มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 7/2561 (ครั้งที่ 54)
เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2561 เวลา 15.00 น.
1. สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
3. รายงานความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
4. ร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
5. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายทวารัฐ สูตะบุตร)
เรื่องที่ 1 สถานการณ์พลังงานและแนวโน้มราคาพลังงานในตลาดโลก
สรุปสาระสำคัญ
1. เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก และมุมมองจากการเข้าร่วมการประชุมด้านนบายของบริษัท ซาอุดิ อารามโก ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ดังนี้ (1) ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนมีนาคม 2561 ยังมีความผันผวนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบได้แก่ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) วิเคราะห์ว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ความต้องการนำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การผลิตน้ำมันดิบจาก Shell Oil มีความคุ้มค่ามากขึ้นส่งผลให้ประเทศสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจาก Shell Oil เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการและการผลิตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายเพิ่มภาษีการนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมร้อยละ 25 ซึ่งจะทำให้มูลค่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ คาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนมีนาคมอยู่ในระดับ 65 – 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (2) ราคาก๊าซ LPG ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 มีทิศทางปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยมาจากราคาโพรเพน (C3) และบิวเทน (C4) ปรับตัวลดลง สภาพภูมิอากาศที่เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และประเทศญี่ปุ่นปรับลดปริมาณสำรองก๊าซ LPG จาก 50 วัน เป็น 40 วัน (3) ราคาถ่านหินในช่วงเดือนมีนาคม 2561 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยมาจากสภาพภูมิอากาศที่เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ประเทศจีนเพิ่มปริมาณการผลิตถ่านหิน และประเทศญี่ปุ่นเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ทำให้ความต้องการถ่านหินลดลง (4) ราคาก๊าซ LNG ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยมีปัจจัยมาจากสภาพภูมิอากาศที่เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศใต้หวันเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์มากขึ้น (5) ไฟฟ้า ช่วงเดือนมกราคา 2561 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 42,209 เมกะวัตต์ ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 เล็กน้อยเนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 16,000 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา โดยเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนปริมาณความต้องการในช่วงเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 14,430 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีที่แล้ว เนื่องจากความเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 28,400 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 แต่คาดการณ์ว่า Peak ในปี 2561 จะสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 30,300 เมกะวัตต์ และ (6) มุมมองจากการเข้าร่วมการประชุมด้านนโยบายของบริษัท ซาอุดิ อารามโก ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 12 – 13 มีนาคม 2561 บริษัท ซาอุดิ อารามโก เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตถูกส่งออกมายังทวีปเอเชียเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยก็นำเข้าจากซาอุดิอาระเบียประมาณร้อยละ 25 จากการนำเข้าทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัท ซาอุดิ อารามโกมี OSPAS (Oil Supply Planning and Scheduling Center) เป็นศูนย์บริหารจัดการปิโตรเลียมของบริษัท ซาอุดิอาระเบีย โดยมี OCC (Operation Coordination Center) เป็นศูนย์ประสานการบริหารจัดการปิโตรเลียม ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลแบบ Real Time ส่วนปรัชญาในการดำเนินงานของบริษัท ซาอุดิ อารามโก คือ Saudi Aramco เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน แทนการมุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก โดยเน้นสร้างความเชื่อมั่นด้วยกลยุทธ์การตลาดที่เน้นการเข้าใจลูกค้า สร้างบทบาทเสมือนเป็น Buffer ราคาน้ำมันโลก และส่งเสริมนวัตกรรม มุ่งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนพื้นฐานสังคมแห่งความรู้ โดยคำนึงถึง 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ สถานการณ์ความต้องการ ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก เทียบเคียงราคากับผู้ประกอบการรายอื่น และการกำหนดราคาแบบ Long Term Business ส่วนมุมมองของบริษัท ซาอุดิ อารามโกต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกเชื่อว่า น้ำมันดิบยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนเทคโนโลยีต่างๆ จะไม่มีผลต่อความต้องการน้ำมันในช่วง 10 ปี เพราะเทคโนโลยีรถไฟฟ้า (EV) จะไม่มีเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนพลังงานทดแทนยังไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะกลไกด้านราคาที่ยังสูงอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง Shell Oil ถึงแม้จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ด้วยปริมาณที่จำกัดหากหมดไปก็จะต้องกลับมาพึ่งพาน้ำมันดิบ ดังนั้น สรุปได้ว่ามุมมองและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการวางนโยบายด้านพลังงานในอนาคตของประเทศไทยต่อไปได้
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (EEP 2015) พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของแผน EEP 2015 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ (1) ลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity; EI) ลงร้อยละ 30 ในปี 2579 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยต้องลดค่าความเข้มการใช้พลังงานจากปีฐาน (ปี 2553) ซึ่งมีค่า 8.54 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อพันล้านบาท ลดลงให้เหลือ 5.98 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ต่อพันล้านบาท ในปี 2579 (2) ตระหนักถึงเจตจำนงค์ของ APEC มีเป้าหมายร่วมในการลด EI ลงร้อยละ 45 ในปี 2578 เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยมุ่งเน้นสัดส่วนที่ประเทศไทยจะสามารถมีส่วนร่วมได้เป็นหลัก และ (3) ตระหนักถึงเจตจำนงของ UNFCCC ในการประชุม COP20 ที่ประเทศไทยได้เสนอเป้าหมาย NAMAs ในปี 2563 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและภาคพลังงานให้ได้ร้อยละ 7-20 จากปริมาณที่ปล่อยในปี 2548 ในภาวะปกติ (สำหรับกรณีที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากชาติอื่น) โดยมียุทธศาสตร์และมาตรการในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 1 - 2 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 22 ปี แบ่งกลุ่ม เป้าหมาย 4 กลุ่มเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ อาคารของรัฐ ภาคบ้านอยู่อาศัย และ ภาคขนส่ง โดยมี 3 กลยุทธ์ (10 มาตรการ) ได้แก่ กลยุทธ์ภาคบังคับ (Compulsory Program) เป็นการกำกับดูแลโดยใช้กฎหมาย กลยุทธ์ความร่วมมือ (Voluntary Program) เป็นการสนับสนุนด้านการเงิน การอนุรักษ์พลังงาน ภาคขนส่งและการศึกษาวิจัย และกลยุทธ์สนับสนุน (Complementary Program) เป็นการพัฒนาบุคลากรและ การสร้างจิตสำนึกการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานจากทุกมาตรการในปี 2560 กำหนดไว้ที่ 1,270 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) แบ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่รวมมาตรการภาคขนส่ง จำนวน 703 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และคิดเป็นเป้าหมายเฉพาะมาตรการในภาคขนส่ง เช่น การใช้มาตรการกำหนดภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน การติดฉลาก ECO Sticker สำหรับรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานปี 2560 อยู่ที่ 567 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หากพิจารณาถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ณ ปัจจุบัน เฉพาะในส่วนที่เป็นมาตรการที่ไม่รวมมาตรการภาคขนส่งซึ่งมีเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2560 อยู่ที่ 703 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ นั้น กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินมาตรการหลักภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีผลการอนุรักษ์พลังงานถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2560 คิดเป็นผลการอนุรักษ์พลังงานรวมประมาณ 713.42 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดย คิดเป็นร้อยละ 101.48 ของเป้าหมายปี 2560 ส่วนมาตรการ EE7 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ ECO-Sticker ที่จำนวนรถใหม่ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่ระบุไว้ในแผนอนุรักษ์พลังงาน และกรณีของรถไฟทางคู่ การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จจึงยังไม่มีการเปิดใช้งาน เป็นต้น
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 รายงานความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... และให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาในขั้นตอนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยใช้ร่างที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 สนพ. และสำนักงานบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) ได้มีการชี้แจงรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯต่อคณะกรรมการฯ และได้ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว
2. เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 สคก. ได้มีการประชุมหารือเพื่อพิจารณาตรวจความถูกต้อง ของร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ก่อนจะนำเสนอ ครม. ซึ่งมีการแก้ไขปรับถ้อยคำโดยไม่ได้แก้ไขสาระสำคัญ และเพิ่มเติมในบางประเด็น และต่อมาได้นำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 และวันที่ 21 มีนาคม 2561 และได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ มี 7 หมวด (มาตรา 1 - 45) โดยมีการเพิ่มมาตรา 29/1 และ มาตรา 42/1 และ บทเฉพาะกาล (มาตรา 46 - 55) จำนวนทั้งหมด 57 มาตราได้แก่ หมวด 1 การจัดตั้งกองทุน หมวด 2 การบริหารกิจการของกองทุน หมวด 3 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หมวด 4 การดำเนินงานของกองทุน หมวด 5 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 6 การบัญชี การตรวจสอบและการประเมินผล หมวด 7 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล โดยร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์เหลืออยู่ 2 ข้อ ได้แก่ (1) รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (2) สนับสนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีส่วนต่างราคาที่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ นอกจากนี้ ยังได้มีบทบัญญัติเรื่องการจัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันฯ เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันฯ และมีการกำหนดกรอบวงเงินการกู้ยืมเงินเพื่อมิให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหนี้สาธารณะและเสถียรภาพของกองทุนน้ำมันฯ
3. ความคืบหน้า หลังจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) แล้ว สคก.จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้า ครม. โดยมีแนวทางการนำเสนอ 2 วิธี ดังนี้คือ (1) สคก. จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ ไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อให้ยืนยันร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ ไปยัง สคก. และ สคก. จะส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต่อไป และ (2) สคก. จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ ไปยัง สลค. และจะมีหนังสือมายังกระทรวงพลังงานเพื่อให้ยืนยันพระราชบัญญัติกองทุนฯ ไปยัง สลค. ต่อไป ซึ่ง สนพ. พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติกองทุนฯ เป็นเรื่องเร่งด่วนจึงขอใช้แนวทางในข้อที่ 2 และจะได้แจ้งประสานไปยัง สคก. เพื่อทราบต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 ร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. สาระสำคัญร่างแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมีทั้งหมด 6 ด้าน ครอบคลุม 17 ประเด็น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ (1) บริหารจัดการพลังงานของประเทศ ปฏิรูปใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงาน 2) พัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ และ 3) สร้างธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน (2) ด้านไฟฟ้า ปฏิรูปใน 3 ประเด็น คือ 1) ปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 2) ส่งเสริมการแข่งขันใน กิจการไฟฟ้า และส่งเสริมกิจการไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทน และ 3) ปรับโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า (3) ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ปฏิรูปใน 2 ประเด็น คือ 1) ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติโดยสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ของภูมิภาค และ 2) การพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4 เพื่อสร้าง ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (4) สนับสนุนพลังงานทดแทน ปฏิรูปใน 4 ประเด็น คือ 1) ปฏิรูประบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล 2) ส่งเสริมการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า 3) ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี และ 4) ปฏิรูปโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งเพื่อสร้างกรอบและโครงสร้างการใช้พลังงานภาคขนส่งที่เหมาะสมกับประเทศ (5) อนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนและเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรม 2) การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC) และ 3) การใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และ (6) เทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน ปฏิรูปใน 2 ประเด็น คือ 1) การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ 2) ส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงานเพื่อส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ของประเทศ
2. ความก้าวหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างแผนปฏิรูปประเทศ ดังนี้ (1) เห็นชอบร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ตามที่ สศช. เสนอและให้รายงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบ ต่อไป (2) เห็นชอบตามความเห็น สศช. และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อไป และ (3) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับร่างแผนการปฏิรูปประเทศพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงาน และเป็นแผนการดำเนินงานของหน่วยงานในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน แล้วส่งไปยัง สศช. ภายใน 3 เดือน โดยให้ สศช. รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการที่จะมีการจัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนร่างแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้แก่ทุกภาคส่วน ต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตามร่างแผนการปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ สศช. พิจารณาช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้อย่างถูกต้องและทั่วถึงด้วย และ (4) ให้ สศช. เร่งดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการติดตาม การตรวจสอบและการประเมินผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเน้นให้กลไกและวิธีการประเมินสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไปและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วเพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์เพื่อถือปฏิบัติ ต่อไป
3. การจัดลำดับความสำคัญโครงการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2561 กระทรวงพลังงานได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเกณฑ์การพิจารณาที่สำคัญ โดยคัดเลือก 10 กิจกรรมที่สำคัญส่งให้ สศช. และคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยรับทราบว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ เห็นชอบในหลักเกณฑ์และการคัดเลือก 10 กิจกรรมสำคัญดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว สรุปดังนี้ (1) ประเด็นที่แก้ปัญหาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พลังงาน ได้แก่ 1) ปฏิรูปโครงสร้างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) 2) ปฏิรูปองค์กรด้านพลังงาน เน้นกิจกรรม OSS ปฏิรูปการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ และ 3) ปฏิรูปสร้างธรรมาภิบาล เน้นกิจกรรมกำหนดกลไกการจัดตั้งโรงไฟฟ้า ที่ประชาชนมีส่วนร่วม (2) ประเด็นที่จะกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนประเทศ ได้แก่ 1) ปฏิรูปส่งเสริมกิจการไฟฟ้า เพื่อเพิ่มการแข่งขัน และ 2) ปฏิรูปการพัฒนาปิโตรเคมี ระยะที่ 4 และ (3) นโยบายรัฐบาล รวมถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ปฏิรูปการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี 2) ปฏิรูปการใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ 3) ปฏิรูปการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ 4) ปฏิรูป การส่งเสริมเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน
4. การดำเนินการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศของกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย (1) การจัดตั้งกลุ่มงานภายในกระทรวงพลังงาน สำนักงาน กพร. แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบรูปแบบการจัดตั้ง ตำแหน่ง อัตรากำลัง และคุณลักษณะของกลุ่มขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (กลุ่ม ป.ย.ป.) โดย สป.พน. ได้นำเสนอปลัดกระทรวงพลังงานถึงกรอบการดำเนินการตามที่สำนักงาน กพร. กำหนด และได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีการกำหนดผู้นำ ป.ย.ป. รวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ ป.ย.ป. นำส่งสำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน 31 มีนาคม 2561 และจัดทำคำสั่งตั้งกลุ่ม ป.ย.ป. และ (2) การจัดตั้งกลไกคณะกรรมการภายในกระทรวง โดย สป.พน. จะปรับปรุงคำสั่งคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ลงนามเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ให้ครอบคลุมงานด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ตามที่สำนักงาน กพร. กำหนด นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาปรับปรุงคำสั่ง ต่อไป
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 การปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง
สรุปสาระสำคัญ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ สรุปสาระสำคัญให้ที่ประชุมทราบดังนี้
1. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และได้นำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติรับทราบผลการศึกษาและมอบหมายให้ สนพ. สื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้รับทราบจนได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกันและนำเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่ง สนพ. ได้จัดการประชุมสื่อสารผลการศึกษาให้กับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และกลุ่มนักวิชาการพลังงาน และได้รวบรวมข้อสรุปจากการประชุมสื่อสาร รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมจากทุกกลุ่มเพื่อนำเสนอ กบง. พิจารณา
2. ผลการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่า แนวทางการปรับปรุงการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามวิธีปัจจุบัน (Import Parity) มีดังนี้ (1) ราคา FOB ปัจจุบัน ใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 2 วันย้อนหลังโดยน้ำมันเบนซินอ้างอิง MOPS EURO 3 และน้ำมันดีเซลอ้างอิง MOPS EURO 3 ข้อเสนอคือให้ใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 2 วันย้อนหลัง โดยน้ำมันเบนซินอ้างอิง MOPS EURO 3 และน้ำมันดีเซลอ้างอิง MOPS EURO 4 (2) ค่าขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์มายังไทย (อ้างอิงอัตรา World Scale) ปัจจุบัน ใช้ AFRA ของเรือบรรทุกขนาด GP สำหรับดีเซลและเบนซินโดยใช้ค่าขนส่งทางเรือสิงคโปร์-กรุงเทพฯ ข้อเสนอ คือ ให้ใช้ AFRA ของเรือขนาด LR1 และคำนวณอัตราค่าขนส่งในแบบ long term charter โดยใช้ค่าขนส่งทางเรือสิงคโปร์-ศรีราชา (3) ค่าประกันภัย ปัจจุบันใช้อัตราร้อยละ 0.084 ของ C&F ข้อเสนอคือใช้อัตราร้อยละ 0.084 ของ C&F เท่าเดิม (4) ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างการขนส่ง ปัจจุบันใช้อัตราร้อยละ 0.5 ของราคา CIF ของน้ำมันทุกชนิดข้อเสนอคือใช้อัตราร้อยละ 0.3 ของ CIF ของน้ำมันทุกชนิด (5) ค่าเสียเวลาเรือ ปัจจุบันน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 0.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ข้อเสนอคือให้ยกเลิกทั้งหมด (6) ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ปัจจุบันน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 3.86 1.66 และ 2.88 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ข้อเสนอคือน้ำมันเบนซิน 95 และเบนซิน 91 อยู่ที่ 2.46 0.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ส่วนน้ำมันดีเซลให้ยกเลิก (7) ค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง ปัจจุบันอยู่ที่ 0.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลข้อเสนอให้อยู่ที่ 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล (สำรองน้ำมันดิบที่ร้อยละ 6) (8) ค่าบริการอื่นๆ (ค่าใช้จ่ายคลังและค่าลำเลียง) ปัจจุบัน น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 0.67 และ 0.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับข้อเสนอคือให้มีค่าขนส่งน้ำมันทางท่อจากศรีราชา-กรุงเทพฯ ตามจริง (0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือประมาณ 0.15 บาทต่อลิตร) (9) ค่าปรับอุณหภูมิเป็น 86 องศาฟาเรนไฮต์ ปัจจุบันน้ำมันเบนซิน 95 เบนซิน 91 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาอยู่ที่ 0.9814 0.9810 0.9870 และ 0.9896 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ข้อเสนอคือให้คงเดิม และ (10) ค่าใช้จ่ายการผสมเอทานอลและไบโอดีเซล ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 แก๊สโซฮอล 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล E20 อยู่ที่ 1 2 และ 1.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ข้อเสนอคือส่วนต่างระหว่างมูลค่าน้ำมันองค์ประกอบที่เติมลงไปและนำออกจากน้ำมันเบนซินพื้นฐาน โดยฝ่ายเลขานุการฯ เสนอให้เป็นศูนย์จนกว่าผู้ค้าจะส่งข้อมูลมายืนยัน
3. ข้อเสนอจากผลการศึกษา ควรปรับปรุงสูตรกำหนดราคา ดังนี้ (1) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เท่ากับ (1-X1) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y1 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X1) ของราคาเอทานอล (2) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เท่ากับ (1-X2) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 91 + (Y2 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X2) ของราคาเอทานอล (3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เท่ากับ (1-X3) ของ [ราคาเบนซินออกเทน 95 + (Y3 $/BBL x อัตราแลกเปลี่ยน / 158.984)] + (X3) ของราคาเอทานอล (4) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เท่ากับ (1-X4) ของราคาเบนซินออกเทน 95 + (X4) ของราคาเอทานอล (5) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วอ้างอิงราคากลางของตลาดภูมิภาคเอเชีย เท่ากับ (MOPS Gasoil 50 ppm + พรีเมียม) ที่ 60 องศาฟาเรนไฮต์ x อัตราแลกเปลี่ยน /158.984 (6) น้ำมันเตา 600 (2%S) FO 600 (2%S)t เท่ากับ [(FO 180 (2%)t x 0.836) + MOPS Gasoil 50 ppm) x 0.164] x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984 และ (7) น้ำมันเตา 1500 (2%S) FO 1500 (2%S)t เท่ากับ FO 180 (2%)t x อัตราแลกเปลี่ยน x 0.9896 /158.984
4. ผลการศึกษาค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม มีดังนี้ (1) ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมัน เสนอ กบง. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ 0.87 บาทต่อลิตร ข้อเสนอคือปรับเพิ่มเป็น 0.89 บาทต่อลิตร มาจากการปรับค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นตามราคาประเมินที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 13.06 (2) ค่าใช้จ่ายดำเนินการของ ม.7 เสนอ กบง. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ 0.58 บาทต่อลิตร ข้อเสนอคือปรับลดเป็น 0.54 บาทต่อลิตร มาจากการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายสำนักงาน 0.09 บาทต่อลิตร และการปรับลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายลงให้ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันที่ผู้ค้าฯ สำรองจริงที่ร้อยละ 3 คิดเป็น 0.13 บาทต่อลิตร (ขณะที่ PTIT ศึกษา ปริมาณสำรองน้ำมันน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ร้อยละ 6) และ (3) ค่าลงทุนสถานีบริการ เสนอ กบง. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ 0.40 บาทต่อลิตร ข้อเสนอคือปรับเพิ่มเป็น 0.49 บาทต่อลิตร มาจากการปรับค่าลงทุนสถานีบริการเพิ่มเป็น 22 ล้านบาทต่อสถานี (ผลการศึกษาของ PTIT ในปี 2556 มีค่าลงทุนที่ 18 ล้านบาท และข้อมูลจากผู้ค้าฯ มีค่าลงทุนอยู่ที่ประมาณ 25 ล้านบาท) และให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ร้อยละ 8 ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่า ค่าการตลาดที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1.92 เพิ่มขึ้น 0.07 บาทต่อลิตร จากที่เสนอ กบง. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่ 1.85 บาทต่อลิตร และหากแยกค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอล 91E10 95E10 E20 E85 และน้ำมันดีเซล ควรอยู่ที่ 2.60 1.97 1.97 2.00 4.00 และ1.85 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.92 บาทต่อลิตร ซึ่งจากการประชุมสื่อสารผลการศึกษาค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม ผู้ค้าได้เสนอความเห็นดังนี้ (1) ไม่ควรมีการกำหนดค่าการตลาด เพราะอาจเป็นการควบคุมราคา (2) หากจำเป็นต้องกำหนดค่าการตลาดควรใช้เฉพาะในระบบราชการ ไม่ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนและชี้นำตลาด และ (3) ควรสื่อสารให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าค่าการตลาดเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและกำไร ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอให้เผยแพร่โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านเว็บไซต์ สนพ. ถึงส่วนที่เป็นราคาขายส่ง ไม่ต้องแสดงค่าการตลาด แต่ให้มีการใช้ค่าการตลาดเฉพาะในหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและชี้นำตลาด สำหรับประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าดูราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละแบรนด์ผ่านทางเว็บไซต์ สนพ. ได้เช่นเดิม
5. ผลกระทบที่มีต่อโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หากมีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นฯ และค่าการตลาดตามผลการศึกษาที่เสนอ จะทำให้ราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงประมาณ 0.34 - 0.61 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 0.42 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่จะส่งผลให้โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น มีความเหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน โปร่งใสและเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งเกิดประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
มติของที่ประชุม
ทรับทราบหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้ สนพ. ทบทวนและนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานครั้งถัดไป
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 กบง. มีมติเห็นชอบให้ใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ตามมติ กพช. วันที่ 15 ธันวาคม 2557 สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2559 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2562 และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 กพช. มีมติมอบให้ กบง. สามารถพิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)) จากเดิมที่ กพช. ได้มีมติเห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ดังต่อไปนี้ (1) สามารถพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจนครบเป้าหมายตามที่ กพช. กำหนดไว้ (2) สามารถพิจารณากำหนดปริมาณรับซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นรายพื้นที่ (เช่น การกำหนดเป้าหมายรายภูมิภาค) ภายใต้กรอบเป้าหมายที่ กพช. กำหนดไว้แล้ว และ (3) สามารถพิจารณาปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรายปีให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) และปริมาณของแต่ละเชื้อเพลิงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
2. การดำเนินโครงการ มีดังนี้ (1) วันที่ 1 ธันวาคม 2559 กกพ. ได้ออกประกาศการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พ.ศ. 2559 รวม 8 พื้นที่ 12 โครงการ จำนวนรับซื้อ รวม 77.9 เมกะวัตต์ และมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 (2) วันที่ 16 มกราคม 2560 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. รักษาความสะอาด ฉบับที่ 2) มีผลบังคับใช้ (3) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศเลื่อนกำหนดในการจัดหาไฟฟ้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เพื่อรอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทยที่ต้องประกาศกำหนดแนวทางการดำเนินการ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ. รักษาความสะอาด ฉบับที่ 2 (4) วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 กกพ. ได้ออกประกาศการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 และกำหนดประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาภายในวันที่ 30 เมษายน 2561 (5) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 กกพ. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินตามกระบวนตามกฎหมายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐของโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลุ่ม Quick Win Projects 12 โครงการ (6) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 กระทรวงมหาดไทยได้เชิญ อปท. ทั้งหมด 8 พื้นที่ มาประชุมร่วมกับสำนักงาน กกพ. เพื่อยืนยันสถานะความพร้อมของกลุ่ม Quick Win Projects 12 โครงการ เพื่อเป็นข้อมูลให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเสนอขอขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าที่ชัดเจน รวมถึงการขอขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และ 7) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือถึงสำนักงาน กกพ. แจ้งสถานะความพร้อมของกลุ่ม Quick Win Projects 8 พื้นที่ 12 โครงการ เพื่อขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 และขอขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ถึงธันวาคม 2563 เนื่องจากติดประเด็นกฎหมายร่วมทุนที่ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการบริหารจัดการขยะของประเทศ และมีกระบวนการร่วมทุนที่ถูกต้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาโครงการมีเวลาในการชี้แจงโครงการและบริหารจัดการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กกพ. จึงเสนอให้ขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) รวม 8 พื้นที่ 12 โครงการ จำนวนเมกะวัตต์รับซื้อรวม 77.9 เมกะวัตต์ ที่ กกพ. ประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 2/2557 (ครั้งที่ 147) ที่มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2562 เป็นภายในปี 2564 โดยยังคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าและระยะเวลาการสนับสนุนตามมติเดิม (10 ปี สำหรับหลุมฝังกลบ และ 20 ปี สำหรับการจัดการขยะแบบผสมผสาน นับจากวัน COD)
3. ความเห็นฝ่ายเลขานุการฯ การพิจารณาขยายกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จากเดิมกำหนด SCOD ภายในปี 2562 เป็น SCOD ภายในปี 2564 นั้น กบง. ควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ด้วย ว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนในปัจจุบันหรือไม่ เนื่องจากอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ที่ กพช. ประกาศนั้น เป็นอัตราที่ประกาศตั้งแต่ ธันวาคม 2557 ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ขยายกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย (SCOD) สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) รวม 8 พื้นที่ 12 โครงการ จำนวนเมกะวัตต์รับซื้อรวม 77.9 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 2/2557 (ครั้งที่ 147) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่มีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2562 เป็นภายในปี 2564 โดยยังคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามมติเดิม ทั้งนี้ ให้มีระยะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2572 สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ (หลุมฝังกลบ) และภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2582 สำหรับโรงไฟฟ้าขยะ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน)
2. มอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม