มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 2/2552 (ครั้งที่ 124)
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552 เวลา 9.30 น.
ณ ตึกสันติไมตรี หลังใน ทำเนียบรัฐบาล
1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)
2.ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายวีระพล จิรประดิษฐกุล) เป็นกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2)
สรุปสาระสำคัญ
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานตรวจสอบให้ชัดเจนว่า PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่อาจเกี่ยวข้องก่อนด้วย หรือไม่ เช่น การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
2. กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (คณะกรรมการฯ) ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อพิจารณาประเด็นตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย สรุปได้ดังนี้
2.1 แผน PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ควรมีการจัดการรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนหรือไม่ โดยได้เชิญผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า แผน PDP 2007 ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นแล้ว เมื่อมีการปรับปรุงแผนเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการปรับปรุงดังกล่าวไม่ได้กระทบกรอบใหญ่และไม่กระทบ ส่วนได้เสียของประชาชน ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม
2.2 เพื่อความรอบคอบ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แผน PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 พร้อมทั้งได้นำสรุปความเห็นและคำชี้แจงจากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552
3. การประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ได้นำความเห็นที่ได้จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ มาปรับปรุงแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 อีกครั้ง โดยปรับปรุงแผนฯ ดังนี้
3.1 เพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP เป็นทางเลือกหนึ่งในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า โดยพิจารณาศักยภาพการผลิตพลังไฟฟ้าของโครงการ VSPP จากเดิมที่มีอยู่ในปี 2551 จำนวน 235 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะมี VSPP ที่จะพึ่งพาได้เพิ่มขึ้นในแผนฯ ในปี 2552 - 2564 จำนวนทั้งสิ้น 564 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะมีกำลังผลิตสะสมจาก VSPP ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 799 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ปรับลดโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ออกไปได้
3.2 ปรับแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ปี 2552-2558 เป็นการปรับแผนระยะสั้นและเร่งด่วน เพื่อให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดภาระการลงทุนของประเทศและผลกระทบค่าไฟฟ้าที่จะเป็นภาระต่อประชาชน รวมทั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของผู้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ของภาคเอกชนที่ให้มีการปรับเลื่อนกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าออกไป นอกจากนี้ ได้เร่งกำหนดเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของภาคเอกชนให้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส ที่ 3-4 ปี 2552
ช่วงที่ 2 ปี 2559-2564 โครงการที่เพิ่มขึ้นยังไม่ควรระบุรายละเอียดโครงการ และให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศครั้งต่อ ไป เมื่อประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งกระทรวงพลังงาน โดย สนพ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันจัดทำแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ ให้นำความเห็นจากการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าต่อไปด้วย
3.3 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผน PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ
4. สรุปสาระสำคัญแผน PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 สรุปได้ดังนี้
4.1 ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า ในปี 2551 กำลังผลิตติดตั้ง 29,140 เมกะวัตต์ และช่วงปี 2552-2564 จะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 30,155 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังผลิตทั้งสิ้นในปี 2564 จำนวน 59,295 เมกะวัตต์ และจะมีโรงไฟฟ้าที่ถูกทยอยปลดออกจากระบบ 7,502 เมกะวัตต์ จึงเหลือกำลังผลิตสุทธิในปี 2564 จำนวน 51,792 เมกะวัตต์ ลดลงจากแผน PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 6,408 เมกะวัตต์
กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น 30,155 เมกะวัตต์ ในปี 2552-2564 ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการโดย กฟผ. จำนวน 11,769 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจาก IPP จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจาก SPP จำนวน 1,985 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP จำนวน 564 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 5,037 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใหม่ 4,800 เมกะวัตต์
สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 48 และได้ลดลงเหลือ ร้อยละ 43 ในปี 2564 ส่วนภาคเอกชนและต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 52 ในปี 2552 ลดลงเหลือร้อยละ 48 ในปี 2564 และได้กำหนดให้มีโครงการใหม่ซึ่งยังไม่ได้ระบุสถานที่และผู้ดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ในระดับร้อยละ 9 ในปี 2564
4.2 ระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ในปี 2552-2564
หน่วย: ร้อยละ
PDP 2007 | ปี | ||||||||||||
52 | 53 | 54 | 55 | 56 | 57 | 58 | 59 | 60 | 61 | 62 | 63 | 64 | |
ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 | |||||||||||||
- ค่าพยากรณ์ชุด ก.ย. 50 | 21.1 | 22.7 | 18.5 | 20.6 | 22.0 | 21.1 | 19.8 | 17.2 | 16.7 | 16.6 | 15.5 | 17.3 | 16.2 |
- ค่าพยากรณ์ชุด ธ.ค. 51 | 23.6 | 27.3 | 26.6 | 29.2 | 32.8 | 32.0 | 30.6 | 27.8 | 27.3 | 27.2 | 26.1 | 28.3 | 27.0 |
ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (ค่าพยากรณ์ชุด ธ.ค. 51) |
|||||||||||||
- ก่อนประชุมสัมมนาฯ | 22.4 | 23.9 | 23.4 | 19.9 | 19.9 | 15.9 | 15.7 | 15.7 | 15.6 | 16.8 | 15.8 | 16.8 | 15.8 |
- หลังประชุมสัมมนาฯ | 22.4 | 24.0 | 23.7 | 20.3 | 20.4 | 16.6 | 16.6 | 16.6 | 16.6 | 15.8 | 17.0 | 16.1 | 15.3 |
4.3 การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า
- แผน PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 2,107,534 ล้านบาท
- แผน PDP 2007 : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 1,626,274 ล้านบาท
- การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าลดลง 481,260 ล้านบาท
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 เพื่อให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้อง กับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ลดภาระการลงทุนการขยายโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นของ ประเทศลงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559-2564 ให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศครั้งต่อไป เมื่อประมาณการภาวะเศรษฐกิจชุดใหม่ซึ่งกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำแล้วเสร็จ
2.มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของ ประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 (PDP 2007: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป
เรื่องที่ 2 ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
สรุปสาระสำคัญ
1. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 กพช. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ส่วนเพิ่มฯ) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิต ไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มฯ สำหรับ SPP โครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และขยะ ในอัตราคงที่ และไม่กำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเสนอ สำหรับ SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ให้รับซื้อโดยวิธีประมูลแข่งขัน และกำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2555 ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากแต่ละชนิดเชื้อเพลิงไว้ด้วย ในส่วนของ VSPP ได้กำหนดส่วนเพิ่มฯ สำหรับโครงการพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังน้ำขนาดเล็ก ในอัตราคงที่ ทั้งนี้ ให้ยื่นข้อเสนอภายในปี พ.ศ.2551 แต่ไม่กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อ นอกจากนี้ โครงการ SPP และ VSPP ที่ได้รับส่วนเพิ่มฯ ดังกล่าว หากตั้งอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะได้รับส่วนเพิ่มฯ พิเศษด้วย
2. ณ เดือนธันวาคม 2551 มี SPP พลังงานหมุนเวียน ที่ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าและขอรับส่วนเพิ่มฯ รวม 1,623 เมกะวัตต์ เป็นโครงการพลังงานลม 1,458 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 55 เมกะวัตต์ และ ชีวมวล 110 เมกะวัตต์ ในส่วนของการให้ส่วนเพิ่มฯ พิเศษ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี SPP ได้รับ ส่วนเพิ่มฯ พิเศษ จำนวน 1 ราย ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขาย 20.20 เมกะวัตต์ ใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง สำหรับ VSPP พลังงานหมุนเวียน มีผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าและขอรับ ส่วนเพิ่มฯ รวม 6,299.43 เมกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 2,809.26 เมกะวัตต์ ชีวมวล 2,278.93 เมกะวัตต์ พลังงานลม 810.92 เมกะวัตต์ ขยะ 211.21 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 188.84 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 0.27 เมกะวัตต์
3. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนี้
3.1 เห็นควรยกเลิกเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจาก SPP พลังงานหมุนเวียนเดิม และกำหนดเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อใหม่ตามระเบียบ SPP และ VSPP โดยกำหนดส่วนเพิ่มฯ ในแต่ละปีให้สอดคล้องกับเป้าหมายในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ทั้งนี้ ให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP พลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่จำกัดปริมาณ แต่ในกรณีพลังงานหมุนเวียนที่ขอรับส่วนเพิ่มฯ ให้พิจารณาปริมาณรับซื้อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี
ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อใหม่ ให้นับรวม (1) SPP และ VSPP ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจ่ายไฟฟ้า เข้าระบบ (2) SPP และ VSPP ที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้า และ (3) SPP และ VSPP ที่จะยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าใหม่ สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า หรือมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ให้การไฟฟ้ากำหนดวันเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อจากพลังงานหมุนเวียนด้วย
โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าไว้ก่อนวันที่ออกประกาศ ส่วนเพิ่มฯ ใหม่ เห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการพิจารณาตอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยให้พิจารณารับซื้อไฟฟ้าตามลำดับการยื่นข้อเสนอ และรายที่มีความพร้อมก่อน โดยให้การไฟฟ้าสามารถขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาได้ ทั้งนี้ เห็นควรแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP และ VSPP เพื่อให้การไฟฟ้าพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าทั้งรายเก่า และรายใหม่ โดยเพิ่มเติมเอกสารประกอบการพิจารณาในประเด็นดังต่อไปนี้
3.1.1 แผนการดำเนินงานและเอกสารประกอบการพิจารณาในขั้นตอนการยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้า การตอบรับซื้อไฟฟ้า การจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อแสดงความพร้อมของโครงการ
3.1.2 ให้มีการวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าที่เหมาะสมกับขนาดโครงการ โดยหลักค้ำประกันดังกล่าวจะคืนให้กับผู้ประกอบการในกรณี (1) ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าว่าไม่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า (2) ในวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ สำหรับโครงการที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และเป็นบทปรับในกรณีไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามที่กำหนด ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
3.2 ข้อเสนอการปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า
(1) กำหนดส่วนเพิ่มฯ แยกตามประเภทเทคโนโลยีและเชื้อเพลิง โดยให้ส่วนเพิ่มสูงขึ้นสำหรับโครงการระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมการจัดการด้านเชื้อเพลิง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ และเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และต้นน้ำ โดยยังคงส่วนเพิ่มฯ พิเศษสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และกำหนดให้ส่วนเพิ่มฯ พิเศษสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล สำหรับโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากดีเซลของ กฟภ. เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลซึ่งมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดส่วนเพิ่มฯ พิเศษในอัตราเดียวกับโครงการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ในระยะยาวเห็นควรให้มีการศึกษาอัตราส่วนเพิ่มพิเศษที่เหมาะสม โดยไม่ควรสูงกว่าต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้จากการใช้น้ำมันดีเซล และการลงทุนในระบบจำหน่ายในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ จากการประมาณการปริมาณพลังไฟฟ้ารับซื้อที่จะขอรับส่วนเพิ่มฯ ใหม่ จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผ่านค่า Ft เฉลี่ยทุกประเภทเชื้อเพลิงประมาณ 8 สตางค์ต่อหน่วย ภายในปี 2565
(2) กำหนดระยะเวลาสนับสนุน เป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
(3) เห็นควรให้บังคับใช้กับ SPP และ VSPP รายใหม่ที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าตามระเบียบภายหลังวันที่ประกาศใช้มาตรการ สนับสนุนใหม่ และ SPP และ VSPP ที่ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าตามประกาศส่วนเพิ่มฯ ก่อนวันที่ออกประกาศส่วนเพิ่มฯ ใหม่ และยังไม่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า หรือยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า
สรุปข้อเสนอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า แยกตามประเภทเทคโนโลยีและเชื้อเพลิง
เชื้อเพลิง | ส่วนเพิ่มฯ ปัจจุบัน (บาท/kWh) |
ข้อเสนอส่วนเพิ่มฯ (บาท/kWh) |
ส่วนเพิ่มพิเศษ* (บาท/kWh) |
ระยะเวลาสนับสนุน | เหตุผลสนับสนุน |
1. ชีวมวล | |||||
- กำลังการผลิตติดตั้ง <= 1 MW | 0.30 | 0.50 | 1.00 | 7 | เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมโรงไฟฟ้าระดับชุมชน |
- กำลังการผลิตติดตั้ง >1 MW | 0.30 | 0.30 | 1.00 | 7 | เท่าเดิม |
2. ก๊าซชีวภาพ (จากทุกประเภทแหล่งผลิต) | |||||
- กำลังการผลิตติดตั้ง <= 1 MW | 0.30 | 0.50 | 1.00 | 7 | เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมโครงการขนาดเล็กที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน |
- กำลังการผลิตติดตั้ง >1 MW | 0.30 | 0.30 | 1.00 | 7 | เท่าเดิม และกำหนดนิยามให้ครอบคลุมแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ |
3. ขยะ (ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตราย และไม่เป็นขยะที่เป็นอินทรียวัตถุ) | |||||
- ระบบหมักหรือหลุมฝังกลบขยะ | 2.50 | 2.50 | 1.00 | 7 | เท่าเดิม |
- พลังงานความร้อน (Thermal Process) | 2.50 | 3.50 | 1.00 | 7 | เพิ่มขึ้น เพราะมีต้นทุนการคัดแยกขยะสูงกว่า |
4. พลังงานลม | |||||
- กำลังการผลิตติดตั้ง <= 50 kW | 3.50 | 4.50 | 1.50 | 10 | เพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ |
- กำลังการผลิตติดตั้ง > 50 kW | 3.50 | 3.50 | 1.50 | 10 | เท่าเดิม |
5. พลังน้ำขนาดเล็ก | |||||
- กำลังการผลิตติดตั้ง 50 kW - <200 kW | 0.40 | 0.80 | 1.00 | 7 | ส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าและต้นน้ำ และการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ |
- กำลังการผลิตติดตั้ง <50 kW | 0.80 | 1.50 | 1.00 | 7 | |
6. พลังงานแสงอาทิตย์ | 8.00 | 8.00 | 1.50 | 10 | เท่าเดิม |
หมายเหตุ: * สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในพื้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล
3.3 การปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า
(1) เห็นควรให้ SPP ที่มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ หากขอยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและประสงค์จะเปลี่ยนไปใช้ระเบียบการรับซื้อ ไฟฟ้าจาก VSPP ให้สามารถรับส่วนเพิ่มฯ ตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ตามอัตราเดิมได้ โดยกำหนดระยะเวลาสนับสนุน ให้นับจากวันเริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า (COD) ตามสัญญา SPP เดิม จนครบระยะเวลาสนับสนุน 7 ปี
(2) เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการให้การไฟฟ้าสั่งการเดิน เครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ตามความสามารถในการผลิตตามสัญญาทั้งในช่วง Peak และ Off-Peak
(3) เห็นควรให้ปรับปรุงระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP ในส่วนของการคำนวณส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน ให้คิดจากหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ ทั้งนี้ หากต้องปรับปรุงเครื่องวัดค่าพลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องกับวิธีคำนวณให้เป็นไป ตามระเบียบปฏิบัติของการไฟฟ้า
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รายละเอียด ในข้อ 3.1-3.3 ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานรับนโยบายดังกล่าวไปจัดทำในรายละเอียดหลัก เกณฑ์เงื่อนไข และยกร่างประกาศการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ตลอดจนกำกับดูแลภายใต้กรอบนโยบายของรัฐต่อไป
2.เห็นควรให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอนโยบายมาตรการสนับสนุนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้ง ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ ความเห็นชอบ
3.มอบหมายให้ สนพ. ศึกษาและเสนอแนะมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสม สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแต่ละชนิดและเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับศักยภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการกำหนดนโยบายการส่งเสริม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ และเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณานโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุน เวียนประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอในด้านนโยบายต่อไป
4.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรับไปสำรวจและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ที่ยังไม่มี ไฟฟ้าใช้ พร้อมทั้งพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อเสนอรูปแบบหรือมาตรการจูงใจการ ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาภายใน 6 เดือน
สรุปสาระสำคัญ
1. ตามความมาตรา 9(8) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (พระราชบัญญัติฯ) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบายในการนำส่ง เงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าต่อ กพช. และตามความในมาตรา 11(10) กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบหรือประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้สอดคล้องกับ นโยบายของ กพช. ดังกล่าว
2. พระราชบัญญัติฯ กำหนดให้การนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ต้องมีการแยกบัญชีตามกิจการที่กำหนดอย่างชัดเจน ดังนี้ มาตรา 97(1) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการ แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค มาตรา 97(2) เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุม ระบบไฟฟ้าสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่าง ไม่เป็นธรรมหรือมีการเลือกปฏิบัติ มาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรง ไฟฟ้า มาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มาตรา 97(5) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า และมาตรา 97(6) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยเงินที่นำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อใช้จ่ายตามมาตรา 97(1)ให้หักจากอัตราค่าบริการ
3. ก่อนที่พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (กองทุนรอบโรงไฟฟ้า) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่ง แวดล้อมของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรง ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ 71 กองทุน และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งอีก 9 กองทุน ทั้งนี้ กฟผ. เก็บเงินเข้ากองทุนผ่านค่า Ft ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550-ธันวาคม 2551 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,665.79 ล้านบาท และได้โอนเงินให้กับกองทุนที่จัดตั้งแล้วเสร็จและพร้อมที่จะรับเงินรวมทั้ง สิ้น 1,655.59 ล้านบาท ทั้งนี้ ในการโอนเงินให้แต่ละกองทุน กฟผ. จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 1
4. การดำเนินงานของกองทุนรอบโรงไฟฟ้าที่ผ่านมาประสบปัญหาและอุปสรรคในการบริหาร กองทุน ดังนี้ 1) การจัดตั้งกองทุนไม่มีกฎหมายรองรับ 2) ภาระภาษีของกองทุน 3) บางกองทุนมีเงินไม่มากพอที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้ อย่างทั่วถึง 4) การใช้จ่ายเงินของกองทุนไม่ตรงตามความต้องการของชุมชน 5) การประสานงานเพื่อบริหารกองทุนไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควร เนื่องจากพลังงานจังหวัดในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการบริหารกองทุนมี ภารกิจมาก โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดที่ต้องดูแลกองทุนขนาดใหญ่หรือหลายกองทุน
5. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้
5.1 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลัก เกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กกพ. กำหนด และ กกพ. ได้กำหนดค่าปรับไว้ ให้จ่ายเงินค่าปรับตามมาตรา 128 และ 140 เข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า
5.2 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าในแต่ละประเภทนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าดังนี้
5.2.1 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้
(1) ผู้รับใบอนุญาตฯ รายใหม่ หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตฯ ที่ได้รับใบอนุญาตในการปลูกสร้างอาคารหรือการตั้งโรงงานตั้งแต่วันที่ ระเบียบ กกพ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำส่งเงินและการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีผลบังคับใช้ เป็นต้นไป นำส่งเงินเข้ากองทุน ดังนี้
ช่วงระหว่างการก่อสร้าง (นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา เพื่อดำเนินการก่อสร้าง จนถึงวันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)) ให้จ่ายเงินเป็นรายปีตามกำลังการผลิตติดตั้งของ โรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี สำหรับปีใดที่มีการก่อสร้างไม่ครบปีให้คำนวณตามสัดส่วนของเดือนในปีนั้น ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อปี โดยในปีแรกให้จ่ายภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า สำหรับปีถัดไปให้จ่ายภายใน 5 วันทำการแรกของปี
ช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า (นับตั้งแต่วันที่เริ่ม COD เป็นต้นไป) ให้จ่ายเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยจำแนกตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอัตราดังนี้
อัตราการจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปริมาณการผลิตไฟฟ้า
เชื้อเพลิง | สตางค์/หน่วย |
ก๊าซธรรมชาติ | 1.0 |
น้ำมันเตา, ดีเซล | 1.5 |
ถ่านหิน, ลิกไนต์ | 2.0 |
พลังงานหมุนเวียน - ลม และแสงอาทิตย์ - พลังน้ำ - ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน และอื่นๆ |
0.0 2.0 1.0 |
(2) ผู้รับใบอนุญาตฯ รายปัจจุบัน หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตฯ ที่ได้รับใบอนุญาตในการปลูกสร้างอาคารหรือการตั้งโรงงานก่อนวันที่ระเบียบ ของ กกพ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กำหนดให้จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น
5.2.2 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จำหน่ายไฟฟ้า นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นรายเดือน โดยหักจากอัตราค่าบริการ ตามอัตราที่ กกพ. ประกาศกำหนด ทั้งนี้ปริมาณเงินที่นำส่งเข้ากองทุน จะต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าที่ให้ บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค รวมทั้ง ต้องสอดคล้องกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและแผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้าตามที่ กพช. กำหนด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะต้องรับภาระในการที่ผู้รับอนุญาต ประกอบกิจการไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนด้วย
5.2.3 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าประเภทอื่น ได้แก่ใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า และใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า ให้ กกพ. กำหนดอัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะต้องรับภาระในการที่ผู้รับอนุญาต ประกอบกิจการไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนด้วย
5.3 ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าต้องระบุ การบริจาคเพื่อกิจการใดตามมาตรา 97 ให้ชัดเจน เพื่อ กกพ. จะได้นำเงินไปใช้ให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคต่อไป หากไม่ระบุ กกพ. สามารถนำไปใช้ในกิจการตามมาตรา 97 ที่เห็นสมควรได้
5.4 เงินหรือทรัพย์สินที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้รับจากข้อ 5.2.1-5.2.3 ให้ กกพ. ทำการจัดสรรให้กับแต่ละบัญชีที่แยกตามกิจการที่กำหนดไว้ในมาตรา 97 (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ตามความเหมาะสม
6. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอนโยบายการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดังนี้
6.1 ให้นำเงินในมาตรา 97 (1) ไปจ่ายให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยต้องสอดคล้องกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและแผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้าตาม ที่ กพช. กำหนด และให้คำนึงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
6.2 ให้นำเงินในมาตรา 97 (2) ไปจ่ายชดเชยผ่านทางค่า Ft ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาต ที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าดำเนินการ ผลิตไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรมหรือมีการเลือกปฏิบัติ
6.3 ให้นำเงินในมาตรา 97 (3) ไปใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนิน งานของโรงไฟฟ้า โดยเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและให้ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมการพัฒนาท้องถิ่น ของตน โดยในระยะแรกให้คำนึงถึงการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรง ไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
6.4 ให้นำเงินในมาตรา 97 (4) ไปใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
6.5 ให้นำเงินในมาตรา 97 (5) ไปใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า
6.6 ให้นำเงินในมาตรา 97 (6) ไปใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการกองทุน ทั้งนี้ให้แบ่งเงินในส่วนนี้ออกเป็นสามส่วนคือ
6.6.1 เพื่อสำรองไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน เพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรง ไฟฟ้าตามที่ กกพ. เห็นสมควร
6.6.2 เพื่ออุดหนุนให้กับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนิน งานของโรงไฟฟ้าที่ได้รับการจัดสรรเงินจากข้อ 6.3 จำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ทั้งนี้ จำนวนเงินที่จะอุดหนุนให้กับแต่ละท้องถิ่นให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่ กกพ. กำหนด
6.6.3 เพื่อการบริหารจัดการกองทุนและการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน
ทั้งนี้ ให้ กกพ. พิจารณากำหนดสัดส่วนของเงินที่ใช้ในแต่ละส่วนตามความเหมาะสม
7. เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า สอดคล้องกับการดำเนินงานตามความในมาตรา 97 (3) ของพระราชบัญญัติฯ ซึ่งกำหนดให้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปใช้จ่ายในการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ดังนั้น เพื่อไม่ให้การดำเนินงานของกองทุนรอบโรงไฟฟ้า มีความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
7.1 ให้ กฟผ. ยุติการเก็บเงินเข้ากองทุนรอบโรงไฟฟ้านับตั้งแต่ระเบียบการนำส่งเงินและการ ใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีผลบังคับใช้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนรอบโรงไฟฟ้ายังคงสามารถบริหารงานกองทุนรอบโรง ไฟฟ้าต่อไปจนครบวาระ โดยวาระการดำรงตำแหน่งจะต้องไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นควรมีการบริจาคเงินและทรัพย์สินของกองทุนรอบโรงไฟฟ้าให้กับกอง ทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจการตามมาตรา 97(3) โดยให้นำเงินและทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปใช้ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้ชุมชนยังคงได้รับสิทธิและประโยชน์จากเงินและทรัพย์สินดังกล่าวตาม กรอบในพระราชบัญญัติฯ เหมือนเดิม
7.2 การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าก่อนที่พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ เป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้านั้น ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าอยู่นอก เหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว อาจมีการฟ้องร้องได้ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ โดยให้การไฟฟ้าสามารถปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามค่าใช้จ่ายที่เกิด ขึ้นจริงของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน พัฒนาไฟฟ้า
7.3 เห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของทั้งสองกองทุนเป็นไปด้วยความเรียบ ร้อย
มติของที่ประชุม
1.เห็นชอบข้อเสนอนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามข้อ 5
2.เห็นชอบข้อเสนอนโยบายการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามข้อ 6
3.เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตามข้อ 7
ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์และความก้าวหน้าของเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
เรื่องที่ 4.1 แนวทางการชำระเงินชดเชยราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากการนำเข้า
เรื่องที่ 4.2 รายงานการดำเนินการการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
เรื่องที่ 4.3 สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
เรื่องที่ 4.4 แผนการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) (พ.ศ. 2551-2555)
เรื่องที่ 4.5 โครงการความร่วมมือกับบราซิลด้านพลังงานทดแทนเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายพลังงานทดแทนของไทย
- กพช. ครั้งที่ 124 - วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2552 (1802 Downloads)