มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 3/2544 (ครั้งที่ 84)
วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
2.ความคืบหน้าของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
3.ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
4.แผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2544
5.การทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83)
6.แนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
7.การสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล
8.แผนการลงทุนของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงปีงบประมาณ 2545-2550
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบในเดือนพฤษภาคม 2544 ได้ปรับตัวสูงขึ้น 1.5-2.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามราคาน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณสำรองต่ำ รวมทั้งการที่อิรักขู่จะหยุดส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง 3.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบสำรองเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่แล้วประมาณ 17.0 ล้านบาร์เรล ส่วนราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจร สิงคโปร์ เดือนพฤษภาคมมีการปรับตัวลดลง 6.0-7.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นผลจากค่าการกลั่นที่เพิ่ม สูงขึ้นทำให้โรงกลั่นเพิ่มปริมาณการกลั่นประกอบกับปริมาณสำรองของน้ำมัน เบนซินในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในเดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง 4.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อันเนื่องจากปริมาณสำรองทางการค้าเพิ่มมากขึ้น สำหรับราคาน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.8-1.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ผลมาจากแรงซื้อในตลาดและปัญหาของโรงกลั่นในคูเวต ส่วนราคาน้ำมันเตาปรับตัวลดลง 2.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณสำรองในภูมิภาคค่อนข้างสูงและความต้องการใช้ยังไม่เพิ่มขึ้น
2. ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยเดือนพฤษภาคม น้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง 80 สตางค์/ลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลราคาไม่เปลี่ยนแปลง และในเดือนมิถุนายนราคาน้ำมันเบนซินได้ปรับตัวลดลงรวม 1.10 บาท/ลิตร น้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง 40 สตางค์/ลิตร ซึ่งมีสาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงและค่าเงินบาท ที่แข็งตัวขึ้น ส่วนค่าการตลาดในเดือนพฤษภาคมได้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.30 - 1.50 บาท/ลิตร เนื่องจากราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก เดือนมิถุนายนค่าการตลาดได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.00 บาท/ลิตร สำหรับค่าการกลั่นในเดือนพฤษภาคมปรับลดลงต่ำกว่า 50 สตางค์/ลิตร (1.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) แต่ในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.00 บาท/ลิตร (3.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล)
3. แนวโน้มราคาน้ำมันในไตรมาส 3 ของปี 2544 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นตาม ฤดูกาล แต่ปริมาณสำรองยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 26-29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเบรนท์จะอยู่ที่ระดับ 27-30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เบนซินจะอยู่ที่ระดับ 30-34 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลอยู่ที่ระดับ 32-36 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สำหรับราคาขายปลีกของไทย น้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ระดับ 16-17 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินออกเทน 91 และดีเซลอยู่ที่ระดับ 15-16 บาท/ลิตร
4. ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในตลาดโลกเดือนพฤษภาคมปรับตัวสูงขึ้น 8 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 265 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาก๊าซฯ หน้าโรงกลั่นอยู่ที่ระดับ 11.57 บาท/ก.ก. อัตราเงินชดเชยจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ระดับ 6.07 บาท/กก. แนวโน้มของราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในตลาดโลกในช่วง ไตรมาส 3 จะอยู่ที่ระดับ 275-285 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจะทำให้อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ระดับ 6.55-7.01 บาท/กก. หรือ 1,002-1,072 ล้านบาท/เดือน กรมบัญชีกลางได้รายงานยอดเงินคงเหลือของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2544 มีจำนวน 3,489 ล้านบาท มีเงินชดเชยค้างชำระ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 15,955 ล้านบาท ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 12,466 ล้านบาท โดยมีรายรับ 882 ล้านบาท/เดือน และรายจ่าย 928 ล้านบาท/เดือน ทำให้มีเงินไหลออกสุทธิ 46 ล้านบาท/เดือน
5. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้ดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2544 ปรับราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้น 0.8500 บาท/กก. ทำให้ราคาขายปลีกเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็น 11.61 บาท/กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2544 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 ความคืบหน้าของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคา น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นโดยมีความก้าวหน้าในแต่ละมาตรการสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1.1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับโครงการลดต้นทุนการผลิตและ สนับสนุนฐานการผลิตเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในจังหวัดต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวน 109 ราย และอยู่ระหว่างการประสานงานให้ที่ปรึกษาด้านพลังงานเข้าไปตรวจวัดพลังงาน เบื้องต้นในโรงงานที่ร่วมโครงการ นอกจากนี้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้เงินสนับสนุนในการ ดำเนินโครงการสาธิตการปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ที่ใช้สาร CFCs ให้ แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในวงเงิน 9.8 ล้านบาท รวมทั้ง ยังมีโครงการปรึกษาแนะนำและสร้างผู้เชี่ยวชาญการบริหารการจัดการพลังงาน และโครงการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและ ขนาดย่อม ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ
1.2 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้ดำเนินโครงการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อประหยัดพลังงาน (Tune-up) เสร็จสิ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2543 มีรถเข้าร่วมโครงการ 14,453 คัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของเป้าหมายโครงการคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงให้แก่รถที่เข้าร่วม โครงการคิดเป็นเงินประมาณ 13 ล้านบาท
1.3 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ออกประกาศให้ทุนสนับสนุนเทศบาลทั่วประเทศเพื่อจัดทำแผนสร้างทางจักรยาน และรณรงค์ขี่จักรยานแบบครบวงจรในระดับเทศบาล ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2544
1.4 สพช. ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้เบนซินที่มีค่าออกเทนเหมาะสมกับ เครื่องยนต์ ในช่วงที่ผ่านมาทำให้สัดส่วนการใช้เบนซินออกเทน 91 เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 27 ในปี 2541 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 33 49 55 ในปี 2542 2543 และ 2544 ตามลำดับ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้รวม 2,653 ล้านบาท
2. มาตรการช่วยเหลือชดเชยราคาน้ำมันเป็นรายสาขามีดังนี้
2.1 ปตท. ได้ลดราคาเบนซินและดีเซลให้แก่เกษตรกรลิตรละ 25 สตางค์ และน้ำมันหล่อลื่น ลิตรละ 2 บาท รวมทั้ง ได้ลดราคาน้ำมันดีเซลให้กลุ่มประมงลิตรละ 42-77 สตางค์ และลดราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ลิตรละ 15 สตางค์และ 7 สตางค์ ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2543 และจะขยายความช่วยเหลือจนถึงสิ้นปี 2544
2.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เงินของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรปริมาณ 15 ลิตร/เดือน/ครัวเรือน อัตราลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2543 มีเกษตรกรขอเบิกเงินชดเชยรวม 58,525 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนครัวเรือนเป้าหมาย ปริมาณน้ำมัน 2.2 ล้านลิตร เป็นจำนวนเงินชดเชย 6.5 ล้านบาท และกรมประมงใช้เงิน คชก. ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้แก่เรือประมงขนาดเล็กในอัตราไม่เกินลิตรละ 3 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม 2543 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2544
2.3 กรมการขนส่งทางบก ได้ช่วยเหลือชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งในอัตราเฉลี่ย 40 ลิตร/คัน/วัน อัตราลิตรละ 1.20 บาท โดยจัดทำเป็นคูปองน้ำมันมีระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม 2543 รวมเป็นเงินจ่ายชดเชย 133 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการช่วยเหลือชดเชยแก่ผู้ประกอบการขนส่งในช่วงเดือน มิถุนายน - สิงหาคม 2544 โดยจะจ่ายเป็นเช็คเงินสดให้ผู้ประกอบการใน แต่ละเดือนๆ ละ 48 บาท/วัน/คัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาคูปองน้ำมันปลอม
3. มาตรการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน
3.1 ปตท.ได้สนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์โดยการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซ ธรรมชาติ ให้แก่รถแท๊กซี่อาสาสมัคร จำนวน 100 คันแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2544 และอยู่ระหว่างดำเนินการขยายการติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่รถแท๊กซี่อีก 1,000 คัน โดยในแผนระยะที่ 2 จะขยายการติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่รถแท็กซี่อีก 10,000 คัน ภายใน 5 ปี รวมทั้งมีแผนที่จะก่อสร้างสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการให้บริการ แก่รถยนต์ที่ใช้ก๊าซฯ รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 30 สถานี ภายในปี 2548
3.2 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยง สัตว์รายย่อยทั่วประเทศในการสร้างบ่อผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อใช้เป็น พลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม จนถึงปัจจุบันได้มีการก่อสร้างบ่อผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว 1,054 บ่อ ได้ก๊าซชีวภาพปีละ 2.9 ล้านลบ.ม. ทดแทนก๊าซหุงต้มได้ 1.25 ล้านกิโลกรัม นอกจากนี้ กองทุนฯ จะให้การอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อ เพลิง เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการภายในเดือนกรกฎาคม 2544 และจะพิจารณาคัดเลือกโครงการภายในเดือนธันวาคม 2544
4. การจัดหาน้ำมันดิบแบบรัฐต่อรัฐ ปตท. ได้จัดหาน้ำมันดิบแบบรัฐต่อรัฐเพิ่มขึ้นจากปี 2542 ร้อยละ 25 เป็นปริมาณการจัดหาในปี 2543 รวม 132,660 บาร์เรล/วัน และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2544 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5 เป็นปริมาณ 145,890 บาร์เรล/วัน ซึ่งราคาที่นำเข้าตามสัญญานี้จะต่ำกว่าราคาในตลาดจร 81 เซ็นต์สหรัฐ/บาร์เรล
5. การเร่งสำรวจแหล่งพลังงานภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
5.1 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนยื่นขอรับสัมปทานเพื่อการ สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2543 ที่ผ่านมา เป็นแปลงสำรวจรวม 87 แปลง มีพื้นที่รวม 450,000 ตารางกิโลเมตร ขณะนี้มีผู้สนใจยื่นขอรับสัมปทานรวม 6 แปลง นอกจากนี้ยังได้เตรียมร่างประกาศกระทรวงเพื่อให้มีการยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อการสำรวจและพัฒนาถ่านหิน โดยเฉพาะในแหล่งที่กรมทรัพยากรธรณีได้มีการสำรวจและประเมินไว้แล้ว ซึ่งพร้อมจะเปิดให้เอกชนประมูลได้โดยเร็ว จำนวน 7 แห่ง คือ แหล่ง แม่ทะ เสริมงาม แจ้ห่ม-เมืองปาน เวียงเหนือ เชียงม่วน แม่ระมาด และเคียนซา รวมปริมาณสำรอง 672 ล้านตัน
5.2 การสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ได้มีการเจาะสำรวจพื้นที่ตามสัญญาแล้ว 29 หลุม พบปิโตรเลียม 15 แหล่ง เป็นปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วของก๊าซธรรมชาติ 5.16 ล้านล้านลบ.ฟ. ก๊าซธรรมชาติเหลว 112 ล้านบาร์เรล และน้ำมันดิบ 10 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ได้เห็นชอบให้มีการทำสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้างแท่นผลิตและเจาะหลุมผลิตในแห ล่งก๊าซ Cakerawala คาดว่าจะส่งมอบก๊าซได้ในปลายปี 2545 หรือต้นปี 2546
5.3 นายกรัฐมนตรีได้เยือนกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อวางกรอบแนวทางในการเจรจาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทย เพื่อให้มีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป
มติของที่ประชุม
1.รับทราบความคืบหน้าของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น
2.มอบหมายให้ สพช. หารือร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับแหล่งถ่านหินที่เวียงแหง งาว สินปุน และกระบี่ เพื่อพิจารณาให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
เรื่องที่ 3 ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 เห็นชอบให้มีการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (Ft) เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงที่มีต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้า โดยให้มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จริงและอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ได้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่การเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2535 โดยการนำค่า Ft ที่คำนวณได้ไปรวมกับค่าไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปกติ และค่า Ft จะเปลี่ยนแปลงเป็นรายเดือน ต่อมาได้มีการร้องเรียนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเนื่องจากไม่ต้องการให้ค่า Ft มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เกินไปจึงมีการพิจารณาใช้ค่าเฉลี่ย 4 เดือน
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนตุลาคม 2543 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติรับไปดำเนินการปรับค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ภายใต้หลักการดังกล่าว
3. สูตร Ft ใหม่ ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดของสูตรให้มีความชัดเจนโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยนำค่าใช้จ่ายในการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ออกจากสูตร Ft และให้การไฟฟ้าร่วมรับภาระความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่คำนวณตามสูตร Ft ใหม่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft เดิม ซึ่งค่า ไฟฟ้าตามสูตร Ft ใหม่จะเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยหลัก ดังนี้
3.1 ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเปลี่ยนไปจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าฐานที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้าง อัตราค่าไฟฟ้า
3.2 ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยต่างประเทศของการไฟฟ้า โดยการคำนวณค่า Ft ตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 เป็นต้นไป การไฟฟ้าจะต้องรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยในระดับหนึ่ง กล่าวคือ การไฟฟ้าจะต้องรับภาระ 5% แรก หากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนตัวลงจากอัตรา แลกเปลี่ยนฐาน และมีการกำหนดเพดานให้ปรับค่าไฟฟ้าผ่านสูตร Ft ได้ไม่เกิน 45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ และหากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนฐาน ให้การไฟฟ้าคืนผลประโยชน์ให้ประชาชน ผ่านสูตร Ft ทั้งหมด
3.3 รายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปของการไฟฟ้า (MR) เนื่องจากราคาขาย เปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการฐานะการเงิน ยังคงให้มีการปรับ MR ในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อเป็นการประกันว่าค่าไฟฟ้าขายปลีกจะลดลงร้อยละ 2.11 เมื่อพ้นกำหนดดังกล่าวให้นำ MR ออกจากสูตร Ft
3.4 การเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของการไฟฟ้าในส่วนที่ไม่ใช่ค่า เชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า (Non-Fuel Cost) ซึ่งจะมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และหน่วยจำหน่ายที่เปลี่ยนแปลงไป จากฐานที่ใช้ในการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ทั้งนี้ ได้มีการดูแลเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการไฟฟ้าด้วยแล้วในการกำหนด โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน โดยการไฟฟ้าจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในกิจการผลิต กิจการระบบส่ง และกิจการระบบจำหน่ายในอัตราร้อยละ 5.8, 2.6 และ 5.1 ต่อปี ตามลำดับ
4. ในการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 ได้พิจารณาค่า Ft สำหรับการเรียกเก็บในเดือนมิถุนายน-กันยายน 2544 และมีมติเห็นชอบให้มีการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้น 2.69 สตางค์/หน่วย จาก 24.44 สตางค์/หน่วย เป็น 27.13 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ เรียกเก็บจากประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 2.45 บาท/หน่วย เป็น 2.48 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.10 ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นครั้งนี้มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่งผลให้ ค่า Ft เพิ่มขึ้นประมาณ 4 สตางค์/หน่วย แต่จากอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณการไว้และ การลดสัดส่วนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าลง รวมทั้งการใช้ พลังน้ำเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ค่า Ft ลดลง 1.31 สตางค์/หน่วย นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ได้มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนการทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรี โดยให้ ส่งผ่านเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงซึ่งเสมือนว่าโรงไฟฟ้าราชบุรีดำเนิน การในกรณีปกติ ทำให้สามารถลด ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้ประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งได้นำมาลดค่า Ft ในครั้งนี้ด้วยแล้ว
5. นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนฐานอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น หากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 38-40 บาท/เหรียญสหรัฐฯ การไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระ และหากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับ 40-45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ประชาชนจะเป็นผู้รับภาระ หากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเกินกว่า 45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ การไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระ แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าน้อยกว่า 38 บาท/เหรียญสหรัฐฯ การไฟฟ้าต้องส่งผลประโยชน์ทั้งหมดให้ประชาชน และจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงเกินกว่า 45 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2544 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งต้องรับภาระของอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 327.6 ล้านบาท ในการปรับค่า Ft ครั้งนี้
6. คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งมีนายพรายพล คุ้มทรัพย์ เป็นประธานอนุกรรมการ และนายวิชิต หล่อจีระชุณห์กุล เป็นรองประธานอนุกรรมการ ร่วมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนผู้บริโภค และนักวิชาการเป็นอนุกรรมการ ได้มีการศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า และค่าไฟฟ้าตามสูตร Ft ตลอดจนพิจารณารายละเอียดทางเทคนิคที่สำคัญ อาทิ ต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน ราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) การกำหนดมาตรฐานค่าความร้อน การกำหนดอัตราความสูญเสียในระบบ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมไปแล้วจำนวน 5 ครั้ง และคณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ได้พิจารณาข้อเสนอเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการศึกษาฯ แล้ว สรุปได้ดังนี้
6.1 การเกลี่ยราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อให้ราคารับซื้อไฟฟ้าลดลงในช่วงแรกนั้น จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ โดยหากมีการเกลี่ยราคารับซื้อไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าว ประชาชนจะจ่ายค่าไฟฟ้าลดลงเพียง 1.76 สตางค์ต่อหน่วย แต่จะเสียประโยชน์คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 94,000 ล้านบาท เนื่องจากการเกลี่ยราคารับซื้อไฟฟ้าจะคำนวณบนอัตราส่วนลด (Discount Rate) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับร้อยละ 8-12 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น
6.2 การทบทวนภาระอัตราแลกเปลี่ยนในสูตรราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ซึ่งจะช่วยลดภาวะความผันผวนของค่าไฟฟ้าในอนาคตลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ ได้มอบหมายให้ กฟผ. ไปดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนต่อไป
6.3 การกำหนดมาตรฐานค่าความร้อน (Heat Rate) ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. คณะอนุกรรมการกำกับสูตรฯ เห็นด้วยในหลักการ เพื่อให้การดำเนินงานของ กฟผ. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้มีการกำหนดค่ามาตรฐานความร้อนเป็นรายโรงไฟฟ้า ในลักษณะเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 แผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2544
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2544 ได้มีมติเห็นชอบแผนประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2544 ในส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ (สพช.) รับผิดชอบ โดยอนุมัติงบประมาณดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 137,351,329.70 บาท
2. แผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2544 ในส่วนที่ สพช. รับผิดชอบมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ เข้ามามีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน โดยการใช้น้ำมันและไฟฟ้าแบบประหยัดด้วยวิธีการที่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิต ประจำวันและเห็นผลชัดเจน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้
2.1 กิจกรรมด้านการประหยัดไฟฟ้าในครัวเรือน ประกอบด้วย ชุด "โปรโมทการแข่งขันประหยัด ไฟฟ้า" เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนประหยัดไฟฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์ว่าหากครอบครัวใดสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ร้อยละ 10 ของเดือนที่ผ่านมาหรือในเดือนเดียวกันของปีที่แล้วก็จะได้รับ "ส่วนลดค่าไฟฟ้า" ในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ และหากโครงการประสบผลสำเร็จคาดว่าจะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้า คิดเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แทนผู้ใช้ไฟซึ่งได้รับ "ส่วนลดค่าไฟฟ้า"
2.2 กิจกรรมด้านการประหยัดน้ำมันในพาหนะส่วนบุคคล ประกอบด้วย
(1) ชุด "โปรโมทการแข่งขันขับรถยนต์อย่างถูกวิธี เพื่อประหยัดน้ำมัน" เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้ รถยนต์ขับรถอย่างถูกวิธีและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ โดย สพช. จะจัดทำคู่มือขับรถอย่างถูกวิธี ออกแจกจ่ายให้ กับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือและทำการวัดประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน 2-3 ครั้ง แล้วส่งผลการวัดประสิทธิภาพให้ สพช. ซึ่ง สพช. จะได้ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมัน รวมทั้ง จะมีการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ที่เหมาะสมเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อไป
(2) ชุด "โปรโมทการเติมออกเทน 91" เป็นกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจผ่านสื่อต่างๆ และได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันหรือการเข้ามามีส่วนร่วมกับ โครงการ โดยการใช้แรงจูงใจเป็นรางวัล อาทิ อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือรางวัลอื่นที่เหมาะสม
2.3 กิจกรรมปลูกจิตสำนึกสำหรับประชาชนทั่วไปและประชาสัมพันธ์โครงการของกองทุนฯ เป็นกิจกรรมรณรงค์ปลูกจิตสำนึก และเผยแพร่วิธีการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในช่วงที่ผ่านมา
3. การดำเนินงานในระยะต่อไป สพช. จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงความจำเป็นในการช่วยกันประหยัด พลังงาน และกิจกรรมที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมผ่านทางสื่อมวลชน รวมทั้งผลิตคู่มือการประหยัดพลังงานในบ้านและการเดินทางขนส่ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมโครงการการแข่งขันประหยัดไฟฟ้าและน้ำมัน
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 การทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83)
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 ได้เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมติดังกล่าวได้นำรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี ต่อไป ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2544 ได้มีมติให้ถอนเรื่องดังกล่าวคืนไปก่อน โดยให้นำความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) ไปพิจารณาทบทวนใน 2 ประเด็น แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. ประเด็นที่ให้พิจารณาทบทวนมีดังนี้
2.1 การเปลี่ยนหลักการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง โดยอิงราคาก๊าซธรรมชาติแทนการอ้างอิงราคาน้ำมันเตาอาจมีผลกระทบต่ออัตราค่า ไฟฟ้า
2.2 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานควรมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ พลังงานมากกว่าส่งเสริมการผลิตเพราะแนวทางการส่งเสริม SPP ที่ถูกต้องควรใช้วิธีการลดต้นทุนซึ่งจะทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ มากกว่าการใช้เงินกองทุนสนับสนุนการผลิต
3. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ชี้แจงเหตุผลในแต่ละประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติดังนี้
3.1 การเปลี่ยนหลักการกำหนดโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าของสัญญาระยะยาวมีอายุ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (Firm) และสัญญาระยะสั้นมีอายุน้อยกว่า 5 ปี (Non-firm) จากการอิงราคาน้ำมันเตามาอิงราคาก๊าซ ธรรมชาติ จะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสอดคล้องกับต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของการไฟฟ้าฝ่าย ผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นจริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเตาจะปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ก๊าซธรรมชาติจะอิงราคาน้ำมันเตาประมาณ ร้อยละ 30 ดังนั้น การอิงราคาก๊าซธรรมชาติจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าน้อยกว่าการอิงราคาน้ำมันเตา
3.2 ราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตามสัญญา Firm และ Non-firm ในเดือนเมษายน 2544 พบว่าราคารับซื้อที่เปลี่ยนมาอิงราคาก๊าซธรรมชาติจะต่ำกว่าราคารับซื้อซึ่ง อิงราคาน้ำมันเตา โดยสัญญา Firm ที่อิงราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลงจากที่อิงราคาน้ำมันเตา 23 สตางค์/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เหลือ 2.29 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง และสัญญา Non-firm จะลดลง 41 สตางค์/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เหลือ 1.65 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น การ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าโดยอิงราคาก๊าซธรรมชาติจะทำให้ภาระการ รับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ลดลง และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนลดลงตามไปด้วย
3.3 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม การอนุรักษ์พลังงานแล้วยังมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการนำพลังงาน หมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาใช้อย่างแพร่หลาย ดังนั้น การสนับสนุน SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ นอกจากนี้ ศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังมีอีกจำนวนมาก โดยในปี 2541 มีปริมาณชีวมวลถึง 18.8 ล้านตัน เป็นชีวมวลที่ยังไม่ได้นำไปใช้ 5.7 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,003 เมกะวัตต์ และการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นการอุดหนุนเฉพาะในส่วนที่เป็นผลต่างทาง ด้านต้นทุนสิ่งแวดล้อมของก๊าซธรรมชาติและชีวมวลในอัตราสูงสุด 36 สตางค์/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ทั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลจะต่ำกว่าโรง ไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูงกว่า เพื่อเป็นการชดเชยในส่วนต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สูงกว่าเป็นระยะ เวลา 5 ปี เพื่อจูงใจให้เกิดผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมากขึ้น
มติของที่ประชุม
ให้ยืนยันมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83) เรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ดังนี้
1.เห็นชอบหลักการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer : SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติแทนการอ้างอิงราคาน้ำมันเตา
2.เห็นชอบโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงาน หมุนเวียนโดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และสูตรการคำนวณ รวมทั้งค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามที่ได้มีการปรับปรุง ใหม่
3.โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ ให้มีผลบังคับใช้กับ SPP ดังต่อไปนี้
3.1 SPP ที่จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ SPP รายเดิม ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ที่ประสงค์จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เฉพาะกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม ให้โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่นี้มีผลบังคับใช้เฉพาะส่วนของกำลังการผลิต ส่วนเพิ่ม
3.2 SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนประเภท Firm โครงการใหม่ และ SPP ประเภท Non-firm ที่จะยื่นขอขายไฟฟ้าใหม่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ให้ SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และ SPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมสามารถเจรจาขอเปลี่ยนโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้า ใหม่ได้
เรื่องที่ 6 แนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
สรุปสาระสำคัญ
1. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2544 ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมการระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา ตลาดทุน โดยเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในการประชุมดังกล่าวเห็นชอบให้นำการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือถึงการกำหนดโครงสร้างและขั้นตอนใน การแปรสภาพ ปตท. เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ. ปตท.) โดยอาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลดังกล่าว
2. นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวทางการแปรรูป ปตท. มีดังนี้
2.1 นโยบายการค้าเสรีในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ในช่วงที่ผ่านมา ปตท. มีบทบาทในฐานะกลไกของรัฐเพื่อสนองนโยบาย ทำให้รัฐต้องกำหนดให้ ปตท. มีสิทธิพิเศษและสิทธิผูกขาดในบางเรื่อง จึงเห็นควรพิจารณาทบทวนสิทธิพิเศษและสิทธิผูกขาด รวมทั้งภาระผูกพันของ ปตท. เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุง โครงสร้างของ ปตท. ทั้งในด้านของการแยกก๊าซธรรมชาติ และบทบาทของ ปตท. ในเชิงธุรกิจ
2.2 โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในระยะยาว การแปรสภาพ ปตท. เป็น บมจ. ปตท. จะต้องคำนึงถึงโครงสร้างกิจการก๊าซฯ เพื่อให้มีการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ จึงควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการดังนี้ 1) แยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ในลักษณะการแบ่งแยกตามบัญชี (Account Separation) ก่อนนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งในลักษณะการแบ่งแยกตามกฎหมาย (Legal Separation) หลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 1 ปี 2) จัดทำแผนการลงทุนระยะยาวของระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยคำนึงถึงการทบทวนแผนแม่บทระบบ ท่อส่งก๊าซฯ ฉบับที่ 2 3) เปิดให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) ตามหลักการที่ กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมทรัพยากรธรณี) ได้ทำการศึกษาและยกร่าง 4) ในการกำกับดูแลในระยะสั้นให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติ อัตราค่าบริการผ่านท่อ คุณภาพการให้บริการ การลงทุนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมและขจัดข้ออุปสรรคในการแข่งขัน โดยให้ดำเนินการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระ ขึ้นมา 5) ในการกำกับดูแลในระยะยาว เมื่อมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระแล้วเสร็จ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... การดำเนินการกำกับดูแลต่างๆ จะเป็นหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลอิสระ
3. แนวทางการแปรรูป ปตท. ในหลักการของการจัดโครงสร้างเพื่อการแปรรูป ปตท. จะอาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้นำ ปตท. (รัฐวิสาหกิจทั้งองค์กร) แปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในขั้นต้น ก่อนที่จะแปรสภาพเป็น บมจ. ปตท. เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระยะต่อไป
4. เมื่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบและคณะรัฐมนตรี รับทราบหลักการการแปรรูป ปตท. ดังกล่าวข้างต้นตามลำดับแล้ว จำเป็นต้องเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติทุนรัฐ วิสาหกิจฯ การดำเนินการตามขั้นตอนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัด มหาชน รวมทั้งขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นและจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯ ต้องจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด และ ปตท.
5. ในการดำเนินการแปรรูป ปตท. ก่อนที่จะสามารถนำ ปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้นั้น จำเป็นต้องดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวกับการแปรรูป การดำเนินการแปรสภาพ ปตท. เป็น บริษัทฯ ตามพระราชบัญญัติทุนฯ และการเสนอขายหุ้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบประเด็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวทางการแปรรูปการ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ดังรายละเอียดข้อ 2.1-2.2 ของเอกสารประกอบวาระ 4.2 และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็นแกนกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการจัดทำ ประเด็นนโยบาย ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังรายละเอียดในข้อ 2.3 ของเอกสารประกอบวาระ 4.2 ดังนี้ คือ
1.1 มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เร่งรัดการดำเนินการในประเด็นการยกเลิกการควบคุมราคากาซปิโตรเลียมเหลว
1.2 มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับ กค. และผู้ค้าก๊าซตามมาตรา 7 เร่งรัดการจัดทำแผนการใช้หนี้เงินชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว
1.3 มอบหมายให้ ปตท. รับไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่าย รวมทั้งจัดทำแผนการลงทุนระยะยาวของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้เห็นชอบให้ ปตท. คงการถือหุ้นในกิจการดังกล่าวในสัดส่วนร้อยละ 100
1.4 มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และ ปตท. เร่งดำเนินการเปิดให้บริการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อแก่บุคคลที่สาม และเปิดให้มีการแข่งขันในแหล่งก๊าซฯ และตลาดก๊าซฯ ใหม่
1.5 มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับ อก. และ ปตท. ดำเนินการกำกับดูแลอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ในระยะสั้น
1.6 มอบหมายให้ ปตท. เร่งดำเนินการปฏิบัติการกับบริษัทไทยออยล์ จำกัด ในลักษณะ Integrated Refinery & Marketing
1.7 มอบหมายให้ สพช./กค./ปตท./บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. กับบริษัทบางจากฯ ในประเด็นการขายหุ้นของ ปตท. ในบริษัทบางจากฯ รวมทั้งดำเนินการลดการลงทุนในบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด และบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง จำกัด
1.8 มอบหมายให้ สพช. ร่วมกับ กค. บริษัทบางจากฯ และบริษัทไทยออยล์ฯ เร่งดำเนินการจัดทำแนวทางความร่วมมือกันระหว่างบริษัทบางจากฯ และบริษัทไทยออยล์ฯ
1.9 มอบหมายให้ ปตท. รับไปดำเนินการทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างหนี้และทุนของบริษัทในเครือ เช่น การเพิ่มทุน การลดทุน การเปลี่ยนแปลงมูลค่า (PAR) ต่อหุ้น และอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายมหาชน และระเบียบวิธีปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริษัทในเครือและเพิ่มความพร้อมในงานการ แปรรูปของ ปตท.
1.เห็นชอบแนวทางการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดังรายละเอียดข้อ 2.2 ของเอกสารประกอบวาระ 4.2 โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สพช. ปตท. รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเร่งดำเนินการตามขั้นตอนการแปรสภาพรัฐ วิสาหกิจของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 รวมทั้ง
2.1 มอบหมายให้คณะกรรมการระดมทุนจากภาคเอกชน เร่งดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหุ้นและจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ดังรายละเอียดในข้อ 2.3 ของเอกสารประกอบวาระ 4.2 ต่อไป
2.2 ในการระดมทุนหรือขายหุ้นให้กับภาคเอกชนข้างต้น ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจำหน่าย กิจการหรือหุ้นที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ พ.ศ. 2504
2.3 ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานแปรรูป ปตท. ให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกในการขอรับอนุมัติ การทำสัญญา การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่จำเป็นสำหรับงานการแปรรูปของ ปตท.
2.4 ในเรื่องของกำหนดเวลาที่จะระดมทุนจากตลาดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ให้คำนึงถึงสภาวะตลาดหุ้น และสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ ปตท. สามารถเตรียมการแปรรูปให้มีความพร้อมและสามารถระดมทุนในมูลค่าที่สูงหรือ เหมาะสม
1.เพื่อให้สามารถนำ ปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนฯ รับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแนวทางการ แปรรูป ปตท. โดยการแปลงทุนของ ปตท. เป็นหุ้นทั้งหมดในคราวเดียวกันแล้ว ให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งของ ปตท. ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. ทุนฯ เร่งดำเนินการได้ ก่อนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป
2.ให้ ปตท. และ/หรือบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 และ/หรือ บริษัทที่ ปตท. และหน่วยงานของรัฐถือหุ้นร่วมกันมากกว่าร้อยละ 50 บริหารงานในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม คำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไป
เรื่องที่ 7 การสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล
สรุปสาระสำคัญ
1. ในช่วงปี 2543-2544 เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันมีราคาสูงขึ้น และได้มีกระแสเรื่องการนำน้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าวมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาอย่างแพร่หลายและขยายตัวอย่างรวดเร็วในเชิงพาณิชย์ ขณะที่พืชผลของปาล์มและมะพร้าวมีราคาตกต่ำและรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือแทรก แซงราคาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 คณะอนุกรรมการติดตามการปฏิบัติราชการด้านเศรษฐกิจซึ่งมีนายเสนาะ เทียนทอง เป็นประธาน ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มและน้ำมันมะพร้าว ด้วยการแทรกแซงราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว โดยจะประกันราคารับซื้อผลผลิตและประกันราคารับซื้อน้ำมันพืชทั้ง 2 ชนิดไปใช้เป็นไบโอดีเซล
2. เนื่องจากปัญหาผลผลิตของปาล์มน้ำมันปี 2544 มีการผลิต 3.4 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้ ภายในประเทศเพียง 3.29 ล้านตัน จึงคาดว่าจะมีสต๊อกปาล์มน้ำมันสูงกว่าปกติ 50,000 ตัน ทำให้รัฐต้อง แทรกแซงราคาโดยการประกันราคาผลปาล์มสด 1.80 บาท/กิโลกรัม โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) จะรับซื้อ น้ำมันปาล์ม 50,000 ตัน เพื่อส่งออกนอกประเทศ โดยใช้เงิน 150 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลผลิตของมะพร้าวปี 2544 มีการผลิต 1.4 ล้านตัน ราคาเนื้อมะพร้าวแห้งที่ทับสะแก อยู่ระหว่าง 4.20-4.50 บาท/กิโลกรัม โดย อคส. จะต้องรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง 6 บาท/กิโลกรัม จำนวน 20,000 ตัน โดยใช้เงินประมาณ 125 ล้านบาท
3. นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าการแทรกแซงราคารับซื้อปาล์มน้ำมันและเนื้อมะพร้าวแห้ง ดังกล่าว ควรจะนำไปทำน้ำมันบริสุทธิ์สำหรับผสมน้ำมันดีเซลและใช้ในเครื่องยนต์เพื่อ ช่วยลดปริมาณการใช้ น้ำมันดีเซล โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 50,000 ตัน ในราคาลิตรละ 12.65 บาท และรับซื้อน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ จำนวน 20,000 ตัน ในราคาลิตรละ 13.28 บาท แทน อคส. เพื่อ ปตท. จะได้นำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลขายให้แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และหากมีเหลือจึงจะนำมาขายให้แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมทั้ง ได้มอบหมายให้กรมทะเบียนการค้ากำหนดมาตรฐานของไบโอดีเซลเพื่อให้ถูกต้องและ สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ และให้กรมสรรพสามิตงดเก็บภาษีน้ำมัน ไบโอดีเซล แต่คงเก็บภาษีในส่วนของน้ำมันดีเซลตามเดิม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ
4. กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอเรื่อง "โครงการไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชอื่นๆ" ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นในปี 2543 เป็นการสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชอื่นๆ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2543 เพื่อทำหน้าที่วางแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและงเสริมการใช้ไบโอดีเซลภายใน ประเทศ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดทำข้อเสนอโครงการฯ เสนอต่อคณะ รัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
4.1 ขอความเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไบโอดีเซลแห่งชาติ อยู่ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ในการวางแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีพึ่ง ตนเองในการผลิตไบโอดีเซลจากผลิตผลเกษตร กำหนดมาตรฐานคุณภาพ กำหนดอัตราการผสมไบโอดีเซลกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ กำหนดประเภทและปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไบโอดีเซล และส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล
4.2 ขอความเห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเพื่อ ใช้เป็นเชื้อเพลิง ภายใต้ข้อกำหนดของคณะกรรมการไบโอดีเซลแห่งชาติ
4.3 ขอความเห็นชอบในหลักการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการส่งเสริมด้าน ภาษี เพื่อจูงใจผู้ผลิตและผู้ใช้ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิง
4.4 ให้มีการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลภายในประเทศ
5. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ประกอบด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมทะเบียนการค้า กรมควบคุมมลพิษ กรมสรรพสามิต กระทรวงอุตสาหกรรม ปตท. และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา โดยมีข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาและสนับสนุนการนำน้ำมันจากพืชมาใช้ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
5.1 เห็นควรกำหนดชื่อส่วนผสมของน้ำมันพืชที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อเป็นการสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ดังนี้
(1) ไบโอดีเซล คือ น้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชซึ่งถูกแปรสภาพเป็น Methyl หรือ Ethyl ester
(2) ดีเซลปาล์มดิบ/ดีเซลมะพร้าวดิบ คือ น้ำมันปาล์มดิบ/น้ำมันมะพร้าวดิบผสมหรือไม่ ผสมน้ำมันปิโตรเลียม แล้วใช้ในเครื่องยนต์ดีเซล
(3) ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์/ดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ คือ น้ำมันปาล์ม/น้ำมันมะพร้าวที่กลั่นบริสุทธิ์ผสม หรือไม่ผสมน้ำมันปิโตรเลียม แล้วใช้ในเครื่องยนต์ดีเซล
5.2 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดกับเครื่องยนต์จากการนำดีเซลปาล์มดิบ และดีเซลมะพร้าวดิบมาใช้ จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติ ดังนี้
5.2.1 มาตรการระยะสั้น
(1) ให้ ปตท. รับซื้อน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่กลั่นได้จาก ผลปาล์มสดจำนวน 50,000 ตัน ตามที่ อคส. จะรับซื้อเพื่อแทรกแซงราคา และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ที่กลั่นได้จากเนื้อมะพร้าวแห้งจำนวน 20,000 ตัน ที่ อคส. จะรับซื้อเพื่อแทรกแซงราคา โดยให้นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนไม่เกิน 10% (โดยปริมาตร) และทดลองจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในระยะแรก ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลปาล์มบริสุทธิ์/ดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ดังกล่าว จะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลสำหรับใช้กับเครื่อง ยนต์ดีเซลหมุนเร็วตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์
(2) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดกับเครื่องยนต์จากการนำดีเซลปาล์มดิบ และดีเซลมะพร้าวดิบมาใช้ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติ ดังนี้
(2.1) กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน
- ให้ ปตท. เร่งทำการวิจัยเพื่อหาส่วนผสมดีเซลปาล์มบริสุทธิ์และดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศกำหนดแล้วขายให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
- ให้ ปตท. ทำการวิจัยเพื่อหาส่วนผสมดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ และดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพ น้ำมันดีเซลหมุนเร็วสำหรับใช้กับเรือประมง ตามที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศกำหนดแล้วผลิตเพื่อขายให้เรือประมง และเรือขนส่งสินค้า
(2.2) ให้ ปตท. สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ที่มีผลการวิจัยเกี่ยวกับการนำน้ำมันพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิง และผู้ประกอบการรถยนต์ เร่งประชาสัมพันธ์ร่วมกับ สพช. ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การใช้ดีเซลมะพร้าวดิบและดีเซลปาล์มดิบในเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็วอาจมีปัญหาต่อเครื่องยนต์ได้
- ดีเซลมะพร้าวดิบและดีเซลปาล์มดิบเหมาะสมที่จะใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลความ เร็วรอบต่ำ ที่ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตร เรือประมง และเรือขนส่งสินค้าอื่นๆ
- ชี้แจงและแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาเครื่องยนต์ การต่อเติมหรือปรับแต่งเครื่องยนต์ และข้อควรระวังในการใช้ดีเซล ปาล์มดิบและดีเซลมะพร้าวดิบ
- ดีเซลปาล์มบริสุทธิ์และดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ที่ผลิตโดย ปตท. มีมาตรฐานคุณภาพเดียวกับน้ำมันดีเซลที่ใช้ทั่วประเทศ จึงสามารถใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไปได้
- ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงนโยบายของรัฐต่อ การใช้น้ำมันพืชในเครื่องยนต์ดีเซล
(2.3) ให้กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันในส่วนของ น้ำมันพืชหรือ Ester ที่ผลิตจากน้ำมันพืช ในอัตราส่วนที่ผสมในน้ำมันดีเซล โดยเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเฉพาะในส่วนของน้ำมันดีเซลเท่านั้น
(2.4) ให้ยกเว้นเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนของน้ำมันพืช หรือ Ester ที่ผลิตจากน้ำมันพืช ในอัตราส่วนที่ผสมใน น้ำมันดีเซล
5.2.2 มาตรการระยะยาว ให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ดังนี้
(1) วิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่อง ยนต์ดีเซลหมุนช้าเพื่อให้ใช้ดีเซลมะพร้าวดิบและดีเซลปาล์มดิบได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
(2) วิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานคุณภาพดีเซลปาล์มบริสุทธิ์และดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ ที่ไม่มีผลเสียต่อเครื่องยนต์ และให้มลพิษไม่มากกว่าการใช้น้ำมันดีเซล
(3) ศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมจากเครื่องยนต์ที่ใช้ดีเซลปาล์มและดีเซลมะพร้าว ทั้งชนิดบริสุทธิ์และดิบ และไบโอดีเซล
(4) ศึกษา วิจัย เพื่อกำหนดมาตรฐานไบโอดีเซลของไทย
(5) วิจัยเพื่อหาวิธีการบำรุงรักษา ต่อเติม หรือปรับแต่งเครื่องยนต์ให้สามารถใช้ดีเซลปาล์มดิบและดีเซลมะพร้าวดิบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
(6) ศึกษา วิจัย เพื่อลดค่าใช้จ่ายตลอดขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การปลูกและผลิต น้ำมันจากพืช ไปจนถึงการผลิตดีเซลปาล์มบริสุทธิ์ ดีเซลมะพร้าวบริสุทธิ์ และไบโอดีเซล
(7) ศึกษา วิจัย เพื่อหาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ประชาชนไม่ใช้บริโภค เช่น สบู่ดำ และน้ำมันพืชใช้แล้ว มาใช้เป็นเชื้อเพลิง
(8) ศึกษา วิจัย เพื่อกำหนดนโยบายการใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งต้องครอบคลุมถึงผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
5.3 เห็นควรแต่งตั้งองค์กรขึ้นมากำกับดูแลในเรื่องการสนับสนุนการใช้น้ำมันจาก พืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปรับปรุงจากคณะกรรมการไบโอดีเซลแห่งชาติที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอไว้ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ ดีเซล" เพื่อความเป็นเอกภาพในการกำหนดนโยบายและประสานงานเพื่อนำนโยบายไปสู่การ ปฏิบัติ โดยมีองค์ประกอบ หน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางดำเนินงานเช่นเดียวกับที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสนอไว้ โดยมีผู้แทนของ สพช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการฯ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซลตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ในข้อ 5.1 และ 5.2
2.มอบหมายให้ สพช. ประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมของหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบในเรื่อง การนำน้ำมันจากพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งนี้ ให้นำเอาเรื่องการผลิตแอลกอฮอล์จากพืชเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิง (Ethanol) มาร่วมพิจารณาด้วย
เรื่องที่ 8 แผนการลงทุนของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงปีงบประมาณ 2545-2550
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสมบัติ อุทัยสาง) ได้รายงานแผนการลงทุนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในช่วงปีงบประมาณ 2545-2550 ให้ที่ประชุมทราบ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. กฟน. ได้จัดทำแผนการลงทุนเพื่อเป็นแผนงานหลักในการดำเนินงาน ประกอบด้วย 2 แผน คือ แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 9 ปีงบประมาณ 2545-2550 และแผนการพัฒนา ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศปีงบประมาณ 2545-2550 ซึ่งได้จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการความต้องการใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ มีคุณภาพ และเสริมความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รวมทั้งคำนึงถึงนโยบายการปรับโครงสร้าง และแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศในอนาคต
2. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 9 ประกอบด้วย 7 แผนงาน คือ 1) แผนงานพัฒนาระบบสถานีต้นทางและสถานีย่อย 2) แผนงานพัฒนาระบบสายส่งพลังไฟฟ้า 3) แผนงานพัฒนาระบบจ่ายไฟแรงดันกลางและต่ำ 4) แผนงานเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายป้อนใต้ดิน 5) แผนงานประสานงานสาธารณูปโภค 6) แผนงานเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าจาก 12 เป็น 24 เควี และ 7) แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้า โดยแผนงานดังกล่าวใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 53,490 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินตราต่างประเทศ 17,452 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.6 และเงินตราในประเทศ 36,038 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.4 ซึ่งเงินลงทุนทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจากแผนฯ ฉบับที่ 8 (ปีงบประมาณ 2540-2544) จำนวน 14,413 ล้านบาท
3. ในช่วงปีงบประมาณ 2545-2550 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2,090 เมกะวัตต์หรือเฉลี่ย ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งคาดว่าจากการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าตามแผนของ กฟน. นี้ จะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าในเขต กฟน. ได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายจำนวนไฟฟ้าดับถาวร (เกิน 1 นาที) และระยะเวลาไฟฟ้าดับถาวร ณ ปีสุดท้ายของแผนฯ 9 เท่ากับ 3.11 ครั้ง/ปี/ราย และ 65.11 นาที/ปี/ราย ตามลำดับ
4. ในส่วนของแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (แผน IT) ซึ่งดำเนินการตามนโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระดับค้าปลีก จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,015 ล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนภายในประเทศทั้งหมด ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1) โครงการปรับกระบวนงานและพัฒนาระบบงานเพื่อการบริหารงานภายใน 2) โครงการพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าผ่านตลาดกลาง และ3) โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบ เพื่อทดแทนเครื่องที่หมดอายุและเพิ่มให้เพียงพอต่อการใช้งาน
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 9 (ปีงบประมาณ 2545 - 2550) ในวงเงิน 53,489.924 ล้านบาท ตามที่ กฟน. เสนอ ทั้งนี้ เห็นควรให้ กฟน. จะต้องมีการบริหารจัดการภาระหนี้ต่างประเทศเพื่อลดผลกระทบของอัตรแลกเปลี่ยน
2.เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ กฟน. ปีงบประมาณ 2545 - 2550 โดยให้นำความเห็นของ สพช. ไปดำเนินการปรับปรุงแผนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้
2.1 การลงบัญชีการลงทุนในด้านการค้าปลีกของแต่ละกิจกรรม เช่น การวัดหน่วยไฟฟ้า การเรียกเก็บเงิน และการชำระเงินค่าไฟฟ้า เป็นต้น จะต้องแยกเป็นอิสระจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้การคิดอัตราค่าบริการของแต่ละกิจกรรมมีความชัดเจน โปร่งใส ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันในระดับค้าปลีก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า มีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้ามากขึ้น
2.2 รายละเอียดของแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ทำให้ยากต่อการพิจารณาแผนการลงทุนว่าจะสามารถรองรับการปรับโครงสร้างกิจการ ไฟฟ้าได้หรือไม่ ดังนั้นจึงเห็นควรให้ กฟน. จัดทำรายละเอียดของแผนฯ เพิ่มเติม
- กพช. ครั้งที่ 84 - วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2544 (1319 Downloads)