มติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
ครั้งที่ 2/2561 (ครั้งที่ 49)
เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 เวลา 16.00 น.
1. การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG
ผู้มาประชุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ
(นายศิริ จิระพงษ์พันธ์)
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
(นายทวารัฐ สูตะบุตร)
เรื่องที่ 1 การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับก๊าซ LPG
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ดังนี้ (1) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การอ้างอิงราคาก๊าซ LPG นำเข้าจากเดิมที่อ้างอิงด้วยราคา CP ที่ประกาศรายเดือนเป็นอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo (FOB Arab Gulf) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์แทนโดย ราคานำเข้า เท่ากับ LPG cargo บวก X (X เท่ากับค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) (2) กำหนดเพดานการอุดหนุนราคาก๊าซ LPG (Subsidy Cap) โดยจำกัดปริมาณเงินการชดเชยราคาสูงสุดในแต่ละเดือนให้ไม่เกินร้อยละ 5 ของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม (ทั้งบัญชีน้ำมันและ บัญชี LPG) (3) ปรับกลไกการอ้างอิงราคาก๊าซ LPG จากเดิมที่ใช้ราคาขายปลีกจากการคำนวณด้วยโครงสร้างราคา ขายปลีกก๊าซ LPG เป็นการใช้ราคาขายปลีกของผู้ค้าแทน ต่อมา กบง. เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณอัตรากองทุน #1 กรณีที่ราคานำเข้าแตกต่างจากต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ เกินกว่า 0.67 บาท ต่อกิโลกรัม ให้มีอัตรากองทุน #1 ของโรงแยกก๊าซฯ ดังนี้ (1) อัตรากองทุนน้ำมันฯ #1 ของโรงแยกก๊าซ1 – 3 เท่ากับ ราคานำเข้า ลบ (ต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ 1-3 บวก กรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขัน) และ (2) ราคานำเข้า เท่ากับราคา ก๊าซตลาดโลก บวก ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า
2. สถานการณ์ก๊าซ LPG ในเดือนมกราคม 2561 สรุปได้ดังนี้ (1) ปริมาณการผลิตภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 535,827 ตัน ความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 541,215 ตัน ทำให้มีส่วนที่ขาดอยู่ประมาณ 5,387 ตัน ซึ่งจะถูกชดเชยด้วยการนำเข้า โดยมีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 36,500 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการนำเข้ามาเพื่อการส่งออก (re – export) จำนวน 3,500 ตัน และคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกก๊าซ LPG ซึ่งมาจากการผลิตภายในประเทศประมาณ 40,500 ตัน สำหรับสต็อกคงเหลือ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ประมาณ 103,099 ตันต่อเดือน (2) สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในเดือนมกราคม 2561 ราคาก๊าซ LPG (CP) อยู่ที่ 580 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนธันวาคม 2560 สำหรับสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG Cargo เฉลี่ยเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 535.97 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 21.83 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ราคาก๊าซ LPG นำเข้า (LPG cargo บวก X) เฉลี่ยเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 19.5548 บาทต่อกิโลกรัม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 0.4854 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนต้นทุนราคาก๊าซ LPG จากกลุ่มโรงแยกฯ (เดือนพฤศจิกายน 2560 – มกราคม 2561) ได้แก่ ต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 13.3723 บาทต่อกิโลกรัม (406.83 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) ต้นทุนของบริษัท ปตท. สผ. สยาม จำกัด อยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม (441.14 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) และต้นทุนของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม (441.14 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 32.1345 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนที่ 0.6949 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของกรอบราคาสำหรับกำกับการแข่งขันเท่ากับ 0.67 บาทต่อกิโลกรัม
3. แนวทางการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในช่วงวันที่ 30 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2561 ราคาก๊าซ LPG Cargo ปรับตัวลดลง 34.90 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น 0.2714 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคา ซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG (Import Parity) ปรับลดลง 1.2211 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 18.8881 บาทต่อกิโลกรัม (588.6173 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) เป็น 17.6670 บาทต่อกิโลกรัม (555.2590 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) หากราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลงค่าการตลาดอยู่ในระดับ 4.8211 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราคาก๊าซ LPG ในช่วง เดือนตุลาคม 2560 ถึง มกราคม 2561 อยู่ในช่วงขาขึ้นซึ่งภาครัฐได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ รักษาเสถียรภาพราคา ขายปลีกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 โดยได้ชดเชยในระดับ 6.3525 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นในช่วงราคาก๊าซ LPG ลดลง กองทุนน้ำมันฯ จึงควรปรับลดอัตราเงินชดเชยลงเพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันฯ สำหรับก๊าซ LPG ณ วันที่ 28 มกราคม 2561 อยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ 2,847 ล้านบาท ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงได้เสนอปรับลดอัตราเงินชดเชยของกองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ #2) ลง 1.5645 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชยที่ 6.3525 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 4.7880 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาขายปลีกคงเดิมที่ 19.82 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระชดเชยลดลง 306 ล้านบาทต่อเดือน จากชดเชย 1,300 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 994 ล้านบาทต่อเดือน
มติของที่ประชุม
1. รับทราบรายงานความเคลื่อนไหวราคาก๊าซ LPG ในรอบเดือนมกราคม 2561
2. เห็นชอบปรับลดอัตราเงินชดเชยของกองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง(กองทุน #2) ลง 1.5645 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมชดเชย 6.3525 บาทต่อกิโลกรัม เป็นชดเชย 4.7880 บาทต่อกิโลกรัม
3. ขอความร่วมมือให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ คงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ให้ผู้จำหน่าย ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ขนาด 15 กิโลกรัม ในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ จำหน่ายปลีกในราคาไม่เกิน ถังละ 353.00 บาท ไปจนกว่ากระทรวงพลังงานจะแจ้งเปลี่ยนแปลง
4. เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซ LPG นำเข้าอ้างอิงด้วยราคา LPG cargo จากข้อมูล Spot Cargo ( FOB Arab Gulf ) ของ Platts เฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อไปอีก 3 เดือน
5. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุนสำหรับก๊าซตามหลักเกณฑ์การคำนวณโครงสร้าง ราคาก๊าซ และฉบับที่ 8 พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย และอัตราเงินคืนกองทุน สำหรับก๊าซ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับไปดำเนินการออกประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นต้นไป