มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 12/2561 (ครั้งที่ 59)
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 09.30 น.
1.โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20
2.แผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน
3.ร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
4.รายงานผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายทวารัฐ สูตะบุตร)
เรื่องที่ 1 โครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20
สรุปสาระสำคัญ
1. วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบแนวทางบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันดีเซล โดยมีเงื่อนไขว่าหากราคาขายปลีกขยับสูงเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร จึงจะให้มีการดำเนินงาน ดังนี้ (1) กำหนดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.75 บาทต่อลิตร (2) ให้ฝ่ายเลขานุการฯ ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าช่วยบริหารราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร (3) หากอัตราเงินชดเชยสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมากกว่า 1.00 บาทต่อลิตร ฝ่ายเลขานุการฯ จะนำเสนอต่อ กบง. เพื่อพิจารณาอัตราเงินชดเชยที่เหมาะสมต่อไป
มติของที่ประชุม
1. รับทราบกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561 และประกาศ คณะกรรมการบริหารนโยบาย ฉบับที่ 40 พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2561
2. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ดังนี้ โดยที่ X = ร้อยละโดยปริมาตรไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ร้อยละ 19 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว = (MOPS Gasoil 50 ppm + พรีเมียม) ที่ 600F x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 ไบโอดีเซล = ราคาอ้างอิงไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเห็นชอบ
3. เห็นชอบปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ถูกกว่าราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 3 บาทต่อลิตร ดังนี้ อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ชนิดน้ำมัน (หน่วย: บาทต่อลิตร) ปัจจุบัน วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ใหม่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว -0.13 0.01 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 - -3.22
4. เห็นชอบร่าง ประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ .. พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนกองทุน และอัตราเงินกองทุนคืนสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
เรื่องที่ 2 แผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 กรมบัญชีกลางได้จัดส่งรายงานผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2560 (ฉบับสมบูรณ์) ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยผลคะแนนที่ได้รับอยู่ที่ 4.2926 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5.0000 คะแนน ซึ่งกรมบัญชีกลางมีเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน 4 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการปฏิบัติการ และด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน โดยกำหนดเกณฑ์
การให้คะแนนไว้ 3 ระดับ ดังนี้ (1) ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ต่ำกว่า 3.0000 คะแนน) (2) ระดับมาตรฐาน – ดี (3.0000 – 3.9999 คะแนน) (3) ระดับดี – ดีมาก (4.0000 – 5.0000 คะแนน)
2. ผลการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีบัญชี 2560 มีดังนี้ ด้านที่ 1 การเงิน 5.0000 คะแนน ด้านที่ 2 การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4.2200 คะแนน ด้านที่ 3 การปฏิบัติการ 4.9940 คะแนน และด้านที่ 4 การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน 2.9120 คะแนน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือถึง สนพ. แจ้งว่า กองทุนน้ำมันฯ มีผลการประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปีบัญชี 2560 เข้าหลักเกณฑ์การจัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน เนื่องจากมีผลการประเมินด้านที่ 4 การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนบางตัวชี้วัดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย (1) บทบาทคณะกรรมการทุนหมุนเวียน (2) การบริหารจัดการสารสนเทศ และ (3) การบริหารทรัพยากรบุคคล ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ ต้องจัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และเสนอให้คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้กรมบัญชีกลางต่อไป
3. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 สนพ. ได้หารือกับสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) เพื่อยกร่างแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียนด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนในตัวชี้วัดที่มีผลคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้ (1) บทบาทคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน คะแนนที่ได้รับ 2.6100 คะแนน เนื่องจากคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนไม่มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี รวมทั้งไม่มีการรายงานผลการปฏิบัติงานตามภารกิจทุนหมุนเวียนต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และมีผลการดำเนินงานโดยรวมต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยแนวทางการปรับปรุง กองทุนน้ำมันฯ จะทบทวนจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปีของกองทุนน้ำมันฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กรมบัญชีกลางกำหนด และนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) ก่อนเสนอต่อ กบง. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป รวมทั้ง จะจัดทำแนวทางการติดตามระบบบริหารจัดการและผลการปฏิบัติงานด้านการเงิน ระบบบริหารจัดการสารสนเทศ และระบบบริหารทรัพยากรบุคคล และปรับปรุงผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลให้ผลคะแนนการประเมินโดยรวมสูงกว่าปีที่ผ่านมา (2) การบริหารจัดการสารสนเทศ คะแนนที่ได้รับ 2.9000 คะแนน เนื่องจากแผนสารสนเทศของกองทุนน้ำมันฯ ไม่ตอบสนองและสนับสนุนต่อแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนน้ำมันฯ และแผนปฏิบัติการสารสนเทศประจำปี มีองค์ประกอบหลักที่ดีแต่มีรายละเอียดไม่ครบถ้วนตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด เช่น แผนงาน/โครงการ และเป้าหมาย เป็นต้น โดยแนวทางการปรับปรุง กองทุนน้ำมันฯ จะทบทวนแผนสารสนเทศให้ตอบสนอง และสนับสนุนต่อแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนน้ำมันฯ และทบทวนแผนปฏิบัติการสารสนเทศโดยระบุองค์ประกอบให้ครบถ้วนและชัดเจน และ (3) การบริหารทรัพยากรบุคคล คะแนนที่ได้รับ 1.0000 คะแนน เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ มีปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ในการบริหารทรัพยากรบุคคลไม่ครบถ้วน รวมทั้ง ไม่มีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรของทุนหมุนเวียน และไม่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรบุคคลประจำปี โดยแนวทางการปรับปรุง กองทุนน้ำมันฯ จะจัดทำโครงสร้างบริหารงานบุคลากร โดยมีรายละเอียดที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบายและแผนงาน ด้านการเงินและบัญชี และด้านกฏหมาย รวมทั้ง จัดทำระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรของกองทุนน้ำมันฯ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรบุคคล
4. เพื่อให้เกณฑ์วัดผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ในปี 2561 ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปรับปรุงฯ โดยต้องมีการทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี 2561 และนำเสนอคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนให้ความเห็นชอบ ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทบทวนแผนยุทธศาสาตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2558 – 2562 และจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการกองทุนน้ำมันฯ ประจำปี 2561 ซึ่งประกอบด้วย แผนปฏิบัติการ แผนสารสนเทศ และแผนทรัพยากรบุคคล โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (อบน.) ได้เห็นชอบร่างแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานทุนหมุนเวียน แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการกองทุนน้ำมันฯประจำปี 2561 และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ กบง. ให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งกรมบัญชีกลางต่อไป
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างแผนปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (เดือนกรกฎาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562)
2. เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปี 2561
สรุปสาระสำคัญ
1. กรมบัญชีกลางได้พิจารณาเห็นชอบให้ทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกำกับของกระทรวงพลังงาน คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าสู่ระบบประเมินผลฯ ตั้งแต่ปีบัญชี 2551 เป็นต้นไป โดยการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (สบพน.) ซึ่งที่ผ่านมาในการจัดทำตัวชี้วัด กรมบัญชีกลางจะประสานกับ 2 หน่วยงาน เพื่อจัดทำร่างตัวชี้วัดประจำปี และเสนอคณะอนุกรรมการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน กรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นชอบก่อนมีการทำบันทึกข้อตกลงวัดผลการดำเนินงานระหว่างกระทรวงการคลังกับประธานทุนหมุนเวียน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ของกองทุนน้ำมันฯ
2. เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือถึง สนพ. เรื่อง การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน โดยขอให้กองทุนน้ำมันฯ จัดส่งร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ตามกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ให้กรมบัญชีกลาง เพื่อให้กรมบัญชีกลางนำไปจัดทำเป็นเกณฑ์การประเมินผลฯ เสนอคณะกรรมการประเมินผลฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยในปี 2562 กรมบัญชีกลางมีการกำหนดกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลฯ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการปฏิบัติการ ด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน ด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน พนักงาน และลูกจ้าง และด้านการดำเนินงานตามนโยบายภาครัฐ/กระทรวงการคลัง และต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือถึง สนพ. ขอให้นำเสนอร่างตัวชี้วัดการประเมินผลฯ ประจำปี 2562 ต่อคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจัดส่งให้กรมบัญชีกลาง เพื่อใช้ในการประชุมหารือร่างตัวชี้วัดการประเมินผลฯ ต่อไป และขอให้คณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนแต่งตั้ง/มอบหมายคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 3 ท่าน เพื่อประชุมหารือตัวชี้วัดการประเมินผลฯ ประจำปี 2562 ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และที่ปรึกษาด้านการประเมินผล (บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 ก่อนมีการทำบันทึกข้อตกลงวัดผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันฯ ประจำปี 2562 ระหว่างกระทรวงการคลังกับประธานทุนหมุนเวียนของกองทุนน้ำมันฯ
3. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 สนพ. ได้หารือกับ สบพน. เพื่อจัดทำร่างตัวชี้วัดผลการดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประจำปีบัญชี 2562 โดยเกณฑ์การประเมินผลฯ จะคิดคะแนนรวมร้อยละ 100 ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การเงิน (ร้อยละ 10) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 1.1 การบริหารสภาพคล่องกองทุนฯ (ร้อยละ 10) ด้านที่ 2 การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ร้อยละ 15) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 2.1 การสำรวจความพึงพอใจผู้รับบริการ (ร้อยละ 5) และตัวชี้วัดที่ 2.2 ระดับความสำเร็จในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน (ร้อยละ 10) ด้านที่ 3 การปฏิบัติการ (ร้อยละ 30) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 3.1 ร้อยละของการจ่ายเงินชดเชยให้แก่หน่วยงานที่เบิกภายในระยะเวลามาตรฐาน (ร้อยละ 15) และตัวชี้วัดที่ 3.2 ร้อยละความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 15) ด้านที่ 4 การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน (ร้อยละ 21) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 4.1 การบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (ร้อยละ 7) ตัวชี้วัดที่ 4.2 การตรวจสอบภายใน (ร้อยละ 7) และตัวชี้วัดที่ 4.3 การบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัล (ร้อยละ 7) ด้านที่ 5 การปฎิบัติงานของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน พนักงาน และลูกจ้าง (ร้อยละ14) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 5.1 บทบาทคณะกรรมการทุนหมุนเวียน (ร้อยละ 7) และตัวชี้วัดที่ 5.2 การบริหารทรัพยากรบุคคล (ร้อยละ 7) และด้านที่ 6 การดำเนินงานตามนโยบายภาครัฐ/กระทรวงการคลัง (ร้อยละ 10) ได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 6.1 การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล/กระทรวงการคลัง (ร้อยละ 10) ทั้งนี้ การเจรจาตัวชี้วัดการประเมินผลฯ ร่วมกับกรมบัญชีกลางในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 ควรมอบหมายให้ อบน. เป็นผู้แทนในการประชุมหารือร่างตัวชี้วัดฯ ดังกล่าว เนื่องจากมีอนุกรรมการ 3 คน เป็นกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน (กบง.) ตามหลักเกณฑ์ที่กรมบัญชีกลางกำหนด
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดส่งร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้กรมบัญชีกลางต่อไป
2. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้แทนในการประชุมหารือร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนร่วมกับกรมบัญชีกลาง โดยมีผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เข้าร่วมประชุมหารือด้วย
3. มอบหมายให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
เรื่องที่ 4 รายงานผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง
สรุปสาระสำคัญ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้มีหนังสือขอให้ศาลปกครองกลางออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส.30/2558 คดีหมายเลขแดงที่ ส.145/2560 ระหว่าง
นายสมคิด หอมเนตร ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน ผู้ฟ้องคดี นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 สำนักงานศาลปกครองกลาง ได้มีหนังสือถึง สนพ. แจ้งว่า ศาลปกครองกลางได้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดให้แล้ว เพื่อแสดงว่าคดีหมายเลขดำที่ ส.30/2558 คดีหมายเลขแดงที่ ส.145/2560 ระหว่าง
นายสมคิด หอมเนตร ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน ผู้ฟ้องคดี นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการออกกฎ และคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ได้ถึงที่สุดแล้ว ในชั้นศาลปกครองชั้นต้นโดยศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 และไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ