มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2545 (ครั้งที่ 89)
วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.ความคืบหน้าของการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
3.การพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
4.ข้อเสนอปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลราคาน้ำมันและแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายเมตตา บันเทิงสุข รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 ได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนเมษายน เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันกลางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ และการที่อิรักหยุดการส่งออกน้ำมันดิบเป็นเวลา 1 เดือนเพื่อประท้วงสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุน อิสราเอล อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบได้เริ่มปรับตัวอ่อนลง เป็นผลจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้ผ่อนคลายลง และอิรักได้กลับมาส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้งหนึ่ง สำหรับเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดิบได้อ่อนตัวลงอีกครั้ง จากการที่ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเพิ่มปริมาณการส่งออก และกลุ่มโอเปคผลิตเกินโควต้าถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และเบรนท์ ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2545 อยู่ที่ระดับ 24.2 และ 25.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
2. ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยทุกผลิตภัณฑ์ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนเมษายน โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปได้ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้ในภูมิภาคที่ลดลง ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95, 92 ก๊าด ดีเซล และเตา ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2545 อยู่ที่ระดับ 27.8, 26.8, 26.8, 27.2 และ 23.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ
3. ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ช่วงไตรมาสที่ 2 ได้ปรับตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเดือนเมษายนราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลปรับตัวสูงขึ้น 2 ครั้ง จำนวน 60 สตางค์/ลิตร เดือนพฤษภาคม น้ำมันเบนซินและดีเซลได้ปรับลง 1 ครั้ง จำนวน 30 และ 20 สตางค์/ลิตร ตามลำดับ และเดือนมิถุนายน เบนซินและดีเซลได้ปรับลง 2 ครั้ง จำนวน 60 และ 50 สตางค์/ลิตร ตามลำดับ โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2545 อยู่ที่ระดับ 15.19, 14.19 และ 12.79 บาท ต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนค่าการตลาดในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1.5 บาทต่อลิตร ค่า การกลั่นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 0.4371 บาทต่อลิตร (1.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล)
4. แนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจของโลก ที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น และประเทศต่างๆ เริ่มสะสม น้ำมันไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาว ส่วนอุปทานของน้ำมันดิบถูกจำกัดจากปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปค ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันดูไบและเบรนท์จะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2 - 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 26 - 27 และ 27 - 28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ น้ำมันเบนซินและดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 28 - 30 และ 30 - 32 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกของไทยน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 และดีเซลหมุนเร็วจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 15 - 16, 14 - 15 และ 13 - 14 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
5. ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลก เดือนกรกฎาคม 2545 อยู่ในระดับ 221 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคา LPG ณ โรงกลั่น อยู่ในระดับ 8.58 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิงอยู่ในระดับ 1.32 บาทต่อกก. คิดเป็นเงิน 226 ล้านบาทต่อเดือน โดยกองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจาก น้ำมันชนิดอื่น 878 ล้านบาทต่อเดือน จึงมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ สุทธิ 652 ล้านบาทต่อเดือน
6. กรมบัญชีกลาง ได้รายงานยอดเงินคงเหลือกองทุนน้ำมันฯ หลังหักภาระผูกพัน ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2545 อยู่ในระดับ 4,226 ล้านบาท โดยมีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2545 รวม 11,367 ล้านบาท แยกเป็นเงินค้างชำระของกรมสรรพสามิต 11,311 ล้านบาท และมีหนี้เงินกองทุนคืนของกรมศุลกากรอีก 56 ล้านบาท และฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบ 7,141 ล้านบาท
7. กรมสรรพสามิต ได้รายงานการชำระหนี้กองทุนน้ำมันฯ ของไตรมาสที่ 1 และ ที่ 2 ของปี 2545 ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามข้อตกลง เป็นจำนวนเงิน 1,236 และ 1,278 ล้านบาท ตามลำดับ ทำให้ยอดหนี้ตามข้อตกลงลดลงเหลือ 10,585 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2545
มติของที่ประชุม
- ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ความคืบหน้าของการซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ฉบับแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2536 เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2543 และต่อมาได้มีการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่สองเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 เพื่อขยายการรับซื้อไฟฟ้าให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ในปัจจุบันโครงการที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.)แล้วมีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน - หินบุน ขนาดกำลังผลิต ณ จุดส่งมอบ 187 เมกะวัตต์ และโครงการห้วยเฮาะ ขนาดกำลังผลิต ณ จุดส่งมอบ 126 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โครงการในลำดับถัดไปที่จะมีการส่งมอบไฟฟ้าคือ โครงการน้ำเทิน 2 ขนาดกำลังผลิต 920 เมกะวัตต์ โครงการนี้ได้มีการลงนามขั้นต้น (Initial) ในร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาโครงการน้ำเทิน 2 ได้ประมาณเดือนกันยายน 2545 และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. ได้ในเดือนตุลาคม 2551 สำหรับโครงการอื่นๆ ได้แก่ โครงการลิกไนต์หงสา น้ำงึม 3 และน้ำงึม 2 คปฟ-ล. จะพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญของโครงการและวันที่เหมาะสมในการจ่ายไฟฟ้า เข้าระบบของ กฟผ. โดยจะจัดทำเป็นแผนการซื้อขายไฟฟ้าไทย-ลาว ต่อไป
2. การซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศสหภาพพม่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากสหภาพพม่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โดยจะส่งเสริมและ ร่วมมือกันในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าในสหภาพพม่า เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2553 ปัจจุบันพม่าได้เสนอโครงการผลิตไฟฟ้าที่จะขายให้ไทยพิจารณาจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการฮัจยี กำลังการผลิตติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ โครงการท่าซาง กำลังการผลิตติดตั้ง 3,600 เมกะวัตต์ และโครงการคานบวก กำลังการผลิตติดตั้ง 1,500 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหภาพพม่าประสบปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก จึงได้แสดงความประสงค์ที่จะขอซื้อไฟฟ้าจากไทยในปริมาณ 100 - 150 เมกะวัตต์ โดยขอให้ กฟผ. ส่งไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงฝั่งไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงฝั่งพม่าที่เมือง Bago (หงสาวดี) ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถส่งไฟฟ้าให้แก่ สหภาพพม่าได้ประมาณปี 2547 - 2548
3. การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐ ประชาชนจีน จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง จะเป็น โครงการแรกขนาด 1,500 เมกะวัตต์ จะส่งมอบไฟฟ้าให้ไทยในปี 2556 และอีก 1 โครงการในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ คาดว่าจะส่งมอบไฟฟ้าให้ไทยในปี 2557 ปัจจุบันกลุ่มผู้ลงทุนไทย - จีนได้ลงนามความตกลงในการลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง แล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 โดยแบ่งการลงทุน ออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจีนจะมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30 และฝ่ายไทยร้อยละ 70 นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงที่จะใช้ระบบสายส่งขนาด 500 kV DC แบบวงจรเดี่ยว (Single Pole) เพื่อส่งไฟฟ้าจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง ในปี 2556 และเพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ เพื่อส่งไฟฟ้าอีก 1 โครงการ ในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ แบบสองวงจร (Bi Pole) ในปี 2557 โดยแนวสายส่งจากจีนมาไทยจะผ่านพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และมีสถานีจุดเปลี่ยนกระแสไฟฟ้า (Converter Station) อยู่ในอาณาเขตของสาธารณรัฐประชาชนจีน
4. การซื้อขายไฟฟ้ากับประเทศกัมพูชา รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องโครงการความ ร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะสนับสนุนให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการซื้อขายในตลาดไฟฟ้าซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ปัจจุบันคณะกรรมการโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าของทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงที่จะให้ไทยขายไฟฟ้าให้กับ 3 จังหวัดของประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดบันเทอมีนเจย เสียมราฐ และพระตะบอง ประมาณ 20 - 30 เมกะวัตต์ โดยได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2545 และคาดว่าหลังจากการก่อสร้างสายส่งแล้วเสร็จ ไทยจะสามารถขายไฟให้แก่ 3 จังหวัดของกัมพูชาได้ในปี 2547
มติของที่ประชุม
- ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2545 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่องนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง โดยได้เห็นชอบในหลักการ ดังนี้ 1) ให้มีการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตของเอทานอลหน้าโรงงานและภาษีสรรพ สามิตในส่วนของเอทานอลที่เติมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ตลอดไป 2) การกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ต่ำกว่าราคาจำหน่ายน้ำมันเบนซินออก เทน 95 โดยความแตกต่างของราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 บาทต่อลิตร เช่น 0.50 - 0.70 บาทต่อลิตร 3) การลดหย่อนอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 4) การกำหนดคุณภาพน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขึ้นเป็นการเฉพาะ 5) การใช้กลไกด้านการตลาดที่ได้กำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ต่ำกว่า น้ำมันเบนซินออกเทน 95 ซึ่งจะทำให้เกิดการเลิกใช้ MTBE โดยอัตโนมัติ 6) การจัดตั้งกองทุนรักษาระดับราคาเอทานอล 7) การส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์การใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อรณรงค์ให้ ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจและร่วมกันใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเอทานอ ลเป็นส่วนผสม 8) การขอจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง และ 9) มาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมอื่นๆ
2. คณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ เรื่องการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยแจ้งว่าคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะ กรรมการพิจารณากลั่นกรองการอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อ เพลิง ในการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงของผู้ยื่นเอกสารครบ ถ้วนแล้วจำนวน 8 ราย ดังนี้
2.1 บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด โดยจะผลิตเอทานอลวันละไม่เกิน 25,000 ลิตร ใช้กากน้ำตาลประมาณ 30,000 ตันต่อปี หรือมันสำปะหลังประมาณ 48,000 ตันต่อปี เป็นวัตถุดิบ กรณี ที่กากน้ำตาลมีราคาสูงมาก
2.2 บริษัท ที.เอส.บี เทรดดิ้ง จำกัด (บริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด) มีขนาดกำลังการผลิตประมาณวันละ 150,000 ลิตร ใช้กากน้ำตาลประมาณ 191,000 ตันต่อปีเป็นวัตถุดิบ
2.3 บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 500,000 ลิตรต่อวัน ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ประมาณ 916,700 ตันต่อปี
2.4 บริษัท แสงโสม จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 100,000 ลิตรต่อวัน ใช้กากน้ำตาลเป็น วัตถุดิบตั้งต้น ประมาณ 127,050 ตันต่อปี
2.5 บริษัท ไทยง้วน เมทัล จำกัด (บริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 130,000 ลิตรต่อวัน ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ประมาณ 231,000 ตันต่อปี
2.6 บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 85,000 ลิตรต่อวัน ใช้กากน้ำตาลประมาณ 98,100 ตันต่อปี หรือมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ในกรณีกากน้ำตาลไม่เพียงพอ
2.7 บริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 212,000 ลิตรต่อวัน ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบประมาณ 354,000 ตันต่อปี
2.8 บริษัท ไทยเนชั่นแนล พาวเวอร์ จำกัด ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 300,000 ลิตรต่อวัน ใช้ มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบประมาณ 231,000 ตันต่อปี และมันเส้นประมาณ 165,000 ตันต่อปี
มติของที่ประชุม
1.อนุมัติการขอตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของ ผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเอทานอลแห่งชาติ ดังนี้
1.1 ให้บริษัท พรวิไล อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เทรดดิ้ง จำกัด ทำการติดตั้งหน่วยผลิตเพิ่มเติม ในบริเวณโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ที่มีอยู่เดิมที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา เพื่อผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 25,000 ลิตรต่อวัน และใช้กากน้ำตาลหรือมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบตั้งต้น
1.2 ให้บริษัท ที.เอส.บี เทรดดิ้ง จำกัด (บริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด) จัดตั้งโรงงานผลิต เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีขนาดกำลังผลิต ไม่เกิน 150,000 ลิตรต่อวัน และใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ
1.3 ให้บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แก๊สโซฮอล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% ในเขตชุมชนอุตสาหกรรมนครินทร์-อินดัสเตรียลปาร์ค อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 500,000 ลิตรต่อวัน และใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
1.4 ให้บริษัท แสงโสม จำกัด ทำการติดตั้งหน่วยผลิตเพิ่มเติมในโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ที่มี อยู่เดิมที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 100,000 ลิตรต่อวัน และใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบตั้งต้น
1.5 ให้บริษัท ไทยง้วน เมทัล จำกัด (บริษัท ไทยง้วน เอทานอล จำกัด) จัดตั้งโรงงานผลิต เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% บริเวณจังหวัดชัยภูมิหรือขอนแก่น โดยมีขนาดกำลัง การผลิตไม่เกิน 130,000 ลิตรต่อวัน และใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
1.6 ให้บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 85,000 ลิตรต่อวัน และใช้กากน้ำตาลหรือมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
1.7 ให้บริษัท อัลฟ่า เอ็นเนอร์จี จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% ที่อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 212,000 ลิตรต่อวัน และใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
1.8 ให้บริษัท ไทยเนชั่นแนล พาวเวอร์ จำกัด จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ 99.5% ในนิคมอุตสาหกรรมสยาม อีสเทอร์น อินดัสเตรียลปาร์ค อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง โดยมีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 300,000 ลิตรต่อวัน และใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ
2.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ ดังนี้
2.1 ในการอนุญาตตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เห็นควรให้กำหนดเงื่อนไขในการกำกับดูแลและตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำเสียและกลิ่นที่ปล่อยจากโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
2.2 เห็นควรให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง บริเวณนิคม อุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม หรือบริเวณที่ตั้งซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนและ ชุมชน
2.3 เห็นควรกำหนดแนวทางการจัดจำหน่ายหุ้นของแต่ละโรงงานให้กับเกษตรกรตามข้อเสนอ ของผู้ประกอบการให้ชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสซื้อหุ้นได้ในราคาที่เป็นธรรม
เรื่องที่ 4 ข้อเสนอปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลราคาน้ำมันและแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2545 ได้มีมติมอบหมายให้ สพช. รับไปศึกษาความเป็นไปได้ในแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้ระบบการกำหนดช่วงราคาสูงสุดและต่ำสุด
2. สพช. ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้ระบบการกำหนดช่วงราคาสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 หลักการ การกำหนดช่วงราคาสูงสุดและต่ำสุด เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันใน ประเทศให้เคลื่อนไหวในระดับที่คาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะสามารถรองรับได้ หากราคาน้ำมันสูงหรือต่ำกว่าระดับราคาที่กำหนดไว้จะปรับลดหรือเพิ่มอัตรา เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ระดับราคาขายปลีกอยู่ในช่วงที่กำหนด
2.2 ช่วงราคาที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ ควรเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวเป็นปกติ ไม่ต่ำหรือสูงมากจนเกินไป โดยปล่อยให้ราคาน้ำมันในประเทศเคลื่อนไหวตามตลาดโลก คือ ระดับ 5-6 บาท/ลิตร (ระดับราคาน้ำมันไม่เกิน 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้าไปแทรกแซงราคา) โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ในช่วง 11-17 บาท/ลิตร เบนซินออกเทน 91 อยู่ในช่วง 10-16 บาท/ลิตร ดีเซลหมุนเร็วอยู่ในช่วง 8-14 บาท/ลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลวอยู่ในช่วง 5-11 บาท/ลิตร
2.3 การดำเนินการ สะสมเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับจ่ายชดเชยราคาน้ำมันในช่วงที่สูงกว่าระดับราคาสูงสุด และจะต้องลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้มีขีดความสามารถที่จะทำหน้าที่เป็น กลไกในการรักษาระดับราคาน้ำมันได้ โดยการยกเลิกการควบคุมราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวและใช้ระบบราคา "ลอยตัวเต็มที่" รวมถึงการแยกบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้สำหรับการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และบัญชีสำหรับการชำระหนี้เงินชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลวออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถใช้เงินจากกองทุนได้ตามวัตถุประสงค์ และไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการชำระหนี้กองทุนน้ำมันฯ ที่ได้ยืนยันไว้กับเจ้าหนี้ผู้ผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว
2.4 ข้อดี/ข้อเสีย ข้อดีของการกำหนดช่วงราคาสูงสุดและต่ำสุด คือ เป็นการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ เพื่อลดผลกระทบของราคาน้ำมันต่อภาคเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจได้โดยไม่มีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ส่วนข้อเสีย คือ ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง แต่เป็นการชะลอการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันทั้งขาขึ้นและขาลง ซึ่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันเริ่มลดลง และอาจทำให้เกิดการบริโภคน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าของประเทศ ตลอดจนการบริโภคน้ำมันของประชาชนจะไม่ลดลง ภาระการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น รวมทั้ง จะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด
2.5 สพช. ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำมันราคาแพง โดยการใช้นโยบายการกำหนดช่วงราคาน้ำมันสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งมีหลักการและแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ คือ 1) ให้ยังคงใช้ระบบราคาน้ำมันลอยตัว ในช่วงภาวะราคาน้ำมันอยู่ในระดับปกติ 2) ให้กำหนดช่วงราคาต่ำสุดและสูงสุดที่ระดับ 6 บาท/ลิตร โดยที่เบนซินออกเทน 95 ราคาต่ำสุด 11 บาท/ลิตร ราคาสูงสุด 17 บาท/ลิตร เบนซินออกเทน 91 ราคาต่ำสุด 10 บาท/ลิตร ราคาสูงสุด 16 บาท/ลิตร ดีเซลหมุนเร็ว ราคาต่ำสุด 8 บาท/ลิตร ราคาสูงสุด 14 บาท/ลิตร ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ราคาต่ำสุด 5 บาท/ลิตร ราคาสูงสุด 11 บาท/ลิตร หรือ ราคาต่ำสุด 9.25 บาท/กก. ราคาสูงสุด 20.37 บาท/กก. 3) มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณากำหนด รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการ แล้วให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนั้น ให้ยกเลิกควบคุมราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยให้นำระบบราคาก๊าซ "ลอยตัวเต็มที่" มาใช้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการต่อไป ตลอดจน ให้ สพช. และกรมการค้าภายในรับไปดำเนินการเพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลราคาก๊าซ ปิโตรเลียมเหลวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการนโยบายการกำหนดช่วงราคาสูงสุดและต่ำสุด โดยมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณารายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการแล้วให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
2.เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกควบคุมราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยให้นำระบบราคาก๊าซ "ลอยตัวเต็มที่" มาใช้ โดย
(1) มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณากำหนดระยะเวลาและขั้นตอนในการดำเนินการต่อไป
(2) มอบหมายให้ สพช. และกรมการค้าภายใน รับไปดำเนินการเพื่อกำหนดมาตรการกำกับ ดูแลราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
- กพช. ครั้งที่ 89 - วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2545 (1031 Downloads)