มติคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ครั้งที่ 6/2553 (ครั้งที่ 23)
วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 เวลา 08.30 น.
ณ ห้องประชุม 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2
1. รายงานการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปีบัญชี 2552
2. ระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2553
3. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
4. โครงการพลังงานทดแทน สำหรับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จากพืชเศรษฐกิจ
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานอนุกรรมการ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน อนุกรรมการและเลขานุการ
เรื่องที่ 1 รายงานการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปีบัญชี 2552
1. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้เข้าสู่ระบบประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนของกรมบัญชีกลาง โดยมีประธานกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงการประเมินทุนหมุนเวียน (กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) กับกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการประเมิน
2. กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2552 ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ใน 4 ด้าน รวม 10 ตัวชี้วัด โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 3.3129 ซึ่งอยู่ในระดับดี (สูงกว่าค่าปกติ/สูงกว่า 3 คะแนน) สรุปได้ดังนี้
(1) ผลการดำเนินงานด้านการเงิน (15%)
ตัวชี้วัดที่ 1.1 ร้อยละของงบประมาณที่มีการผูกพันสัญญาต่องบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนฯ ผลการดำเนินงานสิ้นปี 2552 อยู่ในระดับร้อยละ 79.57 ส่งผลให้ได้รับคะแนน 1.000
ตัวชี้วัดที่ 1.2 ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารกองทุนฯ ที่เกิดขึ้นจริงและผูกพันเทียบกับงบประมาณ ผลการดำเนินงานสิ้นปี 2552 อยู่ในระดับร้อยละ 70.72 ส่งผลให้ได้รับคะแนน 3.6639
(2) ผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ (33%)
ตัวชี้วัดที่ 2.1 ร้อยละของโครงการที่มีการทำสัญญาของแต่ละแผนงาน ต่อจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดของแต่ละแผนงาน ตามผลการดำเนินงานสิ้นปี 2552
- แผนพลังงานทดแทน อยู่ในระดับร้อยละ 73.08 ส่งผลให้ได้คะแนน 1.000
- แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อยู่ในระดับร้อยละ 82.19 ส่งผลให้ได้คะแนน 1.0274
- แผนงานบริหารทางกลยุทธ์ อยู่ในระดับร้อยละ 100.00 ส่งผลให้ได้รับคะแนน 5.0000
ตัวชี้วัดที่ 2.2 ร้อยละของจำนวนโครงการที่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อจำนวนโครงการทั้งหมด
- แผนพลังงานทดแทน อยู่ในระดับร้อยละ 93.33 ส่งผลให้ได้คะแนน 3.1110
- แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อยู่ในระดับร้อยละ 70.37 ส่งผลให้ได้คะแนน 1.0000
- แผนงานบริหารทางกลยุทธ์ อยู่ในระดับร้อยละ 100.00 ส่งผลให้ได้รับคะแนน 5.0000
(3) การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (15%)
ตัวชี้วัดที่ 3.1 การสำรวจความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประจำปีบัญชี 2552 โดยภายในปีบัญชี 2552 ได้ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนที่ 5 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000
(4) การบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน (37%)
ตัวชี้วัดที่ 4.1 กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ดำเนินการนำเสนอแผนกลยุทธ์ของกองทุนฯ ครบถ้วนทุกขั้นตอนและได้รับการเห็นชอบต่อประธานคณะทำงานเตรียมการฯ (ปลัดกระทรวงพลังงาน) ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000 ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
ตัวชี้วัดที่ 4.2 ผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2552 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีบัญชี 2553 แล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากประธานเพื่อดำเนินการตามระบบประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน (กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000 ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
ตัวชี้วัดที่ 4.3 การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ประจำปีบัญชี 2552 น้ำหนักร้อยละ 8 ประเมินผลเฉลี่ยจากแผนงานหลัก 2 แผนงาน ส่งผลให้มีระดับคะแนน 4.9805 ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- การศึกษาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและโปรแกรมสำเร็จรูปของกองทุนฯ (ร้อยละ 50) ประเมินจากการศึกษาและปรับปรุง ทั้งสามารถจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษา และนำเสนอต่อประธานคณะทำงานเตรียมการฯ เพื่อทราบภายใน 30 กันยายน 2552 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000 ทำให้ ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
- การพัฒนาบุคลากรของกองทุนฯ ประจำปีบัญชี 2552 (ร้อยละ 50) ประเมินเฉลี่ยจากการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรประจำปีบัญชี 2552 ประกอบด้วย แผนงานหลัก 2 กิจกรรม ส่งผลให้มีระดับคะแนน 4.9610 ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- จัดประชุม/สัมมนา เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคระหว่างหน่วยงานในกองทุนฯ การดำเนินงาน (ร้อยละ 50) ประเมินจากจำนวนครั้งการจัดประชุม/สัมมนา ซึ่งการดำเนินงานในปีบัญชี 2552 สามารถจัดประชุมได้ 3 ครั้ง ในรอบปีบัญชี ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000 ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
- การสัมมนา/อบรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ สำหรับหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรเงินกองทุนฯ (ร้อยละ 50) ประเมินจากร้อยละของจำนวนคนที่ได้รับการสัมมนา/อบรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ที่เกิดขึ้นจริงและสามารถสอบผ่านเกณฑ์ในปีบัญชี 2552 เทียบกับจำนวนคนที่ได้รับการสัมมนา/อบรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ตามแผนงานในปีบัญชี 2552 คิดเป็นร้อยละ 89.61 จึงเทียบเท่ากับระดับคะแนน 4.9220 ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
ตัวชี้วัดที่ 4.4 ผลการดำเนินการติดตามประเมินผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีบัญชี 2552 ได้ทำการเสนอรายงานและได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ วันที่ 29 กันยายน 2552 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000 ทำให้ผลการดำเนินงานดีกว่าเป้าหมาย
ตัวชี้วัดที่ 4.5 ประเมินผลบทบาทของผู้บริหารกองทุนฯ ปีบัญชี 2552 น้ำหนักร้อยละ 5 ที่ระดับคะแนนเฉลี่ย 2.8500 จากแผนงานหลัก 2 แผนงาน
- บทบาทของคณะกรรมการฯ (ร้อยละ 40) ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่
- คณะกรรมการบริหารเข้าร่วมประชุมและมีมติที่เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการกองทุน ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับจำนวนครั้งการประชุมทั้งหมดในปีบัญชี 2552 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 3.0000
- คณะกรรมการฯ มีการติดตามดูแลให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ภายในปีบัญชี 2552 ทุกไตรมาสฯ ซึ่งกองทุนฯ มีการติดตามดูแลให้มีการรายงานผลเพียง 1 ไตรมาส ในปีบัญชี 2552 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 2.0000
- การรายงานผลการดำเนินงานตามข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ภายในปีบัญชี 2552 ซึ่งมีการติดตามให้มีการรายงานผลการดำเนินงานร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับจำนวนครั้งการประชุมทั้งหมดในปีบัญชี 2552 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 3.0000
- บทบาทของ สนพ. ในฐานะเลขานุการฯ (ร้อยละ 60) พิจารณาจากร้อยละของการดำเนินงานตามมติของที่ประชุมของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ซึ่งไม่มีการติดตามดูแลรายงานผลการดำเนินงาน แต่คณะทำงานเตรียมการฯ มีการติดตามดูแลให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนฯ 25 มติ จากทั้งหมด 25 มติ เท่ากับร้อยละ 100 ส่งผลให้มีระดับคะแนน 5.0000
มติที่ประชุม
รับทราบรายงานการประเมินผลการดำเนินงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีบัญชี 2552
เลขานุการฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. ... ที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาและเห็นชอบในร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ลงนามในระเบียบคณะกรรมการกองทุนฯ ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2553 แล้ว เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553
มติที่ประชุม
รับทราบระเบียบคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สิน และการเบิกจ่ายเงินกองทุน พ.ศ. 2553
เรื่องที่ 3 โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
1. คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เห็นชอบให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่เกี่ยวกับโครงการประชาสัมพันธ์ ในแผนพลังงานทดแทน 250 ล้านบาท และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 250 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจาก "คณะกรรมการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารของกระทรวงพลังงาน" ที่ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยให้สามารถถัวจ่ายและเปลี่ยนแปลงรายการในแผน/งานเดียวกันได้ ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ เห็นชอบแล้ว ให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการกองทุนฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินโครงการต่อไป
2. คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ได้เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนฯ ปีงบประมาณ 2553 ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้อนุมัติให้ สนพ. ไว้แล้ว เพื่อดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 7 โครงการ เป็นเงิน 160 ล้านบาท และแผนพลังงานทดแทน จำนวน 6 โครงการ เป็นเงิน 225 ล้านบาท ดังนี้
รายชื่อโครงการ | หน่วยงาน | งบประมาณ (ล้านบาท) | |
แผนพลังงานทดแทน | แผนเพิ่มประสิทธิภาพฯ | ||
1. โครงการประชาสัมพันธ์พระราชกรณียกิจด้านพลังงานผ่านบทเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ | สป.พน. | - | 35 |
2. โครงการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานตามนโยบายรัฐบาล | สป.พน. | - | 2 |
3. โครงการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน | สนพ. | - | 20 |
4. โครงการบริหารศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหารสอง | สนพ. | 15 | - |
5. การประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2553 | สนพ. | - | 3 |
6. โครงการประชาสัมพันธ์ลดโลกร้อน ถวายพ่อ | สป.พน. | 80 | - |
7. โครงการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานร่วมกับสื่อมวลชน | สป.พน. | 30 | - |
8. โครงการว่าจ้างที่ปรึกษารณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่อง การใช้น้ำมันคุณภาพ E85 | พพ. | 50 | - |
9. โครงการว่าจ้างที่ปรึกษาสร้างความเข้าใจการกำหนดคุณภาพน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 | พพ. | 20 | - |
10. โครงการว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน และนำแผนไปสู่การปฏิบัติ | สป.พน. | - | 15 |
11. โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน | สป.พน. | - | 50 |
12. โครงการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน | สป.พน. | - | 35 |
13. โครงการรณรงค์ส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน | สป.พน. | 30 | - |
รวมงบประมาณ | 225 | 160 | |
คงเหลืองบประมาณ | 25 | 90 |
3. คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2553 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และตามหนังสือกระทรวงพลังงาน ที่ พน 0202/1568 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบโครงการประชาสัมพันธ์จากงบประมาณกองทุนฯ ภายใต้แผนพลังงานทดแทน จำนวน 2 โครงการ ในวงเงิน 25 ล้านบาท และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 9 โครงการ ในวงเงิน 82.052 ล้านบาท ดังนี้
3.1 โครงการประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (Success Story) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) ให้ความรู้ และบอกถึงความสำเร็จของโครงการพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นตัวอย่างและเกิดความตระหนัก โดยนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และตระหนักถึงการใช้พลังงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
(2) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน กิจกรรม หรือความสำเร็จ และความคืบหน้าการดำเนินงานด้านนโยบายพลังงาน นโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Biogas Biomass เป็นต้น รวมทั้งเชื่อมโยงประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ที่ได้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ สนพ. รับผิดชอบดำเนินการ
(3) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน กิจกรรม หรือความสำเร็จ และความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้ดำเนินการโครงการประหยัดพลังงานในอาคาร การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน อาทิ ผู้เข้าร่วมโครงการ DSM Bidding อาคารควบคุม องค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุนการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน
(4) สร้างกระแสการรับรู้ ส่งผลให้เกิดทัศนคติที่ดี เกิดการยอมรับ และให้การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก ตลอดจนกิจกรรมการของ พน. รูปแบบต่างๆ
ระยะเวลา 10 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 15,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สนพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) กลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้ และรับทราบความสำเร็จของโครงการพลังงานต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นตัวอย่างและเกิดความตระหนัก โดยนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
(2) กลุ่มเป้าหมายทราบถึงผลงาน กิจกรรม หรือความสำเร็จ และความคืบหน้าการดำเนินงานด้านนโยบายพลังงาน และการดำเนินงานด้านนโยบายพลังงาน นโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น Biogas Biomass เป็นต้น รวมทั้งเชื่อมโยงประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ที่ได้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
(3) กลุ่มเป้าหมายทราบถึงผลงาน กิจกรรม หรือความสำเร็จ และความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้ดำเนินการโครงการประหยัดพลังงานในอาคาร การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน อาทิ ผู้เข้าร่วมโครงการ DSM Bidding อาคารควบคุม องค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุนการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน
(4) กลุ่มเป้าหมายเกิดกระแสการรับรู้ ซึ่งส่งผลให้เกิดทัศนคติที่ดี เกิดการยอมรับ และให้การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก ตลอดจนกิจกรรมการของ พน. รูปแบบต่างๆ
3.2 โครงการ Thailand Energy Awards โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อเป็นการยกย่องและแสดงความชื่นชมแก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทน
(2) เผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจได้นำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(3) เพื่อส่งเสริมให้โรงงานและอาคารดำเนินการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 15,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ พพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ผู้ประกอบการในโรงงงาน/อาคาร และองค์กรต่างๆ เกิดการตระหนักและดำเนินการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิล
3.3 โครงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีด้านพลังงาน แก่ผู้ประกอบกิจการและผู้สนใจ
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 15,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ พพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบถึงความเคลื่อนไหวการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ เกิดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีพลังงานที่ พพ. ส่งเสริมและเผยแพร่ ส่งผลต่อการใช้พลังงานในรูปแบบที่เหมาะสมและมีการลงทุนที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น
3.4 โครงการส่งเสริมธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเผยแพร่เกี่ยวกับธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการดำเนินธุรกิจและการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานพลังงาน โดยใช้ระบบ ESCO
(2) เพื่อขยายเครือข่ายระหว่างบริษัทจัดการพลังงาน ผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน และพัฒนา ESCO Information Center อย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาและนำไปสู่การจัดตั้งสมาคมบริษัทจัดการพลังงาน
(3) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม/อาคาร ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงาน สามารถเลือกลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างเหมาะสม
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 5,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ พพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) มีแหล่งข้อมูลของธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน
(2) มีการเผยแพร่ผลงานของบริษัทจัดการพลังงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มเป้าหมายในการลงทุน
(3) มีการติดตามความก้าวหน้าของธุรกิจบริษัทจัดการพลังงานในประเทศ
3.5 โครงการรณรงค์และส่งเสริมความเข้าใจการใช้หลอดประหยัดพลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อส่งเสริมการใช้อุปกรณ์แสงสว่างประสิทธิภาพสูง ด้วยการรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมเบอร์ 5 แทนหลอดผอมเดิม อันส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
(2) เพื่อสร้างความต้องการหลอดผอมเบอร์ 5 ให้ขยายตัวมากขึ้น อันจะเป็นแนวทางที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาตลาดต่ำลงจนกระทั่งผู้บริโภคยอมรับในความคุ้มค่าและเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมเบอร์ 5 ตลอดไป
(3) เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงประโยชน์ในการเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน อันจะนำไปสู่การประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ด้วย
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 10,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ พพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปมีการปรับเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมประหยัดพลังงานกันมากขึ้นซึ่งจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานของประเทศได้
(2) สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างลดลงจากเดิมได้ประมาณ 30%
(3) สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้
3.6 โครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ "โครงการภูเก็ตสีเขียว" โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์โครงการภูเก็ตเขียวในกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับความรู้ด้านการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงานฟอสซิลและรักษาสิ่งแวดล้อม
(2) เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบ อส.พน.เคลื่อนที่ เพื่อสร้าง อส.พน.เป็นตัวกลางในการดำเนินกิจกรรมด้านพลังงานกับชุมชน
(3) เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์โครงการภูเก็ตเขียวให้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการ "ภูเก็ตปลอดถุงพลาสติก" ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ระยะเวลา 4 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 1,052,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) เกิดวิทยากรตัวคูณประจำสถาบันการศึกษาและศาสนสถาน ประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดความรู้ด้านการประหยัดพลังงานไปสู่ชุมชน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสม
(2) สื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าใจถึงความสำคัญการจัดทำโครงการภูเก็ตเขียวและแนวร่วมการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น
(3) เพื่อสร้าง อส.พน.ที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อสาธารณชน
(4) ประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร ตามยุทธศาสตร์ 3 ด้าน และนำไปสู่การลดใช้พลังงานจากฟอสซิล และพลังงานทดแทนมาใช้ให้ได้ 15% ตามนโยบายพลังงาน
3.7 โครงการ "ลดใช้น้ำมัน ปั่นรถถีบ เชียงใหม่ 2553" โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) จัดกิจกรรมโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรษา
(2) สร้างความตระหนักในการลดการใช้พลังงาน ลดการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง ในการเดินทางตามวิถีชีวิตประจำวัน แก่คนเชียงใหม่ทุกภาคส่วน
(3) สร้างความตื่นตัว ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าในจังหวัดเชียงใหม่ในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากควันไอเสียของรถยนต์ในการเดินทาง และลดหมอกควันจากการเผา ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
(4) ให้คนเชียงใหม่ทุกภาคส่วน สัมผัสได้ถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ลมหายใจที่สดใส ซึ่งเกิดขึ้นจากการร่วมกันลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และลดการใช้พลังงานจากยานพาหนะอื่น
(5) ร่วมกันสร้างและเรียนรู้ระบบจราจรที่จูงใจและเอื้อต่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้จักรยาน เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน
(6) เกิดการปฏิบัติและยอมรับวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
(7) เผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยต่อนานาชาติ
ระยะเวลา 3 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 500,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ประชาชนทุกหมู่เหล่าในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการลดใช้พลังงาน
(2) เกิดกระแสให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและคิดก่อนใช้พลังงานรวมถึงเกิดจิตสำนึกที่จะลงมือปฏิบัติในการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่องการทำความดีด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) ประชาชนเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมช่วยชาติประหยัดพลังงานโดยรวมและส่งผลดีที่ได้ประหยัดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและประเทศชาติ
(4) เกิดกระแสการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประชาสัมพันธ์การขยายผลการประหยัดงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีไปสู่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และทุกภาคส่วนอันจะทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลดใช้พลังงานในทุกรูปแบบ
3.8 โครงการ "คนคอนร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน" โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานของทุกภาคส่วนในจังหวัด
(2) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตะหนักถึงภาวะโลกร้อน ทั้งสาเหตุและผลที่ตามมา
(3) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นคุณค่าของพลังงาน และความจำเป็นของการลดใช้พลังงาน
(4) เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างเครือข่าย "ร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน"
ระยะเวลา 3 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 500,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีส่วนร่วม ลดใช้พลังงานโดยเฉพาะลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดปัญหาภาวะโลกร้อน
(2) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีทัศนคติที่ดีและถูกต้องในการ "ร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน"
(3) สร้างเครือข่ายบุคคลเข้าร่วมโครงการ "ร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน" ให้เกิดขึ้น
3.9 โครงการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน (DISPLAY CENTER และบ้านประหยัดพลังงาน)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนะนำเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน กระบวนการและ แนวทางการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนจัดแสดงอุปกรณ์ทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้ผู้ชมได้ทราบ และเรียนรู้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ ของ DISPLAY CENTER และบ้านประหยัดพลังงาน
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 15,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ พพ.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ผู้เข้าชมประมาณ 10,000 คน จะได้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งแนวความคิดที่จะนำไปประยุกต์ใช้งาน
3.10 โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กฎหมายด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน ได้รู้ถึงกรอบแนวทางในการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายการอนุรักษ์พลังงาน
(2) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนได้เข้าใจถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้านการอนุรักษ์พลังงานในประเทศไทย เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ได้รู้ถึงสิทธิและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย
(3) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไปได้รู้ถึงสิทธิและกฎระเบียบที่จะได้รับจากการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายที่กำหนด อีกทั้งยังทำให้ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานของภาครัฐอีกด้วย
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 20,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทราบถึงสิทธิและกฎระเบียบที่ได้รับจากกฎหมายการอนุรักษ์พลังงาน อันจะส่งผลทำให้การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการนำเข้าของประเทศได้
3.11 โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กฎหมายด้านพลังงานทดแทน โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(1) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติงานโครงการด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน ได้รู้ถึงกรอบแนวทางในการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายพลังงานทดแทน
(2) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนได้เข้าใจในบทบัญญัติของกฎหมายพลังงานทดแทนในประเทศไทย เพื่อให้ได้รู้ถึงสิทธิและกฎระเบียบจากกฎหมายพลังงานทดแทน รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติหรือการดำเนินการที่ไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย
(3) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ที่สนใจทั่วไป ได้รู้ถึงสิทธิและข้อระเบียบของกฎหมายการพัฒนาพลังงานทดแทน อีกทั้งยังทำให้ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากการพัฒนาพลังงานทดแทนอีกด้วย
ระยะเวลา 12 เดือน
งบประมาณ ในวงเงิน 10,000,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ทราบถึงสิทธิและกฎระเบียบจากกฎหมายพลังงานทดแทน อันจะส่งผลทำให้การพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายพลังงานทดแทนที่วางไว้
4. เลขานุการฯ ได้แจ้งที่ประชุมทราบว่า สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน มีความประสงค์ขอเสนอโครงการประชาสัมพันธ์ในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมอีก 1 โครงการ คือ โครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในส่วนภูมิภาค โดยมีสาระสำคัญของโครงการ สรุปได้ดังนี้
วัตถุประสงค์
(1) เพื่อให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในฐานะสื่อบุคคลที่เป็นผู้แทน พน. ได้รับรู้และเข้าใจถึงนโยบายด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนสามารถนำนโยบายแนวคิดต่างๆ ไปพัฒนาเพื่อสื่อสารสู่ประชาชนอย่างถูกต้อง
(2) เพื่อระดมความคิดเห็นที่มีต่อแผนพัฒนาด้านพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน และรับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยราชการในการผลักดันแผนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของประเทศ
(3) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ความนิยม เลื่อมใส ศรัทธา ให้กลุ่มเป้าหมายตระหนัก เชื่อมั่น รับทราบและเข้าใจ และรวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายยอมรับองค์กรด้วยการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลา 60 วัน นับจากลงนามในสัญญา
งบประมาณ ในวงเงิน1,900,000 บาท
หน่วยงานดำเนินโครงการ สป.พน.
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ในฐานะสื่อบุคคลของกระทรวงพลังงานได้รับรู้ และเข้าใจถึงนโยบายด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนแนวคิดต่างๆ โดยสามารถนำหลักแนวคิดในการพัฒนาไปสู่การการปฏิบัติ และสื่อสารสู่ประชาชนอย่างถูกต้อง
(2) สามารถผลักดันแผนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนของประเทศไปสู่ภาคปฏิบัติในส่วนภูมิภาคได้ในที่สุด รวมทั้งสามารถสร้างเครือข่ายการยอมรับองค์กรด้วยการแปสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
(3) ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรงพลังงานมีความเข้าใจนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่เป้าประสงค์ของแผนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
การพิจารณาของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการประชาสัมพันธ์ ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้อนุมัติให้ สนพ. ไว้แล้ว ในแผนพลังงานทดแทน จำนวน 1 โครงการ และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 3 โครงการ และเห็นควรให้นำงบประมาณของโครงการประชาสัมพันธ์ที่ขอยกเลิก พร้อมด้วยงบประมาณคงเหลือในแผนพลังงานทดแทน รวมเป็นจำนวนเงิน 25 ล้านบาท และในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมเป็นจำนวนเงิน 90 ล้านบาท มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอมาในระเบียบวาระข้อ 3.1 และ 3.2
2. ประธานอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในโครงการประชาสัมพันธ์ สรุปได้ดังนี้
2.1 โครงการ Thailand Energy Awards เห็นควรให้ พพ. จัดแบ่งประเภทของรางวัลให้ชัดเจน โดยระบุชื่อของประเภทรางวัลที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในชื่อเฉพาะของผลงานที่ดีเด่นของผู้ประกอบการนั้นๆ และผู้ได้รับรางวัลเกิดความภาคภูมิใจในชื่อผลงานนั้นด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ของโครงการ Thailand Energy Awards และโครงการสร้างขุมกำลังบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร หรือ BEAT 2010 ควรมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน เพื่อมิให้เกิดความสับสนของประชาชน ซึ่งในการดำเนินโครงการ BEAT 2010 อาจจะจัดทำตราสัญลักษณ์ของโครงการใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างถาวร
2.2 โครงการรณรงค์และส่งเสริมความเข้าใจการใช้หลอดประหยัดพลังงาน ควรจะมีการบูรณาการร่วมกับ กฟผ. เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการดำเนินงานของโครงการ และการดำเนินกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ ควรจะจัดทำและนำคู่มือไปเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น
2.3 โครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ "โครงการภูเก็ตสีเขียว" เห็นควรให้ สนย. สป.พน.ทำการติดตามโครงการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเป็นต้นแบบที่ดีแก่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรจะมีกิจกรรมที่ให้ความรู้และกระตุ้นหน่วยงานและสถานประกอบการต่างๆ ภายในจังหวัด ให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น โดยการเสริมกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์กับโครงการและให้เกิดความต่อเนื่องต่อไปด้วย
2.4 โครงการ "ลดใช้น้ำมัน ปั่นรถถีบ เชียงใหม่ 2553" และโครงการ "คนคอนร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน" เห็นว่าควรจะจัดให้มีกิจกรรมที่เชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนภายในจังหวัดมีวัฒนธรรมในการประหยัดพลังงานมากขึ้น และได้เป็นแบบอย่างของเมืองอนุรักษ์พลังงานหรือ Green City ต่อไป พร้อมทั้งควรให้ความรู้และกระตุ้นองค์กรต่างๆ ภายในจังหวัด เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
2.5 โครงการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน (Display Center และบ้านประหยัดพลังงาน) เห็นควรให้ พพ. เพิ่มการจัดทำ CD หรือ/และ คู่มือแนะนำศูนย์ฯ และข้อมูลด้านต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้แก่ผู้เข้ามาเยี่ยมชมด้วย นอกจากนี้ปลัดกระทรวงพลังงาน เห็นควรให้ พพ. ปรับปรุงอุปกรณ์สาธิตเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานให้ทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ศูนย์ฯ ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างศูนย์ฯ ให้มากที่สุด พร้อมทั้งการจัดเตรียมและพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นวิทยากรต่อไปด้วย
2.6 โครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในส่วนภูมิภาค เห็นควรให้มีการพัฒนาขีดความสามารถของผู้เข้าร่วมสัมมนาในเรื่องการเขียนแผน และการนำแผนไปสู่การปฏิบัติด้วย และปลัดกระทรวงพลังงานเห็นว่า ควรปรับข้อเสนอโครงการให้สอดคล้องกับหมวดของเงินงบประมาณที่ขอรับทุนสนับสนุน โดยให้ครอบคลุมถึงบทบาทหน้าที่ของพลังงานจังหวัด ที่จะต้องมีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่นโยบายที่สำคัญต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน รวมถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนไปยังภูมิภาค
ผู้แทนกรมบัญชีกลาง เห็นควรให้หน่วยงานดำเนินโครงการเพิ่มรายละเอียดของเป้าหมาย และดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการในข้อเสนอแต่ละโครงการ เพื่อให้การติดตามผลการดำเนินงานของโครงการมีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งให้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่อคณะอนุกรรมการฯ เป็นระยะๆ
มติที่ประชุม
เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการประชาสัมพันธ์ ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้อนุมัติให้ สนพ. ไว้แล้ว ตามข้อ 3.1 ของระเบียบวาระ และให้นำงบประมาณของโครงการประชาสัมพันธ์ที่ขอยกเลิก พร้อมด้วยงบประมาณคงเหลือในแผนพลังงานทดแทน รวมเป็นจำนวนเงิน 25 ล้านบาท และในแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมเป็นจำนวนเงิน 90 ล้านบาท มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ตามข้อ 3.2 ของระเบียบวาระ
อนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน งานพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์ โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2553 ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้อนุมัติให้ สนพ. ไว้แล้ว มาใช้สำหรับดำเนินโครงการ
(1) โครงการ Thailand Energy Awards โดยให้ พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
(2) โครงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยให้ พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
(3) โครงการส่งเสริมธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน โดยให้ พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน)
(4) โครงการรณรงค์และส่งเสริมความเข้าใจการใช้หลอดประหยัดพลังงาน โดยให้ พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน)
(5) โครงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ "โครงการภูเก็ตสีเขียว" โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 1,052,000 บาท (หนึ่งล้านห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน)
(6) โครงการ "ลดใช้น้ำมัน ปั่นรถถีบ เชียงใหม่ 2553" โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
(7) โครงการ "คนคอนร่วมใจ ลดใช้พลังงาน ลดโลกร้อน" โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
(8) โครงการส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน (DISPLAY CENTER และบ้านประหยัดพลังงาน) โดยให้ พพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
(9) โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กฎหมายด้านการอนุรักษ์พลังงาน โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 20,000,000 บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน)
(10) โครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในส่วนภูมิภาค โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 1,900,000 บาท (หนึ่งล้านเก้าแสนบาทถ้วน)
1. อนุมัติเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน งานพัฒนาบุคลากรและประชาสัมพันธ์ โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2553 ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้อนุมัติให้ สนพ. ไว้แล้ว มาใช้สำหรับดำเนินโครงการ
(1) โครงการประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (Success Story) โดยให้ สนพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
(2) โครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์กฎหมายด้านพลังงานทดแทน โดยให้ สป.พน. เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในวงเงิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน)
2. เห็นชอบให้ สนพ. พพ. และ สป.พน. สามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินงานได้เพื่อความเหมาะสม โดยสามารถถัวจ่ายระหว่างรายการ และแยกรายการ และทำสัญญาหรือหนังสือยืนยันได้หลายรายการตามความเหมาะสม โดยแบ่งกระจายน้ำหนักตามงบประมาณและกิจกรรมต่างๆ ได้ ตามที่เสนอมา
1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้ดำเนินโครงการพลังงานทดแทนโดยการใช้เอทานอลจากพืชเศรษฐกิจสำหรับรถจักรยานยนต์ E85-100 ใน มทส. และชุมชนเครือข่ายต้นแบบ โดยได้ทำการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์เพื่อใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นเชื้อเพลิง ในชุมชนเครือข่ายนำร่อง รวม 390 คัน พร้อมทั้งพัฒนาบุคคลากรสำหรับร้านช่างซ่อมและปรับแต่งรถจักรยานยนต์ในรูปแบบ "MoPro Service Shop" จำนวน 15 ร้าน ใน 7 อำเภอ และบริหารจัดการเครือข่ายโลจิสติกส์สำหรับคลังน้ำมันกระจายน้ำมัน ศูนย์จำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และเครือข่ายคลัสเตอร์รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ทั้งนี้ มทส. เห็นว่ายังมีความจำเป็นการในศึกษาวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E85 เป็นเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการยอมรับ จึงได้ยื่นข้อเสนอ "โครงการพลังงานทดแทน สำหรับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จากพืชเศรษฐกิจสำหรับรถจักรยานยนต์ ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และชุมชนเครือข่ายนำร่องระดับจังหวัดนครราชสีมา ระยะที่ 2" ไว้กับ สนพ. เพื่อขอสนับสนุนทุนดำเนินโครงการจากกองทุนฯ โดยมีสาระสำคัญของโครงการ สรุปได้ดังนี้
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และหาแนวทางในการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 โดยปรับแต่งรถจักรยานยนต์ให้กับผู้ร่วมโครงการ ให้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 15,000 คัน และสร้างสมาชิกเครือข่ายให้กับโครงการฯ อันเป็นโอกาสที่จะกระจายความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 สำหรับรถจักรยานยนต์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
การดำเนินโครงการ แบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูล และติดตามผลการใช้รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ต่อเนื่องจากโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในชุมชนเครือข่ายต้นแบบนำร่องครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา
ขั้นตอนที่ 2 ศึกษา วิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ รุ่นต่างๆ ที่ใช้งานในชุมชน วิเคราะห์ระบบหัวฉีด ไอเสีย เปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันเบนซิน 91 แก๊สโซฮอล์ 91 และ E85
ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ให้เป็นศูนย์บริการรถจักรยานยนต์ในรูปแบบ MoPro Service Shop จำนวน 420 แห่ง และการปรับแต่งรถจักรยานยนต์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 15,000 คัน
ขั้นตอนที่ 4 การประชาสัมพันธ์ Brand Building ผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น รวมถึงการจัดทำคู่มือการซ่อม และการจัดกิจกรรมประลองฝีมือทดสอบรถจักรยานยนต์ที่ปรับใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85
ขั้นตอนที่ 5 การพัฒนาระบบ Logistic และ Supply Chain สำหรับน้ำมันและชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ปรับใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูล ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีกน้ำมันและชิ้นส่วนต่างๆ
ขั้นตอนที่ 6 การติดตามประเมินผล และสรุปผลการดำเนินงาน
งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 25,755,840 บาท ประกอบด้วย
(1) ค่าตอบแทน 2,640,000 บาท
(2) ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมย่อย 20,774,400 บาท
(3) ค่าบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย 2,341,440 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็น 1,530,000 ลิตร/ปี หรือคิดเป็น 56,732,400 บาท/ปี
(2) ผู้ใช้รถจักรยายนต์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 10 บาท/ลิตร คิดเป็น 1,200 บาท/คัน/ปี มีระยะเวลาคืนทุน 5 เดือน รวมทั้ง 15,000 คัน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงแก่ชุมชนได้ 18,000,000 บาท/ปี
(3) สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ และร้านซ่อมจักรยานยนต์ ในชุมชน
2. สนพ. ได้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิโดยพิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์เกี่ยวกับงานวิจัยด้านพลังงานทดแทน และด้านพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อร่วมวิเคราะห์ประเมินคุณภาพของข้อเสนอ รวมถึงการให้ข้อแนะนำกับเจ้าของโครงการฯ ประกอบด้วย
(1) ศ.ดร.นักสิทธิ์ คูวัฒนาชัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(2) นางสุนันทา สมพงษ์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
(3) นายทวีป พลเสน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
(4) รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด ผู้แทนคณะอนุกรรมการประเมินผลฯ และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร
(5) รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(6) รศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(7) ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3. การพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า โครงการมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการใช้เอทานอล E85 จึงเห็นควรที่กองทุนฯ จะสนับสนุนให้ดำเนินการในส่วนของงานวิจัยพัฒนารถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน โดยให้ มทส. ดำเนินการปรับปรุงข้อเสนอโครงการ ได้แก่ การจัดทำคู่มือการปรับเปลี่ยนซ่อมรถจักรยานยนต์ เพื่อให้สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เผยแพร่สู่สาธารณชน เช่น ในรูปแบบ VDO Website เป็นต้น รวมถึงส่วนของงานการปรับแต่งรถจักรยานยนต์ 15,000 คัน และการพัฒนา MoPro Service Shop 420 แห่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะส่งเสริมสาธิตเพื่อขยายผลในระยะที่ 2 และอยู่นอกเหนือขอบเขตงานวิจัยนั้น ควรพิจารณาให้สอดคล้องตามภารกิจและนโยบายของกระทรวงพลังงาน
การพิจารณาของที่ประชุม
ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอโครงการแล้ว มีข้อคิดเห็นสรุปได้ดังนี้
1. ประธานอนุกรรมการฯได้สอบถามผู้แทน มทส. ถึงที่มาของจำนวนรถจักรยานยนต์ จำนวน 15,000 คัน และความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องยนต์เอง ซึ่งผู้แทน มทส. ได้ชี้แจงที่ประชุมว่าจำนวนรถจักยานยนต์ที่เสนอมานั้น ได้มาจากกลุ่มแกนนำเกษตรกรซึ่งเป็นแกนนำของโครงการในการจัดหาลูกค้าเข้าร่วมโครงการ สำหรับการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องยนต์โดยผู้เข้าร่วมโครงการเอง ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีปัญหาด้านกระแสการยอมรับของประชาชน เนื่องจากยังไม่เกิดความเชื่อมั่นที่เพียงพอ นอกจากนี้ประธานอนุกรรมการฯ ยังเห็นว่าจังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพที่จะเป็นต้นแบบของเมืองพลังงานทดแทน ด้วยความพร้อมในด้านวัตถุดิบ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง พลังงานลม และพลังงานน้ำ ดังนั้นในการดำเนินงานของโครงการควรจัดให้มีการรณรงค์อย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ มีความรู้ความเข้าใจน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 มากขึ้น และสนใจหันมาปรับแต่งเครื่องยนต์สำหรับใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองในระยะต่อไป
2. ปลัดกระทรวงพลังงาน มีความเห็นว่าลักษณะการดำเนินโครงการควรจะยังคงไว้เป็นการศึกษาวิจัย เนื่องจากในการดำเนินงานของโครงการจะรวมถึงงานการซ่อมและแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการภายหลังที่ได้รับการปรับแต่งเครื่องยนต์ด้วย ซึ่งหากปรับเปลี่ยนโครงการเป็นการส่งเสริมและสาธิต และให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับแต่งเครื่องยนต์เองนั้น หากเครื่องยนต์เกิดปัญหาภายหลังจากการปรับแต่ง อาจจะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องประกาศการกำหนดมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของกรมธุรกิจพลังงาน นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ควรกำหนดคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ที่จะเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน โดยไม่ควรเป็นรถที่มีภาระผูกพันกับบริษัทประกันไว้ และให้ มทส. ทำการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ จากการลงทุนปรับแต่งกับผลประโยชน์ที่จะได้รับด้วย เช่น การประหยัดน้ำมัน และได้สอบถามผู้แทน มทส. หากสิ้นสุดของโครงการ สามารถนำผลมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลายได้เลยหรือไม่
3. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้สอบถามวิธีการและขั้นตอนการตรวจวัดการสึกหรอของเครื่องยนต์ ซึ่งผู้แทน มทส. ได้ชี้แจงว่าจะทำการเก็บข้อมูลในพื้นที่เป็นหลัก โดยร้านซ่อมเครื่องยนต์จะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ทั้งในช่วงก่อน ช่วงกลาง และภายหลังการปรับแต่งเครื่องยนต์
4. ผู้แทน พพ. เห็นว่าในการดำเนินโครงการ ควรให้ พพ. เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินของโครงการด้วย นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะให้มีการตรวจสอบในด้านผลกระทบของมลภาวะหรือมลพิษที่เกิดขึ้นสำหรับรถที่เข้าร่วมในโครงการ และการกำหนดกลไกในการกำกับดูแล มาตฐาน/คุณภาพของน้ำมันในปั๊มหลอด รวมถึงวิธีการคัดเลือกรถจักรยานยนต์ จำนวน 15,000 คัน ให้มีการกระจายครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมาย อายุและยี่ห้อ/รุ่นของรถ เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนรถจักรยานยนต์ของทั้งหมด
5. เลขานุการ รมว.พน. ได้สอบถามถึงสาเหตุที่ผู้เข้าร่วมโครงการบางรายในระยะที่ 1 ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเบนซิน 91 เหมือนเดิม ซึ่งผู้แทน มทส. ได้ชี้แจงว่าเกิดจากการสตาร์ทติดยาก รวมถึงข้อจำกัดของการกระจายตัวของปั๊มน้ำมัน และฝีมือช่างในการ tune up นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะให้ มทส. เพิ่มเติมข้อมูลที่แท้จริงให้ชัดเจนทั้งในด้านปริมาณของน้ำมันที่ใช้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่าย ประโยชน์ของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และด้านเทคนิค เช่น การตรวจวัดความสึกหรอของเครื่องยนต์ ท่อยางและระบบอื่นๆ ปัญหา Vapor lock Cold Start เป็นต้น และการกระจายตัวอย่างของรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามหลักการทางสถิติ เพื่อเป็นตัวแทนรถจักรยานยนต์ของทั้งหมด รวมถึงเพิ่มเติมการวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักการและเหตุผลในเชิงวิชาการ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในทางทฤษฎีต่อไป
6. รองปลัดกระทรวงพลังงาน (นายณอคุณ สุทธิพงศ์) ได้สอบถามถึงผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีข้อเสนอแนะว่าการปรับแต่งรถจักรยานยนต์ 15,000 คัน และการพัฒนา MoPro Service Shop 420 แห่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะส่งเสริมสาธิตเพื่อขยายผลในระยะที่ 2 และอยู่นอกเหนือขอบเขตงานวิจัยนั้น เห็นควรพิจารณาให้สอดคล้องตามภารกิจและนโยบายของกระทรวงพลังงานนั้น จะมีผลต่อการวัด KPI งานวิจัย หรือไม่ อย่างไร ซึ่งผู้แทน มทส. ได้ชี้แจงว่าจากจำนวนตัวอย่างที่ดำเนินการในระยะที่ 1 จำนวน 390 คัน ไม่เพียงพอจะเป็นตัวแทนของการวิจัยที่จะนำไปสู่การขยายผลได้ และจำนวนรถจักรยานยนต์ 15,000 คัน ถือเป็นเพียงตัวอย่างที่ไม่ถึง 1% ของจำนวนประชากรรถจักรยานยนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป นอกจากนี้รองปลัดกระทรวงฯ เห็นควรให้มีการแยกค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนและงบประมาณในการฝึกอบรมออกจากกันให้ชัดเจน
มติที่ประชุม
เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน งานศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านเทคนิค โครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ปีงบประมาณ 2553 ที่คณะกรรมการกองทุนฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ได้จัดสรรให้ สนพ. ไว้แล้ว ให้ มทส. ในการดำเนิน "โครงการพลังงานทดแทนสำหรับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 จากพืชเศรษฐกิจสำหรับรถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และชุมชนเครือข่ายนำร่องระดับจังหวัดนครราชสีมา ระยะที่ 2" ในวงเงิน 25,755,840 บาท โดยให้ มทส. ดำเนินการปรับปรุง รายละเอียดของข้อเสนอโครงการตามความเห็นของที่ประชุม ก่อนลงนามในหนังสือยืนยันการรับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ต่อไป