มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2544 (ครั้งที่ 83)
วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2544 เวลา 14.00 น.
ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานความก้าวหน้ามาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
2.อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
3.แนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการปรับโครงสร้าง
นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
นายภิรมย์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ
ประธานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงนโยบายของรัฐบาลที่เร่งรัดให้มีการนำรัฐวิสาหกิจ เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยขอให้ผู้แทนกระทรวงการคลังรายงานให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2544 ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนา ตลาดทุนไทยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจด ทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำหรับรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐลงในปี 2544 - 2546 จำนวน 16 แห่ง ในจำนวนนี้มีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะให้ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 แต่เนื่องจากเรื่องการแปรรูป ปตท. จะต้องผ่านการ พิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และมีระยะเวลาเหลืออยู่ไม่มากนักสำหรับการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องให้มี ความชัดเจนก่อนที่จะมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แก่ นโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ นโยบายการค้ำประกันเงินกู้ เป็นต้น กระทรวงการคลังจึงขอให้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ให้ทัน ภายในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
2. ในวันที่ 19 เมษายน 2544 คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งดูแลเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมด จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดเพื่อดูแลเรื่องการระดมทุนของรัฐวิสาหกิจ แต่ละแห่งให้เป็นไปตามเป้าหมายและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งระบบ ในด้านของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและได้รับความ ร่วมมือพอสมควร แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป
3. แผนการเตรียมความพร้อมนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง สามารถดำเนินการ ไปพร้อมกันได้ เพราะขั้นตอนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งก็มีอยู่แล้วในแผนแม่บท ซึ่งการนำรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์จะช่วยเพิ่มมูลค่าในตลาดทุนและจะ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก เมื่อรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย เรื่องนี้ไปแล้ว หากไม่ได้มีการดำเนินการหรือดำเนินการไม่ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้นักลงทุน ขาดความมั่นใจได้
เรื่องที่ 1 รายงานความก้าวหน้ามาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) รับไปประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนเพื่อเปิดรับฟังความเห็นให้กว้างขวาง และประมวลมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน แล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป
2. สพช. ได้เตรียมการประชุมกลุ่มย่อยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทาง ใน การ ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เห็นผลโดย เร็วที่สุด พร้อมทั้งรวบรวมปัญหาและอุปสรรคเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแก้ไขให้การดำเนินงานของหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเป็นไปตามเป้าหมาย การแบ่งกลุ่มย่อยเป็นการแบ่งตามกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สมควรได้รับการสนับสนุนซึ่งแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม และได้เริ่มการประชุมกลุ่มย่อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2544 และจะจบสิ้นในวันที่ 20 เมษายน 2544 หลังจากนั้น สพช. ได้กำหนดให้มีการสัมมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชนในวงกว้างเกี่ยว กับเป้าหมาย แนวทางการส่งเสริมและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานให้เกิดการ อนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานหมุนเวียน ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 เพื่อสรุปเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติต่อไป
3. ผลการประชุมกลุ่มย่อยครั้งแรกที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เป็นการประชุมกลุ่มของผู้ทรงคุณวุฒิด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาด เพื่อรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับมาตรการประชาสัมพันธ์ โดยที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้
3.1 การประชาสัมพันธ์โครงการรวมพลังหารสองที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายด้านการสร้างความรับรู้และทำให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความ สำคัญของการประหยัดน้ำมันและไฟฟ้า แต่ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานให้ลดลงได้ ซึ่งตรงกับผลการประเมินได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไว้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
3.2 ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่า ควรที่จะดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ พลังงานให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติด้านพลังงาน เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกองค์กรให้ความสำคัญและร่วมมือในการพยายาม ผลักดันในทุกด้านเพื่อผลสำเร็จในการสร้างสำนึกด้านการอนุรักษ์ พลังงานของทุกคน และให้เน้นการ "ประหยัดช่วยชาติ" พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างต่อ เนื่อง และควรจัดให้มีการทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เป็นแผนที่ครบวงจร หรือจัดทำแผนรวม คือ มีทั้งแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างกิจกรรม การกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อความสำเร็จของแผนงาน และในอนาคต สพช. ควรทำหน้าที่เป็นเพียงองค์กรกลางประสานและกระตุ้นจิตสำนึกของประชาชน ส่วนการสร้างกิจกรรมมีส่วนร่วมให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.3 นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอแนะกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ได้แก่
(1) ให้ยังคงกิจกรรมเก่าที่ทำแล้ว เช่น Car Pool Car Free Day โดยในส่วนของ Car Free Day เสนอแนะให้ทำการแยกเป็นเขต หรือพื้นที่บางถนน และผสมผสานแนวความคิดของ Walking Street เข้าไปด้วยกัน
(2) โครงการประกวดโรงแรม อาคารสำนักงานและศูนย์การค้าประหยัดพลังงานโดยมุ่งเน้นการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเหล่านี้
(3) ประกวดการประหยัดไฟฟ้าในระดับโรงเรียนหรือชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้ใบเสร็จค่าไฟฟ้า ที่ประหยัดในแต่ละเดือน ตลอดระยะเวลารณรงค์เป็นเครื่องมือในการพิจารณาให้รางวัล
(4) จัดการประกวดโครงการประหยัดน้ำมันขององค์กรราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน โดย มุ่งเน้นในการให้ความรู้ ความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กรนั้นๆ โดยมีการพิจารณาให้รางวัลแก่หน่วยงานที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้
(5) โครงการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเมื่อไม่ได้ใช้ เช่น แอร์ โทรทัศน์ วิทยุ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว ฯลฯ
(6) การรณรงค์ปิดน้ำ ปิดไฟ เมื่อไม่ได้ใช้
(7) โครงการรณรงค์การใช้รถยนต์ขนาดเล็ก (ขนาด CC ของเครื่องยนต์)
4. สพช. มีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรมีการดำเนินการในเรื่องการประหยัดพลังงาน ดังนี้
4.1 การเรียกร้องผ่านสื่อทุกแขนงให้ประชาชนทุกคนทำการประหยัดไฟฟ้าและน้ำมัน เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ส่งมาตรการประหยัดที่ได้ทำมาแล้วมายัง สพช. และ สพช. จะจัดส่งเครื่องหมายซึ่งอาจจะใช้ธงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงว่าผู้ได้ลงมือปฏิบัติเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกอบกู้เศรษฐกิจของ ประเทศ
4.2 จัดส่งมาตรการประหยัดที่ทำได้ง่าย เช่น การถอดปลั๊กทีวีที่ใช้รีโมทคอนโทรล และเครื่องทำน้ำร้อน น้ำเย็น เมื่อเลิกใช้แล้ว ผ่านสื่อต่างๆ ให้กว้างขวางที่สุด เพื่อเป็นแนวทางในการให้ประชาชนประหยัด
4.3 สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันด้านการประหยัดไฟฟ้า ผ่านทางโรงเรียนทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือจากครูประจำชั้นในการรวบรวมใบเสร็จค่าไฟฟ้าจากนักเรียนใน ห้องเรียนเพื่อใช้ในการคำนวณการประหยัดไฟฟ้าของครอบครัวของนักเรียนทั้ง โรงเรียน โรงเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการยกย่องจากสังคมผ่านทางสื่อมวลชนและรัฐบาล ส่วนโรงเรียนที่ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลทุนการศึกษาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
4.4 สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันด้านการประหยัดน้ำมันของหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้ ส่งผลการประหยัดน้ำมันมายัง สพช. เพื่อรวบรวมเปรียบเทียบหาผู้สมควรได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนและ รัฐบาล และผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้ามาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทด แทน และเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่ได้ดำเนินการ อยู่แล้วต่อไป
เรื่องที่ 2 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 เห็นชอบให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (Small Power Producers : SPP) งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้าด้วยระบบ Cogeneration อันเป็นการใช้พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและระบบ จำหน่ายไฟฟ้า
2. ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ได้กำหนดโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP โดยใช้หลักการต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ (Avoided Cost) กล่าวคือ SPP ที่ขายไฟฟ้าในลักษณะสัญญา Firm ที่มีระยะเวลาสัญญามากกว่า 5 ถึง 25 ปี จะได้รับค่าพลังไฟฟ้า (Capacity Payment) และค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment) ซึ่งกำหนดจากค่าลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษา ที่ กฟผ. สามารถหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต (Long Run Avoided Cost) ส่วน SPP ที่ขายไฟฟ้าในลักษณะสัญญา Non-Firm และ SPP ประเภทสัญญา Firm ที่มีระยะเวลาสัญญา น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า ซึ่งกำหนดจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ค่าดำเนินการและค่าบำรุงรักษาของโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. สามารถหลีกเลี่ยงได้ในระยะสั้น (Short Run Avoided Energy Cost)
3. โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Firm จะแตกต่างกันตามประเภทเชื้อเพลิง คือ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเตา โดย SPP ที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบเป็นเชื้อเพลิง ราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง ในส่วนของโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภท Non-Firm กำหนดค่าพลังงานไฟฟ้ารับซื้อฐานเท่ากับ 0.87 บาทต่อหน่วย ซึ่งกำหนดจากต้นทุน ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในระยะสั้น (Short Run Avoided Cost) ของโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงในปี 2534 ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงเมื่อราคาน้ำมันเตาที่ กฟผ. รับซื้อเปลี่ยนแปลงจากราคาฐาน (2.7681 บาทต่อลิตร) เกินกว่า 5 สตางค์
4. การดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้รับข้อเสนอขายไฟฟ้ารวม ทั้งสิ้น 101 ราย แต่มีบางรายที่ถูกปฏิเสธและบางรายที่ขอถอนข้อเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ในปัจจุบันมี SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้ารวม 59 ราย โดย กฟผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วจำนวน 51 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจา 8 ราย หากทุกโครงการแล้วเสร็จ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ จะมีปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 2,285 เมกะวัตต์
5. ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2544 มี SPP 44 ราย ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ. แล้ว มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 1,799 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง 16 โครงการ จำนวน 1,203 เมกะวัตต์ โครงการที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 4 โครงการ จำนวน 196 เมกะวัตต์ โครงการที่ใช้ถ่านหินและพลังงานนอก รูปแบบเป็นเชื้อเพลิง 3 โครงการ จำนวน 190 เมกะวัตต์ โครงการที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง 1 โครงการ จำนวน 9 เมกะวัตต์ โครงการที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบเป็นเชื้อเพลิง 19 โครงการ จำนวน 156 เมกะวัตต์ และโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า 1 โครงการ จำนวน 45 เมกะวัตต์
6. ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงเดือนธันวาคม 2543 คิดเป็นปริมาณรวม 23,770 ล้านหน่วย มูลค่าการรับซื้อไฟฟ้า 39,754 ล้านบาท ราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ย 1.01-1.75 บาทต่อหน่วย โดยหากพิจารณาราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภทสัญญา Non-Firm ในปี 2543 จะสูงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าประเภทสัญญา Firm เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเตาในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น กล่าวคือ ราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยปี 2543 เท่ากับ 25.32 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยปี 2542 ซึ่งมีค่าประมาณ 16.13 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยจาก SPP ประเภท Non-Firm ซึ่งอิงราคา น้ำมันเตา สูงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ประเภท Firm แสดงให้เห็นว่าสูตรการคิดค่าไฟฟ้าที่ใช้ในขณะนี้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ปัจจุบัน กฟผ. จึงเสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับ SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง และต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของโรงไฟฟ้า กฟผ. ที่เปลี่ยนแปลงไป
7. คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของการไฟฟ้า ในการประชุมครั้งที่ 1/2544 (ครั้งที่ 37) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ได้พิจารณาเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับ SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน สามารถสรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
7.1 การปรับโครงสร้างอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจากเดิมอ้างอิงราคาน้ำมันเตาเปลี่ยนมาเป็นการอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ราคาเชื้อเพลิง ในปัจจุบัน และต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ. ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสูตรการคำนวณอัตรารับซื้อไฟฟ้ายังคงกำหนดตามโครงสร้างราคาของ SPP ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งกำหนดในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า กฟผ. ควรปรับปรุงค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับ ข้อมูลในปัจจุบันด้วย
7.2 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบหลักการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตราย เล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติแทนการอ้างอิงราคาน้ำมันเตาในปัจจุบัน และเห็นชอบสูตรอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ทั้งสัญญาประเภท Firm และ Non-Firm ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการปรับปรุงค่าตัวแปรในสูตรอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามความเห็นของที่ประชุม โดยโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ ให้มีผลบังคับใช้กับที่จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน ตามโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน และ SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงที่จะยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าใหม่กับ กฟผ. รวมถึง SPP ประเภท Non-Firm เดิมที่จะต่ออายุสัญญาใหม่ ทั้งนี้ SPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมสามารถเจรจาขอเปลี่ยนสูตรโครงสร้างราคาไฟฟ้าใหม่ ได้
7.3 กฟผ. ได้ดำเนินการตามมติของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว และได้เสนอสูตรการคำนวณอัตรารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ ทั้งประเภท Non-Firm และ Firm ที่ได้มีการปรับปรุงค่าตัวแปรในโครงสร้างราคารับซื้อใหม่ตามความเห็นของคณะ อนุกรรมการฯ แล้ว
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบหลักการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตรายเล็ก (Small Power Producer : SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติแทนการอ้างอิงราคาน้ำมันเตา
2.เห็นชอบโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ และสูตรการคำนวณ รวมทั้ง ค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตรารับซื้อไฟฟ้าทั้งประเภท Non-Firm และ Firm ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานใน อนาคตของการไฟฟ้า
3.โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ ให้มีผลบังคับใช้กับ SPP ดังต่อไปนี้
3.1 SPP ที่จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตามโครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ SPP รายเดิมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ที่ประสงค์จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เฉพาะกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม ให้โครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่นี้ มีผลบังคับใช้เฉพาะส่วนของกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม
3.2 SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงที่จะยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าใหม่กับ กฟผ. รวมถึง SPP ประเภท Non-Firm เดิมที่จะต่ออายุสัญญาใหม่
ทั้งนี้ ให้ SPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. และ SPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมสามารถเจรจาขอเปลี่ยนโครงสร้างราคารับซื้อไฟฟ้า ใหม่ได้
เรื่องที่ 3 แนวทางการแก้ไขปัญหาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543 ให้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทุกภาคการใช้จนถึงสิ้นปี 2543 และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) รับไปพิจารณาความเหมาะสมของการปรับลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ ปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ทั้งระบบ
2. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 และมีมติเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซ ปิโตรเลียมเหลว โดยให้ใช้ 2 แนวทางประกอบกัน ได้แก่ การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซล มีเพดานสูงสุดของอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนฯ ไม่เกิน 0.50 บาท/ลิตร และการทยอยปรับราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซLPG เพิ่มขึ้นในระดับ ไม่เกินร้อยละ 10 ในแต่ละไตรมาส โดยมีเป้าหมายให้อัตราการชดเชยราคาก๊าซ LPG ลดลงครึ่งหนึ่งภายใน 2 ปี และเป็นศูนย์ในที่สุด ซึ่ง สพช. ได้ปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซลสู่ระดับเพดานสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
3. ต่อมาคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เห็นชอบการ แก้ไขปัญหาฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ โดยให้ปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นและราคา นำเข้าก๊าซ LPG เป็นการชั่วคราว เท่ากับราคาประกาศเปโตรมิน -10$/ตัน และให้มีการประกันราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้าต่ำสุด นอกจากนั้น ได้เห็นชอบในหลักการว่าควรจะมีการปรับเพิ่มราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซ LPG เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณา
4. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกเดือนเมษายนปรับตัวลดลง มาอยู่ในระดับ 261 $/ตัน ราคา ณ โรงกลั่นก๊าซ LPG อยู่ในระดับ 11.19 บาท/กก. อัตราเงินชดเชยจากกองทุนฯ 6.53 บาท/กก.หรือ 1,020 ล้านบาท/เดือน ประมาณการฐานะกองทุนฯ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2544 ติดลบอยู่ในระดับ 11,378 ล้านบาท และหากไม่มีการดำเนินการใดๆ คาดว่าฐานะกองทุนฯ จะติดลบในระดับ 13,000 ล้านบาท ในช่วงสิ้นปี 2544
5. โครงสร้างราคาและค่าการตลาดที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ได้ก่อให้เกิดปัญหาในระบบการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ส่งผลต่อเนื่องถึงผู้ บริโภค และการชดเชยราคาในระดับสูงเป็นสาเหตุทำให้ฐานะกองทุนฯ ติดลบในระดับสูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและปัญหาในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศ 2) ผลกระทบต่อผู้ผลิตก๊าซและประชาชน และ 3) การลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มและนำไปใช้ในรถยนต์และภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
6. คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาฐานะกองทุนฯ โดยให้เป็นการรับภาระร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) ผู้ผลิต โดยการปรับลดราคา ณ โรงกลั่น 2) กองทุนฯ โดยการ ปรับขึ้นอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ ของน้ำมันชนิดอื่น 3) ผู้บริโภค โดยการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ซึ่งในข้อ 1) และ 2) ได้ดำเนินการไปแล้ว ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง แต่การปรับขึ้นราคาขายส่งและขายปลีก ยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งหมด และจะเป็นการส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับทราบถึงต้นทุนราคาก๊าซที่ แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การปรับราคาควรจะปรับเพิ่มในระดับเดียวกันทั้งก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือน และก๊าซสำหรับรถยนต์และ อุตสาหกรรม เพราะการกำหนดราคาแตกต่างกันจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เช่น ก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบถ่ายเทก๊าซ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการร้องเรียนของผู้ขับรถรับจ้าง ปัญหาการปลอมแปลงเอกสารต้นทุนการผลิต เป็นต้น
7. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางการปรับขึ้นราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซ LPG โดยให้ทยอย ปรับขึ้นครั้งละไม่เกิน 1 บาท เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก โดยคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน เป็นผู้พิจารณาดำเนินการในช่วงที่เหมาะสม และมอบหมายให้กรมการค้าภายในรับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วย ราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้สามารถปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มได้สอดคล้องและพร้อมกับการเปลี่ยน แปลงราคาขายส่งของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน นอกจากนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในระยะยาว ใน 2 แนวทาง ได้แก่
(1) แนวทางการดำเนินการกรณียังคงการชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยรัฐควรมีวัตถุประสงค์ ที่ชัดเจนในการจ่ายชดเชยราคาก๊าซเฉพาะกลุ่ม เช่น เกษตรกรหรือผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมการใช้ก๊าซหุงต้มเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า กลุ่มผู้บริโภคทั่วไป โดยอาจมีการจัดตั้งกองทุนเฉพาะสำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว แนวทางนี้มีข้อดีเพียงการชะลอปรับราคาออกไป ส่วนข้อเสีย คือ การปรับราคายังคงเกิดขึ้น เมื่อกองทุนฯ ไม่สามารถรับภาระได้และทำให้ราคาไม่มีเสถียรภาพในระยะยาว รวมทั้ง ระดับค่าการตลาดที่ไม่เหมาะสม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันและการพัฒนาตลาดก๊าซ LPG
(2) แนวทางมุ่งสู่การยกเลิกการควบคุมราคาหรือการเปิดเสรีตลาดก๊าซปิโตรเลียม ซึ่งเป็นแนวทางตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้ยกเลิกการควบคุมราคาขายส่งและขายปลีก ซึ่งข้อเสียมีเพียงประการเดียว คือ ประชาชนต้องรับภาระตามต้นทุนราคาที่เพิ่มขึ้นทันที แต่จะทำให้ผู้บริโภคและตลาดปรับตัวได้ ส่วนข้อดี คือ กลไกตลาดทำงานได้เต็มที่ ราคาปรับตามต้นทุน ไม่เกิดการบิดเบือนในการใช้ พลังงานของประเทศ มีการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ และภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนที่รัฐไม่แทรกแซงระบบการค้าเสรี
มติของที่ประชุม
1.รับทราบการดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวเท่ากับราคาประกาศเปโตรมิน ลบ 10 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เป็นการชั่วคราว และให้มีการรับประกันราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้าต่ำสุด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2544 เป็นต้นมา
2.เห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยทยอยปรับขึ้นราคาขายส่งและขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวครั้งละไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก โดยคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการในช่วงระยะเวลา ที่เหมาะสมต่อไป
3.ให้กรมการค้าภายในรับไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการออก ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้สามารถปรับราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มได้สอดคล้องและพร้อมกับการเปลี่ยน แปลงราคาขายส่งของคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน
4.ให้คณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงานรับไปพิจารณากำหนดรายละเอียดและ ขั้นตอนในการดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียม เหลวในระยะยาวแล้วนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
- กพช. ครั้งที่ 83 - วันพุธที่ 11 เมษายน 2544 (1137 Downloads)