มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2551 (ครั้งที่ 120)
วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 11.00 น.
ณ ห้องประชุมบุญรอด - นิธิพัฒน์ ชั้น 11 อาคาร 7 กระทรวงพลังงาน
1.การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน
2.สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ธันวาคม 2550 - 11 มกราคม 2551)
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการ เป็นประธานในที่ประชุม
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรรมการและเลขานุการ
เนื่องจากประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม
เรื่องที่ 1 การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน
สรุปสาระสำคัญ
1. พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป โดยตามความในบทเฉพาะกาล มาตรา 142 และ 143 ของพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดว่า ในวาระเริ่มแรกให้ดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (คณะกรรมการฯ ) ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับ โดยให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไปพลางก่อนจนกว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะ กรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (ผอ. สนพ.) ปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เลขาธิการ) และให้ สนพ. ปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน) จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งเลขาธิการและจัดตั้งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
2. การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน
2.1 ในวาระเริ่มแรกซึ่งยังไม่มีคณะกรรมการฯ ตามความในมาตรา 154 ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนวันที่พระราช บัญญัติฯ ใช้บังคับ และเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติฯ นอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานของรัฐแห่งอื่น ประกอบกิจการต่อไปได้
ทั้งนี้ การประกอบกิจการพลังงานของผู้ประกอบกิจการพลังงานจะต้องปฏิบัติตามการอนุญาต ใดๆ ที่ได้ให้ไว้ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (ปว. 58) ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 กฎหมาย ว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฎหมาย ว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการพลังงาน จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
2.2 เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้ว ในบทบัญญัติกฎหมายได้กำหนดให้ดำเนินการ ดังนี้
2.2.1 ตามความในมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภท อายุใบอนุญาต ให้สอดคล้องกับขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานประเภทต่างๆ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุน รวมถึงลักษณะการแข่งขันของกิจการแต่ละประเภท และอาจกำหนดเงื่อนไขเป็นการเฉพาะรายด้วยก็ได้ ทั้งนี้ การกำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้ตราเป็นพระราช กฤษฎีกา
2.2.2 ตามความในมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้การปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรง งาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ให้การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามพระราชบัญญัติฯ โดยคณะกรรมการฯ ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ดังกล่าว และหน่วยงานดังกล่าวต้องแจ้งความเห็นพร้อมทั้งจำนวนค่าธรรมเนียมที่เรียก เก็บตามกฎหมายนั้นๆ ให้คณะกรรมการฯ ทราบด้วย
2.2.3 ตามความในมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ คณะกรรมการฯ จะกำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการ พลังงาน โดยออกประกาศระเบียบคณะกรรมการ
2.3 ผู้ประกอบการตามข้อ 2.1 ต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติฯ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ระเบียบคณะกรรมการตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ โดยในการออกใบอนุญาตดังกล่าว ให้คณะกรรมการฯ คำนึงถึงสิทธิและข้อผูกพันที่มีอยู่เดิม ประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานที่ได้รับบริการอยู่เดิม รวมทั้งการพัฒนาเพื่อให้มีการบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้วย
2.4 ก่อนพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าจะดำเนินการตาม ปว. 58 โดยผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าจะต้องดำเนินการ ดังนี้
2.4.1 ช่วงก่อนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง เกินกว่า 10 เมกะวัตต์ ให้ยื่นขอสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า และผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีกำลัง การผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า จากกรมธุรกิจพลังงาน โดยยื่นเอกสารคำขอที่พลังงานจังหวัดที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้สัมปทานหรือใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการอนุญาตอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติแล้ว
2.4.2 ผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานหรือใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ดำเนินการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่จะต้องขอจากหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เป็นต้น โดยผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าตามนโยบายการส่ง เสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน จะต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าด้วย
2.4.3 หลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและดำเนินการขอใบอนุญาตอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว ก่อนจะจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้า หรือจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง จะต้องขอใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าจากกรมธุรกิจพลังงาน
2.5 การให้สัมปทานหรือใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รมว. พน.) เป็นผู้มีอำนาจลงนาม ยกเว้น กรณีผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้ออกใบอนุญาต สำหรับการออกใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าทุกขนาดกำลังการผลิต ให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้ออกใบอนุญาต
2.6 เมื่อพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้แล้ว การให้สัมปทานหรืออนุญาตตาม ปว. 58 สิ้นสุดการบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 เนื่องจากตามความในข้อ 6 ของประกาศดังกล่าว กำหนดว่า "ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการตามที่ระบุไว้ในประกาศ การประกอบกิจการดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกิจการนั้น"
3. การยื่นคำขออนุญาตในช่วงเปลี่ยนผ่าน สามารถแบ่งออกเป็น (1) ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่ยื่นคำขอตาม ปว. 58 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ มีจำนวน 24 ราย ประกอบด้วยการขอรับใบอนุญาต ขอรับสัมปทาน ขอขยายเขตสัมปทาน ขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ขอต่ออายุใบอนุญาต และขอเพิ่มกำลังการผลิต โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของพลังงานจังหวัด จำนวน 7 ราย และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 17 ราย และ (2) ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่ยื่นคำขอตาม ปว. 58 หลังวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ มีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วยการขอรับใบอนุญาตและขอรับสัมปทานประกอบกิจการไฟฟ้า โดยอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของพลังงานจังหวัด จำนวน 5 ราย และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 1 ราย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ได้รับสัมปทานหรือใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าตาม ปว. 58 แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอ ซึ่งมีความจำเป็นต้องยื่นคำขอตามเงื่อนไขในการประกอบกิจการไฟฟ้าในระหว่าง นี้ไปจนถึงวันที่คณะกรรมการฯ ออกระเบียบตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ ได้แก่ ขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ขออนุญาตเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ขอขยายพื้นที่ประกอบกิจการ ขอให้ตรวจสอบความเที่ยงตรงของมาตรวัดพลังงานไฟฟ้า ขอต่ออายุสัมปทานหรือใบอนุญาต เป็นต้น
4. เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่ยื่นคำขอก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ และผู้ที่ได้รับสัมปทานหรือใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าตาม ปว. 58 แล้ว สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามที่กำหนดในสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า และให้การออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก ฝ่ายเลขานุการฯ จึงมีข้อเสนอดังนี้
4.1 คำขออนุญาตส่วนใหญ่ได้ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีเอกสาร แนบครบถ้วนพร้อมที่จะออกใบอนุญาตได้ จึงควรออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการไฟฟ้า พ.ศ. .... ตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ เป็นการชั่วคราว เพื่อใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่น คำขอในกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ โดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม ปว. 58 มาใช้บังคับในการอนุญาตโดยอนุโลม จนกว่าคณะกรรมการฯ จะเปลี่ยนแปลง และกำหนดอายุใบอนุญาตไว้เพียง 1 ปี
4.2 นอกจากผู้ยื่นคำขอตามข้อ 4.1 แล้ว อาจมีคำขอที่จำเป็นเพิ่มเติมในระหว่างนี้จนถึงวันที่คณะกรรมการฯ ออกระเบียบตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ เห็นควรให้ใช้ระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... เป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับผู้ยื่นคำขอในข้อ 4.1 ด้วย
4.3 อาศัยความตามมาตรา 47 และ 50 ของพระราชบัญญัติฯ เห็นควรยกร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานตามระเบียบดังกล่าว สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติฯ เห็นควรมอบอำนาจให้ รมว. พน. เป็นผู้มีอำนาจลงนามการออกใบอนุญาตตามระเบียบ ยกเว้น กรณีผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ให้ ผอ. สนพ. เป็นผู้มีอำนาจลงนาม ในส่วนของการออกใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าทุกขนาดกำลังการผลิต ให้ ผอ. สนพ. เป็นผู้ออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติของการให้อนุญาตตาม ปว. 58 ที่เป็นอยู่เดิม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติฯ
4.4 ก่อนการออกระเบียบในข้อ 4.3 เห็นควรให้ความเห็นชอบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตามความในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติฯ โดยให้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เว็บไซด์) ของ สนพ. เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์
4.5 การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตให้ใช้อัตราตามประกาศ ปว. 58 ไปก่อน โดยให้ สนพ. เป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บให้ถือเป็นรายได้ของสำนักงาน ตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งคลัง จนกว่าระเบียบด้านการเงินของสำนักงานในการใช้จ่ายเงินรายได้และทรัพย์สินตาม มาตรา 40 และมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติฯ แล้วเสร็จ
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอประเด็นเพื่อพิจารณา ดังนี้
5.1 ขอความเห็นชอบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตามความในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติฯ โดยให้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เว็บไซด์) ของ สนพ. เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์
5.2 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติฯ เห็นควรมอบหมายให้ รมว. พน. พิจารณาหรือกระทำการแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนี้
5.2.1 ลงนามในระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....
5.2.2 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้แก่ผู้ขอรับสัมปทานหรือใบอนุญาตการประกอบ กิจการไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ ตามมาตรา 52 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติฯ
5.3 เห็นควรมอบหมายให้ ผอ. สนพ. พิจารณาหรือกระทำการแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนี้
5.3.1 ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และการออกใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าทุกขนาดกำลังการผลิต ตามมาตรา 52 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติฯ
5.3.2 เปิดเผยรายชื่อผู้รับใบอนุญาตในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน ตามมาตรา 52 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติฯ
5.4 ขอความเห็นชอบการออกระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติฯ เพื่อใช้กับผู้ขออนุญาตในช่วงเปลี่ยนผ่านในข้อ 3 จนกว่าคณะกรรมการฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก
5.5 ขอความเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแนวทางการจัดเก็บค่า ธรรมเนียม โดยให้ถือเป็นรายได้ของสำนักงานตามมาตรา 40 ของพระราชบัญญัติฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งคลัง จนกว่าแผนการดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย รวมทั้งแผนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติฯ แล้วเสร็จ
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปยกร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง กำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 สำหรับประเภทกิจการไฟฟ้า เพื่อใช้ในการให้สัมปทาน/ใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าเป็นการชั่วคราวไป ก่อน โดยให้กำหนดในลักษณะเดียวกับประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58
2.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 50 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ เพื่อใช้เป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นเรื่องขออนุญาตตามประกาศ คณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับ และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการไฟฟ้า ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 แล้วแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตการจำหน่ายไฟฟ้า จนกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก
3.เห็นชอบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตามความในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติฯ โดยให้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง กำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ตามข้อ 1 และร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ตามข้อ 2 ผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เว็บไซด์) ของ สนพ. เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์
4.มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างประกาศคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง กำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ตามข้อ 1 และร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ตามข้อ 2 ก่อนการเสนอเพื่อลงนามให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป
5.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติฯ มอบหมายให้ รมว. พน. พิจารณาหรือกระทำการแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนี้
5.1 ลงนามในประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง กำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ..... ตามข้อ 1
5.2 ลงนามในระเบียบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการยื่นขอรับใบอนุญาต และเงื่อนไขในการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ....ตามข้อ 2
5.3 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้แก่ผู้ขอรับสัมปทานหรือใบอนุญาตการประกอบ กิจการไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งเกินกว่า 10 เมกะวัตต์ ตามมาตรา 52 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน
6.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติฯ มอบหมายให้ ผอ.สนพ. พิจารณาหรือกระทำการแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนี้
6.1 ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และการออกใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าทุกขนาดกำลังการผลิต ตามมาตรา 52 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน
6.2 เปิดเผยรายชื่อผู้รับใบอนุญาตในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน ตามมาตรา 52 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน
มอบหมายให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ แผนการดำเนินงานฯในวาระเริ่มแรก เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งรวมถึงงบประมาณรายจ่าย ประมาณการรายได้ และแผนกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม
เรื่องที่ 2 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (ธันวาคม 2550 - 11 มกราคม 2551)
สรุปสาระสำคัญ
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์เฉลี่ยเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 85.58 และ 91.26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 1.29 และ 1.25 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากข่าวรัฐมนตรีพลังงานของประเทศ Algeria คาดว่ากลุ่มโอเปคอาจทบทวนการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุม ครั้งต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 หากมีความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.438 เหรียญสหรัฐฯต่อยูโร และในช่วงวันที่ 1 - 11 มกราคม 2551 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.37 และ 95.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวหลังปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกัน และสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันที่ยังคงเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มโอเปคยังไม่พิจารณาเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน
2. ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2550 อยู่ที่ระดับ 98.38, 97.09 และ 105.69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้ว 1.91, 1.85 และ 1.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบและจากข่าวอินโดนีเซียผู้ซื้อหลักของภูมิภาคจะลดการนำเข้า น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลในเดือนมกราคม 2551 เนื่องจากโรงกลั่นในประเทศเสร็จสิ้นจากการปิดซ่อมบำรุง และในช่วงวันที่ 1 - 11 มกราคม 2551 ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และน้ำมันดีเซลได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 104.17, 102.91 และ 106.67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ และโรงกลั่น Formosa ของไต้หวันจะปิดซ่อมบำรุงในเดือนมีนาคม 2551 นอกจากนี้ จีนวางแผนนำเข้าน้ำมันดีเซลเดือนมกราคม 2551 คิดเป็นปริมาณสูงถึง 700,000 ตัน
3. เดือนธันวาคม 2550 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลลดลง 1 ครั้ง0.40 บาทต่อลิตร และในช่วงวันที่ 1-11 มกราคม 2551 ผู้ค้าน้ำมันปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 2 ครั้ง ๆ ละ 0.40 บาทต่อลิตร และปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1 ครั้ง 0.40 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 91 แก๊สโซฮอล 95, 91 ดีเซลหมุนเร็ว และดีเซลหมุนเร็วบี 5 ณ วันที่ 14 มกราคม 2551 อยู่ที่ระดับ 33.69, 32.39, 29.69, 28.89, 29.74 และ 28.74 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
4. แนวโน้มราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม 2551 คาดว่ายังคงมีความผันผวนและแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาน้ำมันดิบดูไบและเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 83 - 88 และ 87 - 92เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ในระยะสั้นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจถดถอยลงเนื่องจากปัญหา Sub-Prime ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน การเข้าเก็งกำไรในตลาดน้ำมันของกลุ่มเฮดฟันท์ และสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิต สำหรับราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วในตลาดจรสิงคโปร์เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 92 - 97 และ 100 - 105 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ ตามราคาน้ำมันดิบ สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง และความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน และอินเดีย
5. ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก เดื่อนมกราคม 2551 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
มาอยู่ที่ระดับ 872 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบและความต้องการใช้เพื่อความอบอุ่น ราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นอยู่ในระดับ 10.8905 บาทต่อกิโลกรัม อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG ที่จำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับ 0.2950 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็น 40.28 ล้านบาทต่อเดือน แนวโน้มของราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 840 - 850 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
6. การจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล เดือนธันวาคม 2550 มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล 6.66 ล้านลิตรต่อวัน และช่วงวันที่ 1 - 15 มกราคม 2551 มีปริมาณจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลจำนวน 7.04 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล รวม 3,745 แห่ง เดือนธันวาคม 2550 การผลิตเอทานอลมีปริมาณ 1.03 ล้านลิตรต่อวัน จากผู้ประกอบการที่ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 7 ราย โดยราคา เอทานอลแปลงสภาพไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ลิตรละ 17.28 บาท นอกจากนั้นกระทรวงพลังงานได้ร่วมกับกระทรวงการคลังส่งเสริมการจำหน่ายรถยนต์ ที่สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป โดยใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 โดยบางจาก และ ปตท. เริ่มการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล อี20 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 โดย ณ ปัจจุบัน มีสถานีบริการรวม 15 แห่ง ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 อี10 และ อี20 อยู่ที่ 29.69 และ 27.69 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 4.00 และ 6.00 บาทต่อลิตร ตามลำดับ
7. สำหรับน้ำมันไบโอดีเซล เดือนธันวาคม 2550 มีกำลังการผลิตรวม 2.185 ล้านลิตรต่อวัน และราคาไบโอดีเซลในประเทศเฉลี่ยเดือนธันวาคม 2550 และเดือนมกราคม 2551 อยู่ที่ 36.32 และ 38.26 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 เดือนธันวาคม 2550 มีจำนวน 3.83 ล้านลิตรต่อวัน หรือมีการใช้ไบโอดีเซล (B100) เฉลี่ย 191,500 ลิตรต่อวัน และเดือนมกราคม 2551 จำนวน 4.22 ล้านลิตรต่อวัน หรือมีการใช้ไบโอดีเซล (B100) เฉลี่ย 211,000 ลิตรต่อวัน ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 อยู่ที่ 28.74 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 1.00 บาทต่อลิตร
8. ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 15 มกราคม 2551 มีเงินสดสุทธิ 11,885 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุน 10,107 ล้านบาท แยกเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท ภาระดอกเบี้ยพันธบัตร 388 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระเงินชดเชย 919 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 1,178 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
- กพช. ครั้งที่ 120 - วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2551 (1954 Downloads)