มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2545 (ครั้งที่ 91)
วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.มาตรการประหยัดพลังงานและสาธารณูปโภคในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ
3.มาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก
4.แนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงไตรมาสที่ 3 ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ประมาณ 1.1 - 2.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้ที่เริ่มสูงขึ้นและจากความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดสงครามใน ตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก ประกอบกับกลุ่มโอเปคได้ตกลงที่จะคงปริมาณการผลิตสำหรับไตรมาสที่ 4 ถึงกลางปี 2546 ไว้ที่ระดับเดิม 21.7 ล้านบาร์เรล/วัน และสถาบันปิโตรเลียมของสหรัฐอเมริกา (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบสำรองของสหรัฐอเมริกาลดลง 2.19 ล้านบาร์เรล เหลือ 289.8 ล้านบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 27.50 และ 28.85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 น้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 ได้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยของไตรมาสที่ 2 ประมาณ 0.6 และ 0.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 28.94 และ 27.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินใน ภูมิภาคเอเซียลดลง และปริมาณสำรองในตลาดโลกค่อนข้างสูง ส่วนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.2 และ 1.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและความต้องการใช้ในภูมิภาคที่เพิ่ม สูงขึ้น ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 ก๊าด ดีเซล และน้ำมันเตา ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 31.2, 29.8, 33.5, 31.9, และ 26.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 91 ได้ปรับตัวลดลง 46 สตางค์/ลิตร และดีเซลหมุนเร็วได้ปรับตัวลดลง 5 สตางค์/ลิตร ตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ที่อ่อนตัวลง และค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น ทำให้ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปของไทยลดลงประมาณ 20 - 27 สตางค์/ลิตร ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2545 อยู่ที่ระดับ 16.29, 15.29 และ 14.29 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการตลาดและค่าการกลั่นในไตรมาสที่ 3 ได้ปรับตัวลดลงในระดับเดียวกัน 0.18 บาท/ลิตร โดยค่าการตลาดและค่าการกลั่นของเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 1.15 และ 0.66 บาท/ลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และการที่กลุ่มโอเปคกำหนดปริมาณการผลิตไว้เท่าเดิมที่ระดับ 21.7 ล้านบาร์เรล/วัน นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น คือ ภาวะสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก ดังนั้น จึงคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2 - 3 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล โดยราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 29 - 30 และ 30 - 31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งปริมาณความต้องการใช้ในฤดูหนาวจะเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์ช่วงไตรมาสที่ 4 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 31 - 33 และ 32 - 34 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็วจะอยู่ที่ระดับ 16 - 17, 15 - 16 และ 14 - 15 บาท/ลิตร ตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 มาตรการประหยัดพลังงานและสาธารณูปโภคในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 ให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน ดังต่อไปนี้
1) ให้หน่วยงานราชการระดับกรม จัดตั้งคณะทำงานที่มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน เพื่อให้รับผิดชอบในคณะทำงานในการกำหนดแผนงาน นโยบาย และเป้าหมายในการลดพลังงานให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 5 ของปริมาณการใช้เดิมในปี 2544 และให้แจ้งผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ทราบเพื่อรวบรวมไว้เป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายต่อไป
2) ให้รถราชการที่ใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ได้ ต้องใช้ออกเทน 91 โดยให้กรมบัญชีกลางออกเป็นระเบียบบังคับ และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการปฏิบัติของส่วนราชการอย่างเคร่งครัด และให้มีการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ของรถราชการให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ
3) ให้ปรับอุณหภูมิห้องปรับอากาศเป็น 25-26ºC และรณรงค์เลิกใส่เสื้อนอก โดยให้ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูง ทำเป็นตัวอย่าง
4) ให้ดูแลเรื่องการใช้ลิฟท์ของหน่วยงานราชการ โดยให้หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์กรณีขึ้นลงเพียง ชั้นเดียว หรือจัดการให้ระบบลิฟท์สามารถหยุดได้เว้นชั้น และควรหาวิธีปรับปรุงลิฟท์ให้สามารถตัดไฟได้อัตโนมัติหากไม่มีการใช้งานเป็น เวลานาน
2. สพช. มอบหมายให้มหาวิทยาลัยวิทยาลัยมหิดลดำเนินโครงการลดการใช้พลังงานในหน่วย งานราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการการอนุรักษ์พลังงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ศอม.) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างโครงการฯ กับ สพช. หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ในการให้คำแนะนำแนวทางการลดการใช้พลังงานแก่หน่วยงาน และการจัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้พลังงานตามแผนงานที่ได้วางไว้ ขณะเดียวกันได้เพิ่มศักยภาพให้แก่คณะทำงานของหน่วยงานในการจัดทำแผนปฎิบัต ิการด้วยการจัดกิจกรรมค่ายฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผลการดำเนินโครงการมีหน่วยงานที่รายงานข้อมูลการใช้พลังงานครบถ้วนจำนวน 130 แห่ง (จากหน่วยงานราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 248 แห่ง) และจากการประมวลข้อมูลรายงานการใช้พลังงานที่ ศอม. ได้รับสรุปได้ว่าในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2545 เปรียบเทียบกับ 2 ไตรมาสแรกของปี 2544 ทีหน่วยงานที่สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า-น้ำมันได้มากกว่าร้อยละ 5 จำนวน 32 หน่วยงาน
3. ฝ่ายเลขานุการฯ มีข้อเสนอแนะเห็นควรเร่งรัดให้หน่วยงานราชการระดับกรมและรัฐวิสาหกิจดำเนิน การตามมาตรการประหยัดพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด โดยให้ สพช. แจ้งรายชื่อ หน่วยงานที่ไม่ให้ความร่วมมือให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทุก 3 เดือน เพื่อให้คณะรัฐมนตรีสั่งการโดยตรงไปยังหน่วยงานนั้นๆ เพื่อถือปฏิบัติต่อไป อีกทั้งให้สำนักงาน กพ. กำหนดให้ใช้เป้าหมายในการลดการใช้พลังงานและสาธารณูปโภคร้อยละ 5 ของประมาณการใช้เฉลี่ยปีงบประมาณ 2543 - 2544 เป็นกรอบการวัดและการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานของส่วนราชการ เพื่อขอรับเงินรางวัลประจำปี โดยเริ่มจากปี งบประมาณ 2546 เป็นต้นไป และให้สำนักงบประมาณกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินงบประมาณ หมวดสาธารณูปโภค ในส่วนที่หน่วยงานสามารถประหยัดได้ เพื่อนำเป็นเงินสวัสดิการของหน่วยงานนั้นๆ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานและสาธารณูปโภคในหน่วยงานราชการและรัฐ วิสาหกิจ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ทั้งนี้ ให้ปรับแนวทางไปตามข้อพิจารณาของที่ประชุม
เรื่องที่ 3 มาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิรัก
สรุปสาระสำคัญ
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ เรื่อง ผลกระทบของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา และอิรัก เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้ สพช. รับไปจัดทำข้อเสนอมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อ นำเสนอคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 8 ตุลาคม 2545
2. สพช. ได้จัดทำข้อเสนอมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรองรับผลกระทบปัญหาราคาน้ำมันแพงและภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรัก โดยแบ่งมาตรการเป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรงของภาวะการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ ดังนี้
1) มาตรการระดับต้น เมื่อราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงแต่ยังไม่เกิดภาวะขาดแคลน ให้กำหนดเป็นมาตรการบังคับสำหรับส่วนราชการ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามจะมีโทษทางวินัย (ขัดมติคณะรัฐมนตรี) โดยให้ทุกส่วนราชการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อเดือนของปีงบประมาณ 2544 และลดค่าใช้จ่ายในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของปีงบประมาณ 2544 ส่วนมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป ให้เป็นการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการใช้พลังงาน เช่น ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 - 26 องศาเซลเซียส การขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการปิดไฟป้ายโฆษณา และไฟส่องอาคารภายหลังเวลา 24.00 น. การปิดเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในช่วงเวลา 22.00 - 10.00 น. เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการในระดับต้น ให้ดำเนินการทันที เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
2) มาตรการระดับกลาง เป็นมาตรการบังคับเพื่อลดการใช้พลังงานให้อยู่ในระดับที่จัดหาได้ โดยจะใช้มาตรการนี้เมื่อเริ่มมีการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้น (การจัดหาอยู่ในระดับต่ำกว่าปริมาณการใช้แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80) และเป็นมาตรการชั่วคราวเฉพาะช่วงที่มีการขาดแคลนน้ำมันเท่านั้น โดยให้ทุกส่วน ราชการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากปริมาณการใช้เฉลี่ยต่อเดือนของปีงบประมาณ 2544 และลดค่าใช้จ่ายในส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของปีงบประมาณ 2544 ส่วนมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป เป็นมาตรการบังคับ เช่น การจำกัดความเร็วรถยนต์ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง การลดเวลาการเปิดปิดสถานีบริการน้ำมัน วันธรรมดาเปิดช่วง 05.00 - 21.00 น. และปิดบริการในวันอาทิตย์ การลดเวลาการใช้ไฟฟ้าในตึกสาธารณะและสถานที่บริการต่างๆ โดยให้ใช้ไฟส่องป้ายโฆษณาสินค้าหรือบริการ หรือประดับสถานที่ทำธุรกิจได้เฉพาะระหว่าง เวลา 18.00 - 21.00 น. และกำหนดช่วงระยะเวลาเปิด - ปิด ของห้างสรรพสินค้า และโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านพลังงาน เป็นผู้พิจารณาความจำเป็นและความเหมาะสมกับสถานการณ์ หากเห็นว่าจำเป็นให้นำเสนอ ครม./กพช. อนุมัติการใช้มาตรการระดับกลาง บางมาตรการหรือทุกมาตรการแล้วแต่จะเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์
3) มาตรการระดับรุนแรง เมื่อมาตรการบังคับต่างๆ ไม่สามารถทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงได้จนกระทั่งการจัดหาอยู่ในระดับไม่ ถึงร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ จำเป็นต้องใช้มาตรการในการปันส่วน น้ำมัน เพื่อให้มีน้ำมันใช้อย่างทั่วถึงและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมาตรการป้องกันการกักตุน การควบคุมการจำหน่าย และการปันส่วนน้ำมัน
มติของที่ประชุม
เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อรองรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐอเมริกาและอิรัก โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รับไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้อง กับการพิจารณาของที่ประชุม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 4 แนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายเนวิน ชิดชอบ) ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า รองนายก รัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำแผนมาตรการในการกำกับดูแลราคาสินค้าและ บริการในกรณีเกิดวิกฤตขึ้น และให้นำเสนอในการประชุมครั้งนี้เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยแนบพร้อมกับมาตรการประหยัดพลังงาน และได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองรักษาสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค (นางผุสดี กำปั่นทอง) สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. กรมการค้าภายในได้กำหนดแนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการจัดระบบราคาสินค้า มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการเสริม
2. มาตรการจัดระบบราคาสินค้า จัดเป็นมาตรการทั่วไปเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมในราคาสินค้าแก่ ประชาชน และเพื่อให้มีสินค้าที่เพียงพอกับความต้องการไม่เกิดการขาดแคลน ทั้งนี้ ได้กำหนดวิธีดำเนินการ โดยติดตามภาวะราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ให้การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าสอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะสินค้า 73 รายการ ซึ่งเป็นสินค้าที่เฝ้าติดตาม (Watch List) และจัดระบบติดตามผลกระทบจากปัจจัยการผลิตสินค้าที่สำคัญที่จะมีผลต่อต้นทุน สินค้าและต่อราคาจำหน่าย รวมทั้ง กำหนดระบบการติดตามเพื่อเตือนภัย (Warning System) สำหรับสินค้าที่เฝ้าติดตาม (Watch List) โดยให้ความสำคัญด้านราคา ตรวจสอบติดตามกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการค้าในแหล่งผลิต ตลาดสด แหล่งจำหน่ายเป็นประจำ เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และจัดระบบการกระจายสินค้าและประสานการดำเนินการค้าระบบการจัดการสินค้าส่ง ออก/นำเข้า เป็นต้น
3. มาตรการทางกฎหมาย ได้มีแนวทางการดำเนินการโดยการใช้อำนาจตามมาตรา 29 และ 30 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในการป้องกันการฉวยโอกาสเอาเปรียบในด้านราคาต่อผู้บริโภคและการกักตุนสินค้า และใช้อำนาจตามมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ในการกำหนดรายการสินค้าควบคุมเพิ่มเติม นอกจากนี้ โดยการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2542 ในการดูแลปริมาณสินค้าทั้งในด้าน ชั่ง ตวงวัด และการบรรจุหีบห่อให้ถูกต้อง พร้อมทั้ง เปิดช่องทางการร้องเรียนเรื่องราคาสินค้าและบริโภคที่ผู้บริโภคไม่ได้รับ ความเป็นธรรมโดยทางโทรศัพท์สายด่วน 1569 และให้มีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
4. มาตรการเสริมหรือมาตรการแทรกแซง ใช้ในกรณีที่จำเป็นเพื่อจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคเสริมให้กับประชาชน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการโดยการจัดร้านค้าจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคธงฟ้า ราคาประหยัด และเชื่อมโยงให้ผู้จำหน่ายปลีกในท้องถิ่นรับสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิต/ผู้แทน จำหน่าย (กรณีสินค้าในท้องถิ่นขาดแคลน หรือมีราคาจำหน่ายสูงเกินสมควร) พร้อมทั้ง ประสานงานกับส่วนราชการอื่นเพื่อให้มีการปรับลดอัตราภาษี เพิ่ม - ลด ปริมาณการนำเข้า และสินค้าตามข้อตกลงของ WTO
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์รับไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับการพิจารณา ของที่ประชุม
- กพช. ครั้งที่ 91 - วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2545 (964 Downloads)