มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 17)
วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 10.00 น.
1. การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
2. การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถทั่วไป
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท)
เรื่องที่ 1 การทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo ( FOB Arab Gulf ) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทน โดยที่ LPG cargo คือ ราคา LPG cargo FOB Arab Gulf ของสัปดาห์ก่อนหน้าเฉลี่ย โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Platts ด้วยสัดส่วนระหว่างโพรเพนและบิวเทน 50:50 ค่า X คือ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ได้แก่ (1) ค่าขนส่ง (Freight) คือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งก๊าซ LPG ของสัปดาห์ก่อนหน้าเฉลี่ยจากราสทานูรา ประเทศซาอุดีอาระเบียมายังอำเภอศรีราชา ประเทศไทย (2) ค่าประกันภัย (Insurance) เท่ากับร้อยละ 0.005 ของ Cost and Freight (CFR) (3) ค่าการสูญเสีย (Loss) เท่ากับ ร้อยละ 0.5 ของ Cost, Insurance and Freight (CIF) (4) ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอื่นๆ เช่น Demurrage, Import Duty และค่าใช้จ่ายอื่น เป็นต้น และอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายให้กับลูกค้าธนาคารทั่วไปที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ของสัปดาห์ก่อนหน้าเฉลี่ยการเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG อ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นข้อมูลรายเดือนเป็นข้อมูลรายสัปดาห์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวันจันทร์ (หรือวันทำการวันแรกของสัปดาห์) นอกจากนี้ เห็นชอบปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกจากการคำนวณด้วยโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPGเป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน
2.เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 กบง. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการกำหนดอัตราเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันฯ สำหรับก๊าซที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หรือ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม และมอบหมายให้ สนพ. ออกประกาศ กบง. ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 กบง. ได้มีมติเห็นชอบให้คงหลักเกณฑ์โครงสร้างราคาก๊าซ LPG ตามที่ กบง. เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 โดยให้ใช้ต่อไปในเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 และเห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ รักษาเสถียรภาพราคาก๊าซ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วยระบบ Managed Float โดยกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 363 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนและอัตราเงินชดเชย สำหรับก๊าซ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่รวมถึงก๊าซที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เท่ากับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นลบด้วยภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อราชการส่วนท้องถิ่น อัตราเงินกองทุนอนุรักษ์ และราคา ณ โรงกลั่น ทั้งนี้การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ปัจจุบันกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG อยู่ที่ 21.87 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆ แล้ว จะทำให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่กรอบเป้าหมาย 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
3. ปัจจุบันได้เกิดภาวะแพร่กระจายของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับว่าราคา LPG ตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2563 ราคาตลาดโลกลดลงประมาณ 205.82 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 38 จาก 535.17 สู่ระดับ 329.35 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศลดลงต่ำกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ LPG ตามที่ กบง. ได้เคยมีมติไว้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 โดยไม่กระทบต่อผู้ใช้ทุกภาคส่วน และในอนาคตหากราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศสูงกว่า 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม กระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกในประเทศได้ จึงขอเสนอให้ยกเลิกการกำหนดราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายก๊าซ LPG ที่ปัจจุบันกำหนดให้เท่ากับ 17.1795 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะมีผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกตลาด โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
2.เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาท ต่อไป
เรื่องที่ 2. การให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถทั่วไป
สรุปสาระสำคัญ
1. การกำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ โดยมีมติ กบง. ที่สำคัญ ดังนี้ (1) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 เห็นชอบให้ลอยตัวราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ให้ปรับราคาก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนโดยให้ค่าดำเนินการที่ 3.4367 บาทต่อกิโลกรัม และให้ปรับราคาขายปลีก NGV ให้สะท้อนกับต้นทุนราคาเฉลี่ย Pool Gas ของเดือนที่ผ่านมาในทุกวันที่ 16 ของแต่ละเดือน ขอความร่วมมือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) คงราคาขายปลีก NGV ที่ 10.00 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไป และปรับเพิ่มวงเงินช่วยเหลือฯ จากเดิม 9,000 บาทต่อเดือน เป็น 10,000 บาทต่อเดือนและกลุ่มที่ได้รับ 35,000 บาทต่อเดือนเป็น 40,000 บาทต่อเดือน โดยให้ช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะไปจนกว่าจะมีกลไกถาวรอื่นมาดูแลแทน ในส่วนค่าขนส่งก๊าซ NGV นอกรัศมี 50 กิโลเมตรจากสถานีหลักตามระยะทางจริง ขอความร่วมมือ ปตท. คิดค่าขนส่งที่ 0.0150 บาทต่อกิโลกรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 4 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่ 21 มกราคม 2559 (2) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ จากเดิมอยู่ที่ 10.00 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 10.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 และขอความร่วมมือ ปตท. คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ (ในเขตกรุงเทพฯ/ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 และเมื่อครบ 1 ปีแล้วให้ปรับราคาขายปลีก NGV ให้สะท้อนต้นทุน (3) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ขอความร่วมมือ ปตท. ขยายเวลาการให้ส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 และให้ปลัดกระทรวงพลังงาน จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป (4) เมื่อวันที่19 เมษายน 2562 เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 10.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 13.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 1 บาท ทุก 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และขอความร่วมมือ ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะในระหว่างที่ทยอยปรับขึ้นราคาเพื่อคงราคาขายปลีกที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
2. กระทรวงพลังงานได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะและราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือน เฉพาะกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร (คณะทำงานฯ) โดยมี ปพน. เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กรมการค้าภายใน และ ปตท. โดยมี สนพ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 คณะทำงานฯ ได้เห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ โดยมีมติให้ ปตท. ทยอยปรับราคาขายปลีก NGV ให้สะท้อนต้นทุนในระยะ 6 เดือน โดยปรับราคาประมาณเดือนละ 1.04 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ให้ ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาปลีก NGV ในระหว่างที่ทยอยปรับราคาขายปลีก NGV ให้สะท้อนต้นทุน และให้ ปตท. และ สนพ. ไปหารือคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยสำหรับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและนำมาเสนอในที่ประชุม ทั้งนี้ ปตท. และสนพ. ได้หารือคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการฯ กรมบัญชีกลาง และกรมการขนส่งทางบก โดยจะเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือราคา NGV กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ จากบัตรส่วนลดราคา NGV รถโดยสารสาธารณะ ซึ่ง ปตท. ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 เป็นการช่วยเหลือค่าเดินทางแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรงผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก่อนจะปรับลอยตัวราคาขายปลีก NGV รถโดยสารสาธารณะให้สะท้อนราคาขายปลีก โดยคงราคา NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15-16 บาทต่อกิโลกรัม
3. เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 คณะทำงานฯ รับทราบแนวทางและขั้นตอนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV จากโครงการบัตรส่วนลด NGV ช่วยเหลือผู้ให้บริการ เป็นการช่วยเหลือค่าโดยสารผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเหลือผู้รับบริการ ตามที่ ปตท. เสนอ แต่ด้วยปัจจุบันได้เกิดภาวะแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้รับหนังสือขอให้ปรับลดราคาขายปลีก NGV จากกลุ่ม Taxi และกรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือขอให้กระทรวงพลังงานทบทวนนโยบายการช่วยเหลืออุดหนุนราคาเชื้อเพลิงสำหรับรถสาธารณะ เนื่องจากมีปริมาณผู้โดยสารลดน้อยลงมาก อาจเกิดภาวะการขาดทุนสะสมจากค่าเชื้อเพลิง คณะทำงานฯ จึงมีมติให้นำเสนอ กบง. เพื่อขอความร่วมมือ ปตท. ให้คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ (ในเขต กทม./ปริมณฑล: รถแท็กซี่/ตุ๊กตุ๊ก/รถตู้ ร่วม ขสมก. ในต่างจังหวัด: รถโดยสาร/มินิบัส/สองแถว ร่วม ขสมก. รถโดยสาร/รถตู้ ร่วม บขส. และรถแท็กซี่) ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ ปตท. สนับสนุนส่วนลดสำหรับรถโดยสารสาธารณะ ปี 2563 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ภายในกรอบวงเงิน 360 ล้านบาท (ณ วันที่ 16 มีนาคม 2563 ส่วนลดสำหรับรถโดยสารสาธารณะเท่ากับ 1.69 บาทต่อกิโลกรัม) ขอขยายต่อไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563) และมอบหมายให้ สนพ. และ ปตท. ศึกษาแนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ที่ติดตั้งเครื่อง Electronic Data Capture: EDC นอกจากนี้ ได้มอบให้ สนพ. ร่วมกับ ปตท. จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาอัตราค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะที่เป็นธรรม
4. ฝ่ายเลขานุการฯ มีความเห็นสอดคล้องกับคณะทำงานฯ โดยขอความร่วมมือ ปตท. คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะฯ ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 3 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563) และเห็นว่าราคาขายปลีก NGV รถยนต์ทั่วไป ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2563 ควรจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.36 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ ปตท. ยังคงจำหน่ายราคาขายปลีก NGV รถยนต์ทั่วไปที่ราคา 15.31 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อพิจารณาแนวโน้มราคาขายปลีก NGV ตามสัญญาการซื้อขายก๊าซฯ ที่ ปตท. ประมาณการไว้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะอยู่ในค่าเฉลี่ย 15.31 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2563 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับ 14.49 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมัน และ LPG ลดลงตามราคาตลาดโลก ซึ่งสวนทางกับราคา NGV เพื่อบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอให้คงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.31 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก 5 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2563)
มติของที่ประชุม
1.รับทราบแนวทางการให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะตามความเห็นของคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะ
2.เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกราคาก๊าซ NGV รถทั่วไปที่ 15.31 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีก5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2563