มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 4/2544 (ครั้งที่ 85)
วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2544 เวลา 14.30 น.
ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
1.เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
2.สถานการณ์พลังงานของไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544
3.การลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าก๊าซธรรมชาติ
4.รายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
5.ความคืบหน้าในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปของ IPP SPP และโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน
6.ความคืบหน้าการดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง
7.โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2544
8.แนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินในประเทศ
9.ราคาจำหน่ายไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน
10.ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
11.แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และแผนแม่บทระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544-2554
12.การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันของประเทศ
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุม
รองนายกรัฐมนตรี นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ ประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วมประชุม ในครั้งนี้ว่า เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านพลังงานในเรื่องต่างๆ ดังนี้ คือ
1.พลังงานทดแทนที่เกี่ยวกับผลผลิตทางเกษตรบางชนิดที่มีผลกระทบต่อการมองภาพรวมราคาสินค้าทางเกษตร
2.ความก้าวหน้าของการรณรงค์ในการประหยัดพลังงาน
3.น้ำมันเถื่อน
4.ประสิทธิภาพในการบริหารงานของผู้ผลิตพลังงานที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการผลิตที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภค
5.ผลกระทบของการปรับเปลี่ยนเวลาในประเทศไทยที่มีต่อกิจกรรมด้านพลังงาน
6.เรื่องค่าไฟฟ้าสาธารณะเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายและความสัมพันธ์กับค่า Ft
เรื่องที่ 2 สถานการณ์พลังงานของไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544
สรุปสาระสำคัญ
1. ภาพรวมการใช้ การผลิต การส่งออกและนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์ มีดังนี้
1.1 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 มีจำนวน 1,205 พันบาร์เรล น้ำมันดิบ/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้ ก๊าซธรรมชาติ และการใช้ลิกไนต์/ถ่านหิน ขณะที่การใช้น้ำมันปิโตรเลียมลดลง การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียมร้อยละ 47.0 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 36.2 ลิกไนต์และถ่านหินร้อยละ 14.1 ไฟฟ้าพลังน้ำและนำเข้าร้อยละ 2.8
1.2 การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 มีจำนวน 592 พันบาร์เรล น้ำมันดิบ/วัน ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 โดยลดลงในส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติ และการผลิตลิกไนต์ ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 58.7 ลิกไนต์ร้อยละ 18.2 น้ำมันดิบร้อยละ 10.0 คอนเดนเสทร้อยละ 8.1 และไฟฟ้าพลังน้ำร้อยละ 5.0
1.3 ปริมาณการนำเข้า (สุทธิ) พลังงานเชิงพาณิชย์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 มีจำนวน 744 พันบาร์เรลน้ำมันดิบ/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 สาเหตุสำคัญจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนั้น การนำเข้าถ่านหินและน้ำมันดิบก็มีอัตราการเพิ่มในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน และยังคงมีการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเนื่องจากการผลิตสูง กว่าความต้องการใช้
2. สถานการณ์พลังงานแต่ละชนิด มีดังนี้
2.1 การใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 มีจำนวน 2,425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.2 เนื่องจากราคาน้ำมันเตาในปีนี้สูงขึ้นมากทำให้ กฟผ. ลดการใช้น้ำมันเตาลงและใช้ ก๊าซธรรมชาติแทน นอกจากนั้นยังมีโรงไฟฟ้าจากโครงการ IPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเริ่มผลิตไฟฟ้าจ่ายเข้าระบบของ กฟผ. ส่วนปริมาณการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2543 เล็กน้อย
2.2 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงครึ่งแรกของปี 2544 มีจำนวน 59 พันบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 แหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งเบญจมาศ แหล่งสิริกิติ์ และแหล่งทานตะวัน ปริมาณการผลิตภายในประเทศคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของความต้องการน้ำมันดิบที่ใช้ในการกลั่น จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 706 พันบาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 146,400 ล้านบาท
2.3 การผลิตลิกไนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 มีจำนวน 9.0 ล้านตัน ผลิตจากเหมือง แม่เมาะของ กฟผ. ร้อยละ 79 ที่เหลือร้อยละ 21 ผลิตจากเหมืองเอกชน ลิกไนต์ที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าจำนวน 7.5 ล้านตัน (ร้อยละ 83) ที่เหลือนำไปใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานกระดาษ โรงทอผ้าและอื่นๆ นอกจากนั้นมีการนำเข้าถ่านหินจำนวน 2.4 ล้านตัน มาใช้ในโรงไฟฟ้าของ SPP และโรงงานอุตสาหกรรม ดังกล่าว
2.4 การใช้น้ำมันสำเร็จรูปในครึ่งแรกของปี 2544 ชะลอตัวลง โดยมีปริมาณการใช้ 593 พันบาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2543 โดยการใช้น้ำมันเตา น้ำมันเบนซินและดีเซลลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง แต่การใช้น้ำมันเครื่องบินและ LPG เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ LPG เพิ่มขึ้นสูงในรถแท๊กซี่ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ LPG เพราะรัฐบาลยังคงอุดหนุนราคา LPG สำหรับกำลังการกลั่นรวมของประเทศในปี 2544 อยู่ที่ระดับ 995 พันบาร์เรล/วัน โดยการผลิตยังคงสูงกว่าความต้องการภายในประเทศทำให้มีการส่งออก (สุทธิ) จำนวน 106 พันบาร์เรล/วัน
2.5 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2544 รัฐบาลมีรายได้ภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 33,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 70 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2544 ติดลบประมาณ 13,603 ล้านบาท
3. สถานการณ์ไฟฟ้า มีดังนี้
3.1 กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าของ กฟผ. และการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและนำเข้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 มีจำนวน 22,335 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตติดตั้งของ กฟผ. จำนวน 15,116 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.7 รับซื้อจาก IPP จำนวน 5,266 เมกะวัตต์ และ SPP 1,613 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนโดยรวมร้อยละ 30.8 และนำเข้าจาก สปป.ลาว 340 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ในระดับ 16,126 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.1 และอัตราสำรองไฟฟ้า (Reserved Margin) อยู่ในระดับ 31.0
3.2 ปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 มีจำนวน 51,951 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในอัตราร้อยละ 6.3 โดยเป็นการผลิตจาก กฟผ. ร้อยละ 60 และรับซื้อจากเอกชนและนำเข้าร้อยละ 40
3.3 ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 มีจำนวน 46,169 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 7.3 โดยสาขาธุรกิจและอุตสาหรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 บ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ในขณะที่ทางด้านลูกค้าตรง กฟผ. ลดลงร้อยละ 2.4 โดยแบ่งเป็น การใช้ไฟฟ้าในเขตนครหลวง มีจำนวน 16,946 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และการใช้ไฟฟ้าเขตภูมิภาค มีจำนวน 28,336 กิกะวัตต์ชั่วโมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8
4. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีดังนี้
4.1 ราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ช่วงต้นปี 2544 เป็นต้นมา ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ $3-4 ต่อบาร์เรล จากการลดปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปค 3 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน และกันยายน รวม 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน และจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้ความต้องการใช้ในปีนี้ไม่สูงเท่าที่ควร กลุ่มโอเปคจึงลดกำลังการผลิตลงเพื่อรักษาระดับราคาไม่ให้ลดต่ำลงมาก น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ช่วงก่อนเดือนเมษายนราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก ช่วงต้นปีประมาณ $6-8 ต่อบาร์เรล จากความต้องการใช้ในฤดูร้อน หลังจากนั้นจึงปรับตัวลดลงประมาณ $10 ต่อบาร์เรล จากปริมาณสำรองที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ไม่สูงเท่าที่ประมาณการไว้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นปีประมาณ $2-3 ต่อบาร์เรล จากปริมาณสำรองที่ค่อนข้างต่ำ
4.2 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจากระดับ 43 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีมาอยู่ที่ระดับ 45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 36 สตางค์/ลิตร ราคาขายปลีกของไทยปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ โดยเบนซินปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 2 บาท/ลิตร จากช่วงต้นปีถึงปลายเดือนเมษายน หลังจากนั้น จึงปรับตัวลดลงประมาณ 1.50 บาท/ลิตร ดีเซลหมุนเร็วจากช่วงต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร ค่าการการตลาดโดยรวมของประเทศอยู่ที่ระดับประมาณ 1.20 บาท/ลิตร ค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร ($1.80-3.60 ต่อบาร์เรล)
4.3 แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 4 ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวสูงขึ้นประมาณ $2-3 ต่อ บาร์เรล น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ ราคาเบนซินจะปรับตัวลดลงหลังเดือนกันยายน ส่วนราคาดีเซลหมุนเร็วจะปรับตัวสูงขึ้นหลังเดือนตุลาคมไปแล้ว จากความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นในฤดูหนาว ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยเบนซินออกเทน 95 91 และดีเซลหมุนเร็วจะอยู่ที่ระดับ 15-16 14-15 และ 15-16 บาท/ลิตร ตามลำดับ
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ ได้ให้ข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่า การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของพลังงานในประเทศ ควรคำนวณเป็นหน่วยของดอลลาร์สหรัฐด้วย เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของงบดุลการค้าด้านพลังงานของ ประเทศ และได้สอบถามถึงปริมาณสำรองลิกไนต์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ว่าจะใช้ได้อีกเป็นระยะเวลานานเท่าไร และผลการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขณะนี้มีความก้าวหน้าระดับใด
2.ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าปริมาณสำรองลิกไนต์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ เหมืองแม่เมาะ จะใช้งานได้อีกประมาณ 70 ปี และได้มีการดำเนินการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่โรงไฟฟ้า แม่เมาะหน่วยที่ 4 - 13 แล้วเสร็จ ส่วนหน่วยที่ 1 - 3 จะไม่มีการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซฯ ทั้งนี้จะนำข้อมูลต่างๆ มานำเสนอในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานของประเทศ ในวันที่ 12 กันยายน 2544 ด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าก๊าซธรรมชาติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ดำเนินการเจรจาเพื่อขอเกลี่ยราคาก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งทบทวนดัชนีราคาในสูตรราคากับผู้รับสัมปทาน และพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดค่าดำเนินการ (Margin) ให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน
2. ปตท. ได้ดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ แหล่งบงกช 3 ราย คือ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โททาลฟีน่าเอลฟ์ เอ็กซ์พลอเรชั่น ประเทศไทย จำกัด และบริษัท บริติช ก๊าซ เอเซียแปซิฟิค จำกัด ให้ลดราคาก๊าซฯ ที่ ปตท. ซื้อเกินจากที่ทำสัญญาไว้ในช่วงเดือนสิงหาคม - พฤษภาคม 2545 รวม 8 เดือน จำนวน 31.14 พันล้านลูกบาศก์ฟุต โดยผู้ผลิตก๊าซฯ แหล่งบงกชได้ให้ส่วนลดค่าก๊าซฯ จากก๊าซฯ ส่วนเกินที่ ปตท. ซื้อคิดเป็นเงินจำนวน 863 ล้านบาท และส่วนลดราคาก๊าซฯ ที่ได้มา ทำให้ ปตท. ต้องรับก๊าซฯ จากแหล่งบงกชซึ่งมีราคาแพงกว่าแหล่งยูโนแคลเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 535 ล้านบาท ดังนั้น ผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับจะมีเพียง 328 ล้านบาท ปตท. จึงเสนอให้นำมาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย
3. การนำเงินส่วนลดค่าก๊าซฯ ทั้งจำนวน 863 ล้านบาท มาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 จะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นผ่านค่า Ft ประมาณ 2 สตางค์/หน่วย เนื่องจากราคาก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานในการประชุมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 จึงได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการลดค่าไฟฟ้าตามแนวทางดังนี้
3.1 ให้นำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติสุทธิจำนวน 328 ล้านบาท มาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.1 (บ้านอยู่อาศัยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน และติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์) ซึ่งมีจำนวนประมาณ 8.78 ล้านราย เพียงเดือนเดียว ในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนสิงหาคม 2544 โดยยกเว้นค่าบริการรายเดือน 8.76 บาท/ราย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และลดค่า พลังงานไฟฟ้า เท่ากับ 45.06 สตางค์/หน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเมื่อหักส่วนลดแล้วจะไม่ ต่ำกว่าศูนย์
3.2 การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าตามข้อ 3.1 ให้แสดงเป็นรายการพิเศษในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า และให้ กฟน. และ กฟภ. ส่งใบเรียกเก็บเงินการจ่ายส่วนลดที่จ่ายจริงไปยัง ปตท. โดยตรง
3.3 เงินที่เหลือซึ่งมีอีกจำนวนประมาณ 535 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้ ปตท. นำมาลดค่าก๊าซฯ ให้แก่ กฟผ. เพื่อบรรเทาผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของค่า Ft ในรอบต่อไป (ต.ค. 2544 - ม.ค. 2545)
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ ได้สอบถามถึง การใช้ไฟฟ้า 5 หน่วย/เดือน ว่าจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทใดบ้างและผู้ใช้ไฟฟ้าในชุมชนแออัด ที่มีการใช้ไฟส่องสว่าง 2 -3 ดวง จะมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเท่าใด ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ชี้แจงว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 5 หน่วย/เดือน ส่วนใหญ่จะเป็นห้องแถวหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่มีผู้พักอาศัยอยู่ ซึ่งไม่มีการใช้ไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้ไฟส่องสว่าง 2 -3 ดวง จะมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 30 หน่วย/เดือน ทั้งนี้ บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน จะมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 67 หน่วย/เดือน ซึ่งบ้านอยู่อาศัยประเภทนี้ จะไม่มีเครื่องปรับอากาศ
2.ฝ่ายเลขานุการฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่นำส่วนลดค่าก๊าซฯ มาลดค่าไฟฟ้าเพียงเดือนเดียว เนื่องจากจะทำให้เห็นผลจากการลดค่าไฟฟ้าได้มาก และหากการลดค่าก๊าซฯ มีระยะเวลานานไป จะส่งผลกระทบต่อโครงการประหยัดไฟกำไรสองต่อ ซึ่งจะเริ่มโครงการในเดือนกันยายน 2544 ทำให้ไม่สามารถเห็นผลจากการประหยัดที่ชัดเจน
มติของที่ประชุม
- ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ในฐานะประธานกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าโดย อัตโนมัติ (Ft) เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษาฯ ได้พิจารณาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่า Ft และมีข้อเสนอ ข้อสังเกต รวมทั้งความเห็นในการแก้ไขปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่า Ft ดังนี้
1.1 เห็นควรให้ ปตท. เร่งเจรจาปรับปรุงสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับผู้ขายก๊าซฯ พร้อมกับให้ลดค่าดำเนินการลง รวมทั้ง อัตราผลตอบแทน Equity IRR ของค่าผ่านท่อที่มีอัตราสูงเกินไป ส่วนภาระ Take-or-Pay ไม่ควรผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคมากเกินไป และควรเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น
1.2 ในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเห็นควรให้ กฟผ. รับไปเจรจาราคารับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และควรมีการทบทวนความเหมาะสมของการส่งผ่านผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนในโครง สร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก IPP และ SPP รวมทั้งควรทบทวนความเหมาะสมของอัตราผลตอบแทนการ ลงทุนของบริษัทผลิตไฟฟ้าในเครือของ กฟผ. ซึ่งในเรื่องของการทบทวนอัตราผลตอบแทนการลงทุนดังกล่าว บางหน่วยงานเห็นว่าอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและนโยบายการแปรรูปในอนาคต
1.3 ด้านประสิทธิภาพของการไฟฟ้า เห็นควรกำหนดมาตรฐานอัตราการใช้ความร้อน (Heat Rate) และมาตรฐานค่าความสูญเสีย (Loss Rate) ของระบบไฟฟ้า และให้ สพช. รับไปพิจารณาการชะลอแผนการลงทุนของการไฟฟ้าว่าจะสามารถทำให้ลดค่าไฟฟ้าได้ หรือไม่โดยเร่งด่วน
1.4 อัตราเงินนำส่งรัฐควรเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด ส่วนโบนัสและเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม
1.5 ไม่ควรยกเลิกค่า Ft เพราะจะทำให้การไฟฟ้าประสบปัญหาด้านการเงินอย่างรุนแรง และควรให้ค่า Ft เปลี่ยนแปลงตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาระหนี้ของการไฟฟ้า และผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อในค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเชื้อเพลิง (Non-Fuel Cost) ทั้งนี้ การไฟฟ้าควรมีอิสระในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองในระดับหนึ่ง
1.6 โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐาน ควรกำหนดส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นกรณีพิเศษแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถงดจ่ายไฟได้ เป็นการชั่วคราว และควรเร่งจัดหามิเตอร์ประเภท TOU ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย รวมทั้ง ควรหาแนวทางลดภาระค่ามิเตอร์ให้แก่ผู้ใช้ไฟ
2. เครือข่ายคณะทำงานติดตามตรวจสอบค่า Ft ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการเก็บค่า Ft และให้ยกเลิกการคิดค่าบริการ โดยให้มีการทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน และรัฐบาลควรเร่งผลักดันให้มี องค์กรอิสระผู้บริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้จัดเตรียมข้อมูลตอบข้อร้องเรียนดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณานโยบาย พลังงานแล้ว
3. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 และได้พิจารณาเรื่องผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการศึกษาฯ แล้วมีมติดังนี้
3.1 เห็นชอบในหลักการข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาฯ โดยให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดย อัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือนตุลาคม 2544-มกราคม 2545 และให้นำข้อสังเกตของที่ประชุมในส่วนที่มีความเห็นแตกต่างกันไปเจรจาให้ได้ข้อยุติต่อไป
3.2 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอของคณะอนุกรรมการศึกษาฯ ไปดำเนินการ โดยให้มีการจัดทำรายละเอียดในส่วนที่สามารถดำเนินการได้และในส่วนที่เป็น ปัญหาอุปสรรค และให้ สพช. เป็นผู้ดำเนินการเร่งรัดติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม มาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานทราบภายใน 1 เดือน
3.3 ให้ สพช. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าตามสูตรการ ปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ให้ประชาชนได้รับทราบและมีความเข้าใจมากขึ้น โดยผ่านสื่อต่างๆ
3.4 ให้ สพช. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกตัวแทนผู้บริโภครายย่อยเป็นอนุกรรมการในคณะ อนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และปรับปรุงคำชี้แจงข้อร้องเรียนของเครือข่ายคณะทำงานติดตามตรวจสอบค่า Ft ให้มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ มีความเห็นว่า การคัดเลือกตัวแทนผู้บริโภครายย่อยเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการ กำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ควรคัดเลือกจากผู้บริโภครายย่อยที่มีความรู้ ความเข้าใจในสูตร Ft ไม่ใช่เป็นบุคคลที่เป็นนักเคลื่อนไหว ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลควรพิจารณาถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของการไฟฟ้าและให้การ ไฟฟ้ามีรายได้เพียงพอในการดำเนินกิจการควบคู่ไปด้วย
2.ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เรียนที่ประชุมทราบเพิ่มเติมถึงปัญหาของการไฟฟ้าในการบริหารอัตราแลก เปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของการไฟฟ้า เช่นในกรณี กฟผ. มีภาระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 57 ของหนี้เงินกู้ทั้งหมด หรือประมาณ 141,200 ล้านบาท ซึ่ง กฟผ. วางแผนที่จะลดสัดส่วนหนี้เงินกู้ต่างประเทศลงให้เหลือร้อยละ 20 ภายในระยะเวลา 3 ปี แต่เนื่องจาก กฟผ. ไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งประธานที่ประชุมฯ ได้ขอให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาให้การไฟฟ้ามีอิสระในการบริหารหนี้ต่าง ประเทศเพิ่มขึ้น ในกรณีที่เป็นการดำเนินการจากสภาพคล่องของการไฟฟ้า มิใช่เป็นการกู้เงินในประเทศเพื่อมาชำระหนี้เงินตราต่างประเทศ
3.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสมบัติ อุทัยสาง) เรียนต่อที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กฟน. ได้เร่งรัดการดำเนินการจัดหาเครื่องวัดโดยอัตโนมัติ (AMR) ซึ่งเป็นการดัดแปลงเครื่องวัดฯ เดิม ให้เป็น TOU สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย คาดว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถเลือกใช้อัตรา TOU ได้ในราวเดือนมกราคม 2545 ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่เลือกใช้อัตรา TOU ที่อัตราค่าพลังงานไฟฟ้าในช่วง Off-Peak (เวลา 22.00 - 9.00 น. ของวันจันทร์ - วันศุกร์ และวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการปกติทั้งวัน) จะถูกกว่าในช่วง Peak (เวลา 9.00 - 22.00 น. ของวันจันทร์ - วันศุกร์) มาก จะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ในช่วง Off-Peak ได้รับการลดค่าไฟฟ้าลงได้ ในเรื่องนี้ ประธานที่ประชุมฯ เห็นว่าควรมีการดูแลเรื่องการกำหนด คุณลักษณะเฉพาะของมิเตอร์ ให้มีความโปร่งใส เพื่อมิให้เกิดการร้องเรียนจากผู้ผลิตมิเตอร์ภายในประเทศ
4.ประธานที่ประชุมฯ ได้สอบถามถึงการดูแลค่าความสูญเสียในระบบของการไฟฟ้า ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ชี้แจงว่า ค่าความสูญเสียในระบบของการไฟฟ้า มีการดูแลใน 2 ส่วน ประกอบด้วย (1) ค่าไฟฟ้าฐาน จะมีการ ดูแลเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของการไฟฟ้า หรือค่า X ไว้แล้ว โดยให้กิจการผลิต กิจการระบบส่ง และ กิจการระบบจำหน่ายและกิจการบริการลูกค้า ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงซึ่งรวมถึงการสูญเสียในระบบในอัตรา ร้อยละ 5.8 2.6 และ 5.1 ต่อปี ตามลำดับ และ (2) กำหนดให้ค่าความสูญเสียในระบบของ การไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเงินเดือน โบนัสของพนักงานการไฟฟ้าอีกส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประธานที่ประชุมฯ เห็นว่าน่าจะนำมาตรฐานอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการวัดด้วย รวมทั้ง ควรมีการวิเคราะห์ และรายงานผลทุกไตรมาส เพื่อจะได้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และให้การไฟฟ้าอธิบายถึงสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบและมอบหมายให้ สพช. รับไปดำเนินการตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีในข้อ 4 เกี่ยวกับรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาส
สรุปสาระสำคัญ
1. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producers : IPP) ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ปัจจุบันมีความคืบหน้าสรุปได้ดังนี้ คือ
1.1 โครงการ IPP ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้วมี 2 โครงการ คือ โครงการ Tri Energy Co., Ltd. (TECO) และโครงการ Independent Power (Thailand) Co., Ltd. (IPT) โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 และวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ตามลำดับ
1.2 โครงการ Eastern Power & Electric Co., Ltd. (EPEC) และโครงการ Bowin Power Co.,Ltd. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งเชื่อมโยง
1.3 โครงการ IPP 2 โครงการที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง คือ บริษัท Gulf Power Generation Co., Ltd. และบริษัท Union Power Development Co., Ltd. ประสบปัญหาความ ล่าช้า เนื่องจากต้องจัดให้มีการประชาพิจารณ์ก่อน และได้ขอเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการตามแผนงาน
1.4 โครงการ BLCP อยู่ระหว่างการศึกษาการขุดลอกร่องน้ำเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่าน หิน ในส่วนสิทธิการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรม เจ้าท่า
2. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration รวมทั้ง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของรัฐลง ในปัจจุบันมี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วรวม 61 ราย ในจำนวนนี้เป็น SPP ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้ว 45 ราย มีปริมาณไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบรวม 1,863 เมกะวัตต์
3. การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความคืบหน้าสรุปได้ดังนี้
3.1 ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) โครงการผลิตไฟฟ้าที่ สปป.ลาว เสนอจะขายไทยมี 8 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,596 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการน้ำเทิน 2 ซึ่ง กฟผ. และกลุ่มผู้ลงทุนโครงการได้ลงนาม MOU ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 และเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2544 นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้ร้องขอให้ฝ่ายไทยเร่งดำเนินการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 2 เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในเดือนตุลาคม 2544 ซึ่งฝ่ายไทยรับจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด ส่วนโครงการอื่นๆ ให้ชะลอการเจรจารับซื้อไว้ก่อน โดยรัฐบาลจะประเมินความต้องการใช้ ไฟฟ้าในประเทศอีกครั้ง
3.2 ประเทศสหภาพพม่า โครงการผลิตไฟฟ้าที่สหภาพพม่าเสนอจะขายให้ไทยมี 4 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำกก (42 เมกะวัตต์) โครงการฮัจยี (300 เมกะวัตต์) โครงการท่าซาง (3,500 เมกะวัตต์) และโครงการคานบวก (1,500 เมกะวัตต์) กำลังการผลิตรวม 5,342 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาความเป็น ไปได้ของระบบสายส่งที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบของพม่าในปริมาณ 100 - 150 เมกะวัตต์ โดยจะส่งไฟจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปยังเมือง Bago (หงสาวดี) แต่ขณะนี้ได้หยุดชะงักลงเนื่องจากปัญหาทางด้าน การเมือง
3.3 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คณะกรรมการซื้อขายไฟฟ้าไทย - จีน ได้ลงนามในความ ตกลงเรื่อง "การร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำยูนนานจิงหง ระหว่างกลุ่มผู้ลงทุนไทย - จีน" เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 โดย กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ จากโครงการนี้ในปี 2556 และอีก 1 โครงการ ในปริมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ในปี 2557 และได้ตกลงที่จะใช้ระบบสายส่งขนาด 500 kV DC ส่งไฟฟ้าจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ โดยมีแนวสายส่งผ่านพื้นที่ สปป.ลาว นอกจากนั้น ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้า พลังน้ำยูนนานจิงหง เข้าร่วมการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) ของไทยด้วย
3.4 ประเทศกัมพูชา คณะกรรมการซื้อขายไฟฟ้าไทย - กัมพูชา ได้มีการหารือที่จะรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ในปริมาณ 25 - 30 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับ 3 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ บันเทอมีนเจย เสียมราฐ และพระตะบอง โดยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฝ่ายไทยได้มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ใช้สายส่งของ กฟภ. ส่งไฟฟ้าจากสถานีวัฒนานครไปยังชายแดนไทย ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อัตราค่าไฟฟ้าที่จะจำหน่ายให้แก่กัมพูชา ณ จุดส่งมอบเท่ากับผลบวกของอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกประเภทกิจการขนาดใหญ่ (115 kV) รวมกับค่าเฉลี่ยเงินชดเชยรายได้ที่ กฟภ. ได้รับจาก กฟน. เท่ากับ 0.1459 บาท/หน่วย และค่าไฟฟ้าผันแปร โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ก่อสร้างสายส่งช่วงต่อจากชายแดนไทย ไปยัง 3 จังหวัดของกัมพูชาและคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าให้แก่กัมพูชาได้ในปี 2547
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ ได้สอบถามถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งฝ่าย เลขานุการฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสามารถสั่งการให้หยุดหรือดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เพียงแต่ว่าการสั่งยกเลิกโครงการนั้น รัฐจะต้องจ่ายค่าปรับ ยกเว้นกรณีที่โครงการไม่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะไม่ สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตได้ซึ่งในกรณีนี้รัฐไม่ต้องเสียค่า ปรับ อย่างไร ก็ตาม ประธานที่ประชุมฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) เห็นว่า การ ตัดสินใจให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปจะต้องกระทำอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้องระมัดระวังในเรื่องของมลภาวะที่จะเกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงว่า ประเด็นปัญหามลภาวะไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรัฐได้มีการกำหนด มาตรการป้องกันมลภาวะที่เข้มงวดอยู่แล้ว รวมทั้งโครงการจะต้องได้รับอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย และเจ้าของโครงการ IPP เองยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับ ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
2.ประธานที่ประชุมฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า หากราคารับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่สูงกว่าต้นทุน ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ก็สมควรที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือประเทศเหล่านั้น ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นแนวทางที่ได้นำมาปฏิบัติอยู่แล้ว
3.เนื่องจาก กฟผ. จะต้องเตรียมการจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประธานที่ประชุมฯ จึงมีความเห็นว่า กฟผ. ควรกำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานในอนาคตให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการพิจารณาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เนื่องจากศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศมีข้อจำกัด ซึ่งผู้แทน กฟผ. รับที่จะไปหารือกับ สพช. ต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในอนาคตเมื่อมีการแปรรูป กฟผ. ออกเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้า 1 และ 2 และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว บริษัทผลิตไฟฟ้า 1 และ 2 ก็สามารถลงทุนในต่างประเทศได้เช่นเดียวกับโครงการของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการลงทุนในโครงการน้ำเทิน 2 ใน สปป. ลาว
4.ประธานที่ประชุมฯ มีข้อห่วงใยในเรื่องการจัดหาปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองว่า นอกจากจะต้องจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศแล้ว จะต้องไม่อยู่ในระดับสูงเกินไป และในขณะเดียวกันก็ควรคำนึงถึงการประหยัดและการใช้พลังงานอย่างมี ประสิทธิภาพมากที่สุดโดยไม่ควรมองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ซึ่งผู้แทนจาก กฟผ. ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการเจรจาโครงการน้ำเทิน 2 ให้สามารถลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเบื้องต้น (Initial Power Purchase Agreement : Initial PPA) ได้ภายในเดือนตุลาคม 2544 ส่วนโครงการอื่นๆ ที่เหลือได้ชะลอ การเจรจารับซื้อไว้ก่อนเนื่องจากจะต้องประเมินความต้องการใช้ในประเทศอีก ครั้ง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเทศยังมีความจำเป็นที่จะต้องการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าซึ่ง จะมีผลต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ลดความเสี่ยง และสร้างอำนาจการต่อรองราคาพลังงานของประเทศด้วย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 6 ความคืบหน้าการดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่อง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขต ต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คือ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมทะเบียนการค้า และกรมสรรพากร รับไปดำเนินการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดังกล่าว รวมทั้งเพื่อให้มีการยกเว้นภาษีอากรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในโครงการถูกลง สามารถแข่งขันได้
2. โครงการฯ นี้ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการได้ปีต่อปีเท่านั้น โดยในปีแรกจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2544 และกำหนดให้มีการประเมินผลปลายปี โดยในทางปฏิบัติ สพช. ได้จัดให้ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ซึ่งเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์เป็นผู้ประเมิน หากผลการประเมินพบว่าได้ผลดีก็จะได้รับการต่ออายุโครงการต่อไป แต่หากไม่ได้ผลดี โครงการนี้ก็ต้องยุติล้มเลิกไป นอกจากนั้น ยังจัดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการนี้ โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมเจ้าท่า กรมทะเบียนการค้า กรมประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สพช. เป็นคณะกรรมการ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตและการตรวจสอบควบคุมกระทำกันเป็นหมู่คณะ
3. โครงการฯ นี้ได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตต่อเนื่องตั้งแต่ 30 เมษายน 2544 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 7 เที่ยวเรือ ปริมาณน้ำมันที่จำหน่าย 14.8 ล้านลิตร จำหน่ายให้กับเรือประมง 1,236 ลำ โดยมีบริษัทมายื่นความประสงค์ขอจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงขณะนี้ รวมทั้งสิ้น 8 บริษัท มีจำนวนเรือสถานีบริการ 13 ลำ และคาดว่าเมื่อกฎหมายของกรมสรรพากรมีผลในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นอีก โดยมีเป้าหมายจะขยายให้ครอบคลุมทั้งฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้รับบริการอย่างทั่วถึง
4. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) ได้สั่งการให้ สพช. รับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับข้อเสนอการอนุญาตให้เรือต่างชาติเข้ามาร่วมโครงการฯ ได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนเรือไทย เพื่อเป็นการเร่งรัดการขยายโครงการให้กว้างขวางครอบคลุมชายฝั่งทะเลได้เร็ว ขึ้น ซึ่ง สพช. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า และกรมสรรพากร และตัวแทนสมาคมเรือไทย เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และข้อดี ข้อเสียตามข้อเสนอดังกล่าว และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันดังนี้
4.1 กรณีค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าจดทะเบียนเรือไทยซึ่งผู้ประกอบการอ้างว่าต้องใช้จ่ายจำนวนสูงมากนั้น ในข้อเท็จจริงเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีขนาดเกินกว่า 1,000 ตันกรอส ซึ่งจะเสียภาษีในอัตราศูนย์จึงไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ของมูลค่าเรือนั้น ที่ประชุมเห็นว่าอยู่ในวิสัยที่ผู้ประกอบกิจการรับได้
4.2 ประเด็นเรื่องจำนวนเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนเรือไทยจะไม่เพียงพอ ไม่ใช่ประเด็นปัญหา โดยขณะนี้จำนวนเรือบรรทุกน้ำมันที่จดทะเบียนเรือไทย ที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส มีจำนวนถึง 154 ลำ และมีเรือต่างชาติที่เตรียมจะจดทะเบียนเรือไทยอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ความต้องการใช้เรือของโครงการนี้อยู่ในระดับ 60 ลำขึ้นไป ดังนั้นควรยึดระเบียบหลักเกณฑ์เดิมที่รัฐกำหนด คือต้องเป็นเรือไทยเท่านั้น โดยหากเรือต่างชาติสนใจจะเข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นจดทะเบียนเรือไทยก่อน
4.3 สาเหตุที่เรือเข้าโครงการน้อยในขณะนี้มิใช่เกิดจากจำนวนเรือไม่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องของราคาน้ำมันที่จำหน่ายยังสูงกว่าน้ำมันที่มาจากต่างประเทศ เนื่องจากการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงทำให้ต้นทุนสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ประมาณลิตรละ 60 สตางค์ ทำให้แข่งขันไม่ได้เต็มที่ สำหรับความ คืบหน้าของร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ขณะนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อสำนักราชเลขาธิการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ ได้สอบถามถึงความชัดเจนของวัตถุประสงค์ของโครงการและรูปแบบของน้ำมันเถื่อน ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งรองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่ารูปแบบดั้งเดิมจะมีเพียงการลักลอบนำเข้าทางทะเลเท่านั้น แต่ปัจจุบันจะมีรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การขอคืนภาษีของรัฐโดยมิชอบ และการลักลอบนำสารโซลเว้นท์ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีไปปลอมปนลงในน้ำมันเชื้อ เพลิง ซึ่งวิธีนี้เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอีกวิธีหนึ่ง
2.นอกจากนี้ ประธานที่ประชุมฯ ได้เสนอว่าควรมีการนำข้อมูลการผลิต จำหน่าย และส่งออกมาเชื่อมโยงกันให้เป็นระบบ เพื่อให้ทราบว่าปริมาณน้ำมันนำเข้าและส่งออกที่ถูกต้องควรเป็นเท่าไร แล้วนำไป เปรียบเทียบกับข้อมูลการเก็บภาษีและคืนภาษี ก็จะเห็นได้ทันทีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเข้าใจว่า ยังไม่มีการดำเนินการเช่นนี้ ทำให้เป็นจุดอ่อนของรัฐให้เกิดการทุจริตขึ้นได้
มติของที่ประชุม
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับชาว ประมงในเขตต่อเนื่อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีในข้อ 2
เรื่องที่ 7 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2544
สรุปสาระสำคัญ
1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยปลูกจิตสำนึกและรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เกิดผลในการ ใช้ พลังงานทุกชนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเสนอแนะวิธีการอนุรักษ์พลังงานที่เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายให้แก่ ประชาชนทั่วไป โดยการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2544 สพช. ได้เน้นกิจกรรมรณรงค์ที่เปิดโอกาสให้ ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวและยังเป็นการช่วยชาติอีกทางหนึ่ง โดยมีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ดังนี้
1) กิจกรรมด้านการประหยัดไฟฟ้าในครัวเรือน : เป็นชุด "โปรโมทการแข่งขันประหยัดไฟฟ้า"
2) กิจกรรมด้านการประหยัดน้ำมันในพาหนะส่วนบุคคล : ประกอบด้วย ชุด "โปรโมทการแข่งขันขับรถยนต์อย่างถูกวิธีเพื่อประหยัดน้ำมัน" และ ชุด "โปรโมทการเติมออกเทน 91"
3) กิจกรรมปลูกจิตสำนึกสำหรับประชาชนทั่วไปและประชาสัมพันธ์โครงการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
2. กิจกรรมชุด "โปรโมทการแข่งขันประหยัดไฟฟ้า" มีเป้าหมายให้แต่ละครัวเรือนแข่งขันกับตนเองในการประหยัดไฟฟ้าแต่ละเดือน และหากสามารถประหยัดได้ร้อยละ 10 ขึ้นไปของจำนวนหน่วยไฟฟ้าฐานเฉลี่ยของบ้านตนเองใน 3 เดือน คือ มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 20 ของจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ลดลงได้ในเดือนนั้น โดยระยะเวลาการให้ส่วนลดจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน 2544 - สิงหาคม 2545 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ"
3. กิจกรรมชุด "โปรโมทการแข่งขันขับรถยนต์อย่างถูกวิธีเพื่อประหยัดน้ำมัน" เป็นการรณรงค์เพื่อ ส่งเสริมให้ผู้ใช้รถขับรถอย่างถูกวิธีและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ โดย สพช. จะจัดทำคู่มือขับรถอย่างถูกวิธีออกแจกให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือ ส่วนกิจกรรมชุด "โปรโมทการเติมออกเทน 91" เป็นกิจกรรมสานต่อเพื่อสร้างความมั่นใจผ่านสื่อต่างๆ โดย สพช. ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงความจำเป็นในการช่วยกันประหยัดพลังงาน และแจ้งกิจกรรมที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมให้ทราบโดยผ่าน สื่อมวลชน รวมทั้งผลิตคู่มือในการประหยัดพลังงานในบ้าน และในการเดินทางขนส่ง แจกให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะข้าร่วมโครงการการแข่งขันประหยัดไฟฟ้าและ น้ำมัน
4. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับประชาชนทั่วไป ปีงบประมาณ 2545 มีโครงการที่จะขยายผลต่อจากปี 2544 และต้องการที่จะรณรงค์สร้างจิตสำนึกและความเข้าใจถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการใช้พลังงานอย่างประหยัดโดยมีประเด็นหลักคือ โครงการสร้างเสริมความเข้าใจถึงผลของการประหยัดพลังงานที่มีต่อเศรษฐกิจของ ประเทศ โครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ (ระยะที่ 2) และโครงการรวมพลังหยุดรถซดน้ำมัน (ระยะที่ 2) เป็นต้น
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมเกี่ยวกับโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานว่า ควรเน้นที่เด็กนักเรียนโดยดำเนินการให้มีการแข่งขันประหยัดน้ำมันรถยนต์ใน โรงเรียนขึ้น เพื่อส่งผลสืบเนื่องไปยังผู้ปกครองของนักเรียน นอกจากนั้น ในเวลากลางคืนควรมีการหรี่หรือปิดไฟในถนนบางสายโดยเฉพาะถนนของการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบและให้ สพช. รับข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการต่อไป
เรื่องที่ 8 แนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินในประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2530 เห็นชอบแนวทางในการพัฒนาลิกไนต์และได้มีมติเกี่ยวกับผลการสำรวจเบื้องต้นว่า หากกรมทรัพยากรธรณีสำรวจเบื้องต้นพบว่าแหล่งลิกไนต์ในพื้นที่ใดเหมาะสมแก่ การผลิตไฟฟ้าก็ให้กันพื้นที่ไว้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนพื้นที่ที่เหลือให้นำไปประมูลคำขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อให้เอกชนดำเนินการ ต่อไป
2. ในระหว่างปี 2531 - 2533 กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการสำรวจและประเมินศักยภาพถ่านหินในพื้นที่รวม 13 แอ่ง ในจำนวนนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กรมทรัพยากรธรณีกันพื้นที่แอ่งสิน ปุน แอ่ง เวียงแหง และแอ่งงาว ให้ กฟผ. ไว้ใช้ผลิตไฟฟ้า แต่เนื่องจากผลการศึกษาการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหงเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในขณะ นั้นพบว่ายังไม่เป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 ให้ กฟผ. คืนแหล่งถ่านหินเวียงแหงให้กรมทรัพยากรธรณี และมีมติให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการให้อาชญาบัตรและประทานบัตรว่าถ้า พื้นที่ใดมีถ่านหินก็ให้กรมทรัพยากรธรณีเปิดประมูลการขออาชญาบัตรพิเศษ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
3. ต่อมาในปี 2541 กฟผ. ได้ทบทวนแผนการศึกษาความเหมาะสมของแหล่งเวียงแหงเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อช่วยลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถ่านหินที่แอ่งเวียงแหงมีกำมะถันต่ำประมาณ 0.3 - 2.8% กฟผ. จึงนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ขอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 ขอคืนแหล่งถ่านหินเวียงแหงเพื่อพัฒนานำมาใช้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่ง สลค. ได้มีหนังสือถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าควรให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 เพื่อคืนแหล่งถ่านหินเวียงแหงให้ กฟผ. โดยมีเงื่อนไขว่า กฟผ. จะต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในรายละเอียด ให้ชัดเจน และมีการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนการอนุมัติให้ดำเนินโครงการ แต่หลังจากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาล
4. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2544 (ครั้งที่ 84) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ได้มีมติมอบหมายให้ สพช. รับไปหารือร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และ กฟผ. เกี่ยวกับแหล่งถ่านหินเวียงแหง งาว สินปุน และกระบี่ เพื่อพิจารณาให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 สพช. ได้มีการประชุมหารือกับกรมทรัพยากรธรณี และ กฟผ. เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินดังกล่าว โดย สพช. และ กฟผ. มีข้อเสนอให้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 เพื่อคืนแหล่งถ่านหินวียงแหงและแหล่งสะบ้าย้อยให้ กฟผ. เข้าไปพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล แต่ให้ กฟผ. คืนแหล่งงาว และแหล่งสินปุน ให้แก่กรมทรัพยากรธรณีเพื่อนำไปเปิดประมูลต่อไป
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ผู้แทนกรมทรัพยากรธรณี (กทธ.) ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กทธ. เห็นชอบกับหลักการตามข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการฯ แต่ทั้งนี้ ขอให้ กฟผ. และ สพช. ร่วมกันจัดแผนการใช้ถ่านหินของแหล่งเวียงแหงและ สะบ้าย้อยให้มีความชัดเจนขึ้น
2.ผู้แทนจาก กฟผ. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กฟผ. จำเป็นต้องใช้ถ่านหินจากแหล่งเวียงแหงประมาณ ร้อยละ 10 มาผสมกับถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะเพื่อช่วยลดมลภาวะที่เกิดขึ้น เนื่องจากถ่านหินที่แหล่งเวียงแหงมีคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ และขณะนี้กำลังดำเนินการขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งคาดว่าจะ สามารถนำถ่านหินจากแหล่งเวียงแหงมาใช้ได้ประมาณกลางปี 2548 ซึ่งจะใกล้เคียงกับช่วงที่สัญญาซื้อขายถ่านหินจากเอกชนที่นำมาใช้ผสมที่แม่ เมาะจะสิ้นสุดลงภายใน 3 - 5 ปีข้างหน้า
3.ประธานที่ประชุมฯ ได้สอบถามเกี่ยวกับลักษณะการลงทุนพัฒนาในแหล่งเวียงแหง และการเปลี่ยนเชื้อเพลิงอื่นสำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมทั้งความคืบหน้าในการติดตั้งเครื่องจำกัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งผู้แทน กฟผ. ได้ชี้แจงว่า การลงทุนเพื่อดำเนินการที่แหล่งเวียงแหงเป็นการลงทุนร่วมระหว่าง กฟผ. กับเอกชน ส่วนเครื่องผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นเครื่องที่ใช้ได้เฉพาะถ่านหิน เท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนเป็น เชื้อเพลิงชนิดอื่นได้ โดยขณะนี้มีเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวนรวม 13 หน่วย และการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ติดตั้งครบทุกหน่วยแล้ว ยกเว้นหน่วยที่ 1 - 3 ซึ่งได้ปิดดำเนินการแล้ว
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้มีการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 เพื่อกันแหล่ง ถ่านหินเวียงแหงและแหล่งสะบ้าย้อยให้ กฟผ. เข้าไปพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล แต่ให้ กฟผ. คืนแหล่งงาว และแหล่งสินปุน ให้แก่กรมทรัพยากรธรณีเพื่อนำไปเปิดประมูลต่อไป
2.เห็นชอบให้กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งกำหนดหลักเกณฑ์ให้เอกชนเข้ามาเปิดประมูลการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ใน พื้นที่ที่สำรวจพบถ่านหินเบื้องต้นตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510
เรื่องที่ 9 ราคาจำหน่ายไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 ได้พิจารณาเรื่อง การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ กฟภ. จำหน่ายให้ สปป.ลาว และที่จะจำหน่ายแก่ประเทศเพื่อนบ้านใน แต่ละจุดเป็นอัตราที่อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ ไฟฟ้าในประเทศตามโครงสร้างประเภท ผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟภ. ทั้งนี้ให้ กฟภ. มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเจรจาและกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้า ในลักษณะที่อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยได้ภายใต้หลักการดัง กล่าว
2. กฟภ. ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 รวม 6.86 ล้านหน่วย มีมูลค่า 16.4 ล้านบาท โดยขายให้สหภาพพม่า จำนวน 1.83 ล้านหน่วย ณ จุดเขตชายแดนบริเวณจังหวัดเชียงราย ตาก และกาญจนบุรี ขายให้ สปป. ลาว จำนวน 0.79 ล้านหน่วย ณ จุดชายแดน ที่จังหวัดเชียงรายและเลย และขายให้กัมพูชา จำนวน 4.24 ล้านหน่วย ที่จุดชายแดนจังหวัดสระแก้ว ตราด และสุรินทร์
3. ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้ลงนามความตกลงในโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ระหว่างไทย - กัมพูชา เพื่อสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ โดยไทย จะขายไฟฟ้าให้กับ 3 จังหวัดของกัมพูชา จำนวน 25 - 30 เมกะวัตต์ และให้ความร่วมมือในการวางแผนและก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมโยงกัน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการฝึกอบรมแก่กัมพูชา
4. ในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับ กัมพูชาฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ที่ประชุมได้มีมติในส่วนขององค์ประกอบค่าไฟฟ้าที่จะขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านตามมติคณะ รัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นยังไม่ได้รวมเงินชดเชยรายได้จากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ ให้บวกส่วนที่เป็นเงินชดเชยรายได้จาก กฟน. ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 0.1459 บาท/หน่วย เข้าไปในอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขายให้กัมพูชา ดังนั้นค่าไฟฟ้ารวมจึงเท่ากับ ค่าไฟฟ้าอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ขายให้ผู้ใช้ไฟประเภทกิจการขนาดใหญ่ รวมค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่ายของ กฟภ. (0.1459 บาท/หน่วย) บวกกับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (0)
การพิจารณาของที่ประชุม
1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) มีความเห็นว่า หากพิจารณาในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านแล้ว การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ สปป.ลาว สหภาพพม่าและ-กัมพูชาในอัตราเดียวกันกับที่จำหน่ายไฟฟ้าในประเทศจะเป็นการ ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านวิธีหนึ่ง เช่น เดียวกับการมอบเงินช่วยเหลือเพื่อสร้างถนนและสาธารณูปโภคต่างๆ
2.ประธานที่ประชุมฯ เห็นว่าในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านควรแยกระหว่างการค้า กับความช่วยเหลือออกจากกันอย่างชัดเจน ในกรณีของการจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านน่าที่จะพิจารณาในด้านการค้า เนื่องจากราคาค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านจะต้องสะท้อนถึงต้น ทุนตามที่เป็นจริง ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบในหลักการให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ กฟภ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุดเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าที่ กฟภ. จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ารวมกับค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่ายของ กฟภ.
2.ทั้งนี้ ให้ กฟภ. และ กฟผ. มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเจรจา และกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้า ในลักษณะที่อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยได้ภายใต้หลักการดัง กล่าว เช่น อาจกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) เป็นต้น
เรื่องที่ 10 ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 เห็นชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว ดังนี้ 1) ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว ครั้งละไม่เกิน 1 บาท/กิโลกรัม โดยให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาที่ เหมาะสม 2) ให้กรมการค้าภายในรับไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับราคาขาย ปลีกก๊าซหุงต้ม และ 3) มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานรับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา โครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในระยะยาว
2. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 เห็นชอบการปรับราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว ครั้งละไม่เกิน 1 บาท/กิโลกรัม และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) เป็นผู้กำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงราคาขายส่ง โดยความเห็นชอบของประธานกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน และให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซ ปิโตรเลียมเหลวในระยะยาว
3. คณะทำงานศึกษาการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในระยะยาว ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในตลาดโลกในเดือนกันยายน 2544 ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับ 224 $/ตัน ราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG อยู่ในระดับ 9.22 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2.78 บาท/กก. หรือ 430 ล้านบาท/เดือน แนวโน้มราคาก๊าซ LPG ในไตรมาส 3 ปี 2544 จะเคลื่อนไหวในระดับ 230 - 260 $/ตัน อัตราเงินชดเชยอยู่ในระดับ 3.30 - 4.50 บาท/กก. หรือ 508 - 690 ล้านบาท/เดือน กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับจากน้ำมันชนิดอื่น 882 ล้านบาท/เดือน และมีรายจ่ายชดเชยราคาก๊าซ LPG ในระดับ 430 ล้านบาท/เดือน กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าสุทธิ 452 ล้านบาท/เดือน ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ ติดลบในระดับ 14,483 ล้านบาท
3.2 กพง". ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ให้เท่ากับราคาปิโตรมิน - 16 $/ตัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2544 เป็นต้นมา คณะทำงานฯ จึงเสนอให้มีการกำหนดราคารับประกันระดับราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้าก๊าซ LPG ต่ำสุดในระดับ 200 $/ตัน โดยให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงตามราคาก๊าซธรรมชาติทุก 6 เดือน
3.3 ในการปรับราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซ LPG คณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้ สพช. ขอความเห็นจากประธาน กพง. เพื่อปรับขึ้นราคาขายส่งก๊าซ LPG ในระดับที่ทำให้ราคาขายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นรวม 1 บาท/กก. และแจ้งให้กรมการค้าภายในทราบเพื่อดำเนินการออกประกาศเปลี่ยนแปลงราคาขาย ปลีกก๊าซหุงต้มให้สอดคล้องต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายนนี้
3.4 คณะทำงานฯ ได้เสนอให้ใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" หรือการปรับราคาโดยอัตโนมัติ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้ใหม่ ที่อาจเกิดจากความผันผวนของราคาตลาดโลก ซึ่งคณะทำงานฯ เสนอทางเลือกการดำเนินการ ดังนี้ 1) ปรับราคาขายส่งและขายปลีกขึ้น 1 บาท/กก. ในเดือนกันยายน 2544 แล้วให้ดำเนินการยกเลิกควบคุมราคาขายปลีกโดยใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" 2) ให้ยกเลิกควบคุมราคาขายปลีก โดยใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" ทันที เมื่อราคาตลาดโลกปรับตัวขึ้น จึงค่อยปรับราคาขึ้น 3) ยังคงใช้ระบบควบคุมราคาขายปลีกก๊าซ LPG การปรับราคาขายส่งและขายปลีกตามมติ กพช. ให้ปรับขึ้นได้ครั้งละไม่เกิน 1 บาท/กก. ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
3.5 ควรลดภาระรายจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยลดการใช้ LPG และการให้ความ ช่วยเหลือผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม การควบคุมการส่งออกก๊าซ LPG การลดรายจ่ายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนงบปราบปรามน้ำมันเถื่อน ให้มีแผนการชำระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในจำนวนที่แน่นอนในแต่ละเดือน ลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นลงสู่ระดับต่ำสุด ภายในปี 2547 และควรแยกบัญชีรายรับ/รายจ่ายกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ออกจากน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นเมื่อฐานะกองทุนน้ำมันฯ เป็นบวก และชำระหนี้หมด
การพิจารณาของที่ประชุม
1.การแก้ปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับผู้ค้าก๊าซฯไม่สามารถทำได้เนื่องจากกองทุน น้ำมันฯ ไม่ใช่นิติบุคคล รัฐจึงต้องมีแผนชัดเจนในการชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จำนวน 8,960 ล้านบาท หากรัฐไม่มีความชัดเจนจะเป็นอุปสรรคต่อการแปรรูปของ ปตท. ได้ โดยนักลงทุนไม่มีความมั่นใจ ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นและรายได้จากการแปรรูปของปตท. ลดลง
2.ในการแก้ปัญหาหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐควรแยกประเด็นการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนออกมาจากระบบการค้าและราคา เพื่อมิให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาและระบบการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว ซึ่งจะมุ่งไปสู่ระบบการค้าสากลและเสรี และทำให้การช่วยเหลือประชาชนมีความชัดเจน นอกจากนี้ การใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่มีความเหมาะสมกับภาวะ ปัจจุบัน เพราะจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและหนี้สินกองทุน น้ำมันเชื้อเพลิงของคณะทำงานศึกษาการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียม เหลวในระยะยาว ตามข้อ 3
2.เห็นชอบการใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" และมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานเป็นผู้พิจารณาทางเลือกการ ดำเนินการในการใช้ระบบราคา "กึ่งลอยตัว" หรือ การปรับราคาโดยอัตโนมัติ
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เห็นชอบแนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เร่งรัดการจัดทำประเด็นนโยบายให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนด และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแปรรูป ปตท. ตามขั้นตอนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1.1 การดำเนินการในประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การเร่งการดำเนินการยกเลิกการควบคุมราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและการจัดทำแผน การใช้หนี้เงินชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว การจัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติและแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการจัดทำแนวทางความร่วมมือระหว่างบริษัทบางจากฯและบริษัท ไทยออยล์ฯ และการถือหุ้นในบริษัท บางจากฯ ของ ปตท. ได้มีการ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือการกำกับดูแลอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติในระยะสั้น ซึ่ง สพช. อยู่ระหว่างดำเนินการร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่ ชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบได้ในการ ประชุมครั้งต่อไป ภายในเดือนกันยายน 2544 นี้
1.2 ความก้าวหน้าในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีดังนี้
(1) หลังจากคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับ บมจ. ปตท. ที่จะจัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นของ บมจ. ปตท. ได้แก่ การกำหนดกิจการ สิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบ สินทรัพย์ ทุนจดทะเบียน รวมทั้ง เรื่องพนักงาน โครงสร้างการบริหารงาน หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับบริษัทซึ่งอยู่ระหว่างรอสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้เกี่ยวข้องจากคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการ แปลงสภาพ ปตท. เพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดตั้ง บมจ.ปตท. และนำเสนอ กนท. และ คณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการจัดตั้ง บมจ. ปตท. ในส่วนของการทำงาน คณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. มีหน้าที่กำกับดูแลการจัดโครงสร้างเงินทุนของบริษัทที่จะใช้ในการระดมทุน กำกับดูแลการประเมินทรัพย์สินของบริษัท และกำหนดแนวทางในการระดมเงินทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
(2) โดยที่ภาครัฐกำหนดให้ ปตท. ดำเนินการแปรรูปให้แล้วเสร็จภายในปี 2544 จึงมี ผลให้การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับแผนการซื้อขายหุ้นต้องเร่งพิจารณา พร้อมกับการดำเนินการแปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัท ตามพระราชบัญญัติทุนฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปเรื่องทั้งหมดได้ พร้อมเสนอ กนท. และคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 และ 25 กันยายน 2544 ตามลำดับ ส่วนแผนและแนวทางการเสนอขายหุ้น ปตท. ควรนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่ออนุมัติภายในเดือนกันยายน 2544
2. แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาวของ ปตท. มีดังนี้
2.1 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตของกลุ่มผู้ใช้ต่างๆ คาดว่าจะมีประมาณ 2,444 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2545 และเพิ่มเป็น 3,914 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2559 โดยสามารถแยกกลุ่มผู้ใช้ได้เป็นดังนี้
(1) ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในกรณีมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) 15% ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในปี 2545 อยู่ในระดับ 1,289 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะลดลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ 900-1,166 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปี 2556-2559 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP และ SPP) ความต้องการจะเพิ่มจากระดับ 648 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2545 เป็น 2,024 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2559
(2) ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง ปริมาณการใช้ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจาก 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2545 เป็น 360 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2559
(3) ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในโรงแยกก๊าซฯ ปตท. มีแผนขยายโรงแยกก๊าซฯ ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2556
2.2 การจัดหาก๊าซธรรมชาติในครึ่งแรกของปี 2544 ที่ผ่านมา ปตท. ได้จัดหาก๊าซธรรมชาติจากสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซธรรมชาติต่างๆ ในประเทศประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ ไพลิน บงกช ทานตะวัน/เบญจมาศ และน้ำพอง รวม 1,821 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสหภาพพม่า ประกอบด้วย แหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุนในปริมาณ 487 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพื่อให้การจัดหาเพียงพอกับความต้องการในอนาคต ปตท. จะจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งใหม่ 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2550 เป็นต้นไป
3. แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544 - 2554 มีดังนี้
3.1 จากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอนาคตของผู้ใช้ก๊าซฯ กลุ่มต่างๆ ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขีดความสามารถของระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลในปัจจุบันไม่สามารถรองรับกับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ ภายในปี 2549 ได้ ประกอบกับเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติตามนโนบายของรัฐ โดยการเปิดให้มีการให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อแก่บุคคลที่สามได้ ปตท.จึงได้ทบทวนแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซฯ เพื่อให้แผนดังกล่าวมีความสมบูรณ์และ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยมีโครงการดังนี้
โครงการ กำหนดแล้วเสร็จ
1. โครงการติดตั้ง Compressor กาญจนบุรี พ.ศ. 2546
2. โครงการระบบท่อส่งก๊าซฯรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล พ.ศ. 2547
3. โครงการติดตั้ง Compressor ที่ราชบุรี พ.ศ. 2547
4. โครงการก่อสร้างแท่นผลิตแห่งใหม่(ERP2) พร้อมติดตั้ง Compressorและวางท่อส่งก๊าซฯ จาก ERP2 ไปยัง KP.475 พ.ศ. 2548
5. โครงการท่อส่งก๊าซฯ จาก KP. 475 ไปยัง ERP- บางประกง พ.ศ. 2548
6. โครงการท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ.2549/2552
7. โครงการท่อส่งก๊าซฯ จาก KP. 475 ไปยังจังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2551
8. โครงการท่อส่งก๊าซฯ จากท่อเส้นที่ 3 ไปอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2553
3.2 การดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีการลงทุนในวงเงินรวม 93,060 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 45 บาท / เหรียญสหรัฐฯ) โดยจะมีการกระจายการลงทุนไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสม และเงินลงทุนทั้งหมดจะเป็นส่วนของทุนที่มาจากรายได้ของ ปตท. และส่วนของเงินกู้ที่มาจากแหล่งเงินกู้ทั้งภายในและต่างประเทศในสัดส่วน 25:75
4. สพช. พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ ปตท. ได้ร่วมกันพิจารณาแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2544-2554 แล้ว เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ปตท. โดยมีข้อสังเกตว่า ถ้าหากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว และโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินมีความล่าช้าจากแผนเดิมก็จะทำให้ปริมาณความต้องการก๊าซฯ มีมากกว่าปริมาณการจัดหา แต่หากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ ความต้องการก๊าซฯ อาจจะต่ำกว่าแผนฯ ดังนั้นจึงเห็นควรให้ ปตท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อทบทวนและปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับ สถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อให้การจัดหาก๊าซฯ และการลงทุนในระบบท่อก๊าซฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ มีความเห็นว่าหลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้ว แม้รัฐฯ จะถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 70% ในการค้ำประกันการ ลงทุนของบริษัท ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปบริหารการลงทุนเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้รัฐวิสาหกิจอื่นที่จะแปรรูปต่อไป สำหรับภาระหนี้สินที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพค้างชำระอยู่กับ ปตท. นั้น ควรที่จะมีการ แก้ไขโดยเร็วเพื่อไม่ให้กระทบกับฐานะทางการเงินของ ปตท. ก่อนที่จะมีการแปรรูปและการกำหนดมูลค่าหุ้นต่อไป
2.ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ชี้แนะเกี่ยวกับขั้นตอนการนำเสนอและขออนุมัติโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่ใช้เงินกู้ว่าไม่ควรนำเรื่องเสนอ สศช. แต่ควรเสนอกระทรวงการคลังโดยตรง เนื่องจาก ปตท. กำลังจะเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะช่วยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในระบบราชการให้น้อยลงด้วย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว และแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2544-2554 ตามที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบในการลงทุนการก่อสร้างระบบท่อโดยมีโครงการที่จะอนุมัติใน ช่วงปี 2544-2554 จำนวน 8 โครงการ มีวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 93,060 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ)
2.เห็นชอบให้ใช้แผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามมติของที่ประชุมตามข้อ 1 เป็นกรอบของการพิจารณาในรายละเอียดของโครงการในช่วงปี พ.ศ. 2544-2554 โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติในระดับนโยบาย อีกยกเว้นโครงการที่มีประเด็นนโยบายพิเศษ โดยมีโครงการที่จะขออนุมัติดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2544-2554 ดังนี้คือ
- โครงการ กำหนดแล้วเสร็จ
1.โครงการติดตั้ง Compressor กาญจนบุรี พ.ศ. 2546
2.โครงการระบบท่อส่งก๊าซฯรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล พ.ศ. 2547
3.โครงการติดตั้ง Compressor ที่ราชบุรี พ.ศ. 2547
4.โครงการก่อสร้างแท่นผลิตแห่งใหม่(ERP2) พร้อมติดตั้ง Compressorและวางท่อส่งก๊าซฯ จาก ERP2 ไปยัง KP.475 พ.ศ. 2548
5.โครงการท่อส่งก๊าซฯ จาก KP. 475 ไปยัง ERP- บางประกง พ.ศ. 2548
6.โครงการท่อส่งก๊าซฯ จากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ.2549/2552
7.โครงการท่อส่งก๊าซฯ จาก KP. 475 ไปยังจังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2551
8.โครงการท่อส่งก๊าซฯ จากท่อเส้นที่ 3 ไปอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2553
3.เห็นชอบกับขั้นตอนการนำเสนอ และขออนุมัติโครงการ ดังนี้
3.1 ให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เสนอรายละเอียดของโครงการแต่ละโครงการที่จะดำเนินการในช่วงปี 2544-2554 ดังกล่าวข้างต้น ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) โดยให้ สศช. รับพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทฯ ที่ได้รับความเห็นชอบ
3.2 ให้ ปตท. จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบไปยังสำนักนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
3.3 หากไม่มีประเด็นนโยบายที่สำคัญและเป็นโครงการที่กำหนด ให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการเองแล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่ง ชาติ เพื่อทราบ
3.4 หากเป็นโครงการที่มีประเด็นนโยบายที่สำคัญให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
4.ให้กระทรวงการคลังรับไปจัดหาเงินกู้และค้ำประกันหนี้ให้แก่องค์กรขนส่ง มวลชนกรุงเทพ เพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยทำความตกลงกับ กระทรวงการคลังถึงวิธีการจัดหาเงินกู้ดังกล่าว
เรื่องที่ 12 การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันของประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและถดถอยตั้งแต่ปี 2540 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันของประเทศ เนื่องจากกำลังการกลั่นของประเทศมีมากเกินความต้องการ และส่งผลให้โรงกลั่นทุกโรงประสบภาวะการขาดทุน โดยเฉพาะบริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก สถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากสัดส่วนในการผลิตน้ำมันเตาซึ่งปกติมีราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ สูงมากถึงร้อยละ 32 ของน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ ค่าการกลั่นที่ได้รับจึงต่ำที่สุด ส่งผลให้บริษัทฯ ประสบปัญหาการ ขาดทุนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา นอกจากนั้น โรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ มีภาระผูกพันในการจ่ายชำระคืนเงินกู้ในจำนวนที่สูง และบริษัทฯ มีความต้องการเงินทุนหรือเงินกู้ยืมโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเพิ่มขึ้น ทุกปี
2. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 รองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) ได้เชิญประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไข ปัญหาของโรงกลั่นบางจากฯ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปดำเนินการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดรูปแบบและโครงสร้างความร่วมมือของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) บริษัท บางจากฯ และบริษัทไทยออยล์ฯ ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว โดยมีกำหนดระยะเวลาในการ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
3. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ได้เห็นชอบแนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยเห็นชอบประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวทางการแปรรูปในประเด็น การบริหารจัดการบริษัทในเครือในภาคธุรกิจการกลั่นของ ปตท. ในส่วนของบริษัทบางจากฯ นั้นควรจะต้องมีความชัดเจนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการกลั่น น้ำมันของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการร่วมมือกันระหว่าง บริษัทบางจากฯ กับบริษัทไทยออยล์ฯ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก่อนกำหนดการที่จะนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 นี้
4. สพช. เป็นแกนกลางในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยสรุปแนวทางได้ดังนี้
4.1 ในระยะสั้น บริษัทบางจากฯ และบริษัท ไทยออยล์ฯ จะร่วมมือกันในลักษณะ Technical Synergy ดังนี้คือ 1) การใช้เรือขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางร่วมกัน : โดยเริ่มดำเนินการประมาณกลางเดือนกันยายน 2544 ซึ่งจะได้ประโยชน์จากค่าขนส่งที่ลดลง 2) การนำน้ำมันเตาจากบางจากฯ ไปแปรรูปเป็นน้ำมันชนิดอื่นที่มีราคาสูงกว่า (Cracking) ที่ บริษัท ไทยออยล์ฯ : โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2544 3) การใช้ท่าเรือและคลังน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์/ปตท. หรือคลังอื่นเป็นที่เก็บน้ำมันดิบแทนเรือเก็บน้ำมันดิบ Floating Storage Unit (FSU) 4) การนำแนฟทาจากบริษัทบางจากฯ ไปเข้าหน่วยเพิ่มคุณภาพที่บริษัทไทยออยล์ฯ และ 5) การทำ Operation Synergy : ทั้งสองบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนงาน
4.2 ในระยะยาว จะต้องมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังในระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ บางจากฯ ไทยออยล์ฯ และ ปตท. โดยให้โรงกลั่นไทยออยล์ฯ เป็นโรงกลั่นหลักในการสนับสนุนภาคการตลาดของธุรกิจ น้ำมันของ ปตท. และให้การดำเนินธุรกิจน้ำมันของ ปตท. เป็นลักษณะครบวงจร (Integrated refinery & marketing) และ ปตท. จะต้องถอนตัวออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทบางจากฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางธุรกิจ และเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในระดับการค้าปลีกอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยขายหุ้น ให้แก่ประชาชน/นักลงทุนหรือกระทรวงการคลัง เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย
5. การปรับปรุงกฎเกณฑ์ของรัฐเพื่อลดต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมัน กรมสรรพสามิตได้มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยออกกฎกระทรวงตามมาตรา 101 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจร่างของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนั้นในปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยภาษีศุลกากรและสรรพสามิตของประเทศไทยได้ จำกัดวัตถุดิบของโรงกลั่นน้ำมันไว้แค่น้ำมันดิบและคอนเดนเสทเท่านั้น โดยไม่ได้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้มาจากการกลั่นแยกน้ำมันดิบ ทุกชนิด ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรมีการขยายขอบเขตของวัตถุดิบให้ ครอบคลุมถึง Feedstock และ Blend stock ได้หลายชนิด ซึ่งจะช่วยเสริมให้โรงกลั่นในประเทศสามารถลดต้นทุนจากราคาวัตถุดิบได้
6. การดำเนินการตามแนวทางในข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นจะสามารถทำให้โรงกลั่นบางจากฯ และ ไทยออยล์สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ประมาณ 900-1,100 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่การปรับปรุงกฎเกณฑ์ของรัฐตามข้อ 5 จะทำให้โรงกลั่นต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้จากการมีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำลง และสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้มากขึ้น โรงกลั่นจึงมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ได้ทำให้ประเทศต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีจากที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันแต่อย่างใด
การพิจารณาของที่ประชุม
1.ประธานที่ประชุมฯ มีความเห็นดังต่อไปนี้
1.1 หากภายหลังดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวทางทั้งหมดแล้ว ผลประกอบการของบริษัท บางจากฯ โดยดูสถานะของรายได้ก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ยังเป็นลบก็จำเป็นต้องหาแนวทางที่จะยุติปัญหาที่สั่งสมให้ได้ในทันที
1.2 ในการพิจารณาขยายประเภทวัตถุดิบที่นำเข้ามากลั่นโดยไม่ต้องเสียภาษีนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาดำเนินการโดยให้ครอบ คลุมอุตสาหกรรม ทั้งหมด มิใช่เฉพาะแก้ปัญหาบริษัท บางจากฯ
1.3 การขายหุ้นบริษัท บางจากฯ ของ ปตท. ให้ ปตท. รับไปพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษาการเงินถึงแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อ การเแปรรูป ของ ปตท.
2.กรรมการผู้จัดการบริษัท บางจากฯ (นายณรงค์ บุณยสงวน) ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทมี EBITDA ติดลบประมาณ 900 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่ได้นำเสนอนั้นจะทำให้ EBITDA ของบริษัทฯ ไม่ติดลบในปี 2545 และจะเป็นบวกในปี 2546 เป็นต้นไป และการร่วมมือกันในลักษณะ Technical Synergy นั้นจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ในระยะสั้นในลักษณะ Technical Synergy ตามข้อ 4
2.เห็นชอบแนวทางในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด โดยให้ ปตท. ถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้น ในบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด โดยขายหุ้นให้แก่ประชาชน/นักลงทุน หรือ กระทรวงการคลังเมื่อโอกาส เอื้ออำนวย
3.เห็นชอบให้กรมสรรพสามิตเร่งรัดการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 101 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ให้มีการบังคับใช้โดยเร็ว
4.มอบหมายให้ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติร่วมกับโรงกลั่นน้ำมัน รับไปดำเนินการพิจารณาการขยายประเภทวัตถุดิบที่นำเข้ามากลั่นโดยไม่ต้องเสีย ภาษีให้มีขอบเขตครอบคลุมประเภทของวัตถุดิบกว้างขวางขึ้น
- กพช. ครั้งที่ 85 - วันจันทร์ที่ 10 กันยายน 2544 (1159 Downloads)