มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2562 (ครั้งที่ 14)
วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายเพทาย หมุดธรรม)
รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
เรื่องที่ 1 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ดังนี้ (1) เบนซินออกเทน 95 เท่ากับ ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชียบวกค่าพรีเมียม ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนหารด้วย 158.984 โดยที่ค่าพรีเมียม ประกอบด้วย ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ร้อยละ 0.084 ของ C&F ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ (2) เบนซินออกเทน 91 เท่ากับ ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชียบวกค่าพรีเมียม 60 องศาฟาเรนไฮต์ คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนหารด้วย 158.984 โดยที่ค่าพรีเมียมประกอบด้วย ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ร้อยละ 0.084 ของ C&F ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
2. ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลาง ของตลาดภูมิภาคเอเชีย คำนวณจากหลักการเสมอภาคการนำเข้า (Import Parity) จากตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย (ประเทศสิงคโปร์) ซึ่งปัจจุบันอ้างอิงด้วยราคา MOPS (Mean of Platts Singapore) Gasoline 95 Unl และค่าพรีเมียม โดยมีส่วนประกอบหลักสองส่วน คือ (1) ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน และ (2) ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า (ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง) และบริษัท S&P Global Platts เป็นองค์กรที่ประกาศราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย ได้มีประกาศปรับคุณลักษณะของน้ำมันเบนซิน 92 (MOPS Gasoline 92 Unl) น้ำมันเบนซิน 95 (MOPS Gasoline 95 Unl) และน้ำมันเบนซิน 97 (MOPS Gasoline 97 Unl) ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยปรับลดปริมาณกำมะถัน (Sulphur) ความดันไอ (Reid Vapor Pressure) จุดเดือดสุดท้าย (Final Boiling Point) อะโรมาติก (Aromatics) และโอเลฟิน (Olefins) ซึ่งการประกาศปรับคุณลักษณะดังกล่าวยังคงมีคุณสมบัติของน้ำมันบางรายการไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเบนซินของประเทศไทย ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 และเนื่องจาก การกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินของประเทศไทยมีคุณภาพสูงกว่ามาตรฐานน้ำมันที่ซื้อขาย ในตลาดภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอ้างอิงจาก S&P Global Platts ทั้งนี้ คุณลักษณะของน้ำมันเบนซินของตลาดภูมิภาคเอเชียที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินในส่วนของค่าปรับคุณภาพน้ำมัน เพื่อให้ได้มาตรฐาน EURO 4 ตามประกาศของ ธพ. ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 กบง. ได้กำหนดให้มีค่าต้นทุนส่วนเพิ่ม EURO 4 ของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ที่ระดับ 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้ค่าต้นทุนส่วนเพิ่ม EURO 4 ดังกล่าวเป็นค่าปรับคุณภาพน้ำมันตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ค่าปรับคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ที่ 2.46 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และค่าปรับคุณภาพน้ำมันของน้ำมันเบนซินออกเทน 91 อยู่ที่ 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
3. เพื่อให้หลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินสะท้อนต้นทุนตามปัจจุบัน ซึ่งมีการปรับคุณลักษณะของน้ำมันเบนซินของตลาดภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศยังต้องปรับปรุงคุณลักษณะของน้ำมันเบนซินบางรายการให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพน้ำมันของประเทศ ฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน โดยให้ สนพ. ขอข้อมูลโรงกลั่นน้ำมัน ดังนี้ (1) ค่าปรับคุณภาพน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งครอบคลุมถึงต้นทุนส่วนเพิ่มการผลิตน้ำมัน ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินพื้นฐาน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562 (2) ค่าพรีเมียมของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งประกอบด้วย ค่าขนส่งทางเรือ (สิงคโปร์ – ศรีราชา) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา - กรุงเทพฯ) ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง และ (3) ปริมาณจำหน่าย และราคาขายส่งเฉลี่ยหน้าโรงกลั่น (บางจาก ศรีราชา ระยอง) ของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้โรงกลั่นน้ำมันส่งข้อมูลให้ สนพ. ภายใน7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ไปดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินต่อไป
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการขอข้อมูลโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อใช้ในปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ดังนี้
2.1 ค่าปรับคุณภาพน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งครอบคลุมถึงต้นทุนส่วนเพิ่มการผลิตน้ำมัน ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซินพื้นฐาน พ.ศ. 2562 และประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันเบนซิน พ.ศ. 2562
2.2 ค่าพรีเมียมของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และออกเทน 91 ซึ่งประกอบด้วย 1) ค่าขนส่งทางเรือ (สิงคโปร์ – ศรีราชา) 2) ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) 3) ค่าประกันภัย 4) ค่าสูญเสีย และ 5) ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง
2.3 ปริมาณจำหน่าย และราคาขายส่งเฉลี่ยหน้าโรงกลั่น (บางจาก ศรีราชา ระยอง) ของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ให้โรงกลั่นน้ำมันส่งข้อมูลให้ สนพ. ภายในวันที่ 7 มกราคม 2563
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ด้านการบริหารจัดการพลังงาน ประเด็นการปฏิรูปที่ 3 ปฏิรูปการสร้างธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วน แนวทาง 4 ส่งเสริมและสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกองค์กร โดยการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งได้เสนอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน โดยภาคอุตสาหกรรมและกิจการพลังงาน และให้เริ่มนำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และการปฏิรูปรูปแบบของการจัดกิจกรรมทางสังคมของผู้ประกอบการ โดยดำเนินการเป็นองค์รวมในรูปแบบของกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมจะตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึง โดยจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทจำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) และมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ จากรัฐ โดยการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงและขับเคลื่อนให้เกิดการซื้อขายสินค้า (Matching) ระหว่างผู้ผลิต (Supply) คือวิสาหกิจชุมชน ผู้บริโภค (Demand) คือ โรงงาน พนักงาน และประชาชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างรายได้แก่วิสาหกิจชุมชนและทำหน้าที่พัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าของวิสาหกิจชุมชน โดยบริษัทวิสาหกิจนี้ได้รับการสนับสนุนจัดตั้งโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และบริหารจัดการร่วมกันโดยกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน และเพื่อให้บริษัทดำเนินกิจกรรมในการสนับสนุนการซื้อขายและการพัฒนามาตรฐานสินค้าชุมชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและของวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐและไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในการกำกับดูแล ซึ่งการมีวิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน (Integration) ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และยังเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับโครงการ CSR ที่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
2. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน (กยผ.สป.พน.) ได้มอบหมาย ให้มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (สถาบันฯ) ดำเนินงานโครงการศึกษาการบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนำร่องในพื้นที่มาบตาพุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความยอมรับและความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดอุปสรรคในการพัฒนา โดยใช้แนวทางความรับผิดชอบต่อธุรกิจสังคม ประกอบการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม นำร่องในพื้นที่ มาบตาพุด การดำเนินงานโครงการฯ มีระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึง กุมภาพันธ์ 2563 และกยผ.สป.พน. ได้ยกร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../ 2562 เรื่อง แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 12 คน มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานและผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม โดยมีหน้าที่และอำนาจในการยกร่างการดำเนินการและขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการและนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติสนับสนุนการดำเนินโครงการนำร่องบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมมาบตาพุด โดยหลังจากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุดสำเร็จ คณะอนุกรรมการฯ จะมีหน้าที่พิจารณาผลการศึกษาและกำหนดแนวทางดำเนินการ มาตรการสนับสนุนและแผนปฏิบัติการเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ขอความเห็นชอบร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด
มติของที่ประชุม
มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน ปรับปรุงร่างคำสั่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ ../2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมและการขับเคลื่อนการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่มาบตาพุด โดยปรับปรุงขอบเขตการดำเนินงานให้อยู่ในอุตสาหกรรมด้านพลังงานและปิโตรเคมี ทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมและให้นำเสนอคณะกรรมการ บริหารนโยบายพลังงานพิจารณาต่อไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติรับทราบ การเปลี่ยนการช่วยเหลือ กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ในโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือน ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้การช่วยเหลืออยู่เดิม มาเป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยการให้ส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
2. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้มีหนังสือถึง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 3 เดือน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ หากกรมบัญชีกลางมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ถุงเงินประชารัฐ” เสร็จ โดยร้านค้าก๊าซสามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้มเรียบร้อยแล้ว จึงให้ยกเลิกการช่วยเหลือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ