มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2561 (ครั้งที่ 14)
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561 เวลา 09.30 น.
ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
1. รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
2. รายงานประจำปี 2559 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
3. การปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4. แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี พ.ศ. 2565 – 2566
นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายทวารัฐ สูตะบุตร) กรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต) สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ภาพรวมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสม ณ สิ้นปี 2560 ภาครัฐมีภาระผูกพันทั้งสิ้น 9,859 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น เชื้อเพลิงขยะ 398 เมกะวัตต์ ชีวมวล 4,056 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 451 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 48 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,565 เมกะวัตต์ แสงอาทิตย์ 3,244 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (เช่น ลมร้อนทิ้งจากกระบวนการผลิต) 97 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 64.53 ของเป้าหมาย AEDP ปี 2579 ทั้งนี้ ภาระผูกพันที่ภาครัฐได้รับซื้อ จำนวน 9,859 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 7,084 ราย รวม 7,527 เมกะวัตต์ โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วและอยู่ระหว่าง COD 106 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 1,616 เมกะวัตต์ และโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว 87 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 716 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีส่วนของโครงการที่เอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง (IPS) อีก 968 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับส่วนที่มีภาระผูกพันข้างต้น จะมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งสิ้น 10,827 เมกะวัตต์
2. สรุปผลการรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลในปี 2560 ได้ดังนี้ (1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (ระยะที่ 2) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่อัตรารับซื้อไฟฟ้า 4.12 บาทต่อหน่วย คงที่ตลอดระยะเวลา 25 ปี เป้าหมายรับซื้อ 219 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร 119 เมกะวัตต์ และส่วนราชการ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งผลการพิจารณาพบว่ามีผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 35 ราย (สหกรณ์การเกษตร 24 ราย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 11 ราย) กำลังผลิตติดตั้ง 154.52 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 2 มีนาคม 2561 และมีกำหนด SCOD ในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ Feed-in Tariff ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เพิ่มเติมให้ครบ 10 เมกะวัตต์ สำหรับพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี พ.ศ. 2560 โดยได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม 2 ครั้ง มีผู้ได้รับคัดเลือก รวม 3 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้าทั้งสิ้น 5.95 เมกะวัตต์ คงเหลือเป้าหมายรับซื้อ 4.05 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต มีกำหนด SCOD ภายใน 30 มิถุนายน 2562 (3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 โดยรับซื้อไฟฟ้าที่อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี มีเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า 85 โครงการ รวม 1,644.25 เมกะวัตต์ เป็นโครงการในภาคใต้ 30 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23 โครงการ ภาคเหนือ 17 โครงการ โดยผู้เสนอส่วนลดของ FiTF ที่มากที่สุดจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน โดยพิจารณารับซื้อ ตามเป้าหมายแต่ละพื้นที่ สรุปผลการรับซื้อทั้งสิ้น 17 โครงการ รวม 300 เมกะวัตต์ โดยราคาประมูลต่ำสุดเท่ากับ 1.85 บาทต่อหน่วย ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาประมูลสูงสุดเท่ากับ 3.38 บาทต่อหน่วย ในพื้นที่ภาคเหนือ และราคาเฉลี่ยจากหน่วยที่ผลิตเท่ากับ 2.427 บาทต่อหน่วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กำหนดภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2562
3. ข้อคิดเห็นจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid แบ่งเป็น (1) ด้านผลการคัดเลือก พบว่ามีการแข่งขันสูงในพื้นที่ที่มีเป้าหมายการรับซื้อสูง ได้แก่ ภาคอีสาน ภาคใต้ ผู้ได้รับคัดเลือกส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล รายที่เสนอราคาต่ำสุด (ร้อยละของส่วนลดสูงสุด) เป็นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีแหล่งเชื้อเพลิงตนเอง และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์สามารถเริ่มแข่งขันราคาได้กับโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และ (2) ด้านนโยบาย การใช้คำว่า Hybrid แต่กำหนดเงื่อนไขให้สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ตั้งแต่หนึ่งประเภทขึ้นไป ทำให้เกิดความสับสน และควรทบทวนความชัดเจนเรื่องหลักการที่ให้ใช้ Energy Storage System รวมถึงเงื่อนไขการกำหนดให้จัดทำแผนพัฒนาเชื้อเพลิงเพิ่มเติม 20% เนื่องจากมีบางเชื้อเพลิงอาจไม่จำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรทบทวนนโยบายการกำหนดเป้าหมายรายพื้นที่ (RE Zoning) เนื่องจาก RE Zoning เป็นการแข่งขันรายภาค แต่อัตรา FiT ฐานที่รัฐกำหนดมีอัตราเดียวกันทุกภาค การที่สามารถโอนเป้าหมายคงเหลือไปให้พื้นที่ภาคอื่นได้ อาจทำให้ปริมาณรับซื้อในแต่ละภาคเกินเป้าหมาย RE Zoning ดังนั้น อาจเปิดให้มีการแข่งขันกันทั้งประเทศ เพื่อให้ราคาที่ประมูลได้ต่ำสุดเป็นประโยชน์ต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม หากยังคงให้มี RE Zoning ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำ RE Zoning สำหรับโครงการ VSPP Semi-Firm ที่จะรับซื้อในอนาคต กำหนดไว้ 3 เชื้อเพลิง โดยมีอัตรา FiT แตกต่างกัน และตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 กำหนดลำดับความสำคัญของประเภทพลังงานหมุนเวียนไว้ ตามลำดับคือ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ซึ่งตาม ร่างประกาศ กกพ. ที่ใช้รับฟังความคิดเห็นในการคัดเลือกข้อเสนอด้านราคาจะพิจารณาแยกเชื้อเพลิงเป็นรอบๆ แต่ละเชื้อเพลิงตามลำดับ
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต) สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ซึ่งมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ กกพ. จัดทำรายงานประจำปีเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเปิดเผยต่อสาธารณชน
2. กกพ. ได้จัดทำรายงานประจำปีงบประมาณ 2559 สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญได้ดังนี้ (1) งานกำกับมาตรฐานกิจการพลังงาน โดยได้พิจารณาออกใบอนุญาตกิจการพลังงาน รวม 278 ฉบับ แบ่งเป็นกิจการไฟฟ้า 270 ฉบับ และกิจการก๊าซธรรมชาติ 8 ฉบับ และออกใบอนุญาตการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงาน ประกอบด้วย ใบอนุญาต ร.ง.4 และ พค.2 รวม 608 ฉบับ รวมทั้งได้พัฒนางานออกใบอนุญาตการฯ ให้มีมาตรฐานแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) (2) งานกำกับอัตราค่าบริการ ได้เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน 2558 ทบทวนผลตอบแทนของการไฟฟ้าที่สอดคล้องกับต้นทุนการเงินที่ลดลง ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าฐานลงได้เล็กน้อย ทบทวนมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย ต่อเดือน และปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติส่วนต้นทุนผันแปร (Tc) และอัตราค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซฯ ในส่วนของอัตราค่าบริการส่วนต้นทุนผันแปร (Commodity Charge: Tc) (3) งานกำกับการรับซื้อไฟฟ้าและบริหารจัดการเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยกำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการโซลาร์รูฟท็อป โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร และการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2558 - 2562 โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นต้น (4) งานส่งเสริมการเปิดใช้/เชื่อมต่อโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เรื่อง การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ และ (5) งานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน โดยได้พัฒนาการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (60 วัน) รวมทั้งมีการรายงานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทันสมัย และสามารถติดตามสถานะดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบ e-Petition เป็นต้น
3. รายงานงบการเงินและบัญชีทำการของสำนักงาน กกพ. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในปีงบประมาณ 2559 มีรายได้จากการดำเนินงาน 857,082,310.28 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 600,162,205.27 บาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 256,920,105.01 บาท และเมื่อกันเงินเพื่อจัดสรรเป็นค่าก่อสร้างสำนักงาน กกพ. เป็นการถาวร และหักภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น เงินกันเหลื่อมปี เงินประกันสัญญาเช่า และค่าซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ แล้ว มีรายได้แผ่นดินนำส่งคลัง 52,221,905.14 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 การปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2550 มาตรา 4กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 37 นอกจากนี้ มาตรา 28 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจหน้าที่เสนออัตราการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับน้ำมันฯ ต่อ กพช. ซึ่งปัจจุบันอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็นไปตามประกาศ กพช. เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำใน ราชอาณาจักร และนำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 กำหนดชนิดน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราการส่งเงินเข้ากองทุน โดยน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนช้าอยู่ที่ 0.2500 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันก๊าดและน้ำมันเตาอยู่ที่ 0.0700 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ยอดเงินคงเหลืออยู่ที่ 41,200.51 ล้านบาท
2. ประมาณการรายรับ-รายจ่ายกองทุนฯ ถึงปีงบประมาณ 2564 ประมาณการรายรับโดยอ้างอิงปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล (ล้านลิตร) ที่จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่าในช่วงปี 2561 ถึง 2564 ภาพรวมการใช้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.94 2.77 2.49 และ 2.18 ตามลำดับ ส่วนประมาณการรายจ่ายในช่วงปี 2560 ถึง 2564 ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ที่เห็นชอบให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อนำไปใช้จ่ายภายในวงเงินรวม 5 ปี จำนวน 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2560 ในวงเงิน 11,993 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 ในวงเงิน 8,445 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการประมาณการรายรับ-จ่ายกองทุนฯ ในช่วงปีงบประมาณ 2561 – 2564 กรณีอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จัดเก็บที่ 0.2500 บาทต่อลิตร กองทุนฯ จะมีเงินคงเหลืออยู่ที่ 34,795 33,481 31,681 และ 29,378 ล้านบาท ตามลำดับ
3. คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้พิจารณาประมาณการรายรับ-รายจ่ายของกองทุนฯ ที่ผ่านมา เห็นว่ารายรับกองทุนฯ ประมาณปีละ 9,000 ล้านบาท ขณะที่เบิกจ่ายเงินประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท ทำให้มีเงินคงเหลือสะสมอยู่ในระบบบัญชีเป็นจำนวนมากและต้องนำฝากกระทรวงการคลังตามหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุดและการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินที่กำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ดังนั้น เพื่อปรับสถานภาพเงินคงเหลือสะสมของกองทุนฯ และผ่อนภาระประชาชนจากรายจ่ายด้านพลังงาน จึงเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯ แต่ละระดับจาก 0.2500, 0.2000, 0.1500, 0.1000 และ 0.050 บาทต่อลิตร
4. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 มีความเห็นสรุปได้ดังนี้ (1) ควรมีมาตรการควบคุมพฤติกรรมของผู้บริโภคน้ำมันอย่างเข้มงวด และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ จะเป็นประโยชน์ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชนโดยรวมได้ (2) ควรเตรียมแผนบริหารจัดการความเสี่ยงกรณีครบกำหนดเวลาการปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ แล้ว ในปีที่จะปรับเพิ่มอัตราการส่งเงิน เข้ากองทุนฯ หากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวสูงอยู่ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และ (3) ควรพิจารณาอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ให้เพียงพอกับประมาณการรายจ่ายระยะยาวเพื่อจะได้มีเงินไว้พัฒนาด้านพลังงานและไม่เหลือมากจนเกินไป เช่น ช่วงแรกอาจจะลดรายจ่ายลงเหลือปีละ 10,000 ล้านบาท การปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ อาจจะไม่จำเป็นต้องลดเป็น 0.050 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการกรรมการกองทุนฯ ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาแนวทางปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ดังนี้ (1) ปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายในช่วงปี 3 ปีสุดท้าย (ปี 2562 - 2564) จากวงเงินรวม 5 ปี จำนวน 60,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 12,000 ล้านบาทต่อปี เป็นเฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อปี รวมรายจ่าย 5 ปี ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท (2) ปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ของนํ้ามันเบนซิน นํ้ามันแก๊สโซฮอล และนํ้ามันดีเซล ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บ 0.2500 บาทต่อลิตร เป็นจัดเก็บ 0.1000 บาทต่อลิตร โดยเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และปรับอัตราการจัดเก็บ เงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นในปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจากการปรับอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนฯ เป็น 0.1000 บาทต่อลิตร ในปี 2561 – 2564 กองทุนฯ จะมี เงินคงเหลืออยู่ที่ 29,515 23,376 17,616 และ 11,631 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารเงินกองทุนฯ ตามที่ฝ่ายเลขานุการกรรมการกองทุนฯ เสนอ และให้นำเสนอ กพช. พิจารณาต่อไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนช้า ลง 0.15 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
เรื่องที่ 4 แนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี พ.ศ. 2565 - 2566
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี) สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. สัมปทานปิโตรเลียมที่รัฐบาลไทยออกให้แก่ผู้รับสัมปทานภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติหลักของประเทศ มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ดำเนินงานโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2515/5 (แปลงสำรวจหมายเลข 10 และ 11) และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2515/6 (แปลงสำรวจหมายเลข 12 และ 13) มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาซื้อขายที่ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยสัมปทานจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และกลุ่มที่ 2 กลุ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ดำเนินงานโดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 5/2515/9 (แปลงสำรวจหมายเลข 15) และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2515/7 (แปลงสำรวจหมายเลข 16 และ 17) มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาซื้อขายที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 5/2515/9 จะสิ้นสุดอายุในวันที่ 23 เมษายน 2565 และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2515/7 จะสิ้นสุดอายุในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ณ เดือนธันวาคม 2560 แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติทั้งสองกลุ่มมีปริมาณการผลิตเฉลี่ยประมาณ 2,265 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 75 ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ไม่รวมก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดว่า หากพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งสองกลุ่มอย่างต่อเนื่องหลังสัมปทานสิ้นสุดอายุเป็นระยะเวลา 10 ปี จะลดภาระในการนำเข้า LNG ได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น (ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ไม่ต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 25 สตางค์ต่อหน่วย) ลดการนำเข้าก๊าซ LPG ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
2. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงานคัดเลือกผู้ดำเนินการรายใหม่ โดย การเปิดให้มีการประมูลแข่งขันยื่นข้อเสนอเป็นการทั่วไป เป็นการล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานจะสิ้นอายุ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามมติ กพช. โดยมีกรอบการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. กระทรวงพลังงาน ขอเสนอแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี พ.ศ. 2565 – 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประมูล แบ่งเป็นเรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดรูปแบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และเงื่อนไขการส่งมอบสิ่งติดตั้งจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน และเรื่องเพื่อพิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ เงื่อนไขของการประมูล และขั้นตอนและกำหนดการเปิดประมูล สรุปได้ดังนี้
3.1 การกำหนดรูปแบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากการประเมินศักยภาพปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทั้งสองกลุ่ม พบว่ามีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติน้อยกว่า 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่าน้อยกว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม มีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์เท่ากับร้อยละ 50 ซึ่งมีค่าสูงกว่าโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศ (ร้อยละ 39) ดังนั้น ตามประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ กระทรวงพลังงานจะให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับในแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งสองกลุ่มหลังสัมปทานสิ้นสุดอายุ ในรูปแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต
3.2 เงื่อนไขการส่งมอบสิ่งติดตั้งจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้อย่างต่อเนื่องทั้งสองแหล่ง ผู้ชนะการประมูลจะต้องใช้แท่นผลิตอย่างน้อย 370 แท่น โดยต้องลงทุนประมาณ 150 แท่น และที่รัฐจะรับมอบจากสัมปทานปัจจุบัน ประมาณ 220 แท่น (จากที่มีในปัจจุบัน 278 แท่น) ซึ่งการส่งมอบสิ่งติดตั้งดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 22 ของกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) จะออกประกาศ ชธ. เพื่อกำหนดหลักการสำคัญของข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง อย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย (1) รายการและสภาพสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้แก่รัฐ (2) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้แก่รัฐ กำหนดให้ผู้รับสัมปทานปัจจุบันชำระตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ โดยยอดชำระเท่ากับอัตราส่วนของประมาณการค่าใช้จ่ายคูณปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตแล้ว กับปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตแล้วรวมกับปริมาณปิโตรเลียม ที่เหลืออยู่ (3) การปลอดภาระหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอน เมื่อส่งมอบสิ่งติดตั้งพร้อมชำระค่าใช้จ่ายตามข้อ (2) และ (4) การให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น ความร่วมมือเพื่อให้เกิดการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง
3.3 เงื่อนไขของการประมูล มีดังนี้ (1) เงื่อนไขหลักที่กำหนด ได้แก่ กำหนดพื้นที่สำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในแปลงสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุ เป็น 2 แปลงสำรวจ ได้แก่ กำหนดพื้นที่แปลงสำรวจหมายเลข 10 11 12 และ 13 เป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และกำหนดพื้นที่แปลงสำรวจหมายเลข 15 16 และ 17 เป็นแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 นอกจากนี้ ยังกำหนดปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำจากทั้งสองแปลงที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งมาจากแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 และ G2/61 ในอัตรา 800 และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ และ (2) เงื่อนไขหลักที่ใช้ในการประมูลแข่งขัน ได้แก่ ให้ผู้เข้าประมูลเสนอราคาก๊าซธรรมชาติตามสูตรราคาอ้างอิง โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ต่ำที่สุด รวมทั้ง ให้ผู้เข้าประมูลเสนอร้อยละของปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่รัฐจะได้รับโดยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ตามที่กฎหมายกำหนด
3.4 ขั้นตอนและกำหนดการเปิดประมูล จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 กำหนดแผนการบริหารจัดการการประมูลฯ และออกประกาศเชิญชวนในช่วงเดือนเมษายน 2561 ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2561 ดำเนินการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น โดยประกาศผลการคัดเลือกและเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในเดือนพฤษภาคม 2561 ต่อมาในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2561 จะเปิดให้ผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้นจัดเตรียมการยื่นข้อเสนอ และให้ยื่นข้อเสนอการประมูลในเดือนกันยายน โดยคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนธันวาคม 2561 และนำเสนอต่อ กพช. และคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ผู้ชนะ การประมูลจะสามารถลงนามในสัญญาฯ ได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562
มติของที่ประชุม
รับทราบแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในปี พ.ศ. 2565 – 2566 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้
1. การใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในการประมูลแปลงสำรวจ G1/61 และแปลงสำรวจ G2/61
2. หลักการสำคัญที่ต้องกำหนดในข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง
3. เงื่อนไขของการประมูล ได้แก่ การกำหนดแปลง การกำหนดปริมาณก๊าซธรรมชาติ การเสนอราคาก๊าซธรรมชาติตามสูตรราคาอ้างอิง และการเสนอร้อยละของปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่รัฐจะได้รับ
4. แผนการบริหารจัดการการประมูลแปลงสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุ
ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานรับไปดำเนินการออกประกาศกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้มีผลบังคับใช้และดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ) สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. กระทรวงพลังงาน ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อเป็นมาตรการบังคับใช้ขั้นต่ำกับอาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการใช้พลังงานสูง เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) โดยครอบคลุมอาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ สำนักงาน โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์การค้า โรงมหรสพ สถานบริการ อาคารชุมนุมคน อาคารชุด และสถานศึกษา ที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องออกแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุในกฎกระทรวง ได้แก่ ระบบเปลือกอาคาร ระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น แต่เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวออกตามความในมาตรา 19 ของ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) ซึ่งไม่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตแบบก่อสร้างอาคาร ดังนั้น ในมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. อนุรักษ์พลังงานฯ จึงได้ระบุไว้ว่าให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณา หากเห็นชอบให้นำไปบังคับใช้ เสมือนเป็นกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
2. กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ส่งกฎกระทรวงให้คณะกรรมการควบคุมอาคารพิจารณาเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ ซึ่งได้มีมติเห็นควรบังคับใช้กับอาคารขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมก่อน และทยอยบังคับใช้กับอาคารทั้ง 9 ประเภท ภายใน 3 ปี โดยปีที่ 1 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป (มีอาคารที่เข้าข่ายต้องดำเนินการประมาณ 100 อาคารต่อปี) ปีที่ 2 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป (มีอาคารที่เข้าข่ายต้องดำเนินการอีกประมาณ 700 อาคารต่อปี) ปีที่ 3 บังคับกับอาคารขนาดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป (มีอาคารที่เข้าข่ายต้องดำเนินการอีกประมาณ 400 อาคาร ต่อปี) โดยให้นำข้อกำหนดข้อมูลทางเทคนิค และเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ จากเดิมระบุ ในกฎกระทรวงไปไว้ในประกาศกระทรวงแทน เพื่อความสะดวกในการปรับปรุง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 คณะกรรมการควบคุมอาคารได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้น ต่อมาได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณากฎหมายระดับกรม และระดับกระทรวง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561
3. สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ มีดังนี้ (1) กำหนดให้อาคารที่จะก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในอาคาร 9 ประเภทข้างต้น ต้องมีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (2) กำหนดมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานไว้ 5 ระบบหลัก ได้แก่ ระบบเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน และการใช้พลังงานรวมและการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ต้องมีค่ามาตรฐานไม่เกินที่ประกาศกระทรวงกำหนด (3) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยออกประกาศกระทรวงกำหนด (4) กำหนดวิธีการตรวจรับรองแบบอาคารด้านอนุรักษ์พลังงาน โดยสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิกเป็นผู้รับรองคุณสมบัติของผู้ตรวจรับรองแบบอาคาร (5) กำหนดวิธีการปฎิบัติในการรับรองแบบอาคารให้สอดคล้องตามวิธีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร และ (6) กำหนดบทเฉพาะกาล และวิธีการบังคับใช้ โดยในส่วน การเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้ ได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อบรมให้ความรู้การตรวจประเมินแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานให้กับสถาปนิกและวิศวกร ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก ผู้ประกอบการอาคารขนาดใหญ่ และสถาบันการศึกษา จัดประชุมรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำร่องตรวจรับรองแบบอาคารภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 และตรวจรับรองแบบอาคารเอกชนที่สนใจ รวมกว่า 550 อาคาร ทั้งนี้ หากมีการใช้พลังงาน ในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบอาคาร คาดว่าจะเกิดผลประหยัดพลังงานอย่างน้อย ร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับการออกแบบอาคารทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงด้านอนุรักษ์พลังงาน และจาก แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (ปี 2558 - 2579) คาดว่าในปี 2579 จะมีผลประหยัดรวมประมาณ 13,686 ล้านหน่วย (1,166 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) หรือคิดเป็นเงินประมาณ 47,000 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำร่างกฎกระทรวงฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป