการ
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ
ผู้อำนวยการ ขสมก. กรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรรมการ
นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย กรรมการ
ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
ผู้แทนกระทรวงคมนาคม กรรมการ
ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
ผู้อำนวยการ สนพ. กรรมการและเลขานุการ
ผู้แทน สนพ. กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
(2) อำนาจหน้าที่
ศึกษาแนวทางการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดในภาคขนส่ง
เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมแ ละผลักดันการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดใน ภาคการขนส่ง
มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการทำงานของคณะกรรมการฯ ตามที่เห็นสมควร
การพิจารณาของที่ประชุม
1. ประธานฯ ได้เสนอความเห็นว่าการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ควร คำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความเหมาะสมทางด้านราคา ด้านมลภาวะ และด้านความปลอดภัย เป็นสำคัญ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้เสนอข้อคิดเห็นว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ควรดำเนินการขยายท่อส่งก๊าซธรรมชาติรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้แล้วเสร็จตามที่ได้กำหนดไว้ ในประมาณกลางปี 2548 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งก๊าซฯ และเป็นการส่งเสริมการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจน ช่วยบรรเทาปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างแนวท่อฯ ปตท. ควรดำเนินการ ก่อสร้างสถานีบริการ NGV ชนิด Mother Station และ Daughter Station ขนานควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะช่วย ทำให้การขยายการใช้ก๊าซฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ผู้แทน ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) ได้ชี้แจงว่า การดำเนินการขยายท่อส่งก๊าซฯ รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้ดำเนินการให้ผลดีต้องขึ้นกับการปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรง ไฟฟ้าพระนครใต้มาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และขณะนี้ ปตท. ได้ปรับแผนเร่งการดำเนินการขยายท่อส่งก๊าซฯ ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นอีก 6 เดือนแล้ว
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา) ได้เสนอความเห็นว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ควรขยายระยะเวลาในการกำหนดราคาจำหน่าย NGV ที่อิงกับราคาน้ำมันดีเซลไปก่อนในเบื้องต้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งมากยิ่งขึ้น โดยเห็นควรให้กำหนดราคาจำหน่าย
ปี 2546 - 2549 (1 ม.ค. 46 - 31 ธ.ค. 49) : ราคา NGV = 50% ของราคาน้ำมันดีเซล
ปี 2550 (1 ม.ค. 50 - 31 ธ.ค. 50) : ราคา NGV = 55% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
ปี 2551 (1 ม.ค. 51 - 31 ธ.ค. 51) : ราคา NGV = 60% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
ปี 2552 เป็นต้นไป : ราคา NGV = 65% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
นอกจากนี้ ได้เสนอให้กำหนดเพดานราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 บาท/ลิตรเทียบเท่าเบนซิน 91 (10.34 บาท/กก. NGV) เพิ่มเติมด้วย ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ ปตท. เสนอมา (ปตท. เสนอเพดานราคา ขายปลีก NGV ไว้ที่ระดับ 11 บาท/กก. NGV) ตลอดจนเห็นควรให้ปรับแผนเร่งรัดการก่อสร้างสถานีบริการ ดังนี้
ปี | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 |
จำนวนก่อสร้างสถานี (สถานี) | 8 | 22 | 20 | 20 | 20 | 20 | 10 |
จำนวนสถานีสะสม (สถานี) | 8 | 30 | 50 | 70 | 90 | 110 | 120 |
จำนวนเงินลงทุน (ล้านบาท) | 294 | 891 | 821 | 797 | 810 | 787 | 400 |
เงินลงทุนสะสม (ล้านบาท) | 294 | 1,185 | 2,006 | 2,803 | 3,613 | 4,400 | 4,800 |
ประมาณการเงินช่วยเหลือ (30%) | 88 | 268 | 246 | - | - | - | - |
ประมาณการเงินช่วยเหลือสะสม (ล้านบาท) | 88 | 356 | 602 | - | - | - | - |
4. ผู้แทนกระทรวงการคลัง (นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์) ได้มีข้อซักถามเกี่ยวกับความมั่นคงของแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศ ซึ่งผู้แทน ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) ได้ชี้แจงว่า ปริมาณสำรอง ก๊าซธรรมชาติที่เป็น Proved and Probable Reserves ขณะนี้มีประมาณการใช้ได้นานประมาณ 30 ปี โดยที่ โครงการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในภาคขนส่งจะใช้ก๊าซประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณสำรองที่มีอยู่ ส่วนความมั่นคงในการผลิต ขณะนี้มีท่อส่งก๊าซอยู่ 2 แนว และแหล่งผลิต 10 แห่ง โดยมีระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่ต่อเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร อย่างไรก็ตาม การค้นพบก๊าซแหล่งใหม่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและ ต่างประเทศ ดังนั้น ปริมาณสำรองก๊าซจะเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
5. ประธานฯ ได้มีข้อซักถามเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงใน ภาคการขนส่ง ซึ่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (นายวิโรจน์ คลังบุญครอง) ได้ชี้แจงว่า มาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการ NGV ขณะนี้ยังไม่พบปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากประเทศไทยได้ใช้มาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับมาตรฐานของประเทศ มาเลเซีย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีความปลอดภัยสูง เชื่อถือได้ และเป็นมาตรฐานที่ มาเลเซียใช้มากว่า 10 ปี จวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ รัฐจึงควรจัดประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องก๊าซ ธรรมชาติ (NGV) ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการต่อต้านจากประชาชนที่อาจยังไม่เข้าใจเรื่องก๊าซธรรมชาติดีพอ
6. ประธานฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า จากมาตรการส่งเสริมการใช้ก๊าซฯ ที่ กพช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อนำเสนอขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ขอให้เป็นไปตามระเบียบของกองทุนฯ
7. ผู้แทนกระทรวงการคลัง ได้เสนอความเห็นว่า ในส่วนการลดหย่อนหรือยกเว้นด้านภาษีอากร กระทรวงการคลังเห็นด้วยในหลักการ แต่ขอรับกลับไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน โดยเฉพาะเรื่องลดหย่อน/ยกเว้นอากรนำเข้าและภาษีสรรพสามิต CKD ของรถ NGV ซึ่งผู้แทน ปตท. (นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์) ได้ ชี้แจงว่า ในระยะแรกขอให้กระทรวงการคลังยกเลิกอากรนำเข้าและภาษีสรรพสามิต CKD เฉพาะรถ NGV ที่จะมาทดแทนรถยนต์ดีเซลก่อนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีจำนวนน้อยและใช้เงินลงทุนสูง สำหรับรถ NGV ที่จะมาทดแทนรถยนต์เบนซิน กระทรวงการคลังอาจนำไปพิจารณาในลำดับถัดไป
8. ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอความเห็นว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนในการดัดแปลง รถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง เฉพาะรถสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถเก็บขยะ เป็นต้น สำหรับในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเปลี่ยนมาใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง ภาครัฐไม่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนแต่อย่างใด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับผลประโยชน์จากรถสาธารณะมากกว่ารถส่วนบุคคล
9. ประธานฯ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นว่า สนพ. ควรเพิ่มเติมตัวแทนของกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้แทนของกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก ใน "คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง" ที่จะจัดตั้งขึ้น และได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดนี้รับไปพิจารณารายละเอียดของมาตรการส่งเสริม การใช้ NGV ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า การดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวและการจัดทำรายละเอียดของมาตรการคาด ว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการของแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ เป็น เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ตามที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เสนอมา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ในส่วนที่ขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน จะต้องเป็นไปตามระเบียบของกองทุนฯ
2. เห็นชอบให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับเร่งการสร้างสถานีบริการ NGV เพิ่มขึ้น ดังนี้
ปี | 2545 | 2546 | 2547 | 2548 | 2549 | 2550 | 2551 |
จำนวนก่อสร้างสถานี (สถานี) | 8 | 22 | 20 | 20 | 20 | 20 | 10 |
จำนวนสถานีสะสม (สถานี) | 8 | 30 | 50 | 70 | 90 | 110 | 120 |
จำนวนเงินลงทุน (ล้านบาท) | 294 | 891 | 821 | 797 | 810 | 787 | 400 |
เงินลงทุนสะสม (ล้านบาท) | 294 | 1,185 | 2,006 | 2,803 | 3,613 | 4,400 | 4,800 |
ประมาณการเงินช่วยเหลือ (30%) | 88 | 268 | 246 | - | - | - | - |
ประมาณการเงินช่วยเหลือสะสม (ล้านบาท) | 88 | 356 | 602 | - | - | - | - |
3. เห็นชอบให้กำหนดราคาขายปลีก NGV ที่จะใช้กับผู้ใช้ก๊าซในภาคการขนส่งทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนี้
ปี 2546 - 2549 (1 ม.ค. 46 - 31 ธ.ค. 49) : ราคา NGV = 50% ของราคาน้ำมันดีเซล
ปี 2550 (1 ม.ค. 50 - 31 ธ.ค. 50) : ราคา NGV = 55% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
ปี 2551 (1 ม.ค. 51 - 31 ธ.ค. 51) : ราคา NGV = 60% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
ปี 2552 เป็นต้นไป : ราคา NGV = 65% ของราคาน้ำมันเบนซิน 91
รวมทั้งเห็นชอบให้กำหนดเพดานราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 บาท/ลิตรเทียบเท่าเบนซิน 91 (10.34 บาท/กก. NGV) แม้ว่าน้ำมันจะมีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นในระดับใดก็ตาม
4. เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง โดยประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่ เป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริม และผลักดันการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป และมอบหมายให้ ปตท. กลับไปจัดทำรายละเอียด "แผนการส่งเสริมและสนับสนุนการนำก๊าซธรรมชาติ มาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในภาคการขนส่งในช่วงปี พ.ศ. 2546-2551" เพื่อนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งเพื่อพิจารณา และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันต่อไป
- กพช. ครั้งที่ 92 - วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2545 (1172 Downloads)