มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 8/2561 (ครั้งที่ 55)
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561 เวลา 11.00 น.
1. สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
2. รายงานความเคลื่อนไหวราคาก๊าซ LPG ในรอบเดือนเมษายน 2561
3. หลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายทวารัฐ สูตะบุตร)
เรื่องที่ 1 สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
สรุปสาระสำคัญ
ทีม Prism บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนเมษายน 2561 มีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเหตุความไม่สงบในประเทศซีเรีย การลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปค แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ได้แก่ สงครามทางการค้า (Trade War) ระหว่างประเทศสหรัฐฯ กับประเทศจีน และการผลิตน้ำมันดิบจาก Shell Oil มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยที่ควรจับตามอง ได้แก่ การหารือด้านเศรษฐกิจระหว่างผู้นำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และผลการตัดสินใจของประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ว่าจะมีการลงนามสนับสนุน (Sanction) ประเทศอิหร่านต่อไปหรือไม่ โดยภาพรวมคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 57 - 62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคา ก๊าซ LNG ในช่วงเดือนเมษายน 2561 มีทิศทางปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณความต้องการของประเทศญี่ปุ่นลดลงภายหลังจากมีการเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเทศสหรัฐเพิ่มปริมาณการผลิต และโครงการผลิตก๊าซ LNG ในหลายประเทศซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้คาดการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ราคาก๊าซ LNG จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการของประเทศเกาหลีและทวีปยุโรปเพิ่มสูงขึ้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานความเคลื่อนไหวราคาก๊าซ LPG ในรอบเดือนเมษายน 2561
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนโดย ราคานำเข้า เท่ากับ LPG cargo บวก X (ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) (2) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) โดยจำกัดปริมาณเงินการชดเชยราคาสูงสุดในแต่ละเดือนให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม (ทั้งบัญชีน้ำมันและบัญชี LPG) (3) ปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกจากการคำนวณด้วยโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซ LPG เป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน ต่อมา กบง. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณโครงสร้างราคาก๊าซ LPG กรณีที่ราคานำเข้าแตกต่างจากต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ เกินกว่า 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ดังนี้ อัตราเงินสำหรับก๊าซที่ผลิตโดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 1 - 6 ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ใช้สูตร อัตราเงิน เท่ากับ ราคานำเข้า ลบ (ต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ + กรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขัน)
2. สถานการณ์ก๊าซ LPG ในเดือนเมษายน 2561 สรุปได้ดังนี้ (1) ปริมาณการผลิตภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 523,196 ตัน ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 528,986 ตัน ทำให้มีส่วนที่ขาด อยู่ประมาณ 5,789 ตัน ซึ่งจะถูกชดเชยด้วยการนำเข้า โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 44,000 ตัน ส่วนการส่งออกจากปริมาณการผลิตภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 31,300 ตัน (2) สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในเดือนเมษายน 2561 ราคาก๊าซ LPG (CP) อยู่ที่ 472.50 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจาก เดือนมีนาคม 2561 ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ยวันที่ 1-16 เมษายน 2561 อยู่ที่ 447.42 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 6.60 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาก๊าซ LPG นำเข้า (LPG cargo + X) เฉลี่ยวันที่ 1-16 เมษายน 2561 อยู่ที่ 15.7616 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.0477 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนราคาก๊าซ LPG จากกลุ่มโรงแยกฯ (เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2561) ได้แก่ ต้นทุนของโรงแยก ก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 13.6242 บาทต่อกิโลกรัม (434.13 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ต้นทุนของบริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อยู่ที่ 14.84 บาทต่อกิโลกรัม (472.80 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) และต้นทุนของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 14.84 บาทต่อกิโลกรัม (472.80 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยวันที่ 1-16 เมษายน 2561 อยู่ที่ 31.3808 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.0565 บาท ต่อเหรียญสหรัฐฯ
3. การคำนวณโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) วันที่ 1-16 เมษายน 2561 ปรับลดลง 0.0477 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 15.8093 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 15.7616 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สนพ. ได้ออกประกาศ กบง. ฉบับที่ 22, 24, 25 พ.ศ. 2561 เรื่องการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุนสำหรับก๊าซตามหลักเกณฑ์ การคำนวณโครงสร้างราคาก๊าซ โดยต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัทยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 (วันที่ 10 เมษายน 2561) อยู่ที่ 14.8380 บาทต่อกิโลกรัม (472.8716 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) เมื่อบวกกับอัตราเงินสำหรับส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ที่ 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้กรอบการกำหนดเพดานราคาขั้นสูงของ โรงแยกก๊าซธรรมชาติของบริษัทยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 15.5080 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) 0.0593 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในกรอบราคาสำหรับติดตามการแข่งขัน กองทุนน้ำมันฯ จึงไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซ LPG ซึ่งส่งผลให้การกำหนดอัตราเงินกองทุนสำหรับก๊าซที่ผลิตในราชอาณาจักร โดยโรงแยก ก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัยที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่ากับศูนย์
4. จากการคำนวณอัตราเงินเข้ากองทุนดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ เดือนเมษายน 2561 ในส่วนการผลิตและจัดหา (กองทุนน้ำมันฯ#1) มีรายรับ 150.18 ล้านบาทต่อเดือน และในส่วนการจำหน่าย ภาคเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) มีรายจ่าย 618.65 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายสุทธิ 468.47 ล้านบาทต่อเดือน และจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้า เป็นการอ้างอิงด้วยราคา LPG Cargo (LPG Cargo +X) จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf ) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ (กองทุน#2) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และราคาขายปลีกมีการเปลี่ยนแปลง 2 ครั้ง ในสัปดาห์ที่ 1 อยู่ที่ 20.62 บาทต่อกิโลกรัม และสัปดาห์ที่ 2 อยู่ที่ 19.89 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับมติ กบง. ที่มอบหมายให้ผู้ค้ามาตรา 7 แจ้งราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนและภาคขนส่งต่อ สนพ. ผลปรากฏว่า ผู้ค้าก๊าซ LPG จำนวน 11 บริษัท แจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ซึ่งมีรายละเอียดราคาขายปลีกก๊าซ LPG บรรจุถังและราคาขายปลีกก๊าซ LPG สถานีบริการบรรจุถัง แสดงอยู่บนหน้าเว็บไซด์ สนพ.
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 หลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้รับทราบหลักเกณฑ์ การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมัน และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและ แผนพลังงาน (สนพ.) ทบทวนและนำเสนอในการประชุม กบง. ครั้งถัดไป ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนช้า ลงชนิดละ 0.15 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี และมอบหมายให้ สนพ. รับไปดำเนินการออกประกาศ กพช. เรื่อง การกำหนดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2561 เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
2. ผลการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่า แนวทางการปรับปรุงการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามวิธีปัจจุบัน (Import Parity) มีดังนี้
2.1 ราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 คณะกรรมการเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ ดังนี้ (1) ราคา FOB ให้ใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 2 วันย้อนหลัง โดยน้ำมันเบนซินอ้างอิง MOPS EURO 3 และน้ำมันดีเซลอ้างอิง MOPS EURO 4 (2) ค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์มายังไทย (อ้างอิงอัตรา World Scale) ให้ใช้ AFRA ของเรือขนาด LR1 และคำนวณอัตราค่าขนส่งในแบบ long term charter โดยใช้ค่าขนส่งทางเรือสิงคโปร์-ศรีราชา (3) ค่าประกันภัย ใช้อัตราร้อยละ 0.084 ของ C&F เท่าเดิม (4) ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างการขนส่ง ใช้อัตราร้อยละ 0.3 ของ CIF ของน้ำมันทุกชนิด (5) ค่าเสียเวลาเรือ ให้ยกเลิกทั้งหมด (6) ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน น้ำมันเบนซิน 95 และเบนซิน 91 อยู่ที่ 2.46 และ 0.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลให้ยกเลิก (7) ค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ให้อยู่ที่ 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (สำรองน้ำมันดิบที่ร้อยละ 6) (8) ค่าบริการอื่นๆ (ค่าใช้จ่ายคลังและค่าลำเลียง) ให้มีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา-กรุงเทพฯ ตามจริง (0.77 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือประมาณ 0.15 บาทต่อลิตร) (9) ค่าปรับอุณหภูมิเป็น 86 องศาฟาเรนไฮต์ คงเดิมตามอัตราปัจจุบัน คือ น้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาอยู่ที่ 0.9814 0.9810 0.9870 และ 0.9896 ตามลำดับ และ (10) ค่าใช้จ่ายการผสมเอทานอลและไบโอดีเซล ให้ส่วนต่างระหว่างมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่เติมลงไปและนำออกจากน้ำมันเบนซินพื้นฐานเป็นศูนย์จนกว่าผู้ค้าจะส่งข้อมูลมายืนยัน โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมได้มีหนังสือถึง สนพ. โดยเสนอให้ภาครัฐไม่ต้องมีการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน และราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการ โดยให้ระบบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ให้แนวทางการตั้งราคาของโรงกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาดที่สะท้อนตามอุปสงค์และอุปทานของตลาด โดยมีเหตุผลสรุปได้ดังนี้ (1) ตามหลักการนโยบายปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเปิดเสรีโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2534 ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเปิดเสรีการนำเข้าและส่งออกน้ำมัน (2) การตั้งสมมติฐานการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นไม่สะท้อนความเป็นจริงของกลไกตลาด อาจเกิดความเสี่ยงและมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศขาดแรงจูงใจในการลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ค้าน้ำมันประสบภาวะขาดทุนและเลิกกิจการจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดลดลงและเกิดการผูกขาด และ (3) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นฯ ขอให้ สนพ. งดการเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของกลไกตลาดการค้าเสรีเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจต่อผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยข้อเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง มีดังนี้ (1) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เท่ากับ (1-X1) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y1 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน/158.984)] + (X1) ของราคาเอทานอล (2) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เท่ากับ (1-X2) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 91 + (Y2 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน/ 158.984)] + (X2) ของราคาเอทานอล (3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เท่ากับ (1-X3) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y3 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X3) ของราคาเอทานอล (4) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เท่ากับ (1-X4) ของราคาเบนซินออกเทน 95 + (X4) ของราคาเอทานอล (5) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย เท่ากับ (MOPS Gasoil 50 ppm + พรีเมียม) ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 (6) น้ำมันเตา 600 (2%S) FO 600 (2%S)t เท่ากับ [(FO 180 (2%)t x 0.836) + MOPS Gasoil 50 ppm) x 0.164] x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984 และ (7) น้ำมันเตา 1500 (2%S) FO 1500 (2%S)t เท่ากับ FO 180 (2%)t x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984
2.2 ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ (นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์) ได้เสนอความเห็นว่า หมวดค่าใช้จ่ายดำเนินการของ ผู้ค้ามาตรา 7 ในรายการค่าจ้างและสวัสดิการและค่าใช้จ่ายสำนักงาน จากเดิม (เสนอ กบง. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559) ให้ที่ 0.15 บาทต่อลิตร เสนอให้ปรับเป็น 0.24 บาทต่อลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.09 บาทต่อลิตร หรือร้อยละ 60 และจากเหตุผลที่ว่าธุรกิจน้ำมันต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญนั้น เห็นว่ามีการใช้ผู้เชี่ยวชาญมานานแล้วไม่ได้เพิ่งมาใช้เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 0.09 บาทต่อลิตรจากปี 2559 ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้ปรับปรุงรายการค่าจ้างและสวัสดิการและค่าใช้จ่ายสำนักงานให้ลดลง 0.07 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เสนอ 0.24 บาทต่อลิตร เหลือ 0.17 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร ซึ่งจากผลการศึกษาค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่า ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมันฯ เท่ากับ 0.89 บาทต่อลิตร ค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้ามาตร 7 เท่ากับ 0.47 บาทต่อลิตร และค่าลงทุนสถานีบริการเท่ากับ 0.49 บาทต่อลิตร ดังนั้น ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จะเท่ากับ 1.85 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ จะมีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณ ค่าการตลาดน้ำมันทุกๆ 4 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดินของสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์
2.3 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 กพช. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนช้า ลงชนิดละ 0.15 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 ปี โดย สนพ. ได้ดำเนินการเรื่องประกาศ กพช. โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
3. ผลจากการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตรากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พบว่า หากมีการทบทวนหลักเกณฑ์ตามผลการศึกษา ที่เสนอจะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นฯของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับลดลงประมาณ 0.41 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.28 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้นเหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนและเกิดประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเมื่อประกอบกับการปรับลดอัตรากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลง 0.15 บาท ต่อลิตร จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงได้ประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร และจากการปรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะได้ว่าราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน ของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ลดลงจากปัจจุบัน 0.43 บาทต่อลิตร และราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน ของน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลงจากปัจจุบัน 0.61 บาทต่อลิตร เมื่อคำนวณตามร้อยละการผสมจริง (น้ำมันเบนซินพื้นฐานร้อยละ 91 และเอทานอลร้อยละ 9) ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอให้ใช้ MOPS Gasoil 50 ppm แทน MOPS Gasoil 500 ppm ในการคำนวณราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย เนื่องจาก Platts ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการราคาอ้างอิง ได้ประกาศราคา Gasoil 50 ppm มาเป็นหลายปีแล้ว และราคา Gasoil 50 ppm ที่ประกาศก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคา Gasoil 500 ppm อีกทั้งส่วนต่างของราคาก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากจนผิดสังเกตจึงไม่มีความจำเป็นที่จะอ้างอิงราคา Gasoil 500 ppm แล้วนำมาคำนวณค่าปรับคุณภาพให้ยุ่งยากอีกต่อไป ดังนั้นราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิงฯ จะสูงขึ้น 0.0194 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าพรีเมียมจะปรับลดลง 0.4310 บาทต่อลิตร และราคา ณ โรงกลั่นน้ำมัน ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงจากปัจจุบัน 0.41 บาทต่อลิตร เมื่อคำนวณตามร้อยละการผสมจริง (น้ำมันดีเซลพื้นฐานร้อยละ 93.5 และไบโอดีเซลร้อยละ 6.5)ซึ่งจากโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จะเห็นว่าเมื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น และค่าการตลาดรวมทั้งอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ วันที่ 20 เมษายน 2561 ลดลง 0.30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้การเผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านเว็บไซต์ สนพ. จะเสนอเฉพาะส่วนที่เป็นราคาขายส่ง โดยไม่ต้องมีการแสดงค่าการตลาด แต่ให้มีการใช้ค่าการตลาดเฉพาะ ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและชี้นำตลาด สำหรับผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไปยังคงสามารถเข้าดูราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละแบรนด์ผ่านทางเว็บไซต์ สนพ. เช่นเดิม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนี้
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 | = (1-X1) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y1 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X1) ของราคาเอทานอล |
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 | = (1-X2) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 91 + (Y2 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X2) ของราคาเอทานอล |
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 | = (1-X3) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y3 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X3) ของราคาเอทานอล |
น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 | = (1-X4) ของราคาเบนซินออกเทน 95 + (X4) ของราคาเอทานอล |
โดยที่ | |
X1 | = ร้อยละโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 95 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
Y1 | = ส่วนต่างระหว่างมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่เติมลงในน้ำมันเบนซินพื้นฐานและมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่นำออกจากน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับเอทานอลแปลงสภาพแล้วจะได้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 95 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
X2 | = ร้อยละโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 91 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
Y2 | = ส่วนต่างระหว่างมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่เติมลงในน้ำมันเบนซินพื้นฐานและมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่นำออกจากน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับเอทานอลแปลงสภาพแล้วจะได้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 91 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
X3 | = ร้อยละโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
Y3 | = ส่วนต่างระหว่างมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่เติมลงในน้ำมันเบนซินพื้นฐานและมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่นำออกจากน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับเอทานอลแปลงสภาพแล้วจะได้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
X4 | = ร้อยละโดยปริมาตรเอทานอลแปลงสภาพอัตราต่ำของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
เอทานอล | = ราคาเอทานอลแปลงสภาพ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเห็นชอบ |
เบนซินออกเทน 95 | = (ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย + พรีเมียม) ที่ 600 F x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 |
โดยที่ | |
พรีเมียม | = ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 2.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล + ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) + ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) + ค่าประกันภัยร้อยละ 0.084 ของ C&F +ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF + ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล |
เบนซินออกเทน 91 | = (ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย + พรีเมียม) ที่ 600 F x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 |
โดยที่ | |
พรีเมียม | = ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล + ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) + ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) + ค่าประกันภัยร้อยละ 0.084 ของ C&F +ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF + ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล |
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว | = (1-X5) ของราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย + (X5) ของราคาไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน |
โดยที่ | |
X5 | = ร้อยละโดยปริมาตรไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์อัตราต่ำของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน |
ไบโอดีเซล | = ราคาอ้างอิงไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (บาทต่อลิตร) เห็นชอบ |
น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อ้างอิงราคากลางของ ตลาดภูมิภาคเอเชีย | = (MOPS Gasoil 50 ppm + พรีเมียม) ที่ 600F x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 |
โดยที่ | |
พรีเมียม | = ค่าขนส่ง World Scale ด้วยเรือขนาด LR1 แบบ Long Term Charter (สิงคโปร์ – ศรีราชา) + ค่าขนส่งทางท่อ (ศรีราชา – กรุงเทพฯ) + ค่าประกันภัยร้อยละ 0.084 ของ C&F +ค่าสูญเสียร้อยละ 0.3 ของ CIF + ค่าสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล |
น้ำมันเตา 600 (2%S) | |
FO 600 (2%S)t | = [(FO 180 (2%)t x 0.836) + MOPS Gasoil 50 ppm) x 0.164] x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984 |
โดยที่ FO 180 (2%)t | = ราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t โดยคำนวณจาก 2 คูณด้วยราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t-1 บวกด้วยราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t-2 แล้วหารด้วย 3 |
FO 180 (2%) | = คำนวณจากราคาน้ำมันเตาชนิด FO 180 CST 2.0% (อ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย) ที่ต่ำสุดบวกด้วยราคาที่สูงสุดในวันนั้นๆ แล้วหารด้วย 13.1784 |
น้ำมันเตา 1500 (2%S) | |
FO 1500 (2%S)t | = FO 180 (2%)t x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984 |
โดยที่ FO 180 (2%)t | = ราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t โดยคำนวณจาก 2 คูณด้วยราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t-1 บวกด้วยราคา FO 180 (2%) ณ วันที่ t-2 แล้วหารด้วย 3 |
FO 180 (2%) | = คำนวณจากราคาน้ำมันเตาชนิด FO 180 CST 2.0% (อ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย) ที่ต่ำสุดบวกด้วยราคาที่สูงสุดในวันนั้นๆ แล้วหารด้วย 13.1784 |
2. เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมที่ 1.85 บาทต่อลิตร โดยจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณค่าการตลาดน้ำมันทุกๆ 4 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินที่ดินของสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
3. ขอความร่วมมือมิให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 สื่อสารผ่านช่องทางใดๆ ก่อนที่จะมีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหน้าสถานีบริการ
4. ขอความร่วมมือกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ติดตามตรวจสอบกรณีผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 ให้ข่าวการปรับเพิ่มหรือปรับลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงล่วงหน้า หรือผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ปรับราคาในอัตราที่เท่ากันในเวลาเดียวกันอาจเข้าข่ายการกระทำผิดที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของนโยบายการส่งเสริมการแข่งขัน รวมทั้งอาจจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขัน ทางการค้า พ.ศ 2560 เพื่อให้กลไกในธุรกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด