มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
ครั้งที่ 5/2558 (ครั้งที่ 5)
วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2558 เวลา 13.30 น.
ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล
1.รายงานประจำปี 2557 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
2.รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
3.รายงานการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
4.รายงานผลความคืบหน้าคดีปกครองโครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี
5.นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559 – 2563
6.ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1
7.แนวทางการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน
8.การปรับปรุงกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์)
9.การปรับปรุงการมอบอำนาจในการดำเนินคดีทางปกครอง
นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ประธานกรรมการ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (นายทวารัฐ สูตะบุตร) กรรมการและเลขานุการ
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
สรุปภาพรวมผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2557 ออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) งานกำกับดูแลกิจการพลังงานอย่างมีมาตรฐาน ได้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 150 ฉบับ (ประกอบกิจการไฟฟ้า 147 ฉบับ และประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ 3 ฉบับ) พัฒนาระบบ e-Licensing รองรับการบริการออกใบอนุญาตแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service – OSS) และเตรียมออกหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้า (2) งานกำกับอัตราค่าบริการ ได้เสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย สำหรับปี 2558 – 2560 ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาปรับอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) รวมจำนวน 4 ครั้ง ปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติตามต้นทุนผันแปรและ LNG Termainal และริเริ่มโครงการนำร่อง Demand Response (DR) เพื่อบริหารจัดการวิกฤตพลังงาน และลดต้นทุนการสำรอง และ/หรือใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และช่วยหลีกเลี่ยงการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ (3) งานกำกับการรับซื้อไฟฟ้า ได้กำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. 2555-2564) (4) งานส่งเสริมการเปิดใช้/เชื่อมต่อโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ได้ออกหลักเกณฑ์การจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบ ส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Regime: TPA Regime) และ (5) งานคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านพลังงาน ได้จัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และยกระดับคุณภาพบริการด้านสัญญาบริการผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้พลังงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบ กิจการพลังงาน แล้วเสร็จ 64 เรื่อง จาก 67 เรื่อง อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดสรรให้กับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประเภท ก และประเภท ข เป็นจำนวนเงินประมาณ 2,055 ล้านบาท โดย สำนักงาน กกพ. มีรายได้จากการดำเนินงาน 768,505,630.29 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 668,678,395.74 บาท รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 99,827,234.55 บาท และเมื่อหักเงินกันเหลื่อมปี เงินประกันสัญญาเช่า และค่าซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ จะมีรายได้แผ่นดินรอนำส่งคลัง 21,253,350.11 บาท
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 2 รายงานความคืบหน้าสถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้ขอให้ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย) สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
สถานะการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ แล้ว รวม 11,142 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 8,862 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 1,773 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 4,988 เมกะวัตต์ โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว (PPA) และอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 9,260 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 3,394 เมกะวัตต์ และโครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว จำนวน 109 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง 480 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน 8,862 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.82 เมื่อเทียบกับเป้าหมายของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ที่มีเป้าหมาย ณ ปี 2579 (ไม่รวมพลังน้ำขนาดใหญ่) เท่ากับ 16,778 เมกะวัตต์
2. กพช. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ได้มีมติกำหนดให้รับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบน หลังคา (Solar PV Rooftop) จำนวน 200 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 2 รอบ คือ รอบปี 2556 และรอบปี 2558 รวม 10,122 ราย กำลังการผลิตติดตั้ง ประมาณ 169 เมกะวัตต์ โดยเป็นการรับซื้อในรอบปี 2556 รวม 2,688 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 111 เมกะวัตต์ และเป็นการรับซื้อเพิ่มในรอบปี 2558 รวม 7,434 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 58 เมกะวัตต์
3. การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) สำหรับผู้ที่ยื่นขอขายไฟฟ้าไว้ในระบบ Adder เดิม (ค้างท่อ) รวมทั้งสิ้น 171 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 984 เมกะวัตต์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 6 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 42 เมกะวัตต์ โครงการที่มี PPA แล้วและอยู่ระหว่างรอ COD จำนวน 164 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 941 เมกะวัตต์ และโครงการที่มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วและยังไม่ได้ลงนาม PPA จำนวน 1 ราย กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 1 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ใน 171 รายที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้ว คาดว่าจะ COD ได้ทันภายในเดือนธันวาคม 2558 ประมาณ 107 ราย และ 64 รายที่เหลือคาดว่าจะไม่สามารถ COD ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 3 รายงานการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในระยะยาว และเห็นชอบกรอบสัญญา Master Sale and Purchase Agreement (MSPA) โดยให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงนามใน MSPA หรือสัญญาระยะสั้น ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อความในสัญญาฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้ ปตท. สามารถปรับปรุงข้อความได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กพช. อีก และเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดหา LNG โดยในช่วงปี 2554 - 2557 ให้ ปตท. จัดหา LNG ได้เองด้วยสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้น ในปริมาณไม่เกินแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว และจัดหา LNG Commissioning Cargo ตามความจำเป็นในปริมาณที่ต้องใช้ในการทดสอบการเดินเครื่อง LNG Receiving Terminal และในช่วงปี 2558 เป็นต้นไป ให้ ปตท. จัดหา LNG ด้วยสัญญาระยะยาว และให้นำสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวเสนอ กพช. และคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบภายหลังจากที่การเจรจาสัญญามีข้อยุติ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้า LNG ด้วยสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้น ให้ ปตท. ดำเนินการได้เอง โดยที่ราคา LNG จะต้องไม่เกินราคาน้ำมันเตาชนิดที่มีกำมะถันไม่เกินร้อยละ 2 ที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในกรณีอื่นๆ มอบหมาย สนพ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการจัดหาระยะสั้น ทั้งนี้ เมื่อ ปตท. มีการนำเข้า LNG ด้วยสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้นแล้ว ให้ ปตท. นำเสนอผลการจัดหาต่อ กพช. ทราบเป็นระยะ
2. กพช. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 เห็นชอบ (1) แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในระยะยาว ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2555 – 2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP2010 ฉบับที่ 3) (2) สัญญาซื้อขาย LNG ด้วยสัญญาระยะยาวเป็นเวลา 20 ปี กับบริษัท Qatargas ในปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีกำหนดส่งมอบตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป (3) หลักเกณฑ์การจัดหา LNG ระยะยาว โดยให้ ปตท. ดำเนินการจัดหาและนำเข้า LNG ตามแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ โดย ปตท. จะจัดหา LNG ส่วนใหญ่ในรูปแบบสัญญาระยะยาว และส่วนที่เหลือจะจัดหาในรูปแบบสัญญา Spot และ/หรือ สัญญาระยะสั้น เพื่อลดโอกาสที่ปริมาณการจัดหาเกินความต้องการซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ซื้อต้อง ชำระเงินล่วงหน้าไปก่อน และเพื่อประโยชน์ใน การกระจายความเสี่ยงเรื่องราคา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก LNG มีราคาสูง ดังนั้น ปตท. จะจัดหาและนำเข้า LNG ไม่เกินแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว โดยคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศ แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในบางโอกาส ปตท. มีความจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เกินกว่าปริมาณแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวเพื่อสนองความต้องการการใช้ก๊าซฯ ภายในประเทศที่อาจมีการเพิ่มขึ้นในบางช่วงเวลาด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แหล่งผลิตไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นมีปัญหา หรือแหล่งผลิตก๊าซฯ ใประเทศมีปัญหา เป็นต้น และในทางปฏิบัติ ปตท. อาจไม่สามารถควบคุมปริมาณนำเข้า LNG ในแต่ละปีตามแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวได้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากปริมาณ LNG นำเข้าในแต่ละปีขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ การรักษาระดับ Inventory ในถัง ขนาดเรือ และ จำนวนเที่ยวเรือในปีนั้นๆ เป็นต้น และเมื่อ ปตท. มีการนำเข้า LNG แล้ว ให้นำเสนอผลการจัดหาต่อ สนพ. เพื่อทราบ
3. กพช. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวระหว่าง ปตท. กับบริษัท Shell Eastern Trading (PTE) LTD (บริษัท Shell) และบริษัท BP Singapore PTE Limited (บริษัท BP) และให้ ปตท. ลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวดังกล่าว ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อความในสัญญาฯ ดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เห็นควรให้ ปตท. สามารถปรับปรุงข้อความได้โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. อีก
4. ปี 2557 ปตท. นำเข้า LNG ในรูปแบบสัญญา Spot และ/หรือสัญญาระยะสั้น รวมประมาณ 1.34 ล้านตัน ราคานำเข้าเฉลี่ยเท่ากับ 14.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู และในปี 2558 ปตท. เริ่มนำเข้า LNG ด้วยสัญญาระยะยาวจากบริษัท Qatargas โดยมีการนำเข้า LNG จากสัญญาระยะยาว จำนวน 22 เที่ยว คิดเป็นประมาณ 2,006,354 ตัน ราคาเฉลี่ย 10.21 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยราคานำเข้า LNG จากสัญญาระยะยาวอ้างอิงจากสูตรราคาน้ำมันเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน ดังนั้น ราคา LNG จะปรับลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันที่ปรับลงไปก่อนหน้านี้ และมีการนำเข้า LNG จากสัญญาระยะสั้น และ/หรือ Spot จำนวน 9 เที่ยว ในปริมาณ 615,952 ตัน ราคาเฉลี่ย 7.12 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู เพื่อทดแทนและควบคุมคุณภาพก๊าซฯ ในช่วงแหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุนหยุดซ่อมแซมในเดือนเมษายน 2558 อีกทั้ง LNG ในตลาด Spot LNG มีราคาลดลงอย่างมาก เนื่องจากความต้องการใช้ LNG จากประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศจีน ปรับลดลงในไตรมาส 2 ปี 2558 ดังนั้น ปตท. จึงนำเข้า Spot LNG เพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนราคาก๊าซฯ ในประเทศ
5. กพช. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยในระยะยาว ที่สอดคล้องกับ PDP2015 ซึ่งได้ประมาณการว่าในปี 2559 - 2561 จะมีความต้องการ LNG ประมาณ 4.5 - 9.0 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีสัญญาระยะยาวจาก Qatargas เพียง 2.0 ล้านตันต่อปี จึงจำเป็นต้องจัดหาสัญญาระยะยาวเพิ่มเติม โดย กพช. และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG SPA) ระหว่าง ปตท. กับบริษัท Shell และบริษัท BP รายละ 1.0 ล้านตันต่อปี (รวม 2.0 ล้านตันต่อปี) เป็นเวลา 15 ปี และ 20 ปี ตามลำดับ ปัจจุบัน ร่างสัญญาฯ อยู่ระหว่างพิจารณาโดยสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้ บริษัท Shell และ BP จะเริ่มการส่งมอบ LNG ในเดือนเมษายน 2559 ในปริมาณ 0.375 และ 0.317 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ ทำให้เมื่อรวมกับสัญญา Qatargas แล้ว ประเทศจะมีอุปทาน LNG จากสัญญาระยะยาวในปี 2559 รวมปริมาณ 2.69 ล้านตันต่อปี โดย ปตท. จะจัดหา Spot LNG เพิ่มเติมจากคู่ค้าที่มีศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการจริง
6. แผนการจัดหา LNG ปี 2560 ปตท. จะดำเนินการจัดหา LNG ตามที่ได้ขอความเห็นชอบจาก สนพ. และได้ลงนาม Heads of Agreement (Non-Binding) จำนวน 4 ราย ดังนี้ (1) บริษัท Mitsui (โครงการ Cameron LNG ประเทศสหรัฐอเมริกา) ปริมาณซื้อขาย 0.30 - 0.35 ล้านตันต่อปี ระยะเวลาการส่งมอบ 20 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จปี 2562 และอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขราคาใหม่เพื่อให้สะท้อนสภาวะตลาดให้มากขึ้น (2) บริษัท Gunvor (โครงการ Yamal LNG ประเทศรัสเซีย) ลงนาม HOA (Non-Binding) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 แต่ ปตท. ได้ขอยุติการเจรจาร่างสัญญาระยะยาว เนื่องจากบริษัทฯ มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในการเป็นคู่ค้าในสัญญา LNG ระยะยาว (3) บริษัท Anadarko (โครงการ Mozambique LNG) ปริมาณซื้อขาย 2.625 ล้านตันต่อปี ระยะเวลาการส่งมอบ 20 ปี เริ่มส่งมอบปี 2563/2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขสัญญาหลักหลายประเด็น รวมทั้งเจรจาราคาใหม่เพื่อให้สะท้อนสภาวะตลาดปัจจุบันและความเสี่ยงจากการ พัฒนาโครงการฯ ให้มากขึ้น และ (4) บริษัท PETRONAS LNG ปริมาณซื้อขาย 1.0 ล้านตันต่อปี ระยะเวลาการส่งมอบ 10 ปี กำหนดส่งมอบปี 2560/2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 4 รายงานผลความคืบหน้าคดีปกครองโครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี
สรุปสาระสำคัญ
ฝฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. รัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 หรือหลังจากนั้น โดยโครงการไซยะบุรีเป็นโครงการหนึ่งภายใต้ MOU ดังกล่าว ซึ่ง กพช. เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 และคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี และให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีกับผู้ลงทุน โดยมีเงื่อนไขให้ (1) โครงการฯ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ตามกระบวนการข้อตกลงของประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขง (2) ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด หากจำเป็นต้องแก้ไขร่างสัญญาฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องนำมาเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. อีก ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เปิดเผยข้อมูลโครงการนี้ต่อสาธารณะชน ซึ่ง สนพ. ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการไซยะบุรีบนเว็บไซต์ www.eppo.go.th เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 จนถึงปัจจุบัน และได้มีหนังสือถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ขอความอนุเคราะห์เผยแพร่ข้อมูลโครงการฯ บนเว็บไซต์ของ สปน. รวมทั้ง กฟผ. ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงการฯ บนเว็บไซต์ของ กฟผ. เพื่อให้เป็นไปตามมติ
2. นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กับพวกรวม 37 คน ได้ฟ้อง กฟผ. กพช. กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติว่าก่อนเริ่มโครงการ สัญญาซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรี ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือมีการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อย่างเหมาะสมและเพียงพอหรือไม่
3. ผู้ถูกฟ้องได้มอบอำนาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินการในคดีนี้แทน และศาลปกครองกลางได้กำหนดให้สิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 และกำหนดวันพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ซึ่ง สนพ. ได้มอบหมายให้ผู้ประสานคดีเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีครั้งแรก ปรากฏว่าตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือ ที่ได้เสนอไว้ต่อองค์คณะ โดยมีความเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง อย่างไรก็ตามความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่มีผลผูกพันต่อกระบวนการพิจารณา ของตุลาการองค์คณะแต่อย่างใด และศาลปกครองกลางได้นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 25 ธันวาคม 2558
มติของที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ
เรื่องที่ 5 นโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559 – 2563
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 รับทราบมติ กพช. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2554 - 2558 ตามที่ สนพ. เสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบมติ กพช. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ซึ่งเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเทศไทยปี 2554 - 2558 และเห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเทศไทยปี 2554 - 2558 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้มีการประกาศใช้ตั้งแต่รอบเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นระยะเวลา 2 ปี และให้มีการทบทวนในปี 2556 เพื่อประกาศใช้ต่อไปอีก 3 ปี
2. กพช. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ตามที่ กกพ. เสนอ และใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อประกาศใช้ภายในปี 2558 ทั้งนี้เมื่อ สนพ. ได้จัดทำนโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2559 - 2563 แล้วเสร็จ ให้ กกพ. ดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์ฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว เพื่อประกาศใช้ภายในปี 2560 ต่อไป และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 กกพ. ได้มีหนังสือถึง สนพ. เพื่อขอทราบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2559 - 2563 เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ กพช. กำหนด
3. สนพ. ได้ทำการจัดทำร่างนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559 - 2563 เพื่อปรับปรุงนโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยให้มีความสอดคล้อง กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยให้สะท้อน ถึงต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ให้บริการ จัดหาไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วง เวลาในแต่ละวัน ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยและผู้สมควรได้รับการอุดหนุน ค่าไฟฟ้าอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
4. หลักการของนโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559 - 2563 ประกอบด้วย (1) อัตราค่าไฟฟ้าต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม และสะท้อนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (2) ส่งเสริมความเสมอภาคของประชาชนในทุกภูมิภาค โดยเป็นอัตราเดียวกันสำหรับสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน (Uniform Tariff) ยกเว้นธุรกิจบนเกาะ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ (3) มีการแยกต้นทุนของแต่ละกิจการอย่างชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีการจำแนกต้นทุนของแต่ละกิจการตามพื้นที่อย่างน้อยในระดับภาคทาง ภูมิศาสตร์ และให้รายงานผลการแบ่งแยกต้นทุนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในไตรมาสที่ 2 หลังสิ้นปีบัญชี (4) พิจารณาผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้า ภายใต้เงื่อนไขกรอบค่าใช้จ่ายการดำเนินงานของการไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ (5) ให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีฐานะการเงินเพียงพอต่อการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมในระยะยาว (6) มีกลไกในการติดตามการลงทุนของการไฟฟ้าที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
5. นโยบายโครงสร้างอัตราขายส่ง ประกอบด้วย (1) โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งที่ กฟผ. ขายให้ กฟน. และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ควรเป็นโครงสร้างเดียวกันโดยสะท้อนต้นทุนตามระดับแรงดันและตามช่วงเวลาของ การใช้ไฟฟ้า (Time of Usage-TOU) (2) กำหนดบทปรับค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) ในระดับขายส่งสำหรับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน (3) กำหนดกลไกเงินชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้าให้เป็นไปตามความเหมาะสมของฐานะการ เงินของการไฟฟ้าในแต่ละปีและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และมีการทบทวนทุกปีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแต่ละการไฟฟ้า
6. นโยบายโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก ประกอบด้วย (1) การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกให้สะท้อนต้นทุนตามช่วงเวลา ลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท โดยมีการส่งสัญญาณให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่าน กลไกด้านราคา (2) ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยในระดับหนึ่ง (3) มีการทบทวนหรือปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอทุก 5 ปี โดยให้หน่วยงานกำกับดูแลจัดตั้งคณะทำงานทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้า ขายปลีก ภายใน 2 ปี หลังจากมีการประกาศใช้นโยบายโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกและให้รายงานผลการ ดำเนินงานต่อ กพช. (4) กำหนดบทปรับค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) ในระดับขายปลีกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง (5) สะท้อนความมั่นคง ความถี่ และแรงดันไฟฟ้า ตามลักษณะความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ และพิจารณาบทปรับกรณีใช้ไฟฟ้าผิดวัตถุประสงค์และการลักลอบการจำหน่ายไฟฟ้า โดยไม่มีใบอนุญาต (6) กำหนดให้มีอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับธุรกิจบนเกาะ โดยให้แล้วเสร็จและประกาศใช้ภายใน 1 ปี นับจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ และให้ประเมินความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเติมเงิน โดยให้รายงานให้ กพช. รับทราบ ภายในระยะเวลา 1 ปี (7) ให้หน่วยงานกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและนำเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการพัฒนาไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐต่อ กพช. ได้แก่ หลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รอบโรง ไฟฟ้า เสนอต่อ กพช. พิจารณาภายใน 1 ปี นับจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ และหลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าและคุณสมบัติการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ ไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยและผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง ประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย เสนอต่อ กพช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ภายในกรอบระยะเวลา 2 ปีหลังจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกมีผลบังคับใช้ (8) ให้หน่วยงานกำกับดูแลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและนำเสนอหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงการจัดการความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด และนำเสนอต่อ กพช. ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี หลังจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าขายปลีกใหม่มีผลบังคับใช้ ประกอบด้วย การศึกษา ทบทวน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนการ ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และสนับสนุนการดำเนินงานของ สนพ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศ
7. นโยบายการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ประกอบด้วย (1) มีสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า อย่างแท้จริง มีความโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า (2) ค่า Ft ควรประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าฐานที่ใช้ในการกำหนดโครง สร้างอัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐ (3) ให้หน่วยงานกำกับดูแลทบทวนวิธีการและอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนา ไฟฟ้าตามมาตรา 97 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน รวมทั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และ (4) ค่า Ft ควรมีการเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน เพื่อมิให้เป็นภาระต่อการไฟฟ้า และเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องรับภาระความผันผวนของค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง บ่อยเกินไป
มติของที่ประชุม
เห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2559 – 2563 ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยว ข้องต่อไป
เรื่องที่ 6 ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ได้เห็นชอบการขยายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในหรือหลังจากปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ (Commercial Operation Date : COD) แล้ว 3,087 เมกะวัตต์ และมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวม 2,334 เมกะวัตต์ คงเหลือปริมาณไฟฟ้าที่สามารถรับซื้อจาก สปป. ลาว ได้อีกประมาณ 1,579 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ. ได้เจรจากับผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 จนกระทั่งได้ข้อยุติเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าและเงื่อนไขสำคัญ และได้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) ของโครงการน้ำเทิน 1 และนำเสนอคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ ประเทศเพื่อนบ้าน (คณะอนุกรรมการฯ) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบร่าง Tariff MOU ของโครงการน้ำเทิน 1 และให้เสนอ กพช. พิจารณา
2. โครงการน้ำเทิน 1 ตั้งอยู่บนลำน้ำกะดิ่ง (Nam Kading) ในแขวงบอลิคำไซ สปป. ลาว มีบริษัท พอนสัก กรุ๊ป เป็นผู้พัฒนาโครงการคือ กำลังผลิตติดตั้ง รวม 650 เมกะวัตต์ ขายให้ไทย 520 เมกะวัตต์ (2x260 เมกะวัตต์) และขายให้ สปป. ลาว 130 เมกะวัตต์ (1x130 เมกะวัตต์) สัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุ 27 ปี นับจาก COD โดยอาจมีการต่ออายุสัญญาได้ และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) วันที่ 1 มกราคม 2565
3. ร่าง Tariff MOU โครงการน้ำเทิน 1 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ (1) ข้อตกลงทำขึ้นระหว่าง กฟผ. กับบริษัท Phonesack Group ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย และ สปป. ลาว โดยบริษัทฯ และผู้ร่วมลงทุนรายอื่นจะจัดตั้งบริษัทใน สปป. ลาว (2) โครงการมีกำลังผลิต 520 เมกะวัตต์ ขายให้ไทย ณ ชายแดน 514.8 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยรายปีของ Primary Energy (PE) เท่ากับ 1,730 ล้านหน่วย และ Secondary Energy (SE) เท่ากับ 223 ล้านหน่วย โดยในช่วงหลัง COD กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE และ SE สำหรับช่วงก่อน COD หรือช่วง Unit Operation Period กฟผ. จะรับประกันการรับซื้อเฉพาะ PE กรณีที่ระบบของ กฟผ. สามารถรับได้ (PE คือ พลังงานไฟฟ้าที่บริษัทฯ แจ้งและพร้อมผลิตไม่เกินวันละ 16 ชั่วโมง (06.00-22.00 น.) วันจันทร์ถึงวันเสาร์ SE คือ พลังงานไฟฟ้าส่วนที่เกิน PE ไม่เกินวันละ 5.35 ชั่วโมง วันจันทร์ถึงวันเสาร์ และวันอาทิตย์ไม่เกิน 21.35 ชั่วโมง และ Excess Energy (EE) คือ พลังงานไฟฟ้านอกเหนือจาก PE และ SE)
4. อัตราค่าไฟฟ้า ณ ชายแดน มีค่าคงที่ตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สรุปได้ดังนี้ (1) PE Tariff แบ่งเป็นสองส่วน คือ สกุล USD 4.2400 USCent/หน่วย และสกุลเงินบาท 1.3992 บาท/หน่วย และเมื่อคำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/เหรียญดอลลาร์สหรัฐ อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 2.7984 บาท/หน่วย (2) SE Tariff 1.6790บาท/หน่วย (3) EE Tariff 1.5391 บาท/หน่วย และ (4) ช่วงก่อน COD อัตราค่าไฟฟ้า PE เท่ากับ 75% ของอัตราค่าไฟฟ้าหลัง COD และอัตราค่าไฟฟ้า SE และ EE เป็นราคาเดียวกับอัตราค่าไฟฟ้าหลัง COD
5. เปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย และโครงการน้ำเงี๊ยบ 1 ซึ่งเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว ที่ SCOD ปี 2565 สรุปได้ดังนี้ (1) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ณ ชายแดน 2.67 2.63 และ 2.59 บาทต่อหน่วย และ (2) ค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่งไทย 0.24 0.28 และ 0.24 บาทต่อหน่วย
6. ขั้นตอนต่อไป กฟผ. และผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการน้ำเทิน 1 ภายหลัง กพช. ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯ และได้ผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว และ กฟผ. และผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 จะเจรจาในรายละเอียดของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) โดยยึดกรอบบันทึกความเข้าใจฯ เป็นแนวทางในการเจรจา พร้อมทั้งนำรายละเอียดร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ได้จากการเจรจาเสนอต่อคณะ อนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และอัยการสูงสุดพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายละเอียด เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน 1 และมอบหมายให้ กฟผ. นำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปลงนามร่วมกับผู้ลงทุนเมื่อร่างบันทึกความเข้าใจฯ ผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว
2. เห็นชอบในหลักการให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำ เทิน 1 ในขั้นการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
เรื่องที่ 7 แนวทางการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. ปัจจุบันประเทศไทยมีความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ผ่านการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการที่พัฒนาขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านผ่าน สายส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และ (2) การแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากำลัง ระหว่างสองประเทศ (Grid-to-Grid) ซึงปัจจุบันมีการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) แบบ Non-Firm ผ่านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ และการขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนโดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ผ่านการเชื่อมโยงระบบจำหน่ายที่ระดับแรงดัน 22 กิโลโวลต์ นอกจากนี้ยังมีการขายพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และการไฟฟ้ากัมพูชาเป็นปริมาณมากผ่านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าที่ระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงวัฒนานครของ กฟผ. เข้าไปยังเมืองบันเตียนเมียนเจย (ศรีโสภณ) พระตะบอง และเสียมราฐ
2. ประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้มีบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมพัฒนา พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะด้านพลังงาน ไฟฟ้า จำเป็นต้องมีการสร้างระบบส่งไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้าจากประเทศไทยไปใช้ในการก่อ สร้างและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในระยะแรก โดยคำนึงถึงความมั่นคงเชื่อถือได้ในการส่งพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากเป็นพื้นที่ ต้องมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง จึงนำมาสู่แนวทางการพัฒนากิจกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าผ่านการ เชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
3. แนวทางการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้าน โดย เห็นควรให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการขายไฟฟ้าในปริมาณมากเนื่องจากมีผลต่อการส่งจ่ายไฟฟ้า ในประเทศไทย และการขายไฟฟ้าจากไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมโยงระบบจำหน่ายใน บริเวณจุดที่ใกล้กับเขตชายแดนของไทยในปริมาณไม่มาก เห็นควรให้ PEA เป็นผู้ดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 โดยควรมีการพิจารณาและวิเคราะห์ด้านเทคนิคในภาพความมั่นคงของประเทศ เพื่อกำหนดแผนกำลังผลิตและการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมทั้งขนาดของระบบ ส่ง ระบบปฏิบัติการและควบคุม ระบบป้องกัน และจุดส่งไฟฟ้าที่เหมาะสม รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการ เนื่องจากการขายไฟฟ้าในปริมาณมากจะมีผลกระทบต่อการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าใน ประเทศ และมีการพิจารณาด้านราคาและเงื่อนไขการซื้อขายไฟฟ้าในประเด็น (1) ปริมาณและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้า (2) ระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (3) ราคาซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงต้นทุนการขยายระบบส่งไปยังชายแดนเพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อน บ้าน และ (4) เงื่อนไขสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า
4. ฝ่ายเลขานุการฯ ได้เสนอแนวทางในการดำเนินการขายไฟฟ้าผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าระหว่าง ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ กพช. พิจารณา ดังนี้ (1) ให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อม โยงระบบส่งไฟฟ้า (2) เห็นควรให้ PEA เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่ บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย ยกเว้น กรณีการขายไฟฟ้าในปริมาณมากให้ PEA หารือร่วมกับ กฟผ. เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย (3) เห็นชอบในหลักการให้ กฟผ./PEA สามารถพิจารณาราคาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุดเป็น อัตราที่อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราที่จำหน่ายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศตาม โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ณ เวลานั้น รวมค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่าย ทั้งนี้ ให้มีความยืดหยุ่นที่จะเจรจาและกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะที่อาจ แตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยได้ โดยยึดหลักการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงต้นทุนการปรับปรุงหรือการ สร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังชายแดน และ (4) เห็นควรให้การดำเนินการขายไฟฟ้าผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า อยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการดำเนินงานต่อ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และ กพช. เพื่อทราบเป็นระยะๆ
มติของที่ประชุม
เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า ดังนี้
1. มอบหมายให้ กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้า
2. มอบหมายให้ PEA เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณหมู่ บ้านที่ใกล้กับเขตชายแดนของประเทศไทย ยกเว้น กรณีการขายไฟฟ้าในปริมาณมากซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตและส่งไฟฟ้าใน ประเทศไทย ให้ PEA หารือร่วมกับ กฟผ. เพื่อป้องกันมิให้การขายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านกระทบต่อความมั่นคงของระบบ ไฟฟ้าของประเทศไทย
3. เห็นชอบในหลักการให้ กฟผ./PEA สามารถพิจารณาราคาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละจุดเป็น อัตราที่อยู่ในระดับเดียวกันกับอัตราที่จำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศ ตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ณ เวลานั้น รวมค่าชดเชยรายได้ต่อหน่วยจำหน่าย ทั้งนี้ ให้มีความยืดหยุ่น ที่จะสามารถเจรจา และกำหนดรูปแบบราคาจำหน่ายไฟฟ้าในลักษณะที่อาจแตกต่างจากโครงสร้างค่าไฟฟ้า ของประเทศไทยได้ เช่น อาจกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Flat Rate) เป็นต้น โดยให้คงยึดหลักการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงต้นทุนการปรับปรุงหรือ การสร้างระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปยังชายแดน
4. ให้การดำเนินการขายไฟฟ้าผ่านการเชื่อมโยงระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าอยู่ภาย ใต้ การพิจารณาของคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ กบง. และทั้งนี้ให้คณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการดำเนินงานต่อ กบง. และ กพช. เพื่อทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
เรื่องที่ 8 การปรับปรุงกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์)
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อใช้เป็นราคาเริ่มต้นในการแข่งขันทางด้านราคา โดยทำการคัดเลือกจากข้อเสนอโครงการใหม่ที่เสนอส่วนลดสูงสุดของอัตรารับซื้อ ไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ในส่วนคงที่ (FiTF) ก่อน ตามข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2558 และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มกราคม 2558 และประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้าภายใต้กลไกการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ภายในไตรมาสแรกของปี 2558 และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 กพช. ได้เห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding จากเดิมภายในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2558 สำหรับพลังงานน้ำและขยะให้ดำเนินการรับซื้อด้วยวิธีอื่น
2. กพช. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ได้เห็นชอบมาตรการพิเศษให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก VSPP เชื้อเพลิงชีวมวล ขยะและก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ในปริมาณกำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ ด้วยวิธีการแข่งขันด้านราคา โดยแบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและขยะ กำลังผลิตติดตั้งประมาณ 30 - 40 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 10 - 20 เมกะวัตต์ และให้ กกพ. ไปออกประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ตามมาตรการพิเศษดังกล่าว และได้เห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding จากเดิมที่กำหนดให้ดำเนินการภายในเดือนกรกฎาคม 2558 ออกไปก่อน และให้ กกพ. รับไปดำเนินการออกประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding ให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทขยะให้การรับซื้อไฟฟ้าสอดคล้อง และเป็นไปตาม Roadmap ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. กกพ. ได้กำหนดแนวทางการออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding เป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดยแบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 10 เมกะวัตต์ และชีวมวล 36 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 พื้นที่ที่เหลือ จะดำเนินการภายหลังจากคัดเลือกโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นที่ ดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรแล้วเสร็จ เนื่องจากจะทราบข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้า (Grid capacity) จุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า/Feeder คงเหลือจากการรับซื้อโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
4. กกพ. ได้จัดทำร่างประกาศ กกพ. เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2558 ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รวมทั้งร่างหลักเกณฑ์การคัดเลือกคำร้องและข้อเสนอขายไฟฟ้าแล้วเสร็จ และได้กำหนดวันจ่ายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายใน 31 ธันวาคม 2560 โดยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. 2 ครั้ง พบว่า การกำหนดวันจ่ายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายใน 31 ธันวาคม 2560 มีความกระชั้นชิดเกินไป เนื่องจากมีระยะเวลาเหลืออยู่หลังจากการรับซื้อมีน้อยกว่าระยะเวลาปกติ ทำให้อาจไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
5. กกพ. เห็นควรเสนอให้ กพช. พิจารณาขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์สำหรับการรับซื้อ ไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ภายใต้กลไกการแข่งขันราคา (Competitive Bidding) (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จากเดิมที่ กพช. กำหนดไว้ภายในปี 2560 เป็นภายในปี 2561 เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอไฟฟ้าสามารถพัฒนาโครงการได้ตามที่กำหนด นอกจากนี้ยังสามารถเปิดรับซื้อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เพิ่มเติม หากมีการเปิดรับซื้อในปี 2561 ที่จะมี Grid capacity ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ
6. กระทรวงพลังงาน พิจารณาตามข้อเสนอของ กกพ. แล้วเห็นว่า การประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding ที่กำหนดไว้ภายในไตรมาสแรกของปี 2558 แต่เดิมนั้น ปัจจุบันคาดว่า กกพ. จะสามารถดำเนินการประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding (ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2) ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2559 ซึ่งล่าช้าไป 1 ปี จึงเสนอความเห็น ดังนี้ (1) เห็นควรให้ขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์สำหรับการรับ ซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ภายใต้กลไกการแข่งขันราคา (Competitive Bidding) (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) ตามที่ กพช. กำหนดไว้ภายในปี 2560 เป็นภายในปี 2561 (2) เห็นควรให้ กกพ. ดำเนินการประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding (ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2) โดยใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ที่ กพช. ได้เห็นชอบไว้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2557 (3) เห็นควรให้มีการทบทวนปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารายพื้นที่ใหม่ โดยอ้างอิงจากศักยภาพการรับซื้อไฟฟ้า (Grid capacity) ของปี 2561 ได้ ซึ่งทำให้มีศักยภาพและพื้นที่ที่รับซื้อไฟฟ้าได้เพิ่มเติมจากศักยภาพปี 2560 (4) เห็นควรให้ปรับปรุงลำดับความสำคัญการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนและสร้างประโยชน์ร่วมให้กับประชาชน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบ/พลังงานทดแทนที่มีในพื้นที่ได้อย่าง เต็มศักยภาพ เป็น ขยะ (ชุมชนและอุตสาหกรรม) พลังงานน้ำขนาดเล็ก ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย ชีวมวล ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ทั้งนี้ สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ (ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม) และพลังงานน้ำขนาดเล็ก ให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา(Competitive Bidding) นอกจากนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทขยะให้การรับซื้อไฟฟ้าโดยให้ คำนึงถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์สำหรับการ รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ภายใต้กลไกการแข่งขันราคา (Competitive Bidding) (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) ตามที่ กพช. เคยกำหนดไว้เดิมภายในปี 2560 เป็นภายในปี 2561
2. เห็นชอบให้ กกพ. ดำเนินการประกาศรับข้อเสนอขอขายไฟฟ้า FiT แบบ Competitive Bidding (ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2) โดยใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ที่ กพช. ได้เห็นชอบไว้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2557
3. เห็นชอบให้มีการทบทวนปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารายพื้นที่ใหม่ โดยอ้างอิงจากศักยภาพการรับซื้อไฟฟ้าของปี 2561 ได้ ซึ่งทำให้มีศักยภาพและพื้นที่ที่รับซื้อไฟฟ้าได้เพิ่มเติมจากศักยภาพปี 2560
4. เห็นชอบการปรับปรุงลำดับความสำคัญการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น ดังนี้ (1) ขยะ (ชุมชนและอุตสาหกรรม) (2) พลังงานน้ำขนาดเล็ก (3) ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย/ของเสีย (4) ชีวมวล (5) ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (6) พลังงานแสงอาทิตย์ (7) พลังงานลม และ (8) พลังงานความร้อนใต้พิภพ
5. เห็นชอบให้การรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะและพลังงานน้ำขนาดเล็ก ให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) โดยให้ กกพ. เร่งดำเนินการออกประกาศรับซื้อและคัดเลือกโครงการไฟฟ้าจากขยะ (ชุมชนและอุตสาหกรรม) โดยคำนึงถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. มอบหมายให้ กบง. ร่วมกับ กกพ. สามารถพิจารณาปรับปรุงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ตามความ เหมาะสม ยกเว้นเฉพาะเรื่องอัตรารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องนำเสนอ กพช.
เรื่องที่ 9 การปรับปรุงการมอบอำนาจในการดำเนินคดีทางปกครอง
ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปรายงานให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้
1. กพช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ได้มีมติมอบหมายให้ประธาน กพช. มีอำนาจแทน กพช. ในการลงนามในใบมอบอำนาจและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งให้พนักงาน อัยการดำเนินการแทน กพช. ในคดีต่างๆ ที่ กพช. ถูกฟ้องร้องทุกคดี ซึ่งปัจจุบัน กพช. ถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองหลายคดีและบางกรณีศาลปกครองได้กำหนดการไต่สวนในระยะ เวลากระชั้นชิดทำให้เกิดอุปสรรคในการรวบรวมข้อเท็จจริงสำหรับไปเสนอต่อศาล ปกครอง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีปกครองเกิดประโยชน์ต่อทางราชการและมีความคล่องตัวมาก ยิ่งขึ้น ฝ่ายเลขานุการฯ จึงเสนอให้ปรับปรุงมติ กพช. เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 โดยเห็นควรปรับปรุงการมอบอำนาจในการดำเนินคดีทางปกครองเป็นให้กรรมการและ เลขานุการ กพช. มีอำนาจทำการแทน กพช. ในกรณีดังกล่าวแทน และรวมทั้งให้มีอำนาจในการไปให้ถ้อยคำต่อศาล ทำคำชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวแทน
2. สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลและเครือข่ายร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมจากมติ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่ให้ปรับเปลี่ยนมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Adder เป็นระบบ Feed-in Tariff (FiT) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลกลุ่มที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ในรูปแบบ Adder (กลุ่มที่ 1 ตามมติ กพช.) เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งผู้แทนสมาคมฯ มีข้อเสนอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการที่ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชี วมวลทุกรายที่รับค่าไฟฟ้าแบบ Adder มีสิทธิเปลี่ยนเป็นแบบ Feed-in Tariff (FiT) และขอให้นำข้อเสนอเสนอต่อ กพช. ในวันที่ 21 ธันวาคม 2558 เพื่อให้ กพช. พิจารณาแก้ไขปัญหา ซึ่งฝ่ายเลขานุการฯ เห็นควรมอบหมายให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รับข้อเสนอของสมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ ไปศึกษาปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดจนการชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อข้อร้องเรียนและข้อเสนอของสมาคมโรงไฟฟ้าชี วมวลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติร่วมกัน
มติของที่ประชุม
1. เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2549 (ครั้งที่ 106) วันที่ 4 กันยายน 2549 ซึ่งมอบหมายให้ประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีอำนาจแทน กพช. ในการลงนามในใบมอบอำนาจและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งให้พนักงาน อัยการดำเนินการแทน กพช. ในคดีต่างๆ ที่ กพช. ถูกฟ้องร้องทุกคดี
2. เห็นชอบในการมอบอำนาจในการดำเนินคดีทางปกครอง โดยมอบหมายให้กรรมการและเลขานุการ กพช. มีอำนาจแทน กพช. ในการลงนามในใบมอบอำนาจและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งให้พนักงาน อัยการดำเนินการแทน กพช. ในคดีต่างๆ ที่ กพช. ถูกฟ้องร้องทุกคดี และรวมทั้งให้มีอำนาจในการไปให้ถ้อยคำต่อศาล ทำคำชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวแทน โดยเมื่อมีการดำเนินการใดๆ แล้ว ให้นำกลับมารายงานให้ กพช. ทราบต่อไป ด้วย
3. มอบหมายให้ กบง. รับข้อเสนอของสมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ ไปศึกษาปัญหาข้อเท็จจริง ตลอดจนการชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อข้อร้องเรียนและข้อเสนอของสมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อยุติร่วมกัน
- กพช. ครั้งที 5 วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2558 (4778 Downloads)