มติคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 1/2547 (ครั้งที่ 38)
วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547 เวลา 14.00 น
ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
3. ขออนุมัติโครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ ระยะที่ 2
4. ขออนุมัติวงเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานให้กับอาคารควบคุม
5. ขอปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
7. ขอปรับปรุงโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยสถาบันการเงิน
รองนายกรัฐมนตรี (ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายเมตตา บันเทิงสุข) กรรมการและเลขานุการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ผู้เข้าร่วมประชุม
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานการรับ-จ่ายเงินกองทุนฯ ว่ามีเงินคงเหลือในบัญชีเงินฝากธนาคาร ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2547 จำนวน 11,187.90 ล้านบาท และได้รายงานงบการเงินที่กรมบัญชีกลางส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ ประจำปีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 ว่ามี หนี้สินและเงินทุน จำนวน 11,925,041,828.02 บาท
มติที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2542 (ครั้งที่ 18) เมื่อวันอังคารที่ 21 กันยายน 2542 ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงานและอนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ในวงเงินรวม 750 ล้านบาท และในการประชุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ โครงการประชาสัมพันธ์ ให้ สนพ. เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2546 ในวงเงิน 200 ล้านบาท โดย สนพ. ได้ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ฯ ปีงบประมาณ 2546 ไปแล้ว 9 กิจกรรม โดยใช้จ่ายเงินไปรวม 104,219,881.40 บาท และมีงบประมาณคงเหลือ 95,780,118.60 บาท
2. สนพ. ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินผลงานโครงการประชาสัมพันธ์ฯ ปีงบประมาณ 2546 สรุปได้ว่ากิจกรรมรณรงค์ภายใต้โครงการรวมพลังหารสองผ่านสื่อประเภทต่างๆประสบความสำเร็จในการสร้างนิสัยประหยัดพลังงานให้กับคนไทยและควรดำเนินการต่อไป โดยที่ปรึกษาฯ ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญของการประเมินในครั้งนี้คือ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ควรเน้นเนื้อหาการปลูกจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างประหยัด สร้างความรู้สึกให้เห็นคุณค่าในการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเนื้อหาที่นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ควรเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน หรืออาจจัดทำเป็นเพลงโฆษณาประหยัดพลังงานเปิดตามสถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ และควรมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพิ่มเวลาและความถี่ในการออกอากาศเพื่อดึงดูดให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจการประหยัดพลังงาน
3. สนพ. ได้จัดทำ "แผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2547" และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 4/2547 (ครั้งที่ 11) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547 เพื่อขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามแผน ในวงเงิน 310 ล้านบาท (สามร้อยสิบล้านบาทถ้วน) โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า มีบางกิจกรรมที่เริ่มดำเนินการในช่วงปีงบประมาณ 2548 ซึ่งเกินกว่าระยะเวลาการใช้จ่ายเงินตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ สนพ. ปรับแผนงานโดยเป็นแผนงานเฉพาะที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2547 แล้วเวียนให้คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา ซึ่ง สนพ. ได้ดำเนินการตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว โดยปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายคงเหลือเพียงในวงเงิน 261 ล้านบาท (จากเดิม 310 ล้านบาท) และเวียนขอความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเลขานุการฯ จึงใคร่ขอเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อโปรดพิจารณา "แผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2547" โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 แผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในปี 2547 มีเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน ที่จะลดสัดส่วนอัตราเติบโตของการใช้พลังงานต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จาก 1.4 : 1 เป็น 1:1 ภายในปี พ.ศ. 2551 โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกับกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนทั่วประเทศกว่า 60 ล้านคน ภายใต้แนวคิด "60 ล้านไทย ลดใช้พลังงาน" โดยมีประเด็นหลักในการสื่อสาร คือ
(1) ความสำคัญของการร่วมกันประหยัดพลังงานของคนไทยทั่วประเทศกว่า 60 ล้านคน ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยวิธีง่ายๆ โดยพร้อมเพรียงกันและต่อเนื่อง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยเศรษฐกิจของตนเอง ของชุมชน และของประเทศชาติ ได้อย่างมีนัยสำคัญ
(2) "กระทรวงพลังงาน" เป็นองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบในด้านพลังงานของชาติ เป็น "พลังที่อยู่คู่คนไทยทุกเวลา" สร้างประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน พัฒนาพลังงาน ก้าวไปข้างหน้า สร้างประเทศไทยเป็นผู้นำด้านพลังงานในอาเซียน ซึ่งเป็น "พลังขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย"
3.2 แนวทางดำเนินงาน เพื่อสร้างกระแสอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดการตระหนักถึงการประหยัดพลังงานอย่างกว้างขวางพร้อมกันทั่วประเทศ มีดังนี้
(1) สร้างกระแสการประหยัดพลังงานทั่วประเทศ ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และจังหวัด โดยกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน
(2) เน้นการประชาสัมพันธ์กลุ่มเป้าหมาย ในภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง บ้านที่อยู่อาศัย และทำการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเยาวชนอย่างต่อเนื่อง
(3) ประชาสัมพันธ์ผลงานของกองทุนฯ ที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน
(4) จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อสนับสนุนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
3.3 รูปแบบการดำเนินงาน
ลำดับ | กิจกรรมและรายละเอียด | (ล้านบาท) |
1. | โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้น และปลูกจิตสำนึก 1.1 กิจกรรม "ผู้ว่า CEO กับบทบาทการอนุรักษ์พลังงาน" (ระยะที่ 1) เป็นการสร้างกระแสเพื่อกระตุ้นและเตรียมความพร้อมให้จังหวัดต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันประหยัดไฟฟ้าและน้ำ ระหว่างจังหวัด โดยคาดว่าจะมีจังหวัดเข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 20 จังหวัด - แคมเปญประชาสัมพันธ์ เพื่อรณรงค์สร้างกระแสและเผยแพร่ข้อมูล - จัดกิจกรรมเสริมเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ นิทรรศการสัญจรให้ความรู้เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน 1.2 กิจกรรมบ้านประหยัดพลังงาน - แคมเปญประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร - จัดกิจกรรม "สัปดาห์บ้านประหยัดพลังงาน" 1.3 กิจกรรมลดใช้รถ ลดใช้น้ำมัน - แคมเปญประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อบอกวิธีขับรถประหยัดพลังงาน - จัดสัมมนาเกี่ยวกับการขับรถอย่างถูกวิธี เพื่อประหยัดพลังงาน "Smart Drive" |
115 |
2. | กิจกรรมประชาสัมพันธ์ (PR Event) 2.1 กิจกรรมเยาวชน (1) ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา เข้าถึง 100,000 คนทั่วประเทศ - กิจกรรมละคร Edutainment - กิจกรรมค่ายครึ่งวัน (Half day camp) (2) ระดับอุดมศึกษา กิจกรรมช่วงปิดเทอม อาทิ กิจกรรมล้างแอร์ 2.2 กิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในภาคคมนาคม อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย 2.3 กิจกรรมตามวันสำคัญของชาติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ |
28 |
3. | โครงการประชาสัมพันธ์โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหารสอง | 7 |
4. | กิจกรรมประชาสัมพันธ์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนโครงการ 4.1 ผลิตและเผยแพร่สื่อสนับสนุน - เผยแพร่บทความผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างต่อเนื่อง - ผลิตและเผยแพร่สื่อสนับสนุนอาทิ คู่มือเอกสารเผยแพร่ ของที่ระลึก ฯลฯ |
8 |
5. | การประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการรักษ์พลังงานของชาติ 5.1 แคมเปญประชาสัมพันธ์ เพื่อแนะนำและสร้างความน่าสนใจในการประชาสัมพันธ์ 5.2 สารคดี นำเสนอในเชิงสาระความรู้ ชวนให้ติดตามชม 5.3 งานข่าว ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายของสำนักข่าวไทยของ อ.ส.ม.ท. |
100 |
6. | การประเมินผลกิจกรรมประชาสัมพันธ์ | 3 |
รวมงบประมาณทั้งสิ้น | 261 |
หมายเหตุ : โดยประเด็นที่จะสื่อสารในปี 2547 สนพ. ได้มีการปรับปรุงโดยคำนึงถึง นโยบายของรัฐ แผนยุทธศาสตร์กระทรวงฯ กระแสสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของประเทศ พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มเป้าหมายผลการประเมินในปีที่ผ่านมา และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณราชการสูงสุด
3.4 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) เกิดกระแสการมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อช่วย เศรษฐกิจของตนเองและประเทศ
(2) เกิดความร่วมมือและมีส่วนร่วมของชุมชนและจังหวัดในการประหยัดพลังงาน
(3) ปลูกฝังความรู้พื้นฐานด้านพลังงานแก่เยาวชน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฎิบัติได้จริง
(4) ประชาชนรับรู้ผลงานของรัฐและกองทุนฯ อย่างทั่วถึง
(5) เกิดการลดใช้พลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในภาคคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมและ บ้านอยู่อาศัย อย่างต่อเนื่อง และขยายผลไปสู่การประหยัดพลังงานในด้านอื่นๆ
(6) เกิดแนวทางในการบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านพลังงานกับยุทธ์ศาสตร์จังหวัดทั่วประเทศเพื่อ ความยั่งยืน
4. คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ในช่วงปีงบประมาณ 2543-2547 ไว้ในวงเงินรวม 750 ล้านบาท สนพ. ได้มีการใช้จ่ายเงินไปแล้วรวมทั้งสิ้น 707,153,607.97 บาท และมีวงเงินคงเหลือเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ในปี 2547 เป็นเงินจำนวน 42,846,392.03 บาท แต่ในปี 2547 ตามแผนงานที่ สนพ. เสนอจำเป็นต้องใช้งบประชาสัมพันธ์ เป็นเงินจำนวน 310,000,000 บาท ดังนั้น สนพ. จำเป็นต้องขอขยายวงเงินประชาสัมพันธ์ปี 2547 เป็นเงินจำนวน 267,153,607.97 บาท โดยขอโอนเงินในกรอบของแผนงานภาคบังคับมาสมทบ 267,153,607.97 บาท เนื่องจากแผนภาคงานบังคับ มีวงเงินงบประมาณคงเหลืออยู่ในกรอบของโครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน ในส่วนของการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุม และคาดว่า พพ. จะใช้ไม่ทันภายในปีงบประมาณ 2547 สนพ. จึงขอโอนเงินดังกล่าว จำนวน 218,153,607.97 บาท มาสมทบวงเงินคงเหลือ (จำนวน 42.8 ล้านบาท) ในแผนงานสนับสนุนโครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2547 และให้ สนพ. ดำเนินการจัดจ้างผู้ที่จะรับทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ต่อไป
มติที่ประชุม
1. รับทราบผลการดำเนินงานโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2546 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 104,219,881.40 บาท ตามรายงานผลการดำเนินงานของ สนพ. ที่เสนอ
2. อนุมัติแผนปฏิบัติการโครงการประชาสัมพันธ์ ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2547 และงบประมาณในการดำเนินงานตามแผน ในวงเงิน 261 ล้านบาท (สองร้อยหกสิบเอ็ดล้านบาทถ้วน) โดยเบิกจ่ายจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนงานสนับสนุน โครงการประชาสัมพันธ์ ปีงบประมาณ 2547 และอนุมัติให้ สนพ. ดำเนินการจัดจ้างผู้ที่จะรับทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
3. อนุมัติให้โอนเงินในกรอบของแผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน ในส่วนของการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุม จำนวน 218,153,607.97 บาท เพื่อนำมาสมทบวงเงินคงเหลือ (จำนวน 42.8 ล้านบาท) ในแผนงานสนับสนุน โครงการประชาสัมพันธ์ในส่วนที่ สนพ. รับผิดชอบ ปีงบประมาณ 2547
เรื่องที่ 3 ขออนุมัติโครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ ระยะที่ 2
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า คณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า คาดว่าปริมาณการใช้ไฟในปี 2547 นี้ จะอยู่ที่ระดับ 126,811 ล้านหน่วย และมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ระดับ 19,600 เมกะวัตต์ โดยสาเหตุหลักนอกจากอากาศจะร้อนแล้ว ยังเกิดจากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกด้วย ในขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ในสัดส่วน 24% กระทรวงพลังงานจึงเห็นสมควรนำโครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" มาดำเนินการอีกครั้ง เพื่อจูงใจประชาชนทุกครัวเรือนอนุรักษ์พลังงานภายในครัวเรือน
สนพ. จึงได้จัดประชุมหารือกับผู้แทนจาก กฟน. และ กฟภ. เพื่อประสานความร่วมมือดำเนินโครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 ซึ่งที่ประชุมได้นำด้านดีและด้านเสียของการดำเนินโครงการฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2544 ถึงสิงหาคม 2545 มาพิจารณา แล้วเห็นว่าการกำหนดฐานคำนวณจากการเฉลี่ยหน่วยไฟฟ้าในเดือนมิถุนายน 2544 ถึงสิงหาคม 2544 นั้นยังไม่สะท้อนต่อพฤติกรรมการประหยัดไฟฟ้าได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมีผลของการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และเห็นว่าหากจะดำเนินโครงการฯ ในระยะต่อไป ควรใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเดือนที่จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในปีที่ผ่านมาเป็นฐานการคิดส่วนลด ส่วนในกิจกรรมอื่นๆ นั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรให้คงลักษณะเดิมไว้ โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2547-พฤษภาคม 2548 พร้อมทั้งให้ กฟน. และ กฟภ. เร่งจัดทำข้อเสนอและประมาณการค่าใช้จ่าย ยื่นไว้กับ สนพ. เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ตามขั้นตอนต่อไป
2. กฟน. และ กฟภ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 เสนอต่อ สนพ. เรียบร้อยแล้ว โดยสรุปได้ดังนี้
"ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 | กฟน. | กฟภ. |
กลุ่มเป้าหมาย "ประเภทบ้านอยู่อาศัย" | 688,400 ครัวเรือน | 3,394,305 ครัวเรือน |
คิดเป็นร้อยละของผู้ใช้ไฟฟ้า | 35 % | 30 % |
ประมาณการเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ | 544 ล้านบาท | 1,306 ล้านบาท |
- เงินส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า | 538 ล้านบาท | 1,300 ล้านบาท |
- เงินค่าประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมพนักงาน | 6 ล้านบาท | 6 ล้านบาท |
3. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบถึงนโยบายและเข้าใจรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการฯ โดยทั่วถึง ก่อให้เกิดพฤติกรรมการประหยัดไฟอย่างจริงจัง สนพ. จึงได้เสนอที่จะจัดทำ โครงการประชาสัมพันธ์ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 เพื่อแนะนำวิธีประหยัดไฟหลากหลายวิธี ด้วยวิธีง่ายๆ ผ่านสื่อต่างๆ โดยผลิตและเผยแพร่สารคดี จัดรายการพิเศษ ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลิตและแจกเอกสารแนะนำวิธีการประหยัดไฟให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ จัดทีมรณรงค์ออกไปเผยแพร่ โดยขออนุมัติใช้เงินจากกองทุนฯ ในวงเงิน 55 ล้านบาท
4. สนพ. ได้นำโครงการดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 4/2547 (ครั้งที่ 11) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547 เพื่อพิจารณา และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ ในประเด็นดังนี้
4.1 อนุมัติเงินกองทุนฯ ให้ กฟน. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2-ส่วนที่ กฟน. รับผิดชอบ ในวงเงิน 600.83 ล้านบาท
4.2 อนุมัติเงินกองทุนฯ ให้ กฟภ. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2-ส่วนที่ กฟภ. รับผิดชอบ ในวงเงิน 1,286.24 ล้านบาท
4.3 อนุมัติเงินกองทุนฯ ให้ สนพ. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการประชาสัมพันธ์ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 ในวงเงิน 55,000,000 บาท
4.4 อนุมัติโอนเงินในกรอบของแผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน ในส่วนของการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุม จำนวน 942.07 ล้านบาท เพื่อนำมาสมทบ ในแผนงานภาคความร่วมมือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 ในวงเงินรวม 1,942.07 ล้านบาท ตามข้อ 4.1-4.3
มติที่ประชุม
1. อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ กฟน. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2-ส่วนที่ กฟน. รับผิดชอบ ในวงเงิน 600.83 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) ส่วนลดค่าไฟฟ้า ในวงเงิน 594.83 ล้านบาท และ (2) ส่วนการประชาสัมพันธ์ ในวงเงิน 6 ล้านบาท
2. อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ กฟภ. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2-ส่วนที่ กฟภ. รับผิดชอบ ในวงเงิน 1,286.24 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) ส่วนลดค่าไฟฟ้า ในวงเงิน 1280.24 ล้านบาท และ (2) ส่วนการประชาสัมพันธ์ ในวงเงิน 6 ล้านบาท
3. อนุมัติให้ใช้เงินกองทุนฯ แผนงานภาคความร่วมมือ โครงการส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ สนพ. นำไปเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการประชาสัมพันธ์ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 ในวงเงิน 55,000,000 บาท และอนุมัติให้ สนพ. ดำเนินการจัดจ้างผู้ที่จะรับทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535
4. อนุมัติโอนเงินในกรอบของแผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน ในส่วนของการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุม จำนวน 942.07 ล้านบาท เพื่อนำมาสมทบ ในแผนงานภาคความร่วมมือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายใน โครงการ "ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ" ระยะที่ 2 ในวงเงินรวม 1,942.07 ล้านบาท ตามข้อ 1-3 ของมติที่ประชุม ในวงเงินรวม 1,942,070,000 บาท
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับข้อเสนอโครงการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยอาคารทั้ง 2 ราย ได้ดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานเบื้องต้น การตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานโดยละเอียด และการจัดทำเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผลการศึกษาระดับการใช้พลังงานในส่วนของระบบการถ่ายเทความร้อนรวม ระบบแสงสว่าง และระบบปรับอากาศ เมื่อเปรียบเทียบกับกับเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงแล้ว มีศักยภาพที่จะปรับปรุงให้ระดับการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
2. พพ. ได้วิเคราะห์และกลั่นกรองมาตรการอนุรักษ์พลังงานของอาคารควบคุมทั้ง 2 ราย ที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้เงินสนับสนุนจากกองทุนฯ แล้ว และเห็นควรให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามแผนอนุรักษ์พลังงานของแต่ละมาตรการ ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 186,986,787 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบหกล้านเก้าแสนแปดหมื่นหกพันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดบาทถ้วน) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
หน่วยงาน/มาตรการ | เงินลงทุนที่เห็นควรให้การสนับสนุน จากกองทุนฯ (บาท) | |
1. | มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับอาคารมหาวิทยาลัยขอนแก่น | 117,742,879 |
1.1 มาตราการที่ต้องปรับปรุงตามกฎกระทรวง | ||
(1) การบุฉนวนใต้หลังคา | 415,222 | |
(2) การใช้เครื่องปรับอากาศชนิดประสิทธิภาพสูง | 48,568,959 | |
(3) การปรับปรุงระบบแสงสว่าง | 3,967,057 | |
1.2 มาตรการปรับปรุงระดับการใช้พลังงานที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงาน | ||
(1) การปรับปรุงระบบแสงสว่าง | 64,791,641 | |
2. | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับอาคารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาคารฝั่งตะวันออก) | 69,243,908 |
2.1 มาตราการที่ต้องปรับปรุงตามกฎกระทรวง | ||
(1) การปรับปรุงฉนวนหลังคา | 24,977,628 | |
(2) การใช้หลอด Compact Flurescent | 86,355 | |
(3) การใช้แผ่นเคลือบสารสะท้อนแสง | 3,082,240 | |
(4) การใช้บัลลาสต์ Low Watt Loss | 6,932,250 | |
(5) การใช้เครื่องปรับอากาศชนิดประสิทธิภาพสูง | 27,465,500 | |
2.2 มาตรการปรับปรุงระดับการใช้พลังงานที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงาน | ||
(1) การใช้หลอด Compact Flurescent | 276,735 | |
(2) การใช้แผ่นเคลือบสารสะท้อนแสง | 845,600 | |
(3) การใช้บัลลาสต์ Low Watt Loss | 5,577,600 | |
รวมเงินลงทุนเงินลงทุนที่เห็นควรให้การสนับสนุน แก่อาคารทั้ง 2 ราย | 186,986,787 |
3. พพ. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งที่ 1/2547 (ครั้งที่ 8) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 และได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาอนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ปีงบประมาณ 2547 ให้ พพ. เพื่อนำไปจัดสรรให้แก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการทั้ง 2 อาคาร เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 186,986,787 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบหกล้านเก้าแสนแปดหมื่นหกพันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดบาทถ้วน) ตามรายละเอียดที่ปรากฏในตารางในข้อ 2
มติที่ประชุม
1. อนุมัติเงินกองทุนฯ แผนงานภาคบังคับ โครงการโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่กำลังใช้งาน (ในส่วนของอาคารควบคุม) ปีงบประมาณ 2547 ให้ พพ. เพื่อนำไปจัดสรรให้แก่อาคารควบคุมที่เป็นส่วนราชการทั้ง 2 อาคาร เพื่อสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 186,986,787 บาท (หนึ่งร้อยแปดสิบหกล้านเก้าแสนแปดหมื่นหกพันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดบาทถ้วน) ตามรายละเอียดที่ปรากฏในตารางในข้อ 2 ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้มีมติเห็นชอบ
2. สำหรับอาคารราชการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานไปแล้ว พพ. ควรประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อหาแนวทางในการปรับลดงบประมาณในส่วนของค่าสาธารณูปโภคลง
3. พพ. ต้องดำเนินการติดตามประเมินผลการประหยัดพลังงานของอาคารดังกล่าวที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ไปแล้ว อาคารดังกล่าวสามารถลดการใช้พลังงานได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อเสนอมากน้อยเพียงไร แล้วนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาต่อไป
4. พพ. ควรจะพิจารณาทบทวนถึงแหล่งที่มาของเงินลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานในอาคารของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จากเดิมที่ใช้เงินกองทุนฯ นั้นควรจะเปลี่ยนไปใช้เงินจากงบประมาณประจำปี ของสำนักงบประมาณ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าขอถอนเรื่องที่ 4.4 เรื่อง ขออนุมัติโครงการพัฒนาศูนย์วิจัยและอบรมการออกแบบอาคารราชการและ เอกชนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และเรื่องที่ 4.8 เรื่อง ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมปิดถนนสีลมของ บริษัท แอคทวิน เอเซีย จำกัด ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2545 ฝ่ายเลขานุการฯ ออกจากการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้
เรื่องที่ 5 ขอปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2541 (ครั้งที่ 15) เมื่อวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2541 ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนเพื่อใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนฯ ตามหลักเกณฑ์และวงเงินที่คณะกรรมการกองทุนฯ กำหนด พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานโครงการและเสนอข้อพิจารณาประกอบรายงานการประเมินผล แล้วนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณา
2. ประธานกรรมการกองทุนฯ (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) ได้มีคำสั่งคณะกรรมการกองทุนฯ ที่ 4/2545 ลงวันที่ 2 กันยายน 2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีนายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมการดังกล่าว และเนื่องจาก ศ.ดร. เทียนฉาย กีระนันทน์ มีภารกิจมากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ ได้อย่างเต็มที่ จึงขอลาออกจากการเป็นอนุกรรมการฯ
นายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการประเมินผลฯ ได้เสนอให้เรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานและด้านเศรษฐศาสตร์เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการฯ เพิ่มเติมจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร. จุลละพงษ์ จุลละโพธิ และ รศ.ดร. ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ์ โดยให้คงอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ไว้คงเดิม โดยมีองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ คือ นายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ นายปิยะวัติ บุญ-หลง นายมานิจ ทองประเสริฐ นายศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ นายธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ์ เป็นอนุกรรมการ และมีผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มติที่ประชุม
เห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการประเมินผลแผนอนุรักษ์พลังงาน ตามที่คณะอนุกรรมการประเมินผลฯ เสนอในข้อ 2 และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำคำสั่งแต่งตั้งเสนอประธานกรรมการกองทุนฯ ลงนามต่อไป
1. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ปัจจุบันกรมบัญชีกลางเป็นผู้เก็บรักษาเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในอัตราร้อยละ 0.75 บาท และบัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน ในอัตราร้อยละ 1.00 บาท ขณะนี้มีเงินคงเหลือตามประมาณการจำนวน 9,223.12 ล้านบาท ดังนั้นสถาบันบริหารกองทุนพลังงานได้เสนอความเห็นว่าหากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสามารถนำเงินจำนวนหนึ่งให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เพื่อส่งมอบให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านดอกเบี้ยลงได้ และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานก็จะได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยอาจใช้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเป็นอัตราอ้างอิง
2. ฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรขอแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินและการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537 ใน ข้อ 6 กำหนดให้ กรมบัญชีกลางเปิดบัญชีเงินฝาก "กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน" ประเภทเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำกับสถาบันการเงินที่เป็นของรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ตามที่คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นสมควร โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง โดยเพิ่มข้อความ "และให้สามารถนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ไปหาประโยชน์ในรูปอื่นๆ ได้มากขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ" เพื่อ เปิดโอกาสให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสามารถนำเงินกองทุนฯ ไปให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงานกู้ยืมได้ เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในรูปดอกเบี้ยและในส่วนของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานก็จะได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในการแก้ไขระเบียบดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจในการดำเนินการได้ตามข้อ 4 ซึ่งกำหนดว่า หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในเรื่องการเก็บรักษาเงิน การเบิกจ่ายและการพัสดุที่มิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของทางราชการโดยอนุโลม ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการได้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มติที่ประชุม
เห็นชอบในหลักการที่จะให้แก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินและการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2537 ตามที่ ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ โดยให้กรมบัญชีกลางร่วมกับฝ่ายเลขานุการฯ ไปดำเนินการยกร่างการแก้ไขระเบียบดังกล่าว ในแต่ละประเด็นที่ต้องการแก้ไขให้มีความชัดเจน แล้วนำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
เรื่องที่ 7 ขอปรับปรุงโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยสถาบันการเงิน
1. ตามที่คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 5/2544 (ครั้งที่ 26) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2544 มีมติให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดำเนินการ "โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน" ภายในวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยให้ พพ.ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติในการใช้เงินหมุนเวียนและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรนำหลักเกณฑ์เงินหมุนเวียนไปใช้สนับสนุนกับโรงงานและอาคารที่สนใจจะลงทุนทางด้านอนุรักษ์พลังงาน แต่มิได้เป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมด้วย
2. เมื่อ พพ. เปิดตัวโครงการฯ มีโรงงานควบคุม/อาคารควบคุมให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 300 ราย โดยติดต่อสอบถามข้อมูลผ่านทางสถาบันการเงินทั้ง 6 แห่ง และ พพ. โดยมีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมได้ส่งข้อเสนอโครงการฯ มาจำนวน 29 แห่ง สถาบันวิจัยพลังงานและ พพ. ได้ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอโครงการดังกล่าว นำเสนออธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาและได้อนุมัติเงินให้การสนับสนุนแล้ว จำนวน 26 แห่ง ในวงเงิน 567,128,938 บาท โดยสามารถประหยัดพลังงานได้รวมเป็นเงิน 311,826,420 บาทต่อปี
3. เนื่องจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบการด้านอนุรักษ์พลังงาน ได้แจ้งว่ามีผู้สนใจที่ไม่ได้เป็นโรงงาน/อาคารควบคุม ต้องการจะขอเข้าร่วมโครงการฯ โดยแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 โรงงานและอาคารนอกข่ายควบคุม พพ. และกรณีที่ 2 บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) และนักพัฒนาโครงการ (Project Developers) เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน/อาคาร แต่เป็นผู้ลงทุนดำเนินการติดตั้งมาตราการ/เทคโนโลยีอนุรักษ์ พลังงานให้แก่เจ้าของโรงงานและอาคาร ซึ่งตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานโครงการเงินหมุนเวียนฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนฯ แล้วนั้น สถาบันการเงินจะต้องปล่อยกู้ให้แก่โรงงานควบคุม/อาคารควบคุม โดยเจ้าของโรงงานควบคุม/อาคารควบคุมเป็นผู้กู้ ทำให้ผู้ต้องการลงทุนอนุรักษ์พลังงานทั้ง 2 กรณี ดังกล่าวไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากโครงการฯ นี้ได้ ทั้งๆ ที่การอนุรักษ์พลังงานทั้ง 2 กรณี เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและควรได้รับการสนับสนุนเหมือนกับการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ซึ่งลงทุนโดยเจ้าของโรงงาน/อาคารเอง
4. พพ. ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 4/2547 (ครั้งที่ 11) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2547 ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของ พพ. แล้ว เห็นว่า การขยายขอบเขตโครงการฯ เป็นการเปิดกว้างกลุ่มเป้าหมายและวิธีการการสนับสนุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2544 (ครั้งที่ 26) ในการนำหลักเกณฑ์เงินหมุนเวียนไปใช้กับโรงงานและอาคารที่สนใจ แต่มิได้เป็นโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมด้วย อีกทั้งการขยายขอบเขตการสนับสนุน เป็นการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน (Model Development) ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการสนับสนุนที่ยั่งยืนของกองทุนฯ ต่อไป จึงมีมติเห็นชอบ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
มติที่ประชุม
1. อนุมัติให้ พพ. ขยายขอบเขตโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 5/2544 (ครั้งที่ 26) โดยให้ พพ. สนับสนุนแก่โรงงานและอาคารนอกข่ายควบคุมตามกรณีที่ 1 และบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) และนักพัฒนาโครงการ (Project Developers) ตามกรณีที่ 2 รวมทั้งให้ครอบคลุมการให้การสนับสนุนแก่โครงการชีวมวลผลิตพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนจากวัตถุดิบการเกษตรเพื่อผลิตพลังงาน ด้วย
2. อนุมัติให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติเงิน โครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานโดยสถาบันการเงิน สนับสนุนให้แก่โรงงานและอาคารนอกข่ายควบคุม บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) และนักพัฒนาโครงการ (Project Developers) โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้การสนับสนุนเช่นเดียวกับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม และเมื่ออนุมัติแล้วให้รายงานคณะอนุกรรมการฯ ทราบเป็นคราวๆ ไป