รับฟังความคิดเห็น TIEB
"สนพ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศ (TIEB) ฉบับใหม่"
“สนพ. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เดินหน้าขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศ (TIEB) ฉบับใหม่“
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขแผน บูรณาการพลังงานระยะยาว (Thailand Integrated Energy Blueprint-TIEB) ฉบับใหม่ หรือแผนแม่บทพลังงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2563) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-2580 ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรในสังกัดกระทรวงพลังงานนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนTIEB ฉบับใหม่ จำนวน 4 แผน จาก 5 แผนพลังงาน ได้แก่ แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP2018), แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (Power Development Plan: PDP2018 Rev.1), แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP2018) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018) พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน
สาระสำคัญของแผน TIEB ฉบับใหม่ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน และมีความสอดคล้องกัน ได้แก่
แผน AEDP2018 ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และความร้อนให้สอดคล้องกับแผน PDP2018Rev.1 เพื่อสนับสนุนนโยบาย Energy For All ในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยในปี 2563 – 2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid กำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ พร้อมทั้งปรับลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพตามทิศทางการใช้พลังงานในอนาคต เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง และการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแล้วเสร็จ ยังรักษาระดับเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี 2580
สำหรับแผน PDP2018Rev.1 ได้มีการปรับเป้าหมายคือ (1) รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ใหม่) ในบางประเภทเชื้อเพลิง โดยยังคงเป้าหมายรวมไว้เท่าเดิมที่ 18,696 เมกกะวัตต์ ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง และปรับเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. 69 เมกกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) (2) เพิ่มนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (ชีวมวล), ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid เข้าระบบตั้งแต่ปี 2563–2567 มีกำลังผลิตรวม 1,933 เมกกะวัตต์ (3) ชะลอโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ ปีละ 60 เมกกะวัตต์ จากปี 2564– 2565 ไปเป็นปี 2565–2566 (4) เร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 2577 มาเป็นปี 2565 (5) สมมติฐานการรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าชุมชน) ภายหลังปี 2567 จะใช้ตามสมมติฐานเดิมในแผน PDP 2018
ในส่วนแผน EEP2018 โดยตั้งเป้าการลด (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2553 มีเป้าหมายลด Peak 4,000 เมกะวัตต์ หรือลดพลังงาน 49,064 ktoe ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์/5 กลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นมาตรการเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) มีมาตรการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้พลังงานทุกสาขาเศรษฐกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน
โดยแผน Gas Plan2018 มีความสอดคล้องกับ PDP2018Rev.1 โดยพบว่าความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 MMSCFD โดยมีแนวโน้มการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง ด้านการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 มีความจำเป็นต้องจัดหา LNG Terminal ในภาคใต้ (5 ล้านตันต่อปี ) ในปี 2570 และการจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ สนพ. เชื่อมั่นว่าการรับฟังความคิดเห็นต่อแผน TIEB ฉบับใหม่ ในครั้งนี้ จะเป็นแผนแม่บทที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ของไทย ในการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนพลังงานไม่แพง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ในระดับสากล โดยหลังจากนี้จะมีการนำแผน TIEB ฉบับใหม่ เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือนมีนาคมนี้
***************************