มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2562 (ครั้งที่ 148)
เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 09.30 น.
1. แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
2. แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
3. กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน)
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 คณะรัฐมนตรี (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า (2) การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ กระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ และจัดทำแนวทางการใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO5 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และให้มีราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง (3) ยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) พลังงานต้องมีต้นทุนราคา ที่เป็นธรรมสามารถยอมรับได้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordable) และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างกลไกให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้านพลังงาน สร้างงานและสร้างรายได้ให้ชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy for all) โดยการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้า มุ่งเน้นให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในชุมชนตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง ราคาถูก โดยอาจใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. ฝ่ายเลขานุการฯ ขอเสนอกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
2.1 หลักการและเหตุผล (1) ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้า อย่างยั่งยืน (2) ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า (3) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ตามศักยภาพเชื้อเพลิง และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ (4) สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการสร้างระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า (5) ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและ การจำหน่ายไฟฟ้า (6) สร้างการยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ
2.2 กรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ประกอบด้วย (1) พื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ (2) โครงสร้างพื้นฐาน มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้ (3) งบประมาณสนับสนุน เปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน (4) แนวทางการจัดตั้ง ได้แก่ การให้ภาครัฐและ/หรือเอกชนและ/หรือชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายใต้แผน AEDP และสอดคล้องกับแผน PDP2018 โดยอาจเร่งรัดให้มีการรับซื้อเร็วขึ้นจากแผนตามความเหมาะสม ในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพจากพืชพลังงานจะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชุมชนต้องมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนกับ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ราคารับซื้อไฟฟ้าต้องไม่กระทบหรือกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด มีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้าคืนสู่ชุมชน ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงานตามสัดส่วนที่ชุมชนได้มีการร่วมทุนในโรงไฟฟ้าชุมชน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุ ทางการเกษตร และ (5) ขั้นตอนการดำเนินงาน ได้แก่ นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณามอบหมายให้ กบง. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับความเห็นชอบ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ และพื้นที่ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านระบบส่งและระบบจำหน่าย เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน จากนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน ดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565
2.3 ผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก มีดังนี้ (1) ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชน และลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชน (2) ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (3) เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน (4) เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และ (5) ชุมชนสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ สร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน เช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ
2. เห็นชอบให้นำความเห็นของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไปพิจารณาประกอบการจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เช่น
2.1 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควรที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้ชุมชนได้อย่างมีเสถียรภาพ และไม่เป็นภาระต่อระบบ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าแบบผสมผสานหลายเชื้อเพลิง (Hybrid) และพิจารณาถึงการนำระบบกักเก็บพลังงานเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบ
2.2 โรงไฟฟ้าชุมชนควรเน้นผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในชุมชนให้มากที่สุดเป็นอันดับแรกและให้มีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือขายเข้าระบบน้อยที่สุด โดยจะต้องมีอัตราการรับซื้อที่เหมาะสมไม่กระทบค่าไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าโดยรวม
2.3 ควรพิจารณากรอบวัตถุประสงค์และกฎระเบียบการใช้เงินจากกองทุนต่างๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนในโครงการให้เหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายของกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 ควรพิจารณาถึงการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหา การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรและลดปัญหามลพิษ PM 2.5
2.5 ควรกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการให้มีความชัดเจน โปร่งใส และ เป็นธรรม โดยเฉพาะขั้นตอนการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ และควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและประเทศด้วย
2.6 ควรกำหนดแนวทางและมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนรอบโครงการ
3. มอบหมายคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานดำเนินการจัดทำรายละเอียดในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
เรื่องที่ 2 แนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล
สรุปสาระสำคัญ
1. กระทรวงพลังงานได้เร่งส่งเสริมให้รถยนต์ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 และบี20 อย่างต่อเนื่อง โดยให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี7 อยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ต่ำกว่า บี7 อยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร หรือหมายถึงส่วนต่างราคาขายปลีกฯ บี10 และ บี20 ต่างกัน 4 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ยอดจำหน่าย บี10 และ บี20 เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลดีในการส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซล บี100 เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil; CPO) สูงขึ้น และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปัจจุบันการใช้น้ำมัน บี7 ยังคงเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนการใช้สูงสุดของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ประมาณ 55.3 ล้านลิตรต่อวัน โดยคิดเป็นร้อยละ 89 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด ในขณะที่การใช้ บี20 อยู่ที่ระดับประมาณ 6.7 ล้านลิตรต่อวัน สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระชดเชยประมาณ 875 ล้านบาทต่อเดือน และหากการใช้น้ำมัน บี20 มีอัตราเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายมาก จะทำให้ปริมาณ CPO ภาพรวมทั้งประเทศที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ
2. กระทรวงพลังงาน ขอเสนอแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล เพื่อยกระดับการใช้น้ำมันดีเซลจาก บี7 ไปสู่การใช้ บี10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศอย่างเต็มรูปแบบในปี 2563 และ บี20 เป็นน้ำมันทางเลือกของกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีแนวทางการส่งเสริม ดังนี้ (1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปรับส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน บี10 ให้ต่ำกว่า บี7 จาก 1 บาทต่อลิตร เป็น 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน บี20 ให้ต่ำกว่า บี7 จาก 5 บาทต่อลิตร เป็น 3 บาทต่อลิตร หลังการปรับส่วนต่างราคาน้ำมันดังกล่าว คาดว่า ณ เดือนธันวาคม 2562 การใช้น้ำมัน บี7 ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 50 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว หรือประมาณ 30 – 32 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนการใช้น้ำมัน บี10 เพิ่มขึ้นทดแทนการใช้น้ำมัน บี7 อยู่ที่ระดับร้อยละ 50 ของการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว หรือประมาณ 30 – 32 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้น้ำมัน บี20 ลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 5 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ปาล์มน้ำมันที่ระดับ 4 บาทต่อกิโลกรัม อาจทำให้ราคา บี100 เพิ่มขึ้นประมาณ 7 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจทำให้ราคาขายปลีก บี7 บี 10 และ บี 20 เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 0.70 และ 1.50 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ดังนั้น กรณีที่ราคาขายปลีกมีราคาสูงขึ้นมากจนส่งผลกระทบต่อประชาชน เห็นควรให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สามารถพิจารณาปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และนำเงินที่กองทุนน้ำมันฯ สะสมไว้มาชดเชยได้ (2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 บังคับใช้น้ำมัน บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน และให้น้ำมัน บี7 และ บี20 เป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุก รวมทั้งประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด ทั้งนี้ ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางพลังงานในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ในประเทศมากขึ้น ความต้องการใช้ บี100 ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคา CPO ของประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในภาคคมนาคมขนส่ง
3. ความพร้อมในการดำเนินการด้านอื่นๆ ได้แก่ (1) ความพร้อมของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คาดการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2562 ครึ่งปีหลัง จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 7.490 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 โดยไตรมาสที่ 4 คาดว่าผลผลิตในเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม จะออกสู่ตลาดประมาณ 1.312 ล้านตัน 1.391 ล้านตัน และ 1.208 ล้านตัน ตามลำดับ และกระทรวงพาณิชย์ รายงานปริมาณ CPO คงเหลือ ระหว่าง 24 – 26 กรกฎาคม 2562 มีจำนวน 451,127 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.65 จาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งมีจำนวน 400,441 ตัน ทั้งนี้ ตามเป้าหมายการส่งเสริมการใช้น้ำมัน บี10 ของกระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ณ เดือนธันวาคม 2562 จะมีปริมาณการใช้ บี100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน เทียบเท่าการใช้ CPO 167,360 ตันต่อเดือน ซึ่งคาดว่าปริมาณ CPO คงเหลือในปัจจุบันและผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้จะสามารถรองรับการผลิต บี100 ได้เพียงพอ (2) ความพร้อมของผู้ผลิตไบโอดีเซล (บี100) ปัจจุบันมีผู้ผลิต บี100 ทั้งหมด 13 ราย กำลังการผลิตรวม 8,312,242 ลิตรต่อวัน โดยมีผู้ผลิตบี100 สำหรับใช้ผสมเพื่อผลิตเป็น บี10 (ค่าโมโนกลีเซอไรต์ ไม่สูงกว่าร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนัก) จำนวน 9 ราย กำลังการผลิตรวม 6,892,242 ลิตรต่อวัน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการผลิต (3) ความพร้อมของรถยนต์ ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล จำนวน 10,466,820 คัน ค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้น้ำมัน บี10 ได้ประมาณ 5,231,972 คัน (ร้อยละ 50 ของจำนวนรถยนต์ดีเซลทั้งหมด) ส่วนรถยนต์ดีเซลที่หมดการรับประกันแล้ว จะใช้กลไกส่วนต่างราคาเพื่อจูงใจให้ใช้น้ำมัน บี10 และ (4) ความพร้อมของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีความพร้อมและสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อการเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน บี10 เพิ่มขึ้น
4. เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 กบง. ได้เห็นชอบแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้ (1) เห็นชอบการขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน บี7 ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมัน บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน บี7 ที่ 3 บาทต่อลิตร โดยให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป (2) เห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมัน บี7 และ บี20 เป็นทางเลือก และ (3) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยให้กระทรวงพลังงาน บริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้บริโภค ให้กรมธุรกิจพลังงาน ติดตามปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว และประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 และให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไบโอดีเซล และดำเนินการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบการขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซล หมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร โดยให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
2. เห็นชอบการบังคับใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 เป็นทางเลือก
3. เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบรรลุตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
3.1 ให้กระทรวงพลังงาน บริหารจัดการการใช้ไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และกระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อใช้บริโภค
3.2 ให้กรมธุรกิจพลังงาน ติดตามปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว และประกาศคุณภาพไบโอดีเซลเป็นชนิดเดียวที่สามารถนำมาผลิตน้ำมันดีเซลได้ทุกเกรด ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563
3.3 ให้กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน บริหารจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไบโอดีเซล และดำเนินการป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ
3.4 ให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ศึกษาห่วงโซ่อุปทานและแนวโน้มความต้องการของน้ำมันปาล์มดิบ ทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อพลังงาน
3.5 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้ครบถ้วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนเกษตรกร และพื้นที่เพาะปลูกปาล์มทั่วประเทศ
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 (พระราชบัญญัติฯ) มีเหตุผลในการประกาศใช้ คือ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สมควรจัดตั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยยกระดับกองทุนฯ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 โดยมีคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (คบน.) ทำหน้าที่บริหารกิจการของกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำบางประการ เพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับอันจะส่งผลให้การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เป็นไปอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ
2. ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547ฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนน้ำมันฯ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง 2 หน่วยงาน คือ (1) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ (2) สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) มีหน้าที่จัดหาเงินมาให้กองทุนฯ นำไปชดเชยราคา เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ โดยก่อนถึงกำหนดเวลาที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ สนพ. และ สบพน. ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ การเตรียม พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) การจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดทำกฎหมายลำดับรอง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การบริหารกองทุนฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 54 ให้นำประกาศและระเบียบที่ออกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547ฯ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ นี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติฯ จนกว่าจะมีประกาศและระเบียบตามพระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ
3. เพื่อให้การบริหารกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สนพ. และ สบพน. ได้มีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนี้ (1) การนำข้อกำหนดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547ฯ ใช้บังคับเมื่อถึงกำหนดเวลาที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ได้ตอบข้อหารือโดยเห็นว่า ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ย่อมเกิดผลให้มีกลไกกองทุนฯ ตามร่างพระราชบัญญัติฯ ขึ้น อันเป็นกลไกที่ซ้ำซ้อนกับข้อกำหนดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547ฯ ดังนั้น จึงสมควรทบทวนข้อกำหนดทั้งหมดในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547ฯ เพื่อปรับปรุงคำสั่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวให้ถูกต้องและเหมาะสมโดยยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547ฯ และออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดเฉพาะมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ ไว้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (2) การดำเนินงานบริหารกองทุนน้ำมันฯ ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ได้ตอบข้อหารือโดยเห็นว่า ตามมาตรา 5 กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายบริหารกองทุนฯ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด สำหรับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพตามที่ดำเนินการในปัจจุบัน มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 55 จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ ตามที่กำหนดในมาตรา 5 ส่วนกรณีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวตามที่ดำเนินการในปัจจุบันในระยะเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลนั้น มิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ดังนั้น ถ้ายังไม่มีการกำหนดกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ โดย กพช. ก็ไม่สามารถดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า เพื่อให้การดำเนินงานบริหารกองทุนฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก ควรเร่งดำเนินการเสนอกรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ และเร่งจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนฯ เพื่อเสนอต่อ กพช. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งเร่งดำเนินการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน เห็นสมควรเสนอ กพช. เพื่อพิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ (1) (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ และ (2) (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง
4. (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
4.1 วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง หมายความว่า สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนอันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ ดังนี้ (1) สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับราคาขึ้นอย่างรวดเร็วหรือผันผวนหมายความว่ามีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น อันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน ในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง หมายถึงมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบของตลาดที่สำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน 1 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดอ้างอิง มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นใน 1 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อลิตร หรือ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อยู่ในระดับที่เกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสม มากกว่า 30 บาทต่อลิตร ในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว หมายถึง มีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาต้นทุนการจัดหาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ บริษัทยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) มีราคาสูงกว่าราคานำเข้า หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวของตลาดโลกเปลี่ยนแปลง ใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว ในประเทศเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับที่เกินกว่าระดับราคาที่เหมาะสมสำหรับถัง 15 กิโลกรัม มากกว่า 363 บาท และ (2) สถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ หมายความว่า มีเหตุการณ์ที่ทำให้ปริมาณการผลิตและหรือนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เป็นไปตามแผน โดยมีแนวโน้มอาจขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อันอาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน
4.2 การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมายถึง การนำเงินกองทุนฯ ไปใช้จ่ายเพื่อชดเชยให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นโรงกลั่น หรือผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ซื้อหรือได้มาซึ่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามมาตรา 29 มาตรา 30 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติฯ โดยให้มีกรอบและวินัยในการใช้จ่ายเงินเพื่อชดเชยดังต่อไปนี้ (1) เป็นการบรรเทาผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน และหรือชะลอการขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ (2) เป็นมาตรการระยะสั้น และ คงหลักการสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หลีกเลี่ยงการกระทบต่อกลไกตลาดเสรี (3) คำนึงถึงภาวะความผันผวนของราคาต้นทุนที่แท้จริง แนวโน้มตลาดโลก หลีกเลี่ยงการชดเชยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ควรอุดหนนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงข้ามกลุ่ม (Cross Subsidies)
5. (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง สนพ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณายกร่างคำสั่งนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ ที่กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เท่าที่จำเป็น และจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงโดยเปรียบเทียบคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547ฯ และ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 สรุปได้ดังนี้ (1) ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน โดยยังคงมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และหรือกำหนดราคา สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร หรือนำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักร กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณและหรือค่าการตลาดสำหรับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณและหรืออัตรา สำหรับค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาและหรือกำหนดราคา สำหรับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นหรือราคาขายปลีก กำหนดให้โรงกลั่นแจ้งราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นต่อคณะกรรมการฯ เป็นต้น และ (2) ปรับปรุงข้อกำหนด/ข้อห้ามปฏิบัติในการแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้ม โดยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ ในหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงและกฎหมายการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
6. คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ได้มีความเห็นว่า การจัดทำ (ร่าง) กรอบนโยบายการบริหารกองทุนฯ และ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องและ ไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก กบง. จึงเห็นชอบ (ร่าง) กรอบนโยบาย การบริหารกองทุนฯ และ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้เสนอ กพช. เพื่อโปรดพิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบกรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
2. เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ ../2562 เรื่อง กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำ (ร่าง) คำสั่งนายกรัฐมนตรีฯ กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาลงนามต่อไป
3. ให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเร่งจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งต่อไป รวมทั้งเร่งดำเนินการออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบรรลุตามวัตถุประสงค์ ของกฎหมายต่อไป